ความเชื่อของโนฮากล่าวโทษโลก
ความเชื่อของโนฮากล่าวโทษโลก
คุณเคยได้ยินเรื่องโนฮาไหม บุรุษผู้เกรงกลัวพระเจ้าซึ่งได้ต่อเรือเพื่อพิทักษ์รักษาชีวิตในระหว่างที่เกิดน้ำท่วมโลก? แม้เป็นเรื่องโบราณเก่าแก่ แต่หลายล้านคนรู้จักเรื่องนี้ดี. ทว่า สิ่งที่หลายคนไม่ตระหนักก็คือชีวิตของโนฮามีความหมายต่อพวกเราทุกคน.
ทำไมเราควรสนใจเรื่องราวเก่าแก่ตั้งหลายพันปีแล้ว? มีความคล้ายคลึงกันไหมระหว่างสภาพการณ์สมัยโนฮากับสมัยของเราในปัจจุบัน? หากมี เราจะได้ประโยชน์จากตัวอย่างของโนฮาอย่างไร?
โลกสมัยโนฮา
การคำนวณเวลาตามคัมภีร์ไบเบิล การกำเนิดของโนฮาตกในปี 2970 ก่อนสากลศักราช—126 ปีหลังอาดามสิ้นชีวิต. พอมาถึงสมัยโนฮา แผ่นดินโลกเต็มไปด้วยความรุนแรง และลูกหลานอาดามส่วนใหญ่ก็พอใจจะติดตามตัวอย่างที่ดื้อรั้นของบรรพบุรุษ. เหตุฉะนั้น “พระยะโฮวาทรงเห็นว่า ความชั่วของมนุษย์มีมากมายในแผ่นดินโลกและความโน้มเอียงทุกอย่างแห่งความคิดในหัวใจของเขาล้วนแต่ชั่วตลอดเวลา.”—เยเนซิศ 6:5, 11, 12, ล.ม.
การขัดขืนของมนุษย์หาใช่เหตุผลเพียงประการเดียวไม่ที่ทำให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัย. พระธรรมเยเนซิศอธิบายดังนี้: “บุตรชายของพระเจ้าเห็นว่าบุตรสาวของมนุษย์สวย; ก็รับเขาไว้เป็นภรรยาตามชอบใจของตน. . . . คราวนั้นในแผ่นดินบังเกิดมีคนรูปร่างล่ำสันใหญ่โต [“เนฟิลิม,” ล.ม.], ทั้งภายหลังเมื่อบุตรพระเจ้าได้สมสู่อยู่กับบุตรสาวมนุษย์จึงเกิดมีคนชนิดนั้น: เขาเหล่านั้นแหละเป็นคนเก่งมีชื่อเสียงเลื่องลือในกาลโบราณ.” (เยเนซิศ 6:2-4) การเปรียบเทียบข้อความนี้กับคำกล่าวในบันทึกของอัครสาวกเปโตรแสดงให้เห็นว่า “บุตรชายของพระเจ้า” คือพวกทูตสวรรค์ที่ไม่เชื่อฟัง. พวกเนฟิลิมคือลูกพันธุ์ผสมเกิดจากการสมสู่ที่ผิดทำนองคลองธรรมระหว่างผู้หญิงกับทูตสวรรค์ซึ่งได้แปลงร่างละทิ้งสถานภาพเดิมของตน.—1 เปโตร 3:19, 20.
“เนฟิลิม” แปลว่า “นักโค่น” หมายถึงคนที่ทำให้ผู้อื่นล้มลง. พวกเขาเป็นผู้ข่มเหงที่ชั่วร้าย และบาปอันผ่าวร้อนด้วยราคะแห่งบรรดาพ่อของพวกเขาเทียบได้กับความวิปริตแห่งชาวเมืองโซโดมและโกโมร์ราห์. (ยูดา , ล.ม.) พ่อกับลูกเหล่านี้รวมหัวกันก่อความชั่วช้าบนแผ่นดินโลกอันสุดที่จะทนได้. 6, 7
“รอบคอบดีในสมัยอายุของเขา”
การชั่วร้ายแพร่ระบาดไปทั่ว จนพระเจ้าได้ทรงตั้งพระทัยจะทำลายมนุษยชาติเสีย. แต่บันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจแถลงดังนี้: “โนฮาเป็นที่โปรดปรานในคลองพระเนตรพระยะโฮวา. . . . โนฮาเป็นคนชอบธรรม, รอบคอบดีในสมัยอายุของเขา, และได้ดำเนินกับพระเจ้า.” (เยเนซิศ 6:8, 9) เป็นไปได้อย่างไรกันที่จะ “ดำเนินกับพระเจ้า” ในโลกที่ดูหมิ่นพระเจ้าซึ่งสมควรแก่การทำลายเสียเท่านั้น?
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโนฮาได้เรียนรู้อย่างมากจากลาเม็ค บิดาผู้มีความเชื่อและอยู่ร่วมสมัยกับอาดาม. เมื่อเขาตั้งชื่อลูกชายว่าโนฮา (คิดกันว่าหมายถึง “การพักผ่อน” หรือ “การปลอบโยน”) ลาเม็คได้พยากรณ์ว่า “บุตรคนนี้จะเป็นที่หนุนใจของเราในเวลาที่มือของเราทำการหนักและเหน็ดเหนื่อย เนื่องจากแผ่นดินที่พระเจ้า [พระยะโฮวา] ได้ทรงสาปไว้นั้น.” คำพยากรณ์ข้อนั้นสำเร็จสมจริงเมื่อพระเจ้าได้ทรงเพิกถอนการสาปแผ่นดิน.—เยเนซิศ 5:29; 8:21.
การมีบิดามารดาที่เลื่อมใสพระเจ้าหาใช่หลักประกันรับรองบุตรว่าจะเป็นคนสนใจฝ่ายวิญญาณ เพราะแต่ละคนจะต้องสร้างสัมพันธภาพส่วนตัวกับพระยะโฮวา. โนฮา “ดำเนินกับพระเจ้า” โดยมุ่งติดตามแนวทางที่พระเจ้าพอพระทัย. สิ่งใดก็ตามเกี่ยวกับพระเจ้าซึ่งโนฮาเรียนรู้นั้นกลายเป็นพลังกระตุ้นท่านให้รับใช้พระเจ้า. ความเชื่อของโนฮาไม่คลอนแคลนเมื่อท่านได้ทราบพระประสงค์ของพระเจ้าที่จะ ‘ให้เกิดน้ำท่วมโลกทำลายเนื้อหนังที่มีลมหายใจทั่วใต้ฟ้า.’—เยเนซิศ 6:13, 17.
ด้วยมั่นใจว่าพิบัติภัยที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่นนี้จะเกิดขึ้น โนฮาเชื่อฟังพระบัญชาของพระยะโฮวาที่ว่า “เจ้าจงต่อเรือใหญ่ด้วยไม้โกเฟอร์, ทำเป็นห้อง ๆ และยาชันทั้งข้างในข้างนอก.” (เยเนซิศ 6:14) การจะต่อเรือใหญ่ให้ได้ตามที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้อย่างละเอียดนั้นไม่ใช่งานง่าย. ถึงกระนั้น “โนฮาได้ทำตามทุกสิ่งที่พระเจ้าได้รับสั่งแก่ท่าน.” แท้ที่จริง “ท่านได้ทำอย่างนั้นทีเดียว.” (เยเนซิศ 6:22, ล.ม.) โนฮาลงมือทำ พร้อมทั้งได้การช่วยสนับสนุนจากภรรยาและลูกชายสามคนของท่าน คือเซม, ฮาม, ยาเฟ็ธกับภรรยาของพวกเขา. พระยะโฮวาได้อวยพรความเชื่อดังกล่าว. ตัวอย่างนี้ยอดเยี่ยมจริง ๆ สำหรับครอบครัวทั้งหลายในปัจจุบัน!
การต่อเรือใหญ่ขนาดนั้นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง? พระยะโฮวารับสั่งให้โนฮาต่อลังไม้มหึมาสูงสามชั้น น้ำเข้าไม่ได้ ความยาวประมาณ 133 เมตร กว้าง 22 เมตร สูง 13 เมตร. (เยเนซิศ 6:15, 16) ความจุของเรือดังกล่าวคงใหญ่พอ ๆ กันกับเรือสินค้าหลากหลายในสมัยปัจจุบัน.
ช่างเป็นภารกิจใหญ่หลวงอะไรเช่นนั้น! คงเป็นไปได้มากทีเดียวที่จะต้องโค่นต้นไม้หลายพันต้น ต้องขนลากซุงเหล่านั้นมายังบริเวณก่อสร้าง แล้วเลื่อยเป็นกระดานหรือรอดหรือคร่าว. ทั้งทำนั่งร้าน, หมุดหรือสลัก, ทำชันยาเรือ, ทำภาชนะบรรจุสิ่งต่าง ๆ และเครื่องมือเครื่องใช้และอื่น ๆ. งานนี้อาจจำเป็นต้องเจรจากับพ่อค้าและจ่ายค่าสิ่งของและค่าบริการต่าง ๆ. เห็นได้ชัดว่าต้องช่ำชองงานช่างไม้เพื่อเข้าไม้ได้อย่างถูกต้องพอดี และทำเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงพอ. และคิดดูสิ—การต่อเรือคงได้ใช้เวลาราว ๆ 50 หรือ 60 ปี!
ขั้นต่อไป โนฮาคงได้หันไปเอาใจใส่การจัดเตรียมเพื่อสะสมอาหาร, รวมทั้งหญ้าหรืออาหารสัตว์ไว้ให้พอเพียง. (เยเนซิศ 6:21) ท่านยังต้องรวบรวมและนำฝูงสัตว์ต่าง ๆ เข้า ไปในเรือ. โนฮาดำเนินการทุกอย่างตามที่พระเจ้ารับสั่งแก่ท่าน และงานก็เสร็จเรียบร้อย. (เยเนซิศ 6:22) พระพรของพระยะโฮวาทำให้มั่นใจว่างานนี้จะสำเร็จลุล่วงโดยสมบูรณ์.
“ผู้ประกาศความชอบธรรม”
นอกจากงานต่อเรือแล้ว โนฮายังได้ประกาศคำเตือนและรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ ฐานะ “ผู้ประกาศความชอบธรรม.” แต่ผู้คน “ไม่แยแสจนกระทั่งน้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้น.”—2 เปโตร 2:5, ล.ม.; มัดธาย 24:38, 39, ล.ม.
เมื่อคำนึงถึงสภาพเสื่อมฝ่ายวิญญาณและศีลธรรมในสมัยนั้นจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าครอบครัวโนฮาถูกเพื่อนบ้านที่ไม่ยอมรับฟังคำเตือนหัวเราะเยาะ และเป็นเป้าให้คนพูดหยาบหยามและเยาะเย้ยแค่ไหน. คนสมัยนั้นคงคิดกันว่าครอบครัวโนฮาเสียสติ. อย่างไรก็ตาม โนฮาประสบความสำเร็จจากการที่ได้สนับสนุนและชูกำลังฝ่ายวิญญาณแก่ครอบครัว เพราะคนของท่านไม่เคยรับเอาวิธีการที่รุนแรง, การผิดศีลธรรม, แนวทางที่กบฏขัดขืนของผู้คนร่วมสมัยซึ่งไม่เลื่อมใสพระเจ้ามาใช้. โดยคำพูดและการกระทำซึ่งแสดงถึงความเชื่อของท่าน โนฮากล่าวโทษโลกสมัยนั้น.—เฮ็บราย 11:7.
รับการพิทักษ์ผ่านพ้นน้ำท่วมโลก
ไม่นานก่อนฝนห่าใหญ่เริ่มเทลงมา พระเจ้ารับสั่งให้โนฮาเข้าในเรือใหญ่ที่ต่อเสร็จเรียบร้อย. ครั้นครอบครัวของโนฮาและสัตว์ต่าง ๆ ได้เข้าไปในเรือแล้ว “พระยะโฮวาทรงปิดประตู” กั้นเสียงโห่เยาะเย้ยจากภายนอก. ตอนที่น้ำท่วมโลก ปรากฏว่าทูตสวรรค์ที่ไม่เชื่อฟังได้ละกายมนุษย์กลับเป็นกายวิญญาณและเอาตัวรอดผ่านพ้นความพินาศไปได้. แต่คนอื่นนอกจากนั้นเป็นอย่างไร? บรรดาสรรพสัตว์ที่มีชีวิตหายใจได้บนแผ่นดินซึ่งอยู่นอกเรือ รวมทั้งพวกเนฟิลิมพินาศทั้งหมด! โนฮากับครอบครัวของท่านเท่านั้นที่รอดชีวิต.—เยเนซิศ 7:1-23.
โนฮากับคนในครัวเรือนของท่านค้างอยู่ในเรือหนึ่งปีกับสิบวันนับตามปีจันทรคติ. พวกเขาวุ่นอยู่กับงานให้น้ำให้อาหารสัตว์, ขนมูลสัตว์ออกไปทิ้ง, และเฝ้าดูเวลาไม่ว่างเว้น. พระธรรมเยเนซิศระบุวันน้ำท่วมไว้ทุกระยะอย่างแม่นยำ เหมือนบันทึกการเดินเรือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความถูกต้องของเรื่องราว.—เยเนซิศ 7:11, 17, 24; 8:3-14.
ระหว่างที่อยู่ในเรือใหญ่นั้น โนฮาได้นำครอบครัวของท่านพิจารณาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งฝ่ายวิญญาณ และพร้อมใจกันขอบพระคุณพระเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย. ปรากฏ
ชัดว่า ประวัติการก่อนน้ำท่วมโลกได้รับการพิทักษ์รักษาไว้โดยโนฮาและครอบครัวของท่านนี่เอง. คำเล่าสืบปากที่เชื่อถือได้ หรือไม่ก็บันทึกทางประวัติซึ่งพวกเขาเก็บรักษาเป็นสมบัติส่วนตัวย่อมเป็นข้อมูลที่ให้ประโยชน์เมื่อมีการพิจารณาด้วยกันในระหว่างช่วงน้ำท่วมครั้งใหญ่.โนฮากับครอบครัวของท่านคงจะรู้สึกปีติยินดีสักเพียงใดเมื่อได้ก้าวเหยียบบนผืนแผ่นดินแห้งอีกครั้งหนึ่ง! สิ่งแรกที่ท่านกระทำคือก่อแท่นบูชาและปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงปุโรหิตเพื่อครอบครัวของท่าน โดยการถวายเครื่องบูชาแด่พระเจ้าผู้ทรงพิทักษ์ชีวิตพวกเขาไว้.—เยเนซิศ 8:18-20.
“ด้วยสมัยของโนฮาเป็นอย่างไร”
พระเยซูคริสต์ตรัสดังนี้: “สมัยของโนฮาเป็นอย่างไร การประทับของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นอย่างนั้น.” (มัดธาย 24:37, ล.ม.) ทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน คริสเตียนเป็นผู้ประกาศความชอบธรรม กระตุ้นเตือนผู้คนให้กลับใจเสียใหม่. (2 เปโตร 3:5-9, ล.ม.) เมื่อเทียบข้อคล้ายคลึงกันนี้ เราอาจสงสัยว่าก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นโนฮาคิดอย่างไร. ท่านเคยคิดไหมว่าการประกาศของท่านไร้ประโยชน์? ท่านเบื่อหน่ายเป็นครั้งเป็นคราวไหม? คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอก. เราเพียงแต่รู้ว่าโนฮาเชื่อฟังพระเจ้า.
คุณเห็นความเกี่ยวข้องกันไหมระหว่างสภาพการณ์ของโนฮากับของเรา? ท่านได้เชื่อฟังพระยะโฮวาถึงแม้มีการขัดขวางและยากลำบากเพียงใดก็ตาม. ด้วยเหตุนี้ พระยะโฮวาทรงประกาศว่าท่านเป็นผู้ชอบธรรม. ครอบครัวของโนฮาไม่รู้เวลาแน่นอนที่พระเจ้าจะบันดาลให้เกิดน้ำท่วมโลก แต่รู้ว่าต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ. ความเชื่อในคำตรัสของพระเจ้าได้ค้ำจุนโนฮาตลอดหลายปีที่ทำงานเหน็ดเหนื่อย แถมดูเหมือนว่าการประกาศไม่มีผลด้วยซ้ำ. อันที่จริง เราได้รู้ว่า “โดยความเชื่อ หลังจาก ที่ท่านได้รับคำเตือนจากพระเจ้าถึงสิ่งที่ยังไม่ได้เห็น โนฮาแสดงความยำเกรงพระเจ้า และสร้างนาวาเพื่อช่วยครอบครัวของตนให้รอดชีวิต; และโดยความเชื่อนี้เองท่านได้กล่าวโทษโลก และท่านจึงได้เป็นเจ้ามรดกแห่งความชอบธรรมซึ่งเนื่องมาจากความเชื่อ.”—เฮ็บราย 11:7, ล.ม.
โนฮาได้มาซึ่งความเชื่อดังกล่าวโดยวิธีใด? ดูเหมือนว่าท่านใช้เวลาครุ่นคิดไตร่ตรองทุกสิ่งที่ท่านรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา แล้วท่านเองได้ยอมให้ความรู้นั้นชี้นำทาง. ไม่เป็นที่น่าสงสัย โนฮาสนทนากับพระเจ้าด้วยการอธิษฐาน. ที่จริง ท่านกลายเป็นผู้ที่สนิทใกล้ชิดกับพระยะโฮวาถึงขนาดที่ท่าน “ได้ดำเนินกับพระเจ้า.” ในฐานะประมุขของครอบครัว โนฮายินดีสละเวลาและให้ความสนใจอย่างรักใคร่แก่คนในครัวเรือนของท่าน. ทั้งนี้รวมถึงการใส่ใจดูแลผลประโยชน์ทางด้านวิญญาณของภรรยา, บุตรชายสามคน, และลูกสะใภ้ทั้งสามของท่านด้วย.
คริสเตียนแท้ในทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกับโนฮา คือรู้ว่าอีกไม่นานพระยะโฮวาจะนำอวสานมาสู่ระบบนี้ที่ไม่เลื่อมใสพระเจ้า. เราไม่รู้วันใดหรือชั่วโมงไหน แต่เราตระหนักว่าการเอาอย่างความเชื่อและการเชื่อฟังของ “ผู้ประกาศความชอบธรรม” ดังกล่าวย่อมจะยังผลในการ “รักษาจิตวิญญาณให้มีชีวิตอยู่.”—เฮ็บราย 10:36-39, ล.ม.
[กรอบหน้า 29]
เคยมีน้ำท่วมโลกจริง ๆ หรือ?
นักมานุษยวิทยาได้รวบรวมตำนานน้ำท่วมโลกมากถึง 270 เรื่องจากเกือบทุกเผ่าและชาติพันธุ์. เคลาส์ เวสเตอร์มานน์ผู้คงแก่เรียนกล่าวว่า “ตำนานน้ำท่วมโลกหาพบได้ตลอดทั่วโลก. เหมือนกับเรื่องการสร้างโลก ตำนานนี้เป็นส่วนหนึ่งแห่งมรดกทางวัฒนธรรมพื้นฐานของเรา. มันน่าทึ่งอย่างแท้จริง: ทุกหนแห่งบนแผ่นดินโลก เราพบเรื่องน้ำท่วมครั้งใหญ่สมัยดึกดำบรรพ์.” คำอธิบายหรือ? เอนริโก กัลบิอะทิ ผู้ให้อรรถาธิบายบอกว่า “ตำนานเกี่ยวกับน้ำท่วมใหญ่ที่มีอยู่ตลอดมาของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและกระจายอยู่ห่างไกลกันมากเป็นสิ่งบ่งบอกถึงความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์อันเป็นพื้นฐานของตำนานต่าง ๆ ดังกล่าว.” แต่สำหรับคริสเตียน สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการตั้งข้อสังเกตของผู้คงแก่เรียนก็คือความรู้ซึ่งพระเยซูเองได้ตรัสถึงเรื่องน้ำท่วมโลกว่าเป็นเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ.—ลูกา 17:26, 27.
[กรอบหน้า 30]
พวกเนฟิลิมในเทพนิยายหรือ?
ตำนานเรื่องการสมสู่ระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์—และ “ผู้เก่งกล้า” หรือ “กึ่งคนกึ่งเทพ” ที่เกิดจากความสัมพันธ์ดังกล่าว—เป็นเรื่องเล่าขานกันทั่วไปในหมู่ชาวกรีก, ชาวอียิปต์, ชาวอูการิทิก, ชาวเฮอร์เรียน, และวิชาเทววิทยาแห่งเมโสโปเตเมีย. เทพเจ้าในเทพนิยายกรีกมีกายเป็นมนุษย์และงามสง่า. พวกเทพเจ้าที่ว่านี้กิน, ดื่ม, นอนหลับ, ร่วมประเวณี, วิวาท, ต่อสู้, ชักชวนให้ทำผิดทำชั่ว, และข่มขืนชำเรา. แม้ถือกันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ทว่าสามารถหลอกลวงและก่ออาชญากรรม. ผู้เก่งกล้าอย่างอะคิลลิสได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นลูกที่กำเนิดจากเทพเจ้าและมนุษย์ และมีความเก่งกล้าสามารถเยี่ยงผู้วิเศษ แต่ไม่มีชีวิตอมตะ. ดังนั้น ที่พระธรรมเยเนซิศได้กล่าวถึงพวกเนฟิลิมจึงให้ความกระจ่างแก่เราถึงความเป็นไปได้หรือแม้แต่อาจเป็นไปได้ของที่มาของตำนานต่าง ๆ ดังกล่าว.