กฎทอง—คำสอนสากล
กฎทอง—คำสอนสากล
“เหตุฉะนั้นสิ่งสารพัตรซึ่งท่านปรารถนาให้มนุษย์ทำแก่ท่าน, จงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.”—มัดธาย 7:12.
พระเยซูคริสต์ได้ตรัสถ้อยคำดังกล่าวเกือบสองพันปีมาแล้วในคำเทศน์บนภูเขาอันเลื่องลือ. ตลอดหลายศตวรรษนับตั้งแต่นั้นมา ได้มีการกล่าวและเขียนไว้มากมายเกี่ยวกับถ้อยคำที่เรียบง่ายนั้น. ตัวอย่างเช่น มีการยกย่องถ้อยคำนี้ว่าเป็น “แก่นของพระคัมภีร์,” “การสรุปหน้าที่ของคริสเตียนที่มีต่อเพื่อนบ้าน,” และ “หลักจรรยาขั้นพื้นฐาน.” ถ้อยคำนี้เป็นที่รู้จักกันดีจนกระทั่งได้รับการกล่าวถึงอยู่เนือง ๆ ว่าเป็นกฎทอง.
อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องกฎทองใช่ว่าเป็นที่ยอมรับในวงการคริสเตียนเท่านั้น. ศาสนายิว, ศาสนาพุทธ, และปรัชญากรีกล้วนสาธยายหลักจรรยาข้อนี้ในหลายรูปแบบ. ที่รู้จักกันดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้คนในตะวันออกไกล ก็คือถ้อยคำของขงจื๊อ ผู้ซึ่งได้รับความเคารพนับถือในประเทศทางตะวันออกฐานะเป็นปราชญ์และอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่. ในคัมภีร์ดิ แอนะเล็กตส์ (ภาษาอังกฤษ) เล่มที่สามในหนังสือสี่เล่ม ของขงจื๊อ เราพบว่ามีการแสดงแนวคิดนั้นไว้สามครั้ง. สองครั้ง ขงจื๊อกล่าวในคำตอบสำหรับคำถามจากพวกศิษย์ว่า “สิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้คนอื่นทำกับท่าน ก็อย่าทำสิ่งนั้นกับคนอื่น.” ในอีกคราวหนึ่ง เมื่อซือกงศิษย์ของท่านอวดอ้างว่า “สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้คนอื่นทำกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการทำกับเขาด้วย” ผู้เป็นอาจารย์ตอบอย่างสุขุมว่าดังนี้: “ถูกแล้ว แต่ท่านก็ยังไม่สามารถทำอย่างนี้ได้.”
เมื่ออ่านคำพูดเหล่านี้ คนเราจะเห็นได้ว่าถ้อยคำของขงจื๊อเป็นคำพรรณนาในเชิงปฏิเสธเมื่อเทียบกับสิ่งที่พระเยซูได้ตรัสในภายหลัง. ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ กฎทองซึ่งพระเยซูตรัสนั้นเรียกร้องการกระทำในเชิงก่อด้วยการทำดีแก่คนอื่น. สมมุติว่าผู้คนปฏิบัติสอดคล้องกับถ้อยคำในเชิงก่อของพระเยซู เป็นห่วงและลงมือช่วยเหลือคนอื่น ดำเนินชีวิตตามกฎเกณฑ์นี้ทุกวัน. คุณคิดว่านั่นจะทำให้โลกทุกวันนี้มีสภาพดีขึ้นไหม? ไม่ต้องสงสัยเลย.
ไม่ว่ามีการกล่าวกฎนี้ในเชิงก่อ, เชิงลบ, หรือในแบบอื่นใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือการที่ผู้คนต่างยุคและต่างถิ่นซึ่งมีภูมิหลังหลากหลายต่างก็ให้ความนับถือต่อแนวคิดเกี่ยวกับกฎทอง. นี่แสดงว่าสิ่งที่พระเยซูตรัสในคำเทศน์บนภูเขาเป็นคำสอนสากลที่มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทุกแห่งหนในทุกยุคทุกสมัยอย่างแท้จริง.
จงถามตัวเองว่า ‘ฉันอยากได้รับการปฏิบัติด้วยความนับถือ, ด้วยความไม่ลำเอียง, ด้วยความซื่อ
สัตย์ไหม? ฉันอยากมีชีวิตอยู่ในโลกที่ไม่มีอคติด้านเชื้อชาติ, อาชญากรรม, และสงครามไหม? ฉันอยากอยู่ในครอบครัวซึ่งทุกคนแสดงความห่วงใยต่อความรู้สึกและสวัสดิภาพของคนอื่นไหม?’ ที่จริง ถ้าเป็นไปได้อย่างนั้น ใครหรือจะปฏิเสธ? ความเป็นจริงที่น่าสลดใจคือน้อยคนจริง ๆ ประสบสภาพการณ์เหล่านั้น. สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาแทบจะไม่หวังในสภาพดังกล่าวเสียเลย.กฎทองถูกทำให้มัวหมอง
ตลอดประวัติศาสตร์ มีกรณีต่าง ๆ เกี่ยวกับอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษยชาติซึ่งเป็นการเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อสิทธิของผู้คน. กรณีเหล่านี้รวมไปถึงการค้าทาสจากแอฟริกา, ค่ายมรณะของนาซี, แรงงานเด็กที่ถูกบังคับ, และการฆ่าล้างชาติพันธุ์อย่างทารุณในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง. รายการเหตุการณ์ที่น่ากลัวอาจมีอีกหลายอย่าง.
ปัจจุบัน โลกของเราที่มีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเป็นโลกที่เห็นแก่ตัว. น้อยคนนักที่คิดถึงคนอื่นเมื่อความสะดวกของตัวเองหรือสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นสิทธิ์ของตนได้รับผลกระทบ. (2 ติโมเธียว 3:1-5) ทำไมผู้คนมากหลายกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว, โหดเหี้ยม, ไร้ความปรานี, และมุ่งแต่ประโยชน์ของตน? นี่เป็นเพราะว่ากฎทอง ซึ่งแม้จะยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ถูกปัดทิ้งไปมิใช่หรือโดยถือว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง เป็นหลักศีลธรรมเก่า ๆ ที่ใช้ไม่ได้แล้ว? น่าเศร้า เป็นเช่นนี้แม้แต่ในท่ามกลางหลายคนซึ่งอ้างว่าเชื่อในพระเจ้า. และโดยดูจากแนวโน้มของสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นไป ผู้คนจะมุ่งแต่ประโยชน์ของตนมากขึ้นเท่านั้น.
ฉะนั้น คำถามสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ การดำเนินชีวิตตามกฎทองเกี่ยวข้องกับอะไร? มีใครที่ยังคงดำเนินชีวิตตามกฎนั้นอยู่ไหม? และจะมีสมัยหนึ่งไหมที่มวลมนุษยชาติจะดำเนินชีวิตประสานกับกฎทองนี้? เพื่อได้คำตอบที่เป็นความจริงสำหรับคำถามเหล่านี้ โปรดอ่านบทความต่อไป.
[ภาพหน้า 3]
ขงจื๊อและคนอื่น ๆ สอนเรื่องกฎทองในแง่มุมที่แตกต่างกันออกไป