การตอบรับคำเชิญของพระยะโฮวานำมาซึ่งผลตอบแทน
เรื่องราวชีวิตจริง
การตอบรับคำเชิญของพระยะโฮวานำมาซึ่งผลตอบแทน
เล่าโดยมาเรีย โดเซอุ ซานาร์ดี
“พระยะโฮวาทรงทราบว่าพระองค์ทำอะไรอยู่. ถ้าพระองค์ส่งคำเชิญให้ลูก ลูกก็ควรถ่อมตนยอมรับคำเชิญนั้น.” คำพูดนี้ของพ่อเมื่อ 45 ปีมาแล้วสนับสนุนฉันให้ตอบรับคำเชิญครั้งแรกจากองค์การของพระยะโฮวาเพื่อรับใช้ฐานะผู้เผยแพร่เต็มเวลา. ทุกวันนี้ฉันยังระลึกถึงคำแนะนำของพ่อด้วยความขอบคุณอยู่เสมอ เพราะการตอบรับคำเชิญดังกล่าว ฉันจึงได้รับผลตอบแทนอุดมบริบูรณ์.
ปี 1928 พ่อบอกรับวารหอสังเกตการณ์ และเริ่มเกิดความสนใจในคัมภีร์ไบเบิล. เนื่องจากท่านอาศัยอยู่ทางภาคกลางของโปรตุเกส ทางเดียวที่ท่านติดต่อประชาคมของพระเจ้าได้คือสรรพหนังสือที่เขารับทางไปรษณีย์และคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งซึ่งเคยเป็นของปู่. ปี 1949 ตอนนั้นฉันอายุ 13 ปี ครอบครัวของเราได้อพยพไปประเทศบราซิล บ้านเกิดเมืองนอนของแม่ และได้ตั้งหลักแหล่งที่ชานเมืองริวเดจาเนโร.
เพื่อนบ้านใหม่ได้เชิญชวนเราไปเยือนโบสถ์ของเขา และเราไปแค่ครั้งสองครั้งเท่านั้น. พ่อชอบตั้งคำถามให้เขาตอบเกี่ยวกับเรื่องไฟนรก, จิตวิญญาณ, และอนาคตของแผ่นดินโลก แต่พวกเขาให้คำตอบไม่ได้. พ่อมักจะพูดว่า “เราคงต้องรอจนกว่าจะพบนักศึกษาพระคัมภีร์ตัวจริง.”
วันหนึ่ง ชายตาบอดได้แวะเข้ามาเสนอวารสารหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ที่บ้านของเรา. พ่อถามเขาเกี่ยวกับเรื่องเดียวกัน และเขาให้คำตอบอย่างมีเหตุผลจากคัมภีร์ไบเบิล. สัปดาห์ถัดมา ก็มีพยานพระยะโฮวาอีกคนหนึ่งมาเยี่ยมเรา. หลังจากตอบคำถามหลายข้อแล้ว เธอขอตัวโดยบอกว่าเธอต้องไปประกาศเผยแพร่ใน “เขตงาน.” เธอใช้มัดธาย 13:38 เพื่อชี้แจงว่า งานนี้จะต้องได้ทำให้เสร็จทั่ว โลก. พ่อถามว่า “ผมไปด้วยได้ไหม?” คำตอบ “ได้แน่นอน.” เราดีใจกันยกใหญ่ที่ได้พบความจริงของคัมภีร์ไบเบิลอีกครั้งหนึ่ง! พ่อรับบัพติสมา ณ การประชุมใหญ่ครั้งถัดมา และหลังจากนั้นไม่นาน เดือนพฤศจิกายน 1955 ฉันก็รับบัพติสมา.
การตอบรับคำเชิญครั้งแรกของฉัน
หนึ่งปีครึ่งต่อมา ฉันได้รับจดหมายซองใหญ่สีน้ำตาลจากสำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในริวเดจาเนโร เชิญชวนฉันเข้าสู่งานเผยแพร่เต็มเวลา. ช่วงนั้นสุขภาพของแม่ไม่สู้ดี ดังนั้นฉันจึงปรึกษาขอคำแนะนำจากพ่อ. ท่านตอบอย่างหนักแน่นว่า “พระยะโฮวาทรงทราบว่าพระองค์ทำอะไรอยู่. ถ้าพระองค์ส่งคำเชิญให้ลูก ลูกก็ควรถ่อมตนยอมรับคำเชิญนั้น.” คำพูดของพ่อเป็นแรงกระตุ้นให้ฉันกรอกแบบฟอร์มแล้วเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1957. เขตงานมอบหมายแรกของฉันอยู่ที่เมืองเทรสรีอุส ในรัฐริวเดจาเนโร.
ตอนแรก ๆ ชาวเมืองเทรสรีอุสยังลังเลไม่ค่อยจะรับฟังข่าวสารที่เราประกาศ เพราะว่าเราไม่ได้ใช้คัมภีร์ของคาทอลิก. เราได้รับความช่วยเหลือเมื่อเริ่มศึกษาพระคัมภีร์กับเชรัลดู รามาลยูชาวคาทอลิกที่ถือเคร่ง. เขาช่วยหาพระคัมภีร์มาให้ฉันได้เล่มหนึ่งซึ่งมีลายเซ็นของบาทหลวงในท้องถิ่นนั้น. นับแต่นั้น เมื่อมีคนหนึ่งคนใดยกข้อคัดค้านขึ้นมา ฉันชี้ให้เขาดูลายเซ็นของบาทหลวงและไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไป. ในเวลาต่อมาเชรัลดูก็ได้รับบัพติสมา.
ฉันปลาบปลื้มยินดีเหลือเกินเมื่อการประชุมหมวดถูกจัดขึ้น ณ ใจกลางเมืองเทรสรีอุสในปี 1959. ผู้กำกับการตำรวจซึ่งตอนนั้นกำลังศึกษาพระคัมภีร์อยู่พอดีก็ช่วยเป็นธุระดูแลการติดป้ายโฆษณาการประชุมหมวดตลอดทั่วเมือง. หลังจากทำงานสามปีในเมืองเทรสรีอุส ฉันได้รับเชิญให้ย้ายไปยังเขตงานใหม่ในเมืองอีตู ห่างจากเมืองเซาเปาลูไปทางทิศตะวันตกประมาณ 110 กิโลเมตร.
หนังสือปกแดง, ปกน้ำเงิน, ปกเหลือง
หลังจากเสาะหาบ้านเช่าระยะหนึ่ง ฉันกับเพื่อนไพโอเนียร์ก็ได้ห้องพักที่สะดวกสบายอยู่ใจกลางเมือง ภายในบ้านของมาเรียหญิงม่ายใจดี. มาเรียปฏิบัติต่อเราราวกับเราเป็นลูกสาวเธอ. แต่ไม่นานเท่าไร หัวหน้าบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิกที่เมืองอีตูไปเยี่ยมเธอและกำชับเธอให้ขับเราออกจากบ้าน แต่เธอไม่ยอมทำตาม แถมพูดว่า “ตอนที่สามีฉันเสีย ท่านไม่ได้ให้การปลอบประโลมแต่อย่างใด. แต่พยานพระยะโฮวาสองคนนี้ช่วยเหลือฉันทั้ง ๆ ที่ฉันเองก็ไม่ใช่สมาชิกในศาสนาของเขา.”
ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีผู้หญิงคนหนึ่งบอกเราว่าพวกบาทหลวงที่เมืองอีตูได้ห้ามปรามประชาชนในสังกัดไม่ให้รับ “หนังสือปกแดงเรื่องพญามาร.” เขาหมายถึงหนังสือ “จงให้พระเจ้าเป็นองค์สัตย์จริง” คู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลซึ่งเราเสนอแก่ประชาชนในช่วงสัปดาห์นั้น. เนื่องจากพวกบาทหลวง “สั่งห้าม” หนังสือปกแดง เราจึงเตรียมการเสนอหนังสือปกน้ำเงิน (“ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่”). ต่อมา เมื่อบาทหลวงได้ข่าวการสับเปลี่ยนเช่นนี้ เราเปลี่ยนไปใช้หนังสือปกเหลืองแทน (ศาสนาได้ทำอะไรบ้างเพื่อ
มนุษยชาติ?) เป็นต้น. นับว่าดีมากที่หนังสือของเรามีสีปกหลากหลายต่างกัน!หลังจากอยู่ที่เมืองอีตูประมาณหนึ่งปี ฉันได้รับโทรเลขขอให้ไปช่วยงานชั่วคราวที่เบเธล สำนักงานสาขาของพยานพระยะโฮวาในนครริวเดจาเนโร เพื่อเตรียมงานสำหรับการประชุมใหญ่ระดับชาติ. ฉันตอบรับด้วยความดีใจ.
สิทธิพิเศษและการท้าทายเพิ่มขึ้น
ที่เบเธลมีงานไม่ขาด และฉันเป็นสุขที่ได้ช่วยทำงานอะไรตามที่ทำได้. นับว่าเป็นการเสริมสร้างเพียงใดที่ได้ร่วมพิจารณาข้อคัมภีร์ประจำวันทุกเช้า และการศึกษาหอสังเกตการณ์ ของครอบครัวในตอนเย็นวันจันทร์! คำอธิษฐานอย่างสุดหัวใจของบราเดอร์โอทโท เอสเทลมันน์และสมาชิกครอบครัวเบเธลผู้มีประสบการณ์ส่งผลกระทบฉันอย่างล้ำลึก.
หลังการประชุมใหญ่ระดับชาติ ฉันจัดของลงกระเป๋าเดินทางเตรียมกลับเมืองอีตู แต่ก็ต้องประหลาดใจเมื่อแกรนต์ มิลเลอร์ ผู้รับใช้สาขายื่นจดหมายให้ฉัน เป็นจดหมายเชิญเข้าเป็นสมาชิกถาวรของครอบครัวเบเธล. เพื่อนร่วมห้องของฉันคือซิสเตอร์โฮซา ยาเซดเจียน ซึ่งยังคงรับใช้ในสำนักเบเธลบราซิล. สมัยนั้นเบเธลเป็นครอบครัวขนาดเล็ก มีสมาชิกเพียง 28 คน และเราทุกคนสนิทสนมกันดี.
ปี 1964 ชาเวา ซานาร์ดี ชายหนุ่มที่รับใช้เต็มเวลาได้มารับการอบรมที่เบเธล. ตอนนั้นหน้าที่มอบหมายของเขาคือผู้รับใช้หมวด หรือผู้ดูแลเดินทางในหมวดซึ่งอยู่ใกล้ ๆ. เราพบกันเป็นครั้งคราวเมื่อเขามาส่งรายงานที่เบเธล. ผู้รับใช้สาขาอนุญาตชาเวาเข้าร่วมศึกษากับครอบครัวทุกเย็นวันจันทร์ ด้วยเหตุนี้เรามีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น. ชาเวากับฉันแต่งงานกันในเดือนสิงหาคม ปี 1965. ฉันตอบรับคำเชิญด้วยความยินดีที่จะสมทบกับสามีในงานเยี่ยมหมวด.
สมัยนั้นการเดินทางในประเทศบราซิลดูเหมือนไม่ต่างจากการผจญภัยเท่าใดนัก. ฉันไม่มีวันลืมการเยี่ยมกลุ่มผู้ประกาศที่เมืองอารันนา รัฐมีนัสเจไรส์. เราต้องนั่งรถไฟ จากนั้นเดินเท้าจนถึงที่หมาย—ทั้งแบกทั้งหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้า, เครื่องพิมพ์ดีด, เครื่องฉายภาพนิ่ง, กระเป๋าหนังสือสำหรับงานเผยแพร่, รวมทั้งสรรพหนังสือ. เราดีใจเหลือเกินเมื่อเห็นลูริวัล ชันตัล บราเดอร์ผู้สูงอายุคอยอยู่ที่สถานีรถไฟเสมอพร้อมจะช่วยแบกขนสัมภาระของเรา.
ที่อารันนา เขาจัดการประชุมขึ้นในบ้านเช่า. เรานอนในห้องเล็กหลังบ้าน. ด้านหนึ่งของห้องมีกองฟืนสำหรับใช้ก่อไฟทำอาหารและต้มน้ำ ซึ่งพวกพี่น้องได้ตักมาเป็นถัง ๆ ให้เราใช้. กลางดงไผ่ไม่ห่างจากตัวบ้านมีส้วมหลุม. ตอนกลางคืนเราจุดตะเกียงแก๊สทิ้งไว้เพื่อไล่แมลงปีกแข็งซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้ชากัส. พอรุ่งเช้า รูจมูกของเรามักจะดำเพราะควันจากตะเกียง. ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจทีเดียว!
ระหว่างเดินทางเยี่ยมหมวดในรัฐปารานา เราได้รับซองใหญ่สีน้ำตาลจากสำนักงานสาขาอีกครั้งหนึ่ง. เป็นคำเชิญจากองค์การของพระยะโฮวาอีก—คราวนี้ให้เราไปปฏิบัติงานที่ประเทศโปรตุเกส! ในจดหมายนั้นแนะนำเราให้พิจารณาหลักการในลูกา 14:28 และคิดให้รอบคอบก่อนตอบรับหน้าที่มอบหมายนี้ เนื่องจากมีการสั่งห้ามงานเผยแพร่ฝ่ายคริสเตียนของเราในประเทศนั้น และรัฐบาลโปรตุเกสได้จับกุมพี่น้องของเราไปหลายคนแล้ว.
เราจะไปยังประเทศที่เราจะต้องเจอการข่มเหงดังกล่าวไหม? ชาเวาพูดว่า “ถ้าพี่น้องชาวโปรตุเกสอยู่ที่นั่นได้และยังคงรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้?” เมื่อนึกถึงคำพูดของพ่อที่ให้กำลังใจ ฉันเห็นพ้องด้วยที่ว่า “ถ้าพระยะโฮวาส่งคำเชิญให้เรา เราควรตอบรับและไว้วางใจพระองค์.” ไม่นานต่อมา เราได้ไปที่สำนักเบเธลในเมืองเซาเปาลู เพื่อรับคำแนะนำชี้แจงในรายละเอียด และเตรียมเอกสารต่าง ๆ สำหรับการเดินทาง.
ชาเวา มาเรียและมาเรีย ชาเวา
เราโดยสารเรือชื่อเอยุเชนยูเซ เค ออกจากท่าเรือซานโตส รัฐเซาเปาลูในวันที่ 6 กันยายน 1969. หลังจากอยู่ในทะเลเก้าวัน เราก็มาถึงโปรตุเกส. ตอนแรก ๆ เราทำงานกับพวกพี่น้องที่มีประสบการณ์อยู่หลายเดือน โดยไปตามถนนสายแคบ ๆ ในเขตอัลฟามาและมอราเรีย มณฑลเก่าแก่ของกรุงลิสบอน. พี่น้องเหล่านี้ฝึกสอนเราให้เป็นคนช่างสังเกต เพื่อจะไม่โดนตำรวจจับง่าย ๆ.
การประชุมประชาคมจัดขึ้นในบ้านพยานฯ. เมื่อเราสังเกตว่าคนบ้านใกล้เรือนเคียงเริ่มสงสัย เราจะย้ายไปประชุมอีกที่หนึ่งทันที เพื่อตำรวจจะไม่เข้าจู่โจมจับกุมพี่น้องของเรา. การประชุมใหญ่ที่เราเรียกว่าการไปปิกนิกนั้นก็จัดขึ้นในสวนธรรมชาติมอนซานตู ที่ชานเมืองกรุงลิสบอน และที่คอสตา เดอ คาปารีกา เขตป่าไม้เลียบชายฝั่ง. เราแต่งตัวตามสบายเหมาะสมกับกาลเทศะ และในจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งอยู่ตามจุดสำคัญคอยเฝ้าระวังภัย. ถ้ามีคนที่น่าสงสัยเข้ามาใกล้ เราก็มีเวลาพอที่จะทำทีเป็นเล่นเกม, หรือทำราวกับว่าเรามาปิกนิก, หรือไม่ก็เริ่มร้องเพลงพื้นเมือง.
เราเลี่ยงการใช้ชื่อจริง ทั้งนี้จะทำให้ตำรวจสันติบาลระบุตัวเราได้ยากขึ้น. พวกพี่น้องรู้จักเราในชื่อชาเวา มาเรียและมาเรีย ชาเวา. เราไม่ใช้ชื่อจริงเมื่อมีการติดต่อทางจดหมายหรือทำบันทึกอันเป็นหลักฐาน. ทว่าเราใช้หมายเลขประจำตัว. ฉันตั้งใจพยายามจะไม่จดจำที่อยู่ของพี่น้อง. โดยวิธีนี้ ถ้าถูกจับก็เป็นไปไม่ได้ที่ฉันจะทรยศพวกเขา.
แม้นมีข้อห้ามข้อจำกัดหลายอย่าง ชาเวากับฉันตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าจะใช้ประโยชน์จากทุกโอกาสให้คำพยาน เพราะเรารู้ว่าอิสรภาพของเราอาจจะสิ้นสุดลงเวลาใดก็ได้. เราเรียนรู้การหมายพึ่งพระยะโฮวาพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์. ในฐานะผู้คุ้มครองของเรา พระองค์ทรงใช้ทูตสวรรค์ของพระองค์ในลักษณะที่เรารู้สึกประหนึ่งว่า “เห็นพระองค์ผู้ไม่ปรากฏแก่ตา.”—เฮ็บราย 11:27, ล.ม.
ณ โอกาสหนึ่ง ขณะออกไปทำงานเผยแพร่ตามบ้านในเมืองปอร์โต เราพบชายคนหนึ่งซึ่งเชื้อเชิญเราเข้าไปในบ้านให้ได้. ซิสเตอร์ที่ทำงานกับฉันตอบรับคำเชิญโดยไม่รีรอ และฉันไม่มีทางเลือกจึงต้องเข้าไปกับเธอ. ฉันตกใจกลัวมาก เพราะสังเกตเห็นรูปถ่ายคนในเครื่องแบบทหารที่ห้องโถง. ตอนนี้จะทำอย่างไรดี? เจ้าของบ้านเชิญเรานั่งแล้วถามขึ้นมาว่า “คุณจะยอมให้ลูกชายของคุณรับราชการทหารไหมหากมีหมายเรียก?” ตอนนั้นช่างคับขันเสียจริง ๆ. แต่หลังจากอธิษฐานในใจและสงบสติอารมณ์แล้ว ฉันตอบว่า “ฉันไม่มีลูก และหากฉันจะถามคุณด้วยคำถามสมมุติเช่นนั้น แน่ใจว่าคุณคงจะให้คำตอบอย่างเดียวกัน.” เขานิ่งเงียบ. ดังนั้น ฉันจึงพูดต่อไปว่า “ทีนี้ สมมุติคุณถามว่าฉันจะรู้สึกอย่างไรถ้าต้องสูญเสียน้องชายหรือพ่อ ฉันสามารถตอบได้เพราะว่าน้องชายกับพ่อต่างก็เสียชีวิตไปแล้ว.” ฉันพูดน้ำตาคลอ และฉันสังเกตด้วยว่าเขาเกือบจะร้องไห้เหมือนกัน. แล้วเขาก็เล่าว่าภรรยาของเขาเพิ่งเสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้เอง. เขาจดจ่อตั้งใจฟังขณะที่ฉันอธิบายเรื่องความหวังที่จะได้รับการปลุกขึ้นจากตาย. แล้วเราก็กล่าวคำอำลาอย่างสุภาพและจากมาด้วยความปลอดภัย ปล่อยเรื่องนั้นไว้ในพระหัตถ์พระยะโฮวา.
แม้มีการสั่งห้าม สุจริตชนก็ยังได้รับการช่วยให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับความจริง. ที่เมืองปอร์โต สามีของฉันได้เริ่มการศึกษากับฮอรัสยู ซึ่งเป็นนักธุรกิจ เขาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว. ต่อมา เอมิลยูบุตรชายของเขาซึ่งเป็นแพทย์ที่เก่งมากก็ได้แสดงจุดยืนอยู่ฝ่ายพระยะโฮวาและได้รับบัพติสมาเช่นกัน. จริงทีเดียว ไม่มีสิ่งใดจะยับยั้งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาไว้ได้.
“คุณไม่มีวันรู้สิ่งที่พระยะโฮวาจะยอมให้เป็นไป”
ปี 1973 ฉันกับชาเวาได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ “ชัยชนะขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม. พี่น้องชาวสเปนและเบลเยียมหลายพันคนได้อยู่ที่นั่น ทั้งยังมีตัวแทนจากโมซัมบิก, แองโกลา, เคปเวิร์ด, หมู่เกาะมาเดรา, และหมู่เกาะอะซอร์ส. บราเดอร์นอรร์ จากสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก กล่าวลงท้ายด้วยคำกระตุ้นเตือนดังนี้: “จงรับใช้พระยะโฮวาต่อไปด้วยความซื่อสัตย์. คุณไม่มีวันรู้สิ่งที่พระยะโฮวาจะยอมให้เป็นไป. ใครจะรู้ คุณอาจเข้าร่วมการประชุมนานาชาติครั้งถัดไปที่ประเทศโปรตุเกสก็ได้!”
หลังจากนั้นหนึ่งปี กิจการเผยแพร่ในโปรตุเกสได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย. และคำพูดของบราเดอร์นอรร์กลายเป็นจริง วันที่ 25 เมษายน 1978 เราได้จัดการประชุมนานาชาติเป็นครั้งแรกในกรุงลิสบอน. นับว่าเป็นโอกาสดีเยี่ยมสักเพียงไรที่เราเดินเป็นขบวนไปตามถนนสายต่าง ๆ ในกรุงลิสบอน ให้คำพยานด้วยการแขวนแผ่นป้ายประกบหน้าหลัง, ด้วยวารสาร, และเชิญชวนประชาชนฟังคำบรรยายสาธารณะ! ความฝันกลายเป็นจริงแล้ว.
นับวันเรายิ่งรักพี่น้องชาวโปรตุเกสมากขึ้นทุกที หลายคนในหมู่พี่น้องเหล่านี้เคยถูกจำคุกและถูกเฆี่ยนเนื่องจากการรักษาฐานะเป็นกลางฝ่ายคริสเตียน. ความปรารถนาของเราคือจะรับใช้ต่อไปในประเทศโปรตุเกส. อย่างไรก็ดี เราไม่สามารถทำดังที่ใจเราปรารถนา. ปี 1982 ชาเวาเริ่มมีปัญหาร้ายแรงด้านโรคหัวใจ และสำนักงานสาขาแนะนำให้เรากลับบราซิล.
เวลาที่แสนลำบาก
พี่น้องในสำนักงานสาขาบราซิลให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีและได้มอบหมายให้เราร่วมรับใช้กับประชาคมกีรีริงในเมืองเทาบาเท รัฐเซาเปาลู. สุขภาพของชาเวาทรุดอย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นไม่นานเขาอยู่แต่ในบ้านเพราะไปไหนไม่ได้. คนสนใจมาที่บ้านของเราเพื่อศึกษาพระคัมภีร์ และทุกวันมีการประชุมเพื่อออกประกาศ อีกทั้งมีกลุ่มการศึกษาประจำสัปดาห์ด้วย. การจัดเตรียมดังกล่าวช่วยเรารักษาสภาพฝ่ายวิญญาณให้คงอยู่.
ชาเวาได้ทำงานรับใช้พระยะโฮวาสุดความสามารถอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงแก่ชีวิตเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1985. ฉันเศร้าใจและรู้สึกหดหู่ไม่น้อย แต่ก็ตั้งใจมุ่งมั่นจะทำงานที่ได้รับมอบหมายต่อไป. เกิดอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งเมื่อเดือนเมษายน 1986 ตอนที่ขโมยขึ้นบ้านและยกเค้าข้าวของไปเกือบหมด. นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ฉันรู้สึกเปลี่ยวใจและหวาดกลัว. ด้วยความรักและห่วงใยของสามีภรรยาคู่หนึ่ง เขาชวนฉันไปพักอยู่ด้วยระยะหนึ่ง ซึ่งฉันสำนึกบุญคุณอย่างยิ่ง.
การตายของชาเวาและขโมยขึ้นบ้านมีผลกระทบฉันเหมือนกันในด้านงานรับใช้พระยะโฮวา. ฉันรู้สึกไม่มั่นใจเมื่อออกไปทำงานรับใช้. หลังจากเขียนจดหมายเล่าความยากลำบากถึงสำนักงานสาขาแล้ว ฉันได้รับเชิญให้เข้าไปพักอยู่ในเบเธลระยะหนึ่งเพื่อรักษาสภาพจิตใจของฉัน. นั่นเป็นช่วงเวลาที่เสริมความเข้มแข็งจริง ๆ!
พอฉันรู้สึกดีขึ้นบ้างแล้ว ฉันตอบรับงานมอบหมายให้รับใช้ที่เมืองอีปูอังในรัฐเซาเปาลู. งานเผยแพร่ทำให้ฉันไม่มีเวลาว่าง แต่ก็มีอยู่หลายครั้งที่ฉันรู้สึกท้อแท้. เมื่อเจอภาวะแบบนั้น ฉันโทรศัพท์ถึงพี่น้องที่ประชาคมกีรีริง ซึ่งจะมีครอบครัวหนึ่งแวะมาเยี่ยมฉันสักสองสามวัน. การเยี่ยมของพี่น้องเหล่านั้นช่างเป็นการหนุนใจอย่างแท้จริง! ในช่วงหนึ่งปีแรกในอีปูอัง มีพี่น้องชายหญิง 38 คนไม่ซ้ำหน้ากันได้เดินทางไกลมาเยี่ยมฉัน.
ปี 1992 หกปีหลังการเสียชีวิตของชาเวา ฉันได้รับคำเชิญอีกครั้งหนึ่งจากองค์การของพระยะโฮวา คราวนี้ให้ย้ายไปเมืองฟรังกา รัฐเซาเปาลู ซึ่งฉันยังรับใช้อยู่ที่นี่ในฐานะผู้เผยแพร่เต็มเวลา. เขตงานที่นี่บังเกิดผลดีมาก. ปี 1994 ฉันเริ่มการศึกษาพระคัมภีร์กับนายกเทศมนตรี. ขณะนั้น เขากำลังรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเพื่อจะได้ที่นั่งในสภาบราซิล ถึงแม้ตารางเวลาทำงานของเขาจะเต็มแน่น แต่เราก็ได้ศึกษาทุกบ่ายวันจันทร์. เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงรบกวน เขาจะปิดเครื่องโทรศัพท์. ฉันดีใจเพียงใดที่เห็นเขาค่อย ๆ ถอนตัวทีละน้อยจากวิถีการเมือง และเมื่อมีความจริงเข้ามาช่วย เขาได้ปรับปรุงชีวิตสมรสให้คืนสภาพเดิม! เขาพร้อมด้วยภรรยาได้รับบัพติสมาในปี 1998.
เมื่อมองย้อนหลัง ฉันพูดได้เลยว่าชีวิตฉันในฐานะผู้เผยแพร่เต็มเวลาเป็นชีวิตที่ได้รับพระพรล้นเหลือและมีสิทธิพิเศษอันใหญ่หลวง. การตอบรับคำเชิญซึ่งพระยะโฮวาเสนอให้ฉันผ่านทางองค์การของพระองค์ทำให้ฉันได้รับผลตอบแทนอุดมบริบูรณ์. และในอนาคต หากมีการเชิญชวนแบบใดอีกก็ตาม ความเต็มใจของฉันในการตอบรับก็ยังคงหนักแน่นเช่นเคย.
[ภาพหน้า 25]
ปี 1957 เมื่อฉันเข้าสู่งานรับใช้เต็มเวลา และในปัจจุบัน
[ภาพหน้า 26]
ถ่ายกับครอบครัวเบเธลในบราซิลปี 1963
[ภาพหน้า 27]
งานแต่งงานของเราในเดือนสิงหาคม 1965
[ภาพหน้า 27]
การประชุมใหญ่ในโปรตุเกสขณะที่มีการสั่งห้าม
[ภาพหน้า 28]
การให้คำพยานที่ถนนในกรุงลิสบอนระหว่างการประชุมนานาชาติ “ความเชื่อที่มีชัย” ปี 1978