จงเกรงกลัวพระยะโฮวาและถือรักษาพระบัญชาของพระองค์
จงเกรงกลัวพระยะโฮวาและถือรักษาพระบัญชาของพระองค์
“จงเกรงกลัวพระเจ้าเที่ยงแท้และถือรักษาพระบัญชาของพระองค์. เพราะนี่คือพันธะทั้งสิ้นของมนุษย์.”—ท่านผู้ประกาศ 12:13, ล.ม.
1, 2. (ก) ความกลัวอาจช่วยป้องกันเราทางกายได้อย่างไร? (ข) เหตุใดบิดามารดาที่ฉลาดสุขุมพยายามปลูกฝังให้บุตรมีความกลัวที่เหมาะสม?
“ความกล้าทำให้ชีวิตตกอยู่ในอันตรายฉันใด ความกลัวก็ปกป้องชีวิตไว้ฉันนั้น” เลโอนาร์โด ดา วินชี ได้ให้ข้อสังเกตไว้ดังกล่าว. ความกล้าบ้าบิ่นทำให้คนเรามองไม่เห็นอันตราย ในขณะที่ความกลัวเตือนเขาให้ระมัดระวัง. ยกตัวอย่าง หากเราเข้าไปใกล้ขอบผาและเห็นว่าเหวนั้นลึกขนาดไหน พวกเราส่วนใหญ่จะถอยห่างออกมาโดยสัญชาตญาณ. คล้ายกัน ความกลัวที่เหมาะสมไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้มีสัมพันธภาพที่ดีกับพระเจ้าเท่านั้น ดังที่เราได้เรียนในบทความก่อน แต่ยังจะช่วยป้องกันเราไว้จากความเสียหายอีกด้วย.
2 อย่างไรก็ตาม ความกลัวต่อภัยอันตรายที่มีอยู่มากมายในสมัยปัจจุบันเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้. เนื่องจากเด็กเล็กไม่รู้จักอันตรายของไฟฟ้าหรือการจราจรในเมืองใหญ่ พวกเขาอาจประสบอุบัติเหตุร้ายแรงได้โดยง่าย. * บิดามารดาที่ฉลาดสุขุมพยายามปลูกฝังให้บุตรมีความกลัวที่เหมาะสม เตือนเขาครั้งแล้วครั้งเล่าให้ระวังอันตรายที่มีอยู่รอบด้าน. บิดามารดาทราบว่าความกลัวอย่างนี้อาจช่วยชีวิตบุตรได้.
3. เหตุใดพระยะโฮวาทรงเตือนเราเกี่ยวกับอันตรายฝ่ายวิญญาณ และพระองค์ทรงเตือนเราอย่างไร?
3 พระยะโฮวาทรงห่วงใยสวัสดิภาพของเราคล้าย ๆ กัน. ในฐานะพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรัก พระองค์ทรงสอนเราทางพระคำและองค์การของพระองค์เพื่อประโยชน์สุขของเรา. (ยะซายา 48:17) ส่วนหนึ่งของรายการคำสอนจากพระเจ้ารวมถึงการเตือนเรา “ครั้งแล้วครั้งเล่า” เกี่ยวกับหลุมพรางฝ่ายวิญญาณเพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาความกลัวที่เหมาะสมต่ออันตรายเช่นนั้น. (2 โครนิกา 36:15, ล.ม.; 2 เปโตร 3:1) ตลอดประวัติศาสตร์ ความหายนะมากมายทางฝ่ายวิญญาณสามารถเลี่ยงได้และความทุกข์ยากเป็นอันมากอาจไม่เกิดขึ้น ‘ถ้าเพียงแต่ผู้คนได้พัฒนาหัวใจของเขาเพื่อจะเกรงกลัวพระเจ้า และรักษาข้อบัญญัติทั้งสิ้นของพระองค์.’ (พระบัญญัติ 5:29, ล.ม.) ใน “วิกฤตกาลซึ่งยากที่จะรับมือได้” นี้ เราจะพัฒนาหัวใจของเราให้เกรงกลัวพระเจ้าและหลีกเลี่ยงอันตรายฝ่ายวิญญาณได้โดยวิธีใด?—2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.
จงหันหนีจากสิ่งชั่ว
4. (ก) คริสเตียนควรปลูกฝังความเกลียดแบบใด? (ข) พระยะโฮวาทรงรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการทำบาป? (โปรดดูเชิงอรรถ.)
4 คัมภีร์ไบเบิลอธิบายว่า “ความยำเกรงพระยะโฮวาคือการชังความชั่ว.” (สุภาษิต 8:13) พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลเล่มหนึ่งอธิบายความเกลียดนี้ว่าเป็น “ท่าทีความรู้สึกต่อบุคคลและสิ่งต่าง ๆ ซึ่งถูกต่อต้าน, ถูกเกลียดชัง, ถูกเหยียดหยาม และสิ่งซึ่งคนเราไม่ประสงค์จะติดต่อหรือสัมพันธ์ด้วย.” ดังนั้น ความเกรงกลัวพระเจ้ามีความหมายรวมถึงความไม่ชอบหรือความสะอิดสะเอียนที่ออกมาจากภายใน ต่อทุกสิ่งที่ชั่วในสายพระเนตรพระยะโฮวา. * (บทเพลงสรรเสริญ 97:10) ความเกรงกลัวพระเจ้ากระตุ้นเราให้หันหนีจากสิ่งชั่ว เช่นเดียวกับที่เราถอยให้ห่างจากขอบผาเมื่อความกลัวตามสัญชาตญาณเตือนเราให้ระวัง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ว่า “โดยความยำเกรงพระยะโฮวามนุษย์จึงจะพ้น [“หันหนี,” ล.ม.] จากความชั่ว.”—สุภาษิต 16:6.
5. (ก) เราจะเสริมความเกรงกลัวพระเจ้าและความเกลียดต่อสิ่งชั่วได้อย่างไร? (ข) ประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอลสอนเราอย่างไรในเรื่องนี้?
5 เราจะเสริมความกลัวและความเกลียดที่เหมาะสมต่อสิ่งชั่วได้โดยพิจารณาผลเสียหายซึ่งบาปนำมาให้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. คัมภีร์ไบเบิลรับรองกับเราว่าเราจะเกี่ยวเก็บสิ่งที่เราหว่าน ไม่ว่าเราจะหว่านตามเนื้อหนังหรือหว่านตามพระวิญญาณ. (ฆะลาเตีย 6:7, 8) ด้วยเหตุผลนี้ พระยะโฮวาทรงพรรณนาอย่างแจ่มแจ้งถึงผลซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของการไม่นำพาพระบัญชาของพระองค์และการละทิ้งการนมัสการแท้. หากปราศจากการคุ้มครองของพระเจ้า อิสราเอลซึ่งเป็นชาติเล็ก ๆ และง่ายแก่การโจมตีย่อมไม่มีทางป้องกันตัวได้เลยจากชาติข้างเคียงที่โหดร้ายและมีอำนาจ. (พระบัญญัติ 28:15, 45-48) ผลอันน่าเศร้าของการที่ชาวอิสราเอลไม่เชื่อฟังมีบันทึกอย่างละเอียดในคัมภีร์ไบเบิล “เพื่อจะเตือนสติ” ให้เราได้บทเรียนและให้เราปลูกฝังความเกรงกลัวพระเจ้า.—1 โกรินโธ 10:11.
6. ตัวอย่างอะไรบ้างจากพระคัมภีร์ที่เราสามารถพิจารณาเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความเกรงกลัวพระเจ้า? (โปรดดูเชิงอรรถ.)
6 นอกจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาติอิสราเอลโดยรวมแล้ว คัมภีร์ไบเบิลยังบันทึกประสบการณ์ชีวิตจริงของบางคนที่ถูกครอบงำโดยความอิจฉา, การผิดศีลธรรม, ความละโมบ, หรือความเย่อหยิ่ง. * คนเหล่านี้บางคนได้รับใช้พระยะโฮวาเป็นเวลาหลายปี แต่เมื่อถึงช่วงสำคัญในชีวิต ความเกรงกลัวพระเจ้าของพวกเขาไม่เข้มแข็งพอ และพวกเขาต้องเกี่ยวเก็บผลอันขมขื่น. การใคร่ครวญตัวอย่างจากพระคัมภีร์เช่นนี้อาจเสริมความตั้งใจแน่วแน่ของเรามากขึ้นที่จะไม่ทำผิดพลาดคล้าย ๆ กันนั้น. ช่างน่าเศร้าจริง ๆ หากเราคอยจนกระทั่งโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นกับเราก่อนจะทันได้เอาใจใส่คำแนะนำของพระเจ้า! ตรงข้ามกับสิ่งที่เชื่อกันโดยทั่วไป ประสบการณ์—โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการทำตามใจตัวเอง—ไม่ใช่ครูที่ดีที่สุด.—บทเพลงสรรเสริญ 19:7.
7. พระยะโฮวาทรงเชิญใครให้เข้าในเต็นท์โดยนัยของพระองค์?
7 เหตุผลซึ่งมีน้ำหนักมากอีกประการหนึ่งที่จะปลูกฝังความเกรงกลัวพระเจ้าคือความปรารถนาของเราที่จะรักษาสัมพันธภาพของเรากับพระเจ้า. เรากลัวว่าจะทำให้พระยะโฮวาไม่พอพระทัยเนื่องจากเราถือว่ามิตรภาพของพระองค์มีค่ายิ่ง. พระเจ้าทรงถือว่าใครเป็นมิตร ซึ่งพระองค์จะเชิญให้บทเพลงสรรเสริญ 15:1, 2) หากเราเห็นคุณค่าสัมพันธภาพกับพระผู้สร้างของเราและถือว่าเป็นสิทธิพิเศษ เราจะระมัดระวังเพื่อจะดำเนินชีวิตอย่างไม่ผิดพลาดในสายพระเนตรของพระองค์.
เข้าในเต็นท์โดยนัยของพระองค์? เฉพาะผู้ที่ “ประพฤติเที่ยงตรง, ที่กระทำการยุติธรรม.” (8. ชาวอิสราเอลบางคนในสมัยมาลาคีถือว่ามิตรภาพกับพระเจ้าเป็นเรื่องไม่สำคัญอย่างไร?
8 น่าเศร้า ชาวอิสราเอลบางคนในสมัยมาลาคีถือว่ามิตรภาพกับพระเจ้าไม่ใช่เรื่องสำคัญ. แทนที่จะเกรงกลัวและถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา พวกเขาถวายสัตว์ป่วยและสัตว์พิการ ณ แท่นของพระองค์. นอกจากนี้ เจตคติของพวกเขาต่อชีวิตสมรสยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่าพวกเขาขาดความเกรงกลัวพระเจ้า. เพื่อจะไปสมรสกับผู้หญิงที่สาวกว่า พวกเขาหย่าภรรยาที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาวด้วยข้ออ้างหยุมหยิม. มาลาคีบอกพวกเขาว่าพระยะโฮวาทรงเกลียด “การหย่าร้าง” และน้ำใจทรยศเช่นนี้ทำให้พวกเขาห่างเหินจากพระเจ้าของพวกเขา. พระเจ้าจะพอพระทัยเครื่องบูชาของพวกเขาได้อย่างไร ในเมื่อกล่าวโดยนัยได้ว่าแท่นบูชานั้นนองไปด้วยน้ำตา คือน้ำตาอันขมขื่นของภรรยาที่พวกเขาทอดทิ้ง? ความไม่นับถือต่อมาตรฐานของพระองค์อย่างชัดแจ้งเช่นนั้นกระตุ้นพระยะโฮวาให้ถามว่า “ความยำเกรงต่อเราอยู่ที่ไหนกันเล่า?”—มาลาคี 1:6-8; 2:13-16.
9, 10. เราจะแสดงว่าเราเห็นค่ามิตรภาพของพระยะโฮวาได้โดยวิธีใด?
9 คล้ายกันในทุกวันนี้ พระยะโฮวาทรงเห็นดวงใจที่แตกสลายของคู่สมรสและบุตรผู้ไร้ความผิดจำนวนมากที่ถูกทอดทิ้งโดยสามีและบิดาที่เห็นแก่ตัวและผิดศีลธรรม หรือแม้แต่ภรรยาและมารดาที่เป็นอย่างนั้น. แน่นอน นั่นทำให้พระองค์เศร้าพระทัย. มิตรของพระเจ้าจะมองเรื่องต่าง ๆ ในวิธีที่พระเจ้าทรงมอง และจะพยายามเต็มที่เพื่อทำให้สายสมรสของตนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น, ปฏิเสธแนวคิดอย่างโลกที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่สายสมรส, และ “หลีกหนีจากการผิดประเวณี.”—1 โกรินโธ 6:18, ล.ม.
10 ทั้งในชีวิตสมรสและในแง่อื่น ๆ ของชีวิตเรา ความเกลียดต่อทุกสิ่งที่ชั่วในสายพระเนตรพระยะโฮวา พร้อมกับความหยั่งรู้ค่าลึกซึ้งในมิตรภาพของพระองค์ จะทำให้เราได้รับความพอพระทัยและความโปรดปรานจากพระยะโฮวา. อัครสาวกเปโตรกล่าวอย่างหนักแน่นว่า “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” (กิจการ 10:34, 35) เรามีตัวอย่างในพระคัมภีร์มากมายที่แสดงถึงวิธีที่ความเกรงกลัวพระเจ้ากระตุ้นบางคนให้ทำสิ่งที่ถูกต้องในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญความลำบากอย่างมาก.
สามคนผู้เกรงกลัวพระเจ้า
11. อับราฮามได้รับการประกาศว่าเป็นผู้ “เกรงกลัวพระเจ้า” ในสภาพการณ์เช่นไร?
11 มีบุรุษผู้หนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลซึ่งพระยะโฮวาเองทรงเรียกท่านว่าเป็นมิตรของพระองค์. บุรุษผู้นี้คือปฐมบรรพบุรุษอับราฮาม. (ยะซายา 41:8) ความเกรงกลัวพระเจ้าของอับราฮามถูกทดสอบเมื่อพระเจ้าทรงมีรับสั่งให้ท่านถวายยิศฮาคบุตรชายคนเดียวเป็นเครื่องบูชา ซึ่งโดยทางบุตรชายคนนี้เองที่พระเจ้าจะทรงทำให้สำเร็จตามคำสัญญาที่ว่าลูกหลานของอับราฮามจะกลายเป็นชาติใหญ่. (เยเนซิศ 12:2, 3; 17:19) “มิตรของพระเจ้า” ผู้นี้จะผ่านการทดสอบอันปวดร้าวใจนี้ไหม? (ยาโกโบ 2:23) ในขณะที่อับราฮามเงื้อมีดจะฆ่ายิศฮาค ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาก็กล่าวว่า “เจ้าอย่าทำอันตรายแก่ลูกชายนั้นเลย; เพราะเดี๋ยวนี้เรารู้ว่าเจ้าเกรงกลัวพระเจ้า, ด้วยเจ้ามิได้หวงลูกคนเดียวของเจ้าไว้จากเรา.”—เยเนซิศ 22:10-12.
12. อะไรกระตุ้นอับราฮามให้แสดงความเกรงกลัวพระเจ้า และเราจะแสดงน้ำใจคล้าย ๆ กันนั้นได้อย่างไร?
12 แม้ว่าก่อนหน้านั้นอับราฮามได้พิสูจน์ตัวว่าเป็นคนหนึ่งที่เกรงกลัวพระยะโฮวา แต่ในโอกาสนี้ท่านแสดงออกซึ่งความเกรงกลัวพระเจ้าอย่างโดดเด่น. ความเต็มใจที่จะถวายยิศฮาคเป็นเครื่องบูชาแสดงว่าท่านต้องมีไม่เพียงแต่ความเชื่อฟังด้วยความนับถือ. อับราฮามได้รับแรงกระตุ้นจากความไว้วางใจเต็มเปี่ยมว่าพระบิดาฝ่ายสวรรค์จะทรงทำให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จด้วยการปลุกยิศฮาคให้มีชีวิตอีกครั้ง หากจำเป็น. ดังที่เปาโลได้เขียนไว้ อับราฮาม “เชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงฤทธิ์อาจกระทำให้สำเร็จได้ตามที่พระองค์ตรัสสัญญาไว้.” (โรม 4:16-21, ฉบับแปลใหม่) เราพร้อมจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าแม้แต่เมื่อต้องเสียสละอย่างใหญ่หลวงไหม? เรามีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมไหมว่าการเชื่อฟังเช่นนั้นจะนำประโยชน์ระยะยาวมาให้ โดยทราบอยู่ว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “ผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจ แสวงหาพระองค์”? (เฮ็บราย 11:6) นั่นแหละคือความเกรงกลัวพระเจ้าอย่างแท้จริง.—บทเพลงสรรเสริญ 115:11.
13. เหตุใดโยเซฟสามารถกล่าวถึงตัวท่านเองได้อย่างถูกต้องว่าเป็นผู้ที่ “เกรงกลัวพระเจ้า”?
13 ให้เรามาพิจารณาอีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับความเกรงกลัวพระเจ้าในภาคปฏิบัติ คือตัวอย่างของโยเซฟ. ในฐานะทาสในเรือนของโพติฟา โยเซฟพบว่าท่านถูกกดดันไม่เว้นแต่ละวันให้เล่นชู้. ดูเหมือนว่าท่านไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพบปะกับภรรยาของเจ้านาย ซึ่งได้ทอดสะพานให้ท่านอยู่เรื่อย ๆ. ในที่สุด เมื่อนาง “เหนี่ยวรั้งเสื้อผ้าโยเซฟไว้” ท่านก็ “หนีไปข้างนอก.” อะไรกระตุ้นท่านให้หันหนีจากสิ่งชั่วโดยไม่รอช้า? ไม่ต้องสงสัย ปัจจัยสำคัญคือความเกรงกลัวพระเจ้า ความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยงการทำ “บาปใหญ่หลวงนักต่อพระเจ้า.” (เยเนซิศ 39:7-13) โยเซฟสามารถกล่าวถึงตัวท่านเองได้อย่างถูกต้องว่าเป็นผู้ที่ “เกรงกลัวพระเจ้า.”—เยเนซิศ 42:18.
14. ความเมตตาของโยเซฟสะท้อนให้เห็นอย่างไรว่าท่านเกรงกลัวพระเจ้าอย่างแท้จริง?
14 หลายปีต่อมา โยเซฟได้มาเผชิญหน้ากับพวกพี่ชายที่ได้ขายท่านเป็นทาสอย่างใจดำ. หากท่านจะใช้ความทุกข์เดือดร้อนอย่างหนักของพวกเขาในเรื่องอาหารเป็นโอกาสที่จะแก้แค้นความผิดที่พวกเขาได้ทำแก่ท่านก็ย่อมจะทำได้อย่างง่ายดาย. แต่การปฏิบัติต่อผู้คนอย่างกดขี่ไม่ได้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าท่านมีความเกรงกลัวพระเจ้า. (เลวีติโก 25:43) ดังนั้น เมื่อโยเซฟเห็นหลักฐานมากพอแล้วว่าพวกพี่ชายเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจแล้ว ท่านให้อภัยพวกเขาด้วยความเมตตา. เช่นเดียวกับโยเซฟ ความเกรงกลัวพระเจ้าจะกระตุ้นเราให้เอาชนะความชั่วด้วยความดี รวมทั้งเหนี่ยวรั้งเราไว้จากการตกเข้าสู่การล่อใจ.—เยเนซิศ 45:1-11; บทเพลงสรรเสริญ 130:3, 4; โรม 12:17-21.
15. เหตุใดความประพฤติของโยบทำให้พระทัยของพระยะโฮวายินดี?
15 โยบเป็นตัวอย่างที่เด่นอีกคนหนึ่งในบรรดาผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้า. พระยะโฮวาตรัสแก่พญามารว่า “เคยได้สังเกตดูโยบผู้ทาสของเราหรือไม่? ว่าไม่มีใครในโลกดีเหมือนเขา; เป็นคนดีรอบคอบและชอบธรรม, เป็นผู้ยำเกรงพระเจ้าและหลบหลีกจากความชั่ว.” (โยบ 1:8) เป็นเวลาหลายปี ความประพฤติอันไร้ที่ติของโยบได้ทำให้พระทัยของพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของท่านยินดี. โยบเกรงกลัวพระเจ้าเพราะท่านทราบว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นวิถีชีวิตที่ดีที่สุด. โยบออกปากกล่าวว่า “ดูเถิด, ความยำเกรงพระยะโฮวานั่นแหละคือปัญญา; และการที่ละทิ้งการชั่วนั่นแหละคือความรู้ [“ความเข้าใจ,” ล.ม.].” (โยบ 28:28) ในฐานะผู้ที่สมรสแล้ว โยบไม่แสดงความสนใจต่อผู้หญิงสาว ๆ อย่างไม่สมควร อีกทั้งไม่คิดแผนการที่ผิดประเวณีในใจตน. แม้ว่าท่านเป็นคนร่ำรวย แต่ท่านไม่ได้ไว้วางใจในความมั่งคั่งของท่าน และท่านหลีกห่างจากการบูชารูปเคารพทุกรูปแบบ.—โยบ 31:1, 9-11, 24-28.
16. (ก) โยบแสดงความรักกรุณาในทางใดบ้าง? (ข) โยบแสดงอย่างไรว่าท่านมิได้ยับยั้งตัวเองไว้จากการให้อภัยผู้อื่น?
16 อย่างไรก็ตาม การแสดงความเกรงกลัวพระเจ้าไม่ได้หมายถึงเฉพาะการหลีกห่างสิ่งชั่ว แต่หมายถึงการทำสิ่งที่ดีด้วย. ฉะนั้น โยบแสดงความสนใจอย่างกรุณาต่อคนตาบอด, คนพิการ, และคนยากจน. (เลวีติโก 19:14; โยบ 29:15, 16) โยบเข้าใจว่า “บุคคลผู้ใดหน่วงเหนี่ยวความกรุณาไว้จากเพื่อนก็ทอดทิ้งความยำเกรงองค์ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์.” (โยบ 6:14, ฉบับแปลใหม่) การหน่วงเหนี่ยวความรักกรุณาอาจหมายรวมถึงการยับยั้งตัวเองไว้ไม่ให้อภัยผู้อื่นหรือการเก็บความขุ่นเคือง. ตามการชี้นำของพระเจ้า โยบอธิษฐานขอเพื่อสหายสามคนของท่าน ผู้ได้ทำให้ท่านทุกข์ใจเป็นอันมาก. (โยบ 42:7-10) เราจะแสดงน้ำใจให้อภัยคล้าย ๆ กันนั้นต่อเพื่อนผู้เชื่อถือที่อาจทำให้เราเจ็บใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้ไหม? การอธิษฐานอย่างจริงใจเพื่อเห็นแก่ผู้ที่ทำผิดต่อเราสามารถช่วยเราได้มากในการเอาชนะความขุ่นเคือง. พระพรที่โยบได้รับสำหรับความเกรงกลัวพระเจ้าทำให้เราพอจะมองเห็นภาพ ล่วงหน้าถึง ‘ความดีอันอุดมที่พระยะโฮวาได้ทรงสงวนไว้สำหรับเหล่าคนที่เกรงกลัวพระองค์.’—บทเพลงสรรเสริญ 31:19, ล.ม.; ยาโกโบ 5:11.
ความเกรงกลัวพระเจ้ากับความกลัวหน้ามนุษย์
17. ความกลัวหน้ามนุษย์อาจทำให้เราเป็นอย่างไร แต่เหตุใดความกลัวเช่นนั้นเป็นทัศนะแบบสายตาสั้น?
17 ในขณะที่ความเกรงกลัวพระเจ้าอาจกระตุ้นเราให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ความกลัวหน้ามนุษย์อาจบ่อนทำลายความเชื่อของเรา. ด้วยเหตุผลนี้ เมื่อได้กระตุ้นหนุนใจเหล่าสาวกให้เป็นผู้ประกาศข่าวดีด้วยใจแรงกล้าแล้ว พระเยซูตรัสแก่พวกเขาว่า “อย่ากลัวคนเหล่านั้นที่ฆ่าร่างกายแต่ไม่สามารถฆ่าจิตวิญญาณ; แต่จงกลัวท่านผู้นั้นที่สามารถทำลายทั้งจิตวิญญาณและร่างกายได้ในเกเฮนนา.” (มัดธาย 10:28, ล.ม.) ตามที่พระเยซูทรงอธิบายไว้ ความกลัวหน้ามนุษย์เป็นทัศนะแบบสายตาสั้น เพราะมนุษย์ไม่อาจทำลายความหวังของเราเกี่ยวกับชีวิตในอนาคตได้. นอกจากนั้น เราเกรงกลัวพระเจ้าเพราะเราตระหนักถึงฤทธิ์อำนาจอันน่าเกรงขามของพระองค์ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว อำนาจของชาติทั้งหมดรวมกันก็ไม่มีความหมายอะไร. (ยะซายา 40:15) เช่นเดียวกับอับราฮาม เรามีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในอำนาจของพระยะโฮวาที่จะปลุกผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ให้เป็นขึ้นจากตาย. (วิวรณ์ 2:10) ด้วยเหตุนั้น เรากล่าวด้วยความมั่นใจว่า “ถ้าพระเจ้าอยู่ฝ่ายเรา, ใครผู้ใดจะต่อสู้เราได้?”—โรม 8:31.
18. พระยะโฮวาประทานรางวัลแก่ผู้ที่เกรงกลัวพระองค์อย่างไร?
18 ไม่ว่าผู้ต่อต้านเราเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเด็กอันธพาลในโรงเรียน เราจะพบว่า “ความวางใจที่มั่นคงอยู่ในการยำเกรงพระยะโฮวา.” (สุภาษิต 14:26) เราสามารถอธิษฐานขอพระเจ้าโปรดประทานความเข้มแข็ง โดยรู้อยู่ว่าพระองค์จะทรงฟังเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 145:19) พระยะโฮวาไม่ทรงลืมคนเหล่านั้นที่เกรงกลัวพระองค์อย่างแน่นอน. โดยทางผู้พยากรณ์มาลาคี พระองค์ทรงรับรองกับเราดังนี้: “ในครั้งนั้นคนทั้งหลายที่ได้กลัวเกรงพระยะโฮวาก็ได้พลอยพูดเช่นนั้นด้วย, และพระยะโฮวาได้ทรงสดับ; แล้วจึงมีหนังสือบันทึกความจำ, มีนามคนทั้งหลายที่ได้ยำเกรงพระยะโฮวา, และที่ได้ระลึกถึงพระนามของพระองค์นั้นบันทึกลงต่อพักตร์พระองค์.”—มาลาคี 3:16.
19. ความกลัวแบบใดจะหมดสิ้นไป แต่ความกลัวแบบใดจะคงอยู่ตลอดไป?
19 เวลาที่ทุกคนบนแผ่นดินโลกจะนมัสการพระยะโฮวาและความกลัวหน้ามนุษย์จะสูญสิ้นไปใกล้เข้ามาแล้ว. (ยะซายา 11:9) ความกลัวต่อความหิว, โรคภัยไข้เจ็บ, อาชญากรรม, และสงคราม ก็จะหมดสิ้น. แต่ความเกรงกลัวพระเจ้าจะคงอยู่ตลอดชั่วนิรันดร์ขณะที่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกแสดงความนับถือ, ความเชื่อฟัง, และถวายเกียรติแด่พระองค์ต่อ ๆ ไป. (วิวรณ์ 15:4) ในระหว่างนี้ ขอให้เราทุกคนจดจำคำแนะนำของซะโลโมที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “อย่าให้ใจของเจ้าอิจฉาคนชั่ว; แต่จงยำเกรงพระยะโฮวาวันยังค่ำ: ด้วยว่าเวลาภายหน้าจะมีแน่, และความหวังใจของเจ้าจะไม่เสียเปล่า.”—สุภาษิต 23:17, 18.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 ผู้ใหญ่บางคนสูญเสียความกลัวอันตรายเมื่องานของเขาทำให้เขาจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เสี่ยงอันตรายอยู่เป็นประจำ. เมื่อมีคนถามว่าทำไมช่างไม้หลายคนนิ้วกุด ช่างผู้มีประสบการณ์คนหนึ่งตอบว่า “เพราะพวกเขาไม่กลัวเลื่อยไฟฟ้าความเร็วสูงเหมือนในตอนแรก ๆ.”
^ วรรค 4 พระยะโฮวาเองทรงรู้สึกสะอิดสะเอียนในลักษณะดังกล่าว. ยกตัวอย่าง เอเฟโซ 4:29 (ล.ม.) พรรณนาเกี่ยวกับภาษาหยาบโลนว่าเป็น “คำหยาบช้า.” คำภาษากรีกที่ใช้สำหรับ “หยาบช้า” มีความหมายตามตัวอักษรว่าผลไม้, ปลา, หรือเนื้อที่เน่าเสีย. คำนี้แสดงอย่างชัดเจนถึงความรังเกียจที่เราน่าจะรู้สึกต่อคำพูดหยาบหยามหรือคำพูดที่สกปรกลามก. คล้ายกันนั้น พระคัมภีร์มักพรรณนารูปเคารพว่า “น่ารังเกียจประหนึ่งมูลสัตว์.” (พระบัญญัติ 29:17, ล.ม.; ยะเอศเคล 6:9) ความรังเกียจที่เรามีตามธรรมดาต่อมูลสัตว์หรืออุจจาระช่วยเราให้เข้าใจความรู้สึกสะอิดสะเอียนของพระเจ้าต่อการบูชารูปเคารพไม่ว่าแบบใด.
^ วรรค 6 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาเรื่องราวในพระคัมภีร์เกี่ยวกับคายิน (เยเนซิศ 4:3-12); ดาวิด (2 ซามูเอล 11:2–12:14); เฆฮะซี (2 กษัตริย์ 5:20-27); และอุซียา (2 โครนิกา 26:16-21).
คุณจำได้ไหม?
• เราเรียนรู้ที่จะเกลียดสิ่งชั่วอย่างไร?
• ชาวอิสราเอลบางคนในสมัยมาลาคีถือว่ามิตรภาพของตนกับพระยะโฮวาเป็นเรื่องไม่สำคัญอย่างไร?
• เราจะเรียนอะไรได้จากอับราฮาม, โยเซฟ, และโยบ เกี่ยวกับความเกรงกลัวพระเจ้า?
• ความกลัวแบบใดที่จะไม่มีวันหมดสิ้นไป และเพราะเหตุใด?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 19]
บิดามารดาที่ฉลาดสุขุมปลูกฝังความกลัวที่เหมาะสมแก่บุตร
[ภาพหน้า 20]
เช่นเดียวกับความกลัวทำให้เราหลีกห่างจากอันตราย ความเกรงกลัวพระเจ้าทำให้เราหลีกห่างจากสิ่งชั่ว
[ภาพหน้า 23]
โยบรักษาความเกรงกลัวพระเจ้าแม้แต่เมื่อเผชิญกับเพื่อนจอมปลอมสามคน
[ที่มาของภาพ]
From the Bible translation Vulgata Latina, 1795