ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“ข้าพเจ้าขออุทธรณ์ถึงกายะซา!”

“ข้าพเจ้าขออุทธรณ์ถึงกายะซา!”

“ข้าพเจ้า​ขอ​อุทธรณ์​ถึง​กายะซา!”

ฝูง​ชน​ที่​วุ่นวาย​จับ​ตัว​ชาย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ไม่​มี​ทาง​ป้องกัน​ตัว​ไว้​แล้ว​เริ่ม​ทุบ​ตี​เขา. พวก​เขา​คิด​ว่า​ชาย​คน​นี้​สม​ควร​จะ​ตาย. ตอน​ที่​ดู​เหมือน​ว่า​ฝูง​ชน​จะ​ฆ่า​เขา​แน่ ๆ พอ​ดี​พวก​ทหาร​ก็​มา​ถึง​แล้ว​แย่ง​ชิง​เอา​ตัว​ผู้​ตก​เป็น​เหยื่อ​ไป​จาก​ฝูง​ชน​ที่​บ้า​คลั่ง​นั้น​ด้วย​ความ​ลำบาก​ยากเย็น. ชาย​ผู้​นี้​คือ​อัครสาวก​เปาโล. ผู้​จู่​โจม​ท่าน​คือ​ชาว​ยิว​ซึ่ง​คัดค้าน​งาน​ประกาศ​เผยแพร่​ของ​ท่าน​อย่าง​รุนแรง​และ​กล่าวหา​ท่าน​ว่า​ทำ​ให้​พระ​วิหาร​เป็น​มลทิน. ผู้​ช่วย​ชีวิต​ท่าน​เป็น​ชาว​โรมัน นำ​โดย​เคลาดิอุส ลีเซียส์ (เกลาดิโอ ลุเซีย) ผู้​บัญชา​การ​ของ​พวก​เขา. ระหว่าง​ความ​ชุลมุน​วุ่นวาย เปาโล​ถูก​จับ​กุม​ฐาน​เป็น​ผู้​ต้อง​สงสัย​ว่า​เป็น​ผู้​ร้าย.

เจ็ด​บท​สุด​ท้าย​ของ​พระ​ธรรม​กิจการ​กล่าว​โดย​สังเขป​เกี่ยว​กับ​เหตุ​การณ์​ที่​เริ่ม​ต้น​ด้วย​การ​จับ​กุม​นี้. การ​เข้าใจ​ภูมิหลัง​ทาง​กฎหมาย​ของ​เปาโล, ข้อ​กล่าวหา​ต่อ​ท่าน, การ​แก้​คดี, และ​อะไร​บาง​อย่าง​เกี่ยว​กับ​ขั้น​ตอน​การ​ลง​โทษ​ของ​ชาว​โรมัน​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​เข้าใจ​มาก​ขึ้น​ใน​บท​เหล่า​นี้.

อยู่​ใน​การ​ควบคุม​ของ​เคลาดิอุส ลีเซียส์

หน้า​ที่​ของ​เคลาดิอุส ลีเซียส์​รวม​ไป​ถึง​การ​รักษา​ระเบียบ​ใน​กรุง​เยรูซาเลม. ผู้​บังคับ​บัญชา​ของ​เขา ซึ่ง​เป็น​ผู้​ว่า​ราชการ​โรมัน​ของ​แคว้น​ยูเดีย อยู่​ใน​เมือง​ซีซาเรีย (กายซาไรอา). ปฏิบัติการ​ของ​ลีเซียส์​ใน​กรณี​ของ​เปาโล​อาจ​ถือ​ได้​ว่า​เป็น​การ​ปก​ป้อง​บุคคล​ผู้​หนึ่ง​ไว้​จาก​ความ​รุนแรง​และ​เป็น​การ​กัก​ตัว​ผู้​ก่อกวน​ความ​สงบ​สุข. การ​ตอบ​โต้​ของ​ชาว​ยิว​ได้​กระตุ้น​ลีเซียส์​ให้​พา​ผู้​ถูก​ควบคุม​ตัว​ของ​เขา​ไป​ยัง​ที่​พัก​ของ​ทหาร​ใน​หอคอย​แอนโตเนีย.—กิจการ 21:27–22:24.

ลีเซียส์​ต้อง​ตรวจ​สอบ​ดู​ว่า​เปาโล​ได้​ทำ​อะไร. ระหว่าง​ความ​วุ่นวาย เขา​ไม่​รู้​เรื่อง​อะไร. ดัง​นั้น โดย​ไม่​ชักช้า​เขา​สั่ง​ให้ “ไต่สวน​โดย​การ​เฆี่ยน” เปาโล ‘เพื่อ​จะ​รู้​ได้​ว่า​พวก​เขาร้อง​ปรักปรำ​เปาโล​ด้วย​เหตุ​ประการ​ใด.’ (กิจการ 22:24, ฉบับ​แปล​ใหม่) นี่​เป็น​วิธี​ปกติ​ใน​การ​คาด​คั้น​เอา​หลักฐาน​จาก​อาชญากร, ทาส, และ​คน​อื่น​ที่​อยู่​ใน​ฐานะ​ต่ำต้อย. อุปกรณ์​ที่​ใช้​เฆี่ยน (ฟลากรุม) อาจ​ใช้​ได้​ผล แต่​เป็น​เครื่อง​มือ​ที่​น่า​กลัว. แส้​เหล่า​นี้​บาง​เส้น​มี​ปุ่ม​โลหะ​ที่​ห้อย​อยู่​ตาม​โซ่. แส้​อื่น ๆ มี​สาย​หนัง​ถัก​สอด​ด้วย​กระดูก​ที่​แหลม​คม​และ​ชิ้น​โลหะ. แส้​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​เกิด​แผล​ฉกรรจ์ ทำ​ให้​เนื้อ​ฉีก​เป็น​ริ้ว ๆ.

ถึง​ตอน​นั้น​เปาโล​ได้​เปิด​เผย​ตัว​ว่า​เป็น​คน​สัญชาติ​โรมัน. จะ​เอา​ตัว​ชาว​โรมัน​ที่​ยัง​มิ​ได้​ถูก​ตัดสิน​ลง​โทษ​มา​เฆี่ยน​ไม่​ได้ ดัง​นั้น การ​ที่​เปาโล​ยืน​ยัน​สิทธิ​ของ​ท่าน​จึง​มี​ผล​ทันที. การ​ทารุณ​หรือ​การ​ลง​โทษ​พลเมือง​โรมัน​อาจ​ทำ​ให้​นาย​ทหาร​โรมัน​เสีย​ตำแหน่ง​ได้. จึง​ไม่​แปลก​ที่​ตั้ง​แต่​นั้น​มา เปาโล​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​ฐานะ​ผู้​ถูก​ควบคุม​พิเศษ​ซึ่ง​ให้​ผู้​มา​เยี่ยม​เข้า​พบ​ได้.—กิจการ 22:25-29; 23:16, 17.

เพราะ​ไม่​แน่​ใจ​ใน​ข้อ​กล่าวหา ลีเซียส์​จึง​พา​เปาโล​มา​ต่อ​หน้า​ศาล​ซันเฮดริน​เพื่อ​ขอ​คำ​ชี้​แจง​เหตุ​ผล​ที่​มี​ความ​เดือดดาล​เช่น​นั้น. แต่​เปาโล​ได้​ปลุก​เร้า​การ​โต้​เถียง​ขึ้น​เมื่อ​ท่าน​พูด​ถึง​การ​ถูก​ตัดสิน​ใน​ประเด็น​เรื่อง​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย. ข้อ​โต้​แย้ง​นั้น​รุนแรง​ถึง​ขนาด​ที่​ลีเซียส์​เกรง​ว่า​เปาโล​จะ​ถูก​ฉีก​เป็น​ชิ้น ๆ และ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ลีเซียส์​ต้อง​คว้า​ตัว​ท่าน​ไป​จาก​ชาว​ยิว​ที่​โกรธ​แค้น.—กิจการ 22:30–23:10.

ลีเซียส์​ไม่​ประสงค์​จะ​รับผิดชอบ​ใน​การ​ตาย​ของ​พลเมือง​โรมัน. เมื่อ​ทราบ​เรื่อง​แผน​สังหาร เขา​จึง​รีบ​ส่ง​ผู้​ถูก​ควบคุม​ตัว​ของ​เขา​ไป​เมือง​ซีซาเรีย. พิธี​การ​ทาง​กฎหมาย​กำหนด​ว่า​เมื่อ​ส่ง​จำเลย​ไป​ถึง​ผู้​มี​อำนาจ​ตัดสิน​คดี​ใน​ระดับ​สูง​กว่า ต้อง​ส่ง​รายงาน​ที่​กล่าว​ย่อ ๆ เกี่ยว​กับ​คดี​นั้น​ไป​พร้อม​กับ​ตัว​เขา. รายงาน​เหล่า​นั้น​จะ​รวม​ไป​ถึง​ข้อ​ซัก​ถาม​ใน​ตอน​แรก, เหตุ​ผล​ใน​การ​ลง​มือ​จัด​การ​เช่น​นั้น, และ​ความ​เห็น​ของ​ผู้​สอบสวน​คดี​นั้น. ลีเซียส์​ได้​รายงาน​ว่า​เปาโล “ถูก​ฟ้อง​ใน​เรื่อง​เถียง​กัน​ด้วย​บัญญัติ​ของ​ชาติ​ยูดาย. แต่​ไม่​มี​เหตุ​พอ​ที่​เขา​ควร​จะ​ตาย​หรือ​ควร​จะ​ต้อง​จำ​ไว้” และ​เขา​ได้​สั่ง​ให้​ผู้​กล่าวหา​เปาโล​ส่ง​คำ​ฟ้องร้อง​ของ​พวก​เขา​ไป​ถึง​เฟลิกซ์ ผู้​ว่า​ราชการ.—กิจการ 23:29, 30.

ผู้​ว่า​ราชการ​เฟลิกซ์​ไม่​ได้​พิพากษา

อำนาจ​ตัดสิน​คดี​ของ​ผู้​ว่า​ราชการ​อาศัย​อำนาจ​และ​สิทธิ​ของ​เฟลิกซ์. เขา​อาจ​ปฏิบัติ​ตาม​ธรรมเนียม​ท้องถิ่น​หาก​เขา​เลือก​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น หรือ​ไม่​ก็​ปฏิบัติ​ตาม​กฎหมาย​อาญา​ตาม​พระ​ราชบัญญัติ—ที่​นำ​มา​ใช้​ได้​กับ​สังคม​ชั้น​สูง​และ​ข้าราชการ. กฎหมาย​นั้น​เป็น​ที่​รู้​จัก​ว่า​โอร์โด หรือ​บัญชี​ราย​ชื่อ. เขา​อาจ​นำ​อำนาจ​ตัดสิน​คดี​แบบ​เอกซทรา โอร์ดีเนม มา​ใช้​ด้วย ซึ่ง​อาจ​ใช้​ได้​เพื่อ​ทำ​การ​ตัดสิน​คดี​อาชญากรรม​ใด ๆ. มี​การ​คาด​หมาย​ให้​ผู้​ว่า​ราชการ​ประจำ​มณฑล ‘คำนึง​ถึง​ไม่​ใช่​สิ่ง​ที่​ได้​ทำ​กัน​ที่​โรม แต่​สิ่ง​ที่​ควร ทำ​กัน​โดย​ทั่ว​ไป.’ ด้วย​เหตุ​นี้ คดี​ส่วน​ใหญ่​ถูก​ปล่อย​ไว้​ให้​เขา​ตัดสิน.

ไม่​ใช่​ราย​ละเอียด​ทุก​อย่าง​เกี่ยว​กับ​กฎหมาย​โรมัน​โบราณ​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน แต่​กรณี​ของ​เปาโล​ถือ​ว่า​เป็น “เรื่อง​ราว​อัน​เป็น​ตัว​อย่าง​เกี่ยว​กับ​ขั้น​ตอน​การ​ลง​โทษ​แบบ​เอกซทรา โอร์ดีเนม.” ผู้​ว่า​ราชการ​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ​จาก​ที่​ปรึกษา​จะ​ฟัง​ข้อ​กล่าวหา​จาก​บุคคล​ต่าง ๆ เป็น​ส่วน​ตัว. จำเลย​ถูก​เรียก​ให้​มา​อยู่​ต่อ​หน้า​ผู้​ที่​กล่าวหา​เขา และ​เขา​จะ​แก้​คดี​ด้วย​ตัว​เอง​ได้ แต่​การ​พิสูจน์​ข้อ​กล่าวหา​นั้น​เป็น​หน้า​ที่​ของ​โจทก์. ตุลาการ​ส่วน​ท้องถิ่น​กำหนดการ​ลง​โทษ​ใด ๆ ที่​เขา​เห็น​ว่า​เหมาะ. เขา​อาจ​ทำ​การ​ตัดสิน​ทันที หรือ​ไม่​ก็​เลื่อน​การ​ตัดสิน​ออก​ไป​โดย​ไม่​มี​กำหนด ซึ่ง​ใน​กรณี​เช่น​นั้น​จำเลย​จะ​ถูก​กัก​ตัว​ไว้. ผู้​คง​แก่​เรียน​ชื่อ​เฮนรี แคดเบรี​กล่าว​ว่า “ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า ด้วย​อำนาจ​โดย​พลการ​เช่น​นั้น ผู้​ว่า​ราชการ​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ที่​จะ​ยอม​จำนน​ต่อ ‘อิทธิพล​อัน​มิ​ควร’ และ​ยอม​รับ​สินบน—ถ้า​ไม่​ยก​ฟ้อง, หรือ​ตัดสิน​ลง​โทษ, ก็​เลื่อน​การ​ตัดสิน​ออก​ไป.”

มหา​ปุโรหิต​อะนาเนีย, ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่​ของ​ชาว​ยิว, และ​เตอร์ตุโล​ได้​กล่าวหา​เปาโล​อย่าง​เป็น​ทาง​การ​ต่อ​หน้า​เฟลิกซ์​ว่า​เป็น “คน​พาล, กระทำ​ให้​พวก​ยูดาย​ทั้ง​หลาย​เกิด​การ​วุ่นวาย.” พวก​เขา​อ้าง​ว่า​ท่าน​เป็น “หัวหน้า​พวก​ชาว​นาซาเร็ธ” และ​ว่า​ท่าน​พยายาม​ทำ​ให้​พระ​วิหาร​เป็น​มลทิน.—กิจการ 24:1-6.

เหล่า​ผู้​โจมตี​เปาโล​พวก​แรก​เข้าใจ​ว่า​ท่าน​ได้​พา​คน​ต่าง​ชาติ​ชื่อ​โตรฟีโม​เข้า​ไป​ใน​ลาน​พระ​วิหาร​ที่​สงวน​ไว้​สำหรับ​ชาว​ยิว​เท่า​นั้น. * (กิจการ 21:28, 29) ว่า​กัน​ตาม​ตรง​แล้ว ผู้​ที่​ถูก​กล่าวหา​ว่า​ล่วง​ล้ำ​คือ​โตรฟีโม. แต่​ถ้า​ชาว​ยิว​ตี​ความ​การ​กระทำ​ของ​เปาโล​ตาม​ที่​คิด​เอา​เอง​ว่า​เป็น​การ​ช่วยเหลือและ​สนับสนุน​การ​ล่วง​ล้ำ​นั้น​แล้ว ก็​อาจ​ถือ​ได้​เช่น​กัน​ว่า​นั่น​เป็น​ความ​ผิด​ถึง​ขั้น​ประหาร. และ​โรม​ดู​เหมือน​จะ​ยอม​รับ​การ​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต​สำหรับ​ความ​ผิด​เช่น​นี้. ดัง​นั้น ถ้า​ให้​ชาว​ยิว​ซึ่ง​เป็น​เจ้าหน้าที่​ดู​แล​ความ​เรียบร้อย​ของ​พระ​วิหาร​จับ​กุม​ตัว​เปาโล แทน​ที่​จะ​เป็น​ลีเซียส์ ศาล​ซันเฮดริน​ก็​อาจ​พิจารณา​คดี​และ​พิพากษา​ตัดสิน​ท่าน​ได้​โดย​ไม่​มี​ปัญหา.

ชาว​ยิว​อ้าง​เหตุ​ผล​ว่า​สิ่ง​ที่​เปาโล​สอน​ไม่​ใช่​ศาสนา​ยิว หรือ​ศาสนา​ที่​ถูก​ต้อง​ตาม​กฎหมาย (เรลิกอิโอ ลิคิทา). แทน​ที่​จะ​เป็น​เช่น​นั้น ควร​จะ​ถือ​ว่า​ศาสนา​นั้น​ผิด​กฎหมาย ถึง​กับ​บ่อน​ทำลาย​ด้วย​ซ้ำ.

พวก​เขา​ยัง​อ้าง​ด้วย​ว่า​เปาโล “กระทำ​ให้​พวก​ยูดาย​ทั้ง​หลาย​เกิด​การ​วุ่นวาย​ทั่ว​พิภพ.” (กิจการ 24:5) จักรพรรดิ​เคลาดิอุส​เพิ่ง​ได้​กล่าว​โทษ​ชาว​ยิว​ใน​เมือง​อะเล็กซานเดรีย​ใน​การ “ปลุกระดม​ให้​เกิด​ความ​เดือดร้อน​ที่​ส่ง​ผล​กระทบ​ไป​ทั่ว​ตลอด​ทั้ง​โลก.” ความ​คล้ายคลึง​กัน​ปรากฏ​ชัด. นัก​ประวัติศาสตร์ เอ. เอ็น. เชอร์วิน​ไวต์​กล่าว​ว่า “ข้อ​กล่าวหา​นี้​นี่​เอง​เป็น​ข้อ​ที่​นำ​ขึ้น​มา​กล่าวหา​ชาว​ยิว​คน​หนึ่ง​ระหว่าง​ที่​เคลาดิอุส​มี​อำนาจ​สูง​สุด​หรือ​ไม่​ก็​ช่วง​ต้น ๆ ของ​เนโร. ชาว​ยิว​พยายาม​จะ​โน้ม​น้าว​ผู้​ว่า​ราชการ​ให้​ถือ​ว่า​การ​ประกาศ​ของ​เปาโล​เท่า​กับ​เป็น​การ​ก่อ​ความ​วุ่นวาย​ภาย​ใน​ตลอด​ทั่ว​พื้น​ที่​ของ​จักรวรรดิ​ที่​พลเมือง​ยิว​อาศัย​อยู่. พวก​เขา​ทราบ​ว่า​ผู้​ว่า​ราชการ​ไม่​เต็ม​ใจ​จะ​ตัดสิน​ลง​โทษ​โดย​อาศัย​ข้อ​กล่าวหา​ทาง​ศาสนา​ล้วน ๆ และ​ดัง​นั้น​จึง​พยายาม​จะ​บิดเบือน​ข้อ​กล่าวหา​ทาง​ศาสนา​ให้​เป็น​เรื่อง​การ​เมือง.”

เปาโล​ได้​แก้​คดี​ด้วย​ตัว​เอง​เป็น​ข้อ ๆ ไป. ‘ข้าพเจ้า​มิ​ได้​ก่อ​ความ​วุ่นวาย. จริง​อยู่ ข้าพเจ้า​เป็น​สมาชิก​ของ​ศาสนา​ที่​พวก​เขา​เรียก​ว่า “นิกาย” แต่​นี่​แสดง​นัย​ถึง​การ​ปฏิบัติ​ตาม​กฎเกณฑ์​ของ​ชาว​ยิว. พวก​ยิว​จาก​มณฑล​อาเซีย​บาง​คน​ได้​ยั่ว​ยุ​ให้​เกิด​ความ​วุ่นวาย. หาก​พวก​เขา​มี​มูล​เหตุ​อะไร​จะ​ฟ้อง​ข้าพเจ้า ก็​น่า​จะ​มา​ฟ้องร้อง​ที่​นี่.’ โดย​แท้​แล้ว​เปาโล​รวม​ข้อ​กล่าวหา​เข้า​ด้วย​กัน​เป็น​ข้อ​โต้​แย้ง​ทาง​ศาสนา​ท่ามกลาง​พวก​ยิว ซึ่ง​เป็น​ประเด็น​ที่​โรม​แทบ​จะ​ไม่​มี​ความ​สามารถ​เข้าใจ​เสีย​เลย. โดย​ระวัง​ที่​จะ​ไม่​ทำ​ให้​ชาว​ยิว​ที่​หัวดื้อ​อยู่​แล้ว​นั้น​โกรธ​เคือง เฟลิกซ์​ได้​เลิก​การ​พิจารณา​คดี โดย​แท้​แล้ว​บีบ​บังคับ​ไม่​ให้​มี​การ​คืบ​หน้า​ใน​การ​พิจารณา​ตัดสิน. ไม่​ได้​มี​การ​ส่ง​ตัว​เปาโล​ให้​ชาว​ยิว ผู้​ซึ่ง​อ้าง​ว่า​มี​ความ​สามารถ​เข้าใจ หรือ​ใช้​กฎหมาย​โรมัน​ตัดสิน​ท่าน, หรือ​ปล่อย​ตัว​ท่าน​เป็น​อิสระ. จะ​บังคับ​เฟลิกซ์​ให้​พิพากษา​ก็​ไม่​ได้ และ​นอก​จาก​ต้องการ​เอา​ใจ​พวก​ยิว​แล้ว เขา​ยัง​มี​แรง​จูง​ใจ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ใน​การ​เลื่อน​การ​ตัดสิน​ออก​ไป—เขา​หวัง​ว่า​เปาโล​จะ​ให้​สินบน​เขา.—กิจการ 24:10-19, 26. *

จุด​หัวเลี้ยว​หัวต่อ​ภาย​ใต้​พอร์ซิอุส เฟสตุส

ใน​กรุง​เยรูซาเลม​สอง​ปี​ต่อ​มา พวก​ยิว​ได้​รื้อ​ฟื้น​ข้อ​กล่าวหา​ของ​พวก​เขา​ขึ้น​มา​อีก​เมื่อ​พอร์ซิอุส เฟสตุส (โประกิโอ เฟศโต) ผู้​ว่า​ราชการ​คน​ใหม่​มา​ถึง โดย​ขอ​ส่ง​ตัว​เปาโล​ให้​มา​อยู่​ใน​อำนาจ​ตัดสิน​ของ​พวก​เขา. แต่​เฟสตุส​ตอบ​อย่าง​เด็ด​เดี่ยว​ว่า “ไม่​ใช่​ธรรมเนียม​ของ​ชาติ​โรมัน​ที่​จะ​พิพากษา​ลง​โทษ​คน​หนึ่ง​คน​ใด​ถึง​ตาย ก่อน​ที่​โจทก์​กับ​จำเลย​มา​พร้อม​หน้า​กัน​และ​ให้​จำเลย​มี​โอกาส​แก้​คดี​ใน​ข้อ​หา​นั้น.” นัก​ประวัติศาสตร์​แฮร์รี ดับเบิลยู. ทา​ชรา​อรรถาธิบาย​ไว้​ว่า “เฟสตุส​วินิจฉัย​ออก​อยู่​แล้ว​ว่า มี​การ​วาง​แผน​ใช้​อำนาจ​ศาล​เตี้ย​ใน​การ​ตัดสิน​พลเมือง​ชาติ​โรมัน.” ดัง​นั้น จึง​มี​การ​แจ้ง​ให้​พวก​ยิว​ดำเนิน​คดี​ของ​พวก​เขา​ใน​เมือง​ซีซาเรีย.—กิจการ 25:1-6, 16.

ที่​นั่น​พวก​ยิว​ได้​ยืน​ยัน​ว่า​เปาโล “ไม่​ควร​จะ​มี​ชีวิต​อยู่​ต่อ​ไป” กระนั้น​พวก​เขา​ก็​ไม่​มี​หลักฐาน​มา​เสนอ และ​เฟสตุส​เข้าใจ​ว่า​เปาโล​ไม่​ได้​ทำ​อะไร​ที่​สม​ควร​จะ​ตาย. เฟสตุส​ได้​ชี้​แจง​แก่​เจ้าหน้าที่​อีก​คน​หนึ่ง​ว่า “เป็น​แต่​เพียง​ปัญหา​เถียง​กัน​ด้วย​เรื่อง​ลัทธิ​ศาสนา​ของ​เขา​เอง, และ​ด้วย​เรื่อง​คน​หนึ่ง​ที่​ชื่อ​เยซู​ซึ่ง​ตาย​แล้ว​แต่​เปาโล​ยืน​ยัน​ว่า​ยัง​เป็น​อยู่.”—กิจการ 25:7, 18, 19, 24, 25.

ปรากฏ​ชัด​ว่า​เปาโล​ไม่​มี​ความ​ผิด​ใน​ข้อ​กล่าวหา​ใด ๆ ทาง​การ​เมือง แต่​ใน​ข้อ​โต้​แย้ง​ทาง​ด้าน​ศาสนา ชาว​ยิว​ดู​เหมือน​จะ​อ้าง​เหตุ​ผล​ว่า​ศาล​ของ​พวก​เขา​เป็น​ศาล​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​สามารถ​จัด​การ​เรื่อง​นี้. เปาโล​จะ​ไป​กรุง​เยรูซาเลม​เพื่อ​การ​พิพากษา​ตัดสิน​เรื่อง​เหล่า​นี้​ไหม? เฟสตุส​ถาม​เปาโล​ว่า​ท่าน​จะ​ไป​หรือ​ไม่ แต่​จริง ๆ แล้ว​นั่น​เป็น​ข้อ​เสนอ​ที่​ไม่​เหมาะ​สม. การ​ส่ง​ตัว​กลับ​ไป​กรุง​เยรูซาเลม​ที่​พวก​ผู้​กล่าวหา​จะ​มา​เป็น​ผู้​พิพากษา​หมายความ​ว่า​จะ​มี​การ​มอบ​ตัว​เปาโล​ให้​พวก​ยิว. เปาโล​กล่าว​ว่า “ข้าพเจ้า​ก็​กำลัง​ยืน​อยู่​ต่อ​หน้า​บัลลังก์​ของ​กายะซา​อยู่​แล้ว, ก็​สม​ควร​จะ​พิพากษา​ข้าพเจ้า​เสีย​ที่​นี่ . . . ข้าพเจ้า​ไม่​ได้​กระทำ​ผิด​ต่อ​พวก​ยูดาย . . . ไม่​มี​ผู้​ใด​มี​อำนาจ​จะ​มอบ​ข้าพเจ้า​ให้​เขา​ได้. ข้าพเจ้า​ขอ​อุทธรณ์​ถึง​กายะซา.”—กิจการ 25:10, 11, 20.

การ​กล่าว​ถ้อย​คำ​เหล่า​นี้​โดย​ชาว​โรมัน​ทำ​ให้​อำนาจ​ตัดสิน​ของ​ผู้​ว่า​ราชการ​ยุติ​ลง. สิทธิ​ของ​ท่าน​ใน​การ​อุทธรณ์ (โพรวอคาทโย ) นั้น “เชื่อถือ​ได้, ครอบ​คลุม​ทุก​ด้าน​และ​เกิด​ผล.” ดัง​นั้น หลัง​จาก​หารือ​กับ​เหล่า​ที่​ปรึกษา​ของ​เขา​ใน​ราย​ละเอียด​ตาม​หลักการ​แล้ว เฟสตุส​จึง​แถลง​ว่า “เมื่อ​เจ้า​ได้​อุทธรณ์​ถึง​กายะซา​ดัง​นี้​แล้ว, เจ้า​จะ​ต้อง​ไป​เฝ้า​กายะซา.”—กิจการ 25:12.

เฟสตุส​ยินดี​ที่​ได้​หลุด​พ้น​จาก​เปาโล. ดัง​ที่​เขา​ได้​ยอม​รับ​กับ​เฮโรด​อะฆะริปา​ที่ 2 ต่อ​มา คดี​นี้​ทำ​ให้​เขา​งุนงง. ครั้น​แล้ว​เฟสตุส​ต้อง​เรียบเรียง​คำ​แถลง​เกี่ยว​กับ​คดี​นี้​สำหรับ​จักรพรรดิ แต่​สำหรับ​เฟสตุส​แล้ว ข้อ​กล่าวหา​ต่าง ๆ เกี่ยว​ข้อง​กับ​ความ​ซับซ้อน​เข้าใจ​ยาก​ใน​กฎหมาย​ของ​พวก​ยิว. อย่าง​ไร​ก็​ดี อะฆะริปา​เป็น​ผู้​เชี่ยวชาญ​ใน​เรื่อง​ดัง​กล่าว ดัง​นั้น เมื่อ​เขา​แสดง​ความ​สนใจ จึง​มี​การ​ขอร้อง​เขา​ทันที​ให้​ช่วย​ร่าง​จดหมาย. เนื่อง​จาก​ไม่​สามารถ​เข้าใจ​คำ​ชี้​แจง​ใน​ภาย​หลัง​ของ​เปาโล​ต่อ​หน้า​อะฆะริปา เฟสตุส​จึง​ร้อง​ขึ้น​มา​ว่า “เปาโล​เอ๋ย, เจ้า​คลั่ง​ไป​เสีย​แล้ว เจ้า​เรียน​รู้​วิชา​มาก​จึง​ทำ​ให้​เจ้า​คลั่ง​ไป.” แต่​อะฆะริปา​เข้าใจ​อย่าง​ดี​ที​เดียว. เขา​กล่าว​ว่า “เจ้า​ใคร่​จะ​ชวน​เรา​ให้​เป็น​คริสเตียน​ด้วย​คำ​ชักชวน​เพียง​เล็ก​น้อย​เท่า​นั้น [“ไม่​ช้า​เจ้า​จะ​โน้ม​น้าว​ใจ​เรา​ให้​เป็น​คริสเตียน,” ล.ม.].” ไม่​ว่า​เขา​ทั้ง​สอง​จะ​รู้สึก​อย่าง​ไร​กับ​การ​อ้าง​เหตุ​ผล​ของ​เปาโล​ก็​ตาม ทั้ง​เฟสตุส​และ​อะฆะริปา​ต่าง​ก็​เห็น​พ้อง​กัน​ว่า​เปาโล​ไม่​มี​ความ​ผิด​และ​จะ​ปล่อย​ตัว​ไป​ได้​หาก​ท่าน​ไม่​ได้​อุทธรณ์​ถึง​ซีซาร์ (กายะซา).—กิจการ 25:13-27; 26:24-32.

ตอน​จบ​ของ​การ​เดิน​ทาง​ไป​พิจารณา​คดี

เมื่อ​มา​ถึง​กรุง​โรม เปาโล​ได้​เรียก​พวก​ผู้​ใหญ่​ของ​ชาว​ยิว​มา​ประชุม​ไม่​เพียง​เพื่อ​ประกาศ​ให้​พวก​เขา​ฟัง​เท่า​นั้น แต่​เพื่อ​สอบ​ถาม​ดู​ว่า​พวก​เขา​ทราบ​อะไร​บ้าง​เกี่ยว​กับ​ตัว​ท่าน. นั่น​อาจ​เผย​ให้​เห็น​อะไร​บาง​อย่าง​เกี่ยว​กับ​ความ​มุ่ง​หมาย​ของ​โจทก์​ผู้​ฟ้องร้อง. ไม่​ใช่​เรื่อง​ผิด​ปกติ​ที่​พวก​ผู้​มี​อำนาจ​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​จะ​แสวง​หา​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พวก​ยิว​ที่​อยู่​กรุง​โรม​ใน​การ​ดำเนิน​คดี แต่​เปาโล​ได้​ยิน​ว่า​พวก​เขา​ไม่​มี​คำ​ชี้​แจง​อะไร​เกี่ยว​กับ​ตัว​ท่าน. ระหว่าง​รอ​การ​พิจารณา​คดี​อยู่ เปาโล​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เช่า​บ้าน​หลัง​หนึ่ง​และ​ให้​ประกาศ​ได้​อย่าง​เสรี. การ​ผ่อนปรน​เช่น​นั้น​อาจ​หมายความ​ว่า​ใน​สายตา​ของ​ชาว​โรมัน​แล้ว เปาโล​เป็น​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​ผิด.—กิจการ 28:17-31.

เปาโล​ถูก​ควบคุม​ตัว​อยู่​ต่อ​ไป​อีก​สอง​ปี. เพราะ​เหตุ​ใด? คัมภีร์​ไบเบิล​มิ​ได้​ให้​ราย​ละเอียด. ตาม​ปกติ ผู้​ยื่น​อุทธรณ์​จะ​ถูก​ควบคุม​ตัว​อยู่​จน​กระทั่ง​ผู้​ฟ้องร้อง​ปรากฏ​ตัว​เพื่อ​ดำเนิน​การ​ฟ้องร้อง แต่​บาง​ที​พวก​ยิว​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​ซึ่ง​ยอม​รับ​ว่า​คดีความ​ของ​พวก​เขา​ไม่​มี​น้ำหนัก จึง​ไม่​ได้​มา​เลย. บาง​ที​วิธี​ที่​ได้​ผล​มาก​ที่​สุด​ใน​การ​ทำ​ให้​เปาโล​เงียบ​เสียง​ต่อ​ไป​นาน​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​คือ การ​ที่​พวก​เขา​ไม่​มา​ปรากฏ​ตัว. ไม่​ว่า​เป็น​กรณี​ใด​ก็​ตาม ดู​เหมือน​ว่า​เปาโล​ได้​ยืน​ต่อ​หน้า​เนโร ได้​รับ​การ​ประกาศ​ว่า​พ้น​ผิด และ​ใน​ที่​สุด​เป็น​อิสระ​ที่​จะ​ดำเนิน​กิจการ​งาน​มิชชันนารี​ของ​ท่าน​ต่อ​ไป—ประมาณ​ห้า​ปี หลัง​จาก​ท่าน​ถูก​จับ​กุม.—กิจการ 27:24.

เหล่า​ปรปักษ์​ของ​ความ​จริง​ได้ “ออก​กฎหมาย​ประกอบ​การ​ชั่ว​ร้าย” เพื่อ​ขัด​ขวาง​งาน​ประกาศ​ของ​คริสเตียน. เรื่อง​นี้​ไม่​น่า​จะ​ทำ​ให้​เรา​ประหลาด​ใจ. พระ​เยซู​ได้​ตรัส​ว่า “ถ้า​เขา​ข่มเหง​เรา​แล้ว, เขา​คง​จะ​ข่มเหง​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ด้วย.” (บทเพลง​สรรเสริญ 94:20; โยฮัน 15:20) ถึง​กระนั้น พระ​เยซู​ทรง​รับรอง​กับ​เรา​ด้วย​ใน​เรื่อง​เสรีภาพ​ที่​จะ​บอก​ข่าว​ดี​ไป​ทั่ว​ทั้ง​โลก. (มัดธาย 24:14) ดัง​นั้น เช่น​เดียว​กับ​ที่​อัครสาวก​เปาโล​ได้​ต้านทาน​การ​ข่มเหง​และ​การ​ต่อ​ต้าน พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ทุก​วัน​นี้ “ปก​ป้อง​และ​ทำ​ให้​ข่าว​ดี​ได้​รับ​การ​รับรอง​ตาม​กฎหมาย.”—ฟิลิปปอย 1:7, ล.ม.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 14 ราว​ระเบียง​หิน​ที่​ประณีต​ซึ่ง​สูง​สาม​ศอก แยก​ลาน​ของ​คน​ต่าง​ชาติ​จาก​ลาน​ชั้น​ใน. ตรง​กำแพง​นี้​มี​การ​ติด​ตั้ง​คำ​เตือน​ไว้​เป็น​ระยะ ๆ บ้าง​ก็​เป็น​ภาษา​กรีก และ​บ้าง​ก็​เป็น​ภาษา​ลาติน​ว่า “อย่า​ให้​คน​ต่าง​ชาติ​เข้า​มา​ด้าน​ใน​ของ​ราว​กั้น​และ​รั้ว​ที่​อยู่​รอบ​สถาน​ศักดิ์สิทธิ์. คน​หนึ่ง​คน​ใด​ที่​ถูก​จับ​จะ​ต้อง​รับผิดชอบ​ต่อ​ความ​ตาย​ของ​เขา​ซึ่ง​จะ​ติด​ตาม​มา​นั้น.”

^ วรรค 17 แน่นอน การ​ทำ​เช่น​นี้​ผิด​กฎหมาย. แหล่ง​ข้อมูล​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ภาย​ใต้​การ​จัด​เตรียม​เกี่ยว​กับ​กฎหมาย​ใน​เรื่อง​การ​กรรโชก คือ​เลกซ์ เรเพทุนดารุม ผู้​ใด​ซึ่ง​ครอง​ตำแหน่ง​ที่​มี​อำนาจ​หรือ​ใน​การ​บริหาร​ถูก​ห้าม​มิ​ให้​วิ่ง​เต้น​หา​เงิน​หรือ​รับ​สินบน​ไม่​ว่า​เพื่อ​ผูก​มัด​หรือ​ปล่อย​ตัว​คน เพื่อ​พิพากษา​ตัดสิน​หรือ​ไม่ หรือ​เพื่อ​ปล่อย​ตัว​จำเลย.”