คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
ภรรยาที่เป็นคริสเตียนจะทำให้สมดุลกันได้อย่างไรระหว่างความซื่อสัตย์ภักดีต่อพระเจ้ากับการอยู่ใต้อำนาจสามีที่ไม่มีความเชื่อ เมื่อเขาเข้าร่วมกิจกรรมวันหยุดทางศาสนา?
การกระทำใด ๆ ของภรรยาในเรื่องนี้คงจะต้องใช้ความสุขุมและการรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา. แต่เธอกำลังทำสิ่งถูกต้องเมื่อพยายามจะทำพันธะหน้าที่สองอย่างให้สมดุลกัน. พระเยซูทรงให้คำแนะนำเกี่ยวด้วยสภาพการณ์ที่คล้ายคลึงกันดังนี้: “ฉะนั้น จงจ่ายของของซีซาร์คืนแก่ซีซาร์ แต่ของของพระเจ้าแด่พระเจ้า.” (มัดธาย 22:21, ล.ม.) จริงอยู่ พระองค์ตรัสถึงพันธะหน้าที่ต่อรัฐบาล ซึ่งในเวลาต่อมาคริสเตียนได้รับคำสั่งให้ยอมอยู่ใต้อำนาจ. (โรม 13:1) กระนั้นก็ดี คำแนะนำของพระองค์ย่อมนำมาใช้ได้เช่นกันในกรณีที่ภรรยาจะรักษาสมดุลระหว่างพันธะหน้าที่ของเธอต่อพระเจ้ากับการยอมอยู่ใต้อำนาจสามีตามหลักการของคัมภีร์ไบเบิล ถึงแม้สามีเป็นผู้ไม่เชื่อถือพระเจ้าก็ตาม.
ผู้ที่คุ้นเคยคัมภีร์ไบเบิลเป็นอย่างดีจะไม่ปฏิเสธที่พระคัมภีร์เน้นว่าคริสเตียนมีพันธะหน้าที่ต่อพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการเป็นอันดับแรก ต้องภักดีต่อพระองค์ทุกเวลา. (กิจการ 5:29) กระนั้น ภายใต้สถานการณ์หลาย ๆ อย่าง ผู้นมัสการแท้อาจจะคำนึงถึงข้อเรียกร้องหรือความต้องการของสามีผู้ไม่เชื่อซึ่งมีอำนาจเหนือเธอได้ แม้เธอจะไม่เข้าส่วนร่วมละเมิดกฎหมายสูงส่งของพระเจ้า.
พวกเรามีตัวอย่างที่ให้ข้อชี้แนะในกรณีชายชาวฮีบรูสามคน ดังที่บรรยายไว้ในพระธรรมดานิเอลบท 3. นะบูคัดเนซัรผู้มีอำนาจปกครองประเทศได้ออกกฎหมายให้ชายสามคนนี้และคนอื่น ๆ ไปปรากฏตัว ณ ที่ราบดูรา. โดยรู้อยู่แล้วว่ามีกำหนดการไว้สำหรับการนมัสการเท็จ ชายชาวฮีบรูทั้งสามคงไม่อยาก ไปปรากฏตัว ณ ที่นั่น. บางทีดานิเอลสามารถขอตัวได้ แต่สามคนนั้นไม่สามารถทำเช่นนั้น. * ดังนั้น พวกเขายินยอมถึงขั้นไปปรากฏตัว ทว่าเขาตั้งใจจะไม่ร่วมกระทำการผิดใด ๆ—และก็ไม่ได้ทำจริง ๆ.—ดานิเอล 3:1-18.
ทำนองเดียวกัน เมื่อถึงวันนักขัตฤกษ์ สามีผู้ไม่เชื่อพระเจ้าอาจขอให้ภรรยาที่เป็นคริสเตียนทำสิ่งซึ่งเธอเองอยากหลีกเลี่ยง. ขอพิจารณาตัวอย่างบางเรื่อง: สามีสั่งเธอทำอาหารอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อตัวเขากับคนอื่น ๆ จะฉลองวันเทศกาลนั้น. หรือเขาบอกว่าครอบครัว (รวมถึงภรรยาด้วย) จะพากันไปเยี่ยมญาติและร่วมรับประทานอาหารด้วยกันในวันนั้น หรือเพียงแต่ไปเยี่ยม. หรือแม้ก่อนจะถึงวันหยุด เขาอาจบอกภรรยาช่วยซื้อของบางอย่างให้ด้วยขณะที่เธอออกไปซื้อของ เป็นต้นว่า อาหารชนิดที่รับประทานกันเฉพาะในวันเทศกาล, หรือสิ่งของที่เขาจะให้เป็นของขวัญ, หรือกระดาษห่อของขวัญและบัตรอวยพรที่ให้พร้อมของขวัญ.
อีกครั้งหนึ่ง ภรรยาที่เป็นคริสเตียนพึงตัดสินใจแน่วแน่ไม่ร่วมกิจกรรมของศาสนาเท็จ แต่จะว่าอย่างไรหากมีการขอร้องเช่นนั้น? สามีเป็นประมุขครอบครัว และพระคำของพระเจ้ากล่าวไว้ว่า “ฝ่ายภรรยาจงยอมฟังสามีของตนในองค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นการสมควร.” (โกโลซาย 3:18) ในกรณีเหล่านั้น เธอจะแสดงการเชื่อฟังเยี่ยงภรรยาได้ไหมขณะที่ยังคงรักษาความซื่อสัตย์ภักดีต่อพระเจ้า? เธอต้องตัดสินใจว่าจะทำให้สมดุลกันได้อย่างไรระหว่างการเชื่อฟังสามีกับการเชื่อฟังพระยะโฮวาซึ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด.
นอกเหนือจากวันนักขัตฤกษ์ สามีอาจขอให้เธอทำอาหารอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ อาจเป็นอาหารจานโปรดของเขา หรือเพราะเคยได้กินอาหารดังกล่าวเนื่องจากเป็นอาหารตามฤดูกาล. เธอคงต้องการแสดงความรักต่อเขาและยอมรับความเป็นประมุขของเขา. แต่เธอสามารถทำเช่นนั้นได้ไหมถ้าเขาขอร้อง ณ โอกาสของวันเทศกาล? ภรรยาที่เป็นคริสเตียนบางคนอาจจะทำดังกล่าวด้วยสติรู้สึกผิดชอบที่ดี โดยถือว่าเป็นภารกิจปกติอยู่แล้วที่จะประกอบอาหารประจำวัน. เป็นที่แน่นอนว่า ไม่มีคริสเตียนที่ซื่อสัตย์ภักดีคนใดจะให้ความสำคัญต่อวันนักขัตฤกษ์ใด ๆ ถึงแม้สามีของเธอถือเช่นนั้น. ในทำนองเดียวกัน เขาอาจต้องการให้ภรรยาไปด้วยเมื่อไปเยี่ยมญาติในวาระต่าง ๆ กันของแต่ละเดือนหรือแต่ละปี. เธอสามารถทำได้ไหมแม้เป็นวันนักขัตฤกษ์? หรือโดยปกติเมื่อไปซื้อของ เธอเต็มใจไหมที่จะซื้อของตามที่สามีขอโดยไม่พิจารณาตัดสินว่าเขา ตั้งใจจะทำอะไรกับของที่ฝากซื้อ?
แน่นอน ภรรยาที่เป็นคริสเตียนควรคำนึงถึงผู้อื่นในแง่ที่ว่าเขาจะรับผลกระทบอย่างไร. (ฟิลิปปอย 2:4) เธอคงต้องการหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่ทำให้คนอื่นคิดว่าเธอเกี่ยวข้องพัวพันกับวันนักขัตฤกษ์ เช่นเดียวกับชายชาวฮีบรูสามคนคงชอบมากกว่าที่คนอื่นไม่ได้เห็นพวกตนเดินไปยังที่ราบดูรา. ดังนั้น เธออาจพยายามหาเหตุผลกับสามีอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา เผื่อว่าหากเขาคำนึงถึงความรู้สึกของเธอ เขาก็อาจทำอะไร ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ด้วยตนเอง เพื่อเห็นแก่ภรรยาซึ่งรักและนับถือเขา. สามีอาจเล็งเห็นว่าไม่ฉลาดสุขุมหากจะให้ทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในสภาพลำบากใจ ถ้าเธอจำต้องปฏิเสธการร่วมกิจกรรมของศาสนาเท็จ. ใช่แล้ว การหารือกันก่อนด้วยใจเย็น ๆ ย่อมนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยสันติวิธี.—สุภาษิต 22:3.
ในที่สุด คริสเตียนที่ซื่อสัตย์ต้องประเมินข้อเท็จจริงเสียก่อนแล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าจะทำเช่นไร. การเชื่อฟังพระเจ้าต้องมาก่อน ดังในกรณีที่ชายชาวฮีบรูสามคนได้ทำ. (1 โกรินโธ 10:31) แต่โดยคำนึงถึงเรื่องนี้ คริสเตียนแต่ละคนต้องตัดสินใจเองว่าเรื่องใดที่สามารถทำได้โดยไม่เป็นการอะลุ่มอล่วยเมื่อผู้มีอำนาจในครอบครัวหรือในชุมชนเรียกร้อง.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 โปรดดู “คำถามจากผู้อ่าน” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 สิงหาคม 2001.