ผู้ปกครองทั้งหลาย—จงฝึกอบรมคนอื่น ๆ ให้แบกภาระ
ผู้ปกครองทั้งหลาย—จงฝึกอบรมคนอื่น ๆ ให้แบกภาระ
ในประชาคมต่าง ๆ ของพยานพระยะโฮวาทั่วโลก มีความจำเป็นอันเร่งด่วนต้องมีผู้ชายที่สามารถรับใช้ในตำแหน่งผู้ดูแล. มีเหตุผลหลักสามประการสำหรับเรื่องนี้.
ประการแรก พระยะโฮวากำลังทำให้คำสัญญาของพระองค์สำเร็จเป็นจริงในการทำให้ ‘คนตัวเล็กเพิ่มเป็นชนชาติใหญ่.’ (ยะซายา 60:22, ล.ม.) โดยพระกรุณาอันไม่พึงได้รับจากพระองค์ มีสาวกใหม่เกือบหนึ่งล้านคนได้รับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวาในช่วงสามปีที่ผ่านไป. จำเป็นต้องมีชายผู้มีความรับผิดชอบเพื่อช่วยผู้รับบัพติสมาใหม่เหล่านี้ให้ก้าวหน้าสู่ความอาวุโสฝ่ายคริสเตียน.—เฮ็บราย 6:1.
ประการที่สอง บางคนที่รับใช้เป็นผู้ปกครองมาหลายสิบปีจำเป็นต้องรับภาระหน้าที่ในประชาคมน้อยลงเนื่องด้วยอายุที่มากขึ้นหรือปัญหาสุขภาพ.
ประการที่สาม เวลานี้มีคริสเตียนผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยรับใช้เป็นสมาชิกคณะกรรมการประสานงานกับโรงพยาบาล, คณะกรรมการก่อสร้างภูมิภาค, คณะกรรมการดูแลหอประชุมใหญ่. ในบางกรณี พวกเขาต้องหาจุดที่สมดุลด้วยการวางมือจากหน้าที่รับผิดชอบในประชาคมอย่างน้อยในบางส่วน.
จะสนองความจำเป็นอันเร่งด่วนที่ต้องมีชายผู้มีคุณวุฒิเพิ่มขึ้นได้อย่างไร? การฝึกอบรม คือปัจจัยสำคัญ. คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนคริสเตียนผู้ดูแลให้ฝึกอบรม “คนซื่อสัตย์ ผู้ซึ่งเมื่อถึงคราวแล้ว จะเป็นคนมีคุณวุฒิพอที่จะสอนคนอื่น.” (2 ติโมเธียว 2:2, ล.ม.) ตามพจนานุกรมฉบับหนึ่ง คำกริยา “ฝึกอบรม” หมายถึง “สอนเพื่อให้มีความเหมาะสม, มีคุณวุฒิ, หรือมีความชำนิชำนาญ.” ให้เรามาพิจารณาวิธีที่ผู้ปกครองสามารถฝึกอบรมชายที่มีคุณวุฒิคนอื่น ๆ.
จงติดตามแบบอย่างของพระยะโฮวา
พระเยซูคริสต์ทรง “มีความเหมาะสม, มีคุณวุฒิ, และมีความชำนิชำนาญ” ในงานของพระองค์อย่างแน่นอน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ! พระองค์ทรงได้รับการฝึกอบรมจากพระยะโฮวาพระเจ้าเอง. อะไรทำให้แผนการฝึกอบรมนี้มีประสิทธิภาพมาก? พระเยซูตรัสถึงปัจจัยสามประการ ดังบันทึกไว้ที่โยฮัน 5:20: “พระบิดา [1] ได้ทรงรัก พระบุตร, และ [2] ได้สำแดงให้พระบุตรนั้นเห็น สิ่งสารพัตรซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำ และพระองค์จะทรงสำแดงให้พระบุตรเห็น [3] การใหญ่ยิ่งกว่านั้นอีก.” การตรวจสอบปัจจัยเหล่านี้แต่ละอย่างจะให้ความหยั่งเห็นเข้าใจในเรื่องการฝึกอบรม.
ขอให้สังเกตว่าพระเยซูตรัสไว้ในตอนต้นว่า “พระบิดาได้ทรงรัก พระบุตร.” นับตั้งแต่ตอนเริ่มต้นการทรงสร้าง พระยะโฮวากับพระบุตรทรงมีสายสัมพันธ์อันอบอุ่นต่อกัน. สุภาษิต 8:30 (ล.ม.) ให้ความกระจ่างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสัมพันธภาพของพระองค์ทั้งสอง: “ตอนนั้นเรา [พระเยซู] ได้มาอยู่เคียงข้างพระองค์ [พระยะโฮวาพระเจ้า] เป็นนายช่าง และเราได้มาเป็นผู้ที่พระองค์ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ วันแล้ววันเล่า เราชื่นชมยินดีเฉพาะพระพักตร์พระองค์ ตลอดเวลา.” ไม่มีข้อสงสัยในพระทัยของพระเยซูว่าพระยะโฮวา ‘ทรงโปรดปรานพระองค์เป็นพิเศษ.’ และพระเยซูไม่ทรงซ่อนความยินดีที่พระองค์มีขณะที่ทำงานเคียงข้างกับพระบิดา. นับว่าดีสักเพียงไรเมื่อคริสเตียนผู้ปกครองกับผู้ที่พวกเขาฝึกอบรมมีสัมพันธภาพที่อบอุ่นและเปิดเผย!
ปัจจัยประการที่สองที่พระเยซูตรัสถึงก็คือ พระบิดา “ได้สำแดงให้พระบุตรนั้นเห็น สิ่งสารพัตรซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำ.” ถ้อยคำดังกล่าวยืนยันสิ่งที่ได้แจ้งไว้ในสุภาษิต 8:30 ซึ่งกล่าวไว้ว่าพระเยซู “ได้มาอยู่เคียงข้าง” พระยะโฮวาขณะที่เอกภพถูกสร้างขึ้น. (เยเนซิศ 1:26) ผู้ปกครองสามารถดำเนินตามแบบอย่างอันยอดเยี่ยมนี้ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ช่วยงานรับใช้ แสดงให้พวกเขาเห็นวิธีที่จะทำหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดี. อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะแต่ผู้ช่วยงานรับใช้ซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เท่านั้นที่จำเป็นต้อง ได้รับการฝึกอบรมให้ก้าวหน้า. จะว่าอย่างไรสำหรับพี่น้องชายที่ซื่อสัตย์ซึ่งได้เอื้อมแขนเพื่อจะรับตำแหน่งผู้ดูแลมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับแต่งตั้ง? (1 ติโมเธียว 3:1) ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำที่เจาะจงแก่พี่น้องชายเหล่านี้เพื่อเขาจะทราบว่าควรพยายามปรับปรุงในจุดไหน.
ยกตัวอย่าง ผู้ช่วยงานรับใช้คนหนึ่งอาจเป็นคนที่ไว้ใจได้, ตรงเวลา, และเอาใจใส่หน้าที่ของตนเป็นอย่างดี. เขาอาจเป็นครูที่ดีด้วย. ในหลาย ๆ แง่ เขาอาจทำหน้าที่การงานในประชาคมได้อย่างดีเยี่ยม. แต่เขาอาจไม่ตระหนักว่า เขามักปฏิบัติต่อเพื่อนคริสเตียนอย่างที่ทำให้เกิดความขัดเคืองใจ. ผู้ปกครองจำเป็นต้องแสดง “ใจอ่อนโยนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสติปัญญานั้น.” (ยาโกโบ 3:13, ล.ม.) คงเป็นความกรุณามิใช่หรือที่ผู้ปกครองจะพูดกับผู้ช่วยงานรับใช้คนนั้น โดยบอกปัญหาของเขาอย่างชัดเจน, ยกตัวอย่างเฉพาะให้เห็น, และให้ข้อแนะสำหรับการปรับปรุงที่ใช้ได้จริง? หากผู้ปกครอง ‘ปรุงรสคำแนะนำของเขาด้วยเกลือ’ อย่างรอบคอบ ข้อแนะของเขาก็น่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี. (โกโลซาย 4:6) แน่นอน ผู้ช่วยงานรับใช้จะทำให้งานของผู้ปกครองน่ายินดีมากขึ้นด้วยการเป็นคนพร้อมจะรับฟังและตอบรับคำแนะนำที่เขาได้รับ.—บทเพลงสรรเสริญ 141:5.
ในบางประชาคม ผู้ปกครองให้การฝึกอบรมที่ใช้ได้จริงแก่ผู้ช่วยงานรับใช้อย่างต่อเนื่อง. ตัวอย่างเช่น พวกเขาพาผู้ช่วยงานรับใช้ที่มีคุณวุฒิไปด้วยกันเมื่อเยี่ยมผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ. โดยวิธีนี้ ผู้ช่วยงานรับใช้ได้รับประสบการณ์ในการบำรุงเลี้ยง. แน่นอน มีหลายสิ่งที่ผู้ช่วยงานรับใช้สามารถทำได้เพื่อที่เขาเองจะก้าวหน้ามากขึ้นทางฝ่ายวิญญาณ.—โปรดดูกรอบข้างล่างที่ชื่อ “สิ่งที่ผู้ช่วยงานรับใช้สามารถทำได้.”
ปัจจัยที่สามซึ่งทำให้การฝึกอบรมพระเยซูมีประสิทธิภาพมากได้แก่การที่พระยะโฮวาทรงฝึกอบรมพระองค์โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าในอนาคต. พระเยซูตรัสถึงพระบิดาว่าพระองค์จะทรงแสดงให้พระบุตรเห็น “การใหญ่ยิ่งกว่านั้นอีก.” ประสบการณ์ที่พระเยซูทรงได้รับเมื่ออยู่บนแผ่นดินโลกทำให้พระองค์ทรงสามารถพัฒนาคุณสมบัติที่จำเป็นในการปฏิบัติภารกิจในอนาคตให้สำเร็จลุล่วง. (เฮ็บราย 4:15; 5:8, 9) เพื่อเป็นตัวอย่าง คิดดูซิว่าคงต้องเป็นงานมอบหมายที่หนักสักเพียงไรที่พระเยซูจะได้รับในอีกไม่ช้าในการปลุกหลายพันล้านคนที่ตายไปในขณะนี้ให้เป็นขึ้นมาสู่การพิพากษา!—โยฮัน 5:21, 22.
เมื่อฝึกอบรมผู้ช่วยงานรับใช้ ผู้ปกครองในปัจจุบันควรคิดถึงความจำเป็นในอนาคต. แม้ว่าอาจดูเหมือนว่ามีผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้เพียงพออยู่แล้วในการดูแลความจำเป็นในปัจจุบัน แต่จะมีบุคลากรเพียงพอไหมถ้ามีการตั้งประชาคมใหม่ขึ้นมาอีกประชาคมหนึ่ง? จะมีบุคลากรเพียงพอไหมถ้ามีการตั้งประชาคมขึ้นอีกหลายประชาคม? ในระหว่างสามปีที่ผ่านไป มีประชาคมใหม่ทั่วโลกมากกว่า 6,000 ประชาคม. จำเป็นต้องมีผู้ปกครองและผู้ช่วยงานรับใช้จำนวนมากจริง ๆ เพื่อดูแลประชาคมใหม่เหล่านี้!
ผู้ปกครองทั้งหลาย คุณกำลังดำเนินตามแบบอย่างของพระยะโฮวาไหมโดยปลูกฝังสายสัมพันธ์อันอบอุ่นเป็นส่วนตัวกับพี่น้องชายที่คุณฝึกอบรม? คุณกำลังแสดงให้เขาเห็น
วิธีที่จะปฏิบัติงานให้สำเร็จไหม? คุณคิดคำนึงถึงความจำเป็นในอนาคตไหม? การดำเนินตามแบบอย่างของพระยะโฮวาในการฝึกอบรมพระเยซูย่อมจะก่อผลเป็นพระพรอันอุดมแก่หลาย ๆ คน.อย่ากลัวที่จะมอบงาน
ผู้ปกครองที่มีความสามารถซึ่งคุ้นเคยกับการดูแลจัดการงานหนักหลาย ๆ อย่างอาจไม่ค่อยเต็มใจนักที่จะมอบงานให้คนอื่นทำ. พวกเขาอาจได้พยายามทำเช่นนั้นในอดีต แต่ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ. ด้วยเหตุนั้น เขาอาจเกิดมีทัศนคติว่า ‘หากอยากให้งานออกมาดี ก็ต้องทำด้วยตัวเราเอง.’ แต่ทัศนคติแบบนี้สอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาไหม ดังมีแสดงไว้ในพระคัมภีร์ว่าผู้ที่มีประสบการณ์น้อยกว่าควรรับการฝึกอบรมจากผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า?—2 ติโมเธียว 2:2.
อัครสาวกเปาโลรู้สึกผิดหวังเมื่อเพื่อนร่วมเดินทางคนหนึ่ง คือโยฮันมาระโก ทิ้งงานมอบหมายที่มณฑลปัมฟูเลียแล้วกลับบ้าน. (กิจการ 15:38, 39) อย่างไรก็ตาม เปาโลไม่ปล่อยให้เรื่องนั้นทำให้ท่านท้อใจไม่อยากฝึกคนอื่น ๆ. ท่านเลือกพี่น้องหนุ่มอีกคนหนึ่ง คือติโมเธียว และฝึกเขาในงานมิชชันนารี. * (กิจการ 16:1-3) ที่เมืองเบรอยะ เหล่ามิชชันนารีประสบการต่อต้านอย่างรุนแรงจนไม่เหมาะที่เปาโลจะอยู่ที่นั่นต่อไป. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงฝากประชาคมใหม่ในเมืองนี้ไว้ในความดูแลของซีลา ซึ่งเป็นพี่น้องชายที่อาวุโสผู้สูงวัยกว่า และติโมเธียว. (กิจการ 17:13-15) ไม่ต้องสงสัยว่าติโมเธียวคงได้เรียนรู้มากมายจากซีลา. ต่อมา เมื่อติโมเธียวพร้อมจะรับหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น เปาโลส่งท่านไปยังเมืองเธซะโลนิเกให้หนุนกำลังใจประชาคมที่นั่น.—1 เธซะโลนิเก 3:1-3.
สัมพันธภาพระหว่างเปาโลกับติโมเธียวไม่เป็นแบบเคร่งเครียด, เย็นชา, หรือไร้ความรู้สึก. มีสายสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างคนทั้งสอง. เมื่อเขียนจดหมายถึงประชาคมที่เมืองโครินธ์ (โกรินโธ) เปาโลกล่าวถึงติโมเธียวซึ่งท่านวางแผนจะส่งไปที่นั่นว่าเป็น “ลูกที่รักของข้าพเจ้าผู้เป็นคนสัตย์ซื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า.” ท่านกล่าวอีกว่า “ติโมเธียวนั้นจะนำให้ท่านทั้งหลายระลึกถึงแบบการประพฤติของข้าพเจ้า ตามอย่างพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 4:17) ติโมเธียวตอบรับการฝึกอบรมที่ได้รับจากเปาโล กลายเป็นผู้มีคุณวุฒิในการปฏิบัติหน้าที่มอบหมายให้สำเร็จ. พี่น้องหนุ่มหลายคนได้กลายมาเป็นผู้ช่วยงานรับใช้, ผู้ปกครอง, หรือแม้แต่ผู้ดูแลเดินทางที่มีความสามารถ เนื่องจากพวกเขาได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมจากผู้ที่อาวุโสกว่าซึ่งห่วงใยและสนใจอย่างแท้จริงในพวกเขา เช่นเดียวกับที่เปาโลสนใจในติโมเธียว.
ผู้ปกครองทั้งหลาย จงฝึกอบรมผู้อื่น!
คำพยากรณ์ที่ยะซายา 60:22 (ล.ม.) กำลังสำเร็จเป็นจริงในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด. พระยะโฮวากำลังทำให้ ‘คนตัวเล็กเพิ่มเป็นชนชาติใหญ่.’ เพื่อที่ชาติดังกล่าวจะ “ใหญ่” ต่อ ๆ ไป ชาตินั้นต้องได้รับการจัดระเบียบอย่างดี. ผู้ปกครองทั้งหลาย ทำไมไม่ลองคิดถึงวิธีที่จะให้การฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่พี่น้องชายที่อุทิศตัวแล้วและมีคุณวุฒิล่ะ? จงพยายามช่วยให้ผู้ช่วยงานรับใช้แต่ละคนตระหนักเป็นอย่างดีว่าเขาจำเป็นต้องปรับปรุงอะไรบ้างเพื่อจะก้าวหน้า. และพี่น้องชายทั้งหลายที่รับบัพติสมาแล้ว จงใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดจากความเอาใจใส่ที่คุณได้รับ. ฉวยประโยชน์จากโอกาสต่าง ๆ ในการเพิ่มความสามารถ, ความรู้, และประสบการณ์ของคุณ. พระยะโฮวาจะทรงอวยพรโครงการอันเปี่ยมด้วยความรักเช่นนั้นอย่างแน่นอน.—ยะซายา 61:5.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 ภายหลัง เปาโลได้ทำงานร่วมกับโยฮันมาระโกอีก.—โกโลซาย 4:10.
[กรอบหน้า 30]
สิ่งที่ผู้ช่วยงานรับใช้สามารถทำได้
ในขณะที่ผู้ปกครองควรให้การฝึกอบรมแก่ผู้ช่วยงานรับใช้ มีหลายสิ่งที่ผู้ช่วยงานรับใช้สามารถทำได้เพื่อที่เขาเองจะก้าวหน้าฝ่ายวิญญาณ.
—ผู้ช่วยงานรับใช้ควรขยันขันแข็งและไว้ใจได้ในการเอาใจใส่งานที่ตนได้รับมอบหมาย. พวกเขาควรพัฒนานิสัยที่ดีในการศึกษาด้วย. ความก้าวหน้าขึ้นอยู่อย่างมากกับการศึกษาและการใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้.
—เมื่อผู้ช่วยงานรับใช้เตรียมคำบรรยายสำหรับการประชุมคริสเตียน เขาไม่ควรลังเลที่จะขอข้อแนะจากผู้ปกครองที่มีความสามารถเกี่ยวกับวิธีเสนอเรื่อง.
—ผู้ช่วยงานรับใช้อาจขอผู้ปกครองด้วยให้ช่วยสังเกตว่าการบรรยายของเขาเป็นอย่างไร แล้วให้คำแนะนำเพื่อจะพัฒนาให้ดีขึ้น.
ผู้ช่วยงานรับใช้ควรขอคำแนะนำ, ยอมรับคำแนะนำ, และใช้คำแนะนำจากผู้ปกครอง. โดยวิธีนี้ ความก้าวหน้าของเขาจะ “ปรากฏแจ้งแก่คนทั้งปวง.”—1 ติโมเธียว 4:15.