พระยะโฮวาทรงประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ”
เรื่องราวชีวิตจริง
พระยะโฮวาทรงประทาน “กำลังที่มากกว่าปกติ”
เล่าโดยเฮเลน มาคส์
วันนั้นเป็นวันที่มีอากาศอบอ้าวในฤดูร้อนปี 1986. มีฉันคนเดียวเท่านั้นรออยู่ที่สำนักงานศุลกากรในท่าอากาศยานอันเงียบเชียบที่สุดของยุโรป. ที่นั่นคือติรานา เมืองหลวงของประเทศแอลเบเนีย ซึ่งประกาศตัวว่าเป็น “ประเทศแรกในโลกที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า.”
ด้วยความรู้สึกไม่แน่ใจปนเปกับความหวาดหวั่น ฉันเฝ้ามองขณะเจ้าหน้าที่ติดอาวุธเริ่มค้นสัมภาระของฉัน. หากฉันทำหรือพูดอะไรให้เขาสงสัย ฉันอาจถูกขับออกนอกประเทศและคนที่รอฉันอยู่ข้างนอกคงต้องติดคุกหรือไม่ก็ถูกส่งเข้าค่ายแรงงาน. น่าดีใจจริง ๆ ฉันสามารถทำให้เจ้าหน้าที่เป็นมิตรมากขึ้นได้โดยที่ฉันยื่นหมากฝรั่งและคุกกี้ให้เขา. แต่ผู้หญิงวัยหกสิบเศษอย่างฉันตกเข้าสู่สภาพเช่นนี้ได้อย่างไร? ไฉนฉันถึงได้สละชีวิตที่สุขสบายแถมเสี่ยงอันตรายเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรในที่มั่นสุดท้ายแห่งหนึ่งของลัทธิมาร์กซิสต์-เลนิน?
เด็กหญิงขี้โรคแต่มีคำถามมากมาย
ฉันเกิดปี 1920 ในเมืองอีเอราเปตรา เกาะครีต สองปีต่อมาพ่อก็ตายด้วยโรคปอดบวม. แม่ยากจนและไม่รู้หนังสือ. ในจำนวนลูกสี่คน ฉันเป็นคนสุดท้อง และเนื่องจากเป็นโรคดีซ่าน ฉันผอมซีดและอมโรค. เพื่อนบ้านแนะนำแม่ให้เอาใจใส่ดูแลลูกสามคนที่แข็งแรงกว่าด้วยกำลังเงินที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ย และปล่อยให้ฉันตายไปเอง. ฉันดีใจที่แม่ไม่ได้ทำตามคำแนะนำนั้น.
เพื่อให้แน่ใจว่าวิญญาณของพ่อไปสู่สุคติ แม่มักไปเยือนสุสานบ่อย ๆ โดยใช้บริการของบาทหลวงนิกาย
ออร์โทด็อกซ์. กระนั้น ค่าบริการเหล่านั้นราคาไม่เบาเลย. ฉันยังจดจำวันคริสต์มาสอันหนาวเหน็บคราวหนึ่งได้เมื่อแม่กลับจากสุสานมาถึงบ้าน มีฉันเดินกระย่องกระแย่งเคียงข้างแม่. เราเพิ่งจ่ายเงินก้อนสุดท้ายให้บาทหลวงไป. หลังจากแม่จัดแจงต้มผักให้ลูกกินแล้ว ท่านได้เข้าไปพักผ่อนอีกห้องหนึ่ง ท้องแม่ว่างไม่มีอาหารตกถึงท้องเลย แก้มแม่มีคราบน้ำตาแห่งความสิ้นหวัง. ในเวลาต่อมา ฉันรวบรวมความกล้าเข้าไปถามบาทหลวงถึงสาเหตุที่พ่อของฉันตายและทำไมแม่ซึ่งยากจนอยู่แล้วยังต้องจ่ายเงินให้บาทหลวง. เขาตอบเสียงแผ่วเบาด้วยสีหน้าเจื่อน ๆ ว่า “พระเจ้ารับพ่อไปแล้ว. นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเรา. หนูจะคลายความทุกข์โศกเศร้าในไม่ช้า.”เป็นการยากสำหรับฉันที่จะยอมรับคำตอบของเขาว่าสอดคล้องกับคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งฉันเคยเรียนในโรงเรียน. ฉันยังจำถ้อยคำเริ่มต้นอันแสนไพเราะและมีความหมายที่ว่า “โอพระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์. ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่. พระทัยของพระองค์สำเร็จแล้วในสวรรค์อย่างไร, ก็ให้สำเร็จในแผ่นดินโลกเหมือนกัน.” (มัดธาย 6:9, 10) ในเมื่อพระเจ้าทรงมุ่งหมายให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลก ทำไมคนเราต้องทนทุกข์มากมายอย่างนี้?
ฉันจวนจะได้คำตอบนั้นอยู่แล้วในปี 1929 เมื่อเอมันวิล ลีโอนูดาคิส ผู้เผยแพร่เต็มเวลาซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาได้มาที่บ้านของเรา. * เมื่อแม่ถามเขาว่าต้องการอะไร เอมันวิลไม่พูดสักคำ เขาเพียงแต่ยื่นบัตรที่พิมพ์คำพยานให้แม่อ่าน. แม่กลับยื่นบัตรให้ฉันอ่าน. ตอนนั้นอายุฉันแค่เก้าขวบจึงไม่เข้าใจอะไรมาก. เราเดาเอาว่าผู้เผยแพร่คงเป็นใบ้ แม่จึงตอบไปว่า “โถ น่าสงสารจริง ๆ! คุณพูดไม่ได้ ฉันเองก็อ่านไม่เป็น.” แล้วแม่ก็บุ้ยใบ้อย่างกรุณาชี้ให้เขากลับออกไปทางประตู.
สองสามปีต่อมา ฉันถึงได้คำตอบ. เอมันวิล พาเทอราคิส พี่ชายฉันได้รับหนังสือเล่มเล็กคนตายอยู่ที่ไหน? จากผู้เผยแพร่เต็มเวลาคนเดียวกันนี้ หนังสือนี้จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา. * เมื่ออ่านแล้ว ฉันรู้สึกโล่งอกโล่งใจที่รู้ว่าพระเจ้าไม่ได้รับพ่อไปที่ไหน. ฉันได้มารู้ว่าความตายเป็นผลสืบเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ และรู้ว่าพ่อของฉันรอการกลับเป็นขึ้นจากตายสู่ชีวิตบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน.
“เจ้าฉิบหายเพราะหนังสือเล่มนี้แหละ!”
ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลทำให้ตาของเราสว่าง. เราพบคัมภีร์ไบเบิลเล่มเก่าซึ่งเคยเป็นสมบัติของพ่อและได้เริ่มพิจารณาศึกษา บ่อยครั้งอาศัยแสงเทียนข้างเตาผิง. เนื่องจากฉันเป็นหญิงสาวคนเดียวในละแวกนั้นที่สนใจอ่านพระคัมภีร์ เขาจึงไม่ให้ฉันร่วมกิจกรรมของพยานฯ กลุ่มเล็ก ๆ ในท้องถิ่น. ฉันเชื่ออย่างจริงจังอยู่ระยะหนึ่ง แม้จะไม่ถูกต้องเสียทีเดียวว่าศาสนานี้สำหรับพวกผู้ชายเท่านั้น.
ความกระตือรือร้นของพี่ชายต่องานเผยแพร่เป็นแรงบันดาลใจฉันมากทีเดียว. ต่อมาไม่นานนัก ตำรวจเริ่มสอดส่องครอบครัวของเรา แวะเวียนมาเป็นประจำทั้งในตอนกลางวันหรือยามมืดค่ำเพื่อค้นหาตัวเอมันวิลและสรรพหนังสือ. ฉันจำได้แม่นที่บาทหลวงคะยั้นคะยอเราให้กลับเข้าโบสถ์. ครั้นเอมันวิลเปิดคัมภีร์ไบเบิลชี้ให้เขาดูพระนามของพระเจ้าคือยะโฮวา บาทหลวงได้ยื้อแย่งคัมภีร์ไบเบิลไปจากมือเขาแล้วโบกปัดไปมาตรงหน้าพี่ชายฉันด้วยท่าทางอย่างกับจะเอาเรื่อง แถมตะโกนใส่หน้าว่า “เจ้าฉิบหายเพราะหนังสือเล่มนี้แหละ!”
ปี 1940 เมื่อเอมันวิลปฏิเสธการรับราชการทหาร เขาถูกจับและถูกส่งตัวไปประจำแนวรบที่แอลเบเนีย. เราขาดการติดต่อกับเขาและคิดว่าเขาตายไปแล้ว. อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นสองปี โดยไม่คาดหมาย เราได้รับจดหมายของเขาส่งมาจากเรือนจำ. เขามีชีวิตอยู่และสบายดี! คัมภีร์ข้อหนึ่งที่เขาอ้างในจดหมายยังคงติดตรึงใจฉันไม่รู้เลือนตั้งแต่นั้นที่ว่า “ส่วนพระยะโฮวา พระเนตรของพระองค์กวาดมองไปทั่วแผ่นดินโลกเพื่อจะสำแดงฤทธิ์ของพระองค์เพื่อคนเหล่านั้นที่มีหัวใจเป็นหนึ่งเดียวต่อพระองค์.” (2 โครนิกา 16:9, ล.ม.) เราต้องการคำพูดหนุนใจเช่นนั้นมากสักเพียงใด!
ถึงแม้เอมันวิลถูกคุมขังในเรือนจำ แต่เขาสามารถขอร้องพี่น้องบางคนไปเยี่ยมฉัน. การประชุมคริสเตียนอย่าง
ลับ ๆ ถูกจัดขึ้นทันที ณ บ้านในฟาร์มแห่งหนึ่งนอกเมือง. เราไม่รู้เลยว่ามีคนคอยจับตาดูพวกเราอยู่! วันหนึ่งตรงกับวันอาทิตย์ ตำรวจติดอาวุธได้เข้าล้อมจับพวกเรา. เขาต้อนเราขึ้นรถบรรทุกไม่มีหลังคา และแห่พวกเราไปทั่วเมือง. ฉันยังจำเสียงประชาชนหัวเราะเยาะและหยาบหยามพวกเราได้ แต่อาศัยพระวิญญาณบริสุทธิ์ พระยะโฮวาโปรดให้เรารู้สึกสุขสงบในจิตใจ.พวกเราถูกย้ายไปอีกเมืองหนึ่ง ที่นั่นเขาโยนพวกเราเข้าห้องขังที่มืดและสกปรก. ส้วมในห้องที่ฉันถูกขังนั้นใช้ถังไม่มีฝาปิดซึ่งยกออกไปเทวันละครั้ง. ฉันถูกตัดสินจำคุกแปดเดือน เพราะเขาถือว่าฉันเป็น “ผู้สอน” ของกลุ่ม. อย่างไรก็ดี บราเดอร์คนหนึ่งที่ติดคุกที่นั่นได้ให้ทนายความของเขาช่วยแก้คดีของเรา และเขาสามารถช่วยให้เราพ้นคดีไปได้.
เริ่มชีวิตใหม่
เมื่อเอมันวิลพ้นโทษจำคุก เขาเริ่มออกเยี่ยมประชาคมต่าง ๆ ในกรุงเอเธนส์ในฐานะผู้ดูแลเดินทาง. ฉันย้ายไปที่นั่นในปี 1947. ในที่สุด ฉันก็ได้พบเหล่าพยานพระยะโฮวากลุ่มใหญ่—ไม่เฉพาะผู้ชายเท่านั้นแต่มีผู้หญิงและเด็กด้วย. ในที่สุดเดือนกรกฎาคม 1947 ฉันก็ได้แสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวแด่พระยะโฮวาโดยการรับบัพติสมาในน้ำ. ฉันใฝ่ฝันเสมออยากเป็นมิชชันนารีและได้เริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษภาคค่ำ. ปี 1950 ฉันเริ่มทำงานเป็นไพโอเนียร์. แม่ย้ายมาอยู่กับฉัน และแม่รับเอาความจริงของคัมภีร์ไบเบิลเช่นเดียวกัน. ท่านปฏิบัติตนฐานะพยานพระยะโฮวานานถึง 34 ปีจนกระทั่งสิ้นชีวิต.
ในปีเดียวกันนั้น ฉันได้รู้จักจอห์น มาคส์ (มาร์โคพูโลส) จากสหรัฐ เขาเป็นผู้ชายที่น่านับถือและฝักใฝ่ฝ่ายวิญญาณ. จอห์นเกิดทางภาคใต้ของแอลเบเนีย และเข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวาหลังจากอพยพไปอยู่ที่สหรัฐ. ปี 1950 ในช่วงที่อยู่ในประเทศกรีซ เขาพยายามขอวีซ่าเข้าประเทศแอลเบเนีย ซึ่งตอนนั้นเป็นประเทศปิดอยู่ใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ที่เข้มงวดที่สุด. แม้จอห์นไม่ได้พบเห็นญาติพี่น้องในครอบครัวของเขาตั้งแต่ปี 1936 กระนั้น เขาก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศแอลเบเนีย. ฉันรู้สึกประทับใจที่เขามีใจแรงกล้ากระตือรือร้นทำงานรับใช้พระยะโฮวาและความรักอันล้ำลึกที่เขามีต่อสังคมพี่น้อง. เราแต่งงานกันเมื่อวันที่ 3 เมษายน 1953. ครั้นแล้วฉันย้ายไปกับเขา ไปยังบ้านใหม่ของเราในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา.
เพื่อเราจะเลี้ยงตัวได้ระหว่างทำงานเผยแพร่เต็มเวลา ฉันกับจอห์นมีธุรกิจเล็ก ๆ บนชายฝั่งนิวเจอร์ซีย์ จัด
เตรียมอาหารเช้าสำหรับชาวประมง. เราทำอาชีพนี้เฉพาะช่วงหน้าร้อนเท่านั้น เริ่มงานตอนเช้าตรู่จนถึง 9:00 น. เราจัดชีวิตให้เรียบง่าย และมุ่งมั่นเอางานฝ่ายวิญญาณไว้เป็นอันดับแรก เราจึงสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานเผยแพร่. ตลอดหลายปี เราถูกขอให้ย้ายไปยังเมืองต่าง ๆ ซึ่งมีความต้องการผู้เผยแพร่มาก. ด้วยการหนุนหลังจากพระยะโฮวา เราได้ช่วยบรรดาคนสนใจตามที่ต่าง ๆ เหล่านั้น, ช่วยตั้งประชาคมใหม่, และช่วยสร้างหอประชุมราชอาณาจักร.ช่วยเหลือพวกพี่น้องในยามจำเป็น
แต่จากนั้นไม่นาน โอกาสอันน่าตื่นเต้นก็เปิดให้เรา. พี่น้องผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอยากติดต่อกับพี่น้องในประเทศแถบบอลข่าน ซึ่งงานของเราถูกสั่งห้าม. หลายปีมาแล้วที่พยานพระยะโฮวาในประเทศเหล่านั้นถูกตัดขาดจากสังคมพี่น้องทั่วโลก ได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณนิด ๆ หน่อย ๆ หรือไม่ได้เลย และพี่น้องเหล่านั้นยังต้องเผชิญการต่อต้านขัดขวางที่โหดร้าย. พวกเขาส่วนใหญ่จะถูกจับตามองตลอดเวลา และหลายคนติดคุกหรือถูกส่งไปอยู่ค่ายแรงงาน. พวกเขาต้องการสรรพหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิล, การชี้นำ, และการหนุนกำลังใจอย่างเร่งด่วน. ตัวอย่างเช่น เราได้รับสารลับจากแอลเบเนียอ่านดังนี้: “จงอธิษฐานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าเพื่อพวกเรา. สรรพหนังสือถูกยึดจากบ้านหนึ่งแล้วก็อีกบ้านหนึ่ง. เขาไม่อนุญาตให้เราศึกษา. ผู้ชายสามคนถูกกักขัง.”
ดังนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 1960 เราเริ่มเดินทางซึ่งจะกินเวลาหกเดือนเพื่อเยี่ยมบางประเทศแถบบอลข่าน. เห็นได้ชัดว่าเราจำต้องได้ “กำลังที่มากกว่าปกติ” คือความมานะ, ความกล้าหาญ, และความเฉลียวฉลาดที่พระเจ้าประทานให้เพื่อจะสัมฤทธิผลในหน้าที่มอบหมายของเรา. (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.) จุดหมายปลายทางแรกของเราคือ แอลเบเนีย. เราได้ซื้อรถยนต์ที่กรุงปารีสแล้วออกเดินทาง. หลังจากเราไปถึงโรม จอห์นได้วีซ่าเข้าประเทศแอลเบเนียเพียงคนเดียว. สำหรับฉันเองได้เดินทางต่อไปยังเอเธนส์ ประเทศกรีซ และรอเขาที่นั่น.
จอห์นเข้าประเทศแอลเบเนียเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 1961 และอยู่ที่นั่นกระทั่งสิ้นเดือนมีนาคม. ที่เมืองติรานา เขาได้พบกับพี่น้อง 30 คน. พวกเขาตื่นเต้นดีใจสักเพียงใดเมื่อได้รับสรรพหนังสือพร้อมกับการหนุนกำลังใจซึ่งพวกเขาต้องการมาก! พวกเขาไม่ได้รับการเยี่ยมจากคนนอกประเทศนานถึง 24 ปีทีเดียว.
จอห์นได้รับการกระตุ้นใจเนื่องด้วยความซื่อสัตย์มั่นคงและความเพียรอดทนของพี่น้องเหล่านั้น. เขาได้มารู้ว่าพี่น้องหลายคนตกงานและถูกขังเพราะพวกเขาไม่ร่วมกิจกรรมของประเทศคอมมิวนิสต์. เขารู้สึกตื้นตันเป็นพิเศษเมื่อบราเดอร์สองคนในวัย 80 เศษ ๆ ได้มอบเงินบริจาคให้เขาประมาณ 100 ดอลลาร์สำหรับงานเผยแพร่. คนทั้งสองเก็บออมอยู่หลายปีจากเงินจำนวนเล็กน้อยที่เขาได้รับบำนาญ.
วันสุดท้ายที่จอห์นอยู่ในแอลเบเนียเป็นวันที่ 30 มีนาคม 1961 ซึ่งตรงกับวันอนุสรณ์ระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู. จอห์นให้คำบรรยาย ณ การประชุมอนุสรณ์แก่ผู้ฟัง 37 คน. พอบรรยายเสร็จ พวกพี่น้องได้รีบพาจอห์นออกทางประตูหลังและขับรถยนต์พาเขาไปยังท่าเรือดูรีส ที่นั่นเขาลงเรือสินค้าตุรกีตรงไปปิราอุส ประเทศกรีซ.
ฉันดีใจที่เขากลับมาโดยสวัสดิภาพ. ตอนนี้เราสามารถเริ่มส่วนที่เหลือในเส้นทางที่เสี่ยงอันตราย. เราต้องเดินทางไปอีกสามประเทศแถบบอลข่านซึ่งสั่งห้ามงานของเรา เป็นการเดินทางที่ต้องเสี่ยง เนื่องจากเรามีสรรพหนังสือเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล, เครื่องพิมพ์ดีด, และสิ่งของหลายอย่างติดตัวไป. เรามีโอกาสที่ดียิ่งที่ได้พบปะพี่น้องชายหญิงที่ซื่อสัตย์ภักดีบางคน ซึ่งเสี่ยงทุกขณะต่อการตกงาน, การเสียอิสรภาพ, และกระทั่งชีวิตตัวเองเพื่อพระยะโฮวา. ความมีใจแรงกล้าและความรักแท้ของพวกเขาเป็นแหล่งให้แรงบันดาลใจ. นอกจากนั้น เรารู้สึกประทับใจที่พระยะโฮวาโปรดให้ “กำลังที่มากกว่าปกติ.”
หลังการเดินทางของเราเสร็จสิ้นลงด้วยความสำเร็จผล เราก็เดินทางกลับสหรัฐ. หลายปีหลังจากนั้น เรายังคงใช้หลายวิธีเพื่อจัดส่งสรรพหนังสือไปยังประเทศแอลเบเนีย และรับรายงานเกี่ยวกับกิจการงานของพี่น้องของเรา.
เผชิญภัยบ่อย, เผชิญภัยน่ากลัว
หลายปีผ่านไป แล้วในปี 1981 จอห์นก็เสียชีวิตตอนอายุ 76 ปี ละฉันไว้ตามลำพัง. เอวานกีเลีย หลานสาวพร้อมกับสามีของเธอ จอร์จ โอร์ฟานีดิส มีเมตตาต้อนรับฉันไว้ในบ้าน และตั้งแต่นั้นเรื่อยมา เขาได้ให้การเกื้อหนุนที่มีคุณค่าต่อจิตใจและอารมณ์ของฉัน และให้การช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ด้วย. เขาทั้งสองได้ประสบการเกื้อหนุนของพระยะโฮวาด้วยตัวเองระหว่างที่รับใช้ในประเทศซูดานช่วงที่งานถูกสั่งห้าม. *
ในที่สุด ได้มีการพยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะติดต่อพี่น้องของเราในแอลเบเนีย. เนื่องจากญาติฝ่ายสามีอยู่ที่นั่น พี่น้องจึงมาถามว่าฉันจะยินดีเดินทางเข้าประเทศนั้นหรือไม่. แน่นอน ฉันยินดี!
หลังจากเพียรพยายามอย่างไม่ละลดอยู่หลายเดือน ในที่สุดฉันก็ได้วีซ่าจากสถานทูตแอลเบเนียในกรุงเอเธนส์เมื่อเดือนพฤษภาคม 1986. เจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูตกล่าวเตือนฉันด้วยท่าทีจริงจังว่าหากเกิดปัญหาขึ้นมา ฉันจะคาดหวังการช่วยเหลือใด ๆ จากสถานทูตประเทศอื่น ๆ ไม่ได้. เมื่อฉันไปหาตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินไปแอลเบเนีย เขาถึงกับตกตะลึง. โดยไม่ยอมให้ความกลัวยับยั้งฉันได้ ในไม่ช้าฉันก็ขึ้นเครื่องบินจากเอเธนส์ไปติรานา ซึ่งมีเที่ยวบินเพียงสัปดาห์ละครั้ง. มีผู้ชายชาวแอลเบเนียแก่ ๆ สามคนเท่านั้นที่นั่งไปในเครื่องบินลำเดียวกัน พวกเขาได้มารับการรักษาโรคที่ประเทศกรีซ.
ทันทีที่เครื่องบินลงถึงพื้นดิน เขาได้นำตัวฉันเข้าไปในโกดังเปล่าซึ่งใช้เป็นสำนักงานศุลกากร. น้องชายน้องสาวสามีของฉันถึงแม้ไม่ใช่พยานพระยะโฮวา แต่ก็สมัครใจช่วยฉันหาทางติดต่อพี่น้องในท้องถิ่นซึ่งมีเพียงไม่กี่คน. โดยทางกฎหมาย ญาติของฉันต้องแจ้งให้หัวหน้าชุมชนทราบการมาถึงของฉัน. ผลคือ ฉันถูกตำรวจจับตามอง. ด้วยเหตุนี้ ญาติแนะนำให้ฉันอยู่ภายในบ้านระหว่างที่เขาสืบหาพี่น้องชายสองคนที่อยู่ในเมืองติรานาแล้วจึงได้พามาพบฉัน.
ในตอนนั้น เท่าที่ทราบ ทั่วประเทศแอลเบเนียมีพี่น้องที่อุทิศตัวเก้าคน. หลายปีที่งานถูกสั่งห้าม, ถูกกดขี่ข่มเหง, และถูกควบคุมอย่างเข้มงวดกวดขันทำให้พวกเขาระวังตัวมาก. แววแห่งความสงสัยปรากฏอยู่บนใบหน้าของเขา. หลังจากฉันทำให้บราเดอร์สองคนนี้เกิดความมั่นใจแล้ว คำถามแรกของเขาคือ “หอสังเกตการณ์ อยู่ที่ไหนล่ะ?” เป็นเวลาหลายปีที่เขามีหนังสือปกแข็งเก่า ๆ เพียงสองเล่ม ไม่มีแม้แต่คัมภีร์ไบเบิล.
เขาเล่าอย่างละเอียดเกี่ยวกับมาตรการหฤโหดที่ระบอบการปกครองใช้ปราบปรามพวกพยานฯ. เขากล่าวถึงกรณีบราเดอร์ที่น่ายกย่องคนหนึ่งซึ่งตัดสินใจแน่วแน่รักษาความเป็นกลางด้านการเมืองในการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามา. เนื่องจากรัฐควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง จึงหมายความว่าครอบครัวของเขาจะไม่ได้รับการปันส่วนอาหาร. ลูก ๆ ที่แต่งงานแล้วพร้อมกับทุกคนในครอบครัวของพวกเขาจะต้องติดคุก แม้ลูกหลานในครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทางด้านความเชื่อศรัทธาในศาสนาของเขา. แต่รายงานแจ้งว่า เพราะความกลัว สมาชิกครอบครัวบราเดอร์คนนี้จึงลงมือฆ่าเขาในคืนก่อนเลือกตั้ง แล้วทิ้งศพลงบ่อน้ำ และภายหลังได้กุเรื่องขึ้นว่าเขาเกิดกลัวขึ้นมา จึงฆ่าตัวตาย.
ความยากจนขัดสนของเพื่อนคริสเตียนเหล่านั้นเป็นเรื่องร้าวรานใจจริง ๆ. กระนั้น เมื่อฉันพยายามให้ธนบัตร 20 ดอลลาร์แก่พวกเขาคนละใบ พวกเขาปฏิเสธและบอกว่า “พวกเราต้องการเพียงอาหารฝ่ายวิญญาณเท่านั้น.” พี่น้องที่น่ารักเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่หลายสิบปีภายใต้การปกครองแบบรวบอำนาจ ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยการสอนประชากรส่วนใหญ่ให้เป็นนักอเทวนิยม. ถึงกระนั้น พวกเขามีความเชื่อและความตั้งใจแน่วแน่เข้มแข็งเช่นเดียวกับพยานพระยะโฮวาที่อื่น ๆ. เมื่อถึงเวลาที่ฉันต้องจากแอลเบเนียในสองสัปดาห์ถัดมา ฉันรู้สึกประทับใจมากในพระปรีชาสามารถของพระยะโฮวาที่ทรงให้มี “กำลังที่มากกว่าปกติ” แม้แต่ในสภาพการณ์ที่ยากแสนเข็ญเช่นนั้น.
อนึ่ง ฉันได้สิทธิพิเศษไปเยือนแอลเบเนียในปี 1989 และอีกครั้งหนึ่งในปี 1991. ขณะที่ประเทศนั้นมีเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพในการนับถือศาสนามากขึ้น ๆ จำนวนผู้นมัสการพระยะโฮวาเพิ่มทวีอย่างรวดเร็ว. ปี 1986 มีคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วในประเทศนั้นเพียงไม่กี่คน ตอนนี้ผู้ประกาศที่ขันแข็งทำงานมีมากกว่า 2,200 คน. เมลโป น้องสาวสามีของฉันเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ประกาศเหล่านี้. ไม่ต้องสงสัย พระยะโฮวาทรงอวยพรกลุ่มชนที่ซื่อสัตย์เหล่านั้นอย่างแท้จริง.
ด้วยอำนาจของพระยะโฮวา ฉันมีชีวิตที่น่าพอใจ
เมื่อมองย้อนหลัง ฉันเชื่อมั่นว่าการงานของเรา คืองานที่จอห์นกับฉันทำร่วมกัน ไม่ไร้ประโยชน์. เราได้ใช้พลังความสามารถในวัยหนุ่มสาวอย่างเป็นประโยชน์มากยิ่ง. งานรับใช้เต็มเวลาอันเป็นงานประจำชีพของเราก่อผลคุ้มค่ายิ่งกว่างานใด ๆ ที่เราอาจมุ่งติดตาม. ฉันรู้สึกปลาบปลื้มกับหลายคนที่เรารักใคร่ซึ่งเป็นคนที่เราได้ช่วยให้เรียนรู้ความจริงของคัมภีร์ไบเบิล. เวลานี้ฉันอายุมากแล้ว ฉันจึงสนับสนุนอย่างสุดหัวใจที่จะให้เยาวชนหนุ่มสาว ‘ระลึกถึงพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเขาในช่วงวัยหนุ่มสาว.’—ท่านผู้ประกาศ 12:1, ล.ม.
แม้อยู่ในวัย 81 ปี ฉันยังคงสามารถรับใช้ในฐานะผู้เผยแพร่ข่าวดีประเภทเต็มเวลา. ฉันตื่นแต่เช้าและให้คำพยานแก่ผู้คน ณ ที่จอดรถประจำทาง, ที่ลานจอดรถ, ที่ถนน, ในร้านค้า, หรือในสวนสาธารณะ. ปัญหาของวัยชราขณะนี้ทำให้ชีวิตลำบาก แต่พี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความรัก ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ฝ่ายวิญญาณของฉัน รวมทั้งครอบครัวของหลานสาวเป็นแหล่งของการเกื้อหนุนที่แท้จริง. สำคัญกว่าอะไรทั้งสิ้น ฉันได้มาเข้าใจแล้วว่า “กำลังที่มากกว่าปกติจะมาจากพระเจ้าและมิใช่มาจากตัวเราเอง.”—2 โกรินโธ 4:7,ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 10 อ่านเรื่องราวชีวิตจริงของเอมันวิล ลีโอนูดาคิส ได้จากวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กันยายน 1999 หน้า 25-29.
^ วรรค 11 อ่านเรื่องราวชีวิตจริงของเอมันวิล พาเทอราคิส ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 พฤศจิกายน 1996 หน้า 22-27.
^ วรรค 31 ดูหนังสือประจำปีแห่งพยานพระยะโฮวา 1992 หน้า 91-92, จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 25]
บน: จอห์น (ซ้ายสุด) ฉัน (ตรงกลาง) กับเอมันวิลพี่ชายและแม่อยู่ถัดไปกับสมาชิกเบเธล, กรุงเอเธนส์ ปี 1950
[ภาพหน้า 25]
ซ้าย: กับจอห์นในธุรกิจเล็ก ๆ ของเราที่ชายฝั่งนิวเจอร์ซีย์ ปี 1956
[ภาพหน้า 26]
การประชุมภาคในเมืองติรานา ประเทศแอลเบเนีย ปี 1995
[ภาพหน้า 26]
อาคารสำนักงานเบเธล เมืองติรานา แอลเบเนีย. สร้างเสร็จปี 1996
[ภาพหน้า 26]
บน: บทความใน “หอสังเกตการณ์” ปี 1940 ที่มีการแปลอย่างลับ ๆ เป็นภาษาแอลเบเนีย
[ภาพหน้า 26]
กับเอวานกีเลีย โอร์ฟานีดิส หลานสาว (ขวามือ) และจอร์จ สามีของเธอ