ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณเป็นคนหนึ่งที่พระเจ้าทรงรักไหม?

คุณเป็นคนหนึ่งที่พระเจ้าทรงรักไหม?

คุณ​เป็น​คน​หนึ่ง​ที่​พระเจ้า​ทรง​รัก​ไหม?

“ผู้​ที่​มี​บัญญัติ​ของ​เรา​และ​ประพฤติ​ตาม​บัญญัติ​นั้น, ผู้​นั้น​แหละ​รัก​เรา, และ​ผู้​ที่​รัก​เรา​พระ​บิดา​ของ​เรา​จะ​ทรง​รัก​ผู้​นั้น.”—โยฮัน 14:21.

1, 2. (ก) พระ​ยะโฮวา​ทรง​แสดง​ความ​รัก​อย่าง​ไร​ต่อ​มนุษยชาติ? (ข) พระ​เยซู​ทรง​ตั้ง​อะไร​ขึ้น​ใน​คืน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน​ปี​สากล​ศักราช 33?

พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​มนุษย์​ซึ่ง​พระองค์​ทรง​สร้าง. ที่​จริง พระองค์​ทรง​รัก​โลก​แห่ง​มนุษยชาติ​มาก “จน​ได้​ประทาน​พระ​บุตร​องค์​เดียว​ของ​พระองค์, เพื่อ​ทุก​คน​ที่​วางใจ​ใน​พระ​บุตร​นั้น​จะ​มิ​ได้​พินาศ, แต่​มี​ชีวิต​นิรันดร์.” (โยฮัน 3:16) ขณะ​ที่​เวลา​สำหรับ​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​คริสต์​ใกล้​เข้า​มา ยิ่ง​กว่า​เวลา​อื่น​ใด คริสเตียน​แท้​ควร​สำนึก​ว่า​พระ​ยะโฮวา “ทรง​รัก​เรา, และ​ได้​ทรง​ใช้​พระ​บุตร​ของ​พระองค์​เป็น​ผู้​ทรง​ระงับ​พระ​พิโรธ​เพราะ​ความ​บาป​ของ​เรา.”—1 โยฮัน 4:10.

2 ใน​คืน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน​ปี​สากล​ศักราช 33 พระ​เยซู​และ​เหล่า​อัครสาวก 12 คน​ชุมนุม​กัน​ใน​ห้อง​ชั้น​บน​แห่ง​หนึ่ง​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​เพื่อ​ฉลอง​ปัศคา ระลึก​ถึง​การ​ช่วย​ชาว​อิสราเอล​ให้​รอด​พ้น​จาก​อียิปต์. (มัดธาย 26:17-20) หลัง​จาก​ที่​ฉลอง​ปัศคา​ซึ่ง​เป็น​เทศกาล​ของ​ชาว​ยิว​เสร็จ พระ​เยซู​ทรง​ปล่อย​ให้​ยูดา​อิศการิโอด​ออก​ไป​และ​ทรง​ตั้ง​อาหาร​มื้อ​เย็น​เพื่อ​รำลึก​ซึ่ง​ใน​เวลา​ต่อ​มา​กลาย​มา​เป็น​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ที่​คริสเตียน​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​คริสต์. * โดย​ใช้​ขนมปัง​ไม่​ใส่​เชื้อ​และ​เหล้า​องุ่น​แดง​เป็น​เครื่องหมาย​หรือ​สัญลักษณ์​ของ​พระ​กาย​และ​พระ​โลหิต​ของ​พระองค์ พระ​เยซู​ทรง​ให้​เหล่า​อัครสาวก 11 คน​ที่​เหลือ​มี​ส่วน​ร่วม​ด้วย​กัน​ใน​อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​นี้. ราย​ละเอียด​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​พระองค์​ทรง​ดำเนิน​การ​มี​พรรณนา​ไว้​โดย​ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​สาม​เล่ม​แรก คือ​มัดธาย, มาระโก, และ​ลูกา รวม​ทั้ง​อัครสาวก​เปาโล​ซึ่ง​ได้​เรียก​เหตุ​การณ์​นี้​ว่า “อาหาร​มื้อ​เย็น​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.”—1 โกรินโธ 11:20, ล.ม.; มัดธาย 26:26-28; มาระโก 14:22-25; ลูกา 22:19, 20.

3. บันทึก​ของ​อัครสาวก​โยฮัน​เกี่ยว​กับ​ชั่วโมง​ท้าย ๆ ที่​พระ​เยซู​ทรง​อยู่​กับ​เหล่า​สาวก​ใน​ห้อง​ชั้น​บน​แตกต่าง​จาก​บันทึก​ของ​คน​อื่น ๆ ใน​ลักษณะ​ที่​สำคัญ​เช่น​ไร?

3 น่า​สนใจ อัครสาวก​โยฮัน​ไม่​ได้​กล่าว​ถึง​การ​ผ่าน​ขนมปัง​และ​เหล้า​องุ่น ทั้ง​นี้​อาจ​เนื่อง​จาก​ว่า​เมื่อ​ถึง​ตอน​ที่​ท่าน​เขียน​บันทึก​พระ​ธรรม​กิตติคุณ (ประมาณ​ปี​สากล​ศักราช 98) ขั้น​ตอน​ปฏิบัติ​ดัง​กล่าว​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​อยู่​แล้ว​ใน​หมู่​คริสเตียน​ยุค​แรก. (1 โกรินโธ 11:23-26) อย่าง​ไร​ก็​ตาม โดย​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ โยฮัน​เป็น​ผู้​เดียว​ที่​ได้​ให้​ข้อมูล​สำคัญ​บาง​อย่าง​แก่​เรา​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​และ​ทำ ทั้ง​ก่อน​และ​หลัง​เหตุ​การณ์​ที่​พระองค์​ทรง​ตั้ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์. ราย​ละเอียด​ที่​น่า​ตื่นเต้น​เหล่า​นี้​มี​อยู่​ใน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​ของ​โยฮัน​ห้า​บท​เต็ม ๆ. ราย​ละเอียด​เหล่า​นี้​ทำ​ให้​เห็น​อย่าง​ชัดเจน​ว่า​พระเจ้า​ทรง​รัก​คน​แบบ​ไหน. ให้​เรา​มา​พิจารณา​พระ​ธรรม​โยฮัน​บท 13 ถึง​บท 17 อย่าง​ละเอียด.

จง​เรียน​จาก​ความ​รัก​อัน​เป็น​แบบ​อย่าง​ของ​พระ​เยซู

4. (ก) โยฮัน​เน้น​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​แนว​คิด​หลัก​อัน​โดด​เด่น​ใน​การ​ประชุม​ของ​พระ​เยซู​กับ​เหล่า​สาวก​เมื่อ​พระองค์​ทรง​ตั้ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ขึ้น? (ข) เหตุ​ผล​สำคัญ​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​พระ​เยซู​คือ​อะไร?

4 ความ​รัก​เป็น​แนว​คิด​หลัก​อัน​โดด​เด่น​ที่​มี​ให้​เห็น​โดย​ตลอด​ใน​บท​เหล่า​นี้​ซึ่ง​บันทึก​คำ​แนะ​นำ​ที่​พระ​เยซู​ประทาน​แก่​เหล่า​สาวก​ก่อน​ที่​พระองค์​จะ​เสด็จ​จาก​ไป. ที่​จริง มี​คำ​ว่า “รัก” ใน​หลาย​ลักษณะ​ปรากฏ​ใน​บท​เหล่า​นี้ 31 ครั้ง. ไม่​มี​ใน​ที่​อื่น​ใด​ที่​จะ​เห็น​ความ​รัก​อัน​ลึกซึ้ง​ของ​พระ​เยซู​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​และ​ต่อ​เหล่า​สาวก​ได้​ชัด​เท่า​กับ​ใน​บท​เหล่า​นี้. ความ​รัก​ของ​พระ​เยซู​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​สามารถเห็น​ได้​จาก​เรื่อง​ราว​ชีวิต​ของ​พระองค์​ใน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​ทุก​เล่ม แต่​มี​เฉพาะ​โยฮัน​เท่า​นั้น​ที่​บันทึก​ว่า​พระ​เยซู​ตรัส​อย่าง​เปิด​เผย​ว่า “เรา​รัก​พระ​บิดา.” (โยฮัน 14:31) พระ​เยซู​ยัง​ตรัส​ด้วย​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​พระองค์​และ​ทรง​อธิบาย​เหตุ​ผล​ที่​เป็น​อย่าง​นั้น. พระองค์​ตรัส​ว่า “พระ​บิดา​ได้​ทรง​รัก​เรา​ฉัน​ใด, เรา​ก็​รัก​ท่าน​ฉัน​นั้น ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​ตั้ง​มั่นคง​อยู่​ใน​ความ​รัก​ของ​เรา. ถ้า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ประพฤติ​ตาม​บัญญัติ​ของ​เรา, ท่าน​จะ​ตั้ง​มั่นคง​อยู่​ใน​ความ​รัก​ของ​เรา เหมือน​เรา​ได้​ประพฤติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​บิดา, และ​ตั้ง​มั่นคง​อยู่​ใน​ความ​รัก​ของ​พระองค์.” (โยฮัน 15:9, 10) ใช่​แล้ว พระ​ยะโฮวา​ทรง​รัก​พระ​บุตร​เนื่อง​ด้วย​การ​เชื่อ​ฟัง​โดย​ปราศจาก​ข้อ​สงสัย​ของ​พระองค์. ช่าง​เป็น​บทเรียน​ที่​ดี​สัก​เพียง​ไร​สำหรับ​สาวก​ทุก​คน​ของ​พระ​เยซู​คริสต์!

5. พระ​เยซู​ทรง​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​เหล่า​สาวก​อย่าง​ไร?

5 ได้​มี​การ​เน้น​ความ​รัก​อัน​แรง​กล้า​ของ​พระ​เยซู​ต่อ​เหล่า​สาวก​ตั้ง​แต่​ตอน​ต้น​ของ​บันทึก​ที่​โยฮัน​รายงาน​เกี่ยว​กับ​การ​ประชุม​ครั้ง​สุด​ท้าย​ของ​พระ​เยซู​กับ​เหล่า​อัครสาวก. โยฮัน​เล่า​ว่า “เมื่อ​ก่อน​การ​เลี้ยง​ปัศคา​พระ​เยซู​ทรง​ทราบ​ว่า​เวลา​มา​ถึง​แล้ว​ที่​พระองค์​จะ​ออก​จาก​โลก​ไป​ยัง​พระ​บิดา, พระองค์​ทรง​รัก​พวก​ศิษย์​ของ​พระองค์​ซึ่ง​อยู่​ใน​โลก​นี้​แล้ว, พระองค์​ยัง​ทรง​รัก​เขา​จน​ถึง​ที่​สุด.” (โยฮัน 13:1) ใน​ค่ำ​อัน​น่า​จด​จำ​วัน​นั้น พระองค์​ทรง​สอน​บทเรียน​ที่​ไม่​อาจ​ลืม​ได้​ใน​เรื่อง​การ​รับใช้​ผู้​อื่น​ด้วย​ความ​รัก. พระองค์​ทรง​ล้าง​เท้า​ของ​พวก​เขา. นี่​เป็น​สิ่ง​ที่​พวก​เขา​แต่​ละ​คน​ควร​เต็ม​ใจ​ทำ​เพื่อ​พระ​เยซู​และ​เพื่อ​พี่​น้อง​ของ​เขา แต่​พวก​เขา​ไม่​ยอม​ทำ. พระ​เยซู​ทรง​ทำ​งาน​ที่​ต่ำต้อย​นี้​แล้ว​ตรัส​แก่​เหล่า​สาวก​ว่า “ถ้า​เรา​ผู้​เป็น​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​และ​อาจารย์​ได้​ล้าง​เท้า​ของ​ท่าน​ทั้ง​หลาย ๆ ควร​จะ​ล้าง​เท้า​ซึ่ง​กัน​และ​กัน. ด้วย​ว่า​เรา​ได้​วาง​แบบ​อย่าง​ให้​แก่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​แล้ว, เพื่อ​ให้​ท่าน​ทำ​เหมือน​ที่​เรา​ได้​กระทำ​แก่​ท่าน.” (โยฮัน 13:14, 15) คริสเตียน​แท้​ควร​เต็ม​ใจ​และ​มี​ความ​สุข​ที่​จะ​รับใช้​พี่​น้อง.—มัดธาย 20:26, 27; โยฮัน 13:17.

จง​ปฏิบัติ​ตาม​บัญญัติ​ใหม่

6, 7. (ก) โยฮัน​ให้​ราย​ละเอียด​สำคัญ​อะไร​เกี่ยว​กับ​การ​ตั้ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์? (ข) พระ​เยซู​ทรง​ให้​บัญญัติ​ใหม่​อะไร​แก่​เหล่า​สาวก และ​มี​อะไร​ใหม่​เกี่ยว​กับ​บัญญัติ​ใหม่​นี้?

6 บันทึก​ของ​โยฮัน​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​เกิด​ขึ้น​ใน​ค่ำ​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน​ที่​ห้อง​ชั้น​บน​นั้น​เป็น​แห่ง​เดียว​ที่​กล่าว​ไว้​อย่าง​เจาะจง​ชัดเจน​เกี่ยว​กับ​การ​ออก​ไป​ของ​ยูดา​อิศการิโอด. (โยฮัน 13:21-30) เมื่อ​เรียบเรียง​เรื่อง​ราว​ที่​บันทึก​ไว้​ใน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​ให้​สอดคล้อง​กัน​แล้ว จะ​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ต่อ​เมื่อ​ผู้​ทรยศ​คน​นี้​ออก​ไป​แล้ว พระ​เยซู​จึง​ได้​ตั้ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์​ขึ้น. จาก​นั้น พระองค์​ตรัส​อย่าง​ละเอียด​กับ​อัครสาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์ ให้​คำ​แนะ​นำ​และ​พระ​บัญชา​แก่​พวก​เขา​ก่อน​ที่​พระองค์​จะ​จาก​ไป. ใน​ขณะ​ที่​เรา​เตรียม​ตัว​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​อนุสรณ์ เรา​ควร​สนใจ​อย่าง​จริงจัง​ใน​สิ่ง​ที่​พระ​เยซู​ตรัส ณ โอกาส​นั้น และ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เนื่อง​จาก​เรา​ปรารถนา​อย่าง​แน่นอน​ที่​จะ​เป็น​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​พระเจ้า​ทรง​รัก.

7 พระ​บัญชา​แรก​ที่​พระ​เยซู​ประทาน​แก่​เหล่า​สาวก​หลัง​จาก​ที่​ทรง​ตั้ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระองค์​ขึ้น​แล้ว​เป็น​เรื่อง​ใหม่. พระองค์​ทรง​ประกาศ​ว่า “เรา​ให้​บัญญัติ​ใหม่​ไว้​แก่​เจ้า​ทั้ง​หลาย, คือ​ให้​เจ้า​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน. เรา​รัก​เจ้า​ทั้ง​หลาย​มา​แล้ว​ฉัน​ใด, เจ้า​จง​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน​ด้วย​ฉัน​นั้น. คน​ทั้ง​ปวง​จะ​รู้​ได้​ว่า​เจ้า​เป็น​เหล่า​สาวก​ของ​เรา​ก็​เพราะ​ว่า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​รัก​ซึ่ง​กัน​และ​กัน.” (โยฮัน 13:34, 35) มี​อะไร​ใหม่​เกี่ยว​กับ​พระ​บัญชา​นี้? หลัง​จาก​นั้น​เล็ก​น้อย​ใน​คืน​นั้น​เอง พระ​เยซู​ทรง​อธิบาย​ให้​กระจ่าง​ขึ้น​โดย​ตรัส​ว่า “นี่​แหละ​เป็น​บัญญัติ​ของ​เรา, คือ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​รัก​กัน​และ​กัน​เหมือน​เรา​ได้​รัก​ท่าน. ความ​รัก​ใหญ่​กว่า​นี้​ไม่​มี, คือ​ว่า​ซึ่ง​ผู้​หนึ่ง​ผู้​ใด​จะ​สละ​ชีวิต​ของ​ตัว​เพื่อ​มิตร​สหาย​ของ​ตน.” (โยฮัน 15:12, 13) พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​สั่ง​ชาว​อิสราเอล​ให้ “รัก​เพื่อน​บ้าน​เหมือน​รัก​ตัว​เอง.” (เลวีติโก 19:18) แต่​พระ​บัญชา​ของ​พระ​เยซู​ล้ำ​หน้า​ไป​กว่า​นั้น. คริสเตียน​ต้อง​รัก​กันเหมือน​พระ​คริสต์​ทรง​รัก​พวก​เขา คือ​เต็ม​ใจ​เสีย​สละ​ชีวิต​เพื่อ​พี่​น้อง​ของ​เขา.

8. (ก) ความ​รัก​ที่​เสีย​สละ​ตัว​เอง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อะไร​บ้าง? (ข) พยาน​พระ​ยะโฮวา​แสดง​ความ​รัก​ที่​เสีย​สละ​ตัว​เอง​อย่าง​ไร​ใน​ทุก​วัน​นี้?

8 ช่วง​แห่ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​เป็น​เวลา​เหมาะ​ที่​จะ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เรา​เอง ทั้ง​ใน​ส่วน​ของ​แต่​ละ​คน​และ​ใน​ฐานะ​ประชาคม เพื่อ​ดู​ว่า​เรา​มี​เครื่องหมาย​ที่​เด่น​ชัด​นี้​ซึ่ง​บ่ง​ชี้​ศาสนา​คริสเตียน​แท้​หรือ​ไม่ กล่าว​คือ​ความ​รัก​แบบ​พระ​คริสต์. ความ​รัก​ที่​เสีย​สละ​ตัว​เอง​เช่น​นั้น​อาจ​หมาย​ถึง​การ​ที่​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​เสี่ยง​ชีวิต​ตน​เอง​แทน​ที่​จะ​ทรยศ​พี่​น้อง​ของ​เขา และ​เคย​เกิด​เหตุ​การณ์​อย่าง​นี้​จริง ๆ ใน​บาง​ครั้ง. แต่​กรณี​ที่​เกิด​ขึ้น​บ่อย​กว่า​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ที่​เรา​เต็ม​ใจ​จะ​เสีย​สละ​ผล​ประโยชน์​ส่วน​ตัว​เพื่อ​ช่วยเหลือ​และ​รับใช้​พี่​น้อง​และ​คน​อื่น ๆ. อัครสาวก​เปาโล​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ใน​เรื่อง​นี้. (2 โกรินโธ 12:15; ฟิลิปปอย 2:17) พยาน​พระ​ยะโฮวา​เป็น​ที่​รู้​จัก​กัน​ทั่ว​โลก​สำหรับ​น้ำใจ​เสีย​สละ​ตัว​เอง ช่วยเหลือ​พี่​น้อง​และ​เพื่อน​บ้าน​และ​ทุ่มเท​ตัว​เอง​เพื่อ​นำ​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไป​บอก​เพื่อน​มนุษย์. *ฆะลาเตีย 6:10.

สัมพันธภาพ​ที่​ควร​ทะนุถนอม

9. เพื่อ​รักษา​สัมพันธภาพ​อัน​ล้ำ​ค่า​ที่​เรา​มี​กับ​พระเจ้า​และ​พระ​บุตร เรา​ยินดี​ทำ​อะไร?

9 ไม่​มี​สิ่ง​ใด​ที่​มี​ค่า​สำหรับ​เรา​ยิ่ง​ไป​กว่า​การ​ที่​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​บุตร คือ​พระ​คริสต์​เยซู ทรง​รัก​เรา. แต่​เพื่อ​จะ​ได้​รับ​และ​รู้สึก​ถึง​ความ​รัก​นี้ เรา​ต้อง​ทำ​บาง​สิ่ง. ใน​คืน​สุด​ท้าย​ที่​พระ​เยซู​ทรง​อยู่​กับ​เหล่า​สาวก พระองค์​ตรัส​ว่า “ผู้​ที่​มี​บัญญัติ​ของ​เรา​และ​ประพฤติ​ตาม​บัญญัติ​นั้น, ผู้​นั้น​แหละ​รัก​เรา, และ​ผู้​ที่​รัก​เรา​พระ​บิดา​ของ​เรา​จะ​ทรง​รัก​ผู้​นั้น, และ​เรา​จะ​รัก​เขา​และ​จะ​สำแดง​ตัว​ของ​เรา​เอง​ให้​ปรากฏ​แก่​เขา.” (โยฮัน 14:21) เนื่อง​จาก​เรา​ถือ​ว่า​สัมพันธภาพ​ของ​เรา​กับ​พระเจ้า​และ​พระ​บุตร​มี​ค่า​ยิ่ง เรา​จึง​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญชา​ของ​พระองค์​ทั้ง​สอง​ด้วย​ความ​ยินดี. นี่​หมาย​รวม​ถึง​พระ​บัญญัติ​ใหม่​ที่​จะ​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตัว​เอง​และ​พระ​บัญชา​ที่​พระ​คริสต์​ประทาน​หลัง​จาก​ที่​คืน​พระ​ชนม์ “ให้​ประกาศ​แก่​ผู้​คน​และ​ให้​กล่าว​คำ​พยาน​อย่าง​ถี่ถ้วน” พยายาม ‘ทำ​ให้​คน​ที่​ตอบรับ​ข่าว​ดี​เป็น​สาวก.’—กิจการ 10:42, ล.ม.; มัดธาย 28:19, 20.

10. สัมพันธภาพ​อัน​ล้ำ​ค่า​อะไร​เปิด​ให้​แก่​ผู้​ถูก​เจิม​และ “แกะ​อื่น”?

10 ต่อ​มา​ใน​คืน​นั้น เพื่อ​ตอบ​คำ​ถาม​ของ​ยูดา (ธาดาย) ซึ่ง​เป็น​อัครสาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์ พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “ถ้า​ผู้​ใด​รัก​เรา, ผู้​นั้น​จะ​ประพฤติ​ตาม​คำ​ของ​เรา และ​พระ​บิดา​จะ​ทรง​รัก​เขา, แล้ว​พระ​บิดา​กับ​เรา​จะ​มา​หา​เขา, และ​จะ​สถิต​อยู่​กับ​เขา.” (โยฮัน 14:22, 23) แม้​แต่​ขณะ​ยัง​อยู่​บน​แผ่นดิน​โลก คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ซึ่ง​ถูก​เรียก​ให้​ปกครอง​กับ​พระ​คริสต์​ใน​สวรรค์​มี​สัมพันธภาพ​ใกล้​ชิด​เป็น​พิเศษ​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​บุตร. (โยฮัน 15:15; 16:27; 17:22; เฮ็บราย 3:1; 1 โยฮัน 3:2, 24) แต่ “แกะ​อื่น” ที่​เป็น​สหาย​ของ​พวก​เขา ซึ่ง​มี​ความ​หวัง​จะ​มี​ชีวิต​ตลอด​ไป​บน​แผ่นดิน​โลก ก็​มี​สัมพันธภาพ​อัน​ล้ำ​ค่า​กับ “ผู้​เลี้ยง​ผู้​เดียว” คือ​พระ​เยซู​คริสต์ และ​กับ​พระเจ้า​พระ​ยะโฮวา หาก​พวก​เขา​พิสูจน์​ตัว​ว่า​เชื่อ​ฟัง.—โยฮัน 10:16; บทเพลง​สรรเสริญ 15:1-5; 25:14.

“เจ้า​มิ​ได้​เป็น​ส่วน​ของ​โลก”

11. คำ​เตือน​ที่​น่า​คิด​อย่าง​จริงจัง​อะไร​ซึ่ง​พระ​เยซู​ประทาน​แก่​เหล่า​สาวก?

11 ระหว่าง​การ​ประชุม​ครั้ง​สุด​ท้าย​กับ​เหล่า​สาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์​ก่อน​จะ​สิ้น​พระ​ชนม์ พระ​เยซู​ประทาน​คำ​เตือน​ที่​น่า​คิด​อย่าง​จริงจัง​ที่​ว่า หาก​พระเจ้า​ทรง​รัก​ผู้​ใด ผู้​นั้น​จะ​ถูก​โลกเกลียด​ชัง. พระองค์​ทรง​ประกาศ​ว่า “ถ้า​โลก​เกลียด​ชัง​เจ้า​ทั้ง​หลาย เจ้า​ก็​รู้​ว่า​โลก​ได้​เกลียด​ชัง​เรา​ก่อน. ถ้า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​เป็น​ส่วน​ของ​โลก โลก​ก็​จะ​รัก​ซึ่ง​เป็น​ของ​โลก​เอง. บัด​นี้​เพราะ​เจ้า​มิ​ได้​เป็น​ส่วน​ของ​โลก แต่​เรา​ได้​เลือก​เจ้า​ออก​จาก​โลก ด้วย​เหตุ​นี้​โลก​จึง​เกลียด​ชัง​เจ้า. จง​ระลึก​ถึง​คำ​ที่​เรา​ได้​กล่าว​แก่​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ว่า ทาส​ไม่​ใหญ่​กว่า​นาย​ของ​ตน. ถ้า​เขา​ได้​ข่มเหง​เรา เขา​ก็​จะ​ข่มเหง​เจ้า​ด้วย; ถ้า​เขา​ได้​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​ของ​เรา เขา​ก็​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​ของ​เจ้า​ด้วย.”—โยฮัน 15:18-20, ล.ม.

12. (ก) เหตุ​ใด​พระ​เยซู​จึง​เตือน​เหล่า​สาวก​ว่า​โลก​จะ​ชัง​พวก​เขา? (ข) ทุก​คน​ควร​ใคร่ครวญ​เรื่อง​ใด​ขณะ​ที่​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ใกล้​เข้า​มา?

12 พระ​เยซู​ประทาน​คำ​เตือน​นี้​เพื่อ​อัครสาวก 11 คน​และ​คริสเตียน​แท้​ทุก​คน​ที่​ดำเนิน​ตาม​อย่าง​พวก​เขา​จะ​ไม่​ท้อ​ใจ​และ​เลิก​รา​เพราะ​ถูก​โลก​เกลียด​ชัง. พระองค์​ตรัส​เสริม​อีก​ว่า “สิ่ง​เหล่า​นั้น​เรา​บอก​ท่าน​ทั้ง​หลาย​แล้ว, เพื่อ​มิ​ให้​ท่าน​สะดุด​กะดาก. เขา​จะ​ไล่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เสีย​จาก​ธรรมศาลา แท้​จริง​วัน​หนึ่ง​ทุก​คน​ที่​ประหาร​ชีวิต​ของ​ท่าน​จะ​คิด​ว่า​เขา​ทำ​การ​นั้น​เป็น​การ​ปฏิบัติ​พระเจ้า สิ่ง​เหล่า​นั้น​เขา​จะ​กระทำ​เพราะ​ว่า​เขา​มิ​ได้​รู้​จัก​พระ​บิดา​และ​มิ​ได้​รู้​จัก​เรา.” (โยฮัน 16:1-3) พจนานุกรม​อรรถาธิบาย​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​หนึ่ง​อธิบาย​ว่า รูป​ของ​คำ​กริยา​ที่​แปล​ใน​ที่​นี้​ว่า “สะดุด” หมาย​ถึง “เริ่ม​ไม่​ไว้​วางใจ​และ​ละ​ทิ้ง​บุคคล​ที่​เขา​ควร​ไว้​วางใจ​และ​เชื่อ​ฟัง; ออก​หาก.” ขณะ​ที่​เวลา​ของ​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ใกล้​เข้า​มา ทุก​คน​ควร​ใคร่ครวญ​เกี่ยว​กับ​วิถี​ชีวิต​ของ​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ทั้ง​ใน​อดีต​และ​ปัจจุบัน และ​เลียน​แบบ​อย่าง​ของ​พวก​เขา​ใน​การ​ยืนหยัด​มั่นคง​เมื่อ​ถูก​ทดลอง. อย่า​ยอม​ให้​การ​ต่อ​ต้าน​หรือ​การ​ข่มเหง​ทำ​ให้​คุณ​ละ​ทิ้ง​พระ​ยะโฮวา​และ​พระ​เยซู แต่​จง​ตั้งใจ​แน่วแน่​ว่า​จะ​ไว้​วางใจ​และ​เชื่อ​ฟัง​พระองค์​ทั้ง​สอง.

13. พระ​เยซู​ทรง​ทูล​ขอ​อะไร​เพื่อ​เหล่า​สาวก​ใน​คำ​อธิษฐาน​ต่อ​พระ​บิดา​ของ​พระองค์?

13 ใน​คำ​อธิษฐาน​ปิด​ก่อน​จะ​ออก​จาก​ห้อง​ชั้น​บน​ใน​กรุง​เยรูซาเลม พระ​เยซู​ตรัส​กับ​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​ว่า “ข้าพเจ้า​มอบ​พระ​คำ​ของ​พระองค์​แก่​พวก​เขา​แล้ว แต่​โลก​ได้​เกลียด​ชัง​เขา เพราะ​เขา​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก เหมือน​ข้าพเจ้า​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก. ข้าพเจ้า​ทูล​ขอ​พระองค์ มิ​ให้​นำ​พวก​เขา​ไป​จาก​โลก แต่​ขอ​ทรง​พิทักษ์​เขา​ไว้​เพราะ​ตัว​ชั่ว​ร้าย. พวก​เขา​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก เหมือน​ข้าพเจ้า​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก.” (โยฮัน 17:14-16, ล.ม.) เรา​แน่​ใจ​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​พิทักษ์​ผู้​ที่​พระองค์​ทรง​รัก เสริม​กำลัง​พวก​เขา​ขณะ​ที่​พวก​เขา​รักษา​ตัว​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก.—ยะซายา 40:29-31.

ตั้ง​มั่น​อยู่​ใน​ความ​รัก​ของ​พระ​บิดา​และ​พระ​บุตร

14, 15. (ก) พระ​เยซู​ทรง​เปรียบ​พระองค์​เอง​กับ​อะไร เมื่อ​เทียบ​กับ “เถา​องุ่น​ที่​เสื่อม​สภาพ”? (ข) ใคร​เป็น “แขนง” ของ “เถา​องุ่น​แท้”?

14 ระหว่าง​ที่​ทรง​สนทนา​อย่าง​สนิทสนม​กับ​เหล่า​สาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์​ใน​คืน​วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน พระ​เยซู​ทรง​เปรียบ​พระองค์​เอง​เป็น “เถา​องุ่น​แท้” ทั้ง​นี้​โดย​เทียบ​กับ “เถา​องุ่น​ที่​เสื่อม​สภาพ” แห่ง​ชาติ​อิสราเอล​ที่​ไม่​ซื่อ​สัตย์. พระองค์​ตรัส​ว่า “เรา​เป็น​เถา​องุ่น​แท้ และ​พระ​บิดา​ของ​เรา​เป็น​ผู้​ดู​แล​รักษา.” (โยฮัน 15:1, ล.ม.) หลาย​ศตวรรษ​ก่อน​หน้า​นั้น ผู้​พยากรณ์​ยิระมะยา​บันทึก​คำ​ตรัส​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​มี​แก่​ไพร่​พล​ที่​ทรยศ​ละ​ทิ้ง​พระองค์​ว่า “เรา​ได้​ปลูก​เจ้า​เป็น​ต้น​องุ่น​ใหญ่ .. . อย่าง​ไร​เจ้า​จึง​ได้​กลับ​เป็น​ต้น​อัน​เสื่อม​ลง​คือ​เป็น​ต้น​องุ่น​ที่​เรา​ไม่​รู้​จัก​เล่า?” (ยิระมะยา 2:21) และ​ผู้​พยากรณ์​โฮเซอา​เขียน​ว่า “อิสราเอล​เป็น​เถา​องุ่น​ที่​เสื่อม​สภาพ. เขา​เกิดผล​สำหรับ​ตน​เอง​เสมอ . . . . หัวใจ​เขา​กลับ​กลาย​เป็น​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด.”—โฮเซอา 10:1, 2, ล.ม.

15 แทน​ที่​จะ​เกิด​ผล​แห่ง​การ​นมัสการ​แท้ ชาติ​อิสราเอล​ถลำ​สู่​การ​ออก​หาก​และ​เกิด​ผล​สำหรับ​ตัว​เอง. สาม​วัน​ก่อน​จะ​ประชุม​ครั้ง​สุด​ท้าย​กับ​เหล่า​สาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์ พระ​เยซู​ตรัส​แก่​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ยิว​ที่​หน้า​ซื่อ​ใจ​คด​ว่า “เรา​บอก​ท่าน​ว่า, แผ่นดิน​ของ​พระเจ้า​จะ​ต้อง​เอา​ไป​จาก​ท่าน, ยก​ให้​แก่​ประเทศ​หนึ่ง​ประเทศ​ใด​ซึ่ง​จะ​กระทำ​ให้​ผล​เจริญ​สม​กับ​แผ่นดิน​นั้น.” (มัดธาย 21:43) ชาติ​ใหม่​นั้น​ได้​แก่ “ชาติ​อิสราเอล​ของ​พระเจ้า” ซึ่ง​ประกอบ​ด้วย​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม 144,000 คน​ที่​เปรียบ​ได้​กับ “แขนง” ของ “เถา​องุ่น​แท้” อัน​ได้​แก่​พระ​คริสต์​เยซู.—ฆะลาเตีย 6:16, ล.ม.; โยฮัน 15:5, ล.ม.; วิวรณ์ 14:1, 3.

16. พระ​เยซู​ทรง​กระตุ้น​อัครสาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์ 11 คน​ให้​ทำ​อะไร และ​อาจ​กล่าว​ได้​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​ชน​ที่​เหลือ​ผู้​ซื่อ​สัตย์​ใน​เวลา​อวสาน​นี้?

16 พระ​เยซู​ตรัส​แก่​อัครสาวก 11 คน​ที่​อยู่​กับ​พระองค์​ใน​ห้อง​ชั้น​บน​ว่า “ทุก​แขนง​ใน​เรา​ที่​ไม่​เกิด​ผล​พระองค์​ก็​ทรง​ตัด​ทิ้ง​เสีย และ​ทุก​แขนง​ที่​เกิด​ผล พระองค์​ทรง​ลิด​ให้​สะอาด เพื่อ​จะ​ให้​เกิด​ผล​มาก​ขึ้น. จง​ร่วม​สามัคคี​กับ​เรา​ต่อ​ไป และ​เรา​จะ​ร่วม​สามัคคี​กัน​กับ​เจ้า​ทั้ง​หลาย. แขนง​จะ​เกิด​ผล​เอง​ไม่​ได้​เว้น​แต่​จะ​ติด​สนิท​อยู่​กับ​เถา​ต่อ​ไป​ฉัน​ใด เจ้า​ทั้ง​หลาย​ก็​จะ​เกิด​ผล​ไม่​ได้ เว้น​แต่​เจ้า​จะ​ร่วม​สามัคคี​กับ​เรา​ต่อ​ไป​ฉัน​นั้น.” (โยฮัน 15:2, 4, ล.ม.) ประวัติ​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​ของ​ไพร่​พล​พระ​ยะโฮวา​แสดง​ว่า​ชน​ที่​เหลือ​ผู้​ซื่อ​สัตย์​แห่ง​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ได้​ร่วม​สามัคคี​กับ​พระ​คริสต์​เยซู​ผู้​เป็น​ประมุข​ของ​พวก​เขา​อย่าง​ไม่​เสื่อม​คลาย. (เอเฟโซ 5:23) พวก​เขา​ได้​ตอบรับ​การ​ชำระ​ให้​สะอาด​และ​การ​ลิด​กิ่ง. (มาลาคี 3:2, 3) นับ​ตั้ง​แต่​ปี 1919 พวก​เขา​ได้​ก่อ​ให้​เกิด​ผล​แห่ง​ราชอาณาจักร​อย่าง​อุดม​บริบูรณ์ ใน​อันดับ​แรก​คือ​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​คน​อื่น ๆ และ​ตั้ง​แต่​ปี 1935 “ชน​ฝูง​ใหญ่” สหาย​ของ​พวก​เขา​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ.—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; ยะซายา 60:4, 8-11.

17, 18. (ก) คำ​ตรัส​อะไร​ของ​พระ​เยซู​ที่​ช่วย​ผู้​ถูก​เจิม​และ​แกะ​อื่น​ให้​ตั้ง​มั่น​อยู่​ใน​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา? (ข) การ​เข้า​ร่วม​ประชุม​อนุสรณ์​จะ​ช่วย​เรา​อย่าง​ไร?

17 พระ​เยซู​ตรัส​เพิ่ม​เติม​เกี่ยว​กับ​คริสเตียน​ผู้​ถูก​เจิม​ทั้ง​หมด​และ​สหาย​ของ​พวก​เขา​ว่า “พระ​บิดา​ของ​เรา​ได้​รับ​เกียรติยศ​เพราะ​สิ่ง​นี้, คือ​เมื่อ​ท่าน​เกิด​ผล​มาก, ท่าน​ทั้ง​หลาย​จึง​เป็น​สาวก​ของ​เรา. พระ​บิดา​ได้​ทรง​รัก​เรา​ฉัน​ใด, เรา​ก็​รัก​ท่าน​ฉัน​นั้น ท่าน​ทั้ง​หลาย​จง​ตั้ง​มั่นคง​อยู่​ใน​ความ​รัก​ของ​เรา. ถ้า​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ประพฤติ​ตาม​บัญญัติ​ของ​เรา, ท่าน​จะ​ตั้ง​มั่นคง​อยู่​ใน​ความ​รัก​ของ​เรา เหมือน​เรา​ได้​ประพฤติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​บิดา, และ​ตั้ง​มั่นคง​อยู่​ใน​ความ​รัก​ของ​พระองค์.”—โยฮัน 15:8-10.

18 เรา​ทุก​คน​ต้องการ​ตั้ง​มั่น​อยู่​ใน​ความ​รัก​ของ​พระเจ้า และ​ความ​ปรารถนา​เช่น​นี้​กระตุ้น​เรา​ให้​เป็น​คริสเตียน​ที่​เกิด​ผล. เรา​ทำ​อย่าง​นี้​โดย​การ​ใช้​ทุก​โอกาส​ใน​การ​ประกาศ “ข่าว​ดี​แห่ง​ราชอาณาจักร.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) เรา​ทำ​เต็ม​ที่​ด้วย​เพื่อ​แสดง “ผล​แห่ง​พระ​วิญญาณ” ให้​ปรากฏ​ชัด​ใน​ชีวิต​เรา​เอง. (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) การ​เข้า​ร่วม​ประชุม​อนุสรณ์​ระลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​คริสต์​จะ​เสริม​กำลัง​เรา​ใน​ความ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น เพราะ​เรา​จะ​ได้​รับ​การ​เตือน​ใจ​ให้​นึก​ถึง​ความ​รัก​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​พระเจ้า​และ​พระ​คริสต์​ที่​มี​ต่อ​เรา.—2 โกรินโธ 5:14, 15.

19. จะ​มี​การ​พิจารณา​เกี่ยว​กับ​การ​ช่วยเหลือ​เพิ่ม​เติม​อะไร​อีก​ใน​บทความ​ถัด​ไป?

19 หลัง​จาก​ที่​ทรง​ตั้ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​ขึ้น​แล้ว พระ​เยซู​ทรง​สัญญา​ว่า​พระ​บิดา​ของ​พระองค์​จะ​ส่ง “ผู้​ช่วย​นั้น คือ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์” ให้​แก่​สาวก​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระองค์. (โยฮัน 14:26, ล.ม.) ใน​บทความ​ถัด​ไป เรา​จะ​พิจารณา​วิธี​ที่​พระ​วิญญาณ​นี้​ช่วย​ผู้​ถูก​เจิม​และ​แกะ​อื่น​ให้​ตั้ง​มั่น​อยู่​ใน​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 2 สำหรับ​ปี 2002 ตาม​การ​คำนวณ​ตาม​หลัก​คัมภีร์​ไบเบิล วัน​ที่ 14 เดือน​ไนซาน​เริ่ม​เมื่อ​ดวง​อาทิตย์​ตก​ใน​วัน​พฤหัสบดี​ที่ 28 มีนาคม. ใน​ค่ำ​วัน​นั้น พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​โลก​จะ​ประชุม​กัน​เพื่อ​รำลึก​ถึง​การ​สิ้น​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.

^ วรรค 8 โปรด​ดู​หนังสือ​พยาน​พระ​ยะโฮวา—ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า (ภาษา​อังกฤษ) จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา บท 19 และ 32.

คำ​ถาม​ทบทวน

• บทเรียน​อะไร​ที่​ใช้​ได้​จริง​ใน​เรื่อง​การ​รับใช้​ผู้​อื่น​ด้วย​ความ​รัก​ซึ่ง​พระ​เยซู​ทรง​สอน​สาวก​ของ​พระองค์?

• ช่วง​แห่ง​การ​ประชุม​อนุสรณ์​เป็น​เวลา​ที่​เหมาะ​สำหรับ​การ​ตรวจ​สอบ​ตัว​เอง​ใน​แง่​ใด?

• เหตุ​ใด​เรา​ไม่​ควร​สะดุด​เนื่อง​ด้วย​คำ​เตือน​ของ​พระ​เยซู​เกี่ยว​กับ​การ​ที่​เรา​จะ​ถูก​โลก​เกลียด​ชัง​และ​ข่มเหง?

• ใคร​คือ “เถา​องุ่น​แท้”? ใคร​คือ “แขนง” และ​มี​การ​คาด​หมาย​จาก​พวก​เขา​เช่น​ไร?

[คำ​ถาม]

[ภาพ​หน้า 15]

พระ​เยซู​ทรง​สอน​บทเรียน​ที่​ไม่​อาจ​ลืม​ได้​แก่​เหล่า​อัครสาวก​ใน​เรื่อง​การ​รับใช้​ผู้​อื่น​ด้วย​ความ​รัก

[ภาพ​หน้า 16, 17]

สาวก​ของ​พระ​คริสต์​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญชา​ของ​พระองค์​ที่​ให้​แสดง​ความ​รัก​แบบ​เสีย​สละ​ตัว​เอง