ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พระยะโฮวาสอนเราให้อดทนและพากเพียร

พระยะโฮวาสอนเราให้อดทนและพากเพียร

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

พระ​ยะโฮวา​สอน​เรา​ให้​อด​ทน​และ​พากเพียร

เล่า​โดย​อะริสโตเตลิส อะโพสโตลีดิส

ใน​บริเวณ​เชิง​เนิน​ด้าน​เหนือ​ของ​เทือก​เขา​คอเคซัส เป็น​ที่​ตั้ง​ของ​เมือง​เพียตีกอร์ส​ของ​รัสเซีย​ซึ่ง​ขึ้น​ชื่อ​ใน​เรื่อง​บ่อ​น้ำ​แร่​และ​อากาศ​ที่​อบอุ่น​สบาย. ผม​เกิด​ใน​เมือง​นี้​เมื่อ​ปี 1929 ผู้​ให้​กำเนิด​ผม​เป็น​ชาว​กรีก​ผู้​ลี้​ภัย. สิบ​ปี​ต่อ​มา ภาย​หลัง​การ​กวาด​ล้าง​อย่าง​หฤโหด และ​การ​ฆ่า​ล้าง​ชาติ​พันธุ์​โดย​พวก​นิยม​แนว​ความ​คิด​สตาลิน เรา​ได้​กลาย​เป็น​ผู้​ลี้​ภัย​อีก​ครั้ง​หนึ่ง เนื่อง​จาก​เรา​จำ​ใจ​ต้อง​ย้าย​หนี​ไป​ยัง​ประเทศ​กรีซ.

ภาย​หลัง​เรา​ได้​ย้าย​ไป​ยัง​เมือง​ปิรีอุส ประเทศ​กรีซ คำ “ผู้​ลี้​ภัย” มี​ความ​หมาย​ใหม่​ทุก​แง่​มุม​สำหรับ​เรา. เรา​รู้สึก​เหมือน​เป็น​คน​แปลก​ถิ่น​โดย​สิ้นเชิง. แม้​ว่า​ชื่อ​พี่​ชาย​และ​ชื่อ​ผม​เอง​เป็น​ชื่อ​ของ​สอง​นัก​ปราชญ์​ชาว​กรีก​ที่​มี​ชื่อเสียง​โด่งดัง คือ​โสกราตีส​และ​อาริสโตเติล แต่​ก็​ไม่​ค่อย​ได้​ยิน​ใคร​เอ่ย​สอง​ชื่อ​นี้. ทุก​คน​เรียก​เรา​ว่า​เจ้า​หนู​รัสเซีย.

ไม่​นาน​หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​เริ่ม​ต้น แม่​ผู้​เป็น​สุด​ที่​รัก​ของ​ผม​เสีย​ชีวิต. แม่​เป็น​ทุก​สิ่ง​ทุก​อย่าง​สำหรับ​ครอบครัว​ของ​เรา การ​เสีย​ชีวิต​ของ​ท่าน​จึง​เป็น​การ​สูญ​เสีย​อย่าง​ใหญ่​หลวง. เนื่อง​จาก​แม่​เจ็บ​ออด ๆ แอด ๆ อยู่​ระยะ​หนึ่ง ท่าน​จึง​สอน​ผม​ให้​รู้​จัก​ทำ​งาน​บ้าน​หลาย ๆ อย่าง. การ​ฝึกฝน​เช่น​นี้​ปรากฏ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​มาก​จริง ๆ ใน​เวลา​ต่อ​มา.

สงคราม​และ​การ​ปลด​ปล่อย

ภาวะ​สงคราม, การ​ยึด​ครอง​ของ​พวก​นาซี, และ​การ​ทิ้ง​ระเบิด​อย่าง​ไม่​ละลด​ของ​กอง​กำลัง​ฝ่าย​พันธมิตร​ทำ​ให้​ทุก​วัน​ดู​เหมือน​เป็น​วัน​สุด​ท้าย. ความ​ยาก​จน​ข้นแค้น, ความ​อดอยาก​ขาด​แคลน, และ​ความ​ตาย​มี​ดาษ​ดื่น​เสีย​จริง ๆ. ผม​ต้อง​ทำ​งาน​หนัก​ช่วย​พ่อ​ทำ​มา​หา​กิน​ตั้ง​แต่​อายุ 11 ขวบ​เพื่อ​จุนเจือ​พวก​เรา​ทั้ง​สาม​คน. การ​เรียน​หนังสือ​ของ​ผม​มี​อุปสรรคเนื่อง​จาก​มี​ความ​รู้​ภาษา​กรีก​ค่อนข้าง​น้อย อีก​ทั้ง​ยัง​ต้อง​เผชิญ​กับ​ภาวะ​สงคราม​และ​ผล​พวง​จาก​สงคราม.

การ​ยึด​ครอง​ของ​เยอรมัน​ใน​กรีซ​สิ้น​สุด​ลง​ใน​เดือน​ตุลาคม 1944. จาก​นั้น​ไม่​นาน ผม​ได้​มา​รู้​จัก​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ใน​ห้วง​เวลา​อัน​ท้อ​แท้​สิ้น​หวัง​และ​มี​ความ​ทุกข์ ความ​หวัง​ที่​เรียน​รู้​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า​ด้วย​อนาคต​อัน​แจ่ม​ใส​ซึ่ง​จะ​มี​มา​ทาง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​นั้น​กระทบ​หัวใจ​ผม. (บทเพลง​สรรเสริญ 37:29) คำ​สัญญา​ของ​พระเจ้า​ใน​เรื่อง​ชีวิต​ตลอด​ไป​บน​แผ่นดิน​โลก​ภาย​ใต้​สภาพการณ์​ที่​สงบ​สุข ปรากฏ​ว่า​เป็น​โอสถ​เยียว​ยา​รักษา​ความ​ปวด​ร้าว​ใจ​ได้​อย่าง​แท้​จริง. (ยะซายา 9:7) ปี 1946 ผม​กับ​พ่อ​ได้​รับ​บัพติสมา แสดง​สัญลักษณ์​การ​อุทิศ​ตัว​ของ​เรา​แด่​พระ​ยะโฮวา.

ปี​ถัด​มา ผม​ดีใจ​เมื่อ​ได้​งาน​มอบหมาย​แรก​ให้​เป็น​ผู้​รับใช้​ดู​แล​แผนก​โฆษณา (ภาย​หลัง​เรียก​ว่า​ผู้​รับใช้​วารสาร) ใน​ประชาคม​ที่​ตั้ง​ขึ้น​เป็น​แห่ง​ที่​สอง​ใน​เมือง​ปิรีอุส. เขต​งาน​ของ​เรา​ยาว​ไกล​จาก​เมือง​ปิรีอุส​จรด​เมือง​เอลูซิส ระยะ​ทาง​ประมาณ 50 กิโลเมตร. สมัย​นั้น คริสเตียน​หลาย​คน​ที่​รับ​การ​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ​ได้​ปฏิบัติ​งาน​รับใช้​ใน​ประชาคม​นี้. ผม​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​ร่วม​งาน​กับ​บุคคล​ดัง​กล่าว​และ​เรียน​รู้​จาก​พวก​เขา. ผม​ชอบ​การ​สมาคม​คบหา​กับ​คน​เหล่า​นี้ เพราะ​พวก​เขา​มี​ประสบการณ์​เล่า​ให้​เรา​ฟัง​ได้​ไม่​รู้​จบ​สิ้น ใน​เรื่อง​ความ​จำเป็น​ที่​ต้อง​บากบั่น​จริงจัง​เพื่อ​ให้​งาน​เผยแพร่​สำเร็จ​ลุ​ล่วง. เห็น​ได้​ชัด​จาก​วิถี​ชีวิต​ของ​เขา​ว่า​การ​จะ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์​ภักดี​เรียก​ร้อง​ความ​อด​ทน​และ​ความ​อุตสาหะ​พากเพียร. (กิจการ 14:22) ผม​มี​ความ​สุข​จริง ๆ ที่​ได้​เห็น​ประชาคม​พยาน​พระ​ยะโฮวา​มาก​กว่า 50 ประชาคม​กระจาย​อยู่​ทั่ว​พื้น​ที่​แถบ​นี้​ใน​ปัจจุบัน!

ข้อ​ท้าทาย​ซึ่ง​คาด​ไม่​ถึง

ใน​เวลา​ต่อ​มา ผม​ได้​รู้​จัก​กับ​เอเลนี สตรี​คริสเตียน​วัย​สาว​ที่​น่า​รัก​และ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ใน​เมือง​ปา​ตรา. พอ​สิ้น​ปี 1952 เรา​ตก​ลง​หมั้น​กัน. แต่​หลัง​จาก​นั้น​ไม่​กี่​เดือน เอเลนี​ก็​ล้ม​ป่วย​หนัก. แพทย์​พบ​ว่า​มี​เนื้อ​งอก​ใน​สมอง​และ​อาการ​ของ​เธอ​น่า​วิตก. เธอ​ต้อง​เข้า​รับ​การ​ผ่าตัด​ทันที. หลัง​จาก​พยายาม​อย่าง​ไม่​ย่อท้อ เรา​สามารถ​ติด​ต่อ​กับ​นาย​แพทย์​ท่าน​หนึ่ง​ใน​กรุง​เอเธนส์​ซึ่ง​เต็ม​ใจ​ดำเนิน​การ​รักษา​อย่าง​ที่​คำนึง​ถึง​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เรา และ​ทำ​การ​ผ่าตัด​โดย​ไม่​ใช้​เลือด ทั้ง ๆ ที่​สมัย​นั้น​เครื่อง​ไม้​เครื่อง​มือ​ไม่​ค่อย​จะ​เพียง​พอ. (เลวีติโก 17:10-14; กิจการ 15:28, 29) หลัง​การ​ผ่าตัด ด้วย​ความ​สุขุม พวก​แพทย์​คาด​คะเน​อาการ​ของ​คู่​หมั้น​ผม​ใน​แง่​ดี แต่​ก็​ไม่​ปฏิเสธ​เสีย​ที​เดียว​ว่า​เป็น​ไป​ได้​ที่​โรค​จะ​กำเริบ​ขึ้น​มา​อีก.

ผม​ควร​จะ​ทำ​อย่าง​ไร​ใน​สภาพการณ์​แบบ​นี้? เมื่อ​คำนึง​ถึง​สภาพการณ์​ที่​แปร​เปลี่ยน​ไป ผม​น่า​จะ​ถอน​หมั้น​และ​สลัด​ตัว​เอง​ให้​พ้น​พันธะ​ผูก​พัน​ไหม? ผม​ไม่​ทำ​แน่! ผม​ได้​ให้​คำ​มั่น​สัญญา​แล้ว​เมื่อ​หมั้น​กัน และ​ผม​ต้องการ​ให้​คำ​พูด​ที่​บอก​ว่า​ใช่​ก็​คือ​ใช่. (มัดธาย 5:37) ผม​ไม่​ยอม​ให้​ตัว​เอง​คิด​เป็น​อย่าง​อื่น​แม้​เพียง​ชั่ว​ขณะ. ด้วย​การ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​จาก​พี่​สาว อาการ​ของ​เอเลนี​นับ​ว่า​ดี​ขึ้น​มาก แล้ว​เรา​แต่งงาน​กัน​ใน​เดือน​ธันวาคม 1954.

สาม​ปี​ต่อ​มา เอเลนี​ล้ม​ป่วย​อีก​ครั้ง​หนึ่ง และ​แพทย์​คน​เดิม​ได้​ทำ​การ​ผ่าตัด​ให้​เธอ​อีก. คราว​นี้​เขา​ผ่า​ลึก​เข้า​ไป​ใน​สมอง​เพื่อ​ตัด​เอา​เนื้อ​งอก​ออก​ให้​หมด. ด้วย​เหตุ​นี้ ภรรยา​ของ​ผม​จึง​เป็น​อัมพาต​ไป​บาง​ส่วน และ​สมอง​ส่วน​ที่​ควบคุม​การ​พูด​ได้​รับ​ผล​กระทบ​อย่าง​รุนแรง. ถึง​ตอน​นี้ เรา​สอง​คน​ต้อง​รับมือ​กับ​ปัญหา​ที่​ซับซ้อน​ระลอก​ใหม่​ทั้ง​หมด. แม้​แต่​งาน​ง่าย ๆ ก็​กลาย​เป็น​ภาระ​ใหญ่​หลวง​สำหรับ​ภรรยา​ที่​รัก​ของ​ผม. เนื่อง​จาก​สุขภาพ​ของ​เธอ​เสื่อม​ทรุด​ลง​เรื่อย ๆ เราจึง​ต้อง​เปลี่ยน​การ​ทำ​กิจวัตร​ประจำ​วัน​ของ​เรา​อย่าง​สิ้นเชิง. สำคัญ​ยิ่ง​คือ​ต้อง​อด​ทน​และ​พากเพียร​จริง ๆ.

การ​ฝึก​อบรม​ที่​ผม​ได้​รับ​จาก​แม่​ปรากฏ​ว่า​มี​ค่า​มาก​ที่​สุด​ก็​ตอน​นี้​แหละ. ผม​จะ​เตรียม​ส่วน​ประกอบ​ทุก​อย่าง​ไว้​พร้อม​แต่​เช้า​ตรู่​ทุก​วัน และ​เอเลนี​เป็น​คน​ลง​มือ​ทำ​อาหาร. เรา​เชิญ​แขก​มา​ร่วม​รับประทาน​อาหาร​ด้วย​กัน​บ่อย​มาก มี​ทั้ง​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา, คน​ที่​เรา​นำ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล, และ​เพื่อน​คริสเตียน​ที่​ขัดสน​ใน​ประชาคม. ทุก​คน​เห็น​พ้อง​กัน​ว่า​อาหาร​มื้อ​ต่าง ๆ อร่อย​จริง ๆ! นอก​จาก​นี้ ผม​กับ​เอเลนี​ยัง​ได้​ช่วย​กัน​ทำ​งาน​บ้าน​เพื่อ​ให้​บ้าน​ของ​เรา​ดู​เรียบร้อย​สะอาด​สะอ้าน. สภาวะ​ที่​เรียก​ร้อง​ความ​อด​ทน​และ​เพียร​พยายาม​อย่าง​ยิ่ง​เช่น​นี้​ยืดเยื้อ​นาน​ถึง 30 ปี​ที​เดียว.

กระตือรือร้น​ทั้ง ๆ ที่​ทุพพลภาพ

ผม​และ​คน​อื่น ๆ ได้​แรง​บันดาล​ใจ​อย่าง​มาก​เมื่อ​เห็น​ว่า​ไม่​มี​สิ่ง​ใด​สามารถ​บั่น​ทอน​ความ​รัก​ที่​ภรรยา​ของ​ผม​มี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​ความ​กระตือรือร้น​ของ​เธอ​ใน​งาน​รับใช้​พระองค์. ใน​ที่​สุด ด้วย​ความ​มุ่ง​มั่น​อย่าง​ไม่​ละลด เอเลนี​เปล่ง​เสียง​พูด​ได้​เป็น​บาง​คำ. เธอ​ชอบ​เข้า​พบ​ผู้​คน​ตาม​ถนน​หน​ทาง​พร้อม​กับ​ข่าว​ดี​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล. เมื่อ​ผม​เดิน​ทาง​ไป​ทำ​ธุรกิจ​นอก​บ้าน ผม​พา​เธอ​ไป​ด้วย​และ​จอด​รถ​ใกล้​ทาง​เดิน​ที่​มี​ผู้​คน​เดิน​ไป​มา. เธอ​เปิด​กระจก​รถ​และ​เชิญ​ผู้​คน​ที่​สัญจร​ให้​รับ​วารสาร​หอสังเกตการณ์ และ​ตื่นเถิด! มี​อยู่​คราว​หนึ่ง เธอ​จำหน่าย​วารสาร​ได้ 80 เล่ม​ภาย​ใน​เวลา​สอง​ชั่วโมง. บ่อย​ครั้ง​เธอ​จำหน่าย​ฉบับ​เก่า ๆ ซึ่ง​ยัง​มี​ตก​ค้าง​อยู่​ใน​ประชาคม​จน​หมด​เกลี้ยง. นอก​จาก​นี้ เอเลนี​ยัง​ทำ​งาน​เผยแพร่​สม่ำเสมอ​ด้วย​วิธี​อื่น.

ตลอด​ช่วง​หลาย​ปี​ที่​ภรรยา​ของ​ผม​ทุพพลภาพ เธอ​อยู่​กับ​ผม​เสมอ ณ การ​ประชุม. การ​ประชุม​ภาค​หรือ​การ​ประชุม​หมวด​เธอ​ก็​ไม่​เคย​ขาด แม้​แต่​เมื่อ​เรา​ต้อง​เดิน​ทาง​ออก​นอก​ประเทศ​เนื่อง​จาก​เกิด​การ​ข่มเหง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​กรีซ. ทั้ง​ที่​เธอ​มี​ขีด​จำกัด แต่​เธอ​ดีใจ​ที่​ได้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ใน​ออสเตรีย, เยอรมนี, ไซปรัส, และ​ประเทศ​อื่น ๆ. แม้​บาง​ครั้ง​เมื่อ​ผม​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​เพิ่ม​มาก​ขึ้น​ใน​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา ซึ่ง​เป็น​การ​ไม่​สะดวก​สำหรับ​เธอ แต่​เอเลนี​ไม่​เคย​บ่น​หรือ​เรียก​ร้อง​การ​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่.

ใน​ส่วน​ของ​ผม สภาพการณ์​แบบ​นี้​กลาย​เป็น​การ​เรียน​ระยะ​ยาว​ด้าน​ความ​อด​ทน​และ​ความ​พากเพียร. ผม​มี​ความ​รู้สึก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยื่น​พระ​หัตถ์​ออก​สงเคราะห์​ผม​หลาย​ครั้ง. ฝ่าย​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ก็​เสีย​สละ​อย่าง​แท้​จริง​ใน​การ​ช่วยเหลือ​เรา​ไม่​ทาง​ใด​ก็​ทาง​หนึ่ง​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้ และ​พวก​แพทย์​ก็​ให้​การ​เกื้อ​หนุน​เรา​ด้วย​ความ​กรุณา. ตลอด​เวลา​หลาย​ปี​ที่​ยาก​ลำบาก เรา​ไม่​เคย​ขาด​แคลน​ปัจจัย​ที่​จำเป็น​ต่อ​การ​ดำรง​ชีวิต แม้​สภาพการณ์​แวด​ล้อม​เรียก​ร้อง​เอา​ทั้ง​เวลา​แถม​ยัง​ยุ่งยาก​เช่น​นั้น ผม​จึง​ไม่​อาจ​จะ​ทำ​งาน​อาชีพ​เต็ม​เวลา​ได้. เรา​จัด​ให้​ผล​ประโยชน์​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​งาน​รับใช้​พระองค์​เป็น​อันดับ​แรก​เสมอ.—มัดธาย 6:33.

หลาย​คน​ถาม​ว่า​ใน​ช่วง​หลาย​ปี​ที่​ยาก​ลำบาก​นั้น​อะไร​ได้​ช่วย​ค้ำจุน​เรา​ไว้. ตอน​นี้​เมื่อ​มอง​ย้อน​ไป ผม​ตระหนัก​ว่า​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ส่วน​ตัว, การ​อธิษฐาน​ต่อ​พระเจ้า​จาก​หัวใจ, การ​เข้า​ร่วม​ประชุม​คริสเตียน​เป็น​ประจำ, และ​การ​เข้า​ส่วน​ทำ​งาน​เผยแพร่​อย่าง​กระตือรือร้น​เป็น​กำลัง​เสริม​ความ​อด​ทน​และ​ความ​พากเพียร​ของ​เรา​ให้​เข้มแข็ง. เรา​ได้​รับ​ข้อ​เตือน​ใจ​เสมอ​ด้วย​ถ้อย​คำ​ชู​ใจ​จาก​บทเพลง​สรรเสริญ 37:3-5 ที่​ว่า “จง​วางใจ​ใน​พระ​ยะโฮวา​และ​ประพฤติ​การ​ดี; . . . จง​ยัง​ใจ​ให้​ชื่นชม​ใน​พระ​ยะโฮวา; . . . จง​มอบ​ทาง​ประพฤติ​ของ​ตน​ไว้​กับ​พระ​ยะโฮวา; แถม​จง​วางใจ​ใน​พระองค์​ด้วย, และ​พระองค์​จะ​ทรง​กระทำ​ให้​สำเร็จ​ดัง​ประสงค์.” อีก​ข้อ​หนึ่ง​ที่​มี​คุณค่า​ยิ่ง​สำหรับ​เรา​คือ​บทเพลง​สรรเสริญ 55:22 ที่​ว่า “จง​ทอด​ภาระ​ของ​ท่าน​ไว้​กับ​พระ​ยะโฮวา, และ​พระองค์​จะ​ทรง​เป็น​ธุระ​ให้.” เรา​เอง​เปรียบ​เหมือน​บุตร​น้อย​ที่​วางใจ​บิดา​เต็ม​ที่ คือ​ไม่​เพียง​แต่​ทอด​ภาระ​ให้​พระ​ยะโฮวา ทว่า​ละ​ภาระ​เหล่า​นั้น​ไว้​กับ​พระองค์​ด้วย.—ยาโกโบ 1:6.

เมื่อ​วัน​ที่ 12 เมษายน 1987 ขณะ​ที่​ภรรยา​ผม​กำลัง​เผยแพร่​อยู่​ที่​หน้า​บ้าน​ของ​เรา บาน​ประตู​เหล็ก​ปิด​กระแทก​หลัง​เธอ​อย่าง​แรง เธอ​ถูก​เหวี่ยง​ลง​ไป​กอง​อยู่​กับ​พื้น​บน​ทาง​เดิน​เท้า​และ​ได้​รับ​บาดเจ็บ​สาหัส. จาก​การ​บาดเจ็บ​ครั้ง​นั้น เธอ​อยู่​ใน​สภาพ​หมด​สติ​นาน​ถึง​สาม​ปี. เธอ​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​ต้น​ปี 1990.

ผม​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​สุด​ความ​สามารถ

ย้อน​ไป​ใน​ปี 1960 ผม​ถูก​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​รับใช้​ประชาคม​นิเคอา​ใน​เมือง​ปิรีอุส. ตั้ง​แต่​นั้น​มา ผม​ได้​รับ​สิทธิ​พิเศษ​ใน​การ​รับใช้​ร่วม​กับ​ประชาคม​อื่น ๆ ใน​เมือง​ปิรีอุส. แม้​ผม​ไม่​มี​บุตร แต่​ก็​ชื่นชม​ที่​ได้​ช่วย​ลูก​หลาน​ฝ่าย​วิญญาณ​หลาย​คน​ยึด​มั่น​อยู่​กับ​ความ​จริง. เวลา​นี้​บาง​คน​รับใช้​ฐานะ​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม, ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้, ไพโอเนียร์, และ​สมาชิก​ครอบครัว​เบเธล.

หลัง​จาก​การ​ฟื้นฟู​ระบอบ​ประชาธิปไตย​ขึ้น​มา​อีก​ใน​ประเทศ​กรีซ เมื่อ​ปี 1975 พยาน​พระ​ยะโฮวา​สามารถ​จัด​การ​ประชุม​ใหญ่​ได้​อย่าง​เสรี ไม่​ต้อง​หลบ ๆ ซ่อน ๆ ประชุม​กัน​ใน​ป่า​อีก​ต่อ​ไป. ประสบการณ์​ที่​พวก​เรา​บาง​คน​ได้​รับ​ระหว่าง​การ​จัด​ระเบียบ​การ​ประชุม​ใหญ่​ใน​ต่าง​ประเทศ​ปรากฏ​ว่า​มี​คุณค่า​อย่าง​ยิ่ง​ใน​ตอน​นี้. ด้วย​เหตุ​นี้ ผม​จึง​มี​ความ​ยินดี​และ​มี​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​รับใช้​ใน​คณะ​กรรมการ​ฝ่าย​การ​ประชุม​ภาค​หลาย​ครั้ง​เป็น​เวลา​หลาย​ปี.

ครั้น​แล้ว ใน​ปี 1979 มี​โครงการ​ก่อ​สร้าง​สถาน​ประชุม​หมวด​แห่ง​แรก​ใน​ประเทศ​กรีซ ที่​ชาน​เมือง​เอเธนส์. ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​ช่วย​จัด​การ​และ​ดำเนิน​งาน​ให้​โครงการ​ก่อ​สร้าง​ที่​ใหญ่​โต​นี้​ลุ​ล่วง. อนึ่ง งาน​นี้​จำ​ต้อง​มี​ความ​อด​ทน​และ​พากเพียร​เป็น​อย่าง​มาก. การ​ทำ​งาน​สาม​ปี​กับ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​หลาย​ร้อย​คน​ซึ่ง​เสีย​สละ​ตัว​เอง​ได้​หล่อ​หลอม​สาย​สัมพันธ์​แห่ง​ความ​รัก​และ​ความ​สามัคคี​ให้​แน่นแฟ้น​ท่ามกลาง​พวก​เรา. ความ​ทรง​จำ​จาก​โครงการ​นี้​ถูก​จารึก​ลง​ใน​หัวใจ​ของ​ผม​อย่าง​ที่​ไม่​มี​วัน​เลือน​หาย​ไป​ได้.

สนอง​ความ​ต้องการ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​นัก​โทษ

สอง​สาม​ปี​ต่อ​มา ประตู​บาน​ใหม่​ได้​เปิด​โอกาส​แก่​เรา. ใกล้ ๆ เขต​งาน​ของ​ประชาคม​ที่​ผม​สมทบ​อยู่ ใน​เมือง​โครีดัลลอส มี​เรือน​จำ​ซึ่ง​เป็น​หนึ่ง​ใน​บรรดา​เรือน​จำ​ขนาด​ใหญ่​ที่​สุด​ใน​ประเทศ​กรีซ. เริ่ม​ตั้ง​แต่​เดือน​เมษายน 1991 ผม​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​เยี่ยม​เรือน​จำ​แห่ง​นี้​ทุก​สัปดาห์ ใน​ฐานะ​ผู้​เผยแพร่​ของ​คณะ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. ทาง​เรือน​จำ​อนุญาต​ให้​ผม​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​และ​นำ​การ​ประชุม​คริสเตียน​กับ​ผู้​ต้อง​ขัง​ที่​แสดง​ความ​สนใจ. มี​นัก​โทษ​หลาย​คน​ได้​ทำ​การ​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​น่า​ทึ่ง ซึ่ง​แสดง​ถึง​ฤทธิ์​เดช​อัน​ใหญ่​ยิ่ง​แห่ง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. (เฮ็บราย 4:12) การ​เปลี่ยน​แปลง​เช่น​นี้​ก่อ​ความ​ประทับใจ​แก่​เจ้าหน้าที่​ใน​เรือน​จำ​และ​นัก​โทษ​คน​อื่น ๆ ด้วย. นัก​โทษ​บาง​คน​ที่​ผม​นำ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว​และ​เวลา​นี้​เขา​เป็น​ผู้​เผยแพร่​ข่าว​ดี.

ผม​นำ​การ​ศึกษา​นาน​พอ​สม​ควร​กับ​สาม​คน​ซึ่ง​เคย​มี​ชื่อ​ฉาวโฉ่​ด้าน​การ​ค้า​ยา​เสพ​ติด. ขณะ​ที่​พวก​เขา​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ เขา​มา​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​กับ​ผม​โดย​ที่​ได้​โกน​หนวด​เครา​เกลี้ยง​เกลา, หวี​ผม​เรียบ, และ​ใส่​เสื้อ​เชิ้ต​ผูก​เนกไท ทั้ง ๆ ที่​เป็น​เดือน​สิงหาคม ซึ่ง​เป็น​เดือน​หนึ่ง​ที่​ร้อน​ที่​สุด​สำหรับ​ประเทศ​กรีซ! ผู้​บัญชา​การ​เรือน​จำ, หัวหน้า​ผู้​คุม, ลูกจ้าง​บาง​คน​รุด​จาก​ห้อง​ทำ​งาน​มา​ดู​ปรากฏการณ์​ครั้ง​นี้. คน​เหล่า​นั้น​ไม่​อยาก​เชื่อ​สายตา​ตัว​เอง​เลย!

อีก​ประสบการณ์​หนึ่ง​ที่​ให้​กำลังใจ เกิด​ขึ้น​ใน​แดน​คุก​ส่วน​ที่​นัก​โทษ​หญิง​อยู่. การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ได้​เริ่ม​กับ​นัก​โทษ​ที่​ถูก​จำ​คุก​ตลอด​ชีวิต​ด้วย​ข้อ​หา​ฆ่า​คน. เป็น​ที่​รู้​กัน​ทั่ว​ว่า​เธอ​เป็น​คน​ขืน​อำนาจ. แต่​ไม่​นาน​นัก ความ​จริง​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​เธอ​ได้​เรียน​รู้​นั้น​ทำ​ให้​เกิด​การ​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​น่า​ทึ่ง​จน​หลาย​คน​ตั้ง​ข้อ​สังเกต​ว่า​เธอ​เหมือน​สิงโต​ที่​กลาย​เป็น​ลูก​แกะ​ไป​แล้ว! (ยะซายา 11:6, 7) เธอ​ได้​รับ​ความ​นับถือ​และความ​ไว้​วางใจ​จาก​ผู้​บัญชา​การ​เรือน​จำ​อย่าง​รวด​เร็ว. ผม​ชื่น​ใจ​ยินดี​ที่​เห็น​เธอ​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ​เป็น​อย่าง​ดี​และ​บรรลุ​ขั้น​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา.

ช่วย​คน​ทุพพลภาพ​และ​คน​ชรา

การ​ได้​เห็น​ภรรยา​ต่อ​สู้​กับ​โรค​ภัย​ไข้​เจ็บ​เป็น​เวลา​นาน​ทำ​ให้​ผม​ยิ่ง​ตระหนัก​มาก​ขึ้น​ถึง​ความ​จำเป็น​ของ​คน​ป่วย​และ​คน​สูง​อายุ​ที่​อยู่​ท่ามกลาง​พวก​เรา. ทุก​ครั้ง​เมื่อ​หนังสือ​หรือ​สิ่ง​พิมพ์​ของ​เรา​ลง​บทความ​สำคัญ​ซึ่ง​กระตุ้น​พวก​เรา​ให้​หยิบ​ยื่น​ความ​ช่วยเหลือ​ด้วย​ความ​รัก​แก่​บุคคล​ดัง​กล่าว ความ​สนใจ​ของ​ผม​ได้​รับ​การ​ปลุก​เร้า. ผม​ถือ​ว่า​บทความ​ต่าง ๆ เหล่า​นั้น​เป็น​สิ่ง​มี​ค่า​และ​ผม​จึง​รวบ​รวม​เก็บ​ไว้. หลัง​จาก​หลาย​ปี​ผ่าน​ไป ผม​ค่อย ๆ สะสม​จน​เป็น​แฟ้ม​หนา​ร้อย​กว่า​หน้า เริ่ม​ด้วย​บทความ​เรื่อง “การ​คำนึง​ถึง​คน​ชรา​และ​คน​ที่​ได้​รับ​ความ​ทุกข์​ทรมาน” จาก​วารสาร​หอสังเกตการณ์ (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 15 กรกฎาคม 1962. จาก​บทความ​มาก​มาย​เหล่า​นั้น​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​เป็น​ประโยชน์​ที่​แต่​ละ​ประชาคม​จะ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ​อย่าง​เป็น​ระบบ​แก่​คน​ที่​เจ็บ​ป่วย​และ​คน​ชรา.—1 โยฮัน 3:17, 18.

คณะ​ผู้​ปกครอง​จัด​ตั้ง​กลุ่ม​พี่​น้อง​ชาย​และ​หญิง​ซึ่ง​พร้อม​จะ​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่​ความ​จำเป็น​ของ​คน​ป่วย​และ​คน​ชรา​ใน​ประชาคม​ของ​เรา. เรา​จัด​แบ่ง​กลุ่ม​อาสา​สมัคร​ออก​เป็น​หลาย ๆ กลุ่ม เช่น คน​ที่​สามารถ​ช่วย​ตอน​กลางวัน อีก​กลุ่ม​หนึ่ง​ช่วย​ตอน​กลางคืน, กลุ่ม​หนึ่ง​จัด​เตรียม​ยาน​พาหนะ, อีก​กลุ่ม​หนึ่ง​พร้อม​จะ​ช่วย​ตลอด 24 ชั่วโมง. กลุ่ม​สุด​ท้าย​นี้​เตรียม​พร้อม​จะ​ช่วย​ได้​ทันที​ใน​ภาวะ​ฉุกเฉิน.

ผล​สืบ​เนื่อง​จาก​ความ​พยายาม​ดัง​กล่าว​เป็น​การ​ให้​กำลังใจ. ยก​ตัว​อย่าง คราว​หนึ่ง​ใน​ระหว่าง​การ​เยี่ยม​ประจำ​วัน​สำหรับ​พี่​น้อง​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ป่วย​และ​อยู่​ตัว​คน​เดียว ปรากฏ​ว่า​เธอ​นอน​หมด​สติ​อยู่​กับ​พื้น. เรา​ได้​แจ้ง​เหตุ​ให้​พี่​น้อง​หญิง​คน​หนึ่ง​ที่​อยู่​ละแวก​ใกล้ ๆ ซึ่ง​มี​รถยนต์. เธอ​นำ​ผู้​ป่วย​ส่ง​โรง​พยาบาล​ที่​ใกล้​ที่​สุด​ภาย​ใน​เวลา​เพียง​สิบ​นาที นับ​ว่า​รวด​เร็ว​เป็น​ประวัติการณ์! พวก​แพทย์​บอก​ว่า​การ​ทำ​เช่น​นี้​ได้​ช่วย​ชีวิต​เธอ​ไว้.

ความ​สำนึก​บุญคุณ​ซึ่ง​คน​ป่วย​และ​คน​สูง​อายุ​แสดง​ต่อ​เหล่า​สมาชิก​ของ​กลุ่ม​นี้​ถือ​เป็น​ความ​พึง​พอ​ใจ​อย่าง​แท้​จริง. การ​มี​ความ​หวัง​จะ​มี​ชีวิต​ร่วม​กับ​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​เหล่า​นี้​ใน​ระเบียบ​ใหม่​ของ​พระเจ้า​ภาย​ใต้​สภาพการณ์​ที่​แตกต่าง​จาก​เดี๋ยว​นี้​เป็น​ความ​เบิกบาน​ใจ​ที​เดียว. และ​การ​ที่​รู้​ว่า​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ​ให้​อด​ทน​เพราะ​การ​เกื้อ​หนุน​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก​ก็​ถือ​ว่า​เป็น​รางวัล​อีก​รูป​แบบ​หนึ่ง.

ความ​เพียร​อด​ทน​ก่อ​ผล​เป็น​บำเหน็จ

ตอน​นี้​ผม​รับใช้​ฐานะ​เป็น​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​หนึ่ง​ของ​เมือง​ปิรีอุส. แม้​อายุ​มาก​อีก​ทั้ง​มี​ปัญหา​ด้าน​สุขภาพ แต่​ผม​ดีใจ​ที่​ยัง​สามารถ​เข้า​ส่วน​ร่วม​กิจกรรม​ของ​ประชาคม​ได้.

ตลอด​หลาย​ปี​ที่​ผ่าน​มา ไม่​ว่า​จะ​เป็น​สภาพการณ์​ที่​ตึงเครียด, ปัญหา​ท้าทาย​อัน​ยาก​ยิ่ง, และ​เหตุ​การณ์​หลาย​อย่าง​ที่​คิด​ไม่​ถึง​ล้วน​แต่​ต้อง​ใช้​ความ​เข้มแข็ง​และ​ความ​เพียร​อด​ทน​มาก​กว่า​ธรรมดา. กระนั้น พระ​ยะโฮวา​ทรง​ประทาน​กำลัง​ตาม​ที่​จำเป็น​แก่​ผม​เสมอ​เพื่อ​เอา​ชนะ​อุปสรรค​เหล่า​นี้. ผม​ได้​ประสบ​ความ​สัตย์​จริง​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​เกี่ยว​ด้วย​ถ้อย​คำ​ของ​ท่าน​ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ที่​ว่า “เมื่อ​ข้าพเจ้า​พูด​ว่า เท้า​ของ​ข้าพเจ้า​พลาด​พลั้ง​ไป; โอ้​พระ​ยะโฮวา, พระ​กรุณาคุณ​ของ​พระองค์​ก็​ทรง​ประคอง​ข้าพเจ้า​ไว้. ครั้น​ข้าพเจ้า​มี​ความ​สาละวน​ใน​ใจ​เป็น​อัน​มาก​ความ​ประเล้าประโลม​ของ​พระองค์​ก็​จะ​ทรง​กระทำ​ให้​จิตต์​วิญญาณ​ของ​ข้าพเจ้า​ชื่น​บาน.”—บทเพลง​สรรเสริญ 94:18, 19.

[ภาพ​หน้า 25]

กับ​เอเลนี ภรรยา​ของ​ผม ภาย​หลัง​การ​ผ่าตัด​หน​ที่​สอง ปี 1957

[ภาพ​หน้า 26]

ณ การ​ประชุม​ใหญ่​ใน​เมือง​นูเรมเบิร์ก ประเทศ​เยอรมนี ปี 1969

[ภาพ​หน้า 28]

กลุ่ม​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ที่​ได้​ช่วยเหลือ​คน​ป่วย​และ​คน​สูง​อายุ