ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คริสตจักรและอาณาจักรในไบแซนทิอุม

คริสตจักรและอาณาจักรในไบแซนทิอุม

คริสตจักร​และ​อาณาจักร​ใน​ไบแซนทิอุม

ท่าน​ผู้​ก่อ​ตั้ง​ศาสนา​คริสเตียน​บอก​ไว้​ชัด​แจ้ง​ใน​เรื่อง​ความ​แตกต่าง​อัน​เด่น​ชัด​ที่​ควร​มี​ระหว่าง​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​กับ​โลก​แห่ง​มนุษยชาติ​ที่​เหินห่าง​จาก​พระเจ้า. พระ​เยซู​ตรัส​แก่​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​ดัง​นี้: “ถ้า​เจ้า​ทั้ง​หลาย​เป็น​ส่วน​ของ​โลก โลก​ก็​จะ​รัก​ซึ่ง​เป็น​ของ​โลก​เอง. บัด​นี้​เพราะ​เจ้า​มิ​ได้​เป็น​ส่วน​ของ​โลก แต่​เรา​ได้​เลือก​เจ้า​ออก​จาก​โลก ด้วย​เหตุ​นี้​โลก​จึง​เกลียด​ชัง​เจ้า.” (โยฮัน 15:19, ล.ม.) พระ​เยซู​ทรง​บอก​ปีลาต​ซึ่ง​เป็น​ตัว​แทน​อำนาจ​ทาง​การ​เมือง​ใน​สมัย​นั้น​ว่า “ราชอาณาจักร​ของ​เรา​มิ​ได้​เป็น​ส่วน​ของ​โลก​นี้.”—โยฮัน 18:36, ล.ม.

เพื่อ​ทำ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ของ​ตน​ใน​การ​ประกาศ “จน​ถึง​ที่​สุด​ปลาย​แผ่นดิน​โลก” ให้​สำเร็จ คริสเตียน​ต้อง​ไม่​ยอม​ให้​เรื่อง​ทาง​โลก​มา​ทำ​ให้​เขว. (กิจการ 1:8) เช่น​เดียว​กับ​พระ​เยซู คริสเตียน​รุ่น​แรก​ไม่​ได้​เข้า​ไป​ยุ่ง​เกี่ยว​กับ​การ​เมือง. (โยฮัน 6:15) เห็น​ได้​ชัด​ว่า​คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ไม่​ได้​เข้า​ไป​เกี่ยว​ข้อง​ใน​การ​ดำรง​ตำแหน่ง​ใน​รัฐบาล​หรือ​หน้า​ที่​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​กับ​การ​บริหาร​บ้าน​เมือง. แต่​ใน​เวลา​ต่อ​มา​เรื่อง​นี้​ได้​เปลี่ยน​ไป.

“เป็น​ส่วน​ของ​โลก”

ภาย​หลัง​การ​สิ้น​ชีวิต​ของ​อัครสาวก​คน​สุด​ท้าย​สัก​ระยะ​หนึ่ง พวก​ผู้​นำ​ศาสนา​เริ่ม​เต็ม​ใจ​เปลี่ยน​ทัศนะ​ที่​เขา​มี​ใน​เรื่อง​ความ​สัมพันธ์​ของ​พวก​เขา​กับ​โลก​นี้. พวก​เขา​เริ่ม​มอง​ว่า “ราชอาณาจักร” ไม่​เพียง​แต่​อยู่​ใน​โลก แต่​ยัง​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​โลก​ด้วย. การ​พิจารณา​ว่า​ศาสนา​เข้า​ไป​พัวพัน​กับ​การ​เมือง​อย่าง​ไร​ใน​จักรวรรดิ​ไบแซนไทน์ ซึ่ง​ก็​คือ​จักรวรรดิ​โรมัน​ตะวัน​ออก​ที่​มี​กรุง​ไบแซนทิอุม (ปัจจุบัน​คือ​อิสตันบูล) เป็น​เมือง​หลวง จะ​ช่วย​ให้​เรื่อง​นี้​กระจ่าง.

ใน​สังคม​ที่​ศาสนา​มี​บทบาท​สำคัญ​มาก​ใน​ด้าน​ขนบ​ประเพณี คริสตจักร​ไบแซนไทน์​ซึ่ง​มี​ศูนย์กลาง​ใน​กรุง​ไบแซนทิอุม​นั้น​กุม​อำนาจ​มาก​ที​เดียว. พานาโยติส คริสตู นัก​ประวัติศาสตร์​คริสตจักร เคย​ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “คริสตจักร​ไบแซนไทน์​เชื่อ​ว่า​จักรวรรดิ​ของ​ตน​บน​แผ่นดิน​โลก​เป็น​ตัว​แทน​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า.” แต่​จักรพรรดิ​ไม่​ได้​คิด​เช่น​นั้น​เสมอ​ไป. ความ​สัมพันธ์​ระหว่าง​คริสตจักร​กับ​อาณาจักร​จึง​สับสน​วุ่นวาย​เป็น​ครั้ง​คราว. ดิ ออกซฟอร์ด ดิกชันนารี ออฟ ไบแซนทิอุม กล่าว​ว่า “บิชอป​แห่ง​คอนสแตนติโนเปิล (หรือ​ไบแซนทิอุม) แสดง​ให้​เห็น​พฤติกรรม​หลาย​หลาก ซึ่ง​รวม​ทั้ง​การ​สนับสนุน​ด้วย​ความ​หวาด​หวั่น​ต่อ​ผู้​ปกครอง​ที่​มี​อำนาจ​มาก . . . การ​ให้​ความ​ร่วม​มือ​อย่าง​บังเกิด​ผล​กับ​ผู้​ครอง​บัลลังก์ .. . และ​การ​บังอาจ​คัดค้าน​พระ​ประสงค์​ของ​จักรพรรดิ.”

อัครบิดร​แห่ง​คอนสแตนติโนเปิล ประมุข​ของ​คริสตจักร​ตะวัน​ออก ได้​กลาย​มา​เป็น​บุคคล​ที่​มี​อิทธิพล​มาก. เขา​เป็น​ผู้​สวม​มงกุฎ​ให้​จักรพรรดิ ฉะนั้น จึง​คาด​หมาย​ให้​จักรพรรดิ​เป็น​ผู้​ปก​ป้อง​ที่​ภักดีของ​คริสตจักร. นอก​จาก​นั้น อัครบิดร​มั่งคั่ง​มาก​ด้วย เนื่อง​จาก​เขา​ควบคุม​ดู​แล​สมบัติ​มหาศาล​ของ​คริสตจักร. เขา​ได้​อำนาจ​จาก​การ​มี​อำนาจ​หน้า​ที่​เหนือ​เหล่า​นัก​บวช​มาก​มาย พอ ๆ กับ​ที่​ได้​จาก​การ​มี​อิทธิพล​เหนือ​พวก​ฆราวาส.

อัครบิดร​มัก​อยู่​ใน​ฐานะ​ที่​มี​อำนาจ​คัดค้าน​จักรพรรดิ. เขา​อาจ​ใช้​การ​ตัด​ขาด​จาก​ศาสนา​มา​ข่มขู่ ยัดเยียด​ความ​ต้องการ​ของ​เขา​โดย​อ้าง​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า หรือ​ใช้​วิธี​การ​อื่น ๆ ซึ่ง​อาจ​ทำ​ให้​จักรพรรดิ​ถูก​ถอด​ถอน.

เมื่อ​อำนาจ​บริหาร​ของ​ฝ่าย​พลเรือน​ภาย​นอก​เมือง​หลวง​ค่อย ๆ ลด​ลง พวก​บิชอป​ก็​กลาย​เป็น​ผู้​มี​อำนาจ​สูง​สุด​ใน​เมือง​ที่​เขา​อยู่ เขา​มี​อำนาจ​มาก​พอ ๆ กับ​ผู้​ครอง​แคว้น​ที่​เขา​เคย​ช่วย​ให้​ได้​รับ​เลือก​ขึ้น​มา​เลย​ที​เดียว. พวก​บิชอป​กำกับ​ดู​แล​คดีความ​ต่าง ๆ และ​ดู​แล​ด้าน​ธุรกิจ​เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​คริสตจักร​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง และ​บาง​ครั้ง​ก็​เมื่อ​คริสตจักร​ไม่​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง​ด้วย​ซ้ำ. สาเหตุ​หนึ่ง​ที่​ทำ​ให้​เป็น​เช่น​นั้น​คือ พวก​บาทหลวง​และ​นัก​บวช​เป็น​หมื่น ๆ ล้วน​แต่​อยู่​ใต้​อำนาจ​ของ​บิชอป​แห่ง​แว่นแคว้น​นั้น.

การ​เมือง​และ​การ​ซื้อ​ขาย​ตำแหน่ง

ดัง​ที่​กล่าว​มา​แล้ว ตำแหน่ง​ทาง​คริสตจักร​พัวพัน​อย่าง​แยก​ไม่​ออก​กับ​การ​เมือง. ยิ่ง​กว่า​นั้น จำนวน​นัก​บวช​ที่​มี​มาก​มาย​กับ​กิจกรรม​ทาง​ศาสนา​ของ​พวก​เขา​ทำ​ให้​จำเป็น​ต้อง​เข้า​ไป​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เงิน​มหาศาล. พวก​นัก​บวช​ตำแหน่ง​สูง ๆ ส่วน​ใหญ่​อยู่​อย่าง​หรูหรา​ฟุ่มเฟือย. เมื่อ​คริสตจักร​ขึ้น​มา​มี​อำนาจ​และ​ความ​มั่งคั่ง การ​อยู่​อย่าง​สมถะ​ตาม​แบบ​อัครสาวก​และ​การ​ดำเนิน​ชีวิต​ด้วย​ความ​เลื่อมใส​พระเจ้า​ก็​สูญ​หาย​ไป. บาทหลวง​และ​บิชอป​บาง​คน​จ่าย​เงิน​เพื่อ​ให้​ได้​ตำแหน่ง. การ​ซื้อ​ขาย​ตำแหน่ง​ทำ​กัน​ทั่ว​ไป​จน​ถึง​ตำแหน่ง​สูง​สุด​ระดับ​อัครบิดร. พวก​นัก​บวช​ซึ่ง​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​จาก​กลุ่ม​ผู้​ช่วยเหลือ​ที่​มั่งคั่ง​ต่าง​แข่ง​กัน​ชิง​ตำแหน่ง​ใน​คริสตจักร​ต่อ​หน้า​จักรพรรดิ.

สินบน​ก็​เป็น​เครื่อง​มือ​อีก​อย่าง​หนึ่ง​สำหรับ​ชักจูง​ผู้​นำ​ทาง​ศาสนา​ใน​ระดับ​สูง. เมื่อ​จักรพรรดินี​โซอี (ประมาณ​ปี 978-1050 ส.ศ.) ปลง​พระ​ชนม์​พระ​สวามี​คือ​โรมานุส​ที่ 3 และ​ต้องการ​สมรส​กับ​มิคาเอล​ที่ 4 ชู้​รัก​ของ​พระ​นาง​และ​เป็น​ผู้​ที่​จะ​ได้​เป็น​จักรพรรดิ พระ​นาง​รีบ​เรียก​ตัว​อัครบิดร​อะเล็กซิอุส​มา​ยัง​พระ​ราชวัง. ที่​นั่น อะเล็กซิอุส​ทราบ​เรื่อง​โรมานุส​สวรรคต​และ​ทราบ​ความ​ประสงค์​จะ​ให้​จัด​พิธี​อภิเษก​สมรส. การ​ที่​คริสตจักร​กำลัง​ฉลอง​วัน​กู๊ดฟรายเดย์ (วัน​ศุกร์​ก่อน​วัน​คืน​พระ​ชนม์​ของ​พระ​เยซู) ใน​ค่ำ​วัน​นั้น​ไม่​ได้​ช่วย​ให้​อะเล็กซิอุส​ทำ​อะไร​ได้​ง่าย​ขึ้น. ถึง​กระนั้น เขา​ยอม​รับ​ของ​กำนัล​มาก​มาย​จาก​จักรพรรดินี​และ​ทำ​ตาม​คำ​ขอ​ของ​พระ​นาง.

ต่ำ​กว่า​จักรพรรดิ

บาง​ช่วง​ใน​ประวัติศาสตร์​ของ​จักรวรรดิ​ไบแซนไทน์ จักรพรรดิ​ใช้​ราชอำนาจ​ใน​การ​แต่ง​ตั้ง​เมื่อ​มี​การ​เลือก​อัครบิดร​แห่ง​คอนสแตนติโนเปิล. ใน​ช่วง​นั้น ไม่​มี​ใคร​จะ​เป็น​อัครบิดร​ได้​ถ้า​ไม่​ใช่​พระ​ประสงค์​ของ​จักรพรรดิ หรือ​ถึง​ได้​เป็น​ก็​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​ได้​ไม่​นาน.

จักรพรรดิ​อันโดรนิคุส​ที่ 2 (ส.ศ. 1260-1332) ทรง​เห็น​ว่า​จำเป็น​ต้อง​เปลี่ยน​ตัว​อัครบิดร​ถึง​เก้า​ครั้ง. ใน​กรณี​ส่วน​ใหญ่ จุด​ประสงค์​ก็​คือ​เพื่อ​แต่ง​ตั้ง​ผู้​ที่​มี​แนว​โน้ม​จะ​ยอม​คล้อย​ตาม​พระองค์​มาก​ที่​สุด​ไว้​ใน​ตำแหน่ง​อัครบิดร. ดัง​ที่​หนังสือ เดอะ ไบแซนไทน์ กล่าว​ไว้ อัครบิดร​ผู้​หนึ่ง​กระทั่ง​ทำ​หนังสือ​สัญญา​ว่า “จะ​ทำ​ตาม​ที่​พระองค์​เรียก​ร้อง​ไม่​ว่า​เรื่อง​ใด ไม่​ว่า​จะ​ผิด​กฎหมาย​แค่​ไหน และ​จะ​ไม่​ทำ​สิ่ง​ใด ๆ ที่​ทำ​ให้​พระองค์​ไม่​พอ​พระทัย.” จักรพรรดิ​เคย​พยายาม​ถึง​สอง​ครั้ง​เพื่อ​ทำ​ให้​คริสตจักร​ทำ​ตาม​ความ​ต้องการ​ของ​ตน​โดย​การ​ตั้ง​เจ้า​ชาย​องค์​หนึ่ง​ใน​ราชวงศ์​ให้​ดำรง​ตำแหน่ง​อัครบิดร. จักรพรรดิ​โรมานุส​ที่ 1 เคย​ตั้ง​ทีโอฟิแลกต์​ราชบุตร​ของ​ตน​ซึ่ง​มี​พระ​ชนมายุ​เพียง 16 ชันษา​ให้​ดำรง​ตำแหน่ง​อัครบิดร.

หาก​อัครบิดร​คน​ใด​คน​หนึ่ง​ไม่​ทำ​ให้​จักรพรรดิ​พอ​ใจ จักรพรรดิ​อาจ​บีบ​ให้​เขา​ลา​ออก​หรือ​ไม่​ก็​อาจ​สั่ง​สภา​ปกครอง​คริสตจักร​ให้​ถอด​ถอน​เขา. หนังสือ ไบแซนทิอุม ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า “ใน​ช่วง​ประวัติศาสตร์​ของ​จักรวรรดิ​ไบแซนไทน์ พวก​เจ้าหน้าที่​ระดับ​สูง​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ และ​แม้​กระทั่ง​อิทธิพล​ของ​จักรพรรดิ​โดย​ตรง ต่าง​ก็​ได้​เข้า​มา​มี​อิทธิพล​เหนือ​กว่า​ใน​การ​เลือก​บิชอป.”

โดย​มี​อัครบิดร​อยู่​เคียง​ข้าง จักรพรรดิ​ยัง​เป็น​ประธาน​การ​ประชุม​สังคายนา​ของ​คริสตจักร​อีก​ด้วย. พระองค์​นำ​การ​อภิปราย, กำหนด​หลัก​ข้อ​เชื่อ​ต่าง ๆ, และ​ถก​กับ​พวก​บิชอป​รวม​ทั้ง​พวก​นอก​รีต ซึ่ง​จักรพรรดิ​ทำ​ให้​การ​ถก​ถึง​ที่​สุด​ด้วย​การ​ประหาร​บน​หลัก. นอก​จาก​นั้น จักรพรรดิ​ยัง​อนุมัติ​และ​ให้​ดำเนิน​การ​ตาม​หลัก​ข้อ​เชื่อ​และ​ระเบียบ​วินัย​ที่​มี​การ​ยอม​รับ​ใน​การ​ประชุม​สังคายนา​อีก​ด้วย. พระองค์​ตั้ง​ข้อ​หา​ผู้​ที่​ต่อ​ต้าน​พระองค์​ว่า​ไม่​เพียง​ทำ​ความ​ผิด​ต่อ​จักรพรรดิ​เท่า​นั้น แต่​ยัง​เป็น​ศัตรู​ของ​คริสตจักร​และ​พระเจ้า​ด้วย. อัครบิดร​คน​หนึ่ง​ใน​ศตวรรษ​ที่ 6 กล่าว​ว่า “ใน​คริสตจักร​ต้อง​ไม่​มี​การ​ทำ​สิ่ง​ใด​ที่​ขัด​กับ​พระ​ประสงค์​และ​พระ​บัญชาของ​จักรพรรดิ.” พวก​บิชอป​ใน​ราชสำนัก ซึ่ง​เป็น​คน​ที่​โอน​อ่อน ชักจูง​ง่าย​โดย​การ​ต่อ​รอง​อย่าง​เอา​อก​เอา​ใจ​และ​ฉลาด​ด้วย​ท่าที​ที่​สุขุม แทบ​ไม่​ต่อ​ต้าน​อะไร​มาก​ไป​กว่า​ผู้​ที่​อยู่​ใน​ตำแหน่ง​สูง​กว่า​เขา.

ตัว​อย่าง​เช่น เมื่อ​อัครบิดร​อิกนาทิอุส (ประมาณ ส.ศ. 799-878) ไม่​ยอม​ร่วม​มือ​กับ​นายก​รัฐมนตรี​บาร์​ดาส บาร์​ดาส​จึง​ตอบ​โต้. เขา​ทำ​ให้​อิกนาทิอุส​เข้า​ไป​พัวพัน​กับ​แผนการ​น่า​สงสัย​และ​การ​ทรยศ. อิกนาทิอุส​ถูก​จับ​และ​ถูก​เนรเทศ. เพื่อ​ให้​มี​ผู้​ดำรง​ตำแหน่ง​แทน​อิกนาทิอุส บาร์​ดาส​จึง​จัด​การ​ให้​มี​การ​เลือก​ตั้ง​โฟทิอุส ฆราวาส​ซึ่ง​ไต่​เต้า​ขึ้น​มา​สู่​ตำแหน่ง​สูง​สุด​ใน​คริสตจักร​ภาย​ใน​หก​วัน ใน​ที่​สุด​ก็​มา​ถึง​ตำแหน่ง​อัครบิดร. โฟทิอุส​มี​คุณวุฒิ​สำหรับ​ตำแหน่ง​นี้​ไหม? มี​การ​พรรณนา​ว่า​เขา​เป็น​คน​ที่ “ทะเยอทะยาน​อย่าง​แรง​กล้า, โอหัง​อย่าง​ร้ายกาจ, ชำนาญ​ทาง​การ​เมือง​อย่าง​หา​ตัว​จับ​ยาก.”

หลัก​คำ​สอน​ใน​การ​ดำเนิน​งาน​ทาง​การ​เมือง

ข้อ​ขัด​แย้ง​เรื่อง​คริสตจักร​กับ​ศาสนา​อื่น​มัก​อำพราง​ความ​เป็น​ปฏิปักษ์​ทาง​การ​เมือง​เอา​ไว้ และ​ก็​เป็น​ปัจจัย​ทาง​การ​เมือง​นั่น​เอง หา​ใช่​ความ​ต้องการ​จะ​เสนอ​หลัก​คำ​สอน​ใหม่ ๆ ไม่ ที่​ชักจูง​ใจ​จักรพรรดิ​หลาย​องค์. ว่า​กัน​ว่า จักรพรรดิ​สงวน​สิทธิ์​ที่​จะ​ออก​หลัก​คำ​สอน​และ​บังคับ​เรียก​ร้อง​ให้​คริสตจักร​ทำ​ตาม​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์.

ยก​ตัว​อย่าง จักรพรรดิ​เฮราคลิอุส (ส.ศ. 575-641) พยายาม​อย่าง​หนัก​เพื่อ​แก้ไข​ความ​ไม่​ลง​รอย​กัน​ใน​เรื่อง​ลักษณะ​ของ​พระ​คริสต์​ซึ่ง​ส่อ​อันตราย​ว่า​จะ​ทำ​ให้​จักรวรรดิ​ที่​อ่อนแอ​และ​เปราะ​บาง​ของ​พระองค์​แตก​แยก. ด้วย​ความ​พยายาม​จะ​ให้​ประนีประนอม​กัน พระองค์​ได้​เสนอ​หลัก​คำ​สอน​ใหม่​ที่​เรียก​ว่า เอก​ประสงค์​นิยม. * จาก​นั้น เพื่อ​ให้​แน่​ใจ​ใน​ความ​ภักดี​ของ​แคว้น​ต่าง ๆ ที่​อยู่​ทาง​ใต้​ของ​จักรวรรดิ​ของ​ตน เฮราคลิอุส​จึง​เลือก​อัครบิดร​แห่ง​อะเล็กซานเดรีย​คน​ใหม่ คือ​ไซรัส แห่ง​เฟซิส ซึ่ง​เห็น​ชอบ​กับ​หลัก​คำ​สอน​ที่​จักรพรรดิ​สนับสนุน. จักรพรรดิ​องค์​นี้​ตั้ง​ไซรัส​ให้​เป็น​ไม่​เพียง​อัครบิดร​เท่า​นั้น แต่​เป็น​ข้าหลวง​แห่ง​อียิปต์​ด้วย ซึ่ง​มี​อำนาจ​เหนือ​ผู้​ปกครอง​ใน​ท้องถิ่น​นั้น. ด้วย​การ​กดดัน​แกม​บีบคั้น​บ้าง​เล็ก​น้อย ไซรัส​จึง​ได้​รับ​ความ​เห็น​ชอบ​จาก​คริสตจักร​ส่วน​ใหญ่​ใน​อียิปต์.

การ​เก็บ​เกี่ยว​ผล​อัน​ขมขื่น

เหตุ​การณ์​เหล่า​นั้น​จะ​สะท้อน​คำ​ตรัส​และ​เจตนารมณ์​แห่ง​คำ​อธิษฐาน​ของ​พระ​เยซู​ได้​อย่าง​ไร​ใน​เมื่อ​พระองค์​ตรัส​ว่า​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​จะ “ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก”?—โยฮัน 17:14-16, ล.ม.

พวก​ผู้​นำ​ที่​เสแสร้ง​ทำ​ตัว​เป็น​คริสเตียน​ใน​สมัย​จักรวรรดิ​ไบแซนไทน์​และ​หลัง​จาก​นั้น​ได้​เก็บ​เกี่ยว​ผล​อัน​ขมขื่น​อัน​เนื่อง​จาก​การ​เข้า​ไป​ยุ่ง​เกี่ยว​ใน​การ​เมือง​และ​การ​ทหาร​ของ​โลก. การ​พิจารณา​ประวัติศาสตร์​ช่วง​สั้น ๆ นี้​บอก​อะไร​แก่​คุณ? พวก​ผู้​นำ​คริสตจักร​ไบแซนไทน์​ได้​รับ​ความ​โปรดปราน​จาก​พระเจ้า​และ​พระ​เยซู​คริสต์​ไหม?—ยาโกโบ 4:4.

ศาสนา​คริสเตียน​แท้​ไม่​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​พวก​ผู้​นำ​ศาสนา​ที่​ทะเยอทะยาน​เหล่า​นั้น​กับ​เหล่า​ชู้​รัก​ทาง​การ​เมือง​ของ​พวก​เขา. การ​ปนเป​อย่าง​ไม่​ถูก​ทำนอง​คลอง​ธรรม​เช่น​นี้​ของ​ศาสนา​กับ​การ​เมือง​เป็น​การ​บิดเบือน​ศาสนา​แท้​ที่​พระ​เยซู​ทรง​สอน​ไว้. ขอ​ให้​เรา​เรียน​รู้​จาก​ประวัติศาสตร์​และ​รักษา​ตัว​ให้ “ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก.”

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 21 หลัก​คำ​สอน​เอก​ประสงค์​นิยม​บอก​ว่า แม้​พระ​คริสต์​มี​ลักษณะ​เป็น​ทั้ง​พระเจ้า​และ​มนุษย์ แต่​ก็​มี​พระ​ประสงค์​อย่าง​เดียว.

[กรอบ​หน้า 10]

“ดู​ราว​กับ​พระเจ้า​องค์​หนึ่ง​ที่​ทรง​ดำเนิน​ข้าม​ฟ้า​สวรรค์”

เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ อัน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อัครบิดร​มิคาเอล เซรูลาริอุส (ประมาณ ส.ศ. 1000-1059) เป็น​ตัว​อย่าง​ของ​บทบาท​ซึ่ง​ผู้​นำ​คริสตจักร​อาจ​มี​ใน​เรื่อง​ราว​ที่​เกี่ยว​กับ​อาณาจักร​และ​ความ​ทะเยอทะยาน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​อยู่​ด้วย. หลัง​จาก​ได้​รับ​ตำแหน่ง​อัครบิดร​แล้ว เซรูลาริอุส​ก็​จ้อง​จะ​เอา​ตำแหน่ง​สูง​ขึ้น​อีก. มี​การ​พรรณนา​ถึง​เขา​ว่า​เป็น​คน​เย่อหยิ่ง, ชอบ​ทำ​เกิน​สิทธิ์, และ​ยืนกราน—“พฤติกรรม​ของ​เขา​ดู​ราว​กับ​พระเจ้า​องค์​หนึ่ง​ที่​ทรง​ดำเนิน​ข้าม​ฟ้า​สวรรค์.”

เนื่อง​จาก​ปรารถนา​จะ​ยก​ฐานะ​ตน​เอง เซรูลาริอุส​จึง​ปลุกปั่น​ให้​เกิด​ความ​ไม่​ลง​รอย​กับ​โปป​ขึ้น​ใน​โรม​ใน​ปี 1054 และ​บีบ​ให้​จักรพรรดิ​ยอม​รับ​การ​แบ่ง​แยก​นั้น. ด้วย​ความ​พอ​ใจ​ใน​ชัย​ชนะ​ครั้ง​นี้ เซรูลาริอุส​จึง​เตรียม​การ​เพื่อ​ตั้ง​มิคาเอล​ที่ 6 ขึ้น​ครอง​บัลลังก์​และ​ช่วย​เขา​ให้​รวบ​อำนาจ. ปี​ต่อ​มา เซรูลาริอุส​บังคับ​จักรพรรดิ​ให้​สละ​บัลลังก์​และ​ตั้ง​ไอแซก คอมเนนุส (ประมาณ ส.ศ. 1005-1061) ขึ้น​ครอง​แทน.

ความ​ขัด​แย้ง​ระหว่าง​อัครบิดร​กับ​จักรวรรดิ​เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย ๆ. เซรูลาริอุส​ซึ่ง​มั่น​ใจ​ใน​การ​สนับสนุน​จาก​ประชาชน​ได้​คุกคาม, เรียก​ร้อง, และ​ใช้​ความ​รุนแรง. นัก​ประวัติศาสตร์​คน​หนึ่ง​ใน​ยุค​นั้น​กล่าว​ว่า “เขา​บอก​ล่วง​หน้า​เรื่อง​ที่​จักรพรรดิ​จะ​กลาย​เป็น​สามัญ​ชน โดย​พูด​อย่าง​ต่ำ​ช้า​ว่า ‘ข้า​ฯ ยก​ท่าน​ขึ้น ท่าน​ผู้​โง่​เขลา แต่​ข้า​ฯ จะ​ล้ม​ล้าง​ท่าน​เสีย.’” แต่​ไอแซก คอมเนนุส​สั่ง​จับ​เขา, จำ​คุก, และ​เนรเทศ​ไป​ที่​เกาะ​อิมโบรส.

ตัว​อย่าง​ดัง​กล่าว​แสดง​ให้​เห็น​ว่า​อัครบิดร​แห่ง​คอนสแตนติโนเปิล​สามารถ​ก่อ​ความ​ลำบาก​ได้​มาก​แค่​ไหน​และ​เขา​บังอาจ​ต่อ​ต้าน​จักรพรรดิ​ได้​ถึง​ขนาด​ไหน. จักรพรรดิ​มัก​ต้อง​รับมือ​กับ​คน​แบบ​นี้​ซึ่ง​เป็น​นัก​การ​เมือง​ที่​ชำนาญ สามารถ​ท้าทาย​ทั้ง​จักรพรรดิ​และ​กองทัพ.

[แผนที่/ภาพ​หน้า 9]

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

อาณา​เขต​กว้าง​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​จักรวรรดิ​ไบแซนไทน์

ราเวนนา

โรม

มาซิโดเนีย

คอนสแตนติโนเปิล

ทะเล​ดำ

ไนเซีย

เอเฟซุส

อันทิโอก

เยรูซาเลม

อะเล็กซานเดรีย

ทะเล​เมดิเตอร์เรเนียน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Map: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.

[ภาพ​หน้า 10, 11]

คอมเนนุส

โรมานุส​ที่ 3 (คน​ซ้าย)

มิคาเอล​ที่ 4

จักรพรรดินี​โซอี

โรมานุส​ที่ 1 (คน​ซ้าย)

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Comnenus, Romanus III, and Michael IV: Courtesy Classical Numismatic Group, Inc.; Empress Zoe: Hagia Sophia; Romanus I: Photo courtesy Harlan J. Berk, Ltd.

[ภาพ​หน้า 12]

โฟทิอุส

[ภาพ​หน้า 12]

เฮราคลิอุส​และ​ราชบุตร

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Heraclius and son: Photo courtesy Harlan J. Berk, Ltd.; all design elements, pages 8-12: From the book L’Art Byzantin III Ravenne Et Pompose