เตรียมพร้อมในฐานะผู้สอนพระคำของพระเจ้า
เตรียมพร้อมในฐานะผู้สอนพระคำของพระเจ้า
“พระเจ้า . . . ได้ทรงโปรดให้เรามีคุณวุฒิเพียงพออย่างแท้จริงให้เป็นผู้รับใช้.”—2 โกรินโธ 3:5, 6, ล.ม.
1, 2. บางครั้งมีความพยายามเช่นไรในเรื่องการประกาศ แต่เหตุใดพวกเขาจึงมักล้มเหลว?
คุณจะรู้สึกอย่างไรหากได้รับมอบงานที่คุณไม่มีคุณวุฒิ? ขอให้ลองนึกภาพอย่างนี้: วัสดุที่คุณต้องใช้วางอยู่ต่อหน้าคุณ และเครื่องมือก็มีอยู่พร้อม. แต่คุณไม่รู้แม้แต่น้อยว่าจะทำงานนี้อย่างไร. ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ งานนี้เป็นงานด่วน. ผู้คนกำลังคาดหมายความช่วยเหลือจากคุณ. นั่นคงต้องเป็นเรื่องที่ทำให้ข้องขัดใจสักเพียงไร!
2 สถานการณ์ที่ทำให้กระอักกระอ่วนใจเช่นนั้นไม่ได้เป็นเรื่องในจินตนาการโดยสิ้นเชิง. ขอให้พิจารณาตัวอย่างหนึ่ง. บางครั้งบางคราว คริสตจักรหนึ่งแห่งคริสต์ศาสนจักรได้พยายามจัดระเบียบเพื่อให้มีการประกาศตามบ้าน. ความพยายามดังกล่าวมักล้มเหลว ซบเซาเงียบหายไปในไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน. เพราะเหตุใด? คริสต์ศาสนจักรไม่ได้ช่วยสมาชิกให้มีคุณวุฒิสำหรับงานนั้น. แม้แต่นักเทศน์นักบวชเองก็ไม่มีคุณวุฒิสำหรับงานประกาศ แม้ว่าได้ใช้เวลาหลายปีในการศึกษาร่ำเรียนทางโลกและเรียนในโรงเรียนนักธรรม. ทำไมเราจึงกล่าวอย่างนั้นได้?
3. ที่ 2 โกรินโธ 3:5, 6 (ล.ม.) คำอะไรถูกใช้ถึงสามครั้ง และคำนี้หมายความอย่างไร?
3 พระคำของพระเจ้าชี้แจงว่าอะไรที่ทำให้คนเรามีคุณวุฒิเป็นผู้ประกาศแท้แห่งข่าวดีที่มอบไว้กับคริสเตียน. อัครสาวกเปาโลได้รับการดลใจให้เขียนดังนี้: “มิใช่เราเองมีคุณวุฒิเพียงพอจะถือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดจากตัวเราเอง แต่คุณวุฒิเพียงพอของเรานั้นมาจากพระเจ้า ผู้ได้ทรงโปรดให้เรามีคุณวุฒิเพียงพออย่างแท้จริงให้เป็นผู้รับใช้.” (2 โกรินโธ 3:5, 6, ล.ม.) โปรดสังเกตคำซึ่งถูกใช้ถึงสามครั้งในที่นี้ คือคำว่า “คุณวุฒิเพียงพอ.” คำนี้หมายความอย่างไร? พจนานุกรมอรรถาธิบายศัพท์ในคัมภีร์ไบเบิลของไวน์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “เมื่อกล่าวถึงสิ่งของ [คำภาษากรีกคำนี้] หมายถึง ‘เพียงพอ’ . . . ; เมื่อกล่าวถึงบุคคล คำนี้หมายถึง ‘มีคุณสมบัติ’ ‘คู่ควร.’” ด้วยเหตุนั้น ผู้ที่ “มีคุณวุฒิเพียงพอ” คือผู้ที่มีคุณสมบัติและคู่ควรที่จะได้รับงาน. ถูกแล้ว ผู้เผยแพร่ข่าวดีที่แท้จริงมีคุณวุฒิที่จะทำงานนี้. พวกเขามีคุณสมบัติ, เหมาะสม, หรือคู่ควรที่จะประกาศ.
4. (ก) ตัวอย่างของเปาโลแสดงอย่างไรว่าการมีคุณวุฒิสำหรับงานรับใช้ของคริสเตียนไม่ได้จำกัดไว้กับคนที่ถูกเลือกสรรไม่กี่คน? (ข) สามสิ่งที่พระยะโฮวาทรงช่วยเราให้มีคุณวุฒิเป็นผู้รับใช้คืออะไรบ้าง?
4 แต่คุณสมบัติดังกล่าวมาจากไหน? เป็นความสามารถเฉพาะตัวไหม? เป็นผลมาจากเชาวน์ปัญญาที่เหนือกว่าไหม? ได้จากการศึกษาในหลักสูตรพิเศษ ณ สถาบันอันทรงเกียรติไหม? ดูเหมือนว่าอัครสาวกเปาโลมีทุกสิ่งที่ได้กล่าวไป. (กิจการ 22:3; ฟิลิปปอย 3:4, 5) ถึงกระนั้น ท่านยอมรับอย่างถ่อมใจว่าคุณวุฒิของท่านในฐานะผู้รับใช้ไม่ได้มาจากการศึกษาชั้นสูง แต่มาจากพระยะโฮวาพระเจ้า. คุณวุฒิเช่นนั้นมีให้เฉพาะคนที่ถูกเลือกสรรไม่กี่คนไหม? เปาโลเขียนถึงประชาคมโกรินโธเกี่ยวกับ “คุณวุฒิเพียงพอของเรา.” ข้อนี้ชี้ชัดเจนว่าพระยะโฮวาทรงดำเนินการให้แน่พระทัยว่าผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ทุกคน ของพระองค์มีคุณสมบัติ สามารถทำงานที่พระองค์ทรงมอบหมายให้พวกเขาทำ. ในปัจจุบัน พระยะโฮวาทรงช่วยให้คริสเตียนแท้มีคุณวุฒิโดยวิธีใด? ให้เราพิจารณาสามสิ่งที่พระองค์ทรงใช้: (1) พระคำของพระองค์, (2) พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์, และ (3) องค์การทางแผ่นดินโลกของพระองค์.
พระคำของพระยะโฮวาช่วยเราให้มีคุณวุฒิ
5, 6. พระคัมภีร์บริสุทธิ์มีผลกระทบเช่นไรต่อคริสเตียนแท้?
5 ประการแรก พระคำของพระเจ้าช่วยเราอย่างไรให้มีคุณวุฒิเป็นผู้รับใช้? เปาโลเขียนดังนี้: “พระคัมภีร์ทุกตอนมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน, เพื่อการว่ากล่าว, เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม, เพื่อคนของพระเจ้าจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน, เตรียมพร้อมสำหรับการดีทุกอย่าง.” (2 ติโมเธียว 3:16, 17, ล.ม.) ดังนั้น พระคัมภีร์บริสุทธิ์ช่วยเราให้ “มีคุณสมบัติครบถ้วน, เตรียมพร้อม” ที่จะทำ “การดี” ด้วยการสอนผู้คนเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้า. อย่างไรก็ตาม จะว่าอย่างไรสำหรับสมาชิกทั้งหมดของคริสตจักรต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร? พวกเขามีคัมภีร์ไบเบิลอ่านเหมือนกัน. เป็นไปได้อย่างไรที่หนังสือเล่มเดียวกันช่วยบางคนให้เป็นผู้รับใช้ที่มีคุณสมบัติ แต่กลับไม่ได้ช่วยคนอื่น ๆ ให้มีคุณสมบัติอย่างนั้น? คำตอบในเรื่องนี้อยู่ที่เจตคติของเราต่อคัมภีร์ไบเบิล.
6 น่าเสียดาย ผู้คนเป็นอันมากที่ไปโบสถ์ไม่ยอมรับข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิล “ตามที่เป็นจริง อย่างพระคำของพระเจ้า.” (1 เธซะโลนิเก 2:13, ล.ม.) คริสต์ศาสนจักรได้สั่งสมประวัติอันน่าละอายในเรื่องนี้. หลังจากใช้เวลาหลายปีศึกษาในสถาบันเทววิทยา เหล่านักเทศน์นักบวชได้ถูกเตรียมไว้พร้อมเพื่อเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้าไหม? ไม่เลย. ผู้ที่เรียนในโรงเรียนนักธรรมเหล่านี้บางคนเริ่มศึกษาด้วยความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิล แต่เมื่อจบออกมากลับกลายเป็นคนที่สงสัยพระคัมภีร์! หลังจากนั้น แทนที่จะประกาศพระคำของพระเจ้า—ซึ่งหลายคนไม่ได้เชื่ออีกต่อไป—พวกเขาเบนเข็มงานรับใช้ของตนไปยังกิจกรรมอื่น ๆ, เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการถกปัญหาทางการเมือง, ส่งเสริมการใช้หลักการคริสเตียนเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม, หรือเน้นปรัชญาของมนุษย์ในคำเทศน์ของตน. (2 ติโมเธียว 4:3) ตรงกันข้าม คริสเตียนแท้ปฏิบัติตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์.
7, 8. เจตคติของพระเยซูต่อพระคำของพระเจ้าแตกต่างอย่างไรกับเจตคติของพวกหัวหน้าศาสนาในสมัยพระองค์?
7 พระเยซูไม่ทรงปล่อยให้พวกหัวหน้าศาสนาในสมัยพระองค์มีอิทธิพลต่อความคิดของพระองค์. ไม่ว่าพระองค์ทรงสอนคนกลุ่มเล็ก ๆ อย่างเช่นเหล่าอัครสาวก หรือสอนฝูงชนจำนวนมาก พระเยซูทรงใช้คำจารึกอันศักดิ์สิทธิ์อย่างมากมาย. (มัดธาย 13:10-17; 15:1-11) การที่พระองค์ทรงทำเช่นนี้ทำให้พระองค์แตกต่างจากพวกหัวหน้าศาสนาในสมัยนั้น. พวกหัวหน้าศาสนาทำให้ผู้คนทั่วไปท้อใจไม่อยากเพ่งมองสิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า. ที่จริง เป็นธรรมเนียมของ ผู้สอนในสมัยนั้นที่จะถือว่าข้อความบางตอนจากพระคัมภีร์ลึกซึ้งเกินกว่าจะพิจารณากับใคร ยกเว้นลูกศิษย์คนโปรดเท่านั้น—และแม้จะอย่างนี้แล้ว ก็ยังต้องสอนด้วยเสียงเบา ๆ และคลุมศีรษะ. พวกหัวหน้าศาสนาเหล่านี้กลัวที่จะพูดคุยบางเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลเกือบจะในลักษณะเดียวกับที่เขากลัวที่จะออกพระนามพระเจ้า!
8 พระคริสต์ไม่ทรงเป็นอย่างนั้น. พระองค์ทรงเชื่อว่า ประชาชนโดยทั่วไปจำเป็นต้องพิจารณา “คำตรัสทุกคำ ที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระยะโฮวา” ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่ได้รับเลือกไม่กี่คน. พระเยซูไม่ประสงค์จะมอบกุญแจแห่งความรู้แก่กลุ่มผู้คงแก่เรียนไม่กี่คน. พระองค์ตรัสแก่เหล่าสาวกดังนี้: “ซึ่งเรากล่าวแก่พวกท่านในที่มืด, ท่านจงกล่าวในที่สว่าง และซึ่งท่านได้ยินกระซิบที่หู จงประกาศบนดาดฟ้าหลังคาตึก.” (มัดธาย 4:4, ล.ม.; 10:27) พระเยซูทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับพระเจ้าแก่ผู้คนให้มากเท่าที่จะมากได้.
9. คริสเตียนแท้ใช้ประโยชน์เช่นไรจากคัมภีร์ไบเบิล?
9 พระคำของพระเจ้าควรเป็นจุดรวมแห่งการสอนของเรา. ตัวอย่างเช่น เมื่อบรรยายที่หอประชุมราชอาณาจักรของพยานพระยะโฮวา ตามปกติแล้วการอ่านข้อพระคัมภีร์บางข้อที่เลือกสรรไว้ยังไม่เพียงพอ. เราอาจจำเป็นต้องอธิบาย, ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ, และใช้ข้อพระคัมภีร์นั้นให้สอดคล้องกับท้องเรื่อง. เป้าหมายของเราคือการทำให้ข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลที่ได้มีการจารึกไว้นั้นน่าสนใจและประทับข่าวสารนั้นเข้าไว้ในหัวใจของผู้ฟัง. (นะเฮมยา 8:8, 12) ควรใช้คัมภีร์ไบเบิลด้วยเมื่อจำเป็นต้องให้คำแนะนำหรือว่ากล่าวแก้ไข. แม้ว่าไพร่พลของพระยะโฮวาพูดภาษาต่าง ๆ กันและมาจากพื้นเพที่หลากหลาย พวกเขาทุกคนนับถือหนังสือที่ดีเยี่ยมเหนือหนังสือใด ๆ นั่นคือคัมภีร์ไบเบิล.
10. ข่าวสารที่มีขึ้นโดยการดลใจในคัมภีร์ไบเบิลสามารถก่อผลเช่นไรต่อเรา?
10 เมื่อใช้ด้วยความนับถือเช่นนั้น พระคำของพระเจ้ามีพลัง. (เฮ็บราย 4:12) ข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิลกระตุ้นผู้คนให้เปลี่ยนแปลงชีวิต เช่น ทำให้พวกเขาปฏิเสธกิจปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์ ไม่ว่าจะเป็นการผิดประเวณี, การเล่นชู้, การบูชารูปเคารพ, การเมาเหล้า, และการขโมย. พระคำของพระเจ้าช่วยผู้คนมากมายให้ถอดทิ้งบุคลิกภาพเก่าและสวมใส่บุคลิกภาพใหม่. (เอเฟโซ 4:20-24) ถูกแล้ว หากเรานับถือพระคำของพระเจ้าเหนือกว่าความคิดเห็นหรือจารีตประเพณีใด ๆ ของมนุษย์และใช้พระคำนั้นอย่างสัตย์ซื่อ คัมภีร์ไบเบิลสามารถช่วยเราให้มีคุณสมบัติและถูกเตรียมไว้พร้อมที่จะเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้า.
พระวิญญาณของพระยะโฮวาช่วยเราให้มีคุณวุฒิ
11. เหตุใดจึงกล่าวถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาได้อย่างเหมาะสมว่าเป็น “ผู้ช่วย”?
11 ประการที่สอง ให้เรามาพิจารณาบทบาทของพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพลังปฏิบัติการของพระยะโฮวาในการช่วยเตรียมเราให้พร้อม. เราต้องไม่ลืมว่าพระวิญญาณของพระยะโฮวาเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด. พระยะโฮวาได้ประทานอำนาจแก่พระบุตรที่รักของพระองค์ให้ใช้พลังอันน่าเกรงขามนั้นเพื่อประโยชน์ของคริสเตียนแท้ทุกคน. พระเยซูตรัสถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ไว้อย่างเหมาะสมว่าเป็น “ผู้ช่วย.” (โยฮัน 16:7) พระองค์ทรงกระตุ้นเหล่าสาวกให้ทูลขอพระวิญญาณนั้นจากพระยะโฮวา และทรงรับรองกับพวกเขาว่าพระยะโฮวาจะประทานให้ด้วยพระทัยกว้าง.—ลูกา 11:10-13; ยาโกโบ 1:17.
12, 13. (ก) เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ช่วยเราในงานรับใช้? (ข) พวกฟาริซายแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้ดำเนินกิจในพวกเขา?
12 เราจำเป็นต้องอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อช่วยเราในงานรับใช้. พลังปฏิบัติการของพระเจ้าก่อผลต่อเราอย่างไร? พลังปฏิบัติการนี้สามารถก่อผลกระทบต่อจิตใจและหัวใจเรา ช่วยเราให้เปลี่ยนแปลง, เติบโตฝ่ายวิญญาณ, และแทนที่บุคลิกภาพเก่าด้วยบุคลิกภาพใหม่. (โกโลซาย 3:9, 10) พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถช่วยเราให้ปลูกฝังคุณลักษณะอันมีค่าเช่นเดียวกับที่พระคริสต์ทรงแสดง. หลายคนในพวกเราจำฆะลาเตีย 5:22, 23 ได้ขึ้นใจ. สองข้อนี้กล่าวถึงผลพระวิญญาณของพระเจ้า. ผลพระวิญญาณประการแรกคือความรัก. นี่เป็นคุณลักษณะที่สำคัญในงานรับใช้. เพราะเหตุใด?
13 ความรักเป็นแรงกระตุ้นที่ยิ่งใหญ่. ความรักที่เรามีต่อพระยะโฮวาและเพื่อนมนุษย์กระตุ้นคริสเตียนแท้ให้แบ่งปันข่าวดี. (มาระโก 12:28-31) หากปราศจากความรักเช่นนั้น เราไม่อาจมีคุณวุฒิอย่างแท้จริงในการเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้า. ขอให้สังเกตความแตกต่างระหว่างพระเยซูกับพวกฟาริซาย. มัดธาย 9:36 กล่าวถึงพระเยซูว่า “เมื่อพระองค์ ทอดพระเนตรเห็นประชาชนก็ทรงพระกรุณาเขา, ด้วยเขาอิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” พวกฟาริซายรู้สึกอย่างไรต่อผู้คนทั่วไป? พวกเขากล่าวว่า “ประชาชนนี้ที่ไม่รู้จักพระบัญญัติก็ต้องถูกแช่งอยู่แล้ว.” (โยฮัน 7:49) พวกฟาริซายไม่มีความรักต่อประชาชน; พวกเขามีแต่ความเหยียดหยาม. เห็นได้ชัด พระวิญญาณของพระยะโฮวาไม่ได้ดำเนินกิจในพวกเขา.
14. ตัวอย่างของพระเยซูในการแสดงความรักในงานรับใช้ควรกระตุ้นเราอย่างไร?
14 พระเยซูทรงร่วมความรู้สึกกับประชาชน. พระองค์ทรงตระหนักดีถึงความเจ็บปวดของพวกเขา. พระองค์ทรงทราบว่าพวกเขาถูกปฏิบัติอย่างเลวร้าย อิดโรยกระจัดกระจายดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง. โยฮัน 2:25 (ล.ม.) บอกเราว่าพระเยซู “ทราบสิ่งซึ่งมีอยู่ในมนุษย์.” เนื่องจากทรงเป็นนายช่างของพระยะโฮวาในช่วงแห่งการสร้าง พระเยซูทรงมีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง. (สุภาษิต 8:30, 31) ความเข้าใจเช่นนั้นทำให้ความรักของพระองค์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น. ขอให้ความรักเช่นนั้นเป็นแรงกระตุ้นเสมอในการประกาศของเรา! หากเราคิดว่าเราสามารถปรับปรุงในเรื่องนี้ได้ ก็ขอให้เราอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา แล้วพยายามทำอย่างที่สอดคล้องกับคำอธิษฐานนั้น. พระยะโฮวาจะทรงตอบเรา. พระองค์จะทรงส่งพลังที่ไม่มีอะไรต้านทานได้นี้เพื่อช่วยเราให้แสดงคุณลักษณะเช่นเดียวกับพระคริสต์มากขึ้น ผู้ทรงมีคุณวุฒิยอดเยี่ยมในการประกาศข่าวดี.
15. คำกล่าวที่ยะซายา 61:1-3 ใช้ได้กับพระเยซูและขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโปงพวกอาลักษณ์และฟาริซายอย่างไร?
15 คุณวุฒิของพระเยซูมาจากไหน? พระองค์ตรัสว่า “พระวิญญาณของพระยะโฮวาสถิตบนข้าพเจ้า.” (ลูกา 4:17-21, ล.ม.) ถูกแล้ว พระยะโฮวานั่นเองที่แต่งตั้งพระเยซูโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์. พระเยซูไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานแสดงคุณสมบัตินอกเหนือจากนี้อีก. พวกหัวหน้าศาสนาในสมัยพระองค์ได้รับแต่งตั้งจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ไหม? ไม่. และพวกเขาไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะทำให้สำเร็จตามยะซายา 61:1-3 ซึ่งพระเยซูทรงอ่านด้วยเสียงอันดังและระบุว่าข้อนี้หมายถึงพระองค์. โปรดอ่านพระคัมภีร์ข้อดังกล่าวและสังเกตด้วยตัวคุณเองว่าพวกอาลักษณ์และฟาริซายที่หน้าซื่อใจคดขาดคุณสมบัติอย่างไร. พวกเขาไม่มีข่าวดีที่จะประกาศแก่คนยากจน. และพวกเขาจะประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ที่ตกเป็นเชลยและการช่วยคนตาบอดให้กลับมองเห็นได้อีกครั้งได้อย่างไร? พวกเขาตาบอดฝ่ายวิญญาณและตกอยู่ในพันธนาการของจารีตประเพณีที่มนุษย์ตั้งขึ้นเสียเอง! ไม่เหมือนกับคนพวกนี้ เรามีคุณวุฒิที่จะสอนผู้คนไหม?
16. ไพร่พลของพระยะโฮวาในปัจจุบันอาจรู้สึกเชื่อมั่นเช่นไรในเรื่องคุณวุฒิของตนในฐานะผู้รับใช้?
16 จริงอยู่ เราไม่ได้ศึกษาในสถาบันชั้นสูงของคริสต์ศาสนจักร. เราไม่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ที่จบจากโรงเรียนนักธรรม. ถ้าอย่างนั้น เราขาดคุณวุฒิไหม? ไม่เป็นเช่นนั้นแน่นอน! การแต่งตั้งที่เราได้รับให้เป็นพยานของพระเจ้ามาจากพระยะโฮวาเอง. (ยะซายา 43:10-12) หากเราอธิษฐานขอพระวิญญาณของพระองค์และปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานนั้น เรามีคุณวุฒิในขั้นสูงสุด. แน่นอน เราไม่สมบูรณ์และบกพร่องบางจุดในการทำตามตัวอย่างที่พระเยซูครูผู้ยิ่งใหญ่ทรงวางไว้. อย่างไรก็ตาม เรารู้สึกขอบคุณมิใช่หรือที่พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณของพระองค์เพื่อช่วยให้เรามีคุณวุฒิและพร้อมที่จะเป็นผู้สอนพระคำของพระองค์?
องค์การของพระยะโฮวาช่วยเราให้มีคุณวุฒิ
17-19. การประชุมห้ารายการในแต่ละสัปดาห์ที่องค์การของพระยะโฮวาจัดเตรียมให้ช่วยเราอย่างไรให้มีคุณวุฒิเป็นผู้รับใช้?
17 ตอนนี้ ขอให้เรามาพิจารณาสิ่งที่สามซึ่งพระยะโฮวาทรงใช้เพื่อทำให้เราพร้อมจะเป็นผู้สอนพระคำของพระองค์ นั่นคือ ประชาคมหรือองค์การของพระองค์ทางแผ่นดินโลกซึ่งฝึกอบรมเราให้เป็นผู้รับใช้. โดยวิธีใด? ขอเพียงแต่นึกถึงรายการต่าง ๆ ที่เราได้รับการสอน! ในสัปดาห์หนึ่ง ๆ เราเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนห้ารายการ. (เฮ็บราย 10:24, 25) เราประชุมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในการศึกษาหนังสือประจำประชาคมเพื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างลึกซึ้งโดยใช้หนังสือคู่มือที่องค์การของพระยะโฮวาจัดเตรียมไว้ให้. ด้วยการฟังและการออกความเห็น เราเรียนรู้และหนุนกำลังใจกันและกัน. นอกจากนี้ เราได้รับคำแนะนำและความเอาใจใส่เป็นส่วนตัวจากผู้ดูแลการศึกษาหนังสือ. ในการประชุมสาธารณะและการศึกษาวารสารหอสังเกตการณ์ เรารับเอาอาหารฝ่ายวิญญาณที่เสริมสร้างเรามากยิ่งขึ้น.
18 โรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าได้ถูกจัดไว้เพื่อสอนเราให้รู้วิธีที่จะสอน. โดยการเตรียมส่วนนักเรียน 1 เปโตร 3:15) คุณเคยได้รับมอบหมายให้บรรยายในเรื่องที่ดูเหมือนว่าค่อนข้างคุ้นเคย แต่แล้วก็พบว่าคุณได้เรียนสิ่งใหม่ ๆ บางอย่างจากเรื่องนั้นไหม? นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ. ไม่มีสิ่งใดที่พัฒนาความรู้ของเราให้เฉียบคมได้มากไปกว่าการสอนความรู้นั้นแก่ผู้อื่น. แม้แต่เมื่อเราไม่ได้ทำส่วนนั้นเอง เราก็ยังได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้สอนที่ดีขึ้น. เราสังเกตคุณลักษณะที่ดีในนักเรียนแต่ละคน และเราสามารถคิดพิจารณาวิธีที่เราจะเลียนแบบจุดดีต่าง ๆ เหล่านั้น.
เราเรียนรู้วิธีที่จะใช้พระคำของพระเจ้าเพื่อสอนในหัวเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง. (19 การประชุมวิธีปฏิบัติงานก็จัดไว้เพื่อเตรียมเราให้พร้อมจะเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้าด้วย. ทุก ๆ สัปดาห์ เราได้ฟังคำบรรยายที่มีชีวิตชีวา, การพิจารณา, และการสาธิตซึ่งปรับให้เข้ากับงานรับใช้ของเรา. เราจะใช้การเสนอแบบไหน? เราจะรับมือข้อท้าทายเฉพาะอย่างในงานเผยแพร่ของเราได้โดยวิธีใด? มีช่องทางใดอีกบ้างในการประกาศที่เปิดไว้ให้เรา ซึ่งเราอาจต้องวิเคราะห์ดู? อะไรจะช่วยเราให้เป็นผู้สอนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อกลับเยี่ยมเยียนและนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล? (1 โกรินโธ 9:19-22) มีการกล่าวถึงคำถามเช่นนั้นและพิจารณากันอย่างละเอียด ณ การประชุมวิธีปฏิบัติงาน. หลายส่วนของการประชุมนี้อาศัยบทความต่าง ๆ ในพระราชกิจของเรา เครื่องมืออีกชิ้นหนึ่งที่องค์การของพระยะโฮวาจัดไว้เพื่อเตรียมเราให้พร้อมสำหรับงานสำคัญของเรา.
20. เราอาจได้รับประโยชน์เต็มที่อย่างไรจากการประชุมต่าง ๆ รวมทั้งการประชุมใหญ่?
20 โดยการเตรียมตัวและเข้าร่วมการประชุมและนำสิ่งที่เราได้เรียนมาใช้กับงานของเราในฐานะผู้สอน เราได้รับการฝึกอบรมอย่างมากมาย. แต่ยังมีมากกว่านี้. เรายังมีการประชุมที่ใหญ่กว่า คือการประชุมหมวดและการประชุมภาค ซึ่งจัดขึ้นเพื่อช่วยเตรียมเราให้พร้อมในการเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้า. และเราตั้งตาคอยอย่างแน่นอนที่จะฟังอย่างตั้งใจและนำเอาคำแนะนำต่าง ๆ เหล่านั้นไปใช้!—ลูกา 8:18.
21. หลักฐานอะไรที่แสดงว่าการฝึกอบรมที่เราได้รับเกิดผลเป็นอย่างดี และใครควรได้รับเกียรติในเรื่องนี้?
21 การฝึกอบรมที่พระยะโฮวาได้ทรงจัดนั้นมีประสิทธิภาพไหม? ให้ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นก็แล้วกัน. ในแต่ละปี ผู้คนหลายแสนคนได้รับการช่วยให้เรียนรู้หลักคำสอนพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิลและดำเนินชีวิตสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของพระเจ้า. จำนวนของพวกเรากำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่มีใครในพวกเราที่สมควรได้รับเกียรติในเรื่องนี้. เราต้องมองเรื่องนี้ตามความเป็นจริง เช่นเดียวกับพระเยซู. พระองค์ตรัสว่า “ไม่มีผู้ใดจะมาถึงเราได้, เว้นไว้พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาจะชักนำเขา.” เช่นเดียวกับเหล่าอัครสาวกในสมัยโน้น พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้เล่าเรียนมากและเป็นเพียงคนธรรมดา. (โยฮัน 6:44; กิจการ 4:13) ความสำเร็จของเราขึ้นอยู่กับพระยะโฮวาผู้ทรงชักนำคนที่มีหัวใจสุจริตให้เข้ามาหาความจริง. อัครสาวกเปาโลกล่าวไว้เหมาะทีเดียวว่า “ข้าพเจ้าได้ปลูกไว้, อะโปโลได้รดน้ำ แต่พระเจ้าได้ทรงบันดาลให้เกิดผล.”—1 โกรินโธ 3:6.
22. เหตุใดเราไม่ควรท้อใจเกินไปเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมเต็มที่ในงานรับใช้ของคริสเตียน?
22 ใช่แล้ว พระยะโฮวาพระเจ้าทรงมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังในงานของเราฐานะผู้สอนพระคำของพระองค์. บางครั้ง เราอาจรู้สึก ว่าเราไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นผู้สอน. แต่เราต้องจำไว้ว่า พระยะโฮวาคือผู้ที่ชักนำผู้คนให้เข้ามาหาพระองค์เองและพระบุตร. พระยะโฮวาคือผู้ที่ทำให้เรามีคุณวุฒิในการสอนคนใหม่เหล่านั้นโดยทางพระคำ, พระวิญญาณบริสุทธิ์, และองค์การทางแผ่นดินโลกของพระองค์. ขอให้เราตอบรับการฝึกอบรมจากพระยะโฮวาโดยการใช้สิ่งดีต่าง ๆ ที่พระองค์กำลังจัดให้อยู่ในเวลานี้เพื่อช่วยเตรียมเราไว้ให้พร้อมที่จะเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้า!
คุณจะตอบอย่างไร?
• คัมภีร์ไบเบิลเตรียมเราให้พร้อมสำหรับงานประกาศโดยวิธีใด?
• พระวิญญาณบริสุทธิ์มีบทบาทอย่างไรในการช่วยเราให้มีคุณวุฒิเป็นผู้รับใช้?
• องค์การทางแผ่นดินโลกของพระยะโฮวาช่วยคุณในทางใดบ้างให้มีคุณวุฒิเป็นผู้ประกาศข่าวดี?
• เหตุใดเรามีความเชื่อมั่นเมื่อเข้าร่วมในงานรับใช้?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 25]
ในฐานะผู้สอนพระคำของพระเจ้า พระเยซูทรงแสดงความรักต่อผู้คน