การรับใช้ด้วยน้ำใจเสียสละ
เรื่องราวชีวิตจริง
การรับใช้ด้วยน้ำใจเสียสละ
เล่าโดยดอน เรนเดลล์
แม่ผมเสียชีวิตในปี 1927 ตอนนั้นผมอายุแค่ห้าขวบ. แต่ความเชื่อศรัทธาของท่านมีอิทธิพลมากต่อชีวิตของผม. เป็นไปได้อย่างไร?
คุณแม่เป็นสมาชิกคริสตจักรแห่งอังกฤษที่ถือเคร่ง ตอนที่ท่านแต่งงานกับพ่อซึ่งเป็นทหารอาชีพ. นั่นคือช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1. สงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้นในปี 1914 และแม่ไม่เห็นด้วยเมื่อนักเทศน์ใช้ธรรมาสน์ในโบสถ์เสมือนเป็นที่เกณฑ์ทหาร. นักเทศน์ตอบอย่างไร? “กลับไปบ้านเสียเถอะ อย่าคิดกังวลใจกับเรื่องนั้นเลย!” คำตอบแบบนั้นไม่จุใจแม่เลย.
ปี 1917 ขณะที่สงครามทวีความรุนแรงถึงขีดสุด แม่ได้ไปชม “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง.” ด้วยความมั่นใจว่าท่านพบความจริงเข้าแล้ว ท่านไม่รีรอที่จะผละจากคริสตจักรแล้วหันไปคบหากับนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิล ชื่อที่ใช้เรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น. ท่านเข้าร่วมประชุมกับประชาคมในเมืองโยวิล ซึ่งเป็นประชาคมที่ใกล้ที่สุดกับหมู่บ้านเวสต์โคเกอร์ที่พวกเราอยู่ ในแคว้นซอมเมอร์เซตของอังกฤษ.
จากนั้นไม่นาน แม่พูดเรื่องความเชื่อซึ่งเพิ่งได้เรียนรู้ใหม่ ๆ แก่พี่สาวสองคนและน้องสาวคนหนึ่งของแม่. สมาชิกสูงอายุของประชาคมโยวิลเล่าให้ผมฟังว่าแม่กับมิลลีน้องสาวขี่จักรยานไปทั่วเขตงานชนบทที่กว้างไพศาลอย่างกระตือรือร้นเพื่อแจกจ่ายหนังสือชุดคู่มือการศึกษาพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ). แต่น่าเศร้าเหลือเกิน ช่วง 18 เดือนสุดท้ายของชีวิต แม่ป่วยจนต้องนอนแบ็บอยู่บนเตียงเพราะเป็นวัณโรค สมัยนั้นยังไม่มีวิธีเยียวยาโรคนี้ให้หายขาด.
การเสียสละในภาคปฏิบัติ
น้ามิลลีอยู่กับพวกเราตอนนั้น ได้เฝ้าดูแลพยาบาลแม่ผมที่ป่วย และยังต้องคอยเอาใจใส่ผมกับโจนพี่สาววัยเจ็ด
ขวบด้วย. ครั้นแม่สิ้นชีวิต น้ามิลลีขอรับดูแลพวกเราทันที. คุณพ่อดีใจที่ได้คนมาช่วยแบ่งเบาภาระรับผิดชอบนี้ จึงตกลงเห็นควรให้น้ามิลลีอยู่กับพวกเราตลอดไป.เรารักและผูกพันกับน้าสาวมากและดีใจที่น้าจะอยู่กับเราต่อไป. แต่ทำไมน้าตัดสินใจทำเช่นนั้น? หลายปีต่อมา น้ามิลลีบอกเราว่าเธอตระหนักถึงพันธะที่จะสร้างต่อบนพื้นฐานที่แม่ได้วางไว้ คือสอนความจริงในคัมภีร์ไบเบิลให้แก่โจนกับผม ซึ่งน้าทราบดีว่าพ่อไม่มีวันจะทำเช่นนั้น เนื่องจากพ่อไม่สนใจเรื่องศาสนา.
ในเวลาต่อมา เรายังได้รู้ว่าน้ามิลลีทำการตัดสินใจอีกเรื่องหนึ่งเป็นการส่วนตัว. น้าไม่ยอมแต่งงานเพื่อจะได้เอาใจใส่ดูแลเราอย่างทั่วถึง. ช่างเป็นการเสียสละกระไรเช่นนี้! โจนกับผมมีเหตุผลทุกประการที่จะซาบซึ้งในบุญคุณของน้า. ทุกอย่างที่น้าเคยสอนเรา อีกทั้งการวางตัวอย่างอันดีของเธอยังคงติดตรึงใจเราอยู่เสมอ.
ถึงคราวต้องตัดสินใจ
ผมกับโจนได้เข้าเรียนในโรงเรียนประจำหมู่บ้านซึ่งสังกัดคริสตจักรแห่งอังกฤษ ที่นี่น้ามิลลีได้ยืนยันหนักแน่นกับครูใหญ่เกี่ยวกับสถานภาพการศึกษาทางศาสนาของเรา. เมื่อเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ เดินแถวเข้าโบสถ์ เราเดินกลับบ้าน และเมื่อนักเทศน์มาที่โรงเรียนให้การอบรมสั่งสอนเรื่องศาสนา เราแยกไปนั่งต่างหากและท่องข้อคัมภีร์ตามที่ครูสั่งจนขึ้นใจ. การทำเช่นนี้ให้คุณประโยชน์แก่ผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำงานรับใช้ในเวลาต่อมา เพราะข้อคัมภีร์หลายข้อหลายตอนยังฝังแน่นในจิตใจผมเสมอมา.
ตอนอายุ 14 ปี ผมออกจากโรงเรียนแล้วไปเป็นลูกมือฝึกงานอยู่สี่ปีในโรงงานผลิตเนยแข็งแถว ๆ บ้าน. นอกจากนั้น ผมเรียนเปียโน และดนตรีกับการเต้นรำกลายเป็นงานอดิเรกสำหรับผม. ถึงแม้ความจริงของคัมภีร์ไบเบิลหยั่งรากลงในหัวใจผมแล้วก็ตาม ทว่ายังไม่ได้ก่อแรงผลักดัน. ครั้นแล้ววันหนึ่งในเดือนมีนาคม 1940 พยานฯ สูงอายุคนหนึ่งได้ชวนผมเป็นเพื่อนเดินทางไปยังการประชุมใหญ่ที่เมืองสะวินดอน ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร. อัลเบิร์ต ดี. ชโรเดอร์ ผู้ดูแลผู้เป็นประธานของพยานพระยะโฮวาในบริเตนได้ขึ้นกล่าวคำบรรยายสาธารณะ. การประชุมครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนแปลงชีวิตผม.
สงครามโลกครั้งที่ 2 ดำเนินไปอย่างดุเดือด. ผมควรจะทำอย่างไรกับชีวิตตัวเอง? ผมตัดสินใจกลับไปที่หอประชุมราชอาณาจักรที่โยวิล. ณ การประชุมครั้งแรกที่ผมเข้าร่วมนั้นเอง มีการพูดถึงการให้คำพยานตามถนนซึ่งเป็นวิธีใหม่. ถึงแม้ผมยังไม่ค่อยรู้อะไรมาก แต่ผมอาสาร่วมทำกิจกรรมนี้ ซึ่งทำให้เพื่อน ๆ หลายคนประหลาดใจมาก แถมยังพูดเยาะเย้ยผมเมื่อเดินผ่าน!
เดือนมิถุนายน 1940 ผมรับบัพติสมาที่เมืองบริสทอล. จากนั้นไม่ถึงเดือน ผมก็สมัครเป็นไพโอเนียร์ประจำหรือผู้เผยแพร่เต็มเวลา. ผมสุขใจจริง ๆ ไม่นานหลังจากนั้นพี่สาวของผมได้แสดงสัญลักษณ์การอุทิศตัวด้วยการรับบัพติสมาในน้ำเช่นกัน!
งานไพโอเนียร์สมัยสงคราม
หนึ่งปีภายหลังสงครามเริ่ม ผมได้รับหมายเรียกให้เป็นทหาร. เมื่อลงทะเบียนเป็นผู้ปฏิเสธการรับราชการทหารเนื่องด้วยสติรู้สึกผิดชอบในโยวิลแล้ว ผมต้องไปแสดงตัวต่อศาลเมืองบริสทอล. ผมสมทบกับจอห์น วีนน์ ทำงานไพโอเนียร์ในเมืองซินเดอร์ฟอร์ด, โกลเซสเตอร์เชียร์, และหลังจากนั้นที่เมืองฮาเวอร์ฟอร์ดเวสต์และคาร์มาร์เทน แคว้นเวลส์. * ในเวลาต่อมา ณ การพิจารณาคดีที่คาร์มาร์เทน ผม ถูกตัดสินจำคุกสามเดือนในเมืองสะวอนซี พร้อมกับค่าปรับเป็นเงิน 25 ปอนด์ ซึ่งถือว่าเป็นเงินไม่น้อยเลยในสมัยนั้น. ต่อมา ผมติดคุกรอบที่สองอีกสามเดือนฐานไม่จ่ายค่าปรับจำนวนเงินดังกล่าว.
ณ การพิจารณาคดีหนที่สาม ผมถูกซักดังนี้: “คุณรู้คำกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลใช่ไหมที่ว่า ‘ของของซีซาร์จงคืนให้แก่ซีซาร์’ “? ผมตอบ “ใช่ครับ ผมรู้ข้อนั้น แต่อยากต่อข้อความให้จบว่า ‘และของของพระเจ้า จงถวายแก่พระเจ้า.’ นี่คือสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่.” (มัดธาย 22:21, ล.ม.) สองสามสัปดาห์ถัดจากนั้น ผมรับจดหมายแจ้งมาว่าผมพ้นหน้าที่ราชการทหารแล้ว.
ช่วงต้นปี 1945 ผมได้รับเชิญให้ไปสมทบครอบครัวเบเธลที่ลอนดอน. ฤดูหนาวปีนั้น นาทาน เอช. นอรร์ ซึ่งนำหน้าในการจัดระเบียบงานเผยแพร่ทั่วโลกได้ไปเยือนลอนดอนพร้อมกับเลขานุการส่วนตัวคือมิลตัน จี. เฮนเชล. พี่น้องชายวัยหนุ่มแน่นแปดคนจากบริเตนได้ลงชื่อเป็นนักเรียนเพื่อรับการอบรมเป็นมิชชันนารีรุ่นที่แปดของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์แห่งกิเลียด และผมรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย.
เขตงานมอบหมายสำหรับมิชชันนารี
วันที่ 23 พฤษภาคม 1946 เราออกจากท่าเรือคอร์นิชแห่งเฟาวีย์ โดยลงเรือสินค้าขนาดใหญ่สมัยสงคราม. หัวหน้านายท่าคือกัปตันคอลลินส์ซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาคนหนึ่ง และเขาได้เปิดหวูดขณะเรือแล่นออกจากท่าเรือ. จริง ๆ แล้ว พวกเรารู้สึกดีใจและใจหายระคนกันเมื่อฝั่งทะเลอังกฤษพ้นสายตา. การแล่นเรือข้ามแอตแลนติกครั้งนั้นเจอคลื่นลมกระหน่ำรุนแรง แต่แล้ว 13 วันต่อมา พวกเราก็ไปถึงประเทศสหรัฐอย่างปลอดภัย.
การร่วมประชุมนานาชาติตามระบอบของพระเจ้ามีชื่อว่า “ประชาชาติทั้งหลายจงชื่นใจยินดี” เป็นเวลาแปดวัน ที่คลิฟแลนด์ มลรัฐโอไฮโอ ระหว่างวันที่ 4 ถึง 11 สิงหาคม 1946 ประสบการณ์ครั้งนั้นน่าจดจำ. มีผู้เข้าร่วมแปดหมื่นคน นับรวม 302 คนจากที่อื่น ๆ 32 ประเทศ. วารสารตื่นเถิด! * (ภาษาอังกฤษ) ปรากฏโฉมหน้า ณ การประชุมคราวนั้น และฝูงชนที่มีใจแรงกล้าได้รับหนังสือคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ออกใหม่ชื่อ “จงให้พระเจ้าเป็นองค์สัตย์จริง.”
พวกเราจบหลักสูตรโรงเรียนกิเลียดในปี 1947 ผมกับบิลล์ คอปสัน ถูกมอบหมายไปยังประเทศอียิปต์. แต่ก่อนจะออกเดินทาง ผมได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมการทำงานในสำนักงานโดยริชาร์ด เอบราแฮมสันที่เบเธลบรุกลิน. เราขึ้นฝั่งที่อะเล็กซานเดรีย และในชั่วเวลาอันสั้น ผมสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตคนตะวันออกกลางได้. อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ภาษาอาหรับเป็นข้อท้าทาย และผมใช้ประโยชน์จากบัตรให้คำพยานถึงสี่ภาษาด้วยกัน.
บิลล์ คอปสันอยู่ทำงานในประเทศนี้ถึงเจ็ดปี แต่วีซ่าของผมต่ออายุไม่ได้หลังจากปีแรก ผมจึงต้องออกจากประเทศ. เมื่อมองย้อนไปถึงปีนั้นที่ได้รับใช้ฐานะมิชชันนารี ผมว่าเป็นปีที่บังเกิดผลมากที่สุดในชีวิต. ผมประสบโอกาสอันดีเยี่ยมที่สามารถนำการศึกษาพระคัมภีร์ตามบ้านสัปดาห์หนึ่ง ๆ มากกว่า 20 ราย และบางคนที่เรียนความจริงสมัยนั้นยังคงสรรเสริญพระยะโฮวาอย่างแข็งขันตราบทุกวันนี้. จากอียิปต์ ผมถูกมอบหมายไปยังเกาะไซปรัส.
ไซปรัสและอิสราเอล
ผมเริ่มเรียนภาษาใหม่คือภาษากรีก เพื่อจะคุ้นเคยภาษาถิ่นพอสมควร. ในชั่วเวลาอันสั้นหลังจากนั้น เมื่อแอนโทนี ซิดาริสได้ย้ายไปยังประเทศกรีซ ผมรับการแต่งตั้งให้ดูแลงานในไซปรัส. สมัยนั้นสำนักงานสาขาในไซปรัสได้ช่วยดูแลงานในอิสราเอลด้วย เพราะเหตุนี้ ผมกับพี่น้องชายบางคนจึงมีสิทธิพิเศษได้เยี่ยมเยียนพยานฯ ไม่กี่คนในอิสราเอลเป็นครั้งคราว.
เมื่อผมเดินทางไปอิสราเอลเป็นครั้งแรกนั้น เราได้จัดการประชุมหมวดขนาดย่อมขึ้นในภัตตาคารเมืองไฮฟา มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 50 หรือ 60 คน. เมื่อแยกกลุ่มตามชาติต่าง ๆ แล้ว เราจัดระเบียบวาระการประชุมถึงหกภาษา! มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมสามารถนำภาพยนตร์ซึ่งสร้างโดยพยานพระยะโฮวาไปฉายในกรุงเยรูซาเลม และผมให้คำบรรยายสาธารณะ ซึ่งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษได้รายงานข่าวอย่างน่าประทับใจ.
ตอนนั้นบนเกาะไซปรัสมีพยานฯ ประมาณ 100 คน และพวกเขาต้องสู้อย่างทรหดเพื่อความเชื่อ. บาทหลวงคริสตจักรกรีกออร์โทด็อกซ์ได้นำฝูงชนออกก่อกวนการประชุมของเรา และนับเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับผมเมื่อถูกหินขว้างขณะทำงานเผยแพร่ในชนบท. ผมจึงต้องเรียนรู้ที่จะหลบลี้ถอยหนีอย่างรวดเร็ว! การเผชิญการต่อต้านขัดขวางอย่างรุนแรงดังกล่าว ถือได้ว่าความเชื่อของเรารับการเสริมให้เข้มแข็งเมื่อมิชชันนารีอีกหลายคนถูกมอบหมายให้มาที่เกาะแห่งนี้. อาทิ เดนนิสและเมวิส แมตทิวส์, พร้อมกับโจน ฮัลเลย์, และเบรีล เฮย์วูดได้สมทบกับผมในเมืองฟามากุสทา ขณะที่ทอมกับแมรี กูลเดนและนีนา คอนสแตนทีชาวอังกฤษเชื้อสายไซปรัสได้ไปลิมัสซอล. ในเวลาเดียวกัน บิลล์ คอปสันก็ถูกย้ายไปไซปรัส และเบิร์ตกับเบรีล ไวเซย์ตามไปสมทบภายหลัง.
ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ปลายปี 1957 ผมล้มป่วยและไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่มอบหมายฐานะมิชชันนารีได้อีกต่อไป. เพื่อการพักฟื้นคืนสู่สุขภาพดีดังเดิม ผมตัดสินใจด้วยความเสียดายว่าควรกลับประเทศอังกฤษ และผมได้ทำงานเผยแพร่เต็มเวลาอย่างต่อเนื่องที่นั่นกระทั่งปี 1960. พี่สาวกับสามีของเธอมีน้ำใจกรุณาต้อนรับผมให้พักอยู่ในบ้านของเขา ทว่าสภาพการณ์หลายอย่างเปลี่ยนไป. โจนประสบความลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ. นอกจากดูแลสามีและลูกสาววัยรุ่นแล้ว ระยะเวลา 17 ปีที่ผมจากบ้านไปอยู่ที่อื่น เธอได้เอาใจใส่เลี้ยงดูพ่อและน้ามิลลีด้วยความผูกพันรักใคร่ ซึ่งมาบัดนี้คนทั้งสองอายุมากแล้วและสุขภาพไม่สู้ดีนัก. เห็นได้ชัดว่า ผมจำเป็นต้องปฏิบัติตามแบบอย่างการเสียสละของน้า ดังนั้น ผมตกลงใจพักอยู่กับพี่สาว จนกระทั่งน้าและพ่อของผมสิ้นชีวิต.
มันคงจะง่ายดีหากปักหลักอยู่ในประเทศอังกฤษ แต่ภายหลังการพักผ่อนชั่วระยะหนึ่ง ผมสำนึกถึงพันธะหน้าที่ที่จะต้องกลับไปยังเขตงานมอบหมาย. ที่สำคัญ องค์การของพระยะโฮวาได้จ่ายเงินไม่ใช่น้อยให้ผมได้รับการฝึกอบรมมิใช่หรือ? ดังนั้น ในปี 1972 ผมจึงใช้เงินส่วนตัวเป็นค่าเดินทางกลับไปทำงานไพโอเนียร์ที่ไซปรัสอีก.
นาทาน เอช. นอรร์ได้เดินทางมาเพื่อจัดการประชุมใหญ่ซึ่งจะมีในปีถัดไป. เมื่อทราบเรื่องที่ผมได้กลับไปเขตงานอีก ท่านจึงเสนอแต่งตั้งผมเป็นผู้ดูแลหมวดเยี่ยมทั่วทั้งเกาะ ซึ่งผมมีสิทธิพิเศษล้ำค่านี้นานถึงสี่ปี. อย่างไรก็ตาม
งานมอบหมายนี้ทำเอาผมหวาดหวั่นไม่ใช่น้อย เพราะมันหมายถึงการพูดภาษากรีกแทบตลอดเวลาทีเดียว.ยามยากลำบาก
ผมพักอยู่กับพอล อันเดรอู ซึ่งเป็นพยานฯ ชาวไซปรัสพูดภาษากรีกที่หมู่บ้านคาราคูมิทางตะวันออกของเมืองคิรีเนีย บนชายฝั่งทางเหนือของเกาะไซปรัส. ส่วนสำนักงานสาขาไซปรัสอยู่ในเมืองนิโคเซีย ทางทิศใต้ของเทือกเขาคิรีเนีย. ต้นเดือนกรกฎาคม 1974 ผมอยู่ที่นิโคเซียขณะเกิดรัฐประหารขับไล่ประธานาธิบดีมาคารีออส และผมได้เห็นการจุดไฟเผาทำลายทำเนียบประธานาธิบดี. เมื่อเห็นว่าการเดินทางคงจะปลอดภัย ผมรีบกลับไปยังคิรีเนียทันที ซึ่งเราอยู่ในระหว่างเตรียมการประชุมหมวด. ถัดมาอีกสองวันผมได้ยินเสียงระเบิดลูกแรกบนท่าเรือ และมองเห็นเฮลิคอปเตอร์ที่นำผู้รุกรานจากตุรกีบินว่อนเหนือน่านฟ้า.
เนื่องจากผมถือสัญชาติอังกฤษ ทหารตุรกีจึงพาผมออกไปถึงชานเมืองนิโคเซีย ณ ที่นั่นเจ้าหน้าที่สหประชาชาติซึ่งได้ติดต่อกับสำนักงานสาขาดำเนินการไต่สวนผม. แล้วผมก็ได้เผชิญความลำบากที่น่าหวั่นหวาดเมื่อต้องเดินมุดสายโทรศัพท์และสายไฟระโยงระยางไปยังบ้านเรือนที่ร้างผู้คนซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของเขตกันชนระหว่างสองฝ่าย. ผมดีใจเหลือหลายที่การสื่อความระหว่างผมกับพระยะโฮวาพระเจ้าไม่ได้ถูกรบกวน! การอธิษฐานช่วยค้ำจุนผมจนผ่านประสบการณ์ที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตมาได้.
ข้าวของต่าง ๆ ของผมไม่เหลือสักชิ้น แต่ผมดีใจที่มีความปลอดภัย ณ สำนักงานสาขา. แต่สภาพดังกล่าวเป็นเพียงระยะสั้น ๆ. ชั่วเวลาไม่กี่วัน กองกำลังที่รุกรานก็ยึดพื้นที่ทางเหนือของเกาะได้ถึงหนึ่งในสาม. เบเธลจึงถูกปล่อยทิ้งไว้ แล้วพวกเราก็ย้ายไปยังลิมัสซอล. ผมยินดีที่สามารถทำงานร่วมกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลพี่น้อง 300 คนซึ่งได้รับผลกระทบจากความโกลาหลวุ่นวาย หลายคนสูญเสียบ้านเรือนของตน.
การเปลี่ยนแปลงงานมอบหมายอื่น ๆ อีก
เดือนมกราคม 1981 คณะกรรมการปกครองขอให้ผมย้ายไปประเทศกรีซ เพื่อสมทบครอบครัวเบเธลในกรุงเอเธนส์ แต่พอสิ้นปี ผมกลับไปไซปรัสอีกและรับการแต่งตั้งเป็นผู้ประสานงานคณะกรรมการสาขา. แอนเดรียส์ คอนโดโยร์กีสพร้อมกับภรรยาชื่อมาโร ทั้งสองเป็นชาวไซปรัสซึ่งถูกส่งมาจากลอนดอน ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขา “เป็นผู้ช่วยเสริมกำลัง” จริง ๆ.—โกโลซาย 4:11, ล.ม.
ในตอนท้ายของการเยี่ยมของทีโอดอร์ จารัซผู้ดูแลโซนในปี 1984 ผมได้รับจดหมายจากคณะกรรมการปกครองซึ่งเพียงแต่บอกว่า “เมื่อผู้ดูแลโซนเยี่ยมเสร็จแล้ว เราต้องการให้คุณเดินทางไปกรีซกับบราเดอร์จารัซ.” ไม่มีการให้เหตุผลใด ๆ แต่เมื่อเราไปถึงกรีซ มีจดหมายอีกฉบับหนึ่งจากคณะกรรมการปกครองถึงคณะกรรมการสาขา ซึ่งแจ้งเรื่องการแต่งตั้งผมเป็นผู้ประสานงานคณะกรรมการสาขาในประเทศนั้น.
ตอนนั้น พวกเราในกรีซเผชิญการเริ่มปะทุของพวกออกหาก. นอกจากนั้น มีข้อกล่าวหามากมายเกี่ยวกับการชักชวนคนให้เปลี่ยนศาสนาซึ่งถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย. ไพร่พลของพระยะโฮวาถูกจับกุม และถูกนำตัวขึ้นศาลทุกวัน. นับเป็นโอกาสเหมาะที่ได้มารู้จักพี่น้องชายหญิงซึ่งยืนหยัด *
รักษาความซื่อสัตย์มั่นคงภายใต้การทดสอบ! การสู้คดีบางราย พวกเขาต้องขึ้นศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป และผลที่ตามมาน่าทึ่งมาก ส่งผลดีต่องานเผยแพร่ในประเทศกรีซ.ระหว่างปฏิบัติงานในประเทศกรีซ ผมสามารถเข้าร่วมการประชุมใหญ่ที่น่าจดจำรำลึกทั้งในกรุงเอเธนส์, ที่เมืองเทสซาโลนีกา, ที่เกาะโรดส์และเกาะครีต. ผมประสบความสุขตลอดสี่ปี และเป็นช่วงเวลาที่บังเกิดผลอุดม แต่ทว่าจวนจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือการกลับสู่ไซปรัสในปี 1988.
ไซปรัสและกลับไปประเทศกรีซอีก
ระหว่างที่ผมไม่ได้อยู่ในไซปรัส พวกพี่น้องได้อาคารสาขาแห่งใหม่ในเมืองนีซู ห่างจากนิโคเซียเพียงไม่กี่กิโลเมตร และแครีย์ บาร์เบอร์จากสำนักงานกลางของพยานพระยะโฮวาที่บรุกลินเป็นผู้บรรยายการอุทิศ. สถานการณ์บนเกาะในเวลานั้นค่อนข้างสงบ และผมดีใจที่ได้กลับมาที่เดิม อย่างไรก็ตาม สภาพการณ์สงบอยู่ได้ไม่นาน.
คณะกรรมการปกครองเห็นชอบกับโครงการสร้างเบเธลใหม่ในประเทศกรีซ ห่างจากกรุงเอเธนส์ไปทางเหนือเพียงไม่กี่กิโลเมตร. เนื่องจากผมพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและกรีก ในปี 1990 ผมได้รับเชิญให้กลับไปทำงานในโครงการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ฐานะล่ามให้แก่ครอบครัวผู้รับใช้นานาชาติซึ่งมาทำงานที่นั่น. ผมยังจำความชื่นชมยินดีขณะอยู่ ณ สถานก่อสร้างตอนหกโมงเช้าช่วงหน้าร้อน เมื่อกล่าวต้อนรับพี่น้องชายหญิงชาวกรีกหลายร้อยคนที่อาสาเข้ามาทำงานกับครอบครัวก่อสร้าง! ความเบิกบานยินดีและความกระตือรือร้นของอาสาสมัครเหล่านี้จะติดตรึงใจผมตลอดไป.
บาทหลวงนิกายกรีกออร์โทด็อกซ์และพรรคพวกที่สนับสนุนพยายามบุกรุกเข้ามาในบริเวณก่อสร้างและขัดขวางการงานของเรา แต่พระยะโฮวาทรงสดับคำอธิษฐานของพวกเราและให้การปกป้องคุ้มครอง. ผมอยู่ทำงานที่โครงการก่อสร้างจนกระทั่งได้เห็นการอุทิศบ้านเบเธลแห่งใหม่เมื่อวันที่ 13 เมษายน 1991.
ให้การอุดหนุนเกื้อกูลพี่สาวผู้เป็นที่รักของผม
ปีถัดมา ผมเดินทางกลับไปพักร้อนที่ประเทศอังกฤษ อาศัยอยู่กับพี่สาวและสามีของเธอ. น่าเศร้า ช่วงที่ผมอยู่ที่นั่น พี่เขยผมเกิดอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสองครั้งและเสียชีวิตในที่สุด. โจนเคยเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนผมตลอดสมัยที่ผมรับใช้เป็นมิชชันนารี. เธอเขียนจดหมายให้กำลังใจผมแทบทุกสัปดาห์ทีเดียว. การติดต่อด้วยวิธีดังกล่าวเป็นพระพรเสียจริง ๆ สำหรับมิชชันนารีไม่ว่าใครก็ตาม! มาบัดนี้ เธอเป็นม่าย แถมสุขภาพไม่แข็งแรงและต้องการความช่วยเหลือ. ผมจะทำอย่างไร?
ลูกสาวของโจนคือเทลมา และสามีของเธอให้การช่วยเหลือดูแลหญิงม่ายคนหนึ่งที่ซื่อสัตย์ในประชาคมซึ่งป่วยหนัก นับญาติเธอก็เป็นลูกพี่ลูกน้องกับผม. หลังจากเพียรอธิษฐานมากมาย ผมจึงตัดสินใจจะอยู่ช่วยดูแลโจน. การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ง่าย แต่ผมก็ได้รับสิทธิพิเศษให้รับใช้ฐานะผู้ปกครองในประชาคมเพนมิลล์ หนึ่งในสองประชาคมที่เมืองโยวิล.
พวกพี่น้องในต่างประเทศที่เคยรับใช้ด้วยกันมักติดต่อผมเป็นประจำทั้งทางโทรศัพท์และทางจดหมาย และเรื่องนั้นผมรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมาก. เมื่อใดที่ผมปรารถนาจะกลับไปประเทศกรีซหรือไซปรัส ผมรู้ว่าพวกพี่น้องจะส่งตั๋วเดินทางให้ผมทันที. แต่อายุผมปาเข้าไปตั้ง 80 ปีแล้ว และสายตาหรือสุขภาพร่างกายของผมก็ไม่เหมือนเดิม. ผมรู้สึกคับข้องใจไม่น้อยที่ไม่กระฉับกระเฉงอย่างแต่ก่อน แต่ชีวิตแบบที่เคยอยู่ในเบเธลหลายปีช่วยผมพัฒนานิสัยหลายอย่างซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตัวเองเวลานี้. ตัวอย่างเช่น ผมอ่านข้อคัมภีร์ประจำวันก่อนอาหารเช้าเสมอ. อนึ่ง ผมเรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตร่วมกับผู้อื่นและรักเขา ซึ่งเป็นเคล็ดสู่ความสำเร็จสำหรับงานมิชชันนารี.
เมื่อมองย้อนหลังไป 60 กว่าปีอันแสนวิเศษซึ่งผมได้ใช้เวลาช่วงนั้นเพื่อการสรรเสริญพระยะโฮวา ผมรู้ว่างานรับใช้เต็มเวลาเป็นสิ่งปกป้องที่ดีที่สุด ทั้งได้เปิดช่องทางการศึกษาที่ดีเลิศ. ผมสามารถสะท้อนอย่างสุดหัวใจด้วยถ้อยคำที่ดาวิดทูลพระยะโฮวาที่ว่า “พระองค์เป็นป้อมอันสูงของข้าพเจ้า, เป็นที่พึ่งพำนักในเวลาทุกข์ยากของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 59:16.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 18 เรื่องราวชีวิตจริงของจอห์น วีนน์ “หัวใจของผมเปี่ยมล้นด้วยความรู้สึกขอบคุณ” มีปรากฏในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กันยายน 1997 หน้า 25-28.
^ วรรค 23 เมื่อก่อนรู้จักกันด้วยชื่อคอนโซเลชัน.
^ วรรค 41 โปรดดู หอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ธันวาคม 1998 หน้า 20-21, และ 1 กันยายน 1993 หน้า 27-31; ตื่นเถิด! (ภาษาอังกฤษ) 8 มกราคม 1998 หน้า 21-22, และ 22 มีนาคม 1997 หน้า 14-15.
[แผนที่หน้า 24]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
กรีซ
เอเธนส์
ไซปรัส
นิโคเซีย
คิรีเนีย
ฟามากุสทา
ลิมัสซอล
[ภาพหน้า 21]
คุณแม่ ปี 1915
[ภาพหน้า 22]
ปี 1946 ณ ดาดฟ้าหลังคาเบเธลบรุกลิน ผู้เล่า (คนที่สี่นับจากซ้าย) พร้อมกับพี่น้องคนอื่น ๆ ที่สำเร็จจากโรงเรียนกิเลียดรุ่นที่แปด
[ภาพหน้า 23]
กับน้ามิลลีหลังจากกลับไปประเทศอังกฤษครั้งแรก