“อาจต้องทนเจ็บเอาหน่อยนะ”
“อาจต้องทนเจ็บเอาหน่อยนะ”
คุณเคยได้ยินคำพูดดังกล่าวไหม? บางทีแพทย์หรือพยาบาลอาจจะพูดทำนองนี้ก่อนลงมือรักษาตามที่มีการเสนอแนะ.
คุณคงไม่ปฏิเสธการรักษาเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดที่คงจะต้องมี. ทว่าคุณจะยอมทนเจ็บเพื่อจะได้ประโยชน์จากการมีสุขภาพดีในอนาคต. ในกรณีที่เป็นความเจ็บป่วยร้ายแรง การยอมรับหรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่อาจสร้างความเจ็บปวดอาจหมายถึงชีวิตหรือความตายก็ได้.
แม้เราอาจไม่ต้องรับการเอาใจใส่จากแพทย์อยู่เสมอ แต่เราทุกคนฐานะมนุษย์ไม่สมบูรณ์จำเป็นต้องได้รับการตีสอนหรือแก้ไข ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เจ็บปวดด้วยซ้ำ. (ยิระมะยา 10:23) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่เด็ก ๆ ต้องได้รับการตีสอนว่า “ความโฉดเขลาผูกพันอยู่กับหัวใจของเด็กชาย; ไม้เรียวแห่งการตีสอนคือสิ่งที่จะขับไล่มันให้ห่างจากเขา.”—สุภาษิต 22:15, ล.ม.
ไม้เรียวในกรณีนี้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงอำนาจบิดามารดา. เป็นความจริงที่ว่ามีเด็กไม่กี่คนชอบการตีสอน. หากการว่ากล่าวควบคู่ไปกับการลงโทษบางอย่าง เด็กอาจรู้สึกขุ่นเคืองใจ. อย่างไรก็ดี บิดามารดาที่สุขุมรอบคอบและรักบุตรย่อมไม่มองแค่ความรู้สึกเจ็บใจของบุตร แต่มองไปถึงสวัสดิภาพในระยะยาวของเขา. บิดามารดาคริสเตียนทราบว่าพระคำของพระเจ้าเป็นความจริงที่กล่าวว่า “ไม่มีการตีสอนใดดูเหมือนน่าชื่นใจเมื่อได้รับอยู่ แต่น่าเศร้าใจ; กระนั้นในภายหลังผู้ที่ได้รับการฝึกโดยการตีสอนก็ได้ผลที่ก่อให้เกิดสันติสุข คือความชอบธรรม.”—เฮ็บราย 12:11, ล.ม.; สุภาษิต 13:24.
แน่นอน ไม่ใช่เฉพาะเด็ก ๆ ฝ่ายเดียวที่จำต้องรับการตีสอน. ผู้ใหญ่ก็ต้องรับการตีสอนเช่นกัน. คำกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลใช้หมายถึงผู้ใหญ่เมื่อกล่าวว่า “จงยึดคำสั่งสอน [“การตีสอน,” ล.ม.] ไว้ให้มั่น; อย่าปล่อยเสียเลย; จงรักษาไว้ให้ดี; เพราะว่านั่นคือชีวิตของเจ้า.” (สุภาษิต 4:13) ใช่แล้ว คนฉลาด ไม่ว่าหนุ่มหรือชราภาพย่อมรับเอาการตีสอนที่ยึดหลักคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการป้องกันรักษาชีวิตของเขาไว้ในที่สุด.