การประชุมที่เร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี
“จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น”
การประชุมที่เร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี
จากโทรอนโตถึงโตเกียว, จากมอสโกถึงมอนเตวิเดโอ—สัปดาห์ละหลายครั้ง พยานพระยะโฮวานับล้าน ๆ คนกับมิตรสหายหลั่งไหลมายังสถานที่นมัสการของพวกเขา. คนเหล่านี้รวมเอาหัวหน้าครอบครัวที่ทำงานหนักซึ่งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหลังจากทำงานมาทั้งวัน; ภรรยาและมารดาที่ขยันขันแข็งมาพร้อมกับลูกเล็ก ๆ; หนุ่มสาวที่มีกำลังวังชาซึ่งใช้เวลาทั้งวันที่โรงเรียน; ผู้สูงอายุที่อ่อนแอซึ่งเดินช้า ๆ เนื่องจากความเจ็บปวด; แม่ม่ายกับลูกกำพร้าที่เข้มแข็ง; และผู้ที่ซึมเศร้าซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปลอบโยน.
พยานพระยะโฮวาเหล่านี้ใช้วิธีการเดินทางหลายแบบ—มีตั้งแต่รถไฟความเร็วสูงไปจนถึงลา ตั้งแต่ตู้รถไฟใต้ดินที่แออัดยัดเยียดไปจนถึงรถบรรทุก. บางคนต้องข้ามแม่น้ำที่มีจระเข้ชุม ขณะที่คนอื่น ๆ ต้องทนกับการจราจรที่ทำให้ประสาทเครียดของเมืองใหญ่ ๆ. ทำไมคนเหล่านี้ทั้งหมดใช้ความพยายามมากถึงเพียงนั้น?
ประการแรกเนื่องจากการเข้าร่วมและมีส่วนในการประชุมคริสเตียนเป็นวิธีสำคัญที่จะนมัสการพระยะโฮวาพระเจ้า. (เฮ็บราย 13:15) อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงเหตุผลเพิ่มอีกเมื่อท่านเขียนว่า “ให้เราพิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกัน . . . แต่ชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) ในที่นี้เปาโลกล่าวซ้ำความรู้สึกของดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ซึ่งร้องเพลงว่า “ข้าพเจ้ามีใจยินดีขณะเขาได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า, ให้เราไปยังพระวิหารของพระยะโฮวาเถิด.”—บทเพลงสรรเสริญ 122:1.
ทำไมคริสเตียนจึงชื่นชมยินดีในการอยู่ร่วม ณ การประชุมต่าง ๆ ของพวกเขา? เพราะคนเหล่านั้นที่เข้าร่วมประชุมมิใช่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น การประชุมทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะรู้จักกันและกัน. โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมกันเหล่านี้จัดให้มีโอกาสที่จะให้ มิใช่เพียงแต่รับเท่านั้น และที่จะเร้าใจกันและกันให้แสดงความรักและเข้าร่วมในการงานที่ดี. นี่ช่วยให้การประชุมเป็นโอกาสที่เสริมสร้างกันขึ้น. นอกจากนี้ การประชุมคริสเตียนเป็นวิธีหนึ่งที่พระเยซูทรงทำตามคำสัญญาของพระองค์ที่ว่า “จงมาหาเรา และเราจะทำให้เจ้าทั้งหลายสดชื่น.”—มัดธาย 11:28, ล.ม.
โอเอซิสแห่งการปลอบโยนและความห่วงใย
พยานพระยะโฮวามีเหตุผลฟังขึ้นที่จะถือว่าการประชุมของพวกเขาทำให้สดชื่น. ประการหนึ่ง ณ การประชุมต่าง ๆ มีการแจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะโดย “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45, ล.ม.) การประชุมยังมีบทบาทสำคัญด้วยในการทำให้ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาเป็นผู้สอนพระคำของพระเจ้าที่มีทักษะและมีใจแรงกล้า. นอกจากนี้ ณ หอประชุม คนเราสามารถพบกลุ่มมิตรสหายที่มีความรัก, ความห่วงใย, และใส่ใจด้วย ผู้ซึ่งอยู่พร้อมและเต็มใจจะช่วยเหลือและปลอบโยนคนอื่นในยามที่มีความทุกข์ร้อน.—2 โกรินโธ 7:5-7.
นี่เป็นประสบการณ์ของฟิลลิส แม่ม่ายซึ่งได้สูญเสียสามีไปตอนที่ลูกของเธออายุห้าและแปดขวบ. เธอพรรณนาถึงผลที่ทำให้สดชื่นซึ่งเธอกับลูกน้อยได้รับจากการประชุมคริสเตียนนั้นว่า “การไปหอประชุมทำให้ดิฉันได้รับการปลอบโยนเพราะเพื่อนร่วมความเชื่อแสดงความรักและความห่วงใยเสมอโดยการสวมกอด, ให้ข้อคิดจากพระคัมภีร์, หรือการบีบมือด้วยความรักใคร่อย่างอบอุ่น. ดิฉันต้องการอยู่ที่หอประชุมเสมอ.”—1 เธซะโลนิเก 5:14.
หลังจากมารีได้รับการผ่าตัดใหญ่ แพทย์ซึ่งรักษาเธอบอกว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยหกสัปดาห์กว่าเธอจะหายเป็นปกติ. ระหว่างช่วงสัปดาห์ต้น ๆ ของการพักฟื้น มารีไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้. แพทย์ได้สังเกตว่าเธอไม่ร่าเริงเหมือนก่อน. เมื่อเขารู้ว่าเธอไม่ได้เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ เขาจึงสนับสนุนเธอให้ไปประชุม. มารีตอบว่าสามีของเธอซึ่งไม่ได้มีความเชื่อเหมือนเธอ คงจะไม่เต็มใจให้เธอไปประชุมเนื่องจากเป็นห่วงสุขภาพของเธอ. ดังนั้น แพทย์จึงเขียนใบสั่งยาอย่างเป็นทางการ “สั่ง” ให้มารีไปหอประชุมเพื่อได้รับกำลังใจและมีการคบหาสมาคมที่เสริมสร้าง. มารีสรุปว่า “หลังจากเข้าร่วมการประชุมครั้งหนึ่ง ดิฉันรู้สึกดีขึ้นมากทีเดียว. ดิฉันเริ่มรับประทานอาหาร, นอนหลับตลอดคืน, ไม่ต้องกินยาแก้ปวดบ่อย ๆ, และดิฉันยิ้มได้อีก!”—สุภาษิต 16:24.
บรรยากาศที่เปี่ยมด้วยความรักของการประชุมคริสเตียนมิได้พ้นสายตาคนภายนอก. นักศึกษาวิทยาลัยคนหนึ่งตัดสินใจที่จะเฝ้าสังเกตดูพยานพระยะโฮวาเพื่อจะเขียนรายงานสำหรับชั้นเรียนเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยา. เธอได้เขียนเกี่ยวกับบรรยากาศ ณ การประชุมในรายงานของเธอว่า “การต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ดิฉันได้รับ . . . [เป็น] เรื่องน่าประทับใจมาก . . . . ไมตรีจิตของพยานพระยะโฮวาเป็นคุณลักษณะที่โดดเด่นจริง ๆ และเป็นสิ่งที่ดิฉันรู้สึกว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดของที่นั่น.”—1 โกรินโธ 14:25.
ในโลกที่ทุกข์ยากนี้ ประชาคมคริสเตียนเป็นโอเอซิสฝ่ายวิญญาณ. เป็นแหล่งที่มีสันติสุขและความรัก. โดยเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ คุณเองจะประสบความจริงแห่งถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญที่ว่า “ดูเถิด! นับว่าดีและน่าชื่นชมสักเพียงไรที่พวกพี่น้องอยู่ร่วมกันเป็นเอกภาพ!”—บทเพลงสรรเสริญ 133:1, ล.ม.
[กรอบหน้า 25]
การสนองความต้องการพิเศษ
คนหูหนวกจะรับประโยชน์จากการประชุมคริสเตียนได้อย่างไร? ตลอดทั่วโลก พยานพระยะโฮวากำลังก่อตั้งประชาคมภาษามือขึ้น. ระหว่าง 13 ปีที่แล้ว มีการตั้งประชาคมภาษามือขึ้น 27 ประชาคมและกลุ่มที่ใช้ภาษามืออีก 43 กลุ่มในสหรัฐ. อย่างน้อยในอีก 40 ประเทศ ปัจจุบันมีประชาคมภาษามือประมาณ 140 ประชาคม. มีการเตรียมสิ่งพิมพ์คริสเตียนต่าง ๆ บนวีดิทัศน์เป็นภาษามือ 13 ภาษา.
ประชาคมคริสเตียนเสนอโอกาสให้คนหูหนวกสรรเสริญพระยะโฮวา. ออดีล อดีตคาทอลิกคนหนึ่งในฝรั่งเศสซึ่งทนทุกข์จากความซึมเศร้าอย่างรุนแรงหลายครั้งและเคยคิดฆ่าตัวตาย รู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่เธอได้รับ ณ การประชุมคริสเตียน. เธอกล่าวว่า “ดิฉันกลับมีสุขภาพดีดังเดิมและมีความยินดีในชีวิต. แต่เหนือสิ่งอื่นใด ดิฉันพบความจริง. ตอนนี้ชีวิตดิฉันมีจุดมุ่งหมาย.”