ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คุณสามารถเอาชนะความว้าเหว่ได้

คุณสามารถเอาชนะความว้าเหว่ได้

คุณ​สามารถ​เอา​ชนะ​ความ​ว้าเหว่​ได้

ใคร​หรือ​อาจ​อ้าง​ได้​ว่า​ตน​ไม่​เคย​รู้สึก​ปวด​ร้าว​เนื่อง​จาก​อยู่​โดด​เดี่ยว​เดียว​ดาย? มี​ปัจจัย​หลาย​อย่าง​อาจ​ทำ​ให้​เรา​รู้สึก​อ้างว้าง. โดย​เฉพาะ​ความ​รู้สึก​ว้าเหว่​อ้างว้าง​ที่​อาจ​เกิด​ขึ้น​กับ​ผู้​หญิง​ที่​ไม่​เคย​แต่งงาน, หรือ​เป็น​ม่าย, หรือ​เลิก​กับ​สามี.

ยก​ตัว​อย่าง คริสเตียน​สาว​คน​หนึ่ง​ชื่อ​ฟรานเซส เล่า​ว่า “ตอน​ที่​ฉัน​อายุ 23 ดู​เหมือน​ว่า​เพื่อน ๆ ของ​ฉัน​แต่งงาน​กัน​หมด​ทุก​คน เหลือ​ฉัน​อยู่​คน​เดียว.” * ความ​รู้สึก​ว้าเหว่​อาจ​เพิ่ม​ขึ้น​ตาม​อายุ และ​ความ​หวัง​ว่า​จะ​ได้​แต่งงาน​ก็​ลด​น้อย​ลง​ทุก​ที. แซนดรา​ซึ่ง​อายุ​เกือบ 50 แล้ว​ยอม​รับ​ว่า “ดิฉัน​ไม่​ได้​ตั้งใจ​จะ​อยู่​เป็น​โสด และ​ดิฉัน​อยาก​แต่งงาน​หาก​มี​โอกาส.” แอนเจลา ใน​วัย 50 เศษ ๆ บอก​ว่า “ฉัน​ไม่​ได้​ปลง​ใจ​จะ​อยู่​เป็น​โสด​หรอก แต่​ที่​เป็น​ไป​อย่าง​นี้​เพราะ​สภาพการณ์​ต่าง​หาก. ใน​เขต​ที่​ฉัน​ได้​รับ​มอบหมาย​ให้​เป็น​ไพโอเนียร์​พิเศษ มี​พี่​น้อง​ชาย​ที่​เป็น​โสด​เพียง​ไม่​กี่​คน.”

น่า​ชมเชย​ที่​สตรี​คริสเตียน​หลาย​คน​สมัคร​ใจ​ไม่​แต่งงาน​เพราะ​เขา​เชื่อ​ฟัง​คำ​แนะ​นำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ภักดี​ที่​ให้​สมรส​กับ “ผู้​ที่​เชื่อถือ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” เท่า​นั้น. (1 โกรินโธ 7:39) บาง​คน​ปรับ​ตัว​ได้​ดี​เพื่อ​คง​ความ​เป็น​โสด แต่​มี​บาง​คน​รู้สึก​ว่า​ยิ่ง​เวลา​ผ่าน​ไป ความ​ปรารถนา​จะ​แต่งงาน​และ​มี​บุตร​นั้น​ยิ่ง​ทวี​ขึ้น. แซนดรา​สารภาพ​ว่า “ดิฉัน​ยัง​รู้สึก​เหงา​เปล่าเปลี่ยว​อยู่​เรื่อย​มา​เพราะ​ขาด​คู่​ชีวิต.”

ปัจจัย​อื่น ๆ เช่น ภาระ​ใน​การ​ดู​แล​พ่อ​แม่​ที่​แก่​ชรา​อาจ​ตอก​ย้ำ​ความ​รู้สึก​อ้างว้าง​ให้​มาก​ขึ้น. แซนดรา​พูด​ว่า “เพราะ​ดิฉัน​ไม่​แต่งงาน คน​ใน​ครอบครัว​ต่าง​ก็​คาด​หมาย​ให้​ดิฉัน​ดู​แล​พ่อ​แม่​ที่​แก่​ชรา. ถึง​แม้​ว่า​ดิฉัน​มี​พี่​น้อง​ถึง​หก​คน​ด้วย​กัน​ก็​ตาม ดิฉัน​เป็น​ฝ่าย​แบก​ภาระ​หนัก​นี้​มา 20 ปี​แล้ว. ชีวิต​คง​ราบรื่น​กว่า​นี้​มาก​หาก​มี​สามี​ซึ่ง​คอย​ช่วยเหลือ​เกื้อ​หนุน​ดิฉัน.”

ฟรานเซส​พูด​อีก​แง่​มุม​หนึ่ง​ที่​เพิ่ม​ความ​รู้สึก​อ้างว้าง​ให้​แก่​เธอ. เธอ​เล่า​ว่า “บาง​ครั้ง​มี​คน​ถาม​ฉัน​ตรง ๆ ว่า ‘ทำไม​คุณ​ไม่​แต่งงาน​สัก​ที?’ คำ​พูด​แบบ​นี้​ทำ​ให้​ดิฉัน​รู้สึก​ว่า​การ​เป็น​โสด​นั้น​เป็น​ความ​ผิด​ของ​ตัว​เอง​ไม่​ทาง​ใด​ก็​ทาง​หนึ่ง. แทบ​ทุก​ครั้ง​ที่​ดิฉัน​ไป​ร่วม​งาน​สมรส บาง​คน​ถาม​คำ​ถาม​ที่​ดิฉัน​กลัว​จะ​ได้​ยิน เช่น ‘เมื่อ​ไร​คุณ​จะ​แต่งงาน​เสีย​ที?’ แล้ว​ฉัน​ก็​เริ่ม​คิด ‘ถ้า​ผู้​ชาย​ที่​ฝักใฝ่​ฝ่าย​วิญญาณ​ไม่​สนใจ​ดิฉัน อาจ​เป็น​เพราะ​ดิฉัน​ขาด​คุณสมบัติ​ที่​จำเป็น​แบบ​คริสเตียน หรือ​ฉัน​อาจ​ขาด​เสน่ห์​ดึงดูด​ใจ​ก็​ได้.’”

จะ​พิชิต​ความ​รู้สึก​เดียว​ดาย​และ​ว้าเหว่​ได้​อย่าง​ไร? คน​อื่น​สามารถ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​ให้​ความ​ช่วยเหลือ?

หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา

ผู้​ประพันธ์​เพลง​สรรเสริญ​ร้อง​เพลง​ดัง​นี้: “จง​มอบ​ภาระ​ของ​ท่าน​ไว้​กับ​พระ​ยะโฮวา และ​พระองค์​เอง​จะ​ทรง​ค้ำจุน​ท่าน. ไม่​มี​วัน​ที่​พระองค์​จะ​ทรง​ยอม​ให้​คน​ชอบธรรม​กะปลกกะเปลี้ยเลย.” (บทเพลง​สรรเสริญ 55:22, ล.ม.) คำ “ภาระ” ใน​ภาษา​ฮีบรู​ตาม​ตัว​อักษร​หมาย​ถึง “ความ​เป็น​ไป​ของ​ชีวิต” และ​คำ​นี้​พาด​พิง​ถึง​ความ​รับผิดชอบ​และ​ความ​วิตก​กังวล​ที่​เรา​ทน​รับ​เอา เนื่อง​จาก​ความ​เป็น​ไป​ของ​ชีวิต. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ทราบ​เรื่อง​ภาระ​ต่าง ๆ เหล่า​นี้​ดี​ยิ่ง​กว่า​ใคร​อื่น​และ​สามารถ​ประทาน​กำลัง​แก่​เรา​เพื่อ​รับมือ​ใน​เรื่อง​ภาระ​เหล่า​นี้​ได้. เพราะ​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​นี้​เอง แอนเจลา​จึง​เอา​ชนะ​ความ​รู้สึก​ว้าเหว่​ได้. เมื่อ​พูด​ถึง​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา เธอ​เล่า​ว่า “ตอน​ที่​ฉัน​เริ่ม​งาน​ไพโอเนียร์ ฉัน​กับ​เพื่อน​ร่วม​งาน​พัก​อยู่​ห่าง​ไกล​ประชาคม​ที่​อยู่​ใกล้​ที่​สุด. เรา​ได้​เรียน​รู้​การ​ที่​ต้อง​หมาย​พึ่ง​พระ​ยะโฮวา​เต็ม​ที่ และ​ความ​ไว้​วางใจ​เช่น​นี้​ช่วย​ฉัน​มา​ตลอด​ชีวิต. ครา​ใด​ที่​ฉัน​มี​แง่​คิด​ใน​ทาง​ลบ ฉัน​จะ​พูด​กับ​พระ​ยะโฮวา​และ​พระองค์​ทรง​ช่วย​ฉัน. เพลง​สรรเสริญ​บท 23 ปลอบ​ประโลม​ได้​อย่าง​วิเศษ​เสมอ และ​ฉัน​อ่าน​บท​นี้​บ่อย ๆ.”

อัครสาวก​เปาโล​ต้อง​แบก​ภาระ​อย่าง​หนึ่ง​ที่​หนัก​อึ้ง​ที​เดียว. อย่าง​น้อย​ก็​สาม​ครั้ง ท่าน ‘ได้​อธิษฐาน​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ให้​เสี้ยน​หนาม​ใน​เนื้อหนัง​หลุด​ไป​จาก​ท่าน.’ เปาโล​ไม่​ได้​รับ​การ​ช่วย​โดย​วิธี​อัศจรรย์ หาก​แต่​ท่าน​ได้​รับ​คำ​สัญญา​ว่า​ความ​กรุณา​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ​ของ​พระเจ้า​จะ​ค้ำจุน​ท่าน. (2 โกรินโธ 12:7-9) อนึ่ง เปาโล​เรียน​รู้​เคล็ดลับ​ของ​ความ​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ​ด้วย. ใน​เวลา​ต่อ​มา​ท่าน​เขียน​ว่า “ใน​ทุก​สิ่ง​และ​ใน​ทุก​สภาพการณ์​ข้าพเจ้า​ได้​เรียน​รู้​เคล็ดลับ​ทั้ง​ที่​จะ​อิ่ม​และ​ที่​จะ​อด ทั้ง​ที่​จะ​มี​บริบูรณ์​และ​ที่​จะ​ขาด​แคลน. ข้าพเจ้า​มี​กำลัง​สำหรับ​ทุก​สิ่ง​โดย​พระองค์​ผู้​ทรง​ประทาน​พลัง​ให้​ข้าพเจ้า.”—ฟิลิปปอย 4:12, 13, ล.ม.

เมื่อ​รู้สึก​ท้อ​แท้​หรือ​ว้าเหว่​คน​เรา​จะ​ได้​กำลัง​จาก​พระเจ้า​โดย​วิธี​ใด? เปาโล​เขียน​ว่า “อย่า​กระวนกระวาย​ด้วย​สิ่ง​ใด แต่​ใน​ทุก​สิ่ง​จง​ทูล​ขอ​ต่อ​พระเจ้า​โดย​การ​อธิษฐาน​และ​การ​วิงวอน​พร้อม​ด้วย​การ​ขอบพระคุณ; แล้ว​สันติ​สุข​แห่ง​พระเจ้า​ที่​เหนือ​กว่า​ความ​คิด​ทุก​อย่าง​จะ​ป้องกัน​รักษา​หัวใจ​และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด​ของ​ท่าน​ไว้​โดย​พระ​คริสต์​เยซู.” (ฟิลิปปอย 4:6, 7, ล.ม.) แซนดรา​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​นี้. เธอ​ชี้​แจง​ว่า “เนื่อง​จาก​ดิฉัน​อยู่​เป็น​โสด​จึง​ใช้​เวลา​ตาม​ลำพัง​ได้​มาก. ฉะนั้น โอกาส​จะ​อธิษฐาน​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​จึง​มี​เหลือ​เฟือ. ดิฉัน​รู้สึก​ใกล้​ชิด​พระองค์​มาก​และ​สามารถ​ทูล​แก่​พระองค์​ได้​อย่าง​ไม่​อั้น​เกี่ยว​กับ​ปัญหา​ต่าง ๆ และ​ความ​ยินดี​ของ​ตัว​เอง.” และ​ฟรานเซส​บอก​ว่า “การ​ต่อ​สู้​กับ​ความ​คิด​ด้าน​ลบ​โดย​ลำพัง​ตัว​เอง​นั้น​เป็น​เหมือน​การ​เข็น​ครก​ขึ้น​ภูเขา. แต่​ครั้น​ได้​เผย​ความ​รู้สึก​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​แล้ว​ช่วย​ได้​มาก​จริง ๆ. ดิฉัน​เชื่อ​มั่น​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​สน​พระทัย​ใน​สิ่ง​ที่​อาจ​กระทบ​กระเทือน​สวัสดิภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​ทาง​ด้าน​อารมณ์​ของ​ดิฉัน.”—1 ติโมเธียว 5:5.

“จง​แบก​ภาระ​หนัก​ของ​กัน​และ​กัน​ต่อ​ไป”

ท่ามกลาง​ภราดรภาพ​ของ​คริสเตียน ไม่​จำเป็น​ต้อง​แบก​ภาระ​หนัก​ต่าง ๆ ตาม​ลำพัง. อัครสาวก​เปาโล​กระตุ้น​เตือน​ดัง​นี้: “จง​แบก​ภาระ​หนัก​ของ​กัน​และ​กัน​ต่อ​ไป ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​บรรลุ​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​คริสต์.” (ฆะลาเตีย 6:2, ล.ม.) โดย​การ​คบหา​สมาคม​กับ​เพื่อน​คริสเตียน เรา​ย่อม​ได้​รับ “ถ้อย​คำ​ที่​ดี” ซึ่ง​ให้​กำลังใจ สามารถ​ทำ​ให้​ภาระ​หนัก​เนื่อง​ด้วย​การ​อยู่​เดียว​ดาย​เบา​ลง​ได้.—สุภาษิต 12:25, ล.ม.

ขอ​พิจารณา​สิ่ง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​พูด​เกี่ยว​กับ​ลูก​สาว​ของ​ยิพธา ผู้​วินิจฉัย​ชาว​อิสราเอล​ด้วย​เช่น​กัน. ก่อน​ยิพธา​มี​ชัย​ชนะ​กอง​กำลัง​อัมโมน​ซึ่ง​เป็น​ฝ่าย​ศัตรู ท่าน​ได้​ปฏิญาณ​ไว้​ว่า​บุคคล​แรก​ใน​ครัว​เรือน​ที่​ออก​มา​ต้อนรับ​เมื่อ​ท่าน​มี​ชัย​กลับ​มา ท่าน​จะ​มอบ​ถวาย​ผู้​นั้น​แด่​พระ​ยะโฮวา. ปรากฏ​ว่า​ผู้​นั้น​คือ​ลูก​สาว​ของ​ท่าน. (วินิจฉัย 11:30, 31, 34-36) ถึง​แม้​ว่า​นั่น​จะ​หมาย​ถึง​การ​ที่​เธอ​ต้อง​อยู่​เป็น​โสด​ตลอด​ไป และ​เลิก​คิด​ถึง​การ​มี​ครอบครัว​ซึ่ง​ถือ​ว่า​เป็น​เรื่อง​ปกติ กระนั้น ลูก​สาว​ยิพธา​ยอม​ทำ​ตาม​คำ​ปฏิญาณ​ของ​บิดา​ด้วย​ความ​เต็ม​ใจ และ​ได้​รับใช้​ที่​สถาน​ศักดิ์สิทธิ์​ใน​เมือง​ซีโล​ตลอด​ชีวิต​ของ​เธอ. การ​เสีย​สละ​ของ​เธอ​ถูก​มอง​ข้าม​หรือ​เปล่า? ไม่​เลย. “ปี​แล้ว​ปี​เล่า​บุตร​สาว​ชาว​อิสราเอล​จะ​ไป​พูด​จา​ชมเชย​ลูก​สาว​ของ​ยิพธา​ชาว​เมือง​ฆีละอาด ปี​ละ​สี่​วัน.” (วินิจฉัย 11:40, ล.ม.) ใช่​แล้ว การ​พูด​ชมเชย​ย่อม​หนุน​กำลังใจ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ได้​รับ​คำ​ชม. เพราะ​ฉะนั้น ขอ​อย่า​ลืม​พูด​ชมเชย​บรรดา​ผู้​ที่​สม​ควร​ได้​รับ​คำ​ชม.

อนึ่ง เป็น​การ​ดี​ด้วย​หาก​เรา​จะ​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู. แม้​ไม่​ใช่​ธรรมเนียม​ยิว​ที่​ผู้​ชาย​จะ​สนทนา​กับ​ผู้​หญิง กระนั้น พระ​เยซู​ทรง​ใช้​เวลา​กับ​มาเรีย​และ​มาธา. เป็น​ไป​ได้​ว่า​พี่​น้อง​สอง​คน​นี้​อาจ​เป็น​ม่าย​หรือ​ไม่​ได้​แต่งงาน. พระ​เยซูทรง​ประสงค์​จะ​ให้​คน​ทั้ง​สอง​ได้​รับ​ประโยชน์​ฝ่าย​วิญญาณ​เนื่อง​ด้วย​พระองค์​แสดง​ความ​เป็น​มิตร​กับ​เขา. (ลูกา 10:38-42) เรา​สามารถ​เลียน​แบบ​ตัว​อย่าง​ของ​พระ​เยซู​ได้​ด้วย​การ​เชิญ​ชวน​พี่​น้อง​หญิง​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​ไม่​แต่งงาน​เข้า​ร่วม​งาน​สังสรรค์​ที่​เรา​จัด​ขึ้น และ​นัด​หมาย​ไป​ทำ​งาน​ประกาศ​กับ​พวก​เขา. (โรม 12:13) พวก​เขา​หยั่ง​รู้​ค่า​ความ​เอา​ใจ​ใส่​ดัง​กล่าว​ไหม? ซิสเตอร์​คน​หนึ่ง​พูด​ว่า “ฉัน​รู้​ว่า​พี่​น้อง​ชาย​รัก​ฉัน และ​ถือ​ว่า​ฉัน​มี​ค่า แต่​ฉัน​หยั่ง​รู้​ค่า​เมื่อ​พวก​เขา​ให้​ความ​สนใจ​ฉัน​เป็น​ส่วน​ตัว​มาก​ขึ้น.”

แซนดรา​ชี้​แจง​ว่า “เนื่อง​จาก​เรา​ไม่​มี​ครอบครัว เรา​จึง​ต้องการ​อย่าง​ยิ่ง​ที่​จะ​ได้​รับ​ความ​รัก ต้องการ​มี​ความ​รู้สึก​ว่า​เรา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​ครอบครัว​พี่​น้อง​ชาย​หญิง​ฝ่าย​วิญญาณ.” เห็น​ได้​ชัด​ว่า พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใฝ่​พระทัย​คน​เช่น​นั้น และ​พวก​เรา​ร่วม​มือ​กับ​พระองค์​ขณะ​ที่​เรา​ช่วย​ให้​พวก​เขา​เกิด​ความ​รู้สึก​ว่า​ตน​ยัง​เป็น​ที่​ต้องการ​และ​เป็น​ที่​รัก. (1 เปโตร 5:6, 7) ความ​ห่วงใย​ดัง​กล่าว​จะ​ไม่​ถูก​มอง​ข้าม เพราะ “คน​ที่​เอ็นดู​เผื่อแผ่​แก่​คน​ยาก​จน​เปรียบ​เหมือน​ได้​ให้​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยืม​ไป; และ​พระองค์​จะ​ทรง​ตอบ​แทน​คุณ​ความ​ดี​ของ​เขา.”—สุภาษิต 19:17.

“แต่​ละ​คน​จะ​แบก​ภาระ​ของ​ตน​เอง”

แม้​ว่า​คน​อื่น​สามารถ​ช่วย​ได้ และ​การ​เกื้อ​หนุน​ของ​พวก​เขา​หนุน​กำลังใจ​ได้​มาก​จริง ๆ แต่​ว่า “แต่​ละ​คน​จะ​แบก​ภาระ​ของ​ตน​เอง.” (ฆะลาเตีย 6:5, ล.ม.) อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​แบก​ภาระ​ด้าน​ความ​ว้าเหว่ จำเป็น​ที่​เรา​ต้อง​ระมัดระวัง​อันตราย​บาง​อย่าง. ตัว​อย่าง​เช่น ความ​ว้าเหว่​อาจ​ชนะ​เรา​ได้​ถ้า​เรา​เป็น​คน​เก็บ​ตัว. ตรง​กัน​ข้าม เรา​สามารถ​เอา​ชนะ​ความ​ว้าเหว่​ได้​ด้วย​ความ​รัก. (1 โกรินโธ 13:7, 8) การ​ให้​และ​การ​แบ่ง​ปัน​เป็น​แนว​ทาง​ที่​ดี​เยี่ยม​เพื่อ​ประสบ​ความ​สุข ไม่​ว่า​สภาพ​แวด​ล้อม​ของ​เรา​เป็น​อย่าง​ไร​ก็​ตาม. (กิจการ 20:35) ซิสเตอร์​ไพโอเนียร์​ที่​ขยัน​ขันแข็ง​คน​หนึ่ง​พูด​ว่า “ดิฉัน​ไม่​ค่อย​มี​เวลา​มาก​นัก​ที่​จะ​คิด​เรื่อง​ความ​ว้าเหว่. ตราบ​ใด​ที่​ดิฉัน​รู้​ตัว​ว่า​ยัง​ทำ​ประโยชน์​ได้​อยู่​และ​หา​เวลา​ว่าง​ไม่​ค่อย​ได้ ดิฉัน​จึง​ไม่​รู้สึก​ว้าเหว่.”

อีก​อย่าง​หนึ่ง เรา​พึง​ระวัง​ไม่​ปล่อย​ให้​ความ​ว้าเหว่​ผลัก​ดัน​เรา​เข้า​สู่​ความ​สัมพันธ์​ใน​ลักษณะ​ที่​ไม่​ฉลาด​สุขุม. ยก​ตัว​อย่าง น่า​เศร้า​เพียง​ใด​ที่​จะ​ยอม​ให้​ความ​ปรารถนา​อยาก​แต่งงาน​เข้า​มา​บดบัง​สายตา​ของ​เรา​จน​มอง​ไม่​เห็น​ปัญหา​หลาย​อย่าง​ซึ่ง​อาจ​เกิด​ขึ้น​ได้​เนื่อง​จาก​แต่งงาน​กับ​คน​ไม่​มี​ความ​เชื่อ และ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​ทำ​ให้​เรา​มอง​ไม่​เห็น​คำ​แนะ​นำ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ให้​หลีก​เว้น​การ​เข้า​เทียม​แอก​แบบ​นั้น! (2 โกรินโธ 6:14) สตรี​คริสเตียน​คน​หนึ่ง​ที่​หย่าร้าง​แล้ว​บอก​ว่า “มี​สิ่ง​หนึ่ง​ซึ่ง​เลว​ร้าย​ยิ่ง​เสีย​กว่า​การ​อยู่​เป็น​โสด. นั่น​คือ​การ​แต่งงาน​ผิด​คน.”

ปัญหา​ที่​แก้​ไม่​ได้​อาจ​จำ​ต้อง​อด​ทน อย่าง​น้อย​ก็​ระยะ​หนึ่ง. ด้วย​การ​สงเคราะห์​จาก​พระเจ้า ความ​รู้สึก​ว้าเหว่​ก็​อาจ​เป็น​เรื่อง​ที่​ทน​เอา​ได้. ขณะ​ที่​เรา​ยัง​คง​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ต่อ ๆ ไป ขอ​ให้​มั่น​ใจ​เถอะ​ว่า​วัน​หนึ่ง​เรา​จะ​ได้​รับ​สิ่ง​จำเป็น​ทุก​อย่าง​สม​ปรารถนา​ใน​แนว​ทาง​ที่​ดี​ที่​สุด.—บทเพลง​สรรเสริญ 145:16.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 3 ชื่อ​ที่​ยก​มา​อ้าง​เป็น​นาม​สมมุติ.

[ภาพ​หน้า 28]

สามารถ​เอา​ชนะ​ความ​ว้าเหว่​ได้​โดย​การ​ให้​และ​การ​แบ่ง​ปัน