ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

ความร่วมรู้สึก—กุญแจสู่ความกรุณาและความเมตตาสงสาร

ความร่วมรู้สึก—กุญแจสู่ความกรุณาและความเมตตาสงสาร

ความ​ร่วม​รู้สึก—กุญแจ​สู่​ความ​กรุณา​และ​ความ​เมตตา​สงสาร

“ขอ​เพียง​คุณ​สามารถ​บรรเทา​ความ​เจ็บ​ปวด​ของ​ผู้​อื่น​ได้ ชีวิต​ก็​จะ​ไม่​เสีย​เปล่า” เฮเลน เคลเลอร์ เขียน​ไว้​ดัง​นั้น. เฮเลน​คง​ได้​รู้​ซึ้ง​ถึง​ความ​เจ็บ​ปวด​ทาง​อารมณ์​เป็น​อย่าง​ดี. เมื่อ​อายุ​ได้​เพียง​ขวบ​กับ​เจ็ด​เดือน ความ​เจ็บ​ป่วย​ทำ​ให้​ตา​ของ​เธอ​บอด​สนิท​และ​หู​หนวก. กระนั้น ครู​ผู้​มี​ความ​เมตตา​ได้​สอน​เฮเลน​ให้​อ่าน​และ​เขียน​อักษร​เบรลล์ ทั้ง​ยัง​สอน​ให้​เธอ​พูด​ได้​ใน​ที่​สุด.

แอน ซัลลิแวน ครู​ของ​เฮเลน​รู้​ดี​ถึง​ความ​ข้องขัดใจ​ที่​จะ​ต้อง​ต่อ​สู้​กับ​ความ​ทุพพลภาพ​ทาง​กาย. เธอ​เอง​ก็​แทบ​จะ​มอง​ไม่​เห็น. แต่​ด้วย​ความ​อด​ทน​เธอ​ได้​คิด​หา​วิธี​จะ​สื่อสาร​กับ​เฮเลน โดย “สะกด” ตัว​อักษร​ที​ละ​ตัว​บน​มือ​ของ​เฮเลน. เนื่อง​จาก​ถูก​กระตุ้น​ใจ​จาก​ความ​ร่วม​รู้สึก​ที่​ครู​แสดง​ต่อ​เธอ เฮเลน​จึง​ตัดสิน​ใจ​อุทิศ​ชีวิต​ของ​เธอ​เพื่อ​ช่วยเหลือ​คน​ตา​บอด​และ​หู​หนวก. เนื่อง​จาก​เฮเลน​ได้​เอา​ชนะ​ความ​ทุพพลภาพ​ของ​ตน​เอง​ด้วย​ความ​พยายาม​อย่าง​หนัก เธอ​จึง​รู้สึก​เห็น​ใจ​และ​สงสาร​คน​อื่น ๆ ซึ่ง​อยู่​ใน​สภาพการณ์​ที่​คล้ายคลึง​กัน. เธอ​ปรารถนา​จะ​ช่วย​พวก​เขา​เหล่า​นั้น.

คุณ​คง​ได้​สังเกต​อยู่​บ้าง​ว่า ใน​โลก​ที่​เห็น​แก่​ตัว​นี้​เป็น​การ​ง่าย​เพียง​ไร​ที่​จะ “ปิด​ประตู​แห่ง​ความ​เมตตา​สงสาร​อัน​อ่อน​ละมุน​ของ​ตน” และ​เพิกเฉย​ต่อ​ความ​จำเป็น​ของ​ผู้​อื่น. (1 โยฮัน 3:17, ล.ม.) อย่าง​ไร​ก็​ตาม คริสเตียน​ได้​รับ​พระ​บัญชา​ให้​รัก​เพื่อน​บ้าน​ของ​ตน​และ​มี​ความ​รัก​อัน​แรง​กล้า​ต่อ​กัน​และ​กัน. (มัดธาย 22:39; 1 เปโตร 4:8) กระนั้น คุณ​คง​ทราบ​ความ​จริง​ที่​ว่า แม้​เรา​อาจ​ตั้งใจ​เต็ม​ที่​ที่​จะ​รัก​กัน​และ​กัน แต่​บ่อย​ครั้ง​เรา​มัก​มอง​ข้าม​โอกาส​ต่าง ๆ ที่​จะ​บรรเทา​ความ​เจ็บ​ปวด​ของ​คน​อื่น​ไป. นั่น​อาจ​เป็น​เพียง​เพราะ​เรา​ไม่​ทราบ​ว่า​พวก​เขา​มี​ความ​จำเป็น​อะไร. ความ​ร่วม​รู้สึก​จึง​เป็น​กุญแจ​ที่​จะ​ไข​ประตู​ไป​สู่​ความ​กรุณา​และ​ความ​เมตตา​สงสาร​ของ​เรา.

ความ​ร่วม​รู้สึก​คือ​อะไร?

พจนานุกรม​ฉบับ​หนึ่ง​กล่าว​ว่า ความ​ร่วม​รู้สึก​คือ “ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​และ​ความ​เข้าใจ​ใน​สถานการณ์, ความ​รู้สึก, และ​แรง​กระตุ้น​ของ​อีก​คน​หนึ่ง.” ความ​ร่วม​รู้สึก​ยัง​ได้​รับ​การ​พรรณนา​อีก​ด้วย​ว่า​เป็น​ความ​สามารถ​ใน​การ​สมมุติ​ตน​เอง​อยู่​ใน​สถานการณ์​เดียว​กับ​คน​อื่น. ดัง​นั้น สิ่ง​ที่​ความ​ร่วม​รู้สึก​เรียก​ร้อง​คือ ประการ​แรก เรา​ต้อง​เข้าใจ​สภาพการณ์​ของ​ผู้​อื่น และ​ประการ​ที่​สอง เรา​ต้อง​ร่วม​ใน​ความ​รู้สึก​ต่าง ๆ ที่​สภาพการณ์​เหล่า​นั้น​ก่อ​ขึ้น​ใน​ตัว​เขา. ใช่​แล้ว ความ​ร่วม​รู้สึก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ที่​เรา​รู้สึก​ถึง​ความ​เจ็บ​ปวด​ของ​ผู้​อื่น​ใน​หัวใจ​ของ​เรา เอง.

คำ​ว่า “ความ​ร่วม​รู้สึก” ไม่​ปรากฏ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล แต่​ข้อ​คัมภีร์​หลาย​ข้อ​ได้​พาด​พิง​ถึง​คุณสมบัติ​นี้​เป็น​นัย ๆ. อัครสาวก​เปโตร​ได้​แนะ​นำ​คริสเตียน​ให้​แสดง ‘ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ ความ​รักใคร่​ฉัน​พี่​น้อง​และ​ความ​เมตตา​สงสาร.’ (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) คำ​ภาษา​กรีก​ที่​ได้​รับ​การ​แปล​ว่า “ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ” มี​ความ​หมาย​ตาม​ตัว​อักษร​ว่า “ร่วม​ทุกข์​ด้วย​กัน​กับ​ผู้​อื่น” หรือ “มี​ความ​เมตตา​สงสาร.” อัครสาวก​เปาโล​แนะ​ให้​มี​ความ​รู้สึก​ที่​คล้าย​กัน​นั้น​ด้วย​เมื่อ​ท่าน​กระตุ้น​เตือน​เพื่อน​คริสเตียน​ให้ ‘มี​ใจ​ยินดี​ด้วย​กัน​กับ​ผู้​ที่​มี​ความ​ยินดี ร้องไห้ด้วย​กัน​กับ​ผู้​ที่​ร้องไห้.’ และ​ท่าน​เสริม​อีก​ว่า “จง​เป็น​น้ำ​หนึ่ง​ใจ​เดียว​กัน.” (โรม 12:15, 16) และ​คุณ​ไม่​เห็น​ด้วย​หรอก​หรือ​ว่า แทบ​จะ​เป็น​ไป​ไม่​ได้​ที่​จะ​รัก​เพื่อน​บ้าน​ของ​เรา​เหมือน​ที่​เรา​รัก​ตัว​เอง หาก​เรา​ไม่​สมมุติ​ตัว​เอง​อยู่​ใน​สถานการณ์​อย่าง​เขา?

โดย​ธรรมชาติ​แล้ว​ผู้​คน​ส่วน​ใหญ่​มี​ความ​ร่วม​รู้สึก​ใน​ระดับ​หนึ่ง. ใคร​บ้าง​จะ​ไม่​ถูก​กระตุ้น​ใจ​เมื่อ​เห็น​ภาพ​ที่​ทำ​ให้​หดหู่​ใจ เช่น​ภาพ​ของ​เด็ก ๆ ที่​อดอยาก​หิว​โหย​หรือ​ผู้​อพยพ​ที่​กลัดกลุ้ม? หรือ​มารดา​ที่​มี​ความ​รัก​คน​ใด​จะ​ทน​นิ่ง​เฉย​ต่อ​เสียง​สะอื้น​ไห้​ของ​บุตร​ได้? กระนั้น มิ​ใช่​ความ​ทุกข์​ทั้ง​หมด​จะ​สังเกต​เห็น​ได้​ใน​ทันที. เป็น​การ​ยาก​เพียง​ไร​ที่​จะ​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​ใคร​สัก​คน​ที่​กำลัง​ประสบ​ความ​ซึมเศร้า, อุปสรรค​ทาง​กาย​ที่​ซ่อน​เร้น​อย่าง​ใด​อย่าง​หนึ่ง, หรือ​แม้​แต่​ผู้​ที่​มี​ความ​ผิด​ปกติ​ด้าน​การ​กิน หาก​เรา​ไม่​เคย​ประสบ​ปัญหา​เช่น​นั้น​ด้วย​ตน​เอง! อย่าง​ไร​ก็​ตาม พระ​คัมภีร์​แสดง​ว่า​เรา​สามารถ​พัฒนา​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ต่อ​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​เรา​ไม่​ได้​อยู่​ใน​สภาพ​เดียว​กับ​เขา​ได้​และ​เรา​ควร​ทำ​เช่น​นั้น.

ตัว​อย่าง​ความ​ร่วม​รู้สึก​ใน​พระ​คัมภีร์

พระ​ยะโฮวา​ทรง​เป็น​ตัว​อย่าง​อัน​ยอด​เยี่ยม​สำหรับ​พวก​เรา​ใน​เรื่อง​การ​แสดง​ความ​ร่วม​รู้สึก. แม้​ทรง​สมบูรณ์​พร้อม พระองค์​ไม่​เคย​คาด​หมาย​ความ​สมบูรณ์​เช่น​นั้น​จาก​เรา “เพราะ​พระองค์​ทรง​ทราบ​โครง​ร่าง​ของ​เรา พระองค์​ทรง​ระลึก​ว่า​เรา​เป็น​แต่​ผงคลี.” (บทเพลง​สรรเสริญ 103:14, ฉบับ​แปล​ใหม่; โรม 5:12) ยิ่ง​กว่า​นั้น เนื่อง​จาก​พระองค์​ทรง​ทราบ​ข้อ​จำกัด​ของ​เรา ‘พระองค์​จะ​ไม่​ทรง​ยอม​ให้​เรา​ถูก​ทดลอง​เกิน​ที่​จะ​ทน​ได้.’ (1 โกรินโธ 10:13) โดย​ทาง​ผู้​รับใช้​และ​พระ​วิญญาณ​ของ​พระองค์ พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​เรา​ให้​หา​ทาง​ออก​ได้.—ยิระมะยา 25:4, 5; กิจการ 5:32.

พระ​ยะโฮวา​ทรง​รู้สึก​ด้วย​พระองค์​เอง​ถึง​ความ​เจ็บ​ปวด​ที่​ไพร่​พล​ของ​พระองค์​ต้อง​ทน​ทุกข์. พระองค์​ตรัส​แก่​ชาว​ยิว​ที่​กลับ​มา​จาก​บาบิโลน​ว่า “ผู้​ใด​แตะ​ต้อง​เจ้า​ก็​แตะ​ต้อง​นัยน์​ตา​เรา.” (ซะคาระยา 2:8, ล.ม.) ด้วย​สำนึก​อย่าง​แรง​กล้า​ถึง​ความ​ร่วม​รู้สึก​ของ​พระเจ้า ดาวิด​ผู้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​หนึ่ง​ทูล​พระองค์​ดัง​นี้: “พระองค์​ทรง​เก็บ​น้ำตา​ของ​ข้าพเจ้า​ไว้​ใน​ขวด​ของ​พระองค์; น้ำตา​นั้น​ก็​จด​ไว้​ใน​บัญชี​ของ​พระองค์​แล้ว​ไม่​ใช่​หรือ?” (บทเพลง​สรรเสริญ 56:8) ช่าง​เป็น​การ​ปลอบ​ประโลม​เพียง​ไร​ที่​ได้​ทราบ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​จด​จำ​น้ำตา​ของ​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระองค์​ที่​หลั่ง​ริน​เมื่อ​พวก​เขา​ต่อ​สู้​ดิ้นรน​เพื่อ​รักษา​ความ​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง—ราว​กับ​ว่า​ทรง​จด​บันทึก​ไว้​ใน​สมุด!

เช่น​เดียว​กับ​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​พระองค์ พระ​เยซู​คริสต์​ทรง​ไว​ต่อ​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​อื่น. เมื่อ​พระองค์​ทรง​รักษา​ชาย​หู​หนวก พระองค์​ทรง​นำ​เขา​ออก​ห่าง​จาก​ฝูง​ชน ดู​เหมือน​ว่า เมื่อ​ทำ​เช่น​นั้น การ​ที่​ชาย​นั้น​หาย​โรค​ได้​อย่าง​อัศจรรย์​จะ​ไม่​ทำ​ให้​เขา​อาย​จน​เกิน​ไป​หรือ​ไม่​ทำ​ให้​เขา​ตกใจ. (มาระโก 7:32-35) ใน​อีก​โอกาส​หนึ่ง พระ​เยซู​ทรง​สังเกต​เห็น​หญิง​ม่าย​ที่​กำลัง​จะ​นำ​ศพ​ลูก​ชาย​คน​เดียว​ของ​เธอ​ไป​ฝัง. พระองค์​ทรง​รู้สึก​ถึง​ความ​ทุกข์​เจ็บ​ปวด​ใจ​ของ​หญิง​นั้น​ได้​ใน​ทันที จึง​เสด็จ​ไป​ใกล้​ขบวน​ศพ​นั้น​และ​ปลุก​ชาย​หนุ่ม​ให้​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย.—ลูกา 7:11-16.

หลัง​จาก​ฟื้น​คืน​พระ​ชนม์ พระ​เยซู​ทรง​ปรากฏ​แก่​เซาโล​บน​ทาง​ที่​จะ​ไป​ยัง​เมือง​ดามัสกัส [ดาเมเซ็ก] พระองค์​ทรง​บอก​ให้​เซาโล​ทราบ​ว่า​การ​ข่มเหง​อัน​ร้ายกาจ​ซึ่ง​เขา​ทำ​กับ​สาวก​ของ​พระองค์​นั้น​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​พระองค์​อย่าง​ไร. พระองค์​ตรัส​แก่​เซาโล​ว่า “เรา​คือ​เยซู​ซึ่ง​เจ้า​ข่มเหง​นั้น.” (กิจการ 9:3-5) พระ​เยซู​ทรง​รู้สึก​ด้วย​พระองค์​เอง​ถึง​ความเจ็บ​ปวด​ที่​เหล่า​สาวก​ของ​พระองค์​ต้อง​ทน​ทุกข์ เช่น​เดียว​กับ​มารดา​ที่​รู้สึก​เจ็บ​ปวด​เมื่อ​เห็น​บุตร​เจ็บ​ป่วย. ทำนอง​เดียว​กัน ใน​ฐานะ​มหา​ปุโรหิต​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​เรา พระ​เยซู ‘ทรง​ร่วม​ทุกข์​กับ​เรา’ หรือ ทรง​มี ‘ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ​ใน​ความ​อ่อนแอ​ของ​เรา’ ตาม​ฉบับ​แปล​ของ​รอเทอร์แฮม.—เฮ็บราย 4:15.

อัครสาวก​เปาโล​ได้​เรียน​รู้​ที่​จะ​เป็น​คน​ที่​ไว​ต่อ​ความ​ทุกข์​และ​ความ​รู้สึก​ของ​คน​อื่น ๆ ด้วย. ท่าน​ถาม​ว่า “มี​ใคร​บ้าง​เป็น​คน​อ่อน​กำลัง​และ​ข้าพเจ้า​ไม่​ได้​แสดง​ตัว​เป็น​คน​อ่อน​กำลัง? มี​ใคร​บ้าง​ที่​ถูก​นำ​ให้​สะดุด​และ​ข้าพเจ้า​ไม่​เป็น​ทุกข์​เป็น​ร้อน​ด้วย?” (2 โกรินโธ 11:29) เมื่อ​ทูตสวรรค์​องค์​หนึ่ง​ปล่อย​เปาโล​และ​ซีลา​จาก​การ​ถูก​จำจอง​ใน​คุก​ที่​เมือง​ฟิลิปปี [ฟิลิปปอย] โดย​การ​อัศจรรย์ สิ่ง​แรก​ที่​เปาโล​คิด​ถึง​คือ​จะ​ต้อง​บอก​ให้​ผู้​คุม​รู้​ว่า​ไม่​มี​ใคร​หนี​ไป. ท่าน​ตระหนัก​อย่าง​ร่วม​รู้สึก​ว่า​ผู้​คุม​นั้น​อาจ​จะ​ฆ่า​ตัว​ตาย. เปาโล​ทราบ​ว่า ตาม​ธรรมเนียม​โรมัน​ผู้​คุม​จะ​ถูก​ลง​โทษ​อย่าง​รุนแรง​หาก​นัก​โทษ​หนี​ไป​ได้ โดย​เฉพาะ​ถ้า​เขา​ได้​รับ​คำ​สั่ง​ให้​คอย​เฝ้า​ดู​อย่าง​เข้มงวด. (กิจการ 16:24-28) การ​ช่วย​ชีวิต​ด้วย​ความ​กรุณา​ของ​เปาโล​ประทับใจ​ผู้​คุม​อย่าง​ยิ่ง และ​เขา​พร้อม​ทั้ง​คน​ใน​ครัว​เรือน​จึง​ได้​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน.—กิจการ 16:30-34.

วิธี​ปลูกฝัง​ความ​ร่วม​รู้สึก

พระ​คัมภีร์​สนับสนุน​เรา​ครั้ง​แล้ว​ครั้ง​เล่า​ให้​เลียน​แบบ​พระ​บิดา​ฝ่าย​สวรรค์​ของ​เรา​และ​พระ​เยซู​คริสต์ พระ​บุตร​ของ​พระองค์ ดัง​นั้น ความ​ร่วม​รู้สึก​จึง​เป็น​คุณสมบัติ​ที่​เรา​ต้อง​พัฒนา. เรา​จะ​ทำ​เช่น​นั้น​ได้​โดย​วิธี​ใด? มี​สาม​วิธี​หลัก​ที่​เรา​สามารถ​ทำ​ให้​ความ​รู้สึก​ของ​เรา​ต่อ​ความ​จำเป็น​และ​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​อื่น​ไว​ขึ้น​ได้ คือ โดย​การ​ฟัง, การ​สังเกต, และ​ใช้​จินตนาการ.

จง​ฟัง. โดย​การ​ฟัง​อย่าง​ตั้งใจ เรา​จึง​จะ​รู้​ถึง​ปัญหา​ที่​ผู้​อื่น​เผชิญ. และ​ยิ่ง​เรา​ตั้งใจ​ฟัง​มาก​เท่า​ไร พวก​เขา​ก็​ดู​เหมือน​จะ​เปิด​หัวใจ​ของ​ตน​และ​เผย​ความ​รู้สึก​มาก​ขึ้น​เท่า​นั้น. มิเรียม​อธิบาย​ว่า “ดิฉัน​สามารถ​พูด​กับ​ผู้​ปกครอง​ได้ ถ้า​ดิฉัน​รู้สึก​มั่น​ใจ​ว่า​เขา​จะ​ฟัง. ดิฉัน​ต้องการ​จะ​รู้​ว่า​เขา​เข้าใจ​ปัญหา​ของ​ดิฉัน​อย่าง​แท้​จริง. ดิฉัน​รู้สึก​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เขา​มาก​ขึ้น​เมื่อ​เขา​ถาม​คำ​ถาม​ต่าง ๆ ที่​เจาะ​ลึก​ซึ่ง​แสดง​ว่า​เขา​ตั้งใจ​ฟัง​สิ่ง​ที่​ดิฉัน​เล่า​จริง ๆ.”

จง​สังเกต. ไม่​ใช่​ทุก​คน​ที่​จะ​บอก​เรา​ตรง ๆ ว่า​เขา​รู้สึก​อย่าง​ไร​หรือ​เจอะ​เจอ​กับ​สิ่ง​ใด​บ้าง. อย่าง​ไร​ก็​ดี คน​ที่​ช่าง​สังเกต จะ​มอง​เห็น​ได้​ว่า​เมื่อ​ไร​ที่​เพื่อน​คริสเตียน​รู้สึก​หดหู่ เมื่อ​ไร​ที่​เด็ก​หนุ่ม​สาว​กลาย​เป็น​คน​ไม่​ค่อย​พูด​ค่อย​จา หรือ​ผู้​รับใช้​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า​ไม่​กระตือรือร้น​อีก​ต่อ​ไป. ความ​สามารถ​ที่​จะ​รู้สึก​ถึง​ปัญหา​เช่น​นี้​แต่​เนิ่น ๆ จำเป็น​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​บิดา​มารดา. มารี​บอก​ว่า “ด้วย​วิธี​บาง​อย่าง คุณ​แม่​ทราบ​ว่า​ดิฉัน​รู้สึก​อย่าง​ไร​ก่อน​ที่​ดิฉัน​จะ​พูด​คุย​เรื่อง​นั้น​กับ​ท่าน ดัง​นั้น​จึง​ง่าย​สำหรับ​ดิฉัน​ที่​จะ​พูด​กับ​ท่าน​อย่าง​เปิด​อก​เกี่ยว​กับ​ปัญหา​ของ​ดิฉัน.”

จง​ใช้​จินตนาการ. วิธี​ที่​มี​พลัง​มาก​ที่​สุด​ที่​จะ​กระตุ้น​ความ​ร่วม​รู้สึก​คือ คุณ​ต้อง​ถาม​ตัว​เอง​ดัง​นี้: ‘ถ้า​ตัว​ฉัน​อยู่​ใน​สถานการณ์​เช่น​นั้น ฉัน​จะ​รู้สึก​อย่าง​ไร? ฉัน​จะ​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร? ฉัน​จะ​ต้องการ​อะไร?’ ผู้​ปลอบโยน​จอม​ปลอม​สาม​คน​ที่​มา​หา​โยบ​ได้​พิสูจน์​ตัว​ว่า​เป็น​คน​ที่​ไร้​ความ​สามารถ​ใน​การ​สมมุติ​ตัว​เอง​เข้า​ไป​อยู่​ใน​สถานการณ์​ของ​โยบ. ดัง​นั้น พวก​เขา​จึง​ประณาม​ท่าน​เรื่อง​ความ​ผิด​บาป​ต่าง ๆ ที่​พวก​เขา​ทึกทัก​เอา​ว่า​ท่าน​ได้​ทำ.

มนุษย์​ไม่​สมบูรณ์​มัก​พบ​ว่า เป็น​เรื่อง​ง่าย​กว่า​ที่​จะ​วิพากษ์วิจารณ์​ข้อ​ผิด​พลาด​แทน​ที่​จะ​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ต่าง ๆ. อย่าง​ไร​ก็​ดี หาก​เรา​พยายาม​อย่าง​จริงจัง​ที่​จะ​จินตนาการ​ถึง​ความ​เดือดร้อน​ใจ​ของ​ใคร​คน​หนึ่ง​ที่​กำลัง​เป็น​ทุกข์​อยู่ นั่น​จะ​ช่วย​ให้​เรา​เห็น​อก​เห็น​ใจ​แทน​ที่​จะ​กล่าว​ตำหนิ​เขา. ผู้​ปกครอง​ที่​มี​ประสบการณ์​คน​หนึ่ง​ชื่อ​ฮวน ให้​ความ​เห็น​ว่า “ผม​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​กว่า​มาก​เมื่อ​ผม​ได้​ฟัง​อย่าง​ตั้งใจ​และ​พยายาม​ที่​จะ​เข้าใจ​สถานการณ์​ทั้ง​หมด​ก่อน​ที่​จะ​ให้​คำ​แนะ​นำ​ใด ๆ.”

สรรพหนังสือ​ที่​แจก​จ่าย​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​ช่วย​หลาย​คน​ใน​เรื่อง​นี้. วารสาร​หอสังเกตการณ์ และ​ตื่นเถิด! ได้​เคย​พูด​ถึง​ปัญหา​ต่าง ๆ ที่​ซับซ้อน​เช่น​อาการ​ซึมเศร้า​และการ​ทำ​ร้าย​เด็ก. ข้อมูล​ที่​ทัน​กาล​เหล่า​นี้​ช่วย​ผู้​อ่าน​ให้​มี​ความ​รู้สึก​ไว​ขึ้น​ต่อ​ความ​รู้สึก​ของ​ผู้​ที่​ต้อง​ทน​ทุกข์​เนื่อง​จาก​สาเหตุ​เหล่า​นี้. นอก​จาก​นี้ หนังสือ​คำ​ถาม​ที่​หนุ่ม​สาว​ถาม—คำ​ตอบ​ที่​ได้​ผล ได้​ช่วย​บิดา​มารดา​หลาย​คน​ให้​เข้าใจ​ปัญหา​ของ​บุตร​เช่น​กัน.

ความ​ร่วม​รู้สึก​ช่วย​ใน​การ​ทำ​กิจกรรม​คริสเตียน

คง​แทบ​จะ​ไม่​มี​ใคร​ใน​พวก​เรา​ที่​จะ​ดู​ดาย​ต่อ​สภาพ​อัน​น่า​สังเวช​ของ​เด็ก​ที่​อดอยาก​หิว​โหย​หาก​เรา​มี​อาหาร​พอ​ที่​จะ​แบ่ง​ให้​ได้. ถ้า​เรา​มี​ความ​ร่วม​รู้สึก เรา​จะ​เข้าใจ​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ ของ​ผู้​อื่น​ด้วย. คัมภีร์​ไบเบิล​เล่า​ถึง​พระ​เยซู​ว่า “แต่​เมื่อ​พระองค์​ทอด​พระ​เนตร​เห็น​ประชาชน​ก็​ทรง​พระ​กรุณา​เขา, ด้วย​เขา​อิดโรย​กระจัด​กระจาย​ไป​ดุจ​ฝูง​แกะ​ไม่​มี​ผู้​เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36) หลาย​ล้าน​คน​ใน​ทุก​วัน​นี้​อยู่​ใน​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ที่​คล้าย​กัน​นั้น และ​พวก​เขา​จำ​ต้อง​ได้​รับ​การ​ช่วยเหลือ.

เช่น​เดียว​กับ​ใน​สมัย​พระ​เยซู เรา​อาจ​ต้อง​เอา​ชนะ​อคติ​หรือ​ธรรมเนียม​ที่​ฝัง​ราก​ลึก​เพื่อ​จะ​เข้า​ถึง​หัวใจ​ของ​บาง​คน. ผู้​รับใช้​ที่​ร่วม​รู้สึก​จะ​พยายาม​หา​จุด​ที่​เห็น​พ้อง​กัน​หรือ​พูด​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ที่​ผู้​คน​กำลัง​สนใจ​เพื่อ​ทำ​ให้​ข่าวสาร​ของ​เขา​น่า​ดึงดูด​ใจ​ยิ่ง​ขึ้น. (กิจการ 17:22, 23; 1 โกรินโธ 9:20-23) การ​กระทำ​ที่​กรุณา​ซึ่ง​ถูก​กระตุ้น​โดย​ความ​ร่วม​รู้สึก​ยัง​ช่วย​ให้​ผู้​ฟัง​ของ​เรา​ตอบรับ​มาก​ขึ้น​ต่อ​ข่าวสาร​เรื่อง​ราชอาณาจักร เช่น​ที่​เป็น​จริง​ใน​กรณี​ของ​นาย​คุก​ชาว​เมือง​ฟิลิปปี.

ความ​ร่วม​รู้สึก​ช่วย​เรา​มาก​จริง ๆ ให้​มอง​ข้าม​ข้อ​ผิด​พลาด​ของ​คน​อื่น ๆ ใน​ประชาคม. หาก​เรา​พยายาม​จะ​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​ของ​พี่​น้อง​ที่​ทำ​ให้​เรา​ขุ่นเคือง ไม่​ต้อง​สงสัย​ว่า เรา​จะ​พบ​ว่า​ง่าย​ขึ้น​ที่​จะ​ยก​โทษ​ให้​เขา. อาจ​เป็น​ได้​ว่า เรา​อาจ​มี​ปฏิกิริยา​อย่าง​เดียว​กัน​หาก​เรา​อยู่​ใน​สถานการณ์​และ​มี​ภูมิหลัง​เช่น​เดียว​กับ​เขา. ความ​ร่วม​รู้สึก​ของ​พระ​ยะโฮวา​กระตุ้น​พระองค์​ให้ ‘ระลึก​ว่า​เรา​เป็น​แต่​ผงคลี’ ดัง​นั้น ไม่​ควร​หรอก​หรือ​ที่​ความ​ร่วม​รู้สึก​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​คำนึง​ถึง​ความ​ไม่​สมบูรณ์​ของ​คน​อื่น ๆ และ ‘อภัย​ให้​พวก​เขา​อย่าง​ใจ​กว้าง’?—บทเพลง​สรรเสริญ 103:14, ฉบับ​แปล​ใหม่; โกโลซาย 3:13, ล.ม.

หาก​เรา​จะ​ต้อง​ให้​คำ​แนะ​นำ เรา​อาจ​ทำ​เช่น​นั้น​ด้วย​วิธี​ที่​กรุณา​ยิ่ง​ขึ้น​หาก​เรา​เข้าใจ​ความ​รู้สึก​และ​ความ​อ่อนไหว​ของ​คน​ที่​ได้​พลาด​ไป​นั้น. คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ที่​ร่วม​รู้สึก​จะ​เตือน​ตน​เอง​ว่า ‘ฉัน​เอง​ก็​อาจ​ทำ​ผิด​พลาด​อย่าง​นี้​ได้​เช่น​กัน. ฉัน​อาจ​ตก​อยู่​ใน​สถานการณ์​อย่าง​เขา​ก็​ได้.’ ด้วย​เหตุ​นั้น​เปาโล​จึง​แนะ​นำ​ดัง​นี้: “จง​พยายาม​ปรับ​คน​เช่น​นั้น​ให้​เข้า​ที่​ด้วย​น้ำใจ​อ่อนโยน ขณะ​ที่​ท่าน​แต่​ละ​คน​เฝ้า​ระวัง​ตน​เอง เกรง​ว่า​ท่าน​อาจ​ถูก​ล่อ​ใจ​ด้วย.”—ฆะลาเตีย 6:1, ล.ม.

นอก​จาก​นี้ ความ​ร่วม​รู้สึก​ยัง​อาจ​กระตุ้น​เรา​ให้​เสนอ​การ​ช่วยเหลือ​เชิง​ปฏิบัติ หาก​อยู่​ใน​อำนาจ​ของ​เรา​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น แม้​ว่า​เพื่อน​คริสเตียน​ของ​เรา​อาจ​ลังเล​ใจ​ที่​จะ​ร้อง​ขอ. อัครสาวก​โยฮัน​เขียน​ว่า “คน​ใด​ที่​มี​ทรัพย์​สมบัติ​ใน​โลก​นี้, และ​เห็น​พี่​น้อง​ของ​ตน​ขัดสน, แล้ว​และ​กระทำ​ใจ​แข็ง​กะด้าง​ไม่​สงเคราะห์​เขา, ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​จะ​อยู่​ใน​คน​นั้น​อย่าง​ไร​ได้? . . . อย่า​ให้​เรา​รัก​เพียง​แต่​ถ้อย​คำ​และ​ลิ้น​เท่า​นั้น, แต่​ให้​เรา​รัก​ด้วย​การ​ประพฤติ​และ​ด้วย​ความ​จริง.”—1 โยฮัน 3:17, 18.

เพื่อ​ที่​จะ​รัก “ด้วย​การ​ประพฤติ​และ​ด้วย​ความ​จริง” เรา​ต้อง​มอง​เห็น​ความ​จำเป็น​เฉพาะ​ของ​พี่​น้อง​ก่อน. เรา​สังเกต​อย่าง​จริงจัง​ถึง​ความ​จำเป็น​ของ​คน​อื่น ๆ ด้วย​เจตนา​ที่​จะ​ช่วย​พวก​เขา​ไหม? นั่น​แหละ​คือ​สิ่ง​ที่​ความ​ร่วม​รู้สึก​หมาย​ถึง.

จง​ปลูกฝัง​ความ​เห็น​อก​เห็น​ใจ

เรา​อาจ​ไม่​ใช่​คน​ที่​ร่วม​รู้สึก​โดย​ธรรมชาติ กระนั้น เรา​สามารถ​ปลูกฝัง​ความ​รู้สึก​เห็น​ใจ​ผู้​อื่น​เช่น​นี้​ได้. หาก​เรา​รับ​ฟัง​อย่าง​ตั้งใจ​มาก​ขึ้น, สังเกต​อย่าง​กระตือรือร้น​ยิ่ง​ขึ้น, และ​นึก​ภาพ​ตัว​เรา​เอง​อยู่​ใน​สถานการณ์​ของ​คน​อื่น​บ่อย​ขึ้น ความ​ร่วม​รู้สึก​ใน​ตัว​เรา​ก็​จะ​พัฒนา​ขึ้น. ผล​คือ เรา​จะ​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​ที่​จะ​แสดง​ความ​รัก, ความ​กรุณา, และ​ความ​เมตตา​สงสาร​ต่อ​บุตร​ของ​เรา, ต่อ​เพื่อน​คริสเตียน, และ​ต่อ​เพื่อน​บ้าน​มาก​ยิ่ง​ขึ้น.

จง​อย่า​ยอม​ให้​ความ​เห็น​แก่​ตัว​ปิด​กั้น​ความ​ร่วม​รู้สึก​ของ​คุณ. เปาโล​เขียน​ว่า “อย่า​ให้​ต่าง​คน​ต่าง​คิด​แต่​การ​งาน​ของ​ตน​ฝ่าย​เดียว, แต่​ให้​คิด​ถึง​การ​งาน​ของ​คน​อื่น ๆ ด้วย.” (ฟิลิปปอย 2:4) อนาคต​ถาวร​ของ​เรา​ขึ้น​อยู่​กับ​ความ​ร่วม​รู้สึก​ของ​พระ​ยะโฮวา​และ​ของ​มหา​ปุโรหิต​ของ​พระองค์ คือ พระ​เยซู​คริสต์. ดัง​นั้น เรา​มี​พันธะ​ทาง​ศีลธรรม​ที่​จะ​ปลูกฝัง​คุณสมบัติ​นี้. ความ​ร่วม​รู้สึก​จะ​เสริม​พลัง​เรา​ให้​เป็น​ผู้​รับใช้​ที่​ดี​ขึ้น​และ​เป็น​บิดา​มารดา​ที่​ดี​ขึ้น​ด้วย. เหนือ​สิ่ง​อื่น​ใด ความ​ร่วม​รู้สึก​จะ​ช่วย​เรา​ให้​พบ​ว่า “การ​ให้​เป็น​เหตุ​ให้​มี​ความ​สุข​ยิ่ง​กว่า​การ​รับ.”—กิจการ 20:35.

[ภาพ​หน้า 25]

ความ​ร่วม​รู้สึก​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​สังเกต​อย่าง​จริงจัง​ถึง​ความ​จำเป็น​ของ​ผู้​อื่น​ด้วย​เจตนา​ที่​จะ​ช่วย​พวก​เขา

[ภาพ​หน้า 26]

เรา​สามารถ​เรียน​รู้​ที่​จะ​แสดง​ความ​ร่วม​รู้สึก​เช่น​มารดา​ที่​มี​ความ​รัก​รู้สึก​ต่อ​บุตร​โดย​ธรรมชาติ​ได้​ไหม?