สองนักเทศน์ยกย่องงานเขียนของรัสเซลล์
สองนักเทศน์ยกย่องงานเขียนของรัสเซลล์
ในปี 1891 ชาลส์ เทซ รัสเซลล์ ซึ่งได้ทำงานอย่างโดดเด่นท่ามกลางคริสเตียนแท้ที่นมัสการพระยะโฮวา ได้ไปเยือนยุโรปเป็นครั้งแรก. บางรายงานแจ้งว่า ระหว่างแวะพักในเมืองปีเนโรโล ประเทศอิตาลี รัสเซลล์ได้พบศาสตราจารย์ดานิเอเล ริวัว ซึ่งเคยเป็นนักเทศน์ประจำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าพวกวัลเดนส์. * แม้ริวัวยังคงคบหาใกล้ชิดกับกลุ่มวัลเดนส์หลังจากเขาได้ละเลิกงานเทศนา กระนั้นเขาเปิดใจกว้างเสมอและอ่านหนังสือหลายเล่มที่ซี. ที. รัสเซลล์เขียนไว้.
ปี 1903 ริวัวได้แปลหนังสือซึ่งรัสเซลล์เป็นผู้แต่งชื่อแผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับยุคต่าง ๆ เป็นภาษาอิตาลีและจัดพิมพ์ด้วยเงินทุนของเขาเอง. เขาได้พิมพ์จำหน่ายก่อนออกฉบับแปลภาษาอิตาลีอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำ. ริวัวเขียนคำนำไว้ดังนี้: “เราฝากฝังฉบับภาษาอิตาลีฉบับแรกนี้ไว้ภายใต้การคุ้มครองปกป้องขององค์พระผู้เป็นเจ้า. ขอพระองค์โปรดอวยพรกิจการนี้ แม้จะมีข้อบกพร่อง แต่หนังสือนี้อาจเป็นสิ่งเสริมการสรรเสริญพระนามบริสุทธิ์ยิ่งของพระองค์ และหนุนใจบรรดาบุตรทั้งหลายของพระองค์ที่พูดภาษาอิตาลีให้มีใจเลื่อมใสแรงกล้ายิ่งขึ้น. ขอให้ผู้อ่านหนังสือนี้รู้สึกหยั่งรู้ค่าความล้ำลึกแห่งความมั่งคั่ง, ปัญญา, และความรู้เกี่ยวกับแผนการและความรักของพระเจ้า จงสนองพระคุณของพระเจ้าโดยตรง เพราะโดยพระกรุณาคุณของพระองค์ การทำหนังสือนี้จึงได้สำเร็จลุล่วง.”
ริวัวยังได้ริเริ่มแปลวารสารหอสังเกตการณ์แห่งซีโอนและผู้ป่าวประกาศการประทับของพระคริสต์ เป็นภาษาอิตาลีด้วย. วารสารนี้ซึ่งทีหลังได้ชื่อว่าหอสังเกตการณ์ เริ่มออกเป็นรายสามเดือนเมื่อปี 1903. แม้ศาสตราจารย์ริวัวไม่ได้มาเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น ทว่าเขาสนใจมากที่จะเผยแพร่ข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิล ดังได้อธิบายไว้ในหนังสือหลายเล่มของนักศึกษาพระคัมภีร์.
“ประหนึ่งเกล็ดหลุดร่วงจากตาของข้าพเจ้า”
จูเซปเป บังเคตติ เป็นนักเทศน์อีกคนหนึ่งในนิกายวัลเดนส์ซึ่งยกย่องงานเขียนของรัสเซลล์. บิดาของเขาได้เปลี่ยนความเชื่อจากศาสนาคาทอลิก และได้ให้เขาเล่าเรียนทางฝ่ายวัลเดนส์. ในปี 1894 จูเซปเปก็ได้เป็นนักเทศน์และรับใช้ชุมชนชาววัลเดนส์หลาย ๆ แห่งในอะปูเลียและอะบรุซซี และบนเกาะเอลบาและซิซิลี.
หนังสือของรัสเซลล์ แผนการของพระเจ้าเกี่ยวกับยุคต่าง ๆ ฉบับทางการภาษาอิตาลีได้จัดพิมพ์ในปี 1905. บังเคตติได้เขียนบทวิจารณ์ประเมินค่าด้วยความตื่นเต้นเกี่ยวกับหนังสือนั้น. บทวิจารณ์นี้ปรากฏในนิตยสารของนิกายโปรเตสแตนต์ชื่อลา ริวิสตา คริสเทียนา. บังเคตติเขียนว่า “สำหรับพวกเราแล้ว” หนังสือของรัสเซลล์ “เป็นเครื่องนำทางที่ให้ความสว่างและไว้ใจได้มากที่สุดสำหรับคริสเตียนคนใดก็ตามที่ต้องการศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์บริสุทธิ์อย่างที่ได้รับประโยชน์และให้คุณค่า . . . ทันทีที่ข้าพเจ้าเริ่มอ่านหนังสือนี้ ประหนึ่งเกล็ดหลุดร่วงจากตาของข้าพเจ้า ทำให้มองเห็นทางไปถึงพระเจ้าตรงแน่วและไปได้ง่ายขึ้น. แม้แต่ข้อที่ดูเหมือนขัดแย้งส่วนใหญ่ก็หมดไป. หลักคำโรม 11:33, ล.ม.
สอนซึ่งเมื่อก่อนเข้าใจยากก็ปรากฏว่าง่ายขึ้นและยอมรับได้เต็มที่. หลายอย่างซึ่งแต่ก่อนไม่อาจเข้าใจได้ก็กระจ่างชัดแจ้ง. แผนการอันยอดเยี่ยมว่าด้วยการช่วยโลกให้รอดโดยทางพระคริสต์นั้นปรากฏต่อข้าพเจ้าอย่างที่เข้าใจได้ชัดแจ้งจนข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะเปล่งเสียงร้องไปกับอัครสาวกที่ว่า โอ้ ความล้ำลึกแห่งความมั่งคั่งและพระปัญญาอีกทั้งความรู้ของพระเจ้า!”—ตามที่เรมิโช กูมิเนทีได้ตั้งข้อสังเกตในปี 1925 บังเคตติแสดง “การเห็นพ้องเป็นอย่างมาก” กับผลงานของเหล่านักศึกษาพระคัมภีร์ และ “เชื่อมั่นเต็มที่” ในหลักคำสอนที่เหล่านักศึกษาฯ ได้ชี้แจง. อนึ่ง บังเคตติเองก็แสวงหาโอกาสจะเผยแพร่หลักคำสอนดังกล่าวให้ได้รู้กันทั่วโดยวิธีการของเขาเอง.
งานเขียนของบังเคตติให้หลักฐานว่าเขาเองก็เชื่อเช่นเดียวกันกับเหล่าพยานพระยะโฮวา ที่ว่าจะมีการเป็นขึ้นจากตายทางแผ่นดินโลก ดังที่สอนในพระคัมภีร์. อนึ่ง เขาเห็นด้วยกับเหล่านักศึกษาพระคัมภีร์เมื่อเขาอธิบายว่าปีที่พระเยซูสิ้นพระชนม์มีกำหนดไว้แล้ว และพระเจ้าทรงเปิดเผยให้ทราบในคำพยากรณ์ของดานิเอลเกี่ยวกับระยะเวลา 70 สัปดาห์. (ดานิเอล 9:24-27, ล.ม.) ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว และเป็นในลักษณะที่ไม่เห็นพ้องอย่างโจ่งแจ้งกับคำสอนของคริสตจักรที่เขาสังกัด เขามีความเชื่อว่าควรฉลองอนุสรณ์ระลึกการวายพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เพียงหนึ่งครั้งต่อปี “ตรงกับวันครบรอบ.” (ลูกา 22:19, 20) เขาปฏิเสธทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน แถมยืนยันว่าคริสเตียนแท้ไม่ควรร่วมในการสงครามทางโลก.—ยะซายา 2:4.
มีอยู่คราวหนึ่งบังเคตติถกเถียงกับชายผู้หนึ่งชื่อเจ. แคมป์เบลล์ วอลล์เกี่ยวกับงานเขียนของรัสเซลล์. บังเคตติโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์ของวอลล์ว่า “ผมมั่นใจว่าถ้าคุณอ่านหนังสือชุดหกเล่มของรัสเซลล์ คุณจะรู้สึกสดชื่นมีกำลังและชื่นชมยินดีอย่างลึกซึ้ง และจะนึกขอบคุณผมด้วยความตื่นเต้นดีใจ. ผมไม่จัดแสดงหลักคำสอนเพื่อการโอ้อวดหรอก แต่ผมอ่านหนังสือเหล่านั้นสิบเอ็ดปีมาแล้ว และผมขอบคุณพระเจ้าทุกวัน เพราะพระองค์ทรงให้ความสว่างดังกล่าวส่องต่อหน้าผมและให้การปลอบประโลมดังได้กล่าวมาแล้ว โดยงานเขียนที่ยึดมั่นอยู่กับพระคัมภีร์บริสุทธิ์ทั้งสิ้น.”
“จงฟัง, จงฟัง, จงฟัง”
นับว่ามีความหมายอย่างลึกซึ้งที่นักเทศน์ทั้งสองคนจากนิกายวัลเดนส์ คือดานิเอเล ริวัวและจูเซปเป บังเคตติต่างก็แสดงความเห็นชอบและรู้สึกขอบคุณวิธีที่รัสเซลล์อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิล. บังเคตติเขียนอย่างนี้: “ข้าพเจ้าพูดว่าไม่มีสักคนท่ามกลางพวกเราชาวโปรเตสแตนต์ แม้กระทั่งนักเทศน์หรือศาสตราจารย์ด้านเทววิทยาของเรา, ไม่มีใครเลยเป็นผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง. มิหนำซ้ำเรายังมีอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างที่พึงเรียนรู้ . . . . [เราควร] . . . นิ่งอยู่และฟัง อย่าได้คิดว่าเรารู้ทุกอย่าง และอย่าบอกปัดสิ่งที่เสนอให้เราพิจารณาตรวจสอบ. แทนที่จะทำแบบนั้น จงฟัง, จงฟัง, จงฟัง.”
ทุกปี มีคนนับหมื่นนับแสนฟังข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรที่เหล่าพยานพระยะโฮวานำไปบอกเขาที่บ้าน. ผู้คนทุกแห่งหนที่เปิดใจกว้าง ซึ่งกระหายใคร่รู้ความจริงในคัมภีร์ไบเบิลได้ตอบสนองคำเชิญของพระเยซูที่ว่า “จงตามเรามาและเป็นสาวกของเรา.”—มาระโก 10:17-21, ฉบับแปลใหม่; วิวรณ์ 22:17.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 2 เรียกตามชื่อปีแอร์ วอเด, หรือปีเตอร์ วัลโด พ่อค้าสมัยศตวรรษที่ 12 แห่งเมืองลียง ฝรั่งเศส. คริสตจักรคาทอลิกได้คว่ำบาตรวัลโด เนื่องจากความเชื่อของเขา. เพื่อได้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับวัลเดนส์ โปรดอ่านบทความ “พวกวัลเดนส์—จากลัทธินอกรีตมาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มีนาคม 2002.
[ภาพหน้า 28]
ศาสตราจารย์ดานิเอเล ริวัว
[ภาพหน้า 29]
จูเซปเป บังเคตติ
[ที่มาของภาพ]
Banchetti: La Luce, April 14, 1926