ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การปลูกฝังความรักต่อพระยะโฮวาไว้ในหัวใจลูก ๆ ของเรา

การปลูกฝังความรักต่อพระยะโฮวาไว้ในหัวใจลูก ๆ ของเรา

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

การ​ปลูกฝัง​ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ไว้​ใน​หัวใจ​ลูก ๆ ของ​เรา

เล่า​โดย​เวอร์เนอร์ มัตซัน

หลาย​ปี​มา​แล้ว​ฮันส์ เวอร์เนอร์​ลูก​ชาย​คน​โต​ให้​พระ​คัมภีร์​เล่ม​หนึ่ง​แก่​ผม. เขา​เขียน​ที่​ปก​ด้าน​ใน​ว่า “คุณ​พ่อ​ที่​รัก: ขอ​ให้​พระ​คำ​ของ​พระ​ยะโฮวา​นำ​พา​พวก​เรา​ใน​ฐานะ​ครอบครัว​อยู่​บน​เส้น​ทาง​สู่​ชีวิต​สืบ​ไป. ด้วย​ความ​ขอบคุณ, ลูก​ชาย​คน​โต​ของ​พ่อ.” ผู้​เป็น​พ่อ​แม่​ย่อม​เข้าใจ​ดี​ว่า​ถ้อย​คำ​เหล่า​นั้น​ก่อ​ความ​ปลื้ม​ปีติ​ยินดี​แก่​ผม​มาก​เพียง​ใด. เวลา​นั้น​ผม​ไม่​รู้​เลย​ว่า​พวก​เรา​ใน​ฐานะ​ครอบครัว​ยัง​จะ​ต้อง​ได้​เผชิญ​ปัญหา​ยุ่งยาก​แบบ​ใด​บ้าง.

ผม​เกิด​ปี 1924 ใน​เมือง​ฮัลสเตนเบค ห่าง​จาก​ฮัมบูร์ก​เมือง​ท่า​ของ​ประเทศ​เยอรมนี​ราว ๆ 20 กิโลเมตร และ​ผม​ได้​รับ​การ​เลี้ยง​ดู​จาก​แม่​และ​คุณ​ตา. หลัง​จาก​ฝึก​งาน​เกี่ยว​กับ​เครื่อง​กลึง ผม​ถูก​เกณฑ์​เป็น​ทหาร​ใน​ปี 1942 เข้า​ประจำการ​ใน​หน่วย​รบ​เวร์มาคท์. สิ่ง​ที่​ผม​พบ​เห็น​ระหว่าง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 ขณะ​รบ​อยู่​แนว​หน้า​ของ​รัสเซีย​นั้น​มัน​ร้ายกาจ​น่า​กลัว​เกิน​คำ​พรรณนา. ผม​ล้ม​ป่วย​เพราะ​ติด​เชื้อ​ไข้​รากสาด​น้อย แต่​หลัง​จาก​รับ​การ​รักษา​แล้ว​ก็​ถูก​ส่ง​กลับ​แนว​หน้า​อีก. เดือน​มกราคม 1945 ผม​อยู่​ที่​เมือง​โลดซ์ ประเทศ​โปแลนด์ ผม​บาดเจ็บ​สาหัส และ​เข้า​รับ​การ​รักษา​ใน​โรง​พยาบาล​ทหาร. ผม​ยัง​อยู่​ที่​นั่น​ตอน​สงคราม​เลิก. ขณะ​อยู่​ที่​โรง​พยาบาล​และ​ต่อ​มา​เมื่อ​ยัง​อยู่​ใน​ค่าย​นอยเอนกัมเม ผม​มี​เวลา​คิด​ไตร่ตรอง. คำ​ถาม​หลาย​อย่าง​คอย​รบกวน​จิตใจ​ผม อาทิ พระเจ้า​มี​จริง​ไหม? ถ้า​มี​จริง ทำไม​พระเจ้า​ปล่อย​ให้​มี​การ​กระทำ​ที่​โหด​ร้าย​ทารุณ​มาก​ขนาด​นี้?

ไม่​นาน​หลัง​จาก​ถูก​ปลด​ปล่อย​จาก​ที่​คุม​ขัง ใน​เดือน​กันยายน 1947 ผม​ก็​ได้​แต่งงาน​กับ​คาร์ลา. เรา​เติบโต​ใน​เมือง​เดียว​กัน แต่​ขณะ​ที่​คาร์ลา​นับถือ​ศาสนา​นิกาย​คาทอลิก ผมไม่​มี​พื้นเพ​ทาง​ศาสนา. บาทหลวง​ที่​ประกอบ​พิธี​สมรส​ได้​แนะ​นำ​เรา​อย่าง​น้อย​ให้​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​ตาม​แบบ​อย่าง​คำ​อธิษฐาน​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ทุก​คืน. เรา​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​นำ จริง ๆ แล้ว เรา​ไม่​รู้​ว่า​เรา​อธิษฐาน​เพื่อ​มุ่ง​ผล​อะไร.

หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา ฮันส์ เวอร์เนอร์​ก็​เกิด. ประมาณ​เวลา​ไล่เลี่ย​กัน​นั้น วิลเฮล์ม อาเรนส์ เพื่อน​ที่​ทำ​งาน​ได้​แนะ​นำ​ผม​ให้​รู้​จัก​พยาน​พระ​ยะโฮวา. เขา​ชี้​ให้​ดู​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​บอก​ว่า​สมัย​หนึ่ง​จะ​ไม่​มี​สงคราม​อีก​เลย. (บทเพลง​สรรเสริญ 46:9) ฤดู​ใบ​ไม้​ร่วง​ปี 1950 ผม​อุทิศ​ชีวิต​แด่​พระ​ยะโฮวา​และ​ได้​รับ​บัพติสมา. ผม​ปีติ​ยินดี​เสีย​นี่​กระไร​เมื่อ​หนึ่ง​ปี​ต่อ​มา​ภรรยา​ที่​รัก​ของ​ผม​ได้​รับ​บัพติสมา​เหมือน​กัน!

การ​อบรม​เลี้ยง​ดู​บุตร​ตาม​วิถี​ทาง​ของ​พระ​ยะโฮวา

ผม​อ่าน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​บอก​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ก่อ​ตั้ง​การ​สมรส. (เยเนซิศ 1:26-28; 2:22-24) การ​ได้​อยู่​ใน​เหตุ​การณ์​และ​เห็น​ลูก​ของ​เรา​คลอด—ฮันส์ เวอร์เนอร์, คาร์ล-ไฮนซ์, มิคาเอล, กาบ​รี​เอ​เลอ, และ​โทมัส—ทำ​ให้​ผม​มี​กำลังใจ​ปฏิบัติ​ภาระ​หน้า​ที่​ด้วย​การ​เป็น​สามี​และ​เป็น​บิดา​ที่​ดี. ผม​กับ​คาร์ลา​ตื่นเต้น​ดีใจ​เมื่อ​ลูก​ของ​เรา​แต่​ละ​คน​คลอด​ออก​มา.

ปี 1953 การ​ประชุม​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​จัด​ขึ้น​ใน​นคร​นูเรมเบิร์ก​นั้น​ถือ​ว่า​เป็น​วาระ​สำคัญ​อย่าง​ยิ่ง​สำหรับ​ครอบครัว​ของ​เรา. บ่าย​วัน​ศุกร์ ระหว่าง​คำ​บรรยาย​ภาย​ใต้​หัวข้อ “การ​ปลูกฝัง​อบรม​ยุวชน​ทั้ง​หลาย​ภาย​ใน​สมาคม​โลก​ใหม่” ผู้​บรรยาย​พูด​เรื่อง​ซึ่ง​เรา​ไม่​เคย​ลืม​ที่​ว่า “มรดก​ประเสริฐ​ยิ่ง​ที่​เรา​จะ​มอบ​ให้​บุตร​ของ​เรา​คือ​ความ​ปรารถนา​จะ​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า.” ด้วย​การ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​ยะโฮวา ผม​กับ​คาร์ลา​ต้องการ​ทำ​อย่าง​นั้น​ที​เดียว. แต่​โดย​วิธี​ใด?

ก่อน​อื่น เรา​ถือ​เป็น​กิจ​ปฏิบัติ​ที่​จะ​อธิษฐาน​ด้วย​กัน​ทุก​วัน​เป็น​ครอบครัว. การ​ทำ​เช่น​นี้​ทำ​ให้​ลูก​ตระหนัก​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​การ​อธิษฐาน. ลูก​แต่​ละ​คน​ได้​เรียน​รู้​ตั้ง​แต่​อายุ​ยัง​น้อย​ว่า​ก่อน​รับประทาน​อาหาร เรา​อธิษฐาน​เป็น​ประจำ. แม้​แต่​ตอน​ที่​ลูก ๆ ยัง​เป็น​เด็ก​เล็ก ๆ พอ​เห็น​เรา​ยื่น​ขวด​นม​ให้ เขา​ก็​จะ​ก้ม​ศีรษะ​น้อย ๆ ลง​พร้อม​กับ​กุม​มือ​ที่​เล็ก​กระจิริด. มี​อยู่​คราว​หนึ่ง เรา​ไป​ร่วม​งาน​สมรส​ของ​ญาติ​ฝ่าย​ภรรยา ซึ่ง​ไม่​ใช่​พยาน​พระ​ยะโฮวา. หลัง​จาก​พิธี​สมรส​ผ่าน​ไป พ่อ​แม่​เจ้าสาว​ได้​เชิญ​แขก​ไป​ร่วม​รับประทาน​อาหาร​ว่าง​ที่​บ้าน. ทุก​คน​ก็​อยาก​ลง​มือ​รับประทาน​ทันที. แต่​คาร์ล-ไฮนซ์​ลูก​ชาย​วัย​ห้า​ขวบ​ของ​เรา​รู้สึก​ว่า​การ​ทำ​แบบ​นั้น​ไม่​สม​ควร. เขา​พูด​ขึ้น​ว่า “กรุณา​อธิษฐาน​ก่อน​ครับ.” แขก​จ้อง​หน้า​เขา แล้ว​หัน​มา​มอง​เรา​และ​ท้าย​ที่​สุด​หัน​ไป​มอง​เจ้าภาพ. เพื่อ​ไม่​อยาก​ให้​ใคร ๆ รู้สึก​ขัด​เขิน ผม​จึง​เสนอ​ตัว​ขอ​กล่าว​คำ​อธิษฐาน​ขอบพระคุณ​สำหรับ​อาหาร​มื้อ​นั้น ซึ่ง​เจ้าภาพ​ก็​เห็น​ด้วย.

กรณี​ดัง​กล่าว​ทำ​ให้​ผม​นึก​ถึง​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า “เสียง​ที่​ออก​จาก​ปาก​เด็ก​อ่อน​และ​ทารก​นั้น​ก็​เป็น​คำ​สรรเสริญ​อัน​จริง​แท้.” (มัดธาย 21:16) เรา​รู้สึก​มั่น​ใจ​ว่า​การ​อธิษฐาน​อย่าง​สม่ำเสมอ​และ​จริง​ใจ​ช่วย​เด็ก​ให้​คำนึง​ถึง​พระ​ยะโฮวา​ฐานะ​พระ​บิดา​ผู้​สถิต​ใน​สวรรค์​ซึ่ง​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก.

หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ของ​เรา​ต่อ​พระ​ยะโฮวา

อนึ่ง การ​สอน​ลูก​ให้​รัก​พระเจ้า​เรียก​ร้อง​ให้​เรา​อ่าน​และ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระองค์​เป็น​ประจำ. โดย​คำนึง​ถึง​เรื่อง​นี้​เสมอ เรา​จึง​ได้​จัด​การ​ศึกษา​ภาย​ใน​ครอบครัว​ทุก​สัปดาห์ ส่วน​ใหญ่​เป็น​ตอน​เย็น​วัน​จันทร์. เนื่อง​จาก​อายุ​ระหว่าง​พี่​คน​โต​กับ​น้อง​คน​เล็ก​สุด​ห่าง​กัน​ถึง​เก้า​ปี ความ​ต้องการ​ของ​เด็ก ๆ จึง​ต่าง​กัน​มาก ฉะนั้น เรา​จึง​ไม่​ได้​ใช้​เนื้อหา​อย่าง​เดียว​กัน​กับ​ลูก​ทุก​คน​เสมอ​ไป.

ยก​ตัว​อย่าง สำหรับ​เด็ก​เล็ก​ก่อน​วัย​เรียน เรา​จะ​สอน​เรื่อง​ที่​ค่อนข้าง​ง่าย. คาร์ลา​พิจารณา​ข้อ​พระ​คัมภีร์​เพียง​ข้อ​เดียว​กับ​ลูก ๆ หรือ​ใช้​รูป​ภาพ​ใน​หนังสือ​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เรื่อง​ต่าง ๆ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. ผม​ยัง​จำ​ได้​ดี​เมื่อ​พวก​เด็ก ๆ ปลุก​ผม​ตื่น​แต่​เช้า โดย​ได้​ปีน​ป่าย​ขึ้น​มา​บน​เตียง​ของ​เรา​เพื่อ​ให้​ดู​รูป​ที่​เขา​ชื่น​ชอบ​ใน​หนังสือ​โลก​ใหม่. *

คาร์ลา​พัฒนา​วิธี​การ​อย่าง​ฉลาด เพื่อ​ที่​จะ​อด​ทน​สอน​เด็ก​ให้​รู้​เหตุ​ผล​มาก​มาย​ว่า​ทำไม​เรา​ทุก​คน​ต้อง​รัก​พระ​ยะโฮวา. ฟัง​แล้ว​อาจ​ดู​เป็น​เรื่อง​ง่าย ๆ และ​ไม่​ซับซ้อน แต่​เอา​เข้า​จริง ๆ ก็​เกือบ​จะ​เป็น​งาน​ที่​ผม​กับ​คาร์ลา​ต้อง​ทำ​เต็ม​เวลา​เลย​ที​เดียว ไม่​ว่า​ด้าน​กายภาพ​และ​อารมณ์. กระนั้น เรา​ไม่​เคย​ท้อ​ถอย. เรา​อยาก​ปลูกฝัง​ความ​คิด​ดี ๆ ไว้​ใน​หัวใจ​อัน​อ่อนโยน​ของ​ลูก​ก่อน​ที่​คน​อื่น​ซึ่ง​ไม่​รู้​จัก​พระ​ยะโฮวา​จะ​ชัก​นำ​ความ​คิด​ของ​เขา. ด้วย​เหตุ​นี้ เรา​จึง​ยืน​ยัน​จะ​ให้​ลูก​ของ​เรา​เข้า​ร่วม​การ​ศึกษา​ของ​ครอบครัว เมื่อ​เขา​โต​พอ​จะ​นั่ง​ได้.

ฐานะ​ที่​เป็น​พ่อ​แม่ ผม​กับ​คาร์ลา​ตระหนัก​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​การ​เป็น​แบบ​อย่าง​แก่​ลูก​ของ​เรา​ใน​เรื่อง​การ​นมัสการ. ไม่​ว่า​จะ​เป็น​ใน​ช่วง​รับประทาน​อาหาร, ทำ​สวน, หรือ​ออก​ไป​เดิน​เล่น เรา​พยายาม​สนับสนุน​แต่​ละ​คน​สร้าง​สัมพันธภาพ​กับ​พระ​ยะโฮวา. (พระ​บัญญัติ 6:6, 7) เรา​คอย​ดู​แล​ให้​ลูก​ชาย​ลูก​สาว​แต่​ละ​คน​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ส่วน​ตัว​ตั้ง​แต่​เยาว์​วัย. ยิ่ง​กว่า​นั้น เมื่อ​รับ​วารสาร​มา​แล้ว ผม​จะ​เขียน​ชื่อ​สมาชิก​ครอบครัว​ลง​บน​ฉบับ​ส่วน​ตัว​ของ​แต่​ละ​คน. ด้วย​วิธี​นี้ ลูก​ก็​รู้​ได้​ว่า​เล่ม​ไหน​เป็น​ของ​ตัว​เอง. เรา​ใช้​วิธี​มอบหมาย​ให้​ลูก ๆ อ่าน​คน​ละ​บทความ​จาก​วารสาร​ตื่นเถิด! พอ​ถึง​วัน​อาทิตย์ หลัง​อาหาร​มื้อ​กลางวัน พวก​เขา​จะ​อธิบาย​ว่า​เขา​เข้าใจ​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​เนื้อหา​เหล่า​นั้น.

การ​แสดง​ความ​สนใจ​ต่อ​ลูก​ตาม​ความ​ต้องการ​ของ​เขา

แน่นอน เรื่อง​ต่าง ๆ ใช่​ว่า​ราบรื่น​เสมอ​ไป. ขณะ​ลูก​เจริญ​เติบ​ใหญ่ เรา​พบ​ว่า​การ​จะ​ปลูกฝัง​ความ​รัก​ไว้​ใน​หัวใจ​ของ​ลูก เรา​เอง​ต้อง​รู้​ว่า​มี​อะไร​อยู่​ใน​หัวใจ​เขา. นั่น​หมาย​ถึง​การ​รับ​ฟัง​สิ่ง​ที่​เขา​พูด​ออก​มา. บาง​ครั้ง​ลูก​ของ​เรา​รู้สึก​อยาก​จะ​บอก​ความ​คับข้อง​ใจ​ของ​เขา ดัง​นั้น ผม​กับ​คาร์ลา​จะ​นั่ง​ลง​คุย​กับ​ลูก​และ​ไต่ถาม​ความ​ใน​ใจ. เมื่อ​เสร็จ​การ​ศึกษา​ประจำ​ครอบครัว เรา​ได้​กัน​เวลา​ไว้​ครึ่ง​ชั่วโมง​เป็น​พิเศษ. คน​ไหน​รู้สึก​อย่าง​ไร​ก็​ปล่อย​ให้​เขา​พูด​ออก​มา​อย่าง​อิสระ.

ยก​ตัว​อย่าง โทมัส​และ​กาบ​รี​เอ​เลอ​ซึ่ง​อายุ​น้อย​ที่​สุด​ใน​ครอบครัว มี​ความ​รู้สึก​ว่า​พ่อ​แม่​ลำเอียง เลือก​รัก​แต่​พี่​ชาย​คน​โต. คราว​หนึ่ง​เมื่อ​นั่ง​พร้อม​หน้า​กัน ทั้ง​สอง​แสดง​ความ​คิด​เห็น​ออก​มา​ตรง ๆ และ​พูด​ว่า “พ่อ​ครับ เรา​คิด​ว่า​พ่อ​กับ​แม่​มัก​ยอม​ให้​ฮันส์ เวอร์เนอร์​ทำ​สิ่ง​ที่​เขา​ต้องการ​เสมอ.” ที​แรก ผม​แทบ​ไม่​เชื่อ​หู​ตัว​เอง. อย่าง​ไร​ก็​ดี หลัง​จาก​การ​พิจารณา​เรื่อง​ราว​โดย​ปราศจาก​อคติ ผม​กับ​คาร์ลา​ต้อง​ยอม​รับ​ว่า​จริง​อย่าง​ที่​ลูก​ของ​เรา​พูด. ดัง​นั้น เรา​พยายาม​มาก​กว่า​เดิม​ใน​การ​ปฏิบัติ​ต่อ​ลูก​ทุก​คน​อย่าง​เสมอ​ภาค.

บาง​ครั้ง​ผม​ด่วน​ลง​โทษ​ลูก​หรือ​ลง​โทษ​อย่าง​ไม่​เป็น​ธรรม. ใน​กรณี​ดัง​กล่าว เรา​ผู้​เป็น​พ่อ​แม่​ก็​ต้อง​รู้​จัก​ขอ​โทษ. หลัง​จาก​นั้น เรา​เข้า​เฝ้า​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​คำ​ทูล​อธิษฐาน. นับ​ว่า​สำคัญ​ที่​ลูก ๆ จะ​มอง​เห็น​ว่า​พ่อ​ของ​ตน​พร้อม​จะ​กล่าว​คำ​ขอ​โทษ​จำเพาะ​พระ​ยะโฮวา​และ​ต่อ​ลูก ๆ ของ​ตน​ด้วย. ผล​ที่​ได้​คือ เรา​มี​สัมพันธภาพ​อัน​อบอุ่น​และ​มี​ไมตรี​ต่อ​กัน. ลูก​มัก​พูด​กับ​เรา​ว่า “พ่อ​แม่​เป็น​เพื่อน​ที่​ดี​ที่​สุด​ของ​พวก​เรา.” คำ​พูด​เช่น​นั้น​ทำ​ให้​เรา​ปลื้ม​ปีติ​มาก.

การ​ทำ​งาน​ร่วม​กัน​เป็น​ครอบครัว​ทำ​ให้​เกิด​เอกภาพ. เพราะ​ฉะนั้น ทุก​คน​มี​รอบ​ผลัด​กัน​ทำ​งาน​บ้าน. ฮันส์ เวอร์เนอร์​มี​หน้า​ที่​ไป​จ่าย​ตลาด​และ​ซื้อ​ของ​สัปดาห์​ละ​ครั้ง ปกติ​แล้ว เรา​ให้​เงิน​เขา​ไป​พร้อม​ทั้ง​รายการ​สิ่ง​ของ​ที่​ต้อง​ซื้อ. มี​อยู่​สัปดาห์​หนึ่ง เรา​ไม่​ได้​ให้​เงิน​และ​ไม่​ได้​จด​รายการ​สิ่ง​ของ. ลูก​จึง​ถาม​แม่ และ​แม่​บอก​ว่า​ตอน​นี้​เรา​ยัง​ไม่​มี​เงิน. เด็ก ๆ เริ่ม​กระซิบกระซาบ​กัน แล้ว​ทุก​คน​เข้า​ไป​ยก​กล่อง​ออม​สิน​ของ​ตัว​เอง​ออก​มา​และ​เท​ลง​บน​โต๊ะ. เด็ก ๆ พา​กัน​พูด​เสียง​ดัง​ว่า “แม่​ครับ ตอน​นี้​เรา​ออก​ไป​ซื้อ​ของ​ได้​แล้ว!” ใช่​แล้ว เด็ก​เรียน​รู้​ที่​จะ​ให้​การ​ช่วยเหลือ​ใน​ยาม​ฉุกเฉิน และ​นี่​ทำ​ให้​ครอบครัว​ใกล้​ชิด​แนบ​สนิท​กัน​มาก​ขึ้น.

ครั้น​ลูก​ชาย​เติบโต​เป็น​หนุ่ม พวก​เขา​เริ่ม​สนใจ​ผู้​หญิง​สาว ๆ. อย่าง​เช่น โทมัส​เริ่ม​สนใจ​เพื่อน​พยาน​ฯ วัย​สิบ​หก​มาก. ผม​ชี้​แจง​ให้​เขา​เข้าใจ​ว่า​ถ้า​คิด​เอา​จริง​เอา​จัง​กับ​ผู้​หญิง​คน​นั้น เขา​ต้อง​เตรียม​พร้อม​ที่​จะ​แต่งงาน​กับ​เธอ และ​รับผิดชอบ​ต่อ​ภรรยา​และ​ลูก. โทมัส​ได้​มา​เข้าใจ​ว่า​เขา​ไม่​พร้อม​จะ​แต่งงาน เพราะ​อายุ​เขา​แค่ 18 ปี​เท่า​นั้น.

รุด​หน้า​ก้าว​ไป​ฐานะ​เป็น​ครอบครัว

ขณะ​ลูก​ยัง​อยู่​ใน​ช่วง​เยาว์​วัย ลูก​แต่​ละ​คน​ทยอย​กัน​เข้า​โรง​เรียน​การ​รับใช้​ตาม​ระบอบ​ของ​พระเจ้า. เรา​ตั้งใจ​ฟัง​ส่วน​ที่​เขา​ได้​รับ​มอบหมาย และ​เรา​ได้​รับ​การ​หนุน​ใจ​เมื่อ​เห็น​ลูก​แสดง​ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​รู้สึก​จาก​ใจ​จริง​ของ​ตน. ผู้​ดู​แล​หมวด​และ​ผู้​ดู​แล​ภาค​ซึ่ง​เคย​พัก​ที่​บ้าน​ของ​เรา​เป็น​ครั้ง​คราว​ได้​เล่า​ประสบการณ์​จริง​ใน​ชีวิต​ของ​เขา​หรือ​อ่าน​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​สู่​เรา​ฟัง. บุคคล​เหล่า​นั้น​พร้อม​ด้วย​ภรรยา​ได้​ช่วย​เพาะ​ความ​รัก​ต่อ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​ไว้​ใน​หัวใจ​ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​เรา.

พวก​เรา​เฝ้า​รอ​เวลา​จะ​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่. การ​ประชุม​ใหญ่​เป็น​ปัจจัย​สำคัญ​ใน​ความ​บากบั่น​พยายาม​ของ​เรา​ที่​จะ​ปลูกฝัง​ความ​ปรารถนา​ของ​ลูก ๆ ที่​จะ​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระเจ้า. สำหรับ​ลูก ๆ แล้ว ถือ​ว่า​เป็น​วาระ​พิเศษ​เมื่อ​เขา​ได้​กลัด​บัตร​ติด​หน้า​อก​ก่อน​เดิน​ทาง​ไป​ถึง​บริเวณ​สถาน​ประชุม. เรา​ปลื้ม​ใจ​มาก​เมื่อ​ฮันส์ เวอร์เนอร์​รับ​บัพติสมา​เมื่อ​อายุ​สิบ​ขวบ. หลาย​คน​มอง​ว่า​เขา​ยัง​เด็ก​เกิน​ไป​สำหรับ​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา แต่​เมื่อ​อายุ 50 เขา​บอก​ผม​ว่า​เขา​รู้สึก​ขอบคุณ​เหลือ​เกิน​ที่​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​มา​นาน​ถึง 40 ปี.

พวก​เรา​ได้​ชี้​แจง​ให้​ลูก​เข้าใจ​ว่า​การ​มี​สัมพันธภาพ​กับ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​เรื่อง​สำคัญ แต่​เรา​ไม่​ได้​เร่งเร้า​เขา​ให้​อุทิศ​ตัว. กระนั้น เรา​รู้สึก​พอ​ใจ​ยินดี​เช่น​กัน​เมื่อ​ลูก​คน​อื่น​ทำ​ความ​ก้าว​หน้า​ถึง​ขั้น​ได้​รับ​บัพติสมา​ใน​เวลา​ที่​เขา​เอง​เห็น​ว่า​พร้อม.

เรียน​รู้​ที่​จะ​มอบ​ภาระ​ไว้​กับ​พระ​ยะโฮวา

เรา​มี​ความ​สุข​มาก​เมื่อ​ฮันส์ เวอร์เนอร์​จบ​หลัก​สูตร​โรง​เรียน​ว็อชเทาเวอร์​ไบเบิล​แห่ง​กิเลียด รุ่น 51 เมื่อ​ปี 1971 และ​ถูก​มอบหมาย​ไป​เป็น​มิชชันนารี​ใน​ประเทศ​สเปน. ลูก​แต่​ละ​คน​นอก​นั้น​ยัง​ได้​ทยอย​กัน​ทำ​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​เป็น​ครั้ง​คราว ซึ่ง​ทำ​ให้​เรา​ผู้​เป็น​พ่อ​แม่​รู้สึก​ปลาบปลื้ม​มาก. ตอน​นี้​แหละ​ที่​ฮันส์ เวอร์เนอร์​ให้​พระ​คัมภีร์​ผม​ดัง​ได้​กล่าว​ตอน​เริ่มเรื่อง. เรา​ฐานะ​เป็น​ครอบครัว​ดู​เหมือน​มี​ความ​สุข​ครบ​บริบูรณ์.

ครั้น​แล้ว​เรา​ได้​มา​รู้​ว่า​เรา​จำ​ต้อง​พึ่ง​พิง​ใกล้​ชิด​พระ​ยะโฮวา​มาก​ขึ้น. ทำไม​เป็น​อย่าง​นั้น? เพราะ​เรา​เห็น​ลูก​บาง​คน​ที่​โต​กัน​แล้ว​ประสบ​ปัญหา​ซึ่ง​ความ​เชื่อ​ของ​เขา​ถูก​ทดสอบ​อย่าง​หนัก. อย่าง​เช่น กาบ​รี​เอ​เลอ ลูก​สาว​ที่​รัก​ของ​เรา​ไม่​อาจ​เลี่ยง​พ้น​ความ​ทุกข์​ลำบาก. ปี 1976 เธอ​แต่งงาน​กับ​โลทาร์. หลัง​แต่งงาน​ได้​ไม่​นาน​เขา​ก็​ล้ม​ป่วย. ใน​ระหว่าง​ที่​อาการ​ของ​เขา​ทรุด​ลง​เรื่อย ๆ กาบ​รี​เอ​เลอ​ได้​อยู่​ดู​แล​พยาบาล​จน​กระทั่ง​เขา​สิ้น​ชีวิต. การ​เห็น​สมาชิก​ใน​ครอบครัว​ซึ่ง​มี​สุขภาพ​แข็งแรง​กลับ​ต้อง​มา​ล้ม​ป่วย​จน​เสีย​ชีวิต​เช่น​นั้น​เตือน​ใจ​ให้​เรา​ตระหนัก​ว่า​เรา​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​ความ​ช่วยเหลือ​จาก​พระ​หัตถ์​อัน​เปี่ยม​ด้วย​ความ​รัก​ของ​พระ​ยะโฮวา​มาก​เพียง​ใด.—ยะซายา 33:2.

สิทธิ​พิเศษ​มาก​มาย​ใน​องค์การ​ของ​พระ​ยะโฮวา

คราว​ที่​ผม​ถูก​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​รับใช้​ประชาคม (เดี๋ยว​นี้​เรียก​ว่า​ผู้​ดู​แล​ผู้​เป็น​ประธาน) ใน​ปี 1955 นั้น ผม​รู้สึก​ว่า​ยัง​ไม่​มี​คุณวุฒิ​พอ​สำหรับ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ. มี​งาน​ที่​ต้อง​ทำ​มาก​มาย และ​ทาง​เดียว​ที่​จะ​ปฏิบัติ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ให้​สำเร็จ​ได้​ทัน​กาล บาง​ครั้ง​ต้อง​ตื่น​นอน​ตอน​ตี​สี่. ภรรยา​และ​ลูก ๆ ของ​ผม​ให้​การ​สนับสนุน​เป็น​อย่าง​ดี โดย​ที่​พวก​เขา​พยายาม​ไม่​รบกวน​ผม​ใน​ตอน​ค่ำ หาก​ว่า​ยัง​มี​งาน​ที่​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่.

กระนั้น​ก็​ดี เรา​ฐานะ​ครอบครัว​ใช้​เวลา​ว่าง​ร่วม​สนุก​ด้วย​กัน​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้. บาง​ครั้ง​นาย​จ้าง​ให้​ผม​ใช้​รถยนต์​ของ​เขา​พา​ครอบครัว​ไป​ท่อง​เที่ยว​สนุกสนาน​นอก​บ้าน. ลูก ๆ ต่าง​ก็​ชื่นชม​เมื่อ​เรา​มี​โอกาส​ศึกษา​บทความ​จาก​วารสาร​หอสังเกตการณ์ ใน​ป่า. นอก​จาก​นั้น เรา​เที่ยว​เดิน​ป่า บาง​ครั้ง​ร้อง​เพลง​คลอ​เสียง​ดนตรี​เมื่อ​ผม​เป่า​หีบ​เพลง​ปาก​ระหว่าง​ที่​เรา​เดิน​เลาะ​ไป​ตาม​ป่า​ไม้.

ปี 1978 ผม​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​ดู​แล​หมวด​สมทบ (ผู้​รับใช้​ที่​เดิน​ทาง). ด้วย​ความ​หนัก​ใจ ผม​อธิษฐาน​ดัง​นี้: “พระ​ยะโฮวา ข้าพเจ้า​รู้สึก​ว่า​ไม่​สามารถ​จะ​ทำ​หน้า​ที่​นี้​ได้. หาก​พระองค์​ทรง​ประสงค์​ให้​ลอง​ดู ข้าพเจ้า​จะ​ทำ​จน​สุด​ความ​สามารถ.” สอง​ปี​ต่อ​มา เมื่อ​อายุ 54 ปี ผม​โอน​ธุรกิจ​ขนาด​ย่อม​ให้​โทมัส ลูก​ชาย​คน​สุด​ท้อง​รับ​ไป​ดำเนิน​งาน​ต่อ.

ลูก​ของ​เรา​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่​กัน​หมด​ทุก​คน ซึ่ง​ทำ​ให้​ผม​กับ​คาร์ลา​มี​โอกาส​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ได้​มาก​กว่า​เดิม. ปี​เดียว​กัน​นั้น​เอง ผม​ได้​รับ​แต่ง​ตั้ง​เป็น​ผู้​ดู​แล​หมวด​และ​ถูก​มอบหมาย​ไป​ยัง​เขต​งาน​ใน​ส่วน​หนึ่ง​ของ​เมือง​ฮัมบูร์ก​และ​พื้น​ที่​ทั้ง​หมด​ของ​ชเลซวิจ-โฮลชไตน์. เนื่อง​จาก​ประสบการณ์​ของ​เรา​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ก่อ​ร่าง​สร้าง​ครอบครัว เรา​จึง​สามารถ​เข้าใจ​บิดา​มารดา​และ​บุตร​ของ​เขา​เป็น​พิเศษ. พี่​น้อง​หลาย​คน​จึง​เรียก​เรา​ว่า​พ่อ​แม่​ผู้​เดิน​หมวด.

หลัง​จาก​ผม​มี​คาร์ลา​เป็น​เพื่อน​ร่วม​ทาง​ระหว่าง​ทำ​งาน​เยี่ยม​หมวด​นาน​ถึง​สิบ​ปี ครั้น​แล้ว​เธอ​ต้อง​เข้า​รับ​การ​ผ่าตัด. ใน​ปี​เดียว​กัน​นั้น​เอง แพทย์​ได้​พบ​ว่า​ผม​มี​เนื้อ​งอก​ใน​สมอง. ด้วย​เหตุ​นี้ ผม​จึง​ได้​ขอ​ตัว​จาก​การ​รับใช้​ใน​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​หมวด​เพื่อ​เข้า​รับ​การ​ผ่าตัด​สมอง. นาน​ถึง​สาม​ปี​ที​เดียว​กว่า​ผม​จะ​สามารถ​ปฏิบัติ​งาน​ฐานะ​เป็น​ผู้​ดู​แล​หมวด​สมทบ​ได้​อีก. เวลา​นี้​ผม​กับ​คาร์ลา​ต่าง​ก็​มี​อายุ 70 กว่า​และ​เรา​ไม่​ได้​เดิน​ทาง​เยี่ยม​อีก​ต่อ​ไป. พระ​ยะโฮวา​ทรง​ช่วย​เรา​ให้​มอง​เห็น​ว่า​ไม่​มี​ความ​หมาย​แต่​อย่าง​ใด​ที่​จะ​ยึด​สิทธิ​พิเศษ​นั้น​ไว้​ใน​เมื่อ​ไม่​อาจ​ทำ​งาน​ให้​ลุ​ล่วง.

เมื่อ​มอง​ย้อน​หลัง คาร์ลา​กับ​ผม​ขอบคุณ​พระ​ยะโฮวา​เพราะ​พระองค์​ได้​ทรง​ช่วย​เรา​ปลูกฝัง​ความ​รัก​ต่อ​ความ​จริง​ลง​ใน​หัวใจ​ลูก ๆ ของ​เรา. (สุภาษิต 22:6) ตลอด​เวลา​หลาย​ปี พระ​ยะโฮวา​ทรง​ชี้​นำ​และ​อบรม​เรา​เสมอ​มา ทรง​สนับสนุน​เรา​ทำ​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​จน​สำเร็จ​ลุ​ล่วง. แม้​อายุ​เรา​อาจ​อยู่​ใน​วัย​ชรา​และ​กำลัง​วังชา​เสื่อม​ถอย แต่​ความ​รัก​ของ​เรา​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ยัง​มี​พลัง​และ​ดำรง​มั่นคง​ตลอด​ไป.—โรม 12:10, 11.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 15 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา แต่​ตอน​นี้​ไม่​มี​แล้ว.

[ภาพ​หน้า 26]

ครอบครัว​ของ​เรา ขณะ​เดิน​เลียบ​ฝั่ง​แม่น้ำ​เอลเบ เมือง​ฮัมบูร์ก เมื่อ​ปี 1965

[ภาพ​หน้า 28]

สมาชิก​ครอบครัว​บาง​คน ณ การ​ประชุม​นานา​ชาติ​ใน​กรุง​เบอร์ลิน ปี 1998

[ภาพ​หน้า 29]

กับ​คาร์ลา ภรรยา​ของ​ผม