พฤติกรรมที่ขัดแย้งของเทอร์ทูลเลียน
พฤติกรรมที่ขัดแย้งของเทอร์ทูลเลียน
‘คริสเตียนกับนักปรัชญาเหมือนกันตรงไหน? คนที่ทำให้ความจริงเสื่อมเสียกับคนที่ฟื้นฟูและสอนความจริงเหมือนกันตรงไหน? สำนักปรัชญาเพลโตกับคริสตจักรมีความเห็นลงรอยกันตรงไหน?’ เทอร์ทูลเลียน นักเขียนในศตวรรษที่สองและสาม สากลศักราช เป็นผู้ตั้งคำถามที่ท้าทายเหล่านี้ขึ้นมา. เป็นที่รู้จักกันว่าเขาเป็น “แหล่งข้อมูลที่บริบูรณ์ที่สุดแหล่งหนึ่งในเรื่องประวัติของคริสตจักรและหลักคำสอนต่าง ๆ ซึ่งสอนกันในสมัยของเขา.” เกือบไม่มีแง่มุมใดของความเป็นไปทางศาสนาที่พ้นจากการสังเกตของเขา.
ดูเหมือนเทอร์ทูลเลียนเป็นที่รู้จักดียิ่งเนื่องด้วยคำกล่าวของเขาซึ่งขัดแย้งกันในตัวเองหรือดูเหมือนขัดกัน เช่นดังต่อไปนี้: “พระเจ้าจึงทรงเป็นองค์ยิ่งใหญ่องค์เดียว เมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้เล็กน้อย.” “ไม่ว่าอย่างไร [การสิ้นพระชนม์ของพระบุตรของพระเจ้า] เป็นเรื่องที่ต้องเชื่อ เพราะเรื่องนี้ไร้เหตุผล.” “[พระเยซู] ถูกฝัง และทรงเป็นขึ้นมาอีก ข้อเท็จจริงนี้เป็นเรื่องแน่นอน เพราะเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้.”
นอกจากคำกล่าวของเขาแล้ว ยังมีสิ่งอื่นอีกเกี่ยวกับตัวเขาที่ขัดแย้งกันเอง. แม้ว่าเขาตั้งใจให้หนังสือของเขาปกป้องความจริงและส่งเสริมความซื่อสัตย์มั่นคงของคริสตจักรและความซื่อตรงของหลักคำสอนของคริสตจักร แต่แท้จริงแล้วเขากลับทำให้คำสอนแท้เสื่อมเสีย. สิ่งช่วยเหลืออันสำคัญที่เขาให้แก่คริสต์ศาสนจักรปรากฏผลเป็นทฤษฎีที่นักเขียนสมัยต่อมาใช้ตั้งหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ. เพื่อจะเข้าใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร ให้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวของเทอร์ทูลเลียนเองก่อนสักหน่อย.
“ไม่เคยถูกมองข้าม”
เรื่องชีวิตของเทอร์ทูลเลียนเป็นที่รู้จักกันน้อยมาก. ผู้คงแก่เรียนส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าเขาเกิดเมื่อราว ๆ ปี ส.ศ. 160 ในเมืองคาร์เทจ ทางภาคเหนือของแอฟริกา. ปรากฏว่าเขามีการศึกษาดีและคุ้นเคยดีกับสำนักปรัชญาสำคัญ ๆ ในสมัยของเขา. ดูเหมือนว่าสิ่งที่ดึงดูดใจเขาให้เข้ามาหาศาสนาคริสเตียนคือความเต็มใจจะตายเพื่อความเชื่อของพวกที่ประกาศตัวเป็นคริสเตียน. เกี่ยวด้วยการพลีชีพเพื่อความเชื่อของคริสเตียน เขาถามว่า “เพราะผู้ที่ใคร่ครวญเรื่องนี้คนไหนล่ะจะไม่รู้สึกอยากถามว่า อะไรคือแรงกระตุ้นให้ทำอย่างนั้น? เมื่อถามแล้ว ใครล่ะที่ไม่ยอมรับหลักคำสอนของพวกเรา?”
หลังจากเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสเตียนในนาม เทอร์ทูลเลียนได้กลายเป็นนักเขียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ซึ่งชำนาญการใช้ถ้อยคำที่รวบรัดและคมคาย. หนังสือ เดอะ ฟาเทอรส์ ออฟ เดอะ เชิช ให้ข้อสังเกตว่า “[เขา] มีความสามารถที่พวกนักเทววิทยาน้อยคนจะมี. เขาไม่เคยถูกมองข้าม.” ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวว่า “เทอร์ทูลเลียน [มี] ความสามารถพิเศษด้านการใช้ถ้อยคำมากกว่าการเรียบเรียงประโยค และการจะเข้าใจคำกล่าวที่คมคายของเขาเป็นเรื่องง่ายกว่าการเข้าใจวิธีชักเหตุผลของเขามากทีเดียว. บางที นี่คงเป็นเหตุที่ถ้อยคำของเขาถูกยกไปกล่าวบ่อยมาก และน้อยครั้งนักที่มีการยกข้อความยาว ๆ จากหนังสือของเขาไปกล่าว.”
เพื่อปกป้องศาสนาคริสเตียน
ผลงานที่มีชื่อที่สุดของเทอร์ทูลเลียนคือ อะโพโลจี ได้รับการถือว่าเป็นหนึ่งในงานหนังสือที่ทรงพลังที่สุดซึ่งเขียนเพื่อปกป้องศาสนาคริสเตียนในนาม. หนังสือนี้เขียนขึ้นในช่วงที่ชาวคริสเตียนมักตกเป็นเหยื่อของฝูงชนวุ่นวายที่เชื่อโชคลาง. เทอร์ทูลเลียนเข้ามาปกป้องคริสเตียนเหล่านี้และต่อต้านการปฏิบัติอย่างไร้สติต่อพวกเขา. เขากล่าวว่า “[พวกผู้ต่อต้าน] ถือว่าคริสเตียนเป็นต้นเหตุแห่งความหายนะทุก
อย่างที่เกิดแก่สาธารณชนและเคราะห์ร้ายทุกประการของผู้คน . . . . หากแม่น้ำไนล์ไม่เอ่อล้นเข้าหล่อเลี้ยงทุ่งนา, หากอากาศไม่เปลี่ยนแปลง, หากเกิดแผ่นดินไหว, ทุพภิกขภัย, โรคระบาด—จะได้ยินเสียงร้องขึ้นมาทันทีว่า ‘เอาพวกคริสเตียนโยนให้สิงโต!’”แม้ว่าชนคริสเตียนมักถูกกล่าวหาว่าไม่ภักดีต่อรัฐ แต่เทอร์ทูลเลียนก็พยายามแสดงว่า แท้จริงแล้วพวกเขาเป็นพลเมืองที่น่าเชื่อถือที่สุดในดินแดนนั้น. หลังจากเรียกร้องให้สนใจความพยายามหลายครั้งที่มีการดำเนินการเพื่อโค่นล้มรัฐบาลโรม เขาเตือนพวกต่อต้านศาสนาให้รู้ว่าพวกที่คบคิดทำการนั้นแท้จริงแล้วมาจากพวกนอกศาสนา ไม่ใช่คริสเตียน. เทอร์ทูลเลียนชี้ให้เห็นว่า เมื่อคริสเตียนถูกประหาร รัฐนั่นแหละที่เป็นฝ่ายสูญเสีย.
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของเทอร์ทูลเลียนเป็นเรื่องการดำเนินชีวิตของคริสเตียน. ตัวอย่างเช่น ในหนังสืออรรถาธิบายของเขาชื่อ ออน เดอะ โชวส์ เทอร์ทูลเลียนให้คำแนะเตือนเรื่องการไปปรากฏตัวในสถานบันเทิงบางแห่ง, เรื่องเกมกีฬาและการแสดงต่าง ๆ ของพวกนอกศาสนา. ดูเหมือนว่ามีคนที่เพิ่งเปลี่ยนเข้ามาเชื่อถือซึ่งมองความขัดแย้งกันไม่ออกในการประชุมเพื่อรับการสั่งสอนจากคัมภีร์ไบเบิลและแล้วก็เข้าชมเกมกีฬาของพวกนอกศาสนา. เพื่อพยายามกระตุ้นความสามารถในการคิดของพวกเขา เทอร์ทูลเลียนเขียนดังนี้: “เป็นการชั่วช้าสามานย์ยิ่งนักที่ออกจากโบสถ์ของพระเจ้าไปยังโบสถ์ของปิศาจ—จากกิจกรรมเพื่อพระเจ้าไปสู่กิจกรรมของเดรัจฉาน.” เขากล่าวว่า “สิ่งที่ท่านปฏิเสธด้วยการกระทำ ท่านไม่ควรยอมรับด้วยคำพูด.”
ทำให้ความจริงเสื่อมเสียในขณะที่ปกป้องความจริง
ในหนังสือของเทอร์ทูลเลียนชื่อ คัดค้านแพรกเซียส เขาเริ่มต้นด้วยถ้อยคำว่า “มารต่อสู้และต่อต้านความจริงในหลายทาง. บางครั้งมันมุ่งทำลายความจริงด้วยการปกป้องความจริง.” ชายชื่อแพรกเซียสในหนังสือของเขาไม่เป็นที่รู้จักชัดว่าคือใคร แต่เทอร์ทูลเลียนตั้งข้อสงสัยคำสอนของชายคนนี้ที่เกี่ยวกับพระเจ้าและพระคริสต์. เขามองแพรกเซียสว่าเป็นเครื่องมือของซาตานที่พยายามทำให้ศาสนาคริสเตียนเสื่อมเสียอยู่อย่างลับ ๆ.
ประเด็นสำคัญท่ามกลางพวกคริสเตียนในนามในเวลานั้นคือความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับพระคริสต์. พวกเขาบางคน โดยเฉพาะพวกที่มีภูมิหลังเป็นชาวกรีก พบว่าเป็นเรื่องยากจะทำให้ความเชื่อเรื่องพระเจ้าองค์เดียวกลมกลืนกับบทบาทของพระเยซูในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดและพระผู้ไถ่ได้. แพรกเซียสพยายามแก้ปัญหาของพวกเขาด้วยคำสอนที่ว่า พระเยซูเป็นเพียงการสำแดงพระองค์ของพระบิดาในอีกรูปลักษณะหนึ่ง และไม่มีความแตกต่างใด ๆ ระหว่างพระบิดาและพระบุตร. ทฤษฎีนี้ ซึ่งเรียกกันว่าคตินิยมอัญรูป อ้างว่าพระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ “เป็นพระบิดาในการทรงสร้างและการประทานพระบัญญัติ, เป็นพระบุตรในตัวพระเยซูคริสต์, และเป็นพระวิญญาณบริสุทธิ์หลังจากพระคริสต์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์.”
เทอร์ทูลเลียนแสดงว่าพระคัมภีร์บอกความแตกต่างชัดเจนระหว่างพระบิดาและพระบุตร. หลังจากยกข้อความจาก 1 โกรินโธ 15:27, 28 มากล่าวแล้ว เขาให้เหตุผลดังนี้: “พระองค์ผู้ทรงทำให้ (สิ่งสารพัด) อยู่ใต้อำนาจ และพระองค์ผู้ที่สิ่งเหล่านั้นถูกทำให้อยู่ใต้อำนาจ—ต้องเป็นสองพระองค์ที่ไม่เหมือนกัน.” เทอร์ทูลเลียนชี้ให้เอาใจใส่คำตรัสของพระเยซูเองที่ว่า “พระบิดาเป็นใหญ่กว่าเรา.” (โยฮัน 14:28) โดยใช้ ส่วนต่าง ๆ จากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เช่น บทเพลงสรรเสริญ 8:5 เขาแสดงให้เห็นวิธีที่คัมภีร์ไบเบิลพรรณนา “ฐานะที่ต่ำกว่า” ของพระบุตร. เทอร์ทูลเลียนสรุปว่า “ดังนั้น พระบิดาจึงต่างจากพระบุตรอย่างสิ้นเชิง ทรงเป็นใหญ่กว่าพระบุตร. เนื่องจากพระองค์ผู้ให้กำเนิดเป็นองค์หนึ่ง และพระองค์ผู้ได้รับการกำเนิดจึงเป็นอีกองค์หนึ่ง; เช่นกัน พระองค์ผู้ส่งมาเป็นองค์หนึ่ง และพระองค์ผู้ถูกส่งมาจึงเป็นอีกองค์หนึ่ง; และอีกครั้ง พระองค์ผู้ทรงสร้างเป็นองค์หนึ่ง และพระองค์ผู้ที่ถูกใช้ให้สร้างสรรพสิ่งจึงเป็นอีกองค์หนึ่ง.”
เทอร์ทูลเลียนมองว่าพระบุตรต่ำกว่าพระบิดา. แต่เมื่อเขาพยายามคัดค้านคตินิยมอัญรูป เขาทำ “เลยขอบเขตสิ่งที่เขียนไว้.” (1 โกรินโธ 4:6, ล.ม.) ขณะที่เทอร์ทูลเลียนพยายามอย่างผิด ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้าโดยใช้อีกทฤษฎีหนึ่ง เขาคิดค้นแนวคิด “สาระเดียวในสามบุคคล” ขึ้นมา. เขาพยายามใช้แนวคิดนี้แสดงว่าพระเจ้า, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์ เป็นสามบุคคลต่างหากกันซึ่งดำรงอยู่ในสาระเดียวซึ่งเป็นพระเจ้า. ดังนั้น เทอร์ทูลเลียนจึงกลายเป็นคนแรกที่ใช้รูปคำภาษาลาตินที่ได้รับการแปลว่า “ตรีเอกานุภาพ” กับพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์.
ระวังปรัชญาของโลก
เทอร์ทูลเลียนสามารถคิดทฤษฎี “สาระเดียวในสามบุคคล” ขึ้นมาได้อย่างไร? คำตอบพบได้ในความขัดแย้งในตัวเองอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับชายผู้นี้ นั่นคือแง่คิดด้านปรัชญาของเขา. เทอร์ทูลเลียนเรียกปรัชญาว่า “ ‘หลักคำสอน’ ของมนุษย์และ ‘ของปิศาจ.’” เขาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ใช้ปรัชญาสนับสนุนความจริงของคริสเตียน. เขากล่าวว่า “จงหลีกหนีจากความพยายามทุกอย่างเพื่อทำให้เกิดศาสนาคริสเตียนที่เสื่อมเสียของพวกสโตอิก, พวกเพลโต, และบทความวิภาษ.” แต่ตัวเทอร์ทูลเลียนเองกลับใช้ปรัชญาทางโลกอย่างมากมายเมื่อปรัชญานั้นสอดคล้องกับแนวคิดของเขาเอง.—โกโลซาย 2:8.
หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า “ทฤษฎีตรีเอกานุภาพจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากแนวความคิดและหลักความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ของพวกกรีกเพื่อการพัฒนาและการอธิบายทฤษฎีนี้.” และหนังสือ เทววิทยาของเทอร์ทูลเลียน กล่าวว่า “[ทฤษฎีนี้เป็น] การผสมแนวคิดและคำศัพท์ทางกฎหมายและทางปรัชญาเข้าด้วยกันอย่าแปลกประหลาด ซึ่งทำให้เทอร์ทูลเลียนสามารถเสนอหลักคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพในรูปแบบที่ ทั้ง ๆ ที่มีข้อจำกัดและความไม่สมบูรณ์นานาประการ แต่ก็ได้ให้โครงสร้างไว้สำหรับการเสนอหลักคำสอนนี้ ณ การประชุมสังคายนาที่นีเซีย.” ฉะนั้น แนวคิดของเทอร์ทูลเลียน—คือสามบุคคลในสาระเดียวของพระเจ้า—จึงมีบทบาทสำคัญในการแพร่ความเชื่อที่ผิดทางศาสนาไปทั่วคริสต์ศาสนจักร.
เทอร์ทูลเลียนกล่าวหาคนอื่นว่าทำลายความจริงขณะที่คนเหล่านั้นพยายามปกป้องความจริง. แต่เรื่องกลับกลายเป็นว่า เขาเองนั่นแหละที่ทำสิ่งซึ่งเขากล่าวหาว่าคนอื่นทำ ด้วยการเอาความจริงของคัมภีร์ไบเบิลที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าไปปนเปกับปรัชญาของมนุษย์. ดังนั้น เราพึงเอาใจใส่คำเตือนในพระคัมภีร์ที่ให้ระวังการ “ใส่ใจกับถ้อยคำโดยการดลใจซึ่งทำให้หลงผิดและคำสอนของผีปิศาจ.”—1 ติโมเธียว 4:1, ล.ม.
[ภาพหน้า 29, 30]
เทอร์ทูลเลียนวิพากษ์วิจารณ์ปรัชญาอย่างแรงแต่กลับใช้ปรัชญาสนับสนุนแนวคิดของตน
[ที่มาของภาพ]
Pages 29 and 30: © Cliché Bibliothèque nationale de France, Paris
[ภาพหน้า 31]
คริสเตียนแท้หลีกเลี่ยงการเอาความจริงในคัมภีร์ไบเบิลไปปนกับปรัชญาของมนุษย์