ได้ประโยชน์จากความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวา
ได้ประโยชน์จากความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวา
“ผู้ใดมีสติปัญญาก็ให้ผู้นั้น . . . พิจารณาดูพระกรุณาคุณ [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] ของพระยะโฮวา.”—บทเพลงสรรเสริญ 107:43.
1. มีการใช้คำ “ความกรุณารักใคร่” เป็นครั้งแรกในคัมภีร์ไบเบิลเมื่อไร และเราจะพิจารณาคำถามอะไรเกี่ยวกับคุณลักษณะนี้?
เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว โลตหลานชายของอับราฮามกล่าวถึงพระยะโฮวาดังนี้: “พระองค์จึงทำให้ความกรุณารักใคร่ .. . ปรากฏชัดยิ่งขึ้น.” (เยเนซิศ 19:19, ล.ม.) นี่นับเป็นครั้งแรกที่คำ “ความกรุณารักใคร่” ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล. ยาโคบ, นาอะมี, ดาวิด, และผู้รับใช้คนอื่น ๆ ของพระเจ้าต่างก็กล่าวถึงคุณลักษณะนี้ของพระยะโฮวา. (เยเนซิศ 32:10; ประวัตินางรูธ 1:8; 2 ซามูเอล 2:6) ที่จริง คำนี้ปรากฏประมาณ 250 ครั้งในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่. แต่ความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาคืออะไร? ในอดีต พระองค์ทรงแสดงคุณลักษณะนี้แก่ใครบ้าง? และเราได้รับประโยชน์จากคุณลักษณะนี้อย่างไรในปัจจุบัน?
2. เหตุใดคำฮีบรูซึ่งฉบับแปลโลกใหม่แปลว่า “ความกรุณารักใคร่” เป็นคำที่ยากจะจำกัดความ และคำแปลอีกอย่างหนึ่งที่เหมาะสมของคำนี้คืออะไร?
2 ในพระคัมภีร์ “ความกรุณารักใคร่” เป็นคำแปลอย่างหนึ่งของคำฮีบรูซึ่งมีความหมายกว้างมากจนในภาษาส่วนใหญ่ไม่มีคำโดด ๆ ที่สามารถถ่ายความหมายได้ครบถ้วนจริง ๆ. ด้วยเหตุนั้น คำแปลอย่างเช่น “ความรัก,” “ความเมตตา,” และ “ความซื่อสัตย์” จึงให้ความหมายของคำนี้ได้ไม่ครบ. อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมเทววิทยาของคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่า (ภาษาอังกฤษ) ชี้ว่า การแปลคำนี้ว่า “ความกรุณารักใคร่” ซึ่งให้ความหมายครอบคลุมกว่า “นับว่าใกล้เคียงกับความหมายอันครบถ้วนของคำนี้.” พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่—พร้อมด้วยข้ออ้างอิง (ภาษาอังกฤษ) แปลคำฮีบรูคำนี้อย่างเหมาะสมอีกอย่างหนึ่งว่า “ความรักภักดี” นอกเหนือจากที่แปลว่า “ความกรุณารักใคร่.”—เอ็กโซโด 15:13; บทเพลงสรรเสริญ 5:7.
แตกต่างกับความรักและความภักดี
3. ความกรุณารักใคร่แตกต่างกับความรักอย่างไร?
3 ความกรุณารักใคร่ หรือความรักภักดี เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับคุณลักษณะแห่งความรักและความภักดี. กระนั้น ความกรุณารักใคร่มีข้อแตกต่างที่สำคัญกับคำเหล่านี้. ขอให้พิจารณาว่าความกรุณารักใคร่แตกต่างกับความรักอย่างไร. ความรักอาจกินความคลุมไปถึงความรักที่มีต่อสิ่งของและแนวคิด. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึง ‘การรักเหล้าองุ่นและน้ำมันหอม’ และ ‘การรักปัญญา.’ (สุภาษิต 21:17; 29:3) แต่ความกรุณารักใคร่เกี่ยวข้องกับผู้คน ไม่ใช่แนวคิดหรือสิ่งที่ไม่มีชีวิต. ตัวอย่างเช่น มีการกล่าวพาดพิงถึงผู้คนเมื่อเอ็กโซโด 20:6 กล่าวว่า พระยะโฮวา ‘ทรงแสดงความกรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] ถึงหลายพันชั่วอายุ.’
4. ความกรุณารักใคร่แตกต่างกับความภักดีอย่างไร?
4 คำฮีบรูซึ่งแปลได้อย่างหนึ่งว่า “ความกรุณารักใคร่” ยังมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “ความภักดี” ด้วย. ในบางภาษา “ความภักดี” มักใช้กับเจตคติที่ผู้น้อยควรแสดงต่อผู้มีอำนาจสูงกว่า. แต่ดังที่นักค้นคว้าคนหนึ่งชี้ จากแง่ที่มีการใช้ในคัมภีร์ไบเบิล ความกรุณารักใคร่ “มักใช้หมายถึงความสัมพันธ์ในทิศทางที่ตรงข้ามกันมากกว่า คือผู้มีอำนาจเหนือกว่าภักดีต่อผู้ที่อ่อนแอหรือขัดสนหรือผู้ที่หวังพึ่งตน.” กษัตริย์ดาวิดจึงสามารถวิงวอนต่อพระยะโฮวาดังนี้: “ขอพระองค์ทรงโปรดให้พระพักตร์ของพระองค์ส่องรัศมีมาสู่ผู้ทาสของพระองค์: ขอทรงช่วยข้าพเจ้าให้รอดโดยพระกรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] ของพระองค์เถิด.” (บทเพลงสรรเสริญ 31:16) พระยะโฮวาผู้เปี่ยมด้วยฤทธานุภาพได้รับการร้องขอให้แสดงความกรุณารักใคร่ หรือความรักภักดี ต่อดาวิดผู้ขัดสน. เนื่องจากผู้ขัดสนไม่มีอำนาจ เหนือผู้มีอำนาจ ความกรุณารักใคร่จึงแสดงในกรณีเช่นนั้นอย่างเต็มใจ ไม่ใช่เพราะถูกบังคับ.
5. (ก) มีการเน้นลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นอะไรของความกรุณารักใคร่ของพระเจ้าในพระคำของพระองค์? (ข) เราจะพิจารณาการแสดงออกซึ่งความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาเช่นไร?
5 ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญถามว่า “ผู้ใดมีสติปัญญาก็ให้ผู้นั้น . . . พิจารณาดูพระกรุณาคุณ [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] ของพระยะโฮวา.” (บทเพลงสรรเสริญ 107:43) ความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาอาจยังผลเป็นการช่วยให้รอดและการพิทักษ์รักษา. (บทเพลงสรรเสริญ 6:4; 119:88, 159) ความกรุณารักใคร่ของพระองค์เป็นการปกป้องและเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การบรรเทาความยุ่งยาก. (บทเพลงสรรเสริญ 31:16, 21; 40:11; 143:12) เนื่องด้วยคุณลักษณะนี้ จึงเป็นไปได้ที่จะฟื้นตัวจากบาป. (บทเพลงสรรเสริญ 25:7) โดยการทบทวนบางเรื่องที่พระคัมภีร์บันทึกไว้และสังเกตข้อพระคัมภีร์อื่น ๆ เราจะเห็นว่าความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวา (1) แสดงออกโดยการกระทำที่เฉพาะเจาะจง และ (2) เป็นสิ่งที่ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ได้รับ.
การช่วยให้รอด—การแสดงออกอย่างหนึ่งของความกรุณารักใคร่
6, 7. (ก) พระยะโฮวาทรงทำให้ความกรุณารักใคร่ของพระองค์ปรากฏชัดยิ่งขึ้นอย่างไรในกรณีของโลต? (ข) โลตออกปากเอ่ยถึงความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาตอนไหน?
6 วิธีที่ดีที่สุดที่จะทราบขอบเขตของความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาอาจทำได้โดยการตรวจสอบเรื่องราวในพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะนี้. ที่เยเนซิศ 14:1-16 เราพบว่าโลตหลานชายของอับราฮามถูกกองกำลังของศัตรูคร่าตัวไป. แต่อับราฮามได้ช่วยโลตกลับมา. ชีวิตของโลตตกอยู่ในอันตรายอีกครั้งเมื่อพระยะโฮวาตัดสินพระทัยจะทำลายเมืองโซโดมที่ชั่วช้าซึ่งโลตกับครอบครัวอาศัยอยู่.—เยเนซิศ 18:20-22; 19:12, 13.
เยเนซิศ 19:16, 19, ล.ม.) ด้วยคำพูดดังกล่าว โลตยอมรับว่าพระยะโฮวาได้แสดงความกรุณารักใคร่เป็นพิเศษด้วยการช่วยท่านให้รอด. ในกรณีนี้ ความกรุณารักใคร่ของพระเจ้าแสดงออกโดยการช่วยให้รอดพ้นและการพิทักษ์รักษา.—2 เปโตร 2:7.
7 ก่อนจะทำลายเมืองโซโดม ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาพาโลตกับครอบครัวออกจากเมืองนั้น. ในตอนนั้นเอง โลตกล่าวว่า “ผู้รับใช้ของพระองค์เป็นที่โปรดปรานในสายพระเนตรของพระองค์แล้ว พระองค์จึงทำให้ความกรุณารักใคร่ซึ่งพระองค์ได้ทรงสำแดงด้วยการรักษาจิตวิญญาณของข้าพเจ้าให้มีชีวิตอยู่นั้นปรากฏชัดยิ่งขึ้น.” (ความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาและการชี้นำของพระองค์
8, 9. (ก) งานมอบหมายที่อับราฮามได้ใช้ให้คนต้นเรือนไปทำคืออะไร? (ข) เหตุใดคนต้นเรือนจึงอธิษฐานขอความกรุณารักใคร่จากพระเจ้า และเกิดอะไรขึ้นขณะที่เขากำลังอธิษฐานอยู่นั้น?
8 ในเยเนซิศบท 24 เราอ่านเกี่ยวกับการแสดงออกอีกอย่างหนึ่งของความกรุณารักใคร่หรือความรักภักดีของพระเจ้า. บันทึกดังกล่าวเล่าว่าอับราฮามมอบหมายคนต้นเรือนให้เดินทางไปยังดินแดนที่ญาติของอับราฮามอยู่เพื่อหาภรรยาให้ยิศฮาคบุตรชายท่าน. (ข้อ 2-4) งานมอบหมายนี้ไม่ง่ายเลย แต่อับราฮามพูดให้คนต้นเรือนมั่นใจว่าทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาจะชี้นำเขา. (ข้อ 7) ในที่สุด คนต้นเรือนก็มาถึงบ่อน้ำนอก “เมืองของนาโฮร” (หากไม่ใช่เมืองฮารานก็คงเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ ๆ กัน) ตอนที่พวกผู้หญิงพากันมาตักน้ำพอดี. (ข้อ 10, 11) เมื่อเขาเห็นผู้หญิงเหล่านี้เดินใกล้เข้ามา เขาทราบว่าถึงช่วงสำคัญแห่งงานมอบหมายของเขาแล้ว. แต่เขาจะเลือกหญิงที่เหมาะสมได้โดยวิธีใด?
9 โดยสำนึกว่าเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า คนต้นเรือนของอับราฮามอธิษฐานดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระเจ้าของอับราฮามนายข้าพเจ้า, ขอพระองค์ทรงสำแดงความเมตตา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] แก่อับราฮามนายของข้าพเจ้า, โปรดบันดาลให้การของข้าพเจ้าสำเร็จในเวลาวันนี้.” (ข้อ 12) พระยะโฮวาจะทรงแสดงความกรุณารักใคร่ของพระองค์อย่างไร? คนต้นเรือนทูลขอหมายสำคัญที่เจาะจงซึ่งจะทำให้เขาสามารถทราบได้ว่าหญิงสาวคนไหนที่พระเจ้าทรงเลือกไว้. (ข้อ 13, 14) หญิงคนหนึ่งทำอย่างที่เขาได้ทูลขอพระยะโฮวาไว้ทุกประการ. ราวกับว่าเธอบังเอิญได้ยินคำอธิษฐานของเขา! (ข้อ 15-20) ด้วยความพิศวง คนต้นเรือน “ก็นิ่งแลดูนางอยู่.” ถึงกระนั้น จำเป็นต้องสืบให้รู้ข้อเท็จจริงที่สำคัญบางอย่าง. หญิงสาวหน้าตาดีคนนี้เป็นญาติของอับราฮามหรือไม่? และเธอยังเป็นโสดอยู่หรือเปล่า? ดังนั้น คนต้นเรือนยังคง ‘นิ่งอยู่ เพื่อจะรู้ว่าพระยะโฮวาจะทรงโปรดให้การที่มานั้นสำเร็จหรือไม่.’—ข้อ 16, 21.
10. เหตุใดคนต้นเรือนของอับราฮามลงความเห็นว่าพระยะโฮวาได้แสดงความกรุณารักใคร่ต่อนายของตน?
10 ชั่วเวลาสั้น ๆ หลังจากนั้น หญิงสาวคนนี้ก็แนะนำตัวเองว่าเป็น “บุตรสาวบะธูเอลผู้เป็นบุตรชายของนางมิละคาที่เกิดกับนาโฮร [น้องชายของอับราฮาม].” (เยเนซิศ 11:26; 24:24) ถึงตอนนี้ คนต้นเรือนก็ตระหนักว่าพระยะโฮวาได้ตอบคำอธิษฐานของเขาแล้ว. ด้วยความรู้สึกเต็มตื้นในหัวใจ เขาโค้งคำนับและกล่าวว่า “ขอบพระเดชพระคุณพระยะโฮวาพระเจ้าของอับราฮามนายข้าพเจ้า, ผู้หาได้ละทิ้งนายของข้าพเจ้าให้ปราศจากความกรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] และความสัตย์จริงของพระองค์ไม่: ส่วนข้าพเจ้านั้นพระยะโฮวาได้ทรงนำทางไปถึงบ้านพี่น้องนายข้าพเจ้า.” (ข้อ 27) โดยให้การชี้นำ พระเจ้าทรงแสดงความกรุณารักใคร่แก่อับราฮามผู้เป็นนายของคนต้นเรือน.
ความกรุณารักใคร่ของพระเจ้านำมาซึ่งการบรรเทาและการปกป้อง
11, 12. (ก) โยเซฟได้รับความกรุณารักใคร่จากพระยะโฮวาในช่วงที่เผชิญการทดลองเช่นไรบ้าง? (ข) พระเจ้าทรงสำแดงความกรุณารักใคร่อย่างไรในกรณีของโยเซฟ?
11 ต่อไป ให้เรามาพิจารณาเยเนซิศบท 39. เรื่องเด่นที่บทนี้เน้นเกี่ยวข้องกับโยเซฟ เหลนของอับราฮาม ซึ่งถูกขายให้เป็นทาสในอียิปต์. อย่างไรก็ตาม “พระยะโฮวาได้ทรงสถิตอยู่กับโยเซฟ.” (ข้อ 1, 2) ที่จริง แม้แต่นายชาวอียิปต์ของโยเซฟ คือโพติฟา ก็ยังลงความเห็นว่าพระยะโฮวาทรง สถิตอยู่กับโยเซฟ. (ข้อ 3) อย่างไรก็ตาม โยเซฟเผชิญการทดสอบที่หนักหน่วงมาก. ท่านถูกกล่าวหาอย่างผิด ๆ ว่าทำมิดีมิร้ายต่อภรรยาโพติฟาและถูกจับขังคุก. (ข้อ 7-20) ใน “คุกใต้ดิน” นี่เองที่ “เท้าของเขาเจ็บช้ำด้วยตรวน คอของเขาเข้าอยู่ในปลอกเหล็ก.”—เยเนซิศ 40:15, ฉบับแปลใหม่; บทเพลงสรรเสริญ 105:18, ฉบับแปลใหม่.
12 เกิดอะไรขึ้นในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ซึ่งยากลำบากเป็นพิเศษอย่างนั้น? “พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับโยเซฟและทรงสำแดงความรักมั่นคง [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] แก่เขา.” (ข้อ 21ก, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาทรงแสดงความกรุณารักใคร่ด้วยการกระทำอย่างหนึ่ง ซึ่งหลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันตามมา และภายหลังทำให้โยเซฟได้รับการปลดเปลื้องจากความลำบากต่าง ๆ ที่ท่านประสบ. พระยะโฮวาทรงโปรดให้ “พัศดีเมตตาปรานี” โยเซฟ. (ข้อ 21ข, ฉบับแปลใหม่) ด้วยเหตุนั้น พัศดีได้มอบตำแหน่งที่มีความรับผิดชอบแก่โยเซฟ. (ข้อ 22) ต่อจากนั้น โยเซฟพบชายคนหนึ่งซึ่งในที่สุดได้ทำให้ท่านได้รับความสนใจจากฟาโรห์ ผู้ปกครองแห่งอียิปต์. (เยเนซิศ 40:1-4, 9-15; 41:9-14) ต่อมา กษัตริย์เลื่อนตำแหน่งให้โยเซฟเป็นผู้ปกครองคนที่สองแห่งอียิปต์ ซึ่งทำให้ท่านสามารถทำงานช่วยชีวิตผู้คนในช่วงที่เกิดการกันดารอาหารอย่างหนักในประเทศอียิปต์. (เยเนซิศ 41:37-55) ความลำบากของโยเซฟเริ่มขึ้นเมื่อท่านอายุได้ 17 ปี และท่านต้องทนลำบากนานกว่า 12 ปี! (เยเนซิศ 37:2, 4; 41:46) แต่ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวที่ทุกข์ยากเดือดร้อน พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสำแดงความกรุณารักใคร่ต่อโยเซฟโดยปกป้องท่านไว้จากความหายนะโดยสิ้นเชิง และพิทักษ์รักษาท่านไว้ให้รับบทบาทอันเป็นสิทธิพิเศษในพระประสงค์ของพระเจ้า.
ความกรุณารักใคร่ของพระเจ้าไม่มีทางล้มเหลว
13. (ก) การแสดงออกซึ่งความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาเช่นไรซึ่งพบในเพลงสรรเสริญบท 136? (ข) ความกรุณารักใคร่มีลักษณะพื้นฐานเช่นไร?
13 พระยะโฮวาทรงแสดงความกรุณารักใคร่ต่อชาวอิสราเอลทั้งชาติครั้งแล้วครั้งเล่า. เพลงสรรเสริญบท 136 บอกว่าด้วยความกรุณารักใคร่ พระองค์ทรงช่วยพวกเขาให้รอด (ข้อ 10-15), ให้การชี้นำ (ข้อ 16), และให้การปกป้อง. (ข้อ 17-20) พระเจ้าทรงแสดงความกรุณารักใคร่แก่มนุษย์เป็นรายบุคคลด้วย. คนที่แสดงความกรุณารักใคร่ต่อเพื่อนมนุษย์ทำอย่างนั้นด้วยการกระทำโดยสมัครใจซึ่งมุ่งหมายจะสนองความจำเป็นที่สำคัญ. หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งซึ่งอธิบายคัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับความกรุณารักใคร่ว่า “ความกรุณารักใคร่เป็นการกระทำที่รักษาหรือส่งเสริมชีวิต. ความกรุณารักใคร่เป็นการยื่นมือเข้าไปจัดการเพื่อประโยชน์ของบางคนที่ประสบเหตุร้ายหรือความทุกข์เดือนร้อน.” ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งพรรณนาความกรุณารักใคร่ว่าเป็น “ความรักซึ่งถ่ายทอดออกมาเป็นการกระทำ.”
14, 15. เหตุใดเราจึงแน่ใจได้ว่าโลตเป็นผู้รับใช้ที่พระเจ้าทรงพอพระทัย?
14 บันทึกในพระธรรมเยเนซิศที่เราได้พิจารณากันไปแล้วแสดงให้เราเห็นว่าพระยะโฮวาทรงแสดงความกรุณารักใคร่เสมอต่อคนที่รักพระองค์. โลต, อับราฮาม, และโยเซฟมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันและเผชิญการทดลองที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด. พวกเขาเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ แต่เป็นผู้รับใช้ที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัย และพวกเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระเจ้า. เราคงสบายใจที่ทราบว่าพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราผู้เปี่ยมด้วยความรักทรงแสดงความกรุณารักใคร่ต่อบุคคลเช่นนั้น.
15 โลตได้ตัดสินใจอย่างไม่ฉลาดสุขุมซึ่งทำให้ท่านประสบความยุ่งยาก. (เยเนซิศ 13:12, 13; 14:11, 12) ถึงกระนั้น ท่านได้แสดงคุณลักษณะที่น่าชมเชยด้วย. เมื่อทูตสวรรค์สององค์ของพระเจ้ามาถึงเมืองโซโดม โลตแสดงน้ำใจต้อนรับแขก. (เยเนซิศ 19:1-3) ด้วยความเชื่อ ท่านเตือนลูกเขยเกี่ยวกับความพินาศของเมืองโซโดมซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น. (เยเนซิศ 19:14) ทัศนะของพระเจ้าที่มีต่อโลตจะเห็นได้จาก 2 เปโตร 2:7-9 (ล.ม.) ซึ่งเราอ่านดังนี้: “[พระยะโฮวา] ได้ทรงช่วยโลตผู้ชอบธรรมให้รอด ผู้ซึ่งเป็นทุกข์มากเนื่องจากการทำตามอำเภอใจของคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายด้วยการประพฤติหละหลวม—เพราะบุรุษผู้ชอบธรรมคนนั้น โดยสิ่งที่ท่านได้เห็นและได้ยินขณะที่อาศัยอยู่ท่ามกลางพวกเขาทุกวัน ทรมานจิตวิญญาณอันชอบธรรมของท่านเนื่องด้วยการกระทำที่ละเลยกฎหมายของพวกเขา—พระยะโฮวาทรงทราบวิธีที่จะช่วยคนที่เลื่อมใสในพระเจ้าให้รอดพ้นจากการทดลอง.” ถูกแล้ว โลตเป็นผู้ชอบธรรม และคำที่ใช้ในข้อนี้บอกโดยอ้อมว่าท่านเป็นผู้เลื่อมใสในพระเจ้า. เช่นเดียวกับโลต เราได้รับความกรุณารักใคร่จากพระเจ้าเมื่อเรามีส่วนร่วมใน “การประพฤติอันบริสุทธิ์ และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า.”—2 เปโตร 3:11, 12, ล.ม.
16. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับอับราฮาม และโยเซฟในแง่ดีเช่นไร?
16 บันทึกในเยเนซิศบท 24 แสดงชัดเจนเกี่ยวกับสาย สัมพันธ์อันใกล้ชิดของอับราฮามกับพระยะโฮวา. ข้อแรกบอกว่า “พระยะโฮวาได้ทรงอวยพร [อับราฮาม] ให้เจริญบริบูรณ์ทุกประการ.” คนต้นเรือนของอับราฮามเรียกพระยะโฮวาว่า “พระเจ้าของอับราฮามนายข้าพเจ้า.” (ข้อ 12, 27) และสาวกยาโกโบกล่าวว่าอับราฮามได้รับการ “ประกาศว่าชอบธรรม” และ “ได้รับสมญาว่า ‘มิตรของพระยะโฮวา.’” (ยาโกโบ 2:21-23, ล.ม.) เป็นจริงอย่างนั้นเป็นส่วนใหญ่กับโยเซฟ. มีการเน้นสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระยะโฮวากับโยเซฟโดยตลอดในเยเนซิศบท 39. (ข้อ 2, 3, 21, 23) นอกจากนั้น สาวกซะเตฟาโนกล่าวว่า “พระเจ้าทรงสถิตอยู่กับโยเซฟ.”—กิจการ 7:9.
17. เราเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของโลต, อับราฮาม, และโยเซฟ?
17 คนเหล่านี้ที่ได้รับความกรุณารักใคร่จากพระเจ้าซึ่งเราเพิ่งพิจารณากันไปเป็นบุคคลที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวาพระเจ้า และรับใช้ตามพระประสงค์ของพระเจ้าในวิธีต่าง ๆ. พวกเขาเผชิญอุปสรรคที่พวกเขาไม่อาจเอาชนะได้ด้วยตัวเอง. การคุ้มครองรักษาชีวิตโลต, การสืบเชื้อวงศ์ของอับราฮาม, และการปกป้องบทบาทของโยเซฟเป็นเรื่องเสี่ยงอันตราย. เฉพาะพระยะโฮวาเท่านั้นที่สามารถสนองความจำเป็นของชายเหล่านี้ผู้เลื่อมใสในพระองค์ และพระองค์ทรงทำอย่างนั้นโดยทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาจัดการด้วยความกรุณารักใคร่. หากเราต้องการได้รับความกรุณารักใคร่จากพระยะโฮวาพระเจ้าตลอดไป เราเองก็ต้องมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเป็นส่วนตัวกับพระองค์และเราต้องทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์ต่อ ๆ ไป.—เอษรา 7:28; บทเพลงสรรเสริญ 18:50.
ผู้รับใช้ของพระเจ้าได้รับความโปรดปราน
18. ข้อพระคัมภีร์หลายข้อชี้เช่นไรเกี่ยวกับความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวา?
18 ความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวามีอยู่ ‘เต็มแผ่นดินโลก’ และเราหยั่งรู้ค่าคุณลักษณะนี้ของพระเจ้ามากเพียงไร! (บทเพลงสรรเสริญ 119:64) เราตอบรับอย่างสุดหัวใจต่อบทร้องรับของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ ที่ว่า “จงให้เขาขอบพระคุณพระยะโฮวาเพราะความกรุณารักใคร่ของพระองค์ และเพราะราชกิจอันอัศจรรย์ของพระองค์ที่มีต่อเหล่าบุตรมนุษย์.” (บทเพลงสรรเสริญ 107:8, 15, 21, 31, ล.ม.) เราชื่นชมยินดีที่พระยะโฮวาทรงแสดงความกรุณารักใคร่ต่อผู้รับใช้ที่พระองค์ทรงพอพระทัย ทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม. ในคำอธิษฐาน ผู้พยากรณ์ดานิเอลเรียกพระยะโฮวาว่าเป็น “พระเจ้าใหญ่ยิ่งและเป็นที่ยำเกรง, ผู้ได้ทรงรักษาพระสันถวไมตรีและทรงเมตตากรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] แก่คนทั้งหลายที่รักใคร่พระองค์, และแก่คนที่ถือรักษาพระบัญญัติของพระองค์ไว้.” (ดานิเอล 9:4) กษัตริย์ดาวิดอธิษฐานดังนี้: “ขอทรงโปรดให้พระกรุณา [“ความกรุณารักใคร่,” ล.ม.] ของพระองค์ดำรงอยู่เรื่อยไปกับคนที่รู้จักพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 36:10) เราหยั่งรู้ค่าสักเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงแสดงความกรุณารักใคร่ต่อผู้รับใช้ของพระองค์!—1 กษัตริย์ 8:23; 1 โครนิกา 17:13.
19. ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาคำถามอะไรบ้าง
19 จริงทีเดียว เราได้รับความโปรดปรานในฐานะไพร่พลของพระยะโฮวา! นอกจากจะได้ประโยชน์จากความรักที่พระเจ้าทรงแสดงต่อมนุษยชาติโดยทั่วไปแล้ว เราได้รับพระพรเป็นพิเศษซึ่งเป็นผลมาจากความกรุณารักใคร่หรือความรักภักดีของพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา. (โยฮัน 3:16) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราได้รับประโยชน์จากคุณลักษณะอันล้ำค่านี้ของพระยะโฮวาในยามที่มีความจำเป็นเกิดขึ้น. (บทเพลงสรรเสริญ 36:7) แต่เราจะเลียนแบบอย่างความกรุณารักใคร่ของพระยะโฮวาพระเจ้าได้อย่างไร? เราแต่ละคนแสดงคุณลักษณะอันน่าทึ่งนี้ไหม? เราจะพิจารณาคำถามดังกล่าวรวมทั้งคำถามที่เกี่ยวข้องในบทความถัดไป.
คุณจำได้ไหม?
• อาจแปลคำว่า “ความกรุณารักใคร่” ได้อีกอย่างหนึ่งเช่นไร?
• ความกรุณารักใคร่แตกต่างกับความรักและความภักดีอย่างไร?
• พระยะโฮวาทรงแสดงความกรุณารักใคร่ต่อโลต, อับราฮาม, และโยเซฟอย่างไร?
• เราได้รับคำรับรองเช่นไรจากการที่พระยะโฮวาทรงแสดงออกซึ่งความกรุณารักใคร่ในสมัยอดีต?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 13]
คุณทราบไหมว่าพระเจ้าทรงแสดงความกรุณารักใคร่ต่อโลตอย่างไร?
[ภาพหน้า 15]
ด้วยความกรุณารักใคร่ พระยะโฮวาทรงชี้นำคนต้นเรือนของอับราฮาม
[ภาพหน้า 16]
พระยะโฮวาทรงแสดงความกรุณารักใคร่โดยทรงปกป้องโยเซฟ