ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

จงปฏิบัติตามแบบอย่างของกษัตริย์

จงปฏิบัติตามแบบอย่างของกษัตริย์

จง​ปฏิบัติ​ตาม​แบบ​อย่าง​ของ​กษัตริย์

“ท่าน​จะ​ได้​ลอก​เขียน​พระ​บัญญัติ​เหล่า​นี้ .. . และ​พระ​บัญญัติ​นั้น​จะ​ต้อง​อยู่​กับ​ท่าน และ​ท่าน​จะ​ต้อง​อ่าน​พระ​บัญญัติ​นั้น​มิ​ได้​ขาด​จน​สิ้น​ชีวิต.”—พระ​บัญญัติ 17:18, 19.

1. คริสเตียน​อาจ​ต้องการ​จะ​เป็น​เหมือน​ใคร?

คุณ​คง​ไม่​นึก​เปรียบ​ตัว​คุณ​เอง​กับ​กษัตริย์​หรือ​ราชินี. คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​และ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​คน​ไหน​ล่ะ​ที่​จะ​นึก​ภาพ​ว่า​ตัว​เขา​กำลัง​ลง​มือ​ทำ​ด้วย​อำนาจ​อย่าง​ที่​กษัตริย์​มี แบบ​เดียว​กับ​กษัตริย์​ที่​ดี​อย่าง​เช่น ดาวิด, โยซียา, ฮิศคียา, หรือ​ยะโฮซาฟาด? ถึง​กระนั้น คุณ​สามารถ​เป็น​เหมือน​กษัตริย์​เหล่า​นี้​อย่าง​น้อย​ก็​ใน​แง่​มุม​พิเศษ​อย่าง​หนึ่ง และ​ควร​เป็น​อย่าง​นั้น​ด้วย. นั่น​คือ​อะไร? และ​เหตุ​ใด​คุณ​ควร​ต้องการ​จะ​เป็น​เหมือน​กษัตริย์​เหล่า​นั้น​ใน​แง่​ดัง​กล่าว?

2, 3. พระ​ยะโฮวา​ทรง​มอง​เห็น​ล่วง​หน้า​เช่น​ไร​เกี่ยว​กับ​กษัตริย์​ที่​เป็น​มนุษย์ และ​กษัตริย์​นั้น​ต้อง​ทำ​อะไร?

2 ใน​สมัย​ของ​โมเซ นาน​ก่อน​ที่​พระเจ้า​ทรง​เห็น​ชอบ​ให้​มี​กษัตริย์​ที่​เป็น​มนุษย์​ปกครอง​ชาว​อิสราเอล พระองค์​ทรง​มอง​เห็น​ล่วง​หน้า​ว่า​จะ​เกิด​ความ​ปรารถนา​ที่​จะ​มี​กษัตริย์​ใน​หมู่​ไพร่​พล​ของ​พระองค์. ด้วย​เหตุ​นั้น พระองค์​ทรง​ดล​ใจ​โมเซ​ให้​บันทึก​พระ​บัญชา​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เรื่อง​นี้​ไว้​ใน​สัญญา​ไมตรี​แห่ง​พระ​บัญญัติ. บันทึก​ดัง​กล่าว​คือ​พระ​บัญชา​สำหรับ​กษัตริย์.

3 พระเจ้า​ตรัส​ว่า “เมื่อ​เจ้า​ทั้ง​หลาย​เข้า​ไป​ปกครอง​ใน​แผ่นดิน​ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เจ้า​จะ​ประทาน​ให้​นั้น, . . . จะ​กล่าว​ว่า, เรา​จะ​ตั้ง​กษัตริย์​ให้​ครอบครอง​พวก​เรา, เหมือน​อย่าง​ชาว​ประเทศ​อื่น ๆ ทั้ง​ปวง​ที่​อยู่​ล้อม​รอบ​นั้น; ก็​จง​ตั้ง​ผู้​ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​เจ้า​จะ​ทรง​เลือก​ไว้​ให้​เป็น​กษัตริย์ . . . . เมื่อ​ผู้​นั้น​นั่ง​บน​ที่​นั่ง​ใน​แผ่นดิน​ของ​ท่าน​แล้ว, ท่าน​จะ​ได้​ลอก​เขียน​พระ​บัญญัติ​เหล่า​นี้ .. . และ​พระ​บัญญัติ​นั้น​จะ​ต้อง​อยู่​กับ​ท่าน และ​ท่าน​จะ​ต้อง​อ่าน​พระ​บัญญัติ​นั้น​มิ​ได้​ขาด​จน​สิ้น​ชีวิต; เพื่อ​จะ​ได้​เรียน​การ​ที่​จะ​เกรง​กลัว​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ของ​ตน, และ​จะ​ได้​รักษา​บรรดา​ถ้อย​คำ​ใน​พระ​บัญญัติ, และ​ข้อ​กฎหมาย​เหล่า​นี้, และ​ประพฤติ​ตาม.”—พระ​บัญญัติ 17:14-19.

4. พระ​บัญชา​ของ​พระเจ้า​สำหรับ​กษัตริย์​รวม​ถึง​อะไร​ด้วย?

4 ถูก​แล้ว กษัตริย์​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เลือก​ให้​ปกครอง​ผู้​นมัสการ​ของ​พระองค์​ต้อง​คัด​ลอก​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​ส่วน​ตัว​ดัง​ที่​คุณ​จะ​พบ​ได้​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. จาก​นั้น กษัตริย์​ต้อง​อ่าน​พระ​คัมภีร์​ที่​เขา​คัด​ลอก​นั้น​ทุก​วัน ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก. การ​ทำ​อย่าง​นี้​ไม่​ใช่​เพื่อ​ฝึก​ความ​จำ. นี่​เป็น​การ​ศึกษา และ​การ​ศึกษา​นี้​มี​จุด​ประสงค์​ที่​เป็น​ประโยชน์. กษัตริย์​ที่​จะ​ได้​รับ​ความ​พอ​พระทัย​จาก​พระ​ยะโฮวา​จำเป็น​ต้อง​ศึกษา​เช่น​นั้น​เรื่อย​ไป​เพื่อ​พัฒนา​และ​รักษา​ไว้​ซึ่ง​เจตคติ​ที่​ถูก​ต้อง​ใน​หัวใจ. นอก​จาก​นั้น เขา​จำเป็น​ต้อง​ศึกษา​ข้อ​เขียน​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​เหล่า​นั้น​ด้วย​เพื่อ​จะ​เป็น​กษัตริย์​ที่​มี​ความ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​และ​ประสบ​ความ​สำเร็จ.—2 กษัตริย์ 22:8-13; สุภาษิต 1:1-4.

ร่ำ​เรียน​เหมือน​กษัตริย์

5. กษัตริย์​ดาวิด​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ส่วน​ไหน​บ้าง​ที่​ต้อง​คัด​ลอก​และ​อ่าน และ​ท่าน​รู้สึก​อย่าง​ไร​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้?

5 คุณ​คิด​ว่า​ดาวิด​จำเป็น​ต้อง​ทำ​อะไร​เมื่อ​ท่าน​ขึ้น​เป็น​กษัตริย์​ปกครอง​อิสราเอล? สิ่ง​ที่​ท่าน​ต้อง​ทำ​คือ คัด​ลอก​เพนทาทุก (เยเนซิศ, เอ็กโซโด, เลวีติโก, อาฤธโม, พระ​บัญญัติ). ขอ​ให้​นึก​ภาพ​ถึง​ความ​ประทับใจ​อย่าง​ลึกซึ้ง​ใน​จิตใจ​และ​หัวใจ​ของ​ดาวิด​ที่​ท่าน​ได้​ใช้​ดวง​ตา​และ​มือ​ของ​ท่าน​เอง​ใน​การ​คัด​ลอก​พระ​บัญญัติ. ดู​เหมือน​ว่า โมเซ​เขียน​พระ​ธรรม​โยบ​และ​บทเพลง​สรรเสริญ​บท 90 และ 91 ด้วย. ดาวิด​ได้คัด​ลอก​พระ​ธรรม​เหล่า​นี้​ด้วย​ไหม? อาจ​เป็น​อย่าง​นั้น. นอก​จาก​นั้น ท่าน​คง​มี​พระ​ธรรม​ยะโฮซูอะ, วินิจฉัย, และ​ประวัตินางรูธ​ด้วย. ดัง​นั้น คุณ​คง​เห็น​แล้ว​ว่า​กษัตริย์​ดาวิด​มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​จะ​อ่าน​และ​จด​จำ​ไม่​น้อย​ที​เดียว. และ​คุณ​มี​เหตุ​ผล​ที่​จะ​เชื่อ​ว่า​ท่าน​ได้​ทำ​อย่าง​นั้น เพราะ​สังเกต​ได้​จาก​คำ​พรรณนา​ของ​ท่าน​เกี่ยว​กับ​พระ​บัญญัติ​ของ​พระเจ้า ซึ่ง​ใน​ปัจจุบัน​จะ​พบ​ได้​ที่​บทเพลง​สรรเสริญ 19:7-11.

6. เรา​จะ​แน่​ใจ​ได้​อย่าง​ไร​ว่า​พระ​เยซู​ทรง​สนใจ​ใน​พระ​คัมภีร์​เช่น​เดียว​กับ​ดาวิด​ผู้​เป็น​บรรพบุรุษ?

6 พระ​เยซู​บุตร​ดาวิด ซึ่ง​ยิ่ง​ใหญ่​กว่า​ดาวิด ปฏิบัติ​ตาม​แบบ​อย่าง​เดียว​กัน​นี้. เป็น​กิจวัตร​ของ​พระ​เยซู​ที่​จะ​ไป​ธรรมศาลา​ใน​ท้องถิ่น​ทุก​สัปดาห์. ที่​นั่น พระองค์​ได้​ยิน​การ​อ่าน​และ​การ​อธิบาย​พระ​คัมภีร์. ยิ่ง​กว่า​นั้น ใน​บาง​โอกาส​พระ​เยซู​เอง​ทรง​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ด้วย​เสียง​อัน​ดัง​ต่อ​หน้า​ผู้​คน​และ​อธิบาย​ความ​หมาย​ของ​ข้อ​พระ​คัมภีร์​เหล่า​นั้น. (ลูกา 4:16-21) คุณ​สามารถ​สังเกต​เห็น​ได้​ไม่​ยาก​ว่า​พระองค์​ทรง​คุ้น​เคย​เนื้อ​ความ​ใน​พระ​คัมภีร์. ขอ​เพียง​แต่​อ่าน​เรื่อง​ราว​ใน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ แล้ว​สังเกต​ดู​ว่า​บ่อย​เพียง​ไร​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​ว่า “มี​คำ​เขียน​ไว้​ว่า” หรือ​ที่​พระองค์​ทรง​อ้าง​ถึง​เนื้อ​ความ​บาง​ตอน​จาก​พระ​คัมภีร์​ใน​วิธี​อื่น ๆ. ใน​คำ​เทศน์​บน​ภูเขา​ตาม​ที่​มัดธาย​ได้​บันทึก​ไว้ พระ​เยซู​ทรง​ยก​ข้อ​ความ​จาก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู 21 ครั้ง.—มัดธาย 4:4-10; 7:29; 11:10; 21:13; 26:24, 31; โยฮัน 6:31, 45; 8:17.

7. พระ​เยซู​ทรง​แตกต่าง​กับ​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​อย่าง​ไร?

7 พระ​เยซู​ทรง​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ที่​บทเพลง​สรรเสริญ 1:1-3 ที่​ว่า “ความ​สุข​ย่อม​มี​แก่​ผู้​ที่​ไม่​ดำเนิน​ตาม​คำ​ชักชวน​ของ​คน​ชั่ว . . . ความ​ยินดี​ของ​ผู้​นั้น​อยู่​ใน​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา; และ​เขา​คิด​รำพึง​อยู่​ใน​พระ​ธรรม​ของ​พระองค์​ทั้ง​กลางวัน​และ​กลางคืน . . . . บรรดา​กิจการ​ที่​เขา​กระทำ​นั้น​ก็​เจริญ​ขึ้น.” ช่าง​ต่าง​กัน​จริง ๆ กับ​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ใน​สมัย​ของ​พระองค์ ซึ่ง “นั่ง​บน​ที่​นั่ง​ของ​โมเซ” แต่​ละเลย “พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา”!—มัดธาย 23:2-4.

8. เหตุ​ใด​พวก​หัวหน้า​ศาสนา​ชาว​ยิว​จึง​ไม่​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​อ่าน​และ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล?

8 แต่​บาง​คน​อาจ​รู้สึก​งง​ใน​ข้อ​ความ​ตอน​หนึ่ง​ซึ่ง​ดู​เหมือน​จะ​สามารถ​ตี​ความ​ได้​ว่า​พระ​เยซู​กำลัง​ชักชวน​ไม่​ให้​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล. ที่​โยฮัน 5:39, 40 เรา​อ่าน​ข้อ​ความ​ที่​พระ​เยซู​ตรัส​แก่​บาง​คน​ใน​สมัย​ของ​พระองค์​ว่า “ท่าน​ทั้ง​หลาย​ย่อม​ค้น​ดู​ใน​พระ​คัมภีร์​ที่​เขียน​ไว้​นั้น, เพราะ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​คิด​ว่า​ใน​พระ​คัมภีร์​นั้น​มี​ชีวิต​นิรันดร์ แต่​พระ​คัมภีร์​นั้น​เป็น​พยาน​ถึง​เรา แต่​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ไม่​ยอม​มา​หา​เรา​เพื่อ​จะ​ได้​ชีวิต.” โดย​ตรัส​เช่น​นั้น พระ​เยซู​ไม่​ได้​ชักชวน​ชาว​ยิว​ที่​ฟัง​พระองค์​ให้​เลิก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์. แทน​ที่​จะ​เป็น​อย่าง​นั้น พระองค์​ทรง​เปิดโปง​ความ​ไม่​จริง​ใจ​หรือ​ความ​ไม่​เสมอ​ต้น​เสมอ​ปลาย​ของ​พวก​เขา. พวก​เขา​ตระหนัก​ว่า​พระ​คัมภีร์​สามารถ​นำ​พวก​เขา​ไป​สู่​ชีวิต​นิรันดร์ แต่​ข้อ​พระ​คัมภีร์​เดียว​กัน​นั้น​ที่​พวก​เขา​กำลัง​ค้น​ดู​ก็​น่า​จะ​นำ​พวก​เขา​ไป​ถึง​พระ​มาซีฮา​ด้วย ซึ่ง​ก็​คือ​พระ​เยซู. อย่าง​ไร​ก็​ตาม พวก​เขา​ไม่​ยอม​รับ​พระองค์. การ​ศึกษา​ของ​พวก​เขา​จึง​ไร้​ประโยชน์ เพราะ​พวก​เขา​เป็น​คน​ที่​ไม่​จริง​ใจ​และ​สอน​ไม่​ได้.—พระ​บัญญัติ 18:15; ลูกา 11:52; โยฮัน 7:47, 48.

9. อัครสาวก​และ​เหล่า​ผู้​พยากรณ์​ก่อน​หน้า​นั้น​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เช่น​ไร?

9 ช่าง​เป็น​ภาพ​ที่​ต่าง​กัน​จริง ๆ เมื่อ​เทียบ​กับ​บรรดา​สาวก​ของ​พระ​เยซู รวม​ถึง​เหล่า​อัครสาวก! พวก​เขา​ศึกษา “คำ​จารึก​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ซึ่ง​สามารถ​ทำ​ให้ [คน​เรา] ได้​ปัญญา​ถึง​ที่​รอด.” (2 ติโมเธียว 3:15, ล.ม.) ใน​เรื่อง​นี้ พวก​เขา​เป็น​เหมือน​กับ​ผู้​พยากรณ์​ที่​อยู่​ก่อน​หน้า​นั้น​ซึ่ง “อุตส่าห์​สืบ​เสาะ​และ​ค้นคว้า​อย่าง​ถี่ถ้วน.” ผู้​พยากรณ์​เหล่า​นี้​ไม่​ถือ​ว่า​การ​สืบ​ค้น​เช่น​นั้น​เป็น​เพียง​การ​ศึกษา​อย่าง​ขะมักเขม้น​ใน​ช่วง​สั้น ๆ ไม่​กี่​เดือน​หรือ​สัก​ปี​หนึ่ง. อัครสาวก​เปโตร​กล่าว​ว่า “พวก​เขา​ตรวจ​ดู​ต่อ ๆ ไป” โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​เกี่ยว​กับ​พระ​คริสต์​และ​สง่า​ราศี​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​บทบาท​ของ​พระองค์​ใน​การ​ช่วย​มนุษยชาติ​ให้​รอด. ใน​จดหมาย​ฉบับ​แรก​ของ​เปโตร ท่าน​ยกข้อ​ความ 34 ครั้ง​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​สิบ​พระ​ธรรม.—1 เปโตร 1:10, 11, ล.ม.

10. เหตุ​ใด​เรา​แต่​ละ​คน​ควร​สนใจ​ใน​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล?

10 ดัง​นั้น จึง​เห็น​ได้​ชัด​ว่า​การ​ศึกษา​อย่าง​ถี่ถ้วน​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​ข้อ​เรียก​ร้อง​ที่​กษัตริย์​แห่ง​อิสราเอล​โบราณ​ต้อง​ปฏิบัติ. พระ​เยซู​ทรง​ปฏิบัติ​ตาม​แบบ​อย่าง​นี้. และ​การ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เป็น​สิ่ง​ที่​ผู้​ที่​จะ​ปกครอง​เป็น​กษัตริย์​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์​ใน​สวรรค์​ต้อง​ทำ. (ลูกา 22:28-30; โรม 8:17; 2 ติโมเธียว 2:12; วิวรณ์ 5:10; 20:6) แบบ​อย่าง​ดัง​กล่าว​ซึ่ง​กำหนด​ไว้​สำหรับ​กษัตริย์​เป็น​ข้อ​เรียก​ร้อง​ที่​จำเป็น​เช่น​เดียว​กัน​สำหรับ​ทุก​คน​ใน​ปัจจุบัน​ที่​คอย​ท่า​จะ​ได้​รับ​พระ​พร​บน​แผ่นดิน​โลก​ภาย​ใต้​การ​ปกครอง​แห่ง​ราชอาณาจักร.—มัดธาย 25:34, 46.

งาน​สำหรับ​กษัตริย์​และ​สำหรับ​คุณ

11. (ก) คริสเตียน​ต้อง​ระวัง​แนว​คิด​เช่น​ไร​ที่​เป็น​อันตราย​ใน​เรื่อง​การ​ศึกษา? (ข) เรา​ควร​ถาม​ตัว​เอง​ด้วย​คำ​ถาม​อะไร?

11 เรา​สามารถ​กล่าว​ได้​อย่าง​หนักแน่น​และ​ตรง​ไป​ตรง​มา​ว่า คริสเตียน​แท้​แต่​ละ​คน​ควร​ตรวจ​สอบ​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ส่วน​ตัว. นั่น​ไม่​ใช่​สิ่ง​ซึ่ง​จำเป็น​ต้อง​ทำ​เฉพาะ​ตอน​แรก ๆ ที่​คุณ​เริ่ม​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. เรา​แต่​ละ​คน​ควร​ตั้งใจ​ไว้​ว่า​จะ​ไม่​เป็น​เหมือน​กับ​บาง​คน​ใน​สมัย​ของ​อัครสาวก​เปาโล ซึ่ง​เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป​ได้​ระยะ​หนึ่ง​ก็​เริ่ม​เฉื่อย​ชา​ใน​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว. พวก​เขา​เรียน​รู้ “สิ่ง​พื้น​ฐาน​แห่ง​คำ​แถลง​อัน​ศักดิ์สิทธิ์​ของ​พระเจ้า” เช่น “หลัก​คำ​สอน​พื้น​ฐาน​เกี่ยว​กับ​พระ​คริสต์.” ถึง​กระนั้น พวก​เขา​ไม่​ได้​ศึกษา​ต่อ ๆ ไป และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​จึง​ไม่​ได้ “รุด​หน้า​สู่​ความ​อาวุโส.” (เฮ็บราย 5:12–6:3, ล.ม.) ด้วย​เหตุ​นั้น ไม่​ว่า​จะ​เพิ่ง​สมทบ​กับ​ประชาคม​คริสเตียน​หรือ​สมทบ​มา​หลาย​สิบ​ปี​แล้ว เรา​อาจ​ถาม​ตัว​เอง​ได้​ว่า ‘ฉัน​รู้สึก​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า? เปาโล​อธิษฐาน​ขอ​ให้​คริสเตียน​ใน​สมัย​ของ​ท่าน “เพิ่ม​พูน​ใน​ความ​รู้​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​พระเจ้า.” ฉัน​แสดง​ให้​เห็น​ไหม​ว่า​ฉัน​มี​ความ​ปรารถนา​อย่าง​เดียว​กัน​นั้น?’—โกโลซาย 1:9, 10, ล.ม.

12. เหตุ​ใด​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​มี​ความ​รัก​ต่อ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​เรื่อย​ไป?

12 ปัจจัย​สำคัญ​อย่าง​หนึ่ง​เพื่อ​คุณ​จะ​มี​นิสัย​ศึกษา​ส่วน​ตัว​ที่​ดี​คือ การ​พัฒนา​ความ​รัก​ต่อ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. บทเพลง​สรรเสริญ 119:14-16 ชี้​ถึง​การ​ใคร่ครวญ​อย่าง​มี​ความ​หมาย​เป็น​ประจำ​ใน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ว่า​เป็น​วิธี​ที่​จะ​ทำ​ให้​คุณ​มี​ความ​ยินดี​ใน​พระ​คำ​นั้น. อีก​ครั้ง​หนึ่ง นั่น​เป็น​ความ​จริง​ไม่​ว่า​คุณ​เป็น​คริสเตียน​มา​นาน​เท่า​ใด​แล้ว. เพื่อ​เน้น​จุด​นี้​ให้​เห็น​ชัด ขอ​ให้​นึก​ถึง​ตัว​อย่าง​ของ​ติโมเธียว. แม้​ว่า​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ผู้​นี้​ได้​รับใช้​ใน​ฐานะ “ทหาร​ที่​ดี​ของ​พระ​คริสต์​เยซู” อยู่​แล้ว แต่​เปาโล​กระตุ้น​ท่าน​ให้​ทำ​สุด​ความ​สามารถ​ใน​การ “ใช้​คำ​แห่ง​ความ​จริง​อย่าง​ถูก​ต้อง.” (2 ติโมเธียว 2:3, 15, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 4:15) เห็น​ได้​ชัด การ​ทำ “สุด​ความ​สามารถ” ของ​คุณ​หมาย​รวม​ถึง​การ​มี​นิสัย​ที่​ดี​ใน​การ​ศึกษา.

13. (ก) อาจ​หา​เวลา​มาก​ขึ้น​สำหรับ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​อย่าง​ไร? (ข) การ​ปรับ​เปลี่ยน​อะไร​ที่​คุณ​เอง​เห็น​ว่า​สามารถ​ทำ​ได้​เพื่อ​จะ​มี​เวลา​มาก​ขึ้น​สำหรับ​การ​ศึกษา?

13 ขั้น​ตอน​อย่าง​หนึ่ง​ที่​นำ​ไป​สู่​นิสัย​ที่​ดี​ใน​การ​ศึกษา​ได้​แก่​การ​กัน​เวลา​ไว้​เป็น​ประจำ​สำหรับ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล. คุณ​ได้​ทำ​อย่าง​ไร​ใน​เรื่อง​นี้? ไม่​ว่า​คำ​ตอบ​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา​ของ​คุณ​เป็น​เช่น​ไร คุณ​คิด​ไหม​ว่า​คุณ​จะ​ได้​ประโยชน์​จาก​การ​ใช้​เวลา​มาก​ขึ้น​ใน​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว? คุณ​อาจ​นึก​สงสัย​ว่า ‘ฉัน​จะ​จัด​เวลา​สำหรับ​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​ได้​อย่าง​ไร?’ บาง​คน​ได้​เพิ่ม​เวลา​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​ได้​ผล​โดย​ตื่น​เช้า​กว่า​เดิม​สัก​เล็ก​น้อย. พวก​เขา​อาจ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล 15 นาที หรือ​ศึกษา​ตาม​แผน​ซึ่ง​ได้​วาง​ไว้​สำหรับ​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว. อีก​วิธี​หนึ่ง​ที่​อาจ​ทำ​ได้ คุณ​จะ​ปรับ​เปลี่ยน​ตาราง​เวลา​ประจำ​สัปดาห์​ของ​คุณ​สัก​เล็ก​น้อย​ได้​ไหม? ตัว​อย่าง​เช่น หาก​ตาม​ปกติ​คุณ​ชอบ​อ่าน​หนังสือ​พิมพ์​หรือ​ดู​ข่าว​โทรทัศน์​ใน​ช่วง​เย็น เป็น​ไป​ได้​ไหม​ที่​จะ​งด​เว้น​กิจวัตร​ดัง​กล่าว​สัปดาห์​ละ​วัน? คุณ​สามารถ​ใช้​เวลา​ใน​วัน​นั้น​เพื่อ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ได้​มาก​ขึ้น. หาก​คุณ​งด​ดู​ข่าว​สัปดาห์​ละ​วัน​และ​ใช้​เวลา​ประมาณ 30 นาที​เพื่อ​ศึกษา​ส่วน​ตัว คุณ​จะ​ได้​เวลา​ศึกษา​เพิ่ม​ขึ้น​ปี​ละ 25 ชั่วโมง. ลอง​นึก​ดู​ซิ​ว่า​การ​อ่าน​หรือ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เพิ่ม​ขึ้น​อีก 25 ชั่วโมง​จะ​ให้​ประโยชน์​สัก​เพียง​ไร! ข้อ​แนะ​อีก​อย่าง​หนึ่ง: ใน​สัปดาห์​ต่อ​จาก​นี้ ขอ​ลอง​วิเคราะห์​กิจกรรม​ที่​คุณ​ทำ​เมื่อ​สิ้น​สุด​แต่​ละ​วัน. ตรวจ​ดู​ว่า​คุณ​จะ​งด​เว้น​หรือ​ลด​เวลา​ใน​การ​ทำ​บาง​สิ่ง​บาง​อย่าง​เพื่อ​จะ​มี​เวลา​อ่าน​หรือ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​มาก​ขึ้น​ได้​หรือ​ไม่.—เอเฟโซ 5:15, 16.

14, 15. (ก) เหตุ​ใด​การ​ตั้ง​เป้า​จึง​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​ใน​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว? (ข) อาจ​ตั้ง​เป้า​อะไร​ได้​บ้าง​สำหรับ​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล?

14 อะไร​จะ​ทำ​ให้​การ​ศึกษา​เป็น​เรื่อง​ง่าย​ขึ้น​และ​น่า​ปรารถนา​ยิ่ง​ขึ้น​สำหรับ​คุณ? การ​ตั้ง​เป้า. คุณ​อาจ​ตั้ง​เป้า​ที่ปฏิบัติ​ได้​จริง​เช่น​ไร​ใน​การ​ศึกษา? สำหรับ​หลาย​คน​แล้ว การ​ตั้ง​เป้า​อย่าง​แรก​ที่​น่า​ชมเชย​คือ​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​ให้​จบ. จน​ถึง​ตอน​นี้ คุณ​อาจ​ได้​อ่าน​บาง​ส่วน​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ตาม​วาระ​โอกาส​และ​ได้​รับ​ประโยชน์​จาก​การ​อ่าน​อย่าง​นั้น. ตอน​นี้ คุณ​จะ​ตั้งใจ​แน่วแน่​ที่​จะ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​ได้​ไหม? เพื่อ​จะ​ทำ​ให้​ได้​อย่าง​นั้น คุณ​อาจ​ตั้ง​เป้า​ใน​ขั้น​แรก​สุด​ที่​จะ​อ่าน​พระ​ธรรม​กิตติคุณ​ทั้ง​สี่ ต่อ​จาก​นั้น​ก็​ตั้ง​เป้า​ที่​สอง เช่น การ​อ่าน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ส่วน​ที่​เหลือ​ทั้ง​หมด. เมื่อ​คุณ​ได้​รับ​ความ​ยินดี​และ​ผล​ประโยชน์​จาก​การ​อ่าน​ส่วน​ดัง​กล่าว​แล้ว เป้า​ถัด​ไป​ของ​คุณ​อาจ​ได้​แก่​การ​อ่าน​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ใน​พระ​ธรรม​เล่ม​ต่าง ๆ ที่​โมเซ​เขียน แล้ว​ก็​อ่าน​พระ​ธรรม​เกี่ยว​กับ​ประวัติศาสตร์​ไป​เรื่อย ๆ จน​ถึง​พระ​ธรรม​เอศเธระ. เมื่อ​อ่าน​ส่วน​นี้​จบ คุณ​จะ​เห็น​ว่า​เป็น​เรื่อง​ที่​คุณ​ทำ​ได้​แน่นอน​ที่​จะ​อ่าน​ส่วน​ที่​เหลือ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ให้​จบ. สตรี​ผู้​หนึ่ง ซึ่ง​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน​เมื่อ​อายุ​ประมาณ 65 ปี จด​วัน​ที่​ซึ่ง​เธอ​เริ่ม​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไว้​ที่​ปก​ใน​ของ​พระ​คัมภีร์ แล้ว​ก็​จด​วัน​ที่​ซึ่ง​เธอ​อ่าน​ทั้ง​เล่ม​จบ​ไว้​คู่​กัน. ถึง​ตอน​นี้ วัน​ที่​ซึ่ง​เธอ​ได้​จด​ไว้​มี​อยู่​ห้า​คู่​แล้ว! (พระ​บัญญัติ 32:45-47) และ​แทน​ที่​จะ​อ่าน​จาก​จอ​คอมพิวเตอร์​หรือ​จาก​กระดาษ​ที่​พิมพ์​ออก​มา เธอ​อ่าน​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​โดย​ตรง.

15 บาง​คน​ที่​บรรลุ​เป้า​ใน​การ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​เล่ม​แล้ว​ได้​ทำ​ขั้น​ต่อ​ไป​เพื่อ​ทำ​ให้​การ​ศึกษา​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​เกิด​ผล​และ​ก่อ​ประโยชน์​มาก​ขึ้น. วิธี​หนึ่ง​คือ​ก่อน​ที่​จะ​อ่าน​พระ​ธรรม​แต่​ละ​เล่ม​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ตาม​ลำดับ เขา​จะ​ศึกษา​เนื้อหา​ของ​พระ​ธรรม​เล่ม​นั้น​ก่อน. ใน​หนังสือ“พระ​คัมภีร์​ทุก​ตอน​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​และ​เป็น​ประโยชน์” และ​การ​หยั่ง​เห็น​เข้าใจ​พระ​คัมภีร์ (ภาษา​อังกฤษ) เรา​สามารถ​พบ​ข้อมูล​ที่​ดี​เยี่ยม​เกี่ยว​กับ​ภูมิหลัง​ทาง​ประวัติศาสตร์, ลีลา​การ​เขียน, และ​ประโยชน์​ที่​อาจ​ได้​จาก​พระ​ธรรม​แต่​ละ​เล่ม​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. *

16. เรา​ควร​หลีก​เลี่ยง​การ​ทำ​ตาม​แบบ​อย่าง​เช่น​ไร​ใน​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล?

16 ระหว่าง​ศึกษา จง​หลีก​เลี่ยง​วิธี​ที่​หลาย​คน​ซึ่ง​เรียก​กัน​ว่า​ผู้​คง​แก่​เรียน​มัก​จะ​ใช้. พวก​เขา​เน้น​มาก​เกิน​ไป​ใน​เรื่อง​การ​วิเคราะห์​ข้อ​พระ​คัมภีร์​ราว​กับ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​มา​จาก​ความ​คิด​ของ​มนุษย์. บาง​คน​พยายาม​กำหนด​ลง​ไป​ว่า​พระ​ธรรม​แต่​ละ​เล่ม​เขียน​ขึ้น​โดย​มุ่ง​ถึง​ผู้​อ่าน​กลุ่ม​หนึ่ง​โดย​เฉพาะ หรือ​พยายาม​นึก​ภาพ​ว่า​ผู้​เขียน​พระ​ธรรม​แต่​ละ​เล่ม​ซึ่ง​เป็น​มนุษย์​น่า​จะ​มี​จุด​ประสงค์​และ​มี​ความ​คิด​เช่น​ไร. การ​หา​เหตุ​ผล​อย่าง​มนุษย์​เช่น​นั้น​อาจ​ยัง​ผล​ทำ​ให้​มอง​ว่า​พระ​ธรรม​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​เพียง​หนังสือ​ประวัติศาสตร์ หรือ​ถือ​ว่า​เป็น​หนังสือ​ที่​แสดง​ถึง​พัฒนาการ​ใน​การ​เข้า​หา​ศาสนา. ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​อื่น ๆ ทุ่มเท​ตัว​เอง​ใน​การ​ศึกษา​ถ้อย​คำ เหมือน​กับ​เป็น​การ​ศึกษา​นิรุกติศาสตร์​แห่ง​วรรณคดี​คัมภีร์​ไบเบิล. พวก​เขา​หมกมุ่น​ใน​การ​ศึกษา​ที่​มา​ของ​คำ​และ​ใน​การ​อ้างอิง​ความ​หมาย​ใน​ภาษา​ฮีบรู​และ​กรีก​มาก​กว่า​จะ​เอา​ใจ​ใส่​ความ​หมาย​สำคัญ​ของ​ข่าวสาร​จาก​พระเจ้า. คุณ​คิด​ว่า​วิธี​การ​เช่น​นั้น​จะ​ก่อ​ให้​เกิด​ความ​เชื่อ​ที่​ลึกซึ้ง​และ​กระตุ้น​ใจ​ไหม?—1 เธซะโลนิเก 2:13.

17. เหตุ​ใด​เรา​ควร​ถือ​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ข่าวสาร​สำหรับ​ทุก​คน?

17 ข้อ​สรุป​ของ​ผู้​คง​แก่​เรียน​เหล่า​นั้น​เป็น​ความ​จริง​ไหม? จริง​หรือ​ที่​พระ​ธรรม​แต่​ละ​เล่ม​มุ่ง​ประเด็น​สำคัญ​ไป​ที่​จุด​เดียว หรือ​เขียน​ขึ้น​โดย​มุ่ง​ถึง​ผู้​อ่าน​เพียง​กลุ่ม​ใด​กลุ่ม​หนึ่ง​เท่า​นั้น? (1 โกรินโธ 1:19-21) ข้อ​เท็จ​จริง​ก็​คือ พระ​ธรรม​ต่าง ๆ ซึ่ง​เป็น​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มี​คุณค่า​ถาวร​สำหรับ​ผู้​คน​ทุก​ยุค​ทุก​สมัย​และ​ไม่​ว่า​จะ​มี​ภูมิหลัง​เช่น​ไร. แม้​แต่​พระ​ธรรม​ซึ่ง​เดิม​เขียน​ถึง​คน​เพียง​คน​เดียว เช่น ถึง​ติโมเธียว​หรือ​ติโต หรือ​เขียน​ถึง​คน​กลุ่ม​ใด​กลุ่ม​หนึ่ง​โดย​เฉพาะ เช่น ถึง​ชาว​กาลาเทีย​หรือ​ชาว​ฟิลิปปี (ฟิลิปปอย) เรา​ทุก​คน​สามารถ​ศึกษา​พระ​ธรรม​เหล่า​นี้​และ​สม​ควร​จะ​ทำ​อย่าง​นั้น. พระ​ธรรม​เหล่า​นี้​สำคัญ​สำหรับ​เรา​ทุก​คน และ​พระ​ธรรม​เล่ม​หนึ่ง​อาจ​มี​จุด​ที่​เป็น​ใจความ​หลัก​หลาย​จุด​และ​ให้​ประโยชน์​แก่​ผู้​อ่าน​เป็น​จำนวนมาก. ที่​จริง ข่าวสาร​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ใช้​ได้​ทั่ว​โลก ซึ่ง​นั่น​เป็น​เหตุ​ผล​ที่​มี​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ ทั่ว​โลก.—โรม 15:4.

ผล​ประโยชน์​สำหรับ​คุณ​และ​คน​อื่น ๆ

18. ขณะ​ที่​คุณ​อ่าน​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า คุณ​ควร​คิด​ใคร่ครวญ​ใน​เรื่อง​ใด?

18 ขณะ​ที่​คุณ​ศึกษา คุณ​จะ​พบ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​มาก​ที่​จะ​พยายาม​เข้าใจ​คัมภีร์​ไบเบิล และ​พยายาม​ดู​ว่า​ราย​ละเอียด​ต่าง ๆ เกี่ยว​ข้อง​กัน​อย่าง​ไร. (สุภาษิต 2:3-5; 4:7) สิ่ง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ได้​ทรง​เปิด​เผย​โดย​ทาง​พระ​คำ​ของ​พระองค์​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ใกล้​ชิด​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระองค์. ดัง​นั้น ขณะ​ที่​คุณ​อ่าน จง​โยง​ข้อ​เท็จ​จริง​และ​คำ​แนะ​นำ​ต่าง ๆ เข้า​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า. คุณ​อาจ​ใคร่ครวญ​ว่า​เหตุ​การณ์, แนว​คิด, หรือ​คำ​พยากรณ์​ที่​คุณ​อ่าน​นั้น​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร​กับ​พระ​ประสงค์​ของ​พระ​ยะโฮวา. ถาม​ตัว​เอง​ว่า ‘เรื่อง​นี้​บอก​อะไร​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา? เรื่อง​นี้​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร​กับ​การ​ทำ​ให้​พระ​ประสงค์​ของ​พระเจ้า​สำเร็จ​โดย​ทาง​ราชอาณาจักร​ของ​พระองค์?’ คุณ​อาจ​คิด​ใคร่ครวญ​ด้วย​ว่า ‘ฉัน​จะ​ใช้​ข้อมูล​นี้​อย่าง​ไร​ได้​บ้าง? ฉัน​จะ​ใช้​ข้อมูล​นี้​ใน​การ​สอน​หรือ​ใน​การ​แนะ​นำ​ผู้​อื่น​โดย​อาศัย​พระ​คัมภีร์​ได้​ไหม?’—ยะโฮซูอะ 1:8.

19. ใคร​ได้​รับ​ประโยชน์​เมื่อ​คุณ​เล่า​สิ่ง​ที่​คุณ​เรียน​รู้​ให้​ผู้​อื่น​ฟัง? จง​อธิบาย.

19 การ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น​ให้​ประโยชน์​ใน​อีก​แง่​หนึ่ง​ด้วย. ใน​ขณะ​ที่​คุณ​อ่าน​และ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อยู่​นั้น คุณ​เรียน​รู้​สิ่ง​ใหม่ ๆ และ​ได้​รับ​ความ​เข้าใจ​ใหม่​ที่​ลึกซึ้ง​ยิ่ง​ขึ้น. จง​พยายาม​นำ​เรื่อง​เหล่า​นี้​ไป​สนทนา​กับ​คน​ใน​ครอบครัว​หรือ​คน​อื่น ๆ. หาก​คุณ​ทำ​อย่าง​นี้​ใน​เวลา​ที่​เหมาะ​และ​อย่าง​ไม่​อวด​ตัว การ​พูด​คุย​กัน​เช่น​นั้น​ย่อม​จะ​เกิด​ผล​ดี​อย่าง​แน่นอน. การ​บอก​เล่า​อย่าง​จริง​ใจ​และ​กระตือรือร้น​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​คุณ​ได้​เรียน​รู้​หรือ​แง่​มุม​ที่​คุณ​เห็น​ว่า​น่า​สนใจ​คง​จะ​ทำ​ให้​ผู้​อื่น​ประทับใจ​ยิ่ง​ขึ้น​ใน​เรื่อง​นั้น. นอก​จาก​นี้ การ​ทำ​เช่น​นั้น​จะ​เป็น​ประโยชน์​ต่อ​ตัว​คุณ​เอง​ด้วย. เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ไร? พวก​ผู้​เชี่ยวชาญ​ได้​สังเกต​ว่า​คน​เรา​จะ​จำ​สิ่ง​ที่​เขา​เรียน​รู้​หรือ​อ่าน​ได้​นาน​กว่า​หาก​เขา​ใช้​หรือ​กล่าว​ซ้ำ​เรื่อง​นั้น​ใน​ขณะ​ที่​เรื่อง​นั้น​ยัง​ใหม่​สด​อยู่​ใน​ความ​คิด​ของ​เขา เช่น​เมื่อ​เล่า​เรื่อง​นั้น​ให้​คน​อื่น​ฟัง. *

20. เหตุ​ใด​จึง​ให้​ประโยชน์​ที่​จะ​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก?

20 แต่​ละ​ครั้ง​ที่​คุณ​อ่าน​พระ​ธรรม​เล่ม​หนึ่ง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล คุณ​จะ​เรียน​รู้​ข้อมูล​ใหม่ ๆ อย่าง​แน่นอน. คุณ​จะ​ประทับใจ​ในเนื้อ​ความ​บาง​ตอน​ที่​ก่อน​หน้า​นั้น​อาจ​ไม่​ได้​มี​ความ​หมาย​เท่า​ไร​นัก​สำหรับ​คุณ. คุณ​จะ​ได้​ความ​เข้าใจ​ใน​เนื้อ​ความ​ตอน​นั้น​มาก​ขึ้น. ข้อ​เท็จ​จริง​นี้​น่า​จะ​เน้น​ให้​เห็น​ว่า​แทน​ที่​จะ​เป็น​เพียง​วรรณคดี​ของ​มนุษย์ พระ​ธรรม​ต่าง ๆ ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​ทรัพย์​ที่​เหมาะ​สำหรับ​คุณ​ที่​จะ​ศึกษา​และ​ได้​รับ​ประโยชน์​ซ้ำ​แล้ว​ซ้ำ​อีก. จง​จำ​ไว้​ว่า กษัตริย์ เช่น ดาวิด​ต้อง “อ่าน​พระ​บัญญัติ​นั้น​มิ​ได้​ขาด​จน​สิ้น​ชีวิต.”

21. คุณ​อาจ​คาด​หมาย​ผล​ตอบ​แทน​เช่น​ไร​จาก​การ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​มาก​ขึ้น?

21 ถูก​แล้ว ผู้​ที่​ใช้​เวลา​ใน​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อย่าง​ลึกซึ้ง​ได้​รับ​ประโยชน์​อย่าง​ใหญ่​หลวง. พวก​เขา​ได้​รับ​อัญมณี​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​ความ​เข้าใจ​อัน​ลึกซึ้ง. สัมพันธภาพ​ของ​พวก​เขา​กับ​พระเจ้า​ใกล้​ชิด​และ​แน่นแฟ้น​ยิ่ง​ขึ้น. พวก​เขา​ยัง​กลาย​เป็น​ทรัพย์​ที่​มี​ค่า​ยิ่ง​ขึ้น​ต่อ​คน​อื่น ๆ ใน​ครอบครัว, ต่อ​พี่​น้อง​ใน​ประชาคม​คริสเตียน, และ​ต่อ​คน​ที่​จะ​เข้า​มา​เป็น​ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​ใน​ภาย​หลัง.—โรม 10:9-14; 1 ติโมเธียว 4:16.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 15 คู่มือ​ศึกษา​ทั้ง​สอง​เล่ม​จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา​และ​มี​ใน​หลาย​ภาษา.

^ วรรค 19 โปรด​ดู​หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 สิงหาคม 1993 หน้า 13, 14.

คุณ​จำ​ได้​ไหม?

• มี​ข้อ​เรียก​ร้อง​ให้​กษัตริย์​ชาติ​อิสราเอล​ทำ​อะไร?

• พระ​เยซู​และ​เหล่า​อัครสาวก​วาง​ตัว​อย่าง​เช่น​ไร​ใน​เรื่อง​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล?

• คุณ​สามารถ​ปรับ​เปลี่ยน​อะไร​ได้​บ้าง​เพื่อ​เพิ่ม​เวลา​ใน​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว?

• คุณ​ควร​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​โดย​มี​เจตคติ​เช่น​ไร?

[คำ​ถาม]

[กรอบ​หน้า 15]

“ใน​มือ​ของ​เรา”

“หาก​เรา​ต้องการ . . . ดัชนี​ศัพท์​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล ไม่​มี​สื่อ​ชนิด​ใด​ที่​ดี​ไป​กว่า​อินเทอร์เน็ต. แต่​หาก​เรา​ต้องการ​จะ​อ่าน, ศึกษา, คิด, ใคร่ครวญ​เนื้อ​ความ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล เรา​ควร​ถือ​คัมภีร์​ไบเบิล​ไว้​ใน​มือ​ของ​เรา เพราะ​นั่น​เป็น​วิธี​เดียว​ที่​จะ​รับ​เอา​คัมภีร์​ไบเบิล​เข้า​สู่​จิตใจ​และ​หัวใจ​ของ​เรา”—เกอร์ทรูด ฮิมเมลฟาร์บ ศาสตราจารย์​เกียรติ​คุณ​ผู้​มี​ชื่อเสียง มหาวิทยาลัย​ซิตี นิวยอร์ก.