ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บทเรียนจากประวัติศาสตร์โรมัน

บทเรียนจากประวัติศาสตร์โรมัน

บทเรียน​จาก​ประวัติศาสตร์​โรมัน

“ถ้า​ข้าพเจ้า​ได้​สู้​กับ​สัตว์​ร้าย​ที่​เมือง​เอเฟโซ​อย่าง​คน​ทั้ง​หลาย.” บาง​คน​คิด​ว่า​ถ้อย​คำ​ที่​บันทึก​ไว้​ใน 1 โกรินโธ 15:32 (ล.ม.) นั้น​หมาย​ความ​ว่า​อัครสาวก​เปาโล​ถูก​ตัดสิน​ลง​โทษ​ให้​ต่อ​สู้​ใน​สังเวียน​ของ​พวก​โรมัน. ไม่​ว่า​ท่าน​ได้​ทำ​เช่น​นั้น​หรือ​ไม่ การ​ต่อ​สู้​กัน​จน​ตาย​ใน​สังเวียน​เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ใน​สมัย​นั้น. ประวัติศาสตร์​บอก​อะไร​แก่​เรา​บ้าง​เกี่ยว​กับ​สังเวียน​ดัง​กล่าว​และ​เหตุ​การณ์​ที่​เกิด​ขึ้น​ที่​นั่น?

ใน​ฐานะ​คริสเตียน เรา​ปรารถนา​จะ​นวด​ปั้น​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ​ของ​เรา​ให้​เป็น​ไป​ตาม​แนว​คิด​ของ​พระ​ยะโฮวา ซึ่ง​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ตัดสิน​ใจ​ได้​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​กับ​ความ​บันเทิง​สมัย​ใหม่. เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ให้​เรา​พิจารณา​แนว​คิด​ของ​พระเจ้า​เกี่ยว​กับ​ความ​รุนแรง ซึ่ง​มี​แสดง​ให้​เห็น​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “อย่า​อิจฉา​คน​ที่​รุนแรง อย่า​เลือก​ทาง​ของ​เขา​ไม่​ว่า​ทาง​ใด.” (สุภาษิต 3:31, ล.ม.) ชน​คริสเตียน​รุ่น​แรก​มี​คำ​แนะ​นำ​นั้น​ไว้​ชี้​นำ​พวก​เขา​ตลอด​เวลา​ใน​ขณะ​ที่​คน​มาก​มาย​ซึ่ง​อยู่​รอบ​ข้าง​รู้สึก​ตื่นเต้น​ไป​กับ​การ​ต่อ​สู้ใน​สังเวียน​ของ​พวก​โรมัน. เมื่อ​พิจารณา​ว่า​เกิด​อะไร​ขึ้น​ใน​เหตุ​การณ์​เหล่า​นั้น ให้​เรา​มา​ดู​ว่า​มี​บทเรียน​อะไร​ที่​เห็น​ได้​ชัด​สำหรับ​คริสเตียน​ใน​ทุก​วัน​นี้.

นัก​สู้​พร้อม​อาวุธ​สอง​คน​เผชิญ​หน้า​กัน​ใน​สังเวียน​ของ​ชาว​โรมัน. เมื่อ​ดาบ​แรก​ฟัน​กระทบ​โล่ ฝูง​ชน​ที่​คลั่งไคล้​ก็​ตะโกน​หนุน​ฝ่าย​ที่​ตน​นิยม​ชม​ชอบ. นั่น​เป็น​การ​ต่อ​สู้​อย่าง​สุด​ชีวิต. ไม่​นาน ฝ่าย​ที่​บาดเจ็บ​และ​สู้​ต่อ​ไป​ไม่​ได้​ก็​โยน​อาวุธ​ทิ้ง​และ​คุกเข่า ซึ่ง​เป็น​การ​ยอม​รับ​การ​พ่าย​แพ้​และ​ร้อง​ขอ​ความ​ปรานี. เสียง​ตะโกน​ยิ่ง​ดัง​ขึ้น​เรื่อย ๆ. บาง​คน​ใน​ฝูง​ชน​ตะโกน​ขอ​ให้​ปรานี ส่วน​คน​อื่น ๆ บอก​ให้​ฆ่า. ตา​ทุก​ดวง​จับ​จ้อง​ที่​จักรพรรดิ. จักรพรรดิ​ซึ่ง​คำนึง​ถึง​ความ​ปรารถนา​ของ​ฝูง​ชน​อาจ​สั่ง​ให้​ไว้​ชีวิต​นัก​สู้​ที่​พ่าย​แพ้​ก็​ได้ หรือ​สั่ง​ฆ่า​เขา​ด้วย​การ​เอา​นิ้ว​หัวแม่มือ​ชี้​ลง​ด้าน​ล่าง​ก็​ได้.

ชาว​โรมัน​คลั่งไคล้​การ​จัด​แสดง​การ​ต่อ​สู้​ใน​สังเวียน​มาก. คุณ​คง​ประหลาด​ใจ​ที่​รู้​ว่า​การ​ต่อ​สู้​เช่น​นั้น​เดิม​ที​มี​การ​จัด​ขึ้น​ใน​งาน​ศพ​ของ​บุคคล​สำคัญ ๆ. เชื่อ​กัน​ว่า​การ​แข่งขัน​นั้น​มี​ต้นตอ​มา​จาก​การ​บูชายัญ​มนุษย์​ใน​หมู่​ชาว​ออสกัน​และ​แซมไนต์​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใน​ที่​ที่​ปัจจุบัน​คือ​ภาค​กลาง​ของ​อิตาลี. การ​บูชายัญ​นั้น​ก็​เพื่อ​ทำ​ให้​วิญญาณ​ผู้​ตาย​สงบ. การ​ต่อ​สู้​เช่น​นั้น​เรียก​ว่า มูนุส หรือ “ของ​กำนัล” (พหูพจน์ มูเนรา). การ​แข่งขัน​ดัง​กล่าว​ใน​โรม​ซึ่ง​มี​บันทึก​ไว้​เป็น​ครั้ง​แรก​ถูก​จัด​ขึ้น​ใน​ปี 264 ก่อน ส.ศ. เมื่อ​นัก​สู้​สาม​คู่​ต่อ​สู้​กัน​ใน​ตลาด​ค้า​วัว. ณ งาน​ศพ​ของ​มาร์คุส แอมิลิอุส เลปิดุส มี​นัก​สู้ 22 คู่​ต่อ​สู้​กัน. ใน​งาน​ศพ​ของ​พิวบลิอุส ลิซินิคุส มี​นัก​สู้ 60 คู่​ต่อ​สู้​กัน. ใน​ปี 65 ก่อน ส.ศ. จูเลียส ซีซาร์​ส่ง​นัก​สู้ 320 คู่​เข้า​สู่​สังเวียน.

คีท ฮอปกินส์ นัก​ประวัติศาสตร์ กล่าว​ว่า “งาน​ศพ​ของ​พวก​ขุนนาง​เป็น​เครื่อง​มือ​เพื่อ​บรรลุ​เป้าหมาย​ทาง​การ​เมือง และ​การ​แข่งขัน​ต่าง ๆ ใน​งาน​ศพ​ก็​มี​ความ​เกี่ยว​พัน​อย่าง​ใกล้​ชิด​กับ​การ​เมือง . . . เนื่อง​จาก​การ​แข่งขัน​ใน​งาน​ศพ​เป็น​ที่​นิยม​ของ​พลเมือง​ผู้​มี​สิทธิ​เลือก​ตั้ง. ที่​จริง ความ​เจริญ​รุ่งเรือง​ของ​การ​จัด​การ​ต่อ​สู้​ใน​สังเวียน​นั้น​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​เนื่อง​มา​จาก​การ​ชิง​ดี​ชิง​เด่น​ระหว่าง​พวก​ขุนนาง​ที่​ทะเยอทะยาน.” พอ​ถึง​รัชกาล​ของ​เอากุสตุส (27 ก่อน ส.ศ. ถึง ส.ศ. 14) มูเนรา ได้​กลาย​เป็น​ของ​กำนัล​เลอ​ค่า​เพื่อ​ความ​บันเทิง​ของ​มวลชน​ซึ่ง​ข้าราชการ​ผู้​มั่งคั่ง​มอบ​แก่​กัน​เพื่อ​เกื้อ​หนุน​อาชีพ​ทาง​การ​เมือง​ของ​ตน.

นัก​สู้​และ​การ​ฝึก

คุณ​อาจ​ถาม​ว่า ‘นัก​สู้​พวก​นั้น​เป็น​ใคร?’ พวก​เขา​อาจ​เคย​เป็น​ทาส, อาชญากร​ที่​ถูก​ตัดสิน​ประหาร​ชีวิต, เชลย​ศึก, หรือ​คน​ทั่ว​ไป​ที่​ถูก​ดึงดูด​ใจ​เนื่อง​ด้วย​ความ​ตื่นเต้น​หรือ​หวัง​จะ​มี​ชื่อเสียง​และ​ความ​มั่งคั่ง. ทุก​คน​ถูก​ฝึก​ใน​โรง​เรียน​ฝึก​ที่​เสมือน​คุก. หนังสือ​โจคี เอ สเปตาโคลี (การ​แข่งขัน​และ​การ​แสดง​ที่​เร้า​ใจ) บอก​ว่า พวก​นัก​สู้​ที่​รับ​การ​ฝึก “ถูก​เฝ้า​ดู​โดย​พวก​ผู้​คุม​และ​อยู่​ใต้​การ​ฝึกฝน​ที่​เข้มงวด, กฎ​ที่​เคร่งครัด​ที่​สุด, และ​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง การ​ลง​โทษ​ที่​รุนแรง . . . วิธี​ฝึก​เช่น​นี้​มัก​ทำ​ให้​มี​การ​ฆ่า​ตัว​ตาย, การ​ต่อ​ต้าน, และ​การ​กบฏ.” โรง​เรียน​ฝึก​นัก​สู้​ที่​ใหญ่​ที่​สุด​ของ​โรม​มี​ห้อง​ขนาด​เล็ก​สำหรับ​ผู้​รับ​การ​ฝึก​อย่าง​น้อย​หนึ่ง​พัน​คน. นัก​สู้​แต่​ละ​คน​มี​ความ​สามารถ​เฉพาะ​ตัว. บาง​คน​ต่อ​สู้​โดย​ใช้​ชุด​เกราะ, โล่, และ​ดาบ บาง​คน​ใช้​ตาข่าย​กับ​สาม​ง่าม. นอก​จาก​นี้ ยัง​มี​คน​อื่น ๆ อีก​ที่​ถูก​ฝึก​ให้​สู้​กับ​สัตว์​ร้าย​ใน​การ​แสดง​อีก​อย่าง​ซึ่ง​นิยม​ดู​กัน คือ การ​ล่า. เปาโล​อาจ​กล่าว​ถึง​เหตุ​การณ์​เช่น​นั้น​ไหม?

ผู้​จัด​การ​แสดง​อาจ​พึ่ง​พวก​พ่อค้า​คน​กลาง​ซึ่ง​หา​คน​อายุ 17 หรือ 18 ปี​มา​ฝึก​ให้​เป็น​นัก​สู้. การ​ค้า​ขาย​ชีวิต​มนุษย์​เป็น​ธุรกิจ​ใหญ่​ที่​สร้าง​ความ​มั่งคั่ง. การ​แสดง​ที่​โดด​เด่น​ครั้ง​หนึ่ง​ซึ่ง​จักรพรรดิ​ทราจัน​เสนอ​ให้​จัด​เพื่อ​ฉลอง​ชัย​ชนะ​ทาง​ทหาร​มี​การ​ใช้​นัก​สู้ 10,000 คน และ​สัตว์ 11,000 ตัว​ใน​การ​แสดง.

วัน​ต่อ​สู้​ที่​สังเวียน

เวลา​ช่วง​เช้า​ที่​สังเวียน​จัด​ไว้​สำหรับ​การ​ล่า. สัตว์​ร้าย​ทุก​ชนิด​ถูก​ต้อน​เข้า​สู่​สนาม. ผู้​ชม​ชอบ​ดู​คู่​ของ​วัว​ป่า​กับ​หมี​เป็น​พิเศษ. สัตว์​ทั้ง​สอง​มัก​ถูก​ผูก​ไว้​ด้วย​กัน​เพื่อ​ให้​ต่อ​สู้​กัน​จน​ตัว​หนึ่ง​ตาย แล้ว​ตัว​ที่​ยัง​อยู่​ก็​ถูก​ฆ่า​โดย​นัก​ล่า. การ​ชิง​ชัย​อีก​อย่าง​ที่​นิยม​กัน​คือ​การ​จัด​ให้​สิงโต​สู้​กับ​เสือ หรือ​ไม่​ก็​ให้​ช้าง​สู้​กับ​หมี. พวก​นัก​ล่า​จะ​แสดง​ความ​ชำนาญ​ใน​การ​สังหาร​สัตว์​ชนิด​แปลก ๆ ที่​นำ​มา​จาก​ทุก​หน​ทุก​แห่ง​ของ​จักรวรรดิ​ไม่​ว่า​จะ​ต้อง​จ่าย​เงิน​มาก​แค่​ไหน​ก็​ตาม เช่น เสือ​ดาว, แรด, ฮิปโปโปเตมัส, ยีราฟ, ไฮยีนา, อูฐ, หมา​ป่า, หมูป่า, และ​แอนทีโลป.

การ​ตกแต่ง​ฉาก​ทำ​ให้​การ​ล่า​เป็น​ที่​ประทับใจ. มี​การ​ใช้​หิน​ก้อน​ใหญ่ ๆ, สระ, และ​ต้น​ไม้​เพื่อ​ทำ​ให้​เหมือน​ป่า. ใน​สังเวียน​บาง​แห่ง สัตว์​ร้าย​ปรากฏ​ตัว​ราว​กับ​ด้วย​เวทมนตร์ ถูก​ส่ง​ตัว​ออก​มา​โดย​เครื่อง​ยก​ที่​อยู่​ใต้​ดิน​และ​ประตู​กล. พฤติกรรม​ที่​ไม่​อาจ​คาด​หมาย​ของ​สัตว์​ยิ่ง​ทำ​ให้​น่า​สนใจ แต่​ที่​ดู​เหมือน​ทำ​ให้​การ​ล่า​ดึงดูด​ใจ​เป็น​พิเศษ​คือ ความ​ทารุณ​โหด​ร้าย.

รายการ​ถัด​มา​คือ​การ​ประหาร​ชีวิต. มี​การ​พยายาม​เสนอ​รายการ​นี้​ให้​ไม่​ซ้ำ​แบบ​กัน. มี​การ​แสดง​ละคร​จาก​เทพนิยาย​ซึ่ง​ผู้​แสดง​จะ​ตาย​จริง ๆ.

ใน​ช่วง​บ่าย นัก​สู้​กลุ่ม​ต่าง ๆ ซึ่ง​ใช้​อาวุธ​ไม่​เหมือน​กัน​และ​ได้​รับ​การ​ฝึก​เทคนิค​การ​ต่อ​สู้​ที่​แตกต่าง​กัน​อย่าง​สิ้นเชิง​จะ​ต่อ​สู้​กัน. นัก​สู้​บาง​คน​ซึ่ง​ลาก​ศพ​ออก​ไป​จะ​แต่ง​กาย​เหมือน​มัจจุราช.

ผล​กระทบ​ต่อ​ผู้​ชม

ความ​กระหาย​ของ​ฝูง​ชน​ที่​จะ​ได้​ชม​การ​ต่อ​สู้​นั้น​ไม่​รู้​จัก​พอ ดัง​นั้น นัก​สู้​จึง​ถูก​กระตุ้น​ด้วย​แส้​และ​เหล็ก​เผา​ไฟ. ฝูง​ชน​จะ​ตะโกน​ว่า “มัน​กลัว​ดาบ​หรือ​อย่าง​ไร? ไม่​มี​แรง​ฟัน​หรือ? กลัว​ตาย​ทำไม? เอา​แส้​โบย​ให้​มัน​ออก​ไป​สู้​สิ! ไล่​มัน​ออก​ไป​ฟัน​กัน จะ​ได้​เอา​หน้า​อก​รับ​ดาบ​ให้​ดู​หน่อย!” เซเนกา นัก​การ​เมือง​ชาว​โรมัน​เขียน​ว่า มี​การ​ประกาศ​ใน​ช่วง​หยุด​พัก​ว่า “จะ​มี​การ​ฆ่า​ให้​ดู​บ้าง​ใน​ช่วง​หยุด​พัก ดัง​นั้น ความ​บันเทิง​ยัง​จะ​มี​ให้​ชม​ต่อ!”

ไม่​น่า​แปลก​ใจ​ที่​เซเนกา​ยอม​รับ​ว่า เขา​กลับ​บ้าน​อย่าง​คน​ที่ “เลือด​เย็น​และ​ไร้​ความ​ปรานี​มาก​ขึ้น.” การ​ยอม​รับ​อย่าง​เปิด​เผย​ของ​ผู้​ชม​การ​ต่อ​สู้​นั้น​ควร​ทำ​ให้​เรา​ครุ่น​คิด​อย่าง​จริงจัง. พวก​ผู้​ชม​กีฬา​บาง​อย่าง​ใน​สมัย​ปัจจุบัน​คง​ได้​รับ​ผล​กระทบ​คล้าย​กัน​มิ​ใช่​หรือ นั่น​คือ กลาย​เป็น​คน​ที่ “เลือด​เย็น​และ​ไร้​ความ​ปรานี​มาก​ขึ้น”?

บาง​คน​อาจ​เคย​คิด​ว่า​เขา​โชค​ดี​ที่​จะ​กลับ​บ้าน​ได้. เมื่อ​ผู้​ชม​คน​หนึ่ง​พูด​ใน​เชิง​ขบ​ขัน​เกี่ยว​กับ​จักรพรรดิ​โดมิเชียน จักรพรรดิ​สั่ง​ให้​ลาก​ตัว​เขา​จาก​ที่​นั่ง​แล้ว​โยน​ให้​ฝูง​สุนัข. เมื่อ​ไม่​มี​พวก​อาชญากร​ให้​ประหาร​ชีวิต จักรพรรดิ​คาลิกูลา​บัญชา​ให้​จับ​ผู้​ชม​ส่วน​หนึ่ง​โยน​ให้​พวก​สัตว์​ร้าย. และ​เมื่อ​เครื่อง​กล​ของ​เวที​ไม่​ทำ​งาน​อย่าง​ที่​เขา​ชอบ จักรพรรดิ​คลาวดิอุสบัญชา​ให้​พวก​ช่าง​กล​ที่​รับผิดชอบ​การ​ทำ​งาน​ของ​เครื่อง​กล​ไป​ต่อ​สู้​ใน​สังเวียน.

อนึ่ง ความ​บ้า​คลั่ง​ของ​ผู้​ชม​ยัง​ทำ​ให้​เกิด​ความ​หายนะ​และ​จลาจล​ด้วย. โรง​ละคร​กลางแจ้ง​รูป​วง​กลม​ซึ่ง​อยู่​ทาง​เหนือ​ของ​กรุง​โรม​เกิด​พัง​ลง​และ​มี​รายงาน​ว่า​หลาย​พัน​คน​เสีย​ชีวิต. เกิด​จลาจล​ขึ้น​ระหว่าง​การ​ต่อ​สู้​ชิง​ชัย​ใน​ปอมเปอี​เมื่อ​ปี ส.ศ. 59. ทาซิทุส​รายงาน​ว่า การ​วิวาท​ระหว่าง​ฝ่าย​เจ้าบ้าน​กับ​ฝ่าย​คู่​แข่ง​จาก​เมือง​ใกล้​เคียง​เริ่ม​ด้วย​การ​สบประมาท​กัน แล้ว​ก็​เอา​หิน​ขว้าง​ปา​กัน และ​ลงเอย​ด้วย​การ​ใช้​ดาบ. หลาย​คน​พิการ​หรือ​ไม่​ก็​บาดเจ็บ และ​หลาย​คน​ตาย.

บทเรียน​ที่​ประจักษ์​ชัด

นิทรรศการ (ซันกูเอ เอ อารีนา, “เลือด​และ​ทราย”) ซึ่ง​จัด​ขึ้น​เมื่อ​ไม่​นาน​มา​นี้​ที่​โรง​ละคร​กลางแจ้ง​โคลอสเซียม​ใน​โรม​ทำ​ให้​คิด​ถึง​สิ่ง​ต่าง ๆ ที่​คล้ายคลึง​กับ มูเนรา ใน​สมัย​ปัจจุบัน. ที่​น่า​สังเกต​คือ มี​การ​แสดง​วีดิทัศน์​ที่​ตัด​มา​หลาย​ตอน​ที่​เกี่ยว​กับ​การ​สู้​วัว, การ​ชก​มวย​อาชีพ, รถยนต์​และ​รถ​จักรยานยนต์​ที่​ชน​กัน​อย่าง​น่า​กลัว​ใน​การ​แข่ง, การ​ต่อ​สู้​ชิง​ชัย​อย่าง​ดุดัน​ของ​พวก​นัก​กีฬา​ใน​การ​แข่งขัน​ต่าง ๆ, และ​การ​ต่อ​สู้​อย่าง​บ้า​คลั่ง​ของ​พวก​ผู้​ชม. การ​นำ​เสนอ​จบ​ลง​ด้วย​ภาพ​ถ่าย​ทาง​อากาศ​ของ​โคลอสเซียม. คุณ​คิด​ว่า​ผู้​มา​เยือน​จะ​ลง​ความ​เห็น​อย่าง​ไร? จะ​มี​สัก​กี่​คน​ที่​ได้​รับ​บทเรียน?

ทุก​วัน​นี้ การ​แข่ง​กัด​สุนัข, ชน​ไก่, ชน​วัว, และ​กีฬา​รุนแรง​ต่าง ๆ เป็น​เรื่อง​ธรรมดา​ใน​บาง​ประเทศ. มี​การ​เสี่ยง​ชีวิต​ใน​การ​แข่ง​รถ​เพื่อ​ทำ​ให้​ฝูง​ชน​ตื่นเต้น. และ​คิด​ดู​สิ​ว่า​รายการ​โทรทัศน์​ใน​แต่​ละ​วัน​เป็น​อย่าง​ไร. การ​วิจัย​ต่าง ๆ ใน​ประเทศ​ทาง​ตะวัน​ตก​ประเทศ​หนึ่ง​เผย​ให้​เห็น​ว่า โดย​เฉลี่ย​แล้ว เด็ก​ที่​ดู​ทีวี​จะ​ได้​รู้​เห็น​การ​ฆาตกรรม 10,000 ราย และ​การ​กระทำ​ที่​ก้าวร้าว 100,000 ครั้ง​เมื่อ​เขา​อายุ​ถึง​สิบ​ขวบ.

เทอร์ทูลเลียน นัก​เขียน​ใน​ศตวรรษ​ที่​สาม​กล่าว​ว่า ความ​สนุก​เพลิดเพลิน​ของ​ผู้​ชม​เหล่า​นั้น “ไม่​ประสาน​กับ​ศาสนา​แท้​และ​การ​เชื่อ​ฟัง​อย่าง​แท้​จริง​ต่อ​พระเจ้า​เที่ยง​แท้.” เขา​ถือ​ว่า​คน​ที่​เข้า​ชม​สิ่ง​เหล่า​นั้น​เป็น​ผู้​ร่วม​ทำ​ความ​ผิด​กับ​คน​ที่​ทำ​การ​ฆาตกรรม. แล้ว​ใน​ทุก​วัน​นี้​ล่ะ​เป็น​อย่าง​ไร? คุณ​อาจ​ถาม​ว่า ‘ฉัน​สนุก​กับ​ภาพ​เหตุ​การณ์​นอง​เลือด, ความ​ตาย, หรือ​ความ​รุนแรง​ใน​โทรทัศน์​หรือ​อินเทอร์เน็ต​ไหม?’ เรา​ควร​ระลึก​ถึง​บทเพลง​สรรเสริญ 11:5 (ล.ม.) ที่​กล่าว​ว่า “พระ​ยะโฮวา​เอง​ทรง​ตรวจ​สอบ​คน​ชอบธรรม​และ​คน​อธรรม​ด้วย และ​คน​ใด​ที่​รัก​ความ​รุนแรง​นั้น​จิตวิญญาณ​ของ​พระองค์​ทรง​เกลียด​ชัง​อย่าง​แน่นอน.”

[กรอบ​หน้า 28

การ​ต่อ​สู้​เพื่อ “ทำ​ให้​คน​ตาย​สงบ”

เทอร์ทูลเลียน นัก​เขียน​ใน​ศตวรรษ​ที่ 3 กล่าว​ถึง​ที่​มา​ของ​การ​ต่อ​สู้​ใน​สังเวียน​ว่า “ผู้​คน​ใน​สมัย​โบราณ​คิด​ว่า​พวก​เขา​ปรนนิบัติ​ผู้​ตาย​ด้วย​การ​ต่อ​สู้​แบบ​นี้ หลัง​จาก​พวก​เขา​ได้​ทำ​ให้​การ​ต่อ​สู้​นั้น​ลด​ความ​เลย​เถิด​ลง​ด้วย​การ​ใช้​ความ​โหด​เหี้ยม​ทารุณ​ใน​รูป​แบบ​ที่​ดู​มี​อารยธรรม​มาก​ขึ้น. ใน​สมัย​โบราณ ด้วย​ความ​เชื่อ​ว่า​วิญญาณ​ผู้​ตาย​ถูก​ทำ​ให้​สงบ​ด้วย​เลือด​มนุษย์ พวก​เขา​จึง​ใช้​งาน​ศพ​เพื่อ​บูชายัญ​เชลย​หรือ​ทาส​ชั้น​ต่ำ​ที่​ซื้อ​มา. ต่อ​มา ดู​เหมือน​ว่า​พวก​เขา​อยาก​ปิด​บัง​พฤติกรรม​ที่​ไม่​นับถือ​พระเจ้า​ของ​เขา​โดย​ทำ​ให้​การ​จัด​แสดง​การ​ต่อ​สู้​นั้น​เป็น​การ​ให้​ความ​เพลิดเพลิน. ดัง​นั้น หลัง​จาก​คน​ที่​พวก​เขา​ได้​มา​ได้​รับ​การ​ฝึก​ให้​ใช้​อาวุธ​ที่​มี​อยู่​ใน​เวลา​นั้น​จน​เชี่ยวชาญ​เท่า​ที่​เป็น​ไป​ได้​แล้ว—การ​ฝึก​ของ​พวก​เขา​ก็​เพื่อ​ให้​รู้​ว่า​จะ​ต้อง​ถูก​ฆ่า—พวก​เขา​ก็​ถูก​ฆ่า​ใน​วัน​งาน​ศพ ณ อุโมงค์​ฝัง​ศพ​นั่น​เอง. อย่าง​นั้น​แหละ​ที่​ผู้​คน​สมัย​นั้น​รู้สึก​สบาย​ใจ​เมื่อ​มี​คน​ตาย​ด้วย​การ​ฆาตกรรม. นี่​คือ​ความ​เป็น​มา​ของ​มูนุส. แต่​หลัง​จาก​นั้น​ช่วง​หนึ่ง การ​จัด​แสดง​การ​ต่อ​สู้​นั้น​ก็​ก้าว​หน้า​ถึง​ขั้น​ที่​การ​ปรับ​ปรุง​ด้าน​อารยธรรม​กับ​การ​แสดง​ความ​โหด​เหี้ยม​ทารุณ​อยู่​ใน​ระดับ​เดียว​กัน; เพราะ​ความ​เพลิดเพลิน​ใน​วัน​หยุด​คง​ขาด​อะไร​ไป เว้น​แต่​จะ​ให้​สัตว์​ป่า​ดุ​ร้าย​มี​ส่วน​ร่วม​ด้วย​ใน​การ​ฉีก​ร่าง​มนุษย์​ออก​เป็น​ชิ้น ๆ. สิ่ง​ที่​จัด​เสนอ​เพื่อ​ทำ​ให้​ผู้​ตาย​สงบ​ถูก​ถือ​ว่า​เป็น​พิธี​หนึ่ง​ใน​งาน​ศพ.”

[ภาพ​หน้า 27]

หมวก​และ​สนับ​แข้ง​ของ​นัก​สู้​ใน​สังเวียน​สมัย​โบราณ

[ภาพ​หน้า 29]

คริสเตียน​ใน​สมัย​โบราณ​เห็น​ว่า​ความ​บันเทิง​ที่​รุนแรง​เป็น​สิ่ง​ที่​ไม่​อาจ​ยอม​รับ​ได้. คุณ​คิด​อย่าง​นั้น​ไหม?

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Boxing: Dave Kingdon/Index Stock Photography; car crash: AP Photo/Martin Seppala

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 26]

Phoenix Art Museum, Arizona/Bridgeman Art Library