แท่นบูชาสำหรับเทพเจ้าที่ไม่มีชื่อ
แท่นบูชาสำหรับเทพเจ้าที่ไม่มีชื่อ
อัครสาวกเปาโลเยือนกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อประมาณ ส.ศ. 50. ที่นั่นท่านเห็นแท่นบูชาแท่นหนึ่งซึ่งอุทิศแด่เทพเจ้าที่ไม่มีใครรู้จักและต่อมาท่านกล่าวถึงแท่นนั้นขณะให้คำพยานอย่างดีเกี่ยวกับพระยะโฮวา.
ในตอนเริ่มการบรรยายบนเขามารส์หรืออารีโอพากุส เปาโลกล่าวว่า “พวกท่านชาวเอเธนส์ทั้งหลาย จากสิ่งทั้งปวง ข้าพเจ้าเห็นว่า พวกท่านดูเหมือนเกรงกลัวเหล่าเทพเจ้ายิ่งกว่าคนอื่น. อย่างเช่น ขณะที่ผ่านมาตามทางและสังเกตดูสิ่งที่พวกท่านยกย่องบูชา ข้าพเจ้าพบด้วยว่ามีแท่นบูชาแท่นหนึ่งมีคำจารึกว่า ‘สำหรับพระเจ้าที่ไม่รู้จัก.’ เหตุฉะนั้น สิ่งซึ่งท่านทั้งหลายถวายความเลื่อมใสโดยไม่รู้จักนั่นแหละที่ข้าพเจ้าจะประกาศให้ท่านทราบ.”—กิจการ 17:22-31, ล.ม.
แม้ว่าไม่มีใครเคยพบเห็นแท่นบูชาของชาวเอเธนส์แท่นนั้น แต่ก็มีแท่นบูชาที่คล้ายกับแท่นนั้นในที่อื่น ๆ ของกรีซ. ตัวอย่างเช่น พัฟวซานิอุส นักภูมิศาสตร์ชาวกรีกในศตวรรษที่สอง กล่าวถึงแท่นบูชาต่าง ๆ ของ “เทพเจ้าที่ไม่รู้จักชื่อ” ที่ฟาเลโรน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเอเธนส์. (คำอธิบายเกี่ยวกับประเทศกรีซ, อัททิคา 1, 4) หนังสือเล่มเดียวกันนี้บอกว่า ที่โอลิมเปียมี “แท่นบูชาแท่นหนึ่งสำหรับเทพเจ้าที่ไม่รู้จัก.”—เอเลอา 1, 14, 8.
ในหนังสือของเขาชื่อชีวิตของอะโปลโลนิอุสแห่งทีอานา (6, 3) ฟีโลสตราตุส นักเขียนชาวกรีก (ประมาณ ส.ศ. 170 ถึงประมาณ ส.ศ. 245) กล่าวว่า ที่เอเธนส์ “แท่นบูชาถูกตั้งขึ้นเพื่อถวายเกียรติแม้แต่สำหรับเทพเจ้าที่ไม่รู้จัก.” และในหนังสือชีวิตของนักปรัชญา (1. 110) ดิโอเยนีส ลาเออทิอุส (ประมาณ ส.ศ. 200 ถึง ส.ศ. 250) เขียนว่า อาจพบเห็น “แท่นบูชาที่ไม่มีชื่อ” ได้ในที่ต่าง ๆ ของเอเธนส์.
ชาวโรมันได้ตั้งแท่นบูชาสำหรับเทพเจ้าที่ไม่มีชื่อด้วย. แท่นในภาพเป็นแท่นหนึ่งซึ่งมีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่หนึ่งหรือสองก่อน ส.ศ. และถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานปาลาทิเน อันติควาริอุมในกรุงโรม อิตาลี. คำจารึกภาษาลาตินบนแท่นบอกว่าแท่นนี้อุทิศแด่ “เทพเจ้าหรือเทพธิดา” องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นวลีที่ “มักพบในบทอธิษฐานหรือบทสวดอุทิศทั้งในคำจารึกและในข้อความต่าง ๆ.”
หลายคนยังไม่รู้จัก “พระเจ้าซึ่งได้ทรงสร้างโลกและสรรพสิ่งในโลก.” แต่ดังที่เปาโลบอกแก่ชาวเอเธนส์ พระเจ้าองค์นี้ พระยะโฮวา “มิได้ทรงอยู่ห่างไกลจากพวกเราแต่ละคน.”—กิจการ 17:24, 27, ล.ม.
[ที่มาของภาพหน้า 32]
Altar: Soprintendenza Archeologica di Roma