ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

แก่ชราและมีความอิ่มใจพอใจ

แก่ชราและมีความอิ่มใจพอใจ

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

แก่​ชรา​และ​มี​ความ​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ

เล่า​โดย​มูรีล สมิท

ประตู​หน้า​บ้าน​ฉัน​สะเทือน​เพราะ​การ​เคาะ​อย่าง​แรง. ฉัน​เพิ่ง​กลับ​ถึง​บ้าน​เพื่อ​รับประทาน​อาหาร​มื้อ​กลางวัน​หลัง​จาก​ใช้​เวลา​ตลอด​เช้า​ออก​ไป​ใน​งาน​เผยแพร่. ฉัน​กำลัง​ต้ม​น้ำ​จะ​ชง​ชา​ดื่ม​สัก​ถ้วย​และ​นั่ง​ยก​ขา​พัก​สัก​ครึ่ง​ชั่วโมง​อย่าง​ที่​เคย​ทำ​เป็น​ปกติ. เสียง​เคาะ​ยัง​ดัง​ไม่​หยุด ขณะ​เดิน​ไป​ที่​ประตู​ฉัน​ก็​นึก​สงสัย​ว่า​ใคร​นะ​แวะ​มา​ตอน​นี้. แล้ว​ฉัน​ก็​ได้​คำ​ตอบ. ผู้​ชาย​สอง​คน​ที่​อยู่​หน้า​ประตู​แนะ​นำ​ตัว​เอง​เป็น​เจ้าหน้าที่​ตำรวจ. เขา​บอก​ว่า​เขา​มา​ค้น​บ้าน​เพื่อ​หา​สรรพหนังสือ​ที่​จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา องค์การ​ที่​ถูก​ห้าม​ดำเนิน​กิจการ.

ทำไม​จึง​มี​คำ​สั่ง​ห้าม​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ออสเตรเลีย และ​ฉัน​เข้า​มา​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​หมู่​พยาน​ฯ ได้​อย่าง​ไร? ทุก​อย่าง​เริ่ม​ขึ้น​จาก​ของ​ขวัญ​ที่​คุณ​แม่​ให้​ฉัน​ตอน​อายุ​สิบ​ขวบ ใน​ปี 1910.

ครอบครัว​ฉัน​อาศัย​อยู่​ใน​บ้าน​ไม้ ชาน​เมือง​โครส์เนสต์ ตอน​เหนือ​ของ​นคร​ซิดนีย์. วัน​หนึ่ง​ฉัน​เลิก​เรียน​กลับ​บ้าน ก็​พบ​แม่​กำลัง​คุย​กับ​ชาย​คน​หนึ่ง​ที่​ประตู​บ้าน. ฉัน​สงสัย​ใคร่​รู้​ว่า​ชาย​แปลก​หน้า​ใส่​สูท​ผู้​นี้​เป็น​ใคร แถม​หิ้ว​กระเป๋า​มี​หนังสือ​อยู่​เต็ม. ฉัน​ขอ​โทษ​อย่าง​ประหม่า​ก่อน​เข้า​ไป​ใน​บ้าน. ทว่า เพียง​ชั่ว​ครู่​แม่​ก็​เรียก. แม่​บอก​ว่า “ลุง​คน​นี้​นำ​หนังสือ​ดี ๆ น่า​อ่าน​มา​หลาย​เล่ม แต่​ละ​เล่ม​เป็น​เรื่อง​เกี่ยว​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​นั้น. อีก​ไม่​กี่​วัน​ก็​จะ​ครบ​รอบ​วัน​เกิด​ของ​ลูก ลูก​อยาก​ได้​กระโปรง​ชุด​ใหม่​หรือ​หนังสือ​พวก​นี้. ลูก​อยาก​เลือก​เอา​อะไร?”

“โอ้​โฮ แม่​คะ ลูก​เลือก​เอา​หนังสือ​ดี​กว่า ขอบคุณ​ค่ะ” ฉัน​ตอบ.

ดัง​นั้น ฉัน​อายุ​แค่​สิบ​ขวบ​ก็​ได้​เป็น​เจ้าของ​ชุด​หนังสือ คู่มือ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ สาม​เล่ม​แรก​ซึ่ง​เป็น​งาน​เขียน​ของ​ชาลส์ เทซ รัสเซลล์. ชาย​ที่​ยืน​อยู่​ตรง​ประตู​อธิบาย​ว่า​แม่​จะ​ต้อง​ช่วย​สอน​ฉัน​ให้​เข้าใจ​หนังสือ​เหล่า​นั้น เพราะ​มัน​ค่อนข้าง​ยาก​สัก​หน่อย​สำหรับ​ฉัน. แม่​รับปาก​ยินดี​จะ​ทำ. น่า​เศร้า ไม่​นาน​หลัง​เหตุ​การณ์​ใน​วัน​นั้น​แม่​ก็​เสีย​ชีวิต. พ่อ​เพียร​พยายาม​เลี้ยง​ดู​ลูก​ซึ่ง​มี​ฉัน, น้อง​ชาย, และ​น้อง​สาว แต่​มา​ถึง​ตอน​นี้ ฉัน​มี​ความ​รับผิดชอบ​เพิ่ม​เป็น​พิเศษ และ​ดู​เหมือน​เป็น​ภาระ​ที่​โถม​ทับ​ฉัน. กระนั้น ยัง​จะ​มี​ความ​เศร้า​สลด​อีก​อย่าง​หนึ่ง​ตาม​มา.

สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง​ปะทุ​ใน​ปี 1914 และ​เพียง​หนึ่ง​ปี​หลัง​จาก​นั้น พ่อ​ซึ่ง​เป็น​ที่​รัก​ของ​ลูก ๆ ถูก​ฆ่า. ตอน​นี้ เรา​เป็น​ลูก​กำพร้า น้อง​ชาย​และ​น้อง​สาว​ของ​ฉัน​ถูก​ส่ง​ให้​ไป​อยู่​กับ​ญาติ ส่วน​ฉัน​ถูก​ส่ง​ไป​อยู่​ใน​โรง​เรียน​กิน​นอน​คาทอลิก. บาง​ครั้ง ฉัน​เป็น​ทุกข์​เนื่อง​จาก​ความ​อ้างว้าง​เปล่าเปลี่ยว. กระนั้น ฉัน​ยัง​นึก​ขอบคุณ​ที่​มี​โอกาส​ได้​ทุ่มเท​ความ​รัก​ให้​กับ​ดนตรี โดย​เฉพาะ​เปียโน. หลาย​ปี​ผ่าน​ไป ฉัน​เรียน​จบ​หลัก​สูตร​โรง​เรียน​กิน​นอน​แห่ง​นั้น. ปี 1919 ฉัน​แต่งงาน​กับ​รอย สมิท พนักงาน​ขาย​เครื่อง​ดนตรี. ปี 1920 เรา​ได้​ลูก​คน​หนึ่ง และ​นี่​ก็​อีก ฉัน​เอา​แต่​พะวง​กับ​เรื่อง​ชีวิต​ความ​เป็น​อยู่. แต่​หนังสือ​เหล่า​นั้น​ล่ะ?

เพื่อน​บ้าน​มี​ส่วน​ให้​ความ​จริง​ฝ่าย​วิญญาณ

ตลอด​เวลา​หลาย​ปี​นั้น ฉัน​ได้​เอา “หนังสือ​คู่มือ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์” ไป​ด้วย​เสมอ. ถึง​แม้​ไม่​ได้​อ่าน​อย่าง​จริงจัง แต่​ฉัน​รู้​อยู่​แก่​ใจ​ว่า​ข่าวสาร​ที่​อยู่​ใน​หนังสือ​เหล่า​นั้น​เป็น​เรื่อง​สำคัญ. ครั้น​แล้ว วัน​หนึ่ง​ใน​ช่วง​ปลาย​ทศวรรษ 1920 ลิล บิมสัน เพื่อน​บ้าน​คน​หนึ่ง​ได้​แวะ​มา​เยี่ยม. เรา​เข้า​ไป​นั่ง​ดื่ม​น้ำ​ชา​ใน​ห้อง​รับ​แขก.

“เอ๊ะ คุณ​ก็​มี​หนังสือ​เหล่า​นั้น!” เธอ​อุทาน​ขึ้น​มา​ทันที​ทันใด.

“หนังสือ​อะไร?” ฉัน​ถาม​อย่าง​งง ๆ.

เธอ​ชี้​ไป​ที่​คู่มือ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ ซึ่ง​วาง​อยู่​ใน​ตู้​หนังสือ. วัน​นั้น ลิล​ยืม​หนังสือ​ไป​อ่าน​ที่​บ้าน​และ​ตั้ง​อก​ตั้งใจ​อ่าน​จริง ๆ. ไม่​ช้า​ไม่​นาน ความ​ตื่นเต้น​ของ​เธอ​ต่อ​เรื่อง​ที่​ได้​อ่าน​ก็​ปรากฏ​ให้​เห็น​อย่าง​ชัดเจน. ลิล​รับ​สรรพหนังสือ​อีก​หลาย​เล่ม​จาก​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สมัย​นั้น. ยิ่ง​กว่า​นั้น เธอ​รั้ง​รอ​ไม่​ได้​ที่​จะ​บอก​พวก​เรา​เกี่ยว​กับ​สิ่ง​ที่​เธอ​ได้​เรียน​รู้. หนึ่ง​ใน​จำนวน​หนังสือ​ที่​เธอ​รับ​ไว้​คือ​พิณ​ของ​พระเจ้า จาก​นั้น​ไม่​นาน หนังสือ​ดัง​กล่าว​ได้​มา​อยู่​ใน​บ้าน​ของ​เรา. ใน​ที่​สุด ชีวิต​ใน​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​ก็​เริ่ม​ต้น​เมื่อ​ฉัน​กัน​เวลา​ไว้​ต่าง​หาก​เพื่อ​จะ​อ่าน​หนังสือ​ที่​ยึด​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หลัก. ท้าย​สุด ฉัน​พบ​คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​พื้น​ฐาน ซึ่ง​คริสตจักร​ที่​ฉัน​สังกัด​ไม่​สามารถ​ตอบ​ได้.

เป็น​เรื่อง​น่า​ปีติ​ยินดี​ที่​รอย​เอง​ได้​ให้​ความ​สนใจ​เป็น​พิเศษ​ต่อ​ข่าวสาร​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล และ​เรา​สอง​คน​กลาย​เป็น​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ที่​เอา​จริง​เอา​จัง. ก่อน​หน้า​นี้ รอย​เป็น​สมาชิก​องค์การ​ฟรีเมซันส์. ตอน​นี้​ครอบครัว​ของ​เรา​ร่วม​ใจ​กัน​ใน​การ​นมัสการ​แท้ และ​พี่​น้อง​ชาย​คน​หนึ่ง​ได้​นำ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​เรา​ทั้ง​ครอบครัว​สัปดาห์​ละ​สอง​ครั้ง. เรา​ยิ่ง​ได้​รับ​กำลัง​เสริม​มาก​ขึ้น​อีก​เมื่อ​เรา​เริ่ม​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ต่าง ๆ ซึ่ง​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​จัด​ขึ้น. สถาน​ประชุม​ที่​ซิดนีย์​เป็น​ห้อง​เช่า​เล็ก ๆ ใน​เขต​ชาน​เมือง​นิว​ทาวน์. สมัย​นั้น พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​ทั้ง​ประเทศ​มี​ไม่​ถึง 400 คน ฉะนั้น เมื่อ​พี่​น้อง​ส่วน​ใหญ่​เข้า​ร่วม​ประชุม​จึง​ต้อง​เดิน​ทาง​ระยะ​ไกล.

สำหรับ​ครอบครัว​ของ​เรา การ​เข้า​ร่วม​ประชุม​หมาย​ถึง​การ​ข้าม​อ่าว​ซิดนีย์​เป็น​ประจำ. ก่อน​มี​การ​สร้าง​สะพาน​ซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ บริดจ์​ใน​ปี 1932 เรา​ต้อง​นั่ง​เรือ​เฟอร์รี​ข้าม​ฟาก. ถึง​แม้​การ​เดิน​ทาง​เปลือง​ทั้ง​เวลา​และ​ค่า​ใช้​จ่าย แต่​เรา​บากบั่น​พยายาม​เพื่อ​จะ​ได้​ไม่​พลาด​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​มื้อ​หนึ่ง​มื้อ​ใด​ซึ่ง​พระ​ยะโฮวา​ทรง​จัด​เตรียม​ไว้. การ​พยายาม​เสริม​สร้าง​ตัว​เอง​ให้​มั่นคง​ใน​ความ​จริง​ได้​ผล​คุ้มค่า เนื่อง​จาก​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​เริ่ม​ก่อ​ตัว​ขึ้น และ​ประเด็น​ความ​เป็น​กลาง​ก็​กำลัง​ส่ง​ผล​กระทบ​ครอบครัว​ของ​เรา​โดย​ตรง.

ช่วง​เวลา​แห่ง​การ​ทดสอบ​และ​ได้​รับ​พระ​พร

ต้น​ทศวรรษ 1930 เป็น​ช่วง​เวลา​ที่​น่า​ตื่นเต้น​สำหรับ​ฉัน​และ​ครอบครัว. ฉัน​รับ​บัพติสมา​ใน​ปี 1930 และ​ปี 1931 ฉัน​ได้​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ใหญ่​ที่​ยัง​คง​ตราตรึง​อยู่​ใน​ความ​ทรง​จำ เมื่อ​พวก​เรา​ต่าง​ก็​ยืน​ขึ้น​และ​เห็น​ด้วย​ที่​จะ​รับ​เอา​ชื่อ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ซึ่ง​น่า​ภูมิ​ใจ​อย่าง​ยิ่ง. ฉัน​กับ​รอย​พยายาม​ขันแข็ง​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ให้​สม​ชื่อ​นั้น โดย​เข้า​ร่วม​กิจกรรม​เผยแพร่​และ​การ​รณรงค์​ต่าง ๆ ทุก​วิธี​ที่​องค์การ​ได้​สนับสนุน​ให้​ทำ. อย่าง​เช่น ใน​ปี 1932 เรา​รณรงค์​เป็น​พิเศษ​โดย​ใช้​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ซึ่ง​ถูก​ออก​แบบ​ให้​เหมาะ​กับ​การ​เข้า​หา​ฝูง​ชน​มาก​หลาย​ที่​มา​ชม​งาน​เปิด​สะพาน​ซิดนีย์ ฮาร์เบอร์ บริดจ์. ที่​โดด​เด่น​เป็น​พิเศษ​สำหรับ​เรา​ได้​แก่​การ​ใช้​รถ​ติด​เครื่อง​ขยาย​เสียง และ​นับ​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​รถ​ของ​เรา​ได้​รับ​การ​ติด​ตั้ง​เครื่อง​ขยาย​เสียง. ด้วย​เทคโนโลยี​อัน​ทัน​สมัย​แบบ​นี้ เรา​ทำ​ให้​ถนน​สาย​ต่าง ๆ ใน​นคร​ซิดนีย์​กึกก้อง​ไป​ด้วย​เสียง​บันทึก​คำ​บรรยาย​เรื่อง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​โดย​บราเดอร์​รัทเทอร์ฟอร์ด.

อย่าง​ไร​ก็​ดี สภาพการณ์​ต่าง ๆ เปลี่ยน​แปลง​อีก และ​กลาย​เป็น​ความ​ยุ่งยาก​เดือดร้อน​ที่​เพิ่ม​ขึ้น. ใน​ปี 1932 ภาวะ​เศรษฐกิจ​ที่​ตก​ต่ำ​ครั้ง​ใหญ่​ส่ง​ผล​กระทบ​รุนแรง​ต่อ​ออสเตรเลีย ดัง​นั้น ฉัน​กับ​รอย​จึง​ตัดสิน​ใจ​จัดแจง​ชีวิต​ของ​เรา​ให้​เรียบ​ง่าย. วิธี​หนึ่ง​ที่​เรา​ได้​ทำ​คือ ย้าย​บ้าน​ไป​อยู่​ใกล้​ประชาคม และ​ด้วย​เหตุ​นั้น​เรา​จึง​ลด​ค่า​เดิน​ทาง​ของ​เรา​ได้​มาก​ที​เดียว. แต่​แรง​กดดัน​ทาง​เศรษฐกิจ​ดู​เป็น​เรื่อง​ไม่​สู้​สำคัญ​นัก เมื่อ​ความ​น่า​กลัว​จาก​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่ 2 แผ่​คลุม​อยู่​ทั่ว​โลก.

เนื่อง​จาก​ได้​เชื่อ​ฟัง​พระ​บัญชา​ของ​พระ​เยซู​ที่​จะ​ไม่​เป็น​ส่วน​ของ​โลก พยาน​พระ​ยะโฮวา​ทั่ว​โลก​จึง​ตก​เป็น​เป้า​การ​ข่มเหง และ​ออสเตรเลีย​ก็​ไม่​มี​ข้อ​ยก​เว้น. เนื่อง​จาก​แรง​กระตุ้น​ของ​ความ​ตื่น​กลัว​สงคราม บาง​คน​ตรา​หน้า​พวก​เรา​ว่า​เป็น​คอมมิวนิสต์. พวก​ต่อ​ต้าน​เหล่า​นั้น​กล่าวหา​เป็น​ความ​เท็จ​ว่า​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​ใช้​สถานี​วิทยุ​กระจาย​เสียง​สี่​สถานี​ที่​พวก​เขา​เป็น​เจ้าของ​สื่อสาร​กับ​กองทัพ​ญี่ปุ่น.

บรรดา​พี่​น้อง​หนุ่ม ๆ ซึ่ง​ถูก​เรียก​ตัว​ไป​เป็น​ทหาร​ได้​เผชิญ​ความ​กดดัน​อย่าง​หนัก​ให้​อะลุ่มอล่วย. ฉัน​ยินดี​ที่​จะ​บอก​ว่า​ลูก​ชาย​ทั้ง​สาม​คน​ของ​เรา​ได้​ยืนหยัด​มั่นคง​ใน​ความ​เชื่อ และ​รักษา​ความ​เป็น​กลาง. ริชาร์ด ลูก​ชาย​คน​โต​ถูก​ตัดสิน​จำ​คุก 18 เดือน. เควิน ลูก​ชาย​คน​รอง​สามารถ​ลง​ทะเบียน​ฐานะ​ผู้​ปฏิเสธ​การ​เป็น​ทหาร​เนื่อง​ด้วย​สติ​รู้สึก​ผิด​ชอบ. แต่​น่า​เศร้า สจ๊วต ลูก​คน​สุด​ท้อง​เสีย​ชีวิต​ด้วย​อุบัติเหตุ​รถ​จักรยานยนต์​ขณะ​ขี่​ไป​ศาล​เพื่อ​แก้​ข้อ​กล่าวหา​เป็น​ครั้ง​สุด​ท้าย​ใน​เรื่อง​การ​รักษา​ความ​เป็น​กลาง. เหตุ​การณ์​น่า​โศก​สลด​ครั้ง​นั้น​ก่อ​ความ​เครียด​อย่าง​แท้​จริง. แต่​เนื่อง​จาก​เรา​จดจ่อ​อยู่​ที่​ราชอาณาจักร​และ​คำ​สัญญา​ของ​พระ​ยะโฮวา​ว่า​ด้วย​การ​กลับ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​จึง​ทำ​ให้​เรา​อด​ทน​ได้.

พวก​เขา​พลาด​สิ่ง​ที่​มี​ค่า​จริง ๆ

เดือน​มกราคม 1941 พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ประเทศ​ออสเตรเลีย​ถูก​ทาง​การ​สั่ง​ห้าม. แต่​ดัง​ที่​เหล่า​อัครสาวก​ของ​พระ​เยซู​ได้​ทำ ฉัน​กับ​รอย​เชื่อ​ฟัง​พระเจ้า​ยิ่ง​กว่า​เชื่อ​ฟัง​มนุษย์ และ​เรา​แอบ​ดำเนิน​งาน​อย่าง​ลับ ๆ นาน​ติด​ต่อ​กัน​ถึง​สอง​ปี​ครึ่ง. ใน​ช่วง​เวลา​ดัง​กล่าว​นี้​นี่​เอง​ที่​ตำรวจ​นอก​เครื่อง​แบบ​สอง​นาย​ได้​มา​เคาะ​ประตู​บ้าน​อย่าง​ที่​พูด​ไว้​ตอน​ต้น. เกิด​อะไร​ขึ้น?

ฉัน​เชิญ​เขา​เข้า​มา​ใน​บ้าน. ขณะ​ที่​เดิน​เข้า​มา ฉัน​ถาม​ว่า “คุณ​ตำรวจ​จะ​ว่า​อะไร​ไหม​หาก​ฉัน​จะ​ขอ​ดื่ม​น้ำ​ชา​ให้​หมด​ถ้วย​ก่อน​แล้ว​คุณ​ค่อย​ตรวจ​ค้น​บ้าน?” ฉัน​ประหลาด​ใจ​เสีย​จริง ๆ ที่​เขา​ยินยอม และ​ฉัน​ได้​เข้า​ไป​ใน​ห้อง​ครัว แล้ว​ทูล​อธิษฐาน​พระ​ยะโฮวา และ​ตั้ง​สติ. ครั้น​ฉัน​กลับ​ออก​มา ตำรวจ​นาย​หนึ่ง​ได้​ไป​ที่​ห้อง​อ่าน​หนังสือ​ของ​เรา​และ​เมื่อ​เห็น​สิ่ง​ใด​ที่​มี​สัญลักษณ์​หอสังเกตการณ์​ก็​เก็บ​เอา​ไป​ทุก​อย่าง รวม​ทั้ง​หนังสือ​ใน​กระเป๋า​ใบ​ที่​ฉัน​นำ​ติด​ตัว​ไป​ใน​งาน​เผยแพร่ และ​คัมภีร์​ไบเบิล​เล่ม​ส่วน​ตัว​ของ​ฉัน​ด้วย.

“คุณ​แน่​ใจ​หรือ​ว่า​ไม่​มี​หนังสือ​อื่น​ซุก​ซ่อน​ไว้​ใน​กล่อง?” เขา​ถาม. “เรา​ได้​รับ​แจ้ง​ว่า​พวก​คุณ​ไป​ร่วม​การ​ประชุม​ทุกสัปดาห์​ที่​หอ​ประชุม​สุด​ถนน​นี้​และ​คุณ​รับ​เอา​หนังสือ​เยอะ​แยะ​มา​จาก​ที่​นั่น.”

ฉัน​ตอบ​ว่า “เป็น​ความ​จริง แต่​ตอน​นี้​ที่​นั่น​ไม่​มี​หนังสือ​อีก​แล้ว.”

เขา​พูด​ว่า “ถูก​ต้อง เรา​รู้​ข้อ​นั้น​คุณนาย​สมิท. เรา​ยัง​รู้​อีก​ว่า​หนังสือ​เหล่า​นั้น​ถูก​นำ​ไป​เก็บ​ไว้​ใน​บ้าน​ของ​คน​ที่​อยู่​รอบ ๆ เมือง.”

ใน​ห้อง​นอน​ลูก​ชาย​ของ​เรา ตำรวจ​ค้น​พบ​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ชื่อ​เสรีภาพ​หรือ​ระบบ​การ​เมือง​โรมัน​โบราณ (ภาษา​อังกฤษ) บรรจุ​อยู่​เต็ม​ห้า​กล่อง.

“คุณ​แน่​ใจ​หรือ​ว่า​ใน​โรง​รถ​นั้น​ไม่​มี​อะไร​อีก​แล้ว?” เขา​ถาม.

“แน่​ใจ​ค่ะ ไม่​มี​จริง ๆ ค่ะ” ฉัน​พูด.

แล้ว​เขา​เดิน​ไป​เปิด​ตู้​ถ้วย​ชาม​ใน​ห้อง​กิน​ข้าว. เขา​พบ​แบบ​กรอก​รายงาน​ของ​ประชาคม​เป็น​กระดาษ​เปล่า. เขา​ยึด​เอา​กระดาษ​เหล่า​นั้น​ไป​ด้วย​และ​ยืนกราน​จะ​ค้น​โรง​รถ​ให้​ได้.

ฉัน​บอก​เขา​ว่า “ถ้า​อย่าง​นั้น​ก็​มา​ทาง​นี้​สิ.”

เขา​ตาม​ฉัน​ออก​ไป​ที่​โรง​รถ หลัง​จาก​สำรวจ​ทั่ว​แล้ว เขา​ก็​กลับ.

ตำรวจ​สอง​นาย​นั้น​คิด​ว่า​เขา​ได้​สิ่ง​มี​ค่า​ไป​ตั้ง​ห้า​กล่อง! อย่าง​ไร​ก็​ดี เขา​ละ​ของ​มี​ค่า​จริง ๆ ไว้​เบื้อง​หลัง. สมัย​นั้น​ฉัน​ปฏิบัติ​งาน​รับใช้​ฐานะ​เลขาธิการ​ประชาคม ฉัน​มี​ราย​ชื่อ​ผู้​ประกาศ​และ​ข้อมูล​อื่น ๆ ที่​สำคัญ​อยู่​ใน​บ้าน. ฉัน​นึก​ขอบคุณ​เสมอ​ที่​พวก​พี่​น้อง​เคย​เตือน​ให้​เรา​เตรียม​พร้อม​หาก​มี​การ​ค้น​บ้าน​ขึ้น​มา และ​ฉัน​ได้​ซุก​ซ่อน​เอกสาร​สำคัญ​เหล่า​นั้น​ไว้​เป็น​อย่าง​ดี. ฉัน​เก็บ​เอกสาร​ไว้​ใน​ซอง​และ​ซ่อน​ไว้​ที่​ก้น​กระป๋อง​ใส่​ใบ​ชา, น้ำตาล, และ​แป้ง. นอก​จาก​นั้น ฉัน​เก็บ​ของ​บาง​อย่าง​ไว้​ใน​รัง​นก​ใกล้​โรง​รถ. ฉะนั้น ตำรวจ​จึง​ได้​แต่​เดิน​เฉียด​ข้อมูล​นั้น​ที่​เขา​ต้องการ.

สู่​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา

มา​ใน​ปี 1947 ลูก ๆ ของ​เรา​ที่​โต​เป็น​ผู้​ใหญ่​ก็​เริ่ม​สร้าง​ครอบครัว​ของ​ตัว​เอง. ตอน​นี้​รอย​กับ​ฉัน​ตัดสิน​ใจ​ว่า​เรา​สามารถ​เริ่ม​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​ได้​แล้ว. เขต​งาน​ทาง​ใต้​ของ​ประเทศ​ออสเตรเลีย​มี​ความ​ต้องการ​ผู้​เผยแพร่ ดัง​นั้น เรา​ตก​ลง​ขาย​บ้าน​และ​ซื้อ​บ้าน​รถ​พ่วง ซึ่ง​เรา​ตั้ง​ชื่อ​ว่า​มิศพาห์ หมาย​ถึง “หอสังเกตการณ์.” การ​ดำเนิน​ชีวิต​แบบ​นี้​ทำ​ให้​เรา​มี​โอกาส​ทำ​งาน​เผยแพร่​ใน​แถบ​ถิ่น​อัน​ห่าง​ไกล​ได้. บ่อย​ครั้ง​เรา​มัก​ทำ​งาน​ใน​เขต​ชนบท​ที่​ไม่​ได้​ถูก​มอบหมาย. ฉัน​ยัง​จด​จำ​สภาพการณ์​ที่​ฉัน​ชอบ​หลาย​อย่าง​สมัย​นั้น. หนึ่ง​ใน​จำนวน​ผู้​ที่​ฉัน​ได้​นำ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หญิง​สาว​ชื่อ​เบฟเวอร์ลี. ก่อน​เธอ​จะ​ก้าว​หน้า​ถึง​ขั้น​รับ​บัพติสมา เธอ​ได้​ย้าย​ไป​ที่​อื่น. นึก​ภาพ​ดู​สิ​ว่า​ฉัน​ดีใจ​มาก​เพียง​ใด​เมื่อ​หลาย​ปี​ต่อ​มา ซิสเตอร์​คน​หนึ่ง​เข้า​มา​ทัก​ฉัน ณ การ​ประชุม​ภาค และ​แนะ​นำ​ตัว​ว่า​เธอ​คือ​เบฟเวอร์ลี! ช่าง​เป็น​ความ​สุข​เสีย​นี่​กระไร หลัง​จาก​กัน​นาน​หลาย​ปี​แล้ว​มา​เห็น​เธอ​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​พร้อม​กับ​สามี​และ​ลูก ๆ.

ปี 1979 ฉัน​มี​โอกาส​ดี​เป็น​พิเศษ​ที่​ได้​เข้า​โรง​เรียน​ไพโอเนียร์. เรื่อง​หนึ่ง​ที่​มี​การ​กล่าว​ย้ำ​ใน​โรง​เรียน​คือ ที่​จะ​อด​ทน​อยู่​ใน​งาน​ไพโอเนียร์​ได้ คน​เรา​ต้อง​มี​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว​เป็น​อย่าง​ดี​และ​ทำ​เป็น​กิจวัตร. แน่นอน ฉัน​ประสบ​มา​แล้ว​ว่า​เป็น​เช่น​นั้น​จริง ๆ. การ​ศึกษา, การ​ประชุม, และ​การ​รับใช้​เป็น​ชีวิต​ทั้ง​สิ้น​ของ​ฉัน. ฉัน​รู้สึก​ภูมิ​ใจ​ที่​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​ประจำ​มา​นาน​กว่า 50 ปี.

รับมือ​กับ​ปัญหา​สุขภาพ

แต่​ช่วง​หลาย​สิบ​ปี​ที่​ผ่าน​มา​นี้​ฉัน​เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย​บาง​อย่าง​โดย​เฉพาะ. ปี 1962 แพทย์​วินิจฉัย​ว่า​ฉัน​เป็น​โรค​ต้อ​หิน. การ​รักษา​สมัย​นั้น​ซึ่ง​พอ​หา​ได้​ก็​มี​จำกัด และ​สายตาฉัน​เริ่ม​เสื่อม​อย่าง​รวด​เร็ว. สุขภาพ​ร่าง​กาย​ของ​รอย​ก็​เสื่อม​ถอย​เช่น​กัน และ​ใน​ปี 1983 เขา​ป่วย​ด้วย​โรค​เส้น​เลือด​สมอง​อย่าง​รุนแรง ถึง​กับ​เป็น​อัมพาต​บาง​ส่วน​และ​พูด​ไม่​ได้. เขา​เสีย​ชีวิต​ใน​ปี 1986. รอย​เคย​เกื้อ​หนุน​ฉัน​ใน​ทาง​ที่​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​มาก​ตลอด​ช่วง​ที่​ฉัน​รับใช้​เต็ม​เวลา และ​ฉัน​คิด​ถึง​เขา​จริง ๆ.

ทั้ง ๆ ที่​สิ่ง​เหล่า​นั้น​เป็น​อุปสรรค ฉัน​พยายาม​รักษา​กิจวัตร​ที่​ดี​ฝ่าย​วิญญาณ​อยู่​เสมอ. ฉัน​ได้​ซื้อ​รถยนต์​ที่​แข็งแรง​ทนทาน เหมาะ​แก่​การ​ใช้​สมบุกสมบัน​ใน​เขต​งาน​ประกาศ​แถบ​กึ่ง​ชนบท และ​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​ได้​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ด้วย​การ​สนับสนุน​จาก​จอยซ์​ลูก​สาว​ฉัน. สายตา​ฉัน​เสื่อม​ลง​อย่าง​รวด​เร็ว​กระทั่ง​ตา​ข้าง​หนึ่ง​บอด​สนิท. จักษุ​แพทย์​ได้​ใส่​ตา​ปลอม​ที่​ทำ​ด้วย​แก้ว​เข้า​ไว้​แทน. กระนั้น ด้วย​การ​ใช้​แว่น​ขยาย​และ​อ่าน​หนังสือ​ที่​พิมพ์​ตัว​โต ๆ วัน​หนึ่ง ๆ ฉัน​สามารถ​ศึกษา​ได้​นาน​สาม​ถึง​ห้า​ชั่วโมง โดย​อาศัย​สายตา​เพียง​ข้าง​เดียว​ที่​ยัง​พอ​ใช้​ได้.

ฉัน​ถือ​ว่า​เวลา​ที่​ใช้​ไป​ใน​การ​ศึกษา​มี​ค่า​เสมอ. ดัง​นั้น คุณ​คง​นึก​ภาพ​ได้​ว่า​เป็น​เรื่อง​น่า​ตกใจ​เพียง​ใด​ที่​บ่าย​วัน​หนึ่ง​ขณะ​นั่ง​ศึกษา​อยู่ จู่ ๆ ฉัน​มอง​ไม่​เห็น​อะไร​เลย. เหมือน​กับ​ว่า​มี​คน​มา​ปิด​สวิตช์​ไฟ. ตา​ฉัน​บอด​ไป​เลย​ตั้ง​แต่​ตอน​นั้น. แล้ว​ฉัน​จะ​ศึกษา​ต่อ​ไป​ได้​อย่าง​ไร? ถึง​แม้​เวลา​นี้​หู​ฉัน​หนวก​ไป​บ้าง ฉัน​ก็​ยัง​พึ่ง​เทป​บันทึก​เสียง​และ​การ​ช่วยเหลือ​ด้วย​ความ​รัก​จาก​ครอบครัว​เพื่อ​รักษา​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​ฉัน​ให้​เข้มแข็ง​ต่อ ๆ ไป.

เพียร​อด​ทน​ถึง​ที่​สุด

เนื่อง​จาก​ตอน​นี้​อายุ​ฉัน​ยืน​ยาว​มาก​กว่า​ร้อย​ปี​แล้ว ด้าน​สุขภาพ​ของ​ฉัน​มี​สิ่ง​อื่น​อีก​บาง​อย่าง​ซึ่ง​ไม่​สู้​ดี​นัก และ​ฉัน​ต้อง​ไม่​หักโหม​ทำ​กิจกรรม​ต่าง ๆ. บาง​ครั้ง​ฉัน​ก็​หลง ๆ ลืม ๆ. อัน​ที่​จริง เดี๋ยว​นี้​ตา​ฉัน​บอด​สนิท โดย​แท้​แล้ว บาง​ครั้ง​ไม่​อาจ​คลำ​หา​ทาง​ได้​เลย! ฉัน​อยาก​นำ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​อีก​บาง​ราย แต่​ใน​เมื่อ​สุขภาพ​ของ​ฉัน​เป็น​อย่าง​นี้ การ​ออก​ไป​พบ​คน​ที่​จะ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉัน​คง​ทำ​ไม่​ได้. ตอน​แรก ๆ ฉัน​หดหู่​มาก. ฉัน​ต้อง​เรียน​รู้​เพื่อ​ยอม​รับ​ข้อ​จำกัด​ของ​ตัว​เอง และ​พอ​ใจ​กับ​การ​ทำ​งาน​เท่า​ที่​ฉัน​จะ​ทำ​ได้. มัน​ไม่​ง่าย​เสีย​ที​เดียว. กระนั้น น่า​ยินดี ทุก​เดือน​ฉัน​สามารถ​รายงาน​เวลา​ที่​ฉัน​ได้​พูด​คุย​เรื่อง​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​องค์​ใหญ่​ยิ่ง​ของ​เรา. เมื่อ​สบ​โอกาส ฉัน​ไม่​รอ​ช้า​ที่​จะ​พูด​เรื่อง​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​พยาบาล, พนักงาน​ขาย​สินค้า, และ​คน​อื่น ๆ ที่​แวะ​มา​ที่​บ้าน แต่​แน่นอน การ​พูด​ก็​เป็น​แบบ​ผ่อน​สั้น​ผ่อน​ยาว.

หนึ่ง​ใน​บรรดา​พระ​พร​ที่​ยัง​ความ​อิ่ม​ใจ​มาก​ที่​สุด​คือ​ฉัน​ได้​เห็น​สี่​ชั่ว​อายุ​คน​ใน​ครอบครัว​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ซื่อ​สัตย์​มั่นคง. ลูก​หลาน​บาง​คน​เพียร​พยายาม​รับใช้​ฐานะ​ไพโอเนียร์​ใน​เขต​ที่​มี​ความ​ต้องการ​มาก, ฐานะ​ผู้​ปกครอง​หรือ​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้, และ​รับใช้​ที่​เบเธล. แน่นอน ฉัน​ก็​เหมือน​หลาย ๆ คน​รุ่น​เดียว​กัน ฉัน​เคย​คาด​หวัง​ว่า​ระบบ​นี้​จะ​ถึง​อวสาน​เร็ว​กว่า​นี้. แต่​ช่าง​เป็น​การ​เพิ่ม​ทวี​มาก​เสีย​นี่​กระไร​ที่​ฉัน​เห็น​มา​ตลอด​เจ็ด​สิบ​ปี​ที่​ฉัน​ได้​ทำ​งาน​รับใช้! สิ่ง​นี้​ทำ​ให้​ฉัน​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ​เหลือ​เกิน​ที่​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​อัน​สำคัญ​ยิ่ง​นี้.

พวก​พยาบาล​ที่​มา​เยี่ยม​ต่าง​ก็​ให้​ความ​เห็น​ว่า​ที่​ฉัน​มี​ชีวิต​อยู่​มา​ได้​จน​ป่าน​นี้​ต้อง​เป็น​เพราะ​ความ​เชื่อ​ศรัทธา​ของ​ฉัน​แน่ ๆ. ฉัน​เห็น​พ้อง​กับ​เขา. การ​ทำ​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​แข็งขัน​เอื้อ​ประโยชน์​แก่​ชีวิต​ได้​มาก​ที่​สุด. เช่น​เดียว​กับ​กษัตริย์​ดาวิด ฉัน​สามารถ​พูด​ได้​จริง ๆ ว่า​ฉัน​แก่​ชรา​และ​มี​ความ​อิ่ม​ใจ​พอ​ใจ.—1 โครนิกา 29:28.

(ซิสเตอร์​มูรีล สมิท​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​วัน​ที่ 1 เมษายน 2002 ขณะ​มี​การ​เตรียม​พิมพ์​บทความ​นี้. ขาด​อีก​หนึ่ง​เดือน​เท่า​นั้น​อายุ​เธอ​จะ​ครบ 102 ปี ถือ​ได้​ว่า​เธอ​เป็น​แบบ​อย่าง​ด้าน​ความ​ซื่อ​สัตย์​และ​ความ​อด​ทน​อย่าง​แท้​จริง.)

[ภาพ​หน้า 24]

ภาพ​ถ่าย​เมื่อ​ฉัน​อายุ 5 ขวบ และ​อายุ 19 ตอน​ที่​รู้​จัก​กับ​รอย สามี​ของ​ฉัน

[ภาพ​หน้า 26]

รถยนต์​และ​รถ​พ่วง​ซึ่ง​เรา​ให้​ชื่อ​ว่า​มิศพาห์

[ภาพ​หน้า 27]

กับ​รอย สามี เมื่อ​ปี 1971