คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
พระคัมภีร์ให้การชี้นำอะไรบ้างแก่บิดามารดาในเรื่องการอบรมสั่งสอนบุตร เมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาและอีกฝ่ายหนึ่งไม่ใช่พยานฯ?
หลักการสำคัญพื้นฐานสองข้อในพระคัมภีร์ให้การชี้นำเกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนบุตรแก่บิดามารดาซึ่งคู่สมรสไม่ใช่พยานพระยะโฮวา. หลักการหนึ่งคือ “พวกข้าพเจ้าจำต้องเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะเป็นผู้ปกครองยิ่งกว่ามนุษย์.” (กิจการ 5:29, ล.ม.) หลักการที่สองคือ “สามีเป็นประมุขของภรรยาของตนเหมือนพระคริสต์เป็นประมุขของประชาคม.” (เอเฟโซ 5:23, ล.ม.) หลักการข้อหลังนี้ใช้ไม่เฉพาะกับภรรยาที่เป็นพยานฯ ซึ่งสามีก็เป็นพยานฯ เหมือนกัน แต่ใช้กับภรรยาที่คู่สมรสไม่ใช่พยานพระยะโฮวาเช่นกัน. (1 เปโตร 3:1) บิดาหรือมารดาที่เป็นพยานฯ จะทำให้หลักการเหล่านี้สมดุลได้อย่างไรขณะทำการสั่งสอนบุตรของตน?
ถ้าฝ่ายสามีเป็นพยานพระยะโฮวา เขาย่อมมีภาระรับผิดชอบจัดหาทั้งสิ่งจำเป็นฝ่ายวิญญาณและฝ่ายวัตถุสำหรับครอบครัวตัวเอง. (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) แม้มารดาที่ไม่มีความเชื่ออาจเป็นฝ่ายคลุกคลีกับบุตรมากกว่า แต่บิดาที่เป็นพยานฯ ควรสอนบุตรโดยให้การอบรมฝ่ายวิญญาณแก่บุตรเมื่ออยู่ที่บ้านและพาไปยังการประชุมของคริสเตียน ที่นั่นบุตรจะได้ประโยชน์จากการสอนศีลธรรมและการคบหาสมาคมที่ดีงาม.
แต่ถ้าภรรยาที่ไม่ใช่พยานฯ ยืนกรานจะพาบุตรไปยังสถานนมัสการที่เธอเข้าร่วม หรือสอนบุตรตามความเชื่อของเธอล่ะ? กฎหมายบ้านเมืองอาจให้สิทธิมารดาทำเช่นนั้นได้. บุตรจะถูกชักจูงให้ทำการนมัสการ ณ สถานที่แห่งนั้นหรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับคุณภาพการสั่งสอนด้านวิญญาณของบิดา. ขณะที่บุตรเติบโตเจริญวัย การศึกษาทางด้านพระคัมภีร์ที่รับจากบิดาน่าจะช่วยพวกเขาให้เชื่อฟังปฏิบัติตามความจริงแห่งพระคำของพระเจ้า. สามีที่เชื่อถือจะมีความสุขเพียงใดถ้าบุตรของตนตัดสินใจเลือกอยู่ฝ่ายความจริง!
ถ้ามารดาเป็นพยานพระยะโฮวา ขณะที่เธอห่วงใยสวัสดิภาพถาวรของบุตร เธอก็ยังต้องนับถือหลักการว่าด้วยความเป็นประมุข. (1 โกรินโธ 11:3) ในหลายกรณี สามีที่ไม่เชื่อถือไม่คัดค้านหากภรรยาซึ่งเป็นพยานพระยะโฮวาจะสั่งสอนให้ความรู้ด้านศีลธรรมและความรู้ฝ่ายวิญญาณแก่บุตรธิดาของเขา และจะทำเช่นนี้ได้โดยพาบุตรไปยังการประชุมแห่งไพร่พลของพระยะโฮวา. ผู้เป็นมารดาอาจช่วยสามีที่ไม่เชื่อถือให้มองเห็นประโยชน์การศึกษาเชิงสร้างสรรค์หลาย ๆ อย่างที่บุตรได้รับจากองค์การของพระยะโฮวา. โดยการผ่อนหนักผ่อนเบา เธออาจเน้นให้สามีเห็นข้อได้เปรียบของการพร่ำสอนหลักศีลธรรมจากคัมภีร์ไบเบิลแก่บุตร เนื่องจากเด็ก ๆ กำลังเผชิญโลกที่เสื่อมทางด้านศีลธรรม.
อย่างไรก็ดี สามีที่ไม่เชื่อถืออาจยืนกรานให้บุตรปฏิบัติกิจทางศาสนาที่บิดานับถืออยู่ โดยการพาบุตรไปยังศาสนสถานและให้บุตรได้ศึกษาด้านศาสนาตามที่ตัวเองเชื่อถือ. หรือสามีอาจต่อต้านทุกศาสนาและยืนยันไม่อนุญาตให้บุตรรับเอาความรู้เกี่ยวกับศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น. ฐานะเป็นประมุขครอบครัว เขาเป็นบุคคลที่พึงรับผิดชอบในเบื้องต้นอยู่แล้วในการตัดสินใจ. *
แม้ภรรยาแสดงความนับถือต่อสามีฐานะเป็นประมุข แต่ฐานะที่เป็นคริสเตียนที่ได้อุทิศตัว ภรรยาซึ่งมีความเชื่อควรจดจำทัศนคติของอัครสาวกเปโตรและโยฮันไว้เสมอ ซึ่งได้กล่าวว่า “ฝ่ายพวกข้าพเจ้า พวกข้าพเจ้าจะหยุดพูดถึงเรื่องต่าง ๆ ที่ได้เห็นและได้ยินนั้นไม่ได้.” (กิจการ 4:19, 20, ล.ม.) เนื่องจากความห่วงใยสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของบุตร มารดาที่เป็นพยานฯ จะหาโอกาสให้การชี้นำทางศีลธรรมแก่บุตร. เธอมีความรับผิดชอบต่อพระยะโฮวาที่จะสั่งสอนผู้อื่นเกี่ยวกับสิ่งที่เธอรู้ว่าเป็นความจริง และบุตรของเธอไม่เป็นกรณียกเว้น. (สุภาษิต 1:8; มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) มารดาพยานฯ จะดำเนินการอย่างไรเมื่อเกิดปัญหายุ่งยาก?
ยกตัวอย่างจากเรื่องของการมีความเชื่อในพระเจ้า. ภรรยาที่เป็นพยานฯ อาจไม่สามารถจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลอย่างเป็นกิจจะลักษณะกับบุตร เพราะสามีของเธอได้วางข้อจำกัดไว้. เนื่องจากเหตุนี้ ภรรยาควรจะงดเว้นไม่บอกเล่าให้บุตรรู้อะไร ๆ เกี่ยวกับพระยะโฮวาทีเดียวหรือ? หามิได้. ปกติแล้ว คำพูดและการกระทำของเธอย่อมสะท้อนความเชื่อที่เธอมีต่อพระผู้สร้าง. ไม่ต้องสงสัย บุตรของเธอคงมีคำถามเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น ๆ. เธอควรใช้เสรีภาพในการนับถือศาสนาโดยแสดงความเชื่อในพระผู้สร้างให้ปรากฏ รวมทั้งแสดงให้บุตรเห็นด้วย. ถึงแม้เธออาจไม่ได้นำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับบุตรหรือพาเขาไปยังการประชุมได้เป็นประจำ แต่เธอสามารถให้ความรู้เรื่องพระยะโฮวาพระเจ้าแก่บุตรได้.—พระบัญญัติ 6:7.
ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพยานฯ กับคู่สมรสที่ไม่มีความเชื่อนั้น อัครสาวกเปาโลเขียนอย่างนี้: “สามีที่ไม่เชื่อถือพระคริสต์นั้นทรงสรรไว้เฉพาะเพราะเห็นแก่ภรรยา, และภรรยาที่ไม่เชื่อถือพระคริสต์ก็ทรงสรรไว้เฉพาะเพราะเห็นแก่สามี มิฉะนั้นลูกท่านทั้งหลายก็เป็นมลทิน แต่บัดนี้ลูกเหล่านั้นก็ไม่เป็นมลทินแล้ว.” (1 โกรินโธ 7:14) พระยะโฮวาทรงมองสายสมรสว่าเป็นสิ่งบริสุทธิ์เนื่องจากคู่สมรสเป็นผู้เชื่อถือ และบุตรก็บริสุทธิ์ในสายพระเนตรพระยะโฮวา. ภรรยาที่เป็นพยานฯ ควรทำดีที่สุดในการช่วยให้บุตรของเธอเข้าใจความจริง และผลในที่สุดจะเป็นอย่างไรก็ฝากไว้ในพระหัตถ์พระยะโฮวา.
เมื่อเด็กเจริญวัยเติบโตขึ้น พวกเขาต้องตัดสินใจจะยึดถือสิ่งใดก็โดยอาศัยข้อมูลที่เขาได้รับจากบิดามารดา. เขาอาจตัดสินใจลงมือกระทำตามคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ผู้ใดที่รักบิดามารดายิ่งกว่ารักเราก็ไม่มีค่าควรกับเรา.” (มัดธาย 10:37, ฉบับแปลใหม่) อนึ่ง มีคำสั่งดังนี้: “ฝ่ายบุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนร่วมสามัคคีกันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (เอเฟโซ 6:1, ล.ม.) เยาวชนหลายคนปลงใจจะ “เชื่อฟังพระเจ้าฐานะเป็นผู้ปกครอง” มากกว่าบิดาหรือมารดาที่ไม่เป็นพยานพระยะโฮวา ทั้ง ๆ ที่ได้ทนความทุกข์ยากจากบิดาหรือมารดาคนนั้น. ช่างเป็นบำเหน็จที่น่าชื่นชมเสียจริง ๆ เมื่อบิดาหรือมารดาพยานฯ ได้เห็นบุตรตัดสินใจรับใช้พระยะโฮวาทั้ง ๆ ที่มีการต่อต้านขัดขวาง!
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 7 สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายในการปฏิบัติศาสนาสำหรับภรรยานั้น รวมไปถึงสิทธิที่เธอจะเข้าร่วมการประชุมของคริสเตียน. ในบางกรณี สามีไม่สมัครใจจะดูแลบุตรตอนที่ยังเป็นเด็กเล็ก ดังนั้น มารดาที่มีความรักจึงมีพันธะที่จะพาบุตรไปด้วยกันยังการประชุม.