คุณจำได้ไหม?
คุณจำได้ไหม?
คุณชอบอ่านวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับหลัง ๆ นี้ไหม? ถ้าเช่นนั้น ลองดูซิว่าคุณจะตอบคำถามต่อไปนี้ได้หรือไม่:
• ความร่วมรู้สึกคืออะไร และเหตุใดคริสเตียนควรปลูกฝังสิ่งนี้?
ความร่วมรู้สึกคือความสามารถในการเอาตนเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ของอีกคนหนึ่ง อย่างเช่น การรู้สึกถึงความปวดร้าวของอีกคนหนึ่งในหัวใจของเรา. คริสเตียนได้รับคำแนะนำให้ ‘แสดงความเห็นอกเห็นใจ, ความรักใคร่ฉันพี่น้อง, และความเมตตาสงสาร.’ (1 เปโตร 3:8, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างให้เราติดตามในการแสดงความร่วมรู้สึก. (บทเพลงสรรเสริญ 103:14; ซะคาระยา 2:8) เราอาจทำให้ความรู้สึกของเราในเรื่องนี้ไวยิ่งขึ้นได้โดยการฟัง, การสังเกต, และการใช้จินตนาการ.—15/4 หน้า 24-26.
• เพื่อได้รับความสุขแท้ เหตุใดการเยียวยาฝ่ายวิญญาณจึงต้องมาก่อนการแก้ปัญหาความพิการทางกายให้หมดสิ้น?
หลายคนมีสุขภาพทางกายแข็งแรงแต่ไม่มีความสุข ถูกรุมเร้าด้วยปัญหามากมาย. ในทางตรงกันข้าม คริสเตียนหลายคนซึ่งในปัจจุบันพิการทางกาย แต่กลับมีความสุขมากในการรับใช้พระยะโฮวา. ผู้ได้รับประโยชน์จากการเยียวยาฝ่ายวิญญาณเหล่านี้จะมีโอกาสได้ประสบกับการขจัดสิ้นซึ่งความพิการทางกายในโลกใหม่.—1/5 หน้า 6-7.
• เหตุใดพระธรรมเฮ็บราย 12:16 จึงเอาชื่อเอซาวไปไว้ในกลุ่มเดียวกับคนผิดประเวณี?
บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลแสดงให้เห็นว่าความคิดของเอซาวเพ่งอยู่กับบำเหน็จแบบที่ต้องได้ในทันทีทันใด และเขาดูถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์. ปัจจุบัน ถ้าใครปล่อยให้เจตคติแบบเดียวกันนี้พัฒนาขึ้น มันอาจนำไปสู่บาปร้ายแรง เช่น การผิดประเวณี.—1/5 หน้า 10, 11.
• เทอร์ทูลเลียนคือใคร และเขามีชื่อเสียงในเรื่องอะไร?
เขาเป็นนักเขียนและนักเทววิทยา มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่สองและสามสากลศักราช. เขามีชื่อเสียงเรื่องการเขียนหนังสือหลายเล่มที่ปกป้องศาสนาคริสเตียนในนาม. แม้เขาจะให้การปกป้อง แต่ก็ได้นำแนวคิดและมโนทัศน์ทางปรัชญาหลายอย่างเข้ามาซึ่งเป็นการปูทางสำหรับหลักคำสอนเท็จ เช่น ตรีเอกานุภาพ.—15/5 หน้า 29-31.
• เหตุใดพันธุกรรมไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่เป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย, พฤติกรรม, และความตายของมนุษย์?
พวกนักวิทยาศาสตร์ได้ลงความเห็นว่า ดูเหมือนว่าพันธุกรรมจะเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของโรคภัยหลากหลายที่เกิดกับมนุษย์ และบางคนเชื่อว่าพฤติกรรมถูกกำหนดโดยยีนของเรา. กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลช่วยให้เราหยั่งเห็นเข้าใจเรื่องจุดเริ่มต้นของมนุษย์ รวมทั้งวิธีที่บาปและความไม่สมบูรณ์ได้เข้ามากล้ำกรายมนุษยชาติ. แม้ยีนอาจมีบทบาทในการนวดปั้นบุคลิกภาพของเรา แต่ความไม่สมบูรณ์และสภาพแวดล้อมของเราก็มีอิทธิพลมากเช่นกัน.—1/6 หน้า 9-11.
• โดยวิธีใดที่เศษชิ้นส่วนพาไพรัสซึ่งค้นพบในออกซิริงคัส ประเทศอียิปต์ ทำให้เห็นว่ามีการใช้พระนามของพระเจ้า?
เศษชิ้นส่วนจากพระคัมภีร์ฉบับเซปตัวจินต์ ภาษากรีกที่มีข้อความของพระธรรมโยบ 42:11, 12 นี้มีเททรากรัมมาทอน (อักษรฮีบรูสี่ตัวที่ใช้เขียนพระนามของพระเจ้า) อยู่ด้วย. สิ่งนี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าพระนามของพระเจ้าในภาษาฮีบรูปรากฏในฉบับเซปตัวจินต์ ซึ่งผู้เขียนพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักยกข้อคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูมากล่าวบ่อย ๆ.—1/6 หน้า 30.
• เหตุการณ์การต่อสู้ในสังเวียนที่โหดเหี้ยมทารุณแห่งจักรวรรดิโรมันเทียบได้กับกีฬาอะไรในสมัยปัจจุบันที่ผู้คนเฝ้าดู?
นิทรรศการซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่โคลอสเซียมในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ชี้ให้เห็นคู่เทียบสมัยปัจจุบัน โดยรวมเอาวีดิทัศน์ตอนต่าง ๆ เกี่ยวกับการสู้วัว, การชกมวยอาชีพ, การแข่งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์, และการที่ผู้ชมตะลุมบอนกัน ณ การแข่งขันกีฬาอื่น ๆ ในสมัยปัจจุบัน. คริสเตียนยุคแรกระลึกเสมอว่าพระยะโฮวาไม่รักความรุนแรงและผู้ทำการรุนแรง และคริสเตียนในปัจจุบันก็ควรมีความรู้สึกอย่างเดียวกัน. (บทเพลงสรรเสริญ 11:5)—15/6 หน้า 29.
• ขณะที่เราบากบั่นพยายามจะเป็นผู้สอนที่บังเกิดผล เราสามารถเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของเอษรา?
เอษรา 7:10, ล.ม. เน้นสี่สิ่งที่เอษราได้ทำ ซึ่งเราสามารถเลียนแบบได้. ที่นั่นกล่าวว่า “เอษราได้ [1] เตรียม หัวใจของตน [2] เพื่อพิจารณา ข้อกฎหมายของพระยะโฮวาและ [3] เพื่อปฏิบัติ ตามและ [4] เพื่อสอน ข้อบังคับและความยุติธรรมในอิสราเอล.”—1/7 หน้า 20.
• ในสองขอบเขตอะไรของการทำกิจกรรมฝ่ายวิญญาณซึ่งนับว่าเหมาะสมที่สตรีคริสเตียนจะคลุมศีรษะ?
ขอบเขตแรกคือ ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้าน. การที่เธอคลุมศีรษะสะท้อนถึงการยอมรับว่าสามีมีหน้าที่รับผิดชอบในการนำอธิษฐานและสอนคัมภีร์ไบเบิล. อีกขอบเขตหนึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ในประชาคม ซึ่งเธอแสดงการยอมรับว่าชายที่รับบัพติสมาได้รับอำนาจตามหลักพระคัมภีร์ให้สอนและชี้นำ. (1 โกรินโธ 11:3-10)—15/7 หน้า 26-27.
• ทำไมคริสเตียนตระหนักว่าโยคะไม่ใช่แค่การฝึกกาย แต่เป็นอันตราย?
เป้าหมายของการฝึกโยคะคือ เพื่อจะทำให้เรารวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับพลังหรือวิญญาณที่มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ. ตรงข้ามกับคำแนะนำของพระเจ้า โยคะเกี่ยวข้องกับการยุติกระบวนการทางความคิดตามธรรมชาติ. (โรม 12:1, 2, ล.ม.) โยคะอาจทำให้เรามีโอกาสได้รับอันตรายจากลัทธิภูตผีปิศาจและพลังอำนาจลึกลับได้. (พระบัญญัติ 18:10, 11)—1/8 หน้า 20-22.