พวกเขาดีใจที่ได้เรียนจนอ่านหนังสือออก!
พวกเขาดีใจที่ได้เรียนจนอ่านหนังสือออก!
ในบางภูมิภาคของหมู่เกาะโซโลมอน เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของคนเหล่านั้นซึ่งขณะนี้เป็นพยานพระยะโฮวาเคยต้องเผชิญกับปัญหาเกี่ยวกับการไม่รู้หนังสือ. นี่ไม่เพียงจำกัดการมีส่วนร่วมของพวกเขา ณ การประชุมต่าง ๆ ประจำสัปดาห์ของประชาคมเท่านั้น แต่ยังทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นด้วยที่พวกเขาจะสอนความจริงเรื่องราชอาณาจักรให้คนอื่น. มีทางเป็นไปได้จริง ๆ ไหมที่พวกผู้ใหญ่ซึ่งไม่เคยจับดินสอเลยจะกลายมาเป็นผู้ที่รู้หนังสือ?
มีการใช้จุลสารจงทุ่มเทตัวเพื่อการอ่านและการเขียน ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา ในชั้นเรียนที่สอนให้รู้หนังสือในเกือบทุกประชาคมของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วหมู่เกาะโซโลมอน. ประสบการณ์ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าหลายร้อยคนได้รับการช่วยเหลือให้ยกระดับความสามารถโดยทั่วไปของพวกเขาอย่างไรโดยโครงการนี้. สำคัญยิ่งกว่านั้น การเรียนจนอ่านหนังสือออกได้ทำให้พวกเขาสามารถให้คำพยานได้ดีขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อของตน.—1 เปโตร 3:15.
มิชชันนารีคนหนึ่งซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานร่วมกับประชาคมหนึ่งซึ่งมีผู้ประกาศราชอาณาจักรกว่าหนึ่งร้อยคนได้สังเกตว่า ณ การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลประจำสัปดาห์โดยใช้หอสังเกตการณ์ น้อยคนมีวารสารฉบับของตัวเองและมีคนน้อยกว่านั้นอีกที่ออกความเห็น. เพราะเหตุใด? พวกเขาไม่รู้หนังสือ. เมื่อประชาคมประกาศการก่อตั้งโรงเรียนเพื่อสอนให้อ่านออกเขียนได้ มิชชันนารีคนนี้ได้อาสาสมัครเป็นครูด้วยความยินดี. ทีแรก มีนักเรียนไม่กี่คนมาเรียน แต่ในไม่ช้าก็มีผู้คนมากกว่า 40 คนจากทุกวัยเริ่มเข้าร่วม.
ผลเป็นประการใด? มิชชันนารีเล่าว่า “หลังจากชั้นเรียนที่สอนให้รู้หนังสือเริ่มต้นได้ไม่นาน ดิฉันไปตลาดตอน 6 โมงเช้าเพื่อซื้ออาหารสำหรับบ้านพักมิชชันนารี. ที่นั่นดิฉันได้พบนักเรียนบางคน แม้แต่เด็กที่อายุน้อยจริง ๆ ขาย
มะพร้าวและผักอยู่. เพราะเหตุใด? เพราะพวกเขาต้องการมีเงินพอที่จะซื้อปากกาและสมุดจดสำหรับใช้ในชั้นเรียนนั้น! นอกจากนี้ การเข้าร่วมในชั้นเรียนยังเป็นแรงจูงใจให้ทุกคนมีวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับส่วนตัวด้วย.” เธอกล่าวเสริมว่า “ตอนนี้ ระหว่างการศึกษาหอสังเกตการณ์ ของประชาคม ทั้งคนหนุ่มสาวและคนสูงอายุต่างก็มีส่วนร่วมพอ ๆ กัน และการพิจารณาของเราก็เป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา.” มิชชันนารีคนนี้รู้สึกยินดีโดยเฉพาะเมื่อสมาชิกสี่คนของชั้นเรียนถามว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมในงานประกาศต่อสาธารณชนได้หรือไม่ เพราะดังที่พวกเขาบอก พวกเขา “ไม่กลัวอีกต่อไปแล้ว.”มีผลกระทบที่เป็นประโยชน์ต่อพวกนักเรียนในชั้นนี้นอกเหนือจากการรู้วิธีอ่านออกเขียนได้. ตัวอย่างเช่น เป็นเวลาหลายปีภรรยาที่ไม่มีความเชื่อของพยานฯ คนหนึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ประชาคมวิตกกังวล. เธอเอาก้อนหินขว้างคนที่ทำให้เธอโมโหด้วยสาเหตุเพียงน้อยนิดและถึงกับทำร้ายผู้หญิงคนอื่นด้วยท่อนไม้. เมื่อเธอเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นครั้งคราวกับสามีของเธอ เธอหึงหวงสามีถึงขนาดที่เขาสวมแว่นกันแดดเพื่อเธอจะไม่สามารถกล่าวหาเขาว่ามองดูผู้หญิงอื่น.
อย่างไรก็ดี หลังจากชั้นเรียนเริ่มไม่นาน หญิงคนนี้ได้ถามเบา ๆ ว่า “ฉันจะเข้าร่วมในชั้นเรียนนี้ได้ไหม?” คำตอบคือ ได้. ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เธอไม่เคยพลาดการเข้าร่วมในชั้นเรียนนั้นหรือเข้าร่วมการประชุมของประชาคม. เธอพยายามอย่างแข็งขันในการอ่านบทเรียนและก้าวหน้าไปอย่างน่าทึ่ง ซึ่งทำให้เธอมีความสุขมาก. คำขอต่อไปของเธอคือ “ฉันจะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้ไหม?” สามียินดีเริ่มศึกษากับเธอ และเธอก้าวหน้าต่อไปในความสามารถด้านการอ่านและเขียนรวมทั้งความรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิล.
สำหรับคนอายุ 50 ปีซึ่งไม่เคยจับต้องดินสอแล้ว แค่การจับดินสอเพื่อเขียนตัวอักษรก็อาจเป็นอุปสรรคดั่งภูเขา. บางคนมีตุ่มพองบนนิ้วมือเนื่องจากแรงกดเมื่อเขาใช้ดินสอกับกระดาษระหว่างการเรียนในขั้นต้น ๆ. หลังจากหลายสัปดาห์ในการพยายามจับดินสอเพื่อจะเขียนได้ นักเรียนบางคนได้ยิงฟันยิ้มพร้อมกับร้องออกมาว่า “ฉันเลื่อนมือไปบนกระดาษได้คล่องแล้วล่ะ!” การเห็นความก้าวหน้าของพวกนักเรียนทำให้ผู้สอนรู้สึกยินดีด้วย. ผู้สอนคนหนึ่งกล่าวว่า “การสอนนักเรียนชั้นนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความยินดีเหลือเกิน และการที่พวกนักเรียนมีความรู้สึกขอบคุณอย่างแท้จริงต่อการจัดเตรียมจากพระยะโฮวาเช่นนี้มักจะแสดงออกด้วยการปรบมือในตอนจบของชั้นเรียนนั้น.”
พร้อมกับพวกมิชชันนารี พยานฯ เหล่านี้ซึ่งปัจจุบันอ่านออกเขียนได้รู้สึกชื่นชมยินดี. เพราะเหตุใด? เพราะตอนนี้พวกเขาสามารถใช้ความสามารถในการอ่านและเขียนของตนเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 8, 9]
ทั้งหนุ่มสาวและคนสูงอายุหยั่งรู้ค่าชั้นเรียนที่สอนให้รู้หนังสือ