“ฉันจะไม่เปลี่ยนอะไรทั้งสิ้น!
เรื่องราวชีวิตจริง
“ฉันจะไม่เปลี่ยนอะไรทั้งสิ้น!
เล่าโดยแกลดีส แอลเลน
บางครั้งมีคนถามฉันว่า “ถ้าคุณย้อนชีวิตกลับได้อีกสักครั้ง คุณจะเปลี่ยนอะไร?” ฉันสามารถตอบเป็นคำสัตย์ได้ทีเดียวว่า “ฉันจะไม่เปลี่ยนอะไรทั้งสิ้น!” ขอให้ฉันชี้แจงว่าทำไมฉันรู้สึกอย่างนี้.
ฤดูร้อนปี 1929 ตอนนั้นฉันอายุสองขวบ สิ่งยอดเยี่ยมได้เกิดขึ้นกับพ่อฉัน แมตทิว แอลเลน. ท่านรับหนังสือเล่มเล็กชื่อหลายล้านคนที่มีชีวิตอยู่ในเวลานี้จะไม่ตาย! จัดพิมพ์โดยนักศึกษาพระคัมภีร์นานาชาติ ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น. หลังจากก้มหน้าก้มตาอ่านเพียงไม่กี่หน้า พ่อก็เปล่งเสียงออกมาด้วยความดีใจ “นี่แหละคือเรื่องยอดเยี่ยมเท่าที่พ่อเคยได้อ่าน!”
หลังจากนั้นไม่นาน พ่อได้รับเอาสรรพหนังสืออื่น ๆ ของนักศึกษาพระคัมภีร์. ท่านเริ่มทันทีที่จะบอกเล่าแก่เพื่อนบ้านทุกคนเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้. อย่างไรก็ดี ชุมชนของเราในแถบถิ่นชนบทยังไม่มีประชาคมของพยานพระยะโฮวา. ครั้นตระหนักถึงความจำเป็นที่คริสเตียนพึงสมาคมคบหากันเป็นประจำ พ่อจึงย้ายครอบครัวไปอยู่ที่เมืองออเรนจ์วิลล์ มณฑลออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ในปี 1935 เพราะมีประชาคมหนึ่งตั้งอยู่ที่นั่น.
สมัยนั้น เด็ก ๆ ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมประชุมประจำประชาคม; พวกเด็กโดยปกติแล้วจะเล่นอยู่ข้างนอกจนกว่าผู้ใหญ่เลิกประชุม. พ่อไม่ชอบพฤติการณ์แบบนี้. ท่านคิดว่า “ในเมื่อการประชุมเป็นเรื่องที่ดีสำหรับฉัน ก็คงจะดีสำหรับลูกเช่นกัน.” ดังนั้น ถึงแม้เพิ่งได้เข้าร่วมประชุมไม่กี่ครั้ง แต่พ่อก็ออกคำสั่งให้บ๊อบพี่ชาย, เอลลา, รูบี, พี่สาวของฉัน และรวมถึงฉันด้วยเข้าร่วมประชุมพร้อมพวกผู้ใหญ่ และพวกเราก็เชื่อฟังทำตาม. ในไม่ช้าลูกของพยานฯ คนอื่น ๆ เข้ามานั่งฟังการประชุมเช่นกัน. การร่วมประชุมและการออกความเห็นจึงกลายเป็นส่วนสำคัญยิ่งในชีวิตพวกเรา.
พ่อรักคัมภีร์ไบเบิล ท่านมีวิธีนำเรื่องในคัมภีร์ไบเบิลมาสร้างเป็นละครได้อย่างน่าเพลิดเพลินทีเดียว. โดยวิธีการแบบนี้ ท่านทำให้บทเรียนที่สำคัญต่อชีวิตประทับลงในหัวใจของพวกเราที่อายุยังน้อยอยู่ ซึ่งฉันยังคงจดจำรำลึกด้วยความชื่นชอบเสมอ. บทเรียนหนึ่งที่ฉันจำใส่ใจคือพระยะโฮวาทรงอวยพรคนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระองค์.
อนึ่ง พ่อได้สอนพวกเราใช้คัมภีร์ไบเบิลปกป้องความเชื่อของเรา. เรามักจะเล่นเกมพระคัมภีร์กัน. พ่ออาจพูดทำนองนี้: “พ่อเชื่อว่าเมื่อพ่อตายพ่อจะไปสวรรค์. แล้วลูกชี้แจงซิว่าพ่อจะไม่ได้ไปที่นั่น.” ฉันกับรูบีก็จะค้นดัชนีหาข้อคัมภีร์ที่เราจะใช้ลบล้างคำสอนนั้น. หลังจากอ่านข้อคัมภีร์ที่เราค้นหามาได้ พ่อจะบอกว่า “น่าสนใจ แต่พ่อยังไม่ปักใจเชื่อเสียทีเดียว.” ดังนั้น เรากลับไปค้นจากดัชนีอีก. การค้นแบบนี้มักจะใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าคำตอบจะเป็นที่จุใจพ่อ. ผลก็คือ ฉันกับรูบีกลายเป็นคนที่ถูกเตรียมไว้พร้อมเพื่อให้คำอธิบายเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อและปกป้องความเชื่อของเรา.
เอาชนะความกลัวหน้ามนุษย์
แม้ว่าฉันได้รับการฝึกสอนเป็นอย่างดีจากที่บ้านและจากการร่วมประชุมประชาคม แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีบางแง่มุมของการเป็นคริสเตียนที่ฉันได้ประสบข้อท้าทาย. เช่นเดียวกับหนุ่ม ๆ สาว ๆ หลายคน ฉันไม่อยากให้ตัวเองดูแปลกจากคนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนร่วมชั้น. การทดสอบความเชื่อของฉันตอนแรก ๆ นั้นเกี่ยวข้องกับงานที่เราเรียกว่าการเดินขบวนแจ้งข่าว.
เมื่อเดินขบวนแจ้งข่าว พี่น้องชายหญิงจะเดินช้า ๆ ไปตามถนนสายหลักของเมือง พร้อมกับชูแผ่นป้ายที่มีข้อความเขียนไว้บนนั้น. ในเขตเมืองของเรามีพลเมืองราว 3,000 คน ซึ่งทุกคนต่างก็รู้จักกัน. การเดินขบวนแจ้งข่าวคราวหนึ่ง ฉันอยู่ปลายแถวชูแผ่นป้ายมีข้อความว่า “ศาสนาเป็นบ่วงแร้วและกลลวง.” เพื่อนนักเรียนบางคนมองเห็นฉัน และพวกเขาไม่รอช้า ถลันเข้ามาต่อแถวข้างหลังทันที แล้วพากันร้องเพลงชาติแคนาดา “พระผู้เป็นเจ้าคุ้มครองพระมหากษัตริย์.” ฉันรับมืออย่างไรในสภาพการณ์แบบนี้? ฉันอธิษฐานอย่างแรงกล้าขอพละกำลังเพื่อจะเดินต่อไป. ในที่สุด เมื่อเสร็จการเดินขบวน ฉันรีบรุดไปที่หอประชุมเพื่อเอาแผ่นป้ายไปคืนและกลับบ้าน. แต่ทว่าผู้ดูแลงานแผนกนี้บอกฉันว่าการเดินขบวนจวนจะเริ่มอีกรอบหนึ่ง และเขาต้องการอีกคนหนึ่งถือแผ่นป้าย. ฉะนั้น จึงเป็นอันว่าฉันต้องออกไปอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับทูลอธิษฐานด้วยใจแรงกล้ายิ่งกว่าเดิม. แต่คราวนี้ พวกนักเรียนร่วมชั้นต่างก็เหนื่อยล้าและพากันกลับบ้านหมดทุกคน. คำอธิษฐานทูลขอพละกำลังจึงกลายเป็นคำอธิษฐานโมทนาขอบพระคุณ!—สุภาษิต 3:5.
ผู้เผยแพร่เต็มเวลาได้รับการต้อนรับที่บ้านเราเสมอ. พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีความสุขและพวกเรายินดีต้อนรับเขา. นึกย้อนหลังตั้งแต่ฉันจำความได้ พ่อแม่มักจะยกเรื่องงานรับใช้เต็มเวลาขึ้นมาพูดให้พวกเราเด็ก ๆ ฟังอยู่เนือง ๆ ว่าเป็นงานประจำชีพที่ดีอย่างยิ่งเท่าที่จะหาได้.
ฉันสนองตอบการสนับสนุนของท่าน โดยเริ่มต้นงานรับใช้เต็มเวลาในปี 1945. ทีหลังฉันสมทบกับพี่เอลลาซึ่งเป็นไพโอเนียร์อยู่ที่เมืองลอนดอน มณฑลออนแทรีโอ. ที่นั่น ฉันได้รับคำแนะนำให้รู้จักลักษณะงานรับใช้ซึ่งฉันคิดว่าคงจะไม่สามารถทำได้แน่ ๆ. พวกพี่น้องมักแวะเข้าไปในร้านจำหน่ายสุรา และเดินจากโต๊ะหนึ่งไปอีกโต๊ะหนึ่งเสนอวารสารว็อชเทาเวอร์ (หอสังเกตการณ์) คู่กับคอนโซเลชัน (เดี๋ยวนี้คือตื่นเถิด!). ดีที่งานนี้ทำกันตอนบ่ายวันเสาร์ ฉันจึงมีเวลาตลอดอาทิตย์อธิษฐานขอความกล้าจะเข้าไปในสถานที่เช่นนั้น! งานนี้ไม่ง่ายสำหรับฉัน แต่เป็นงานที่น่าพอใจ.
ในทางกลับกัน ฉันเรียนรู้วิธีเสนอวารสารคอนโซเลชัน ฉบับพิเศษซึ่งลงบทความเรื่องการข่มเหงพี่น้องของเราในค่ายกักกันนาซี โดยเฉพาะเวลาเข้าไปพบนักธุรกิจระดับสูงชาวแคนาดา รวมถึงประธานบริษัทใหญ่ ๆ. ตลอดหลายปี ฉันได้ประสบว่าพระยะโฮวาทรงสนับสนุนพวกเราเสมอ ตราบใดที่เราหมายพึ่งจะได้กำลังจากพระองค์. อย่างที่พ่อมักพูดว่าพระยะโฮวาทรงอวยพรคนเหล่านั้นที่เชื่อฟังพระองค์.
ขานรับคำเชิญไปปฏิบัติงานในมณฑลควิเบก
วันที่ 4 กรกฎาคม 1940 มีคำสั่งห้ามงานของพยานพระยะโฮวาในแคนาดา. ต่อมา การสั่งห้ามถูกเพิกถอน แต่พวกเรายังคงถูกข่มเหงจากชาวโรมันคาทอลิกในมณฑลควิเบก. มีการรณรงค์ครั้งพิเศษในการแจกแผ่นพับซึ่งใช้ถ้อยคำหนักแน่นมีพลังชื่อการเกลียดชังพระเจ้าและพระคริสต์และเสรีภาพอย่างรุนแรงของควิเบกเป็นความอัปยศของแคนาดาทั้งประเทศ เพื่อชี้ชวนให้ใส่ใจต่อการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อพี่น้องของเราในมณฑลนั้น. นาทาน เอช. นอรร์ สมาชิกคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาได้ประชุมชี้แจงแก่ไพโอเนียร์หลายร้อยคนในนครมอนทรีออลให้ทราบว่างานที่พวกเราเริ่มจะทำนั้นหมายถึงอะไรบ้าง. บราเดอร์นอรร์บอกพวกเราว่าถ้าเราตกลงร่วมรณรงค์ ก็ให้คาดหมายได้เลยว่าเราจะถูกจับกุมคุมขัง. ปรากฏเป็นจริงอย่างนั้น! เมื่อเวลาผ่านไป ฉันถูกจับกุม 15 ครั้ง. เมื่อเราออกไปในเขตประกาศ เราไม่ลืมเอาแปรงสีฟันและหวีติดตัวไปด้วย เผื่อต้องไปนอนในคุก.
ทีแรก เราทำงานในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่เพื่อจะไม่เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่าย. ฉันเคยเอาแผ่นพับจำนวนมากเป็นพิเศษใส่ถุงคล้องคอซุกไว้ใต้เสื้อนอกอีกชั้นหนึ่ง. ถุงใส่แผ่นพับค่อนข้างใหญ่เทอะทะ ทำให้ฉันดูคล้ายหญิงมีครรภ์. นี่เป็นประโยชน์สำหรับฉัน เมื่อขึ้นรถรางไปเขตงานและบนรถมีคนแน่น. หลายครั้งมีสุภาพบุรุษลุกขึ้นให้ที่นั่งแก่สตรี “มีครรภ์.”
เมื่อเวลาผ่านไป เราเริ่มร่วมงานแจกแผ่นพับในช่วงกลางวัน. เราสอดแผ่นพับไว้ที่ประตูบ้านสักสามสี่หลัง แล้วข้ามไปแจกอีกเขตหนึ่ง. ปกติแล้ววิธีนี้ได้ผลดี. แต่ถ้าบาทหลวงคาทอลิกรู้ว่าพวกเราอยู่ในบริเวณนั้น เราคาดหมายได้ทีเดียวว่าต้องเจอปัญหา. มีอยู่ครั้งหนึ่ง บาทหลวงยุยงฝูงชนทั้งผู้ใหญ่และเด็กร่วม 60 คนให้ปามะเขือเทศและไข่ใส่พวกเรา. เราหลบเข้าไปในบ้านพี่น้องหญิงและต้องนอนกับพื้นแรมคืนที่บ้านนั้น.
มีความต้องการไพโอเนียร์มากสำหรับงานประกาศแก่ผู้คนที่พูดภาษาฝรั่งเศสในมณฑลควิเบก ดังนั้น ในเดือนธันวาคม 1958 ฉันกับรูบีพี่สาวจึงเริ่มต้นเรียนภาษาฝรั่งเศส. หลังจากนั้นเราถูกส่งไปทำงานหลายเขตในมณฑลนี้ที่ผู้คนพูดภาษาฝรั่งเศส. เขตมอบหมายแต่ละแห่งล้วนแต่เจอประสบการณ์ไม่ซ้ำกัน. มีอยู่เขตหนึ่ง เราออกประกาศตามบ้านวันละแปดชั่วโมงนานถึงสองปีโดยไม่มีแม้แต่คนเดียวตอบรับ! เพียงแต่มีคนมาที่ประตูแล้วดึงม่านปิดเท่านั้น. แต่เราไม่ท้อถอย. ณ เมืองดังกล่าว ในปัจจุบันมีสองประชาคมกำลังเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างดี.
พระยะโฮวาได้ทรงค้ำจุนทุกวิถีทาง
เราเริ่มงานฐานะไพโอเนียร์พิเศษในปี 1965. ในเขตงานแห่งหนึ่งซึ่งไพโอเนียร์พิเศษได้รับมอบหมาย เราได้มาเข้าใจเต็มที่ว่าด้วยความหมายแห่งถ้อยคำของเปาโลตามที่บันทึกใน 1 ติโมเธียว 6:8 (ล.ม.) ว่า “ถ้าเรามีเครื่องอุปโภคบริโภค เราจะอิ่มใจด้วยของเหล่านี้.” เราต้องทำตามงบประมาณที่กำหนดไว้อย่างรัดกุม เพื่อจะได้ระมัดระวังการใช้จ่ายของเรา. ดังนั้น เรากันเงินไว้ต่างหากเป็นค่านำมันสำหรับเครื่องทำความร้อน, ค่าเช่า, ค่าไฟฟ้า, และค่าอาหาร. เมื่อจัดการดูแลเรื่องนี้อย่างดี เรามีเงินเหลือ 25 เซนต์ตลอดเดือนสำหรับซื้อสิ่งของที่ต้องการ.
เนื่องจากมีวงเงินจำกัด เราเปิดเครื่องทำความร้อนใช้ในบ้านเฉพาะตอนกลางคืนแค่สองสามชั่วโมงเท่านั้น. ดังนั้น อุณหภูมิในห้องนอนของเราไม่เคยเกิน 15 องศาเซลเซียส และบ่อยครั้งหนาวเย็นยิ่งกว่านั้น. แต่แล้ววันหนึ่งลูกชายของคนที่รูบีนำการศึกษาพระคัมภีร์ได้แวะมาเยี่ยมเรา. เมื่อกลับไปที่บ้าน เขาคงได้บอกมารดาของเขาว่าเราหนาวเหน็บเจียนตาย เพราะหลังจากนั้นเธอส่งเงินให้เราซื้อน้ำมันทุกเดือน ๆ ละสิบดอลลาร์ มากพอที่เราจะเปิดเครื่องทำความร้อนได้ตลอดเวลา. เราไม่รู้สึกอัตคัดขาดแคลนในทางหนึ่งทางใด. เราไม่รวย กระนั้น เรามีสิ่งจำเป็นต่าง ๆ เสมอ. เรารู้สึกว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เราได้รับนอกเหนือสิ่งจำเป็น นั่นบทเพลงสรรเสริญ 37:25 เป็นความจริงเพียงใดที่ว่า “ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยเห็นคนสัตย์ธรรมต้องถูกละทิ้งเสีย, ไม่เคยเห็นพงศ์พันธุ์ของเขาขอทาน”!
คือของประทาน. ถ้อยคำในทั้ง ๆ ที่ประสบการต่อต้าน ฉันปีติยินดีเมื่อเห็นหลายคนที่ฉันเคยนำการศึกษาพระคัมภีร์รับเอาความจริง. บางคนยึดเอาการรับใช้เต็มเวลาเป็นงานประจำชีพ ซึ่งยังความปลาบปลื้มใจแก่ฉันมากเป็นพิเศษ.
เผชิญการท้าทายใหม่ ๆ ได้สำเร็จ
เมืองคอร์นวอลล์ มณฑลออนแทรีโอ ได้กลายมาเป็นเขตงานมอบหมายแห่งใหม่ของเราในปี 1970. หลังจากเรามาถึงคอร์นวอลล์ประมาณหนึ่งปี แม่ก็ล้มป่วย. ส่วนพ่อเสียชีวิตไปแล้วในปี 1957 และฉันกับพี่สาวสองคนผลัดกันช่วยดูแลแม่จนกระทั่งท่านสิ้นชีวิตในปี 1972. เอลลา ลีซิทซา, และแอน โควาเลนโค เพื่อนไพโอเนียร์พิเศษของเราต่างก็มีส่วนช่วยเสริมกำลังเราให้มั่นคง และให้การเกื้อหนุนด้วยความรักในช่วงนี้. เธอทั้งสองช่วยเอาใจใส่คนที่เรานำการศึกษาพระคัมภีร์หลายราย และดูแลหน้าที่รับผิดชอบอื่น ๆ ระหว่างที่เราไม่อยู่. คำกล่าวที่พระธรรมสุภาษิต 18:24 (ล.ม.) ที่ว่า “มีมิตรที่สนิทแน่นยิ่งกว่าพี่น้อง” เป็นความจริงเสียนี่กระไร!
แน่นอน ชีวิตย่อมเต็มไปด้วยความยากลำบาก. ด้วยการเกื้อหนุนด้วยความรักจากพระยะโฮวา ฉันจึงสามารถรับมือกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ได้. ฉันยังคงมุ่งติดตามชีวิตที่ทำงานรับใช้เต็มเวลาอย่างชื่นชมยินดี. บ๊อบซึ่งตายในปี 1993 ได้รับใช้เป็นไพโอเนียร์นานกว่า 20 ปี ซึ่งก็รวมเวลา 10 ปีอันมีค่าร่วมงานไพโอเนียร์กับดอลล์ ภรรยาของเขา. เอลลา พี่สาวคนโตของฉันซึ่งเสียชีวิตในเดือนตุลาคม 1998 ก็ได้รับใช้เป็นไพโอเนียร์มากกว่า 30 ปี และเธอรักษาน้ำใจไพโอเนียร์เสมอมา. ปี 1991 รูบี พี่สาวอีกคนหนึ่งได้รับการวินิจฉัยโรคว่าเป็นมะเร็ง. กระนั้น เธอยังคงใช้พละกำลังที่มีจำกัดทำการเผยแพร่ข่าวดี. นอกจากนี้ เธอมีอารมณ์ขันกระทั่งถึงเช้าวันสุดท้ายของชีวิตเมื่อวันที่ 26 กันยายน 1999. ถึงแม้ฉันขาดพวกพี่ ๆ ไป แต่ฉันยังมีครอบครัวฝ่ายวิญญาณที่ล้วนเป็นพี่น้องชายหญิงช่วยฉันรักษาอารมณ์ขันอยู่เสมอ.
เมื่อมองชีวิตย้อนหลัง ฉันจะเปลี่ยนอะไรล่ะ? ฉันไม่เคยแต่งงาน แต่ก็มีความสุขเหลือล้นที่มีพ่อแม่ผู้เปี่ยมด้วยความรัก, มีพี่ชาย, พี่สาวซึ่งจัดความจริงไว้เป็นอันดับแรกในชีวิตของเขา. ฉันรอเวลาจะพบพวกเขาอีกในไม่ช้าเมื่อมีการกลับเป็นขึ้นจากตาย. ความหวังนั้นเป็นจริงจนฉันรู้สึกได้ว่าตัว
เองอยู่ในอ้อมกอดของพ่อและเห็นน้ำตาของแม่รินอาบแก้มเมื่อเราสวมกอดกัน. เอลลา, รูบี, และบ๊อบก็กระโดดตัวลอยด้วยความปีติยินดี.ขณะนี้ ฉันมุ่งมั่นตั้งใจจะใช้สุขภาพและพลังเท่าที่พอมีอยู่สรรเสริญและถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา. ชีวิตในงานรับใช้เต็มเวลาฐานะไพโอเนียร์นั้นยอดเยี่ยม ได้ผลตอบแทนอย่างแท้จริง. เป็นอย่างที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญได้พูดถึงบรรดาผู้ที่ดำเนินในทางของพระยะโฮวาดังนี้: “ท่านจะได้สบายใจ, และจะอยู่เย็นเป็นสุข.”—บทเพลงสรรเสริญ 128:1, 2.
[ภาพหน้า 26]
พ่อรักคัมภีร์ไบเบิล. ท่านได้สอนพวกเราใช้พระคัมภีร์ปกป้องความเชื่อของเรา
[ภาพหน้า 28]
จากซ้ายไปขวา: รูบี, ฉัน, บ๊อบ, เอลลา, แม่, และพ่อ ในปี 1947
[ภาพหน้า 28]
แถวหน้า จากซ้ายไปขวา: ฉัน, รูบี, และเอลลา ณ การประชุมภาคปี 1998