เพื่อนบ้านที่ดีเป็นประโยชน์
เพื่อนบ้านที่ดีเป็นประโยชน์
“เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ก็ยังดีกว่าพี่น้องที่อยู่ห่างไกล.”—สุภาษิต 27:10.
ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งในศตวรรษแรกสากลศักราชได้ถามพระเยซูว่า “ใครเป็นเพื่อนบ้านของข้าพเจ้า?” คำตอบของพระองค์ชี้ว่า ไม่ใช่ที่ว่าเพื่อนบ้านของเขาเป็นใคร แต่อะไร ต่างหากที่ทำให้คนเราเป็นเพื่อนบ้านแท้. คุณคงจะคุ้นเคยกับอุทาหรณ์ของพระเยซู. หลายคนรู้จักอุทาหรณ์นี้ว่าเป็นอุปมาเรื่องชาวซะมาเรียเพื่อนบ้านที่ดีและมีการบันทึกเรื่องนี้ไว้ที่กิตติคุณของลูกา. พระเยซูทรงเล่าเรื่องดังต่อไปนี้:
“มีคนหนึ่งลงไปจากกรุงยะรูซาเลมจะไปยังเมืองยะริโฮ, และเขาถูกพวกโจรปล้น โจรนั้นได้แย่งชิงเสื้อผ้าของเขาและทุบตี, แล้วก็ละทิ้งเขาไว้เกือบจะตายแล้ว. เผอิญปุโรหิตคนหนึ่งเดินไปทางนั้น, เมื่อเห็นคนนั้นก็เดินเลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง. คนหนึ่งในพวกเลวีก็ทำเหมือนกัน, เมื่อมาถึงที่นั่นและเห็นแล้วก็เลยไปเสียอีกฟากหนึ่ง. แต่ชาวซะมาเรียคนหนึ่งเมื่อเดินทางมาถึงคนนั้น, ครั้นเห็นแล้วก็มีใจเมตตา เข้าไปหาเขาเอาผ้าพันบาดแผลให้, เอาน้ำมันกับน้ำองุ่นเทใส่บาดแผลนั้น, แล้วให้เขาขึ้นขี่สัตว์ของตนเองพามาถึงโรงแรมแห่งหนึ่ง, และรักษาพยาบาลเขาไว้. วันรุ่งขึ้นเมื่อจะไปเขาก็เอาเงินสองบาทมอบให้เจ้าของโรงแรมบอกว่า, ‘จงรักษาเขาไว้เถิด, และเงินที่จะเสียเกินนี้, เมื่อกลับมาฉันจะใช้ให้.’ ในสามคนนั้นท่านคิดเห็นว่าคนไหนเป็นเพื่อนบ้านของคนที่ถูกปล้น?”—ลูกา 10:29-36.
ลูกา 10:37) ช่างเป็นอุทาหรณ์ที่มีพลังจริง ๆ ในเรื่องที่ว่าการเป็นเพื่อนบ้านแท้หมายถึงอะไร! อุปมาของพระเยซูอาจถึงกับกระตุ้นเราให้ถามตัวเองว่า ‘ฉันเป็นเพื่อนบ้านชนิดใด? ภูมิหลังด้านเชื้อชาติหรือสัญชาติมีอิทธิพลต่อฉันในการกำหนดว่าเพื่อนบ้านของฉันเป็นใครไหม? ปัจจัยดังกล่าวจำกัดพันธะของฉันที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนใดคนหนึ่งซึ่งฉันเห็นว่ากำลังทุกข์ลำบากอยู่ไหม? ฉันใช้ความพยายามเป็นพิเศษเพื่อจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดีไหม?’
ผู้คงแก่เรียนคนนี้ดูเหมือนจะเข้าใจจุดสำคัญของเรื่องนี้. เขาระบุอย่างถูกต้องโดยไม่ลังเลว่าคนที่เป็นเพื่อนบ้านของชายที่ได้รับบาดเจ็บคือ “คนนั้นแหละที่ได้สำแดงความเมตตาแก่เขา.” แล้วพระเยซูจึงตรัสแก่เขาว่า “ท่านจงไปทำเหมือนอย่างนั้นเถิด.” (จะเริ่มต้นที่ไหน?
หากเรารู้สึกว่าจำเป็นต้องปรับปรุงในเรื่องนี้ เราต้องเริ่มต้นกับเจตคติของเรา. ความห่วงใยของเราควรรวมจุดอยู่ที่การเป็น เพื่อนบ้านที่ดี. นี่อาจส่งเสริมให้เรามีเพื่อนบ้านที่ดีด้วย. เกือบสองพันปีมาแล้ว พระเยซูได้เน้นหลักการสำคัญว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในคำเทศน์บนภูเขาอันเลื่องลือ. พระองค์ตรัสว่า “เหตุฉะนั้นสิ่งสารพัตรซึ่งท่านปรารถนาให้มนุษย์ทำแก่ท่าน, จงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.” (มัดธาย 7:12) การปฏิบัติกับคนอื่นด้วยความนับถือ, อย่างมีศักดิ์ศรี, และด้วยความกรุณาย่อมสนับสนุนเขาให้ปฏิบัติกับคุณอย่างเดียวกัน.
ในบทความเรื่อง “การรักเพื่อนบ้านของคุณ” ที่ปรากฏในวารสารประชาชาติตั้งแต่ปี 1865 ลีซา ฟุนเดอร์บูร์ก นักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์ได้กล่าวถึงสิ่งง่าย ๆ บางอย่างที่สามารถทำได้เพื่อส่งเสริมการเป็นเพื่อนบ้านกัน. เธอเขียนไว้ว่า “ดิฉันต้องการ . . . ให้เพื่อนบ้านทำต่อกันและกันในความสัมพันธ์ส่วนตัวโดยการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความกรุณาหลายอย่าง เช่น การหยิบเอาหนังสือพิมพ์มาให้, การดูแลเด็ก ๆ, การช่วยไปซื้อของให้. ดิฉันปรารถนาให้มีความสัมพันธ์เช่นนี้ในโลกที่คนห่างเหินกันมากขึ้นทุกที โลกที่มีการทำให้ชุมชนต่าง ๆ อ่อนแอลงและขาดความปลอดภัยเนื่องจากความกลัวและอาชญากรรม.” แล้วเธอกล่าวเสริมว่า “คุณต้องเริ่มต้นที่ไหนสักแห่ง. และอาจเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงของคุณนั่นแหละ.”
วารสารแคนาเดียน จีโอกราฟิก ได้ชี้แจงจุดสำคัญที่เป็นประโยชน์ซึ่งอาจช่วยเพื่อนบ้านในการพัฒนาเจตคติที่ดีงามต่อกันและกัน. นักเขียนชื่อมาร์นี แจ็กสันได้ตั้งข้อสังเกตว่า “เพื่อนบ้าน เช่นเดียวกับคนในครอบครัวคุณ คือผู้คนในชีวิตคุณที่คุณไม่อาจเลือกได้เสมอไป. สัมพันธภาพดังกล่าวต้องมีการรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว, การกระทำที่สุภาพอ่อนน้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง, และการโอนอ่อนผ่อนตาม.”
เพื่อนบ้านที่ดี เป็นผู้ให้ที่เต็มใจ
จริงอยู่ พวกเราหลายคนอาจรู้สึกอึดอัดใจในการเข้าไปหาเพื่อนบ้าน. การหลีกเลี่ยงการติดต่อหรือแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวอาจดูเหมือนว่าเป็นเรื่องง่ายกว่ามาก. อย่างไรก็ดี คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” (กิจการ 20:35, ล.ม.) เพราะฉะนั้น เพื่อนบ้านที่ดีอุตส่าห์พยายามที่จะทำตัวให้คุ้นเคยกับผู้คนรอบข้าง. ถึงแม้ไม่ได้ต้องการที่จะพัฒนามิตรภาพใกล้ชิดเสมอไป เขาพยายามจะริเริ่มการสนทนาที่น่าเพลิดเพลินเป็นครั้งคราว บางทีแค่เริ่มด้วยการยิ้มแย้มหรือการแสดงท่าทางทักทายฉันมิตร.
ดังที่กล่าวข้างต้น “การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความกรุณาหลายอย่าง” ที่เพื่อนบ้านทำต่อกันและกันนับว่าสำคัญอย่างแท้จริงในการสร้างความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านและรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้. ดังนั้น นับว่าเป็นประโยชน์ที่จะหาโอกาสแสดงความกรุณาเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อเพื่อนบ้าน เพราะการทำเช่นนี้มักจะส่งเสริมน้ำใจของความร่วมมือกันและความนับถือกันและกัน. ยิ่งกว่านั้น โดยการทำเช่นนี้ เราจะปฏิบัติตามคำตักเตือนจากคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า “อย่ากีดกันความดีไว้จากคนใด ๆ ที่เขาควรจะได้ความดีนั้น, ในเมื่อเจ้ามีอำนาจอยู่ในกำมืออาจจะทำได้.”—สุภาษิต 3:27; ยาโกโบ 2:14-17.
เพื่อนบ้านที่ดี เป็นผู้รับที่หยั่งรู้ค่า
คงจะดีสักปานใดหากเรากล่าวได้ว่าทุกคนได้รับความช่วยเหลือและของขวัญด้วยท่าทีสำนึกบุญคุณ. น่าเสียดาย ไม่ได้เป็นเช่นนี้เสมอไป. หลายคนให้ความช่วยเหลือและให้ของขวัญด้วยเจตนาที่ดีแต่ได้รับการสนองตอบด้วยท่าทีไม่สำนึกบุญคุณ จนผู้ให้ที่จริงใจอาจคิดว่า ‘นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่
ฉันจะทำอย่างนั้น!’ บางครั้ง การที่คุณพยายามทักทายฉันมิตรและโบกมือให้เพื่อนบ้านอาจได้การตอบรับแค่การพยักหน้าตอบอย่างไม่เต็มใจ.กระนั้น ในหลายกรณี จริง ๆ แล้วผู้รับก็ใช่ว่าเป็นคนไม่มีมารยาท ถึงแม้มองผิวเผินแล้วอาจดูเหมือนว่าเขาเป็นเช่นนั้น. บางทีภูมิหลังด้านวัฒนธรรมอาจทำให้เขาไม่กล้าแสดงออกหรืออายและทำให้เขาแสดงท่าทีเฉย ๆ มีท่าทางที่ดูเหมือนไม่ค่อยเป็นมิตร. ในอีกด้านหนึ่ง ในโลกที่ไม่สำนึกบุญคุณนี้ บางคนอาจถือว่าไมตรีจิตของคุณเป็นเรื่องผิดปกติ หรืออาจถึงกับสงสัยเจตนาของคุณด้วยซ้ำ. อาจจำเป็นต้องทำให้เขามีความมั่นใจบ้าง. ด้วยเหตุนี้ การสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรอาจต้องใช้เวลาและความอดทน. อย่างไรก็ดี เพื่อนบ้านซึ่งเรียนรู้ศิลปะของการเป็นผู้ให้ที่ดีและผู้รับที่มีมารยาทจะมีส่วนส่งเสริมบรรยากาศที่สงบและมีความสุขในละแวกบ้าน.
เมื่อความยากลำบากเกิดขึ้น
เพื่อนบ้านที่ดีเป็นทรัพย์อันล้ำค่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติ. ระหว่างช่วงที่ยากลำบาก น้ำใจที่แท้จริงของความเป็นเพื่อนบ้านปรากฏชัด. มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับการกระทำอย่างไม่เห็นแก่ตัวของเพื่อนบ้านระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว. โศกนาฏกรรมร่วมกันดูเหมือนทำให้เพื่อนบ้านร่วมมือกันโดยไม่ต้องมีใครมากระตุ้นและทุ่มเทตัวเองเพื่อประโยชน์ของกันและกัน. แม้แต่คนเหล่านั้นที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกันก็มักจะทำงานด้วยกัน.
ตัวอย่างเช่น เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานว่า เมื่อแผ่นดินไหวก่อความเสียหายใหญ่หลวงแก่ประเทศตุรกีในปี 1999 คนที่เคยเป็นศัตรูกันมานานได้แสดงความสามัคคีกันฉันเพื่อนบ้าน. อันนา สแทร์ยีอู นักเขียนคอลัมน์ชาวกรีกได้เขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของกรุงเอเธนส์ว่า “เราถูกสอนให้เกลียดชาวเติร์กมาเป็นเวลาหลายปี. แต่ความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสของพวกเขาไม่ได้ทำให้เรามีความยินดี. เรารู้สึกสะเทือนใจ เราร้องไห้ราวกับว่าความเกลียดชังที่มีมาเนิ่นนานนั้นได้สูญสิ้นไปเมื่อเราเห็นภาพทารกที่ตายแล้วหลายคน.” เมื่อการดำเนินงานช่วยชีวิตได้ยุติลงอย่างเป็นทางการแล้ว ทีมงานผู้ช่วยชีวิตชาวกรีกไม่ยอมเลิกการค้นหาผู้รอดชีวิต.
การมีส่วนร่วมในงานช่วยชีวิตหลังจาก ภัยพิบัติเกิดขึ้นนับว่าเป็นการกระทำฉันเพื่อนบ้านที่กล้าหาญควรแก่การยกย่อง. แม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม การช่วยชีวิตเพื่อนบ้านโดยการเตือนเขาก่อน ความทุกข์ยากเกิดขึ้นอาจถือได้อย่างแน่นอนว่าเป็นการกระทำฉันเพื่อนบ้านที่มีคุณค่ามากกว่าเสียอีก. น่าเสียดาย ประวัติศาสตร์เผยให้เห็นว่าคนเหล่านั้นซึ่งเตือนเพื่อนบ้านเกี่ยวกับภัยพิบัติที่กำลังจะมาถึงมักจะไม่มีใครยินดีต้อนรับ เนื่องจากในช่วงที่มีการเตือนนั้น ภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สังเกตไม่ออกทันที. คนเหล่านั้นที่ประกาศคำเตือนมักพบกับความสงสัย. ใคร ๆ ซึ่งพยายามจะช่วยคนที่ไม่สำนึกถึงสภาพการณ์อันล่อแหลมของตนจึงต้องใช้ความบากบั่นและการเสียสละตัวเองอย่างมาก.
การกระทำฉันเพื่อนบ้านซึ่งสำคัญที่สุด
ปัจจุบัน สิ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่าภัยธรรมชาติมากนักกำลังจะเกิดขึ้นกับมนุษยชาติ. นั่นคือปฏิบัติการของพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการตามที่บอกไว้ล่วงหน้าว่าจะกำจัดอาชญากรรม, ความชั่ว, และปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยนั้นให้หมดไปจากแผ่นดินโลก. (วิวรณ์ 16:16; 21:3, 4) เหตุการณ์อันร้ายแรงนี้ใช่ว่าเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้เล็กน้อย แต่เป็นเรื่องแน่นอน! พยานพระยะโฮวากระตือรือร้น ที่จะแบ่งปันความรู้ที่จำเป็นเพื่อจะรอดผ่านเหตุการณ์สะเทือนโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ให้แก่ผู้คนมากเท่าที่เป็นไปได้. เพราะเหตุนั้น พวกเขาจึงมีส่วนร่วมอย่างไม่ละลดในกิจการงานประกาศซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีตลอดทั่วโลก. (มัดธาย 24:14) พวกเขาทำเช่นนี้ด้วยความเต็มใจ เนื่องจากความรักต่อพระเจ้าและเพื่อนบ้าน.
เพราะฉะนั้น อย่าปล่อยให้อคติหรือความขัดเคืองใจขัดขวางคุณไม่ให้รับฟังเมื่อพวกพยานฯ มาเยี่ยมคุณที่บ้านหรือเข้าไปหาคุณในที่อื่น ๆ. พวกเขากำลังพยายามจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดี. ดังนั้น โปรดตอบรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่พวกเขาเสนอให้คุณ. เรียนรู้วิธีที่พระคำของพระเจ้าทำให้เรามั่นใจว่าอนาคตของการอยู่ร่วมกันอย่างที่เปี่ยมด้วยความยินดีระหว่างเพื่อนบ้านนั้นใกล้เข้ามาแล้ว. ในเวลานั้น การเลือกที่รักมักที่ชังในด้านเชื้อชาติ, ศาสนา, หรือชนชั้นจะไม่ทำลายสัมพันธภาพแบบจริงใจที่พวกเราส่วนใหญ่ปรารถนาอย่างแท้จริงนั้นอีกต่อไป.
[ภาพหน้า 6, 7]
นับว่าดีที่จะแสดงความกรุณาด้วยการกระทำในละแวกบ้านของคุณ
[ที่มาของภาพ]
Globe: Mountain High Maps® Copyright © 1997 Digital Wisdom, Inc.