เพื่อนบ้านหายไปไหนกันหมด?
เพื่อนบ้านหายไปไหนกันหมด?
“สังคมสมัยปัจจุบันไม่ยอมรับว่ามีเพื่อนบ้านอีกต่อไป.”—เบนจามิน ดิสราเอลี รัฐบุรุษอังกฤษในศตวรรษที่ 19.
ชาวคิวบาผู้สูงอายุมีวิธีที่แปลกในการส่งเสริมสวัสดิภาพ นั่นคือ เครือข่ายในละแวกบ้าน หรือ เซอร์คูโลส เด อะบวยโลส (กลุ่มของปู่ย่าตายาย) ตามที่พวกเขาเรียก. ตามรายงานประจำปี 1997 ชาวคิวบาผู้สูงวัยประมาณ 1 ใน 5 คนเป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว ในกลุ่มนั้นพวกเขาได้รับการปลอบโยนและการเกื้อหนุน และได้รับความช่วยเหลือที่ใช้ได้จริงในการรักษารูปแบบชีวิตที่มีสุขภาพดี. วารสารอนามัย-โลก (ภาษาอังกฤษ) ให้ข้อสังเกตว่า “เมื่อใดก็ตามที่แพทย์ประจำครอบครัวในละแวกบ้านต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับการรณรงค์ฉีดวัคซีน เซอร์คูโลส เด อะบวยโลส ก็เป็นแหล่งที่พวกเขาพบทรัพยากรบุคคลซึ่งเต็มใจและมีความสามารถ.”
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องน่าเศร้า ในหลายภูมิภาคของโลก ละแวกบ้านใกล้เคียงไม่มีชุมชนที่เอาใจใส่ดูแลกันเช่นนั้นอีกต่อไป. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณากรณีน่าเศร้าของโวล์ฟกัง เดิร์ก ซึ่งอาศัยอยู่ในอาคารห้องชุดแห่งหนึ่งในยุโรปตะวันตก. ไม่กี่ปีมานี้ เดอะ แคนเบอร์รา ไทมส์ ได้รายงานว่า ถึงแม้ 17 ครอบครัวซึ่งอาศัยอยู่ในอาคารห้องชุดเดียวกันกับโวล์ฟกังได้สังเกตว่าเขาหายหน้าไป แต่ “ก็ไม่มีใครคิดจะกดกริ่งห้องเขา.” ในที่สุด เมื่อเจ้าของอาคารนั้นมาถึง “เขาได้พบโครงกระดูกนั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์.” มีคู่มือแนะนำรายการโทรทัศน์ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 1993 กางอยู่บนตักของโครงกระดูกนั้น. โวล์ฟกังได้เสียชีวิตไปแล้วห้าปี. เป็นหลักฐานน่าเศร้าเสียจริง ๆ ที่แสดงถึงการขาดความสนใจและเอาใจใส่ดูแลกันในระหว่างเพื่อนบ้าน! ไม่น่าแปลกใจที่นักประพันธ์เรื่องสั้นคนหนึ่งได้กล่าวไว้ในวารสารเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ว่า ละแวกบ้านของเขา ได้กลายเป็น “ชุมชนของคนแปลกหน้า” เหมือนกับที่อื่นหลายแห่ง. ละแวกบ้านของคุณเป็นเช่นนี้ด้วยไหม?
เป็นความจริงที่บางชุมชนในชนบทยังคงมีไมตรีจิตแบบจริงใจอยู่และชุมชนเมืองบางแห่งก็กำลังพยายามเพื่อจะมีความห่วงใยมากขึ้นต่อเพื่อนบ้าน. ถึงกระนั้น ผู้อาศัยอยู่ในเมืองหลายคนรู้สึกว่าอยู่โดดเดี่ยวและถูกจู่โจมได้ง่ายในละแวกบ้านของตนเอง. พวกเขาหมดกำลังใจเนื่องจากการไม่คุ้นเคยกับเพื่อนบ้านเป็นอุปสรรค. เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร?
การไม่คุ้นเคยกับเพื่อนบ้านเป็นอุปสรรค
แน่นอน เราส่วนใหญ่มีเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กัน. แสงกะพริบจากจอโทรทัศน์, เงาที่เคลื่อนไหวตรงหน้าต่าง, แสงสว่างจากการเปิดปิดสวิตช์ไฟ, เสียงรถยนต์เข้าออก, เสียงฝีเท้าในทางเดิน, เสียงกุญแจที่ล็อกหรือเปิดประตูล้วนเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าเพื่อนบ้าน “มีชีวิตอยู่.” อย่างไรก็ตาม ความหมายที่แท้จริงใด ๆ ของความเป็นเพื่อนบ้านสูญสิ้นไปเมื่อผู้คนที่อาศัยอยู่ใกล้กันต่างก็เก็บตัวเงียบเนื่องจากการไม่คุ้นเคยกับเพื่อนบ้านเป็นอุปสรรค หรือไม่ก็พวกเขาไม่ใส่ใจกันและกันขณะที่รีบเร่งเนื่องจากรูปแบบชีวิตที่วุ่นวาย. ผู้คนอาจรู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นที่จะไปเกี่ยวข้องกับเพื่อนบ้านหรือมีพันธะต่อพวกเขาในทางใดทางหนึ่ง. หนังสือพิมพ์เฮรัลด์ ซัน ของออสเตรเลียยอมรับว่า “คนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกันแต่ไม่รู้จักกันมีมากขึ้น และด้วยเหตุนี้ ความรู้สึกที่ต้องรับผิดชอบต่อกันเนื่องจากพันธะทางสังคมจึงลดน้อยลง. ปัจจุบันเป็นเรื่องง่ายขึ้นที่จะมองข้ามหรือกีดกันคนที่ไม่ดึงดูดความสนใจของสังคม.”
เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ. ในโลกที่ผู้คนเป็น “คนรักตัวเอง” คนในละแวกบ้านใกล้เคียงกำลังเก็บเกี่ยวผลจากรูปแบบชีวิตที่มุ่งแต่ตัวเองของผู้คน. (2 ติโมเธียว 3:2) ผลก็คือความว้าเหว่ และความห่างเหินมีอยู่ทั่วไป. ความห่างเหินทำให้เกิดความระแวงต่อกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความรุนแรงและอาชญากรรมมีอยู่ทั่วไปในละแวกบ้าน. ครั้นแล้ว ความระแวงกันก็จะยับยั้งความเมตตาสงสารที่มนุษย์เคยมี.
ไม่ว่าสภาพการณ์ในละแวกบ้านคุณเป็นเช่นไรก็ตาม คุณคงจะเห็นพ้องด้วยอย่างแน่นอนว่า เพื่อนบ้านที่ดีย่อมเป็นประโยชน์ต่อชุมชน. มีการบรรลุผลสำเร็จมากมายเมื่อผู้คนมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน. เพื่อนบ้านที่ดีอาจก่อผลที่น่ายินดีด้วย. บทความต่อไปจะแสดงว่าเรื่องนี้เป็นไปได้อย่างไร.