“ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนั้น”
“ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนั้น”
“คนทั้งปวงก็กล่าวชมเชยพระองค์และประหลาดใจด้วยถ้อยคำอันประกอบด้วยคุณซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์.”—ลูกา 4:22, ฉบับแปลใหม่.
1, 2. (ก) เหตุใดพวกเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งไปจับกุมพระเยซูจึงกลับมามือเปล่า? (ข) อะไรแสดงว่าไม่เพียงแต่พวกเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่ประทับใจการสอนของพระเยซู?
พวกเจ้าหน้าที่ล้มเหลวในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย. พวกเขาถูกส่งไปจับกุมพระเยซูคริสต์ แต่พวกเขากลับมามือเปล่า. พวกหัวหน้าปุโรหิตและพวกฟาริซายเรียกถามเหตุผลว่า “ทำไมจึงไม่ได้พาเขามา?” อันที่จริง ทำไมพวกเจ้าหน้าที่ไม่ได้จับกุมชายซึ่งจะไม่ต่อสู้ขัดขืนด้วยซ้ำ? พวกเจ้าหน้าที่อธิบายว่า “ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนั้น.” พวกเขาประทับใจการสอนของพระเยซูถึงขนาดที่พวกเขาไม่อาจฝืนใจตัวเองให้เข้าจับกุมชายที่รักสงบผู้นี้ได้. *—โยฮัน 7:32, 45, 46.
2 ไม่เพียงเจ้าหน้าที่เหล่านี้เท่านั้นที่ประทับใจการสอนของพระเยซู. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าประชาชนจำนวนมากมายพากันมาฟังคำตรัสของพระองค์. ประชาชนในเมืองที่พระองค์ทรงเจริญวัยนั้นรู้สึกประหลาดใจ “ด้วยถ้อยคำอันประกอบด้วยคุณซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์.” (ลูกา 4:22) มากกว่าหนึ่งครั้งที่พระองค์ตรัสจากเรือแก่ชนกลุ่มใหญ่บนชายฝั่งทะเลแกลิลี [ฆาลิลาย]. (มาระโก 3:9; 4:1; ลูกา 5:1-3) ในโอกาสหนึ่ง “ฝูงชนกลุ่มใหญ่” ค้างอยู่กับพระองค์หลายวัน ทั้งที่ไม่มีอาหารจะกิน.—มาระโก 8:1, 2, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย.
3. อะไรคือเหตุผลหลักที่ทำให้พระเยซูเป็นครูที่โดดเด่น?
3 อะไรทำให้พระเยซูเป็นครูที่โดดเด่น? ความรักเป็นเหตุผลหลัก. * พระเยซูทรงรักความจริงที่พระองค์ถ่ายทอด และพระองค์ทรงรักผู้คนที่พระองค์สอน. แต่พระเยซูยังมีความสามารถพิเศษในการใช้วิธีสอนที่บังเกิดผลอีกด้วย. ในบทความศึกษาทั้งหมดที่มีในฉบับนี้ เราจะพิจารณาบางวิธีที่พระเยซูทรงใช้อย่างบังเกิดผลและพิจารณาว่าเราจะเลียนแบบวิธีเหล่านั้นได้อย่างไร.
ใช้ถ้อยคำที่เรียบง่ายและชัดเจน
4, 5. (ก) ทำไมพระเยซูใช้ภาษาที่เรียบง่ายในการสอน และมีอะไรที่น่าสังเกตจากการที่พระองค์ทรงทำเช่นนั้น? (ข) คำเทศน์บนภูเขาเป็นตัวอย่างของการใช้ถ้อยคำที่เรียบง่ายในการสอนของพระเยซูอย่างไร?
4 ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนมีการศึกษาดีจะใช้ภาษาที่ยากเกินกว่าผู้ฟังของเขาจะเข้าใจได้. แต่ถ้าคนอื่นไม่เข้าใจในสิ่งที่เราพูด พวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากความรู้ของเรา? ในฐานะครู พระเยซูไม่เคยใช้ภาษาที่ยากเกินกว่าที่คนอื่นจะเข้าใจ. ลองจินตนาการว่าพระเยซูอาจรู้คำศัพท์มากขนาดไหนที่จะนำมาใช้ได้. แม้พระองค์มีความรู้มากมาย แต่พระองค์คิดถึงผู้ฟัง ไม่ใช่ตัวพระองค์เอง. พระองค์ทราบว่าผู้ฟังหลายคน “ขาดการศึกษาและเป็นคนสามัญ.” (กิจการ 4:13, ฉบับแปลใหม่) เมื่อสนทนากับพวกเขา พระเยซูใช้ภาษาที่คนเช่นนั้นเข้าใจได้. ถ้อยคำที่ใช้อาจเรียบง่าย แต่ความจริงที่ถ่ายทอดผ่านถ้อยคำเหล่านั้นล้ำลึก.
5 เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาคำเทศน์บนภูเขาซึ่งบันทึกไว้ที่มัดธาย 5:3–7:27. พระเยซูอาจใช้เวลาให้คำ เทศน์นี้เพียง 20 นาที. กระนั้น คำเทศน์นี้บรรจุคำสอนที่ลึกซึ้ง เข้าถึงแก่นแท้ของเรื่องต่าง ๆ อย่างเช่น การเล่นชู้, การหย่า, การนิยมวัตถุ. (มัดธาย 5:27-32; 6:19-34) อย่างไรก็ตาม ไม่มีการใช้สำนวนภาษาที่เลิศลอยหรือสลับซับซ้อน. แท้ที่จริง แทบไม่มีสักคำเดียวที่แม้แต่เด็กเล็กจะไม่สามารถเข้าใจได้ในทันที! จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากจบคำเทศน์แล้ว ประชาชนทั้งปวงที่ได้ฟัง ซึ่งคงรวมทั้งชาวนา, คนเลี้ยงแกะ, และชาวประมง ก็ “อัศจรรย์ใจด้วยคำสั่งสอนของพระองค์”!—มัดธาย 7:28.
6. จงให้ตัวอย่างที่แสดงว่าถ้อยคำของพระเยซูเรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยความหมาย.
6 บ่อยครั้งโดยการใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนไม่กี่คำ พระเยซูกล่าวถ้อยคำที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมด้วยความหมาย. โดยการทำอย่างนั้น พระเยซูประทับคำสอนลงในจิตใจและหัวใจของผู้ที่ฟังอย่างที่ไม่มีวันลืมเลือน. ขอให้สังเกตบางตัวอย่างต่อไปนี้: “ไม่มีคนใดปรนนิบัตินายสองนายได้ .. . ท่านจะปฏิบัติพระเจ้าและจะปฏิบัติเงินทองด้วยก็ไม่ได้.” “อย่ากล่าวโทษเขา, เพื่อเขาจะไม่กล่าวโทษท่าน.” “ท่านจะรู้จักเขาได้เพราะผลของเขา.” “คนปกติไม่ต้องการหมอ, แต่คนเจ็บต้องการหมอ.” “บรรดาผู้ถือดาบจะต้องพินาศเพราะดาบ.” “ของของกายะซาจงถวายแก่กายะซา, และของของพระเจ้า จงถวายแก่พระเจ้า.” “การให้เป็นเหตุให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.” * (มัดธาย 6:24; 7:1, 20; 9:12; 26:52; มาระโก 12:17; กิจการ 20:35) จนถึงทุกวันนี้ เกือบ 2,000 ปีมาแล้วนับจากเวลาที่พระเยซูได้ตรัสถ้อยคำเหล่านั้นไว้ แต่คำตรัสที่ทรงพลังของพระองค์ยังคงจำกันได้ง่าย.
ใช้คำถาม
7. ทำไมพระเยซูถึงใช้คำถาม?
7 พระเยซูใช้คำถามได้อย่างน่าทึ่ง. พระองค์มักใช้คำถามบ่อย ๆ แม้ว่าจะใช้เวลาน้อยกว่าถ้าหากเพียงบอกจุดสำคัญนั้นแก่ผู้ฟังไปตรง ๆ. ถ้าอย่างนั้น ทำไมพระองค์ถึงใช้คำถาม? บางครั้ง พระองค์ใช้คำถามที่เจาะลึกเพื่อเปิดโปงเจตนาของผู้ต่อต้าน ด้วยเหตุนั้นจึงทำให้พวกเขาต้องเงียบเสียง. (มัดธาย 12:24-30; 21:23-27; 22:41-46) อย่างไรก็ตาม มีหลายครั้งที่พระเยซูใช้เวลาถามคำถาม เพื่อถ่ายทอดความจริง ให้ผู้ที่ฟังพระองค์เผยสิ่งที่อยู่ในใจพวกเขา และเพื่อกระตุ้นและฝึกหัดเหล่าสาวกให้ใช้ความคิด. ขอให้เราพิจารณาสองตัวอย่าง ซึ่งทั้งสองเกี่ยวข้องกับอัครสาวกเปโตร.
8, 9. พระเยซูทรงใช้คำถามอย่างไรเพื่อช่วยเปโตรให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องในเรื่องการจ่ายภาษีบำรุงพระวิหาร?
8 ตัวอย่างแรก ขอให้นึกถึงเหตุการณ์ที่คนเก็บภาษีถามเปโตรว่าพระเยซูจ่ายภาษีบำรุงพระวิหารหรือไม่. * เปโตรซึ่งหลายครั้งทำอะไรอย่างหุนหันพลันแล่นก็ตอบไปว่า “เสีย.” อย่างไรก็ตาม ไม่นานหลังจากนั้น พระเยซูทรงหาเหตุผลกับเปโตรดังนี้: “ ‘ซีโมนเอ๋ย, ท่านเห็นอย่างไร? กษัตริย์เคยเก็บส่วยและภาษีจากผู้ใด, จากโอรสหรือจากผู้อื่น?’ เมื่อเปโตรทูลตอบว่า, ‘เคยเก็บจากผู้อื่น’ พระเยซูจึงตรัสแก่เขาว่า, ‘ถ้าเช่นนั้นโอรสก็ไม่ต้องเสีย.’” (มัดธาย 17:24-27) เปโตรน่าจะเข้าใจจุดสำคัญแห่งคำถามของพระเยซูได้ไม่ยาก. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
9 ในสมัยพระเยซู เป็นที่ทราบกันว่าเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ได้รับการยกเว้นภาษี. ดังนั้น เนื่องจากเป็นโอรสผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของกษัตริย์ในสวรรค์ผู้ได้รับการนมัสการ ณ พระวิหาร พระเยซูจึงไม่น่าจะต้องจ่ายภาษีบำรุงพระวิหาร. โปรดสังเกตว่าแทนที่พระเยซูจะเพียงบอกคำตอบที่ถูกต้องแก่เปโตรเลย พระเยซูทรงใช้คำถามอย่างบังเกิดผลและกรุณาเพื่อช่วยเปโตรให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้อง และอาจช่วยเปโตรเห็นความจำเป็นที่จะคิดให้รอบคอบมากขึ้นก่อนพูด.
10, 11. พระเยซูมีปฏิกิริยาเช่นไรเมื่อเปโตรฟันหูชายคนหนึ่งขาดในคืนวันปัศคา ปี ส.ศ. 33 และเรื่องนี้แสดงอย่างไรว่าพระเยซูทรงเห็นความสำคัญของการใช้คำถาม?
10 ตัวอย่างที่สองเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันปัศคา ปี ส.ศ. 33 เมื่อฝูงชนมารุมจับพระเยซู. พวกสาวกถามพระเยซูว่าพวกเขาควรต่อสู้เพื่อปกป้องพระองค์หรือไม่. (ลูกา 22:49) โดยไม่รอคำตอบ เปโตรเอาดาบฟันหูชายคนหนึ่งขาด (แม้ว่าเปโตรคงตั้งใจจะให้เกิดอันตรายบาดเจ็บกว่านั้น). เปโตรกระทำสิ่งที่ตรงข้ามกับความประสงค์ของผู้เป็นนายของตน เนื่องจากพระเยซูเองทรงพร้อมที่จะให้จับกุมพระองค์. พระเยซูมีปฏิกิริยาเช่นไร? พระองค์ทรงอดทนเช่นเคยและถามเปโตรสามคำถาม: “จอกซึ่งพระบิดาของเราทรงประทานแก่เรา ๆ จะไม่ดื่มหรือ?” “ท่านถือว่าเราจะขอพระบิดาของเรา, และในประเดี๋ยวเดียวพระองค์จะทรงประทานทูตสวรรค์แก่เรากว่าสิบสองกองไม่ได้หรือ? ถ้าอย่างนั้นคำที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ว่า จำจะต้องเป็นอย่างนั้น จะสำเร็จอย่างไรได้?”—โยฮัน 18:11; มัดธาย 26:52-54.
11 ขอให้ไตร่ตรองเรื่องนั้นสักครู่หนึ่ง. พระเยซูซึ่งถูกฝูงชนที่โกรธแค้นรุมล้อมทรงทราบว่าการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ใกล้จะถึงแล้ว และพระองค์ทราบว่าความรับผิดชอบในการทำให้พระนามพระบิดาของพระองค์พ้นจากข้อกล่าวหาและความรอดสำหรับครอบครัวมนุษย์นั้นตกอยู่กับพระองค์. ถึงกระนั้น พระองค์ยังใช้เวลาชั่วขณะนั้นเพื่อประทับความจริงต่าง ๆ ที่สำคัญลงในจิตใจของเปโตรด้วยการตั้งคำถาม. เห็นได้ชัดมิใช่หรือว่าพระเยซูทรงเห็นความสำคัญของการใช้คำถาม?
ใช้อติพจน์เพื่อให้เห็นภาพชัด
12, 13. (ก) อติพจน์คืออะไร? (ข) พระเยซูทรงใช้อติพจน์อย่างไรเพื่อเน้นถึงความโฉดเขลาที่จะวิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพี่น้องของเรา?
12 ในงานรับใช้ของพระเยซู บ่อยครั้งที่พระองค์ใช้วิธีการสอนอีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ นั่นคืออติพจน์. อติพจน์เป็นข้อความที่ตั้งใจกล่าวให้เกินจริงสำหรับเน้นความ. พระเยซูใช้อติพจน์เพื่อทำให้เกิดภาพในใจที่ยากจะลืมเลือน. ขอให้เราพิจารณาบางตัวอย่าง.
13 ในคำเทศน์บนภูเขา เมื่อเน้นถึงความจำเป็นที่จะไม่ “กล่าวโทษ” ผู้อื่น พระเยซูตรัสว่า “เหตุไฉนท่านมองดูผงที่ในตาพี่น้องของท่าน, แต่ไม้ทั้งท่อน [“ไม้จันทัน,” ล.ม.] ที่อยู่ในตาของท่าน ท่านก็ไม่รู้สึก?” (มัดธาย 7:1-3) คุณนึกภาพออกไหม? คนที่มีแนวโน้มชอบวิพากษ์วิจารณ์เสนอจะเขี่ยเอาผงออกจาก “ตา” ของพี่น้อง. คนชอบวิพากษ์วิจารณ์อ้างว่าพี่น้องของเขามองเห็นไม่ชัดพอจะวินิจฉัยเรื่องราวได้ดี. แต่ความสามารถในการวินิจฉัยของตัวผู้วิพากษ์วิจารณ์เองนั้นบกพร่องไปเนื่องจาก “ไม้จันทัน” ซึ่งอาจเป็นซุงหรือคานไม้ที่ใช้รองรับหลังคา. ช่างเป็นวิธีที่ยากจะลืมเลือนจริง ๆ เพื่อเน้นว่าเป็นความโฉดเขลาสักเพียงไรที่จะวิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพี่น้องของเราทั้งที่เราเองอาจมีข้อบกพร่องที่ใหญ่โต!
14. เหตุใดคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับการกรองตัวริ้นและกลืนตัวอูฐจึงเป็นอติพจน์ที่มีพลังเป็นพิเศษ?
14 ในอีกโอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงประณามพวกฟาริซายเป็น “คนนำทางตาบอดที่กรองลูกน้ำ [“ริ้น,” ล.ม.] ออกแต่กลืนตัวอูฐเข้าไป.” (มัดธาย 23:24) คำตรัสนี้เป็นการใช้อติพจน์ได้อย่างมีพลังเป็นพิเศษ. เพราะเหตุใด? เพราะเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างที่น่าประทับใจระหว่างริ้นตัวน้อยนิดกับอูฐที่เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ผู้ฟังของพระเยซูรู้จัก. มีการกะประมาณว่าต้องใช้ริ้น 70 ล้านตัวเพื่อจะมีน้ำหนักเท่ากับอูฐขนาดปานกลางหนึ่งตัว! พระเยซูทรงทราบด้วยว่าพวกฟาริซายใช้ผ้ากรองเหล้าองุ่นที่พวกเขาดื่ม. คนเหล่านี้ที่เคร่งครัดในกฎหยุมหยิมกรองเหล้าองุ่นเพื่อจะไม่กลืนตัวริ้นเข้าไปซึ่งจะทำให้พวกเขาเป็นมลทินทางพิธีกรรม. แต่ในความหมายเชิงเปรียบเทียบ พวกเขาได้กลืนอูฐซึ่งเป็นสัตว์ที่ทำให้เป็นมลทินเช่นกัน. (เลวีติโก 11:4, 21-24) จุดสำคัญที่พระเยซูชี้ให้เห็นนั้นชัดเจน. พวกฟาริซายพิถีพิถันในการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องปลีกย่อยของพระบัญญัติ แต่พวกเขากลับละเลยข้อที่สำคัญกว่าคือ “ความชอบธรรม ความเมตตา ความเชื่อ.” (มัดธาย 23:23) พระเยซูช่างเปิดโปงให้เห็นภาพชัดจริง ๆ ว่าแท้จริงแล้วพวกเขาเป็นคนเช่นไร!
15. พระเยซูทรงใช้อติพจน์เพื่อสอนบทเรียนอะไรบ้าง?
15 ตลอดงานรับใช้ของพระเยซู พระองค์ทรงใช้อติพจน์บ่อย ๆ. ขอให้พิจารณาบางตัวอย่าง. “ความเชื่อเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด [เล็ก ๆ] เมล็ดหนึ่ง” ที่สามารถเคลื่อนย้ายภูเขา พระเยซูคงไม่อาจหาวิธีอะไรที่บังเกิดผลได้มากกว่านี้อีกแล้วเพื่อเน้นว่าแม้ความเชื่อเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้มากมาย. (มัดธาย 17:20) ตัวอูฐขนาดใหญ่ที่พยายามเบียดตัวลอดผ่านรูเข็มนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีจริง ๆ เพื่อเทียบให้เห็นว่าคนมั่งมีที่พยายามรับใช้พระเจ้าขณะที่รักษารูปแบบชีวิตนิยมวัตถุไว้นั้นประสบความยุ่งยากสักเพียงไร! (มัดธาย 19:24) คุณรู้สึกทึ่งความสามารถของพระเยซูในการใช้ภาพพจน์อันแจ่มชัดและการใช้ถ้อยคำน้อยที่สุดเพื่อบรรลุผลมากที่สุดไม่ใช่หรือ?
ใช้การหาเหตุผลที่ไม่มีใครโต้แย้งได้
16. พระเยซูทรงใช้ความสามารถในการคิดที่หลักแหลมของพระองค์ในทางใดเสมอ?
16 เนื่องจากพระเยซูทรงสมบูรณ์ทางความคิด พระองค์จึงเชี่ยวชาญในการหาเหตุผลกับผู้อื่น. กระนั้น พระองค์ไม่เคยใช้ความสามารถนี้อย่างผิด ๆ. เมื่อพระองค์ทรงสั่งสอน พระองค์ทรงใช้ความสามารถในการคิดที่หลักแหลมของพระองค์เพื่อส่งเสริมความจริง. บางครั้งบางคราว พระเยซูทรงใช้การหาเหตุผลที่มีพลังเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาเท็จของพวกผู้ต่อต้านทางศาสนา. ในหลายกรณี พระเยซูใช้การหาเหตุผลเพื่อสอนบทเรียนสำคัญแก่เหล่าสาวก. ขอให้เรามาพิจารณาความสามารถในการหาเหตุผลอย่างเชี่ยวชาญของพระเยซู.
17, 18. การหาเหตุผลที่มีพลังอะไรที่พระเยซูทรงใช้เพื่อหักล้างข้อกล่าวหาเท็จของพวกฟาริซาย?
17 ขอให้พิจารณาคราวที่พระเยซูรักษาชายตาบอดและมัดธาย 12:22-26) ที่จริง คำตรัสของพระเยซูก็เหมือนกับบอกว่า ‘ถ้าเราเป็นตัวแทนของซาตานอย่างที่พวกท่านกล่าว และเราลบล้างกิจการที่ซาตานได้ทำไว้ ถ้าอย่างนั้น ซาตานก็คงจะทำสิ่งที่ขัดกับผลประโยชน์ของตัวเองและมันจะล้มลงในไม่ช้า.’ นั่นเป็นการหาเหตุผลที่มีพลังมิใช่หรือ?
เป็นใบ้ที่มีผีสิง. เมื่อพวกฟาริซายได้ยินเรื่องนั้นก็พูดกันว่า “ผู้นี้ขับผีออกได้ก็เพราะใช้ฤทธิ์เบละซะบูล [ซาตาน] นายผีทั้งหลายนั้น.” ขอให้สังเกตว่าพวกฟาริซายยอมรับว่าต้องมีฤทธิ์อำนาจเหนือมนุษย์เพื่อจะขับผีปิศาจซึ่งเป็นบริวารของซาตาน. อย่างไรก็ตาม เพื่อจะกีดกันประชาชนไม่ให้เชื่อถือพระเยซู พวกเขาบอกว่าฤทธิ์อำนาจของพระองค์มาจากซาตาน. เพื่อชี้ให้เห็นว่าข้อโต้แย้งของพวกเขาไม่ได้ผ่านการพิจารณาหาเหตุผลอย่างถี่ถ้วนก่อนจะสรุป พระเยซูจึงตอบกลับว่า “แผ่นดินใด ๆ ซึ่งแตกแยกกันแล้วก็คงพินาศ เมืองใด ๆ เรือนใด ๆ ซึ่งแตกแยกกันแล้วจะยั่งยืนอยู่ไม่ได้. และถ้าซาตานขับซาตานออก, มันก็แก่งแย่งกันระหว่างมันเอง แล้วแผ่นดินของมันจะยั่งยืนอย่างไรได้?” (18 จากนั้น พระเยซูทรงหาเหตุผลต่อไปในเรื่องนี้. พระองค์ทราบว่าศิษย์บางคนของพวกฟาริซายเคยขับผีออก. ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงถามคำถามง่าย ๆ แต่ทำให้จนมุมว่า “ถ้าเราเคยขับผีออกโดยเบละซะบูล, พวกพ้อง [หรือศิษย์] ของท่านทั้งหลายเคยขับมันออกโดยฤทธิ์ของใครเล่า?” (มัดธาย 12:27) ความหมายของการอ้างเหตุผลของพระเยซูก็คือ ‘ถ้าเราขับผีออกด้วยอำนาจของซาตานจริง ๆ ศิษย์ของท่านเองก็ต้องขับผีออกด้วยอำนาจของซาตานเช่นกัน.’ พวกฟาริซายจะพูดอะไรได้อีก? พวกเขาไม่มีวันจะยอมรับว่าพวกศิษย์ของตนกระทำกิจอยู่ใต้อำนาจซาตานเป็นอันขาด. โดยการหาเหตุผลที่ไม่มีใครโต้แย้งได้ พระเยซูทำให้ข้อกล่าวหาของพวกเขาเป็นเรื่องไร้เหตุผลสิ้นดี.
19, 20. (ก) พระเยซูทรงใช้การหาเหตุผลในทางบวกอย่างไร? (ข) พระเยซูทรงหาเหตุผลโดยอาศัยแนว ‘ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด’ อย่างไรเมื่อตอบคำขอของเหล่าสาวกที่ให้สอนวิธีอธิษฐานแก่พวกเขา?
19 นอกจากใช้การหาเหตุผลเพื่อทำให้พวกผู้ต่อต้านพระองค์ต้องเงียบเสียงแล้ว พระเยซูยังใช้การหาเหตุผลที่มีพลังโน้มน้าวเพื่อสอนความจริงในเชิงหนุนใจและทำให้อบอุ่นใจเกี่ยวกับพระยะโฮวาด้วย. หลายครั้ง พระองค์ทรงหาเหตุผลโดยอาศัยแนวที่เรียกว่า ‘ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด’ เพื่อช่วยผู้ฟังของพระองค์ให้ก้าวหน้าจากความจริงที่พวกเขาคุ้นเคยดีอยู่แล้วไปสู่ความเชื่อมั่นที่มากยิ่งขึ้น. ขอให้เราพิจารณาสักสองตัวอย่าง.
20 เมื่อตอบคำขอของเหล่าสาวกที่ให้สอนวิธีอธิษฐานแก่พวกเขา พระเยซูทรงเล่าอุทาหรณ์เรื่องชายคนหนึ่งที่ “วิงวอนมาก” จนเพื่อนที่ไม่เต็มใจยอมทำตามที่เขาขอในที่สุด. พระเยซูยังพรรณนาถึงความเต็มใจของบิดาในการ “ให้ของดี” แก่บุตรของตน. แล้วพระองค์สรุปเรื่องว่า “ถ้าท่านเองผู้เป็นคนบาปยังรู้จักให้ของดีแก่บุตรของตน, ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนทั้งปวงที่ขอจากพระองค์.” (ลูกา 11:1-13) พระเยซูไม่ได้เสนอจุดสำคัญโดยอาศัยความคล้ายคลึง แต่อาศัยความแตกต่าง. หากเพื่อนที่ไม่เต็มใจก็ยังยอมทำตามที่เพื่อนบ้านขอในที่สุด และบิดาที่เป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ยังดูแลให้บุตรของตนได้รับสิ่งที่จำเป็น ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด พระบิดาฝ่ายสวรรค์ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยความรักของเราจะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้แก่ผู้รับใช้ที่ภักดีซึ่งอธิษฐานขอจากพระองค์ด้วยความถ่อมใจ!
21, 22. (ก) พระเยซูทรงหาเหตุผลเช่นไรเมื่อให้คำแนะนำถึงวิธีจัดการกับความกังวลในเรื่องสิ่งฝ่ายวัตถุ? (ข) หลังจากทบทวนวิธีการสอนบางอย่างของพระเยซู เราลงความเห็นเช่นไร?
21 พระเยซูทรงใช้การหาเหตุผลที่คล้ายคลึงกันเมื่อให้คำลูกา 12:24, 27, 28) ถูกแล้ว ถ้าพระยะโฮวาทรงดูแลนกและดอกไม้ มากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดที่พระองค์จะดูแลผู้รับใช้ของพระองค์! ไม่มีข้อสงสัยว่าการหาเหตุผลที่นุ่มนวลทว่ามีพลังเช่นนั้นย่อมกระทบหัวใจผู้ฟังของพระเยซูอย่างแน่นอน.
แนะนำถึงวิธีจัดการกับความกังวลในเรื่องสิ่งฝ่ายวัตถุ. พระองค์ตรัสว่า “จงพิจารณาดูฝูงกา มันมิได้หว่านมิได้เกี่ยวและมิได้มียุ้งฉาง แต่พระเจ้ายังทรงเลี้ยงมันไว้ ท่านทั้งหลายประเสริฐกว่า ฝูงนกมากเท่าใด. จงดูดอกไม้ มันงอกขึ้นอย่างไร มันไม่ทำงาน มันไม่ปั่นด้ายเหนื่อย . . . แม้ว่าพระเจ้าทรงตกแต่งหญ้าที่ทุ่งนาอย่างนั้น, ซึ่งเป็นอยู่วันนี้และรุ่งขึ้นต้องทิ้งในเตาไฟ. โอ ผู้ที่มีความเชื่อน้อย, พระองค์จะทรงตกแต่งพวกท่านมากยิ่งกว่านั้นสักเท่าใด?” (22 หลังจากทบทวนวิธีการสอนบางอย่างของพระเยซู เราลงความเห็นได้ไม่ยากว่าเจ้าหน้าที่ที่ล้มเหลวในการจับกุมพระองค์นั้นไม่พูดเกินจริงเลยที่พวกเขากล่าวว่า “ไม่เคยมีผู้ใดพูดเหมือนคนนั้น.” แต่วิธีการสอนของพระเยซูซึ่งอาจเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดก็คือการใช้อุทาหรณ์หรือเรื่องสอนใจ. ทำไมพระเยซูทรงใช้วิธีนี้? และอะไรทำให้อุทาหรณ์ของพระองค์มีประสิทธิภาพ? จะมีการพิจารณาคำถามเหล่านี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 1 เจ้าหน้าที่เหล่านี้คงเป็นตัวแทนของศาลซันเฮดรินและอยู่ใต้อำนาจพวกหัวหน้าปุโรหิต.
^ วรรค 3 ดูบทความ “เราได้วางแบบอย่างให้แก่ท่านทั้งหลายแล้ว” และ “จงติดตามเราเรื่อยไป” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 สิงหาคม 2002.
^ วรรค 6 ข้อความสุดท้ายที่ตัดทอนมานี้ยกมาจากพระธรรมกิจการ 20:35 ซึ่งมีแต่อัครสาวกเปาโลเท่านั้นที่ยกมากล่าว แม้ว่าความหมายของถ้อยคำนี้บ่งว่าพบในพระธรรมกิตติคุณ. เปาโลอาจได้รับทราบข้อความนี้โดยทางวาจา (จากสาวกคนที่ได้ยินพระเยซูตรัสข้อนี้หรือจากพระเยซูผู้คืนพระชนม์) หรือโดยการเปิดเผยจากพระเจ้า.—กิจการ 22:6-15; 1 โกรินโธ 15:6, 8.
^ วรรค 8 มีข้อเรียกร้องให้ชาวยิวจ่ายภาษีบำรุงพระวิหารประจำปีเป็นจำนวนสองแดร็กมา (ประมาณค่าจ้างแรงงานสองวัน). เงินภาษีนี้นำไปใช้เป็นค่าบำรุงรักษาพระวิหาร, งานรับใช้ที่ทำกันที่นั่น, และการถวายเครื่องบูชาประจำวันที่ทำเพื่อประโยชน์ของคนทั้งชาติ.
คุณจำได้ไหม?
• ตัวอย่างอะไรที่แสดงว่าพระเยซูทรงสอนโดยใช้ถ้อยคำที่เรียบง่ายและชัดเจน?
• ทำไมพระเยซูทรงใช้คำถามในการสอนของพระองค์?
• อติพจน์คืออะไร และพระเยซูทรงใช้วิธีการสอนนี้อย่างไร?
• พระเยซูทรงใช้การหาเหตุผลเพื่อสอนความจริงที่ทำให้อุ่นใจเกี่ยวกับพระยะโฮวาแก่เหล่าสาวกอย่างไร?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 9]
พระเยซูทรงใช้ภาษาง่าย ๆ ที่คนธรรมดาสามัญเข้าใจได้
[ภาพหน้า 10]
พวกฟาริซาย ‘กรองตัวริ้นแต่กลืนตัวอูฐ’