ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“เซปตัวจินต์” เป็นประโยชน์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

“เซปตัวจินต์” เป็นประโยชน์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

“เซปตัวจินต์” เป็น​ประโยชน์​ทั้ง​ใน​อดีต​และ​ปัจจุบัน

ชาย​ผู้​ทรง​อิทธิพล​คน​หนึ่ง​จาก​เอธิโอเปีย​กำลัง​เดิน​ทาง​กลับ​บ้าน​จาก​กรุง​เยรูซาเลม. ขณะ​เดิน​ทาง​ผ่าน​ทาง​ทุรกันดาร เขา​นั่ง​อ่าน​ออก​เสียง​ม้วน​หนังสือ​ทาง​ศาสนา​ม้วน​หนึ่ง​อยู่​บน​รถ​ม้า​ของ​เขา. คำ​อธิบาย​ถ้อย​คำ​ที่​เขา​ได้​อ่าน​นั้น​ส่ง​ผล​กระทบ​ต่อ​เขา​อย่าง​มาก​จน​ชีวิต​ของ​เขา​เปลี่ยน​แปลง​ไป​นับ​จาก​นั้น. (กิจการ 8:26-38) ชาย​ผู้​นั้น​ได้​อ่าน​ยะซายา 53:7, 8 จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​แรก​สุด นั่น​คือ เซปตัวจินต์ ใน​ภาษา​กรีก. งาน​แปล​ชิ้น​นี้​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การแพร่​กระจาย​ข่าวสาร​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ตลอด​หลาย​ศตวรรษ​จน​ถูก​ขนาน​นาม​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ที่​เปลี่ยน​โลก.

เมื่อ​ไร​และ​ภาย​ใต้​สภาพการณ์​ใด​ที่​ฉบับ​เซปตัวจินต์ ถูก​จัด​ทำ​ขึ้น? ทำไม​มี​ความ​จำเป็น​ต้อง​จัด​ทำ​ฉบับ​แปล​นี้? ฉบับ​แปล​นี้​ได้​ปรากฏ​ว่า​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ไร​ตลอด​หลาย​ศตวรรษ? มี​อะไร​บ้าง​ไหม​ที่​เรา​จะ​เรียน​ได้​จาก​เซปตัวจินต์ ใน​ทุก​วัน​นี้?

จัด​ทำ​ขึ้น​เพื่อ​ชาว​ยิว​ที่​พูด​ภาษา​กรีก

ใน​ปี 332 ก่อน ส.ศ. เมื่อ​อะเล็กซานเดอร์​มหาราช​เคลื่อน​ทัพ​เข้า​ไป​ใน​อียิปต์​หลัง​จาก​ทำลาย​เมือง​ไทร์ (ตุโร) ของ​ชาว​ฟินิเซีย พระองค์​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​ใน​ฐานะ​ผู้​ปลด​ปล่อย. ที่​นั่น พระองค์​สร้าง​เมือง​อะเล็กซานเดรีย ซึ่ง​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​ทาง​การ​ศึกษา​แห่ง​หนึ่ง​ของ​โลก​สมัย​โบราณ. เนื่อง​จาก​ปรารถนา​จะ​แพร่​วัฒนธรรม​กรีก​ไป​สู่​ประชาชน​ที่​อาศัย​ใน​ดินแดน​ที่​พระองค์​พิชิต​ได้ อะเล็กซานเดอร์​เริ่ม​ทำ​ให้​ภาษา​กรีก​แบบ​สามัญ (คีนี) เป็น​ภาษา​ที่​ใช้​กัน​ทั่ว​อาณาจักร​อัน​กว้าง​ใหญ่​ไพศาล​ของ​พระองค์.

ใน​ศตวรรษ​ที่​สาม​ก่อน ส.ศ. เมือง​อะเล็กซานเดรีย​ได้​กลาย​เป็น​แหล่ง​ชุมชน​ขนาด​ใหญ่​แห่ง​หนึ่ง​ของ​ชาว​ยิว. หลัง​จาก​กลับ​จาก​ถูก​เนรเทศ​ไป​บาบิโลน ชาว​ยิว​จำนวน​มาก​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ตาม​นิคม​ต่าง ๆ ที่​กระจัด​กระจาย​อยู่​นอก​เขต​ปาเลสไตน์​ได้​ย้าย​ถิ่น​ฐาน​ไป​ยัง​เมือง​อะเล็กซานเดรีย. ชาว​ยิว​เหล่า​นี้​รู้​ภาษา​ฮีบรู​ดี​แค่​ไหน? สารานุกรม ของ​แมกคลินทอก​และ​สตรองก์​กล่าว​ดัง​นี้: “เป็น​ที่​ทราบ​กัน​ดี​ว่า ชาว​ยิว​ที่​กลับ​จาก​การ​เป็น​เชลย​ใน​บาบิโลน​ได้​สูญ​เสีย​ความ​รู้​จัก​คุ้น​เคย​ภาษา​ฮีบรู​โบราณ​ไป​มาก การ​อ่าน​ม้วน​หนังสือ​ของ​โมเซ​ใน​ธรรมศาลา​ใน​ปาเลสไตน์​มี​การ​อธิบาย​แก่​พวก​เขา​เป็น​ภาษา​แคลเดีย . . . ชาว​ยิว​ใน​เมือง​อะเล็กซานเดรีย​คง​จะ​ยิ่ง​รู้​ภาษา​ฮีบรู​น้อย​กว่า; ภาษา​ที่​พวก​เขา​คุ้น​เคย​คือ ภาษา​กรีก​ที่​ใช้​ใน​อะเล็กซานเดรีย.” ดู​เหมือน​ว่า​สภาพการณ์​ใน​อะเล็กซานเดรีย​ทำ​ให้​เหมาะ​แก่​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ไป​เป็น​ภาษา​กรีก.

อาริสโตบุลุส ชาว​ยิว​คน​หนึ่ง​ที่​มี​ชีวิต​ใน​ศตวรรษ​ที่​สอง​ก่อน​สากล​ศักราช​เขียน​ไว้​ว่า การ​แปล​พระ​บัญญัติ​ฮีบรู​เป็น​ภาษา​กรีก​เสร็จ​สมบูรณ์​ใน​รัชกาล​ปโตเลมี ฟิลาเดลฟุส (285-246 ก่อน ส.ศ.). มี​ความ​เห็น​ที่​หลาก​หลาย​กัน​ว่า​อาริสโตบุลุส​หมาย​ถึง​อะไร​เมื่อ​เขา​ใช้​คำ “พระ​บัญญัติ.” บาง​คน​คิด​ว่า​เขา​หมาย​ถึง​เพียง​หมวด​เพนทาทุก (พระ​ธรรม​ห้า​เล่ม​แรก​ของ​โมเซ) ใน​ขณะ​ที่​คน​อื่น​กล่าว​ว่า​เขา​คง​หมาย​ถึง​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ทั้ง​หมด.

ไม่​ว่า​จะ​เป็น​อย่าง​ไร ตาม​ที่​เล่า​สืบ​ต่อ​กัน​มา กล่าว​กัน​ว่า​มี​ผู้​คง​แก่​เรียน​ชาว​ยิว​ราว 72 คน​เกี่ยว​ข้อง​ใน​การ​แปล​พระ​คัมภีร์​จาก​ภาษา​ฮีบรู​ไป​เป็น​ภาษา​กรีก​ฉบับ​แรก. ต่อ​มา เริ่ม​มี​การ​ใช้​ตัว​เลข​ที่​ได้​จาก​ปัด​เศษ​คือ 70. ดัง​นั้น จึง​เรียก​ฉบับ​แปล​นี้​ว่า​เซปตัวจินต์ หมาย​ถึง “70” และ​กำหนด​สัญลักษณ์​แทน​ว่า LXX ซึ่ง​เป็น​เลข​โรมัน​สำหรับ 70. พอ​ถึง​ปลาย​ศตวรรษ​ที่​สอง​ก่อน​สากล​ศักราช พระ​ธรรม​ทุก​เล่ม​ของ​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ก็​หา​อ่าน​ได้​ใน​ภาษา​กรีก. ด้วย​เหตุ​นี้ เซปตัวจินต์ จึง​กลาย​มา​เป็น​ชื่อ​เรียก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​ทั้ง​หมด​ที่​แปล​ไป​เป็น​ภาษา​กรีก.

เป็น​ประโยชน์​ใน​ศตวรรษ​แรก

ฉบับ​เซปตัวจินต์ ถูก​นำ​มา​ใช้​อย่าง​แพร่​หลาย​โดย​ชาว​ยิว​ที่​พูด​ภาษา​กรีก​ทั้ง​ก่อน​และ​ระหว่าง​สมัย​พระ​เยซู​คริสต์​และ​อัครสาวก​ของ​พระองค์. ชาว​ยิว​และ​ผู้​ที่​เปลี่ยน​มา​ถือ​ศาสนา​ยิว​ซึ่ง​ร่วม​ชุมนุม​กัน​ที่​กรุง​เยรูซาเลม​ใน​วัน​เพนเตคอสเต ปี ส.ศ. 33 หลาย​คน​มา​จาก​มณฑล​เอเชีย, อียิปต์, ลิเบีย, กรุง​โรม, และ​เกาะ​ครีต ซึ่ง​เป็น​ดินแดน​ที่​ผู้​คน​พูด​ภาษา​กรีก. ไม่​มี​ข้อ​สงสัย​ว่า​ปกติ​แล้ว​พวก​เขา​อ่าน​จาก​ฉบับ​เซปตัวจินต์. (กิจการ 2:9-11) ด้วย​เหตุ​นี้ ฉบับ​แปล​นี้​จึง​มี​บทบาท​สำคัญ​ใน​การ​แพร่​กระจาย​ข่าว​ดี​ใน​ศตวรรษ​แรก.

เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง เมื่อ​พูด​กับ​ชาว​ยิว​ที่​มา​จาก​เมือง​ไซรีน (กุเรเน), เมือง​อะเล็กซานเดรีย, มณฑล​ซิลีเซีย (กิลิเกีย), และ​มณฑล​เอเชีย ซะเตฟาโน​ผู้​เป็น​สาวก​กล่าว​ว่า “โยเซฟ​จึง​ได้​เชิญ​ยาโคบ​ผู้​บิดา​กับ​บรรดา​วงศ์​ญาติ​ของ​ตน​เจ็ด​สิบ​ห้า​คน [จาก​คะนาอัน] ให้​มา​หา.” (กิจการ 6:8-10; 7:12-14) ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​พระ​ธรรม​เยเนซิศ​บท 46 กล่าว​ว่า​จำนวน​วงศ์​ญาติ​ของ​โยเซฟ​คือ​เจ็ด​สิบ. แต่​จำนวน​ที่​ระบุ​ใน​ฉบับ​เซปตัวจินต์ คือ​เจ็ด​สิบ​ห้า. เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ซะเตฟาโน​ยก​ข้อ​ความ​นี้​มา​กล่าว​จาก​ฉบับ​เซปตัวจินต์.เยเนซิศ 46:20, 26, 27, เชิงอรรถ ล.ม.

ขณะ​ที่​อัครสาวก​เปาโล​เดิน​ทาง​ไป​ทั่ว​เอเชีย​น้อย​และ​กรีซ​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​รอบ​สอง​และ​สาม​ของ​ท่าน​ใน​ฐานะ​มิชชันนารี ท่าน​ได้​ประกาศ​แก่​ชาว​ต่าง​ชาติ​หลาย​คน​ที่​เกรง​กลัว​พระเจ้า​รวม​ทั้ง “ชาว​กรีก​ที่​ถือ​พระเจ้า.” (กิจการ 13:16, 26; 17:4, ฉบับ​แปล​ใหม่) คน​เหล่า​นี้​ได้​เข้า​มา​เกรง​กลัว​พระเจ้า​และ​นมัสการ​พระองค์​ก็​เพราะ​พวก​เขา​ได้​รับ​ความ​รู้​บาง​ส่วน​เกี่ยว​กับ​พระองค์​จาก​ฉบับ​เซปตัวจินต์. ใน​การ​ประกาศ​กับ​ประชาชน​ที่​พูด​ภาษา​กรีก​เหล่า​นี้ เปาโล​มัก​ยก​ข้อ​ความ​หรือ​ถอด​ความ​มา​กล่าว​จาก​ฉบับ​แปล​ดัง​กล่าว.—เยเนซิศ 22:18; ฆะลาเตีย 3:8.

พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ยก​ข้อ​ความ​จาก​พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​ฮีบรู​มา​กล่าว​โดย​ตรง​ประมาณ 320 ครั้ง รวม​การ​ยก​ข้อ​ความ​มา​กล่าว​และ​อ้าง​ถึง​ได้​ประมาณ 890 ครั้ง. การ​ยก​ข้อ​ความ​มา​กล่าว​ส่วน​ใหญ่​แล้ว​อาศัย​ฉบับ​เซปตัวจินต์. ผล​ก็​คือ​ข้อ​ความ​ที่​ยก​มา​กล่าว​จาก​ฉบับ​แปล​นั้น ไม่​ใช่​จาก​ฉบับ​สำเนา​ภาษา​ฮีบรู ได้​กลาย​มา​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ. นี่​นับ​ว่า​เป็น​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​สำคัญ! พระ​เยซู​ทรง​บอก​ล่วง​หน้า​ว่า​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​จะ​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ทั่ว​ทั้ง​แผ่นดิน​โลก​ที่​มี​คน​อาศัย​อยู่. (มัดธาย 24:14, ล.ม.) เพื่อ​ให้​สิ่ง​นี้​บรรลุ​ผล​สำเร็จ พระ​ยะโฮวา​จึง​ทรง​อนุญาต​ให้​แปล​พระ​คำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ของ​พระองค์​เป็น​ภาษา​ต่าง ๆ ที่​คน​ทั่ว​โลก​สามารถ​อ่าน​ได้.

เป็น​ประโยชน์​ใน​ทุก​วัน​นี้

ฉบับ​เซปตัวจินต์ ยัง​คง​มี​คุณค่า​ใน​ปัจจุบัน​และ​ถูก​นำ​มา​ใช้​เพื่อ​ช่วย​ค้น​หา​ข้อ​ผิด​พลาด​ซึ่ง​เกิด​จาก​การ​คัด​ลอก​ที่​อาจ​ค่อย ๆ ปน​เข้า​มา​ใน​ฉบับ​สำเนา​ภาษา​ฮีบรู​ที่​มี​การ​คัด​ลอก​ใน​สมัย​ต่อ​มา. ยก​ตัว​อย่าง เรื่อง​ราว​ที่​เยเนซิศ 4:8 อ่าน​ว่า “ฝ่าย​คายิน​ก็​บอก​กับ​เฮเบล​น้อง​ชาย​ของ​ตน. [“ให้​เรา​ไป​ที่​นา​ด้วย​กัน.” ล.ม.] ภาย​หลัง​เมื่อ​อยู่​ที่​นา​ด้วย​กัน, คายิน​ก็​ลุก​ขึ้น​ฆ่า​เฮเบล​น้อง​ชาย​ของ​ตน​เสีย.”

อนุ​ประโยค​ใน​วง​เล็บ​เหลี่ยม​ที่​ว่า “ให้​เรา​ไป​ที่​นา​ด้วย​กัน” ไม่​พบ​อยู่​ใน​ฉบับ​สำเนา​ภาษา​ฮีบรู​ที่​คัด​ลอก​ตั้ง​แต่​ศตวรรษ​ที่​สิบ ส.ศ. เป็น​ต้น​มา. อย่าง​ไร​ก็​ตาม อนุ​ประโยค​ดัง​กล่าว​มี​อยู่​ใน​ฉบับ​สำเนา​เซปตัวจินต์ ที่​เก่า​แก่​กว่า​และ​ใน​ฉบับ​สำเนา​ยุค​ต้น ๆ อีก​บาง​ฉบับ​ที่​ใช้​อ้างอิง. ข้อ​ความ​ที่​อยู่​ใน​ฉบับ​สำเนา​ภาษา​ฮีบรู​นี้​เป็น​ถ้อย​คำ​ที่​ปกติ​แล้ว​แนะ​ว่า​จะ​มี​คำ​พูด​ตาม​มา แต่​ก็​ไม่​มี​คำ​พูด​ใด ๆ ตาม​มา. อะไร​อาจ​เป็น​เหตุ​ให้​เป็น​อย่าง​นั้น? เยเนซิศ 4:8 มี​สอง​อนุ​ประโยค​ที่​ต่อ​กัน​ซึ่ง​จบ​ลง​ด้วย​วลี “ที่​นา​ด้วย​กัน.” สารานุกรม ของ​แมกคลินทอก​และ​สตรองก์​เสนอ​แนะ​เหตุ​ผล​ว่า “ผู้​คัด​ลอก​ชาว​ฮีบรู​อาจ​ตา​ลาย​เมื่อ​เห็น​วลี​เดียว​กัน . . . อยู่​ท้าย​อนุ​ประโยค​ทั้ง​สอง.” ผู้​คัด​ลอก​จึง​อาจ​มอง​ข้าม​อนุ​ประโยค​ที่​อยู่​ก่อน​หน้า​นั้น​ซึ่ง​จบ​ลง​ด้วย​ถ้อย​คำ​ที่​ว่า “ที่​นา​ด้วย​กัน.” เห็น​ได้​ชัด​ว่า​ฉบับ​เซปตัวจินต์ และ​ฉบับ​สำเนา​อื่น ๆ ที่​มี​อยู่​ที่​เก่า​แก่​กว่า​เป็น​ประโยชน์​ใน​การ​ระบุ​ข้อ​ผิด​พลาด​ที่​เกิด​จาก​การ​คัด​ลอก​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ใน​ฉบับ​สำเนา​สมัย​ต่อ​มา.

ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ฉบับ​คัด​ลอก​ของ​เซปตัวจินต์ เอง​ก็​อาจ​มี​ข้อ​ผิด​พลาด​เช่น​กัน และ​บาง​ครั้ง ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​ก็​ถูก​ใช้​เป็น​พื้น​ฐาน​สำหรับ​แก้ไข​ข้อ​ความ​ภาษา​กรีก. ดัง​นั้น โดย​การ​เทียบ​ฉบับ​สำเนา​ภาษา​ฮีบรู​กับ​ฉบับ​แปล​ภาษา​กรีก​และ​กับ​ฉบับ​แปล​ภาษา​อื่น ๆ ทำ​ให้​สามารถ​พบ​ข้อ​ผิด​พลาด​ที่​เกิด​จาก​การ​แปล​และ​การ​คัด​ลอก และ​ทำ​ให้​เรา​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​มี​การ​แปล​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ถูก​ต้อง.

ฉบับ​สำเนา​ที่​ครบ​ถ้วน​ของ​เซปตัวจินต์ ที่​เรา​มี​ใน​ทุก​วัน​นี้​มี​อายุ​ย้อน​ไป​ถึง​ศตวรรษ​ที่​สี่ ส.ศ. ฉบับ​สำเนา​เหล่า​นี้​และ​ฉบับ​คัด​ลอก​ใน​สมัย​ต่อ ๆ มา​ไม่​มี​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า คือ​ยะโฮวา ที่​แสดง​ด้วย​อักษร​ฮีบรู​สี่​ตัว​ที่​เรียก​ว่า​เททรากรัมมาทอน (ยฮวฮ). ฉบับ​คัด​ลอก​เหล่า​นี้​ได้​ใช้​คำ​ภาษา​กรีก​ที่​แปล​ว่า “พระเจ้า” และ “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” ใส่​แทน​ทุก​ที่​ที่​เททรากรัมมาทอน​ปรากฏ​อยู่​ใน​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู. อย่าง​ไร​ก็​ตาม การ​ค้น​พบ​ใน​เขต​ปาเลสไตน์​ประมาณ 50 ปี​มา​แล้ว​ได้​ช่วย​ไข​ความ​กระจ่าง​ใน​เรื่อง​นี้. ทีม​งาน​ที่​สำรวจ​ถ้ำ​ใกล้​ชายฝั่ง​ด้าน​ตะวัน​ตก​ของ​ทะเล​ตาย​ได้​ค้น​พบ​ชิ้น​ส่วน​ม้วน​แผ่น​หนัง​โบราณ​ของ​พวก​ผู้​พยากรณ์​น้อย 12 คน (โฮเซอา​ถึง​มาลาคี) ที่​เขียน​ด้วย​ภาษา​กรีก. งาน​เขียน​เหล่า​นี้​ได้​รับ​การ​ระบุ​อายุ​ว่า​อยู่​ใน​ช่วง​ปี 50 ก่อน ส.ศ. ถึง​ปี ส.ศ. 50. ใน​ชิ้น​ส่วน​ฉบับ​สำเนา​เซปตัวจินต์ ที่​เก่า​แก่​กว่า​เหล่า​นี้ เททรากรัมมาทอน​ไม่​ถูก​แทน​ที่​ด้วย​คำ​ภาษา​กรีก​ที่​แปล​ว่า “พระเจ้า” และ “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า.” ด้วย​เหตุ​นี้ จึง​เป็น​การ​ยืน​ยัน​ว่า​มี​การ​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ใน​ฉบับ​แปล​เซปตัวจินต์ ยุค​ต้น ๆ.

ใน​ปี 1971 ได้​มี​การ​พิมพ์​ภาพ​ชิ้น​ส่วน​ม้วน​แผ่น​พาไพรัส​โบราณ​เพื่อ​เผยแพร่​แก่​สาธารณชน (พาไพรัส​ฟูอัด 266). ชิ้น​ส่วน​ของ​เซปตัวจินต์ เหล่า​นี้​ที่​มี​อายุ​ย้อน​หลัง​ไป​ถึง​ศตวรรษ​ที่​สอง​หรือ​หนึ่ง​ก่อน ส.ศ. ได้​เปิด​เผย​อะไร? พระ​นาม​ของ​พระเจ้า​ได้​รับ​การ​รักษา​ไว้​ใน​ชิ้น​ส่วน​เหล่า​นี้​เช่น​กัน. ชิ้น​ส่วน​เซปตัวจินต์ ใน​ยุค​ต้น ๆ เหล่า​นี้​ให้​หลักฐาน​ที่​หนักแน่น​ว่า​พระเยซู​และ​เหล่า​สาวก​ใน​ศตวรรษ​แรก​รู้​จัก​และ​ใช้​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า.

ทุก​วัน​นี้ คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​หนังสือ​ที่​ได้​รับ​การ​แปล​อย่าง​กว้างขวาง​มาก​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์. มาก​กว่า 90 เปอร์เซ็นต์​ของ​ครอบครัว​มนุษย์​สามารถ​หา​คัมภีร์​ไบเบิล​อ่าน​ได้​อย่าง​น้อย​บาง​ส่วน​ใน​ภาษา​ของ​ตน​เอง. เรา​รู้สึก​ขอบคุณ​เป็น​พิเศษ​ที่​มี​ฉบับ​แปล​หนึ่ง​ที่​แปล​อย่าง​ถูก​ต้อง​แม่นยำ​โดย​ใช้​ภาษา​สมัย​ปัจจุบัน คือ​พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ซึ่ง​ปัจจุบัน​มี​ให้​อ่าน​ได้​ทั้ง​เล่ม​หรือ​บาง​ส่วน​ใน​กว่า 40 ภาษา. พระ​คัมภีร์​บริสุทธิ์​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่—พร้อม​ด้วย​ข้อ​อ้างอิง บรรจุ​เชิงอรรถ​ที่​อ้างอิง​ถึง​ฉบับ​เซปตัวจินต์ และ​ฉบับ​สำเนา​สมัย​โบราณ​อื่น ๆ ไว้​หลาย​ร้อย​แห่ง. ที่​จริง​แล้ว ฉบับ​เซปตัวจินต์ ยัง​คง​น่า​สนใจ​และ​มี​คุณค่า​สำหรับ​นัก​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​ใน​ยุค​ของ​เรา.

[ภาพ​หน้า 26]

ฟิลิป​ผู้​เป็น​สาวก​อธิบาย​ข้อ​ความ​ที่​อ่าน​จาก​ฉบับ “เซปตัวจินต์”

[ภาพ​หน้า 29]

อัครสาวก​เปาโล​มัก​ยก​ข้อ​ความ​มา​กล่าว​จาก​ฉบับ “เซปตัวจินต์”