ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

“จงฝึกฝนตัวเอง”

“จงฝึกฝนตัวเอง”

“จง​ฝึกฝน​ตัว​เอง”

เร็ว​กว่า, เยี่ยม​กว่า, เข้มแข็ง​กว่า! สาม​คำ​นี้​เป็น​เป้าหมาย​อัน​ล้ำ​เลิศ​ที่​นัก​กีฬา​ใน​ประเทศ​กรีซ​และ​โรม​ใน​สมัย​โบราณ​ใฝ่ฝัน​อยาก​ไป​ให้​ถึง. ตลอด​หลาย​ศตวรรษ การ​จัด​แข่ง​กีฬา​อัน​ยิ่ง​ใหญ่​เช่น​นี้​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​ว่า “เป็น​การ​เห็น​ชอบ” ของ​ปวง​เทพเจ้า​และ​ผู้​คน​หลาย​พัน​เฝ้า​สังเกต​ด้วย​ใจจดใจจ่อ ไม่​ว่า​ใน​แคว้น​โอลิมเปีย, เมือง​เดลฟี, และ​นีมีอา, และ​คอ​คอด​แห่ง​เมือง​โครินท์. สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​เข้า​ร่วม​การ​แข่งขัน​กีฬา​เหล่า​นี้​เป็น​ผล​สืบ​เนื่อง​มา​จาก​การ​บากบั่น​ขันแข็ง​นาน​หลาย​ปี. ชัย​ชนะ​ย่อม​หมาย​ถึง​ชื่อเสียง​เกียรติยศ​สูง​ส่ง​สำหรับ​ผู้​ชนะ​และ​บ้าน​เกิด​ของ​เขา.

ใน​สภาพ​แวด​ล้อม​ทาง​วัฒนธรรม​ดัง​กล่าว ผู้​เขียน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​เปรียบ​เทียบ​การ​วิ่ง​แข่ง​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​คริสเตียน​กับ​การ​แข่งขัน​กรีฑา. เพื่อ​ที่​จะ​ถ่ายทอด​จุด​สำคัญ​ของ​การ​สอน ทั้ง​อัครสาวก​เปโตร​และ​เปาโล​ได้​ยก​เรื่อง​กีฬา​ขึ้น​มา​เป็น​ตัว​อย่าง​เปรียบ​เทียบ​อย่าง​เชี่ยวชาญ. ใน​สมัย​ของ​เรา การ​วิ่ง​แข่ง​ของ​คริสเตียน​อย่าง​เอา​จริง​เอา​จัง​แบบ​เดียว​กัน​นั้น​ยัง​คง​มี​อยู่​ต่อ​ไป. คริสเตียน​ศตวรรษ​แรก​ต้อง​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ระบบ​ยิว พวก​เรา​สมัย​นี้​ต้อง ‘ต่อ​สู้​ชิง​ชัย’ กับ​ระบบ​โลก​ซึ่ง​จวน​จะ​พินาศ​อยู่​แล้ว. (2 ติโมเธียว 2:5; 3:1-5) บาง​คน​อาจ​พบ​ว่า “การ​ปล้ำ​สู้ .. . เกี่ยว​กับ​ความ​เชื่อ” ของ​ตน​นั้น​ไม่​ละลด​และ​ทำ​ให้​หมด​กำลัง. (1 ติโมเธียว 6:12) การ​ตรวจ​สอบ​ข้อ​เปรียบ​เทียบ​ด้าน​การ​กีฬา​บาง​ประเภท​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​การ​วิ่ง​แข่ง​ของ​คริสเตียน​จะ​เป็น​ประโยชน์​อย่าง​ยิ่ง.

ผู้​ฝึก​สอน​ที่​ดี​เลิศ

ความ​สำเร็จ​ของ​นัก​กีฬา​ขึ้น​อยู่​กับ​ผู้​ฝึก​สอน​เป็น​ส่วน​ใหญ่. เกี่ยว​กับ​เรื่อง​กีฬา​สมัย​โบราณ หนังสือ​โบราณคดี​กรีก (ภาษา​อังกฤษ) กล่าว​ว่า “ผู้​เข้า​แข่งขัน​ต้อง​สาบาน​ว่า​ตน​ได้​ใช้​เวลา​ตลอด​สิบ​เดือน​สำหรับ​เตรียม​การ.” คริสเตียน​ก็​เช่น​กัน​จำเป็น​ต้อง​ฝึกฝน​อย่าง​เคร่งครัด. เปาโล​ได้​แนะ​นำ​ติโมเธียว​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ดัง​นี้: “จง​ฝึกฝน​ตัว​เอง​พร้อม​ด้วย​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า​เป็น​เป้าหมาย.” (1 ติโมเธียว 4:7, ล.ม.) ใคร​คือ​ผู้​ฝึก​สอน “นัก​กีฬา” คริสเตียน? ไม่​ใช่​ใคร​อื่น นอก​จาก​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​เอง! อัครสาวก​เปโตร​เขียน​ดัง​นี้: “พระเจ้า​แห่ง​พระ​กรุณา​ทั้ง​มวล​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ . . . พระองค์​เอง​จะ​ทรง​โปรด​ให้​การ​ฝึก​อบรม​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ถึง​ที่​สำเร็จ พระองค์​จะ​ทรง​ทำ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​มั่นคง พระองค์​จะ​ทรง​ทำ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เข้มแข็ง.”—1 เปโตร 5:10, ล.ม.

ถ้อย​คำ​ที่​ว่า ‘จะ​ให้​การ​ฝึก​อบรม​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ถึง​ที่​สำเร็จ’ มา​จาก​คำ​กริยา​ภาษา​กรีก ดัง​ปรากฏ​ใน​ปทานุกรม​ทีโอโลจิคัล เลกซิคอน ออฟ เดอะ นิว เทสทาเมนต์ โดย​พื้น​ฐาน​แล้ว​หมาย​ถึง “ทำ​ให้​สิ่ง​หนึ่ง [หรือ​บุคคล​หนึ่ง] เหมาะ​กับ​วัตถุ​ประสงค์ เตรียม​ไว้​และ​ปรับ​ใช้​ประโยชน์​ได้.” เช่น​เดียว​กัน ปทานุกรม​กรีก-อังกฤษ ของ​ลิดเดลล์​และ​สกอตต์​อรรถาธิบาย​ว่า คำ​กริยา​นี้​อาจ​จำกัดความ​ว่า “เตรียม, ฝึก, หรือ​ตกแต่ง​ครบ​ถ้วน.” โดย​วิธี​ใด​พระ​ยะโฮวา​ทรง ‘เตรียม​เรา, ฝึก​เรา, และ​ตกแต่ง​เรา​อย่าง​ครบ​ถ้วน’ สำหรับ​การ​วิ่ง​แข่ง​ของ​คริสเตียน​ที่​ต้อง​ใช้​ความ​เพียร​พยายาม​อย่าง​มาก? ที่​จะ​เข้าใจ​ข้อ​เปรียบ​เทียบ ให้​เรา​พิจารณา​วิธี​การ​บาง​อย่าง​ที่​ผู้​ฝึก​สอน​นำ​มา​ใช้.

หนังสือ​กีฬา​โอลิมปิก​ใน​ยุค​กรีก​โบราณ (ภาษา​อังกฤษ) บอก​ว่า “คน​เหล่า​นั้น​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ฝึก​เยาวชน​ได้​ใช้​วิธี​การ​พื้น​ฐาน​สอง​ประการ ประการ​แรก​มุ่ง​เป้า​ให้​การ​สนับสนุน​นัก​เรียน​ฝึก​หัด​ใช้​พลัง​กาย​มาก​ที่​สุด​เท่า​ที่​ทำ​ได้​เพื่อ​บรรลุ​ประสิทธิผล​สูง​สุด และ​ประการ​ที่​สอง มุ่ง​ให้​การ​ปรับ​ปรุง​แก้ไข​เทคนิค​และ​รูป​แบบ​ของ​เขา.”

ใน​ทำนอง​เดียว​กัน พระ​ยะโฮวา​ทรง​สนับสนุน​และ​เสริม​กำลัง​พวก​เรา​ให้​บรรลุ​ศักยภาพ​สูง​สุด และ​ปรับ​ปรุง​ทักษะ​ของ​เรา​ใน​การ​รับใช้​พระองค์. พระเจ้า​ของ​เรา​ทรง​ประทาน​กำลัง​แก่​เรา​โดย​ทาง​คัมภีร์​ไบเบิล, องค์การ​ของ​พระองค์​ทาง​แผ่นดิน​โลก, และ​เพื่อน​คริสเตียน​ที่​อาวุโส. บาง​ครั้ง​พระองค์​ฝึก​เรา​ด้วย​การ​ว่า​กล่าว​ตี​สอน. (เฮ็บราย 12:6) คราว​อื่น ๆ พระองค์​อาจ​ยอม​ให้​เรา​ถูก​ทดลอง​และ​ประสบ​ความ​ยาก​ลำบาก​ต่าง ๆ เพื่อ​ว่า​เรา​สามารถ​พัฒนา​ความ​อด​ทน​ได้. (ยาโกโบ 1:2-4) และ​พระองค์​ทรง​ประทาน​กำลัง​ตาม​ความ​จำเป็น. ผู้​พยากรณ์​ยะซายา​บอก​ว่า “ผู้​ที่​คอย​ท่า​พระ​ยะโฮวา​จะได้​รับ​กำลัง​เพิ่ม​ขึ้น; เขา​จะ​กาง​ปีก​บิน​ขึ้น​ไป​ดุจ​นก​อินทรี; เขา​จะ​วิ่ง​ไป, และ​ไม่​รู้​จัก​อ่อน​เปลี้ย, เขา​จะ​เดิน​ไป, และ​ไม่​รู้​จัก​อิดโรย.”—ยะซายา 40:31.

สำคัญ​กว่า​อะไร​ทั้ง​สิ้น พระเจ้า​ทรง​ประทาน​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระองค์​แก่​พวก​เรา​อย่าง​อุดม ซึ่ง​เสริม​กำลัง​เรา​ให้​เข้มแข็ง​ใน​งาน​รับใช้​อย่าง​ที่​พระองค์​ทรง​รับ​ได้​ต่อ ๆ ไป. (ลูกา 11:13) ใน​หลาย​กรณี ผู้​รับใช้​พระเจ้า​ได้​อด​ทน​การ​ทดลอง​ความ​เชื่อ​ด้วย​ความ​ทรหด​เป็น​เวลา​นาน. คน​เหล่า​นั้น​ที่​อด​ทน​ล้วน​เป็น​ชาย​หญิง​ธรรมดา​อย่าง​พวก​เรา​ทั้ง​นั้น. แต่​ที่​พวก​เขา​ได้​วางใจ​พระเจ้า​เต็ม​ที่​ได้​ช่วย​เขา​ให้​สามารถ​อด​ทน. ที่​จริง ‘กำลัง​ที่​มาก​กว่า​ปกติ​มา​จาก​พระเจ้า มิ​ใช่​เกิด​จาก​ตัว​เขา​เอง.’—2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.

ผู้​ฝึก​สอน​ที่​ร่วม​ความ​รู้สึก

หนึ่ง​ใน​งาน​ที่​ผู้​ฝึก​สอน​สมัย​โบราณ​ต้อง​ทำ​คือ “ประเมิน​ลักษณะ​และ​รายการ​การ​ฝึก​ตาม​ความ​จำเป็น​ของ​นัก​กีฬา​เฉพาะ​ราย และ​กีฬา​เฉพาะ​ประเภท” ดัง​ผู้​คง​แก่​เรียน​คน​หนึ่ง​ให้​ข้อ​สังเกต. ขณะ​ที่​พระเจ้า​ฝึก​สอน​พวก​เรา พระองค์​ทรง​พิจารณา​สภาพการณ์​แวด​ล้อม, ความ​สามารถ, รูป​ร่าง​นิสัย​ใจ​คอ, และ​ข้อ​จำกัด​ของ​เรา​เป็น​ราย​บุคคล. ใน​ระหว่าง​ที่​เรา​รับ​การ​ฝึก​สอน​จาก​พระ​ยะโฮวา เรา​มัก​อ้อน​วอน​พระองค์​บ่อย​ครั้ง อย่าง​ที่​โยบ​เคย​ทูล “ขอ​ทรง​ระลึก​เถิด​ว่า, พระองค์​ได้​ทรง​ปั้น​ข้า​ฯ เหมือน​ทรง​ปั้น​ดิน​เหนียว.” (โยบ 10:9) ผู้​ฝึก​สอน​ของ​เรา​ที่​ทรง​ร่วม​ความ​รู้สึก​ได้​ตอบ​สนอง​อย่าง​ไร? ดาวิด​เขียน​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา​ดัง​นี้: “พระองค์​ทรง​ทราบ​ร่าง​กาย​ของ​พวก​ข้าพเจ้า​แล้ว; พระองค์​ทรง​ระลึก​อยู่​ว่า​พวก​ข้าพเจ้า​เป็น​แต่​ผงคลี​ดิน.”—บทเพลง​สรรเสริญ 103:14.

คุณ​อาจ​มี​ปัญหา​ด้าน​สุขภาพ​อย่าง​ร้ายแรง​ซึ่ง​จำกัด​งาน​ด้าน​การ​เผยแพร่​ที่​คุณ​อาจ​ทำ​ได้ หรือ​คุณ​อาจ​พยายาม​ต่อ​สู้​ความ​รู้สึก​น้อย​เนื้อ​ต่ำ​ใจ. บาง​ที​คุณ​พยายาม​เลิก​นิสัย​ที่​ไม่​ดี หรือ​อาจ​มี​ความ​รู้สึก​ว่า​ไม่​สามารถ​รับมือ​แรง​กดดัน​ได้​จาก​คน​รอบ​ข้าง​ใน​ละแวก​บ้าน, ที่​ทำ​งาน, หรือ​ที่​โรง​เรียน. ไม่​ว่า​สภาพ​แวด​ล้อม​เป็น​อย่าง​ไร จำ​ไว้​เสมอ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​เข้าใจ​ปัญหา​ของ​คุณ​ดี​กว่า​ใคร ๆ ทั้ง​สิ้น รวม​ถึง​ตัว​คุณ​เอง​ด้วย! ใน​ฐานะ​ผู้​ฝึก​สอน​ที่​ใฝ่​พระทัย พระองค์​ทรง​พร้อม​จะ​ช่วย​คุณ​เสมอ​ถ้า​คุณ​เข้า​ใกล้​พระองค์.—ยาโกโบ 4:8.

ผู้​ฝึก​สอน​ใน​สมัย​โบราณ “สามารถ​แยกแยะ​อาการ​หมดแรง​หรือ​ความ​อ่อนแอ​ซึ่ง​ไม่​ได้​เกิด​จาก​การ​ออก​กำลัง แต่​จาก​สาเหตุ​อื่น สาเหตุ​สืบ​เนื่อง​จาก​ความ​คิด​จิตใจ, อารมณ์​ไม่​ดี, ความ​เครียด​และ​อื่น ๆ. .. . อำนาจ​จัด​การ​ของ [ผู้​ฝึก​สอน] นั้น​มี​มาก​ถึง​ขนาด​ที่​ว่า​เขา​สามารถ​คอย​สอดส่อง​ชีวิต​นัก​กีฬา​ได้​ด้วย​ซ้ำ และ​เข้า​แทรกแซง​เมื่อ​เห็น​ว่า​จำเป็น.”

บาง​ครั้ง คุณ​รู้สึก​อ่อน​เพลีย​ไม่​มี​กำลัง​วังชา​ไหม เนื่อง​จาก​แรง​กดดัน​และ​การ​ล่อ​ใจ​จาก​โลก​กระหน่ำ​ไม่​ยั้ง? ใน​ฐานะ​เป็น​ผู้​ฝึก​สอน พระ​ยะโฮวา​ทรง​สน​พระทัย​ดู​แล​คุณ​อย่าง​แท้​จริง. (1 เปโตร 5:7) พระองค์​ทรง​เห็น​ความ​อ่อนแอ​และ​ความ​เหนื่อย​ล้า​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​คุณ​ได้​ทันที. ถึง​แม้​พระ​ยะโฮวา​ทรง​คำนึง​ถึง​เจตจำนง​เสรี​และ​ความ​สมัคร​ใจ​ของ​เรา แต่​เนื่อง​จาก​พระองค์​ทรง​ห่วงใย​สวัสดิภาพ​ยั่งยืน​ของ​เรา จึง​ได้​ทรง​เตรียม​การ​ช่วยเหลือ​และ​การ​แก้ไข​เพียง​พอ​เมื่อ​ถึง​คราว​จำเป็น. (ยะซายา 30:21, ล.ม.) โดย​วิธี​ใด? โดย​ทาง​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​สรรพหนังสือ​ที่​ยึด​พระ​คัมภีร์​เป็น​หลัก, โดย​ทาง​ผู้​ปกครอง​ฝ่าย​วิญญาณ​ใน​ประชาคม, และ​ภราดรภาพ​ที่​มี​ความ​รัก​ระหว่าง​กัน.

“รู้​จัก​บังคับ​ตน​ใน​ทุก​สิ่ง”

แน่นอน การ​บรรลุ​ความ​สำเร็จ​ได้​นั้น​ไม่​ใช่​แค่​การ​มี​ผู้​ฝึก​สอน​ที่​ดี​เท่า​นั้น. ส่วน​ใหญ่​ขึ้น​อยู่​กับ​นัก​กีฬา​เอง และ​การ​ที่​นัก​กีฬา​ยินยอม​ฝึก​อย่าง​หนัก. แผนการ​ฝึก​นั้น​ย่อม​เคร่งครัด เพราะ​หมาย​รวม​ถึง​การ​งด​เว้น​การ​ร่วม​เพศ​และ​การ​เสพ​ของ​มึน​เมา และ​เรื่อง​อาหาร​การ​กิน​ต้อง​เป็น​ไป​ตาม​ที่​กำหนด​ให้. โฮเรส กวี​สมัย​ช่วง​ร้อย​ปี​ก่อน​สากล​ศักราช​ได้​กล่าว​ว่า ผู้​เข้า​แข่งขัน​จะ “ไม่​ข้อง​แวะ​ผู้​หญิง​และ​แตะ​ต้อง​เหล้า​องุ่น” เพื่อ “บรรลุ​เป้าหมาย​ที่​เฝ้า​ปรารถนา.” และ​ดัง​ที่ เอฟ. ซี. คุก ผู้​คง​แก่​เรียน​ด้าน​ไบเบิล​กล่าว บรรดา​ผู้​ที่​มี​ส่วน​เข้า​ร่วม​การ​กีฬา​ต้อง “หัก​ห้าม​ใจ​ตน​เอง [และ] เข้มงวด​เรื่อง​โภชนาการ . . . เป็น​เวลา​สิบ​เดือน.”

เปาโล​ใช้​การ​เปรียบ​เทียบ​นี้​เมื่อ​เขียน​ถึง​คริสเตียน​ใน​เมือง​โครินท์ [โกรินโธ] เมือง​นี้​ซึ่ง​รู้​จัก​กีฬา​อิสท์เมียน​ที่​อยู่​ไม่​ไกล​กัน ท่าน​กล่าว​ดัง​นี้: “ทุก​คน​ที่​เข้า​การ​แข่งขัน​รู้​จัก​บังคับ​ตน​ใน​ทุก​สิ่ง.” (1 โกรินโธ 9:25, ล.ม.) คริสเตียน​แท้​ละ​เว้น​วิถี​ชีวิต​ที่​นิยม​วัตถุ, ละ​เว้น​การ​ผิด​ศีลธรรม, และ​รูป​แบบ​ชีวิต​ที่​ไม่​สะอาด​ของ​โลก. (เอเฟโซ 5:3-5; 1 โยฮัน 2:15-17) นอก​จาก​นั้น ต้อง​ถอด​ทิ้ง​ลักษณะ​นิสัย​ที่​ไม่​เลื่อมใส​พระเจ้า​และ​ไม่​เป็น​ไป​ตาม​หลัก​พระ​คัมภีร์ แล้ว​สวม​คุณลักษณะ​เยี่ยง​พระ​คริสต์​เข้า​ไป​แทน.—โกโลซาย 3:9, 10, 12.

จะ​ทำ​ได้​โดย​วิธี​ใด? อย่าง​หนึ่ง​คือ ขอ​ให้​สังเกต​คำ​ตอบ​ของ​เปาโล เมื่อ​ท่าน​ใช้​อุทาหรณ์​ที่​มี​น้ำหนัก​ขึ้น​มา​กล่าว​ดัง​นี้: “ข้าพเจ้า​ทุบ​ตี​ร่าง​กาย​ของ​ข้าพเจ้า และ​จูง​มัน​เยี่ยง​ทาส เพื่อ​ว่า​หลัง​จาก​ข้าพเจ้า​ได้​ประกาศ​แก่​คน​อื่น​แล้ว ตัว​ข้าพเจ้า​เอง​จะ​ไม่​กลาย​เป็น​คน​ที่​ไม่​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​ใน​ทาง​ใด​ทาง​หนึ่ง.”—1 โกรินโธ 9:27, ล.ม.

จุด​สำคัญ​ที่​เปาโล​ใช้​ใน​ตอน​นี้​ช่าง​หนักแน่น​เสีย​จริง ๆ! ท่าน​ไม่​ได้​แนะ​นำ​ให้​ทรมาน​ตัว. แต่​ยอม​รับ​ว่า​ท่าน​เอง​มี​การ​ต่อ​สู้​ภาย​ใน​ตัว​ท่าน. บาง​ครั้ง​กระทำ​สิ่ง​ซึ่ง​ท่าน​ไม่​ปรารถนา​จะ​ทำ และ​ไม่​ได้​ทำ​สิ่ง​ที่​อยาก​ทำ. กระนั้น ท่าน​ต่อ​สู้​ไม่​ยอม​ให้​ความ​อ่อนแอ​มี​อำนาจ​ครอบ​งำ​ท่าน. ท่าน ‘ได้​ทุบ​ตี​ร่าง​กาย’ ปราบ​ความ​ปรารถนา​ฝ่าย​เนื้อหนัง​และ​นิสัย​ต่าง ๆ อย่าง​ขันแข็ง.—โรม 7:21-25.

คริสเตียน​ทุก​คน​พึง​ทำ​เช่น​เดียว​กัน. เปาโล​พูด​ถึง​การ​เปลี่ยน​แปลง​ซึ่ง​บาง​คน​ใน​เมือง​โครินท์​ได้​ทำ ซึ่ง​เมื่อ​ก่อน​เคย​ปล่อย​ตัว​ทำ​ผิด​ประเวณี, บูชา​รูป​เคารพ, รัก​ร่วม​เพศ, ลัก​ทรัพย์, และ​การ​อื่น ๆ. อะไร​ได้​ช่วย​ให้​พวก​เขา​สามารถ​เปลี่ยน​พฤติกรรม​แบบ​นั้น​ได้? ฤทธิ์​อำนาจ​แห่ง​พระ​คำ​และ​พระ​วิญญาณ​บริสุทธิ์​ของ​พระเจ้า​พร้อม​ด้วย​ความ​แน่วแน่​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​ที่​ตั้งใจ​ไว้. เปาโล​พูด​ว่า “แต่​ได้​ทรง​ชำระ​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ให้​สะอาด แต่​ได้​ทรง​ทำ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​บริสุทธิ์ แต่​ได้​ประกาศ​ให้​ท่าน​ทั้ง​หลาย​เป็น​ผู้​ชอบธรรม​ใน​พระ​นาม​แห่ง​พระ​เยซู​คริสต์​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้าของ​เรา​และ​ด้วย​พระ​วิญญาณ​แห่ง​พระเจ้า​ของ​เรา.” (1 โกรินโธ 6:9-11, ล.ม.) เปโตร​ก็​ได้​เขียน​ทำนอง​เดียว​กัน​เกี่ยว​กับ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ได้​ละ​เลิก​นิสัย​ไม่​ดี​ต่าง ๆ ดัง​กล่าว. ฐานะ​เป็น​คริสเตียน พวก​เขา​ได้เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​สิ้นเชิง.—1 เปโตร 4:3, 4.

มุ​มานะ​สู่​เป้าหมาย​ที่​ดี

เปาโล​ได้​ให้​ตัว​อย่าง​เกี่ยว​กับ​จิตใจ​มุ่ง​มั่น​และ​เป้าหมาย​ที่​ชัดเจน​ของ​ท่าน​เพื่อ​บากบั่น​สู่​เป้าหมาย​ฝ่าย​วิญญาณ โดย​กล่าว​ว่า “การ​ชก​ของ​ข้าพเจ้า​ไม่​ใช่​เพื่อ​ชก​ลม.” (1 โกรินโธ 9:26, ล.ม.) คู่​ต่อ​สู้​ต่อย​ด้วย​หมัด​หรือ​ผลัก​อย่าง​ไร? หนังสือ​ชีวิต​ของ​ชาว​กรีก​และ​ชาว​โรมัน ตอบ​ดัง​นี้: “ไม่​เพียง​แต่​ต้อง​ใช้​พละกำลัง​ห้ำหั่น​เท่า​นั้น แต่​สายตา​ต้อง​จด​จ้อง​มอง​หา​จุด​อ่อน​ของ​ฝ่าย​ตรง​ข้าม​ด้วย. บาง​วิธี​ก็​ใช้​กำลัง​ดัน​อย่าง​คล่องแคล่ว​ตาม​ที่​ได้​เรียน​จาก​โรง​เรียน​สอน​มวย​ปล้ำ และ​ความ​ว่องไว​ใน​การ​หลอกล่อ​คู่​ต่อ​สู้​ล้วน​เป็น​ประโยชน์​ไม่​น้อย​กว่า​กัน.”

เนื้อหนัง​ของ​เรา​ที่​ไม่​สมบูรณ์​ก็​นับ​ว่า​เป็น​หนึ่ง​ใน​คู่​ต่อ​สู้​ของ​เรา. เรา​รู้ “จุด​อ่อน” ของ​ตัว​เอง​หรือ​เปล่า? เรา​เต็ม​ใจ​มอง​ตัว​เอง​อย่าง​ที่​คน​อื่น​มอง​เรา​หรือ​เปล่า—โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง มอง​ตาม​แง่​มุม​ของ​ซาตาน​ที่​คอย​จ้อง​เรา​อยู่? ที่​จะ​มอง​ตัว​เอง​อย่าง​นั้น เรา​ต้อง​วิเคราะห์​ตัว​เอง​และ​ประเมิน​ค่า​ตัว​เอง​อย่าง​ซื่อ​ตรง และ​ต้อง​เต็ม​ใจ​แก้ไข​เปลี่ยน​แปลง. การ​ลวง​ตัว​เอง​เกิด​ขึ้น​ได้​อย่าง​ง่าย​ดาย. (ยาโกโบ 1:22) ง่าย​เพียง​ใด​ที่​จะ​หา​ข้อ​แก้​ตัว​ให้​แก่​แนว​ทาง​การ​กระทำ​ที่​ไม่​ฉลาด! (1 ซามูเอล 15:13-15, 20, 21) นั่น​เท่า​กับ​ว่า​เป็น​การ “ชก​ลม.”

ใน​สมัย​สุด​ท้าย​นี้ บรรดา​ผู้​ที่​อยาก​ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พอ​พระทัย​และ​ได้​รับ​ชีวิต​จึง​ไม่​ควร​ลังเล​เมื่อ​จะ​ตัดสิน​ใจ​เลือก​ระหว่าง​ถูก​กับ​ผิด, ระหว่าง​ประชาคม​ของ​พระเจ้า​กับ​โลก​ที่​ทุจริต. พวก​เขา​ต้อง​หลีก​เลี่ยง​การ​เป็น​คน​ไม่​แน่​ไม่​นอน ไม่​เป็น​คน “สอง​จิต​สอง​ใจ, ไม่​มั่นคง​ใน​ทุก​วิถี​ทาง​ของ​ตน.” (ยาโกโบ 1:8, ล.ม.) เขา​ไม่​ควร​เปลือง​ความ​พยายาม​ไป​กับ​การ​มุ่ง​แสวง​หา​อัน​ไร้​ผล. เมื่อ​คน​เรา​ดำเนิน​ใน​ทาง​ตรง​นี้​ด้วย​จิตใจ​ที่​มั่นคง เขา​จะ​มี​ความ​สุข​และ ‘ความ​ก้าว​หน้า​ของ​เขา​จะ​ได้​ปรากฏ​แจ้ง​แก่​คน​ทั้ง​ปวง.’—1 ติโมเธียว 4:15, ล.ม.

ถูก​แล้ว การ​วิ่ง​แข่ง​ของ​คริสเตียน​ยัง​คง​ดำเนิน​อยู่​ต่อ​ไป. ด้วย​ความ​รัก พระ​ยะโฮวา​ผู้​ฝึก​สอน​องค์​ยิ่ง​ใหญ่​ของ​เรา​ทรง​จัด​เตรียม​คำ​แนะ​นำ​และ​การ​สนับสนุน​ที่​จำเป็น​เพื่อ​เรา​จะ​มี​ความ​เพียร​อด​ทน​และ​ชนะ​ใน​ที่​สุด. (ยะซายา 48:17) เช่น​เดียว​กัน​กับ​นัก​กีฬา​สมัย​ก่อน เรา​จำ​ต้อง​ฝึก​ใช้​วินัย​กับ​ตัว​เอง, ฝึก​การ​รู้​จัก​บังคับ​ตน, และ​แน่วแน่​ใน​การ​ต่อ​สู้​เพื่อ​ความ​เชื่อ. ความ​บากบั่น​ของ​เรา​อย่าง​มี​เป้าหมาย​ที่​ดี​จะ​ได้​รับ​ผล​ตอบ​แทน​อย่าง​อุดม.—เฮ็บราย 11:6.

[กรอบ​หน้า 31]

“เอา​น้ำมัน​ทา​เขา”

ผู้​ชโลม​น้ำมัน​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​การ​ฝึก​นัก​กีฬา​ยุค​กรีก​โบราณ. งาน​ของ​เขา​คือ​ชโลม​น้ำมัน​ลง​บน​ร่าง​กาย​ของ​คน​ที่​พร้อม​จะ​ออก​กำลัง. หนังสือ​กีฬา​โอลิมปิก​ใน​กรีซ​สมัย​โบราณ ให้​ข้อ​สังเกต​ว่า ผู้​ฝึก​สอน “ได้​สังเกต​ว่า​การ​นวด​กล้ามเนื้อ​ด้วย​ความ​ชำนาญ​ก่อน​ฝึก​นั้น​ก่อ​ผล​ดี และ​เห็น​ว่า​การ​นวด​เบา ๆ ด้วย​ความ​ระมัดระวัง​ช่วย​ให้​นัก​กีฬา​ที่​จบ​การ​ฝึก​ระยะ​ยาว​รู้สึก​ผ่อน​คลาย​และ​คืน​สภาพ​เป็น​ปกติ.”

การ​ใช้​น้ำมัน​จริง ๆ นวด​ร่าง​กาย​ทำ​ให้​รู้สึก​ผ่อน​คลาย, หาย​ปวด, และ​เป็น​การ​บำบัด​ฉัน​ใด การ​ใช้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​กับ “นัก​กีฬา” คริสเตียน​ที่​เหน็ด​เหนื่อย​เมื่อย​ล้า​จะ​ช่วย​แก้ไข, ชู​ใจ, และ​รักษา​เขา​ให้​หาย​ได้​ฉัน​นั้น. ด้วย​เหตุ​นี้ อาศัย​การ​ชี้​นำ​จาก​พระ​ยะโฮวา ผู้​เฒ่า​ผู้​แก่​ของ​ประชาคม​จึง​ได้​รับ​คำ​แนะ​นำ​ให้​อธิษฐาน​เพื่อ​บุคคล​ดัง​กล่าว กล่าว​โดย​นัย​ก็​คือ ให้ “เอา​น้ำมัน​ทา​เขา​ใน​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา” ซึ่ง​เป็น​ขั้น​ตอน​สำคัญ​เพื่อ​ฟื้นฟู​สภาพ​ฝ่าย​วิญญาณ.—ยาโกโบ 5:13-15, ล.ม.; บทเพลง​สรรเสริญ 141:5.

[ภาพ​หน้า 31]

หลัง​เสร็จ​สิ้น​การ​บวง​สรวง​แล้ว เหล่า​นัก​กีฬา​สาบาน​ตน​ว่า​ได้​ผ่าน​การ​ฝึกฝน​เป็น​เวลา​สิบ​เดือน

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Musée du Louvre, Paris

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 29]

Copyright British Museum