ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

สิทธิพิเศษที่ได้ร่วมการแผ่ขยายหลังสงครามโลก

สิทธิพิเศษที่ได้ร่วมการแผ่ขยายหลังสงครามโลก

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​ร่วม​การ​แผ่​ขยาย​หลัง​สงคราม​โลก

เล่า​โดย​ฟิลิป เอส. ฮอฟฟ์มันน์

เดือน​พฤษภาคม 1945 สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​เพิ่ง​ยุติ. เดือน​ธันวาคม​ปี​เดียว​กัน นาทาน เอช. นอรร์ ผู้​ดู​แล​กิจการ​เผยแพร่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​ทำ​กัน​ทั่ว​โลก​ได้​ไป​เยือน​เดนมาร์ก​พร้อม​กับ​มิลตัน จี. เฮนเชล เลขานุการ​ส่วน​ตัว อายุ 25 ปี. มี​การ​เช่า​หอ​ประชุม​ใหญ่​เพื่อ​รับรอง​การ​เยือน​ซึ่ง​ตั้ง​ตา​รอ​คอย​กัน​อย่าง​ใจ​จดจ่อ. คำ​บรรยาย​ของ​บราเดอร์​เฮนเชล​น่า​ตื่นเต้น​เป็น​พิเศษ​สำหรับ​พวก​เรา​วัย​หนุ่ม​สาว เนื่อง​จาก​ผู้​บรรยาย​อยู่​ใน​วัย​เดียว​กัน​กับ​พวก​เรา​และ​ได้​เลือก​บท​บรรยาย​ที่​มี​ชื่อ​เรื่อง​ว่า “ใน​ปฐม​วัย​ของ​เจ้า​จง​ระลึก​ถึง​พระองค์​ผู้​ได้​ทรง​สร้าง​ตัว​เจ้า​นั้น.”—ท่าน​ผู้​ประกาศ 12:1.

ใน​ช่วง​การ​เยี่ยม​ครั้ง​นั้น เรา​ได้​มา​รู้​ว่า​หลาย​อย่าง​ที่​น่า​ตื่นเต้น​กำลัง​เริ่ม​ขึ้น​แล้ว​เพื่อ​การ​ขยาย​งาน​ประกาศ​ไป​ทั่ว​โลก และ​เรา​อาจ​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง​กับ​งาน​นั้น​ได้​ด้วย. (มัดธาย 24:14) อย่าง​เช่น โรง​เรียน​ใหม่​ที่​ให้​การ​อบรม​ชาย​หนุ่ม​หญิง​สาว​สำหรับ​งาน​มิชชันนารี​ต่าง​แดน​ได้​เปิด​สอน​แล้ว​ใน​สหรัฐ. บราเดอร์​นอรร์​กล่าว​ย้ำ​ว่า​ถ้า​เรา​ได้​รับ​เชิญ​ไป​เรียน​ที่​นั่น เรา​จะ​ได้ “ตั๋ว​เดิน​ทาง​เที่ยว​เดียว​เท่า​นั้น” แถม​ไม่​รู้​ว่า​เรา​จะ​ถูก​มอบหมาย​ให้​ไป​ที่​ไหน. ถึง​กระนั้น มี​บาง​คน​ได้​ยื่น​ใบ​สมัคร.

ก่อน​เล่า​ประสบการณ์​ของ​ผม​หลัง​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​เป็น​เรื่อง​เป็น​ราว ผม​ขอ​เล่า​ย้อน​ไป​ปี​ที่​ผม​เกิด นั่น​คือ​ปี 1919. มี​เหตุ​การณ์​หลาย​อย่าง​อุบัติ​ขึ้น​ก่อน​สงคราม​และ​ใน​ระหว่าง​สงคราม​ซึ่ง​มี​ผล​กระทบ​ชีวิต​ผม​อย่าง​ใหญ่​หลวง.

ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​จาก​คน​ที่​ถูก​เรียก​เป็น​แกะ​ดำ

ตอน​ที่​แม่​ตั้ง​ครรภ์​ผม ซึ่ง​เป็น​ลูก​คน​แรก แม่​อธิษฐาน​ว่า​ถ้า​ลูก​เป็น​ผู้​ชาย ลูก​คง​จะ​ได้​เป็น​มิชชันนารี. พี่​ชาย​ของ​แม่​เป็น​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ ชื่อ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​สมัย​นั้น แต่​ญาติ​ข้าง​แม่​ถือ​ว่า​ลุง​เป็น​แกะ​ดำ​ใน​ครอบครัว. บ้าน​ของ​เรา​อยู่​ใกล้​กรุง​โคเปนเฮเกน และ​เมื่อ​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​จัด​การ​ประชุม​ใหญ่​ประจำ​ปี​ขึ้น​คราว​ใด แม่​ก็​จะ​เชิญ​ลุง​โทมัส​ซึ่ง​อยู่​ห่าง​ไกล​มา​พัก​ที่​บ้าน​ของ​เรา. เมื่อ​มา​ถึง​ปี 1930 ความ​รู้​ที่​น่า​ทึ่ง​ของ​ลุง​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​การ​หา​เหตุ​ผล​ที่​สม​เหตุ​สม​ผล​นั้น​ทำ​ให้​แม่​เชื่อ​มั่น​จน​กลาย​มา​เป็น​นัก​ศึกษา​พระ​คัมภีร์.

แม่​เป็น​คน​รัก​คัมภีร์​ไบเบิล. ท่าน​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​สั่ง​ที่​พระ​บัญญัติ 6:7 และ​ได้​สอน​ผม​และ​น้อง​สาว ‘เมื่อ​นั่ง​อยู่​ใน​เรือน, เดิน​ใน​หน​ทาง, นอน​ลง, หรือ​เมื่อ​ลุก​ขึ้น.’ ต่อ​มา ผม​เข้า​ร่วม​งาน​ประกาศ​ตาม​บ้าน​เรือน. ผม​ชอบ​ถก​เรื่อง​จิตวิญญาณ​อมตะ​และ​เรื่อง​ไฟ​นรก ซึ่ง​คริสตจักร​ต่าง ๆ สอน​กัน​อยู่. ผม​สามารถ​ชี้​ให้​เห็น​ได้​กระจ่าง​จาก​พระ​คัมภีร์​ว่า​คำ​สอน​เหล่า​นั้น​ผิด.—บทเพลง​สรรเสริญ 146:3, 4; ท่าน​ผู้​ประกาศ 9:5, 10; ยะเอศเคล 18:4.

ครอบครัว​ของ​เรา​มา​เป็น​อัน​หนึ่ง​อัน​เดียว​กัน

หลัง​การ​ประชุม​ใหญ่​ปี 1937 ที่​กรุง​โคเปนเฮเกน สำนักงาน​สาขา​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​เดนมาร์ก​มี​ความ​จำเป็น​ต้องการ​คน​ช่วย​ทำ​งาน​ชั่ว​คราว​ที่​คลัง​สรรพหนังสือ. ผม​เพิ่ง​เรียน​จบ​วิทยาลัย​พาณิชยการ​และ​ไม่​มี​ภาระ​ผูก​มัด ฉะนั้น ผม​จึง​เสนอ​ตัว​ช่วย​งาน​ที่​นั่น. เมื่อ​เสร็จ​งาน​ที่​คลัง​แห่ง​นั้น ผม​ถูก​ขอ​ให้​ช่วย​งาน​ที่​สำนักงาน​สาขา. จาก​นั้น​ไม่​นาน ผม​จาก​บ้าน​ไป​อยู่​ที่​สาขา​โคเปนเฮเกน แม้​ตอน​นั้น​ยัง​ไม่​ได้​รับ​บัพติสมา. การ​คบหา​สมาคม​กับ​คริสเตียน​อาวุโส​ทุก ๆ วัน​ได้​ช่วย​ผม​ให้​ก้าว​หน้า​ฝ่าย​วิญญาณ. ปี​ถัด​มา วัน​ที่ 1 มกราคม 1938 ผม​แสดง​สัญลักษณ์​การ​อุทิศ​ตัว​แด่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ด้วย​การ​รับ​บัพติสมา​ใน​น้ำ.

เดือน​กันยายน 1939 สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​สอง​ได้​ก่อ​ตัว​ขึ้น. ต่อ​จาก​นั้น วัน​ที่ 9 เมษายน 1940 กองทัพ​เยอรมัน​เข้า​ยึด​ครอง​เดนมาร์ก. เนื่อง​จาก​ชาว​เดนมาร์ก​ได้​รับ​อิสระ​เสรีภาพ​ส่วน​บุคคล​มาก​พอ​สม​ควร พวก​เรา​จึง​สามารถ​ทำ​กิจกรรม​การ​ประกาศ​ของ​เรา​ได้​ต่อ​ไป.

ครั้น​แล้ว​มี​เรื่อง​น่า​ประหลาด​ใจ​เกิด​ขึ้น. พ่อ​ได้​เปลี่ยน​มา​เป็น​พยาน​ฯ ที่​ภักดี, เอา​การ​เอา​งาน, ทำ​ให้​ครอบครัว​ของ​เรา​มี​ความ​สุข​อย่าง​เต็ม​เปี่ยม. ด้วย​เหตุ​นี้ เมื่อ​ผม​พร้อม​กับ​ชาย​ชาว​เดนมาร์ก​อีก​สี่​คน​ได้​รับ​เชิญ​เข้า​เรียน​ที่​กิเลียด​รุ่น​ที่​แปด ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ให้​การ​สนับสนุน​ผม​เต็ม​ที่. หลัก​สูตร​ห้า​เดือน​เริ่ม​เดือน​กันยายน 1946 ณ อาณา​บริเวณ​อัน​สวย​งาม​นอก​เมือง​เซาท์แลนซิง รัฐ​นิวยอร์ก.

การ​ฝึก​อบรม​ที่​กิเลียด และ​หลัง​จาก​นั้น

กิเลียด​เปิด​โอกาส​ให้​พบ​เพื่อน​ใหม่​ที่​แสน​วิเศษ. เย็น​วัน​หนึ่ง ขณะ​เดิน​เล่น​รอบ ๆ บริเวณ​โรง​เรียน​กับ​ฮาโรลด์ คิง จาก​ประเทศ​อังกฤษ เรา​พูด​คุย​กัน​เรื่อง​ที่​จะ​ถูก​ส่ง​ไป​ประเทศ​ไหน​ภาย​หลัง​จบ​หลัก​สูตร​การ​อบรม. ฮาโรลด์​เอ่ย​ขึ้น​ว่า “ผม​คิด​ว่า​คง​จะ​ไม่​เห็น​หน้าผา​ขาว​แห่ง​ช่องแคบ​โดเวอร์​เป็น​ครั้ง​สุด​ท้าย​หรอก​นะ.” เขา​พูด​ถูก แต่​นั่น​ก็​นาน​ถึง 17 ปี​ที​เดียว​กว่า​เขา​จะ​ได้​กลับ​ไป​เห็น​ประเทศ​อังกฤษ​อีก​ครั้ง​หนึ่ง มิ​หนำ​ซ้ำ​ช่วง​เวลา​นั้น​เขา​ถูก​ขัง​เดี่ยว​ใน​คุก​เมือง​จีน​สี่​ปี​ครึ่ง! *

หลัง​จบ​หลัก​สูตร​การ​ศึกษา​แล้ว ผม​ถูก​ส่ง​ไป​ปฏิบัติ​งาน​ที่​รัฐ​เทกซัส สหรัฐ​อเมริกา ฐานะ​ผู้​ดู​แล​เดิน​ทาง เป็น​การ​ออก​ไป​เยี่ยม​ประชาคม​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​ที่​ต่าง ๆ ช่วย​สนับสนุน​พวก​เขา​ฝ่าย​วิญญาณ. ผม​ได้​รับ​การ​ต้อนรับ​อย่าง​เต็ม​อก​เต็ม​ใจ. สำหรับ​พวก​พี่​น้อง​ใน​เทกซัส การ​ได้​ต้อนรับ​ชาย​หนุ่ม​จาก​ยุโรป​ซึ่ง​เพิ่ง​จบ​จาก​โรง​เรียน​กิเลียด​นั้น​น่า​สนใจ​ไม่​น้อย. แต่​ผม​อยู่​ที่​เทกซัส​เพียง​เจ็ด​เดือน​เท่า​นั้น แล้ว​ถูก​เรียก​ตัว​ไป​ยัง​สำนักงาน​ใหญ่​แห่ง​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​บรุกลิน นิวยอร์ก. ที่​นั่น บราเดอร์​นอรร์​ได้​มอบหมาย​ให้​ผม​ทำ​งาน​ใน​สำนักงาน พร้อม​แนะ​นำ​ให้​เรียน​รู้​วิธี​ทำ​งาน​แต่​ละ​แผนก​ว่า​ลุ​ล่วง​ไป​ได้​อย่าง​ไร. ครั้น​แล้ว เมื่อ​ผม​กลับ​ประเทศ​เดนมาร์ก ผม​จะ​ต้อง​นำ​เอา​สิ่ง​ที่​ได้​เรียน​รู้​ไป​ใช้​ให้​ได้ เพื่อ​ทุก​อย่าง​จะ​ดำเนิน​เป็น​ระบบ​เดียว​กัน​กับ​ที่​บรุกลิน. แนว​คิด​เช่น​นี้​ก็​เพื่อ​ให้​การ​ปฏิบัติ​งาน​ใน​สาขา​ต่าง ๆ ทั่ว​โลก​สอด​ประสาน​กัน​อย่าง​มี​ประสิทธิภาพ​มาก​ขึ้น. ต่อ​มา บราเดอร์​นอรร์​ให้​ผม​ย้าย​ไป​ประเทศ​เยอรมนี.

การ​นำ​เอา​คำ​แนะ​นำ​ไป​ใช้​ใน​สาขา​ประเทศ​ต่าง ๆ

เมื่อ​ผม​ไป​ถึง​เมือง​วีสบาเดิน ประเทศ​เยอรมนี​ใน​เดือน​กรกฎาคม 1949 เมือง​ใหญ่​หลาย​เมือง​ใน​ประเทศ​ยัง​อยู่​ใน​สภาพ​เสียหาย​ยับเยิน. ผู้​นำ​หน้า​ใน​งาน​ประกาศ​ได้​แก่​พวก​ผู้​ชาย​ซึ่ง​เคย​ถูก​ข่มเหง​ตั้ง​แต่​สมัย​ฮิตเลอร์​ยึด​อำนาจ​ใน​ปี 1933. บาง​คน​เคย​ติด​คุก​และ​อยู่​ใน​ค่าย​กัก​กัน​นาน​แปด​ปี, สิบ​ปี, หรือ​มาก​กว่า​นั้น! ผม​ทำ​งาน​ร่วม​กับ​ผู้​รับใช้​เหล่า​นี้​ของ​พระ​ยะโฮวา​นาน​ถึง​สาม​ปี​ครึ่ง. ตัว​อย่าง​อัน​โดด​เด่น​ของ​พวก​เขา​สะกิด​ใจ​ผม​ให้​นึก​ถึง​ข้อ​คิด​เห็น​ของ​นัก​ประวัติศาสตร์​หญิง​ชาว​เยอรมัน​ชื่อ​กาบรีเอลา โยนาน เธอ​เขียน​ไว้​ว่า “หาก​ปราศจาก​ตัว​อย่าง​ของ​คริสเตียน​กลุ่ม​นี้​ที่​ได้​ยืนหยัด​มั่นคง​ภาย​ใต้​อำนาจ​เผด็จการ​สังคม​นิยม​แห่ง​ชาติ หลัง​จาก​เหตุ​การณ์​ที่​ค่าย​เอาชวิทซ์​และ​การ​สังหาร​หมู่​พลเรือน​โดย​พวก​นาซี เรา​คง​สงสัย​ว่า​เป็น​ไป​ได้​หรือ​ไม่​ที่​จะ​ปฏิบัติ​ตาม​หลัก​คำ​สอน​คริสเตียน​ของ​พระ​เยซู.”

งาน​ที่​ผม​ดู​แล​ใน​สาขา​เป็น​ลักษณะ​เดียว​กัน​กับ​ที่​ผม​เคย​ทำ​ใน​เดนมาร์ก คือ​แนะ​นำ​วิธี​ดำเนิน​การ​ของ​องค์การ​แบบ​ใหม่​และ​เป็น​แบบ​เดียว​กัน. ทันที​ที่​พี่​น้อง​ชาว​เยอรมัน​เข้าใจ​ว่า​การ​ปรับ​เปลี่ยน​ใด ๆ นั้น ไม่​ใช่​การ​ตำหนิ​วิธี​ทำ​งาน​ของ​พวก​เขา ทว่า​ถึง​เวลา​ที่​จะ​ร่วม​มือ​กัน​ใกล้​ชิด​ยิ่ง​ขึ้น​ระหว่าง​สาขา​ใน​ประเทศ​ต่าง ๆ กับ​สำนักงาน​ใหญ่ พี่​น้อง​เหล่า​นั้น​รู้สึก​กระตือรือร้น​และ​ได้​ตอบ​สนอง​ด้วย​เจตนารมณ์​อัน​ดี​โดย​ให้​ความ​ร่วม​มือ.

ปี 1952 มี​จดหมาย​จาก​สำนักงาน​ของ​บราเดอร์​นอรร์​ให้​ผม​ย้าย​ไป​ยัง​สาขา​กรุง​เบิร์น สวิตเซอร์แลนด์. ผม​ได้​รับ​มอบ​หน้า​ที่​ใน​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​สาขา​ประเทศ​นั้น​ตั้ง​แต่ 1 มกราคม 1953.

ประสบ​ความ​ชื่นชม​ยินดี​ใหม่ ๆ ใน​สวิตเซอร์แลนด์

ไม่​นาน​หลัง​จาก​มา​ถึง​สวิตเซอร์แลนด์ ผม​ได้​รู้​จัก​เอสเทอร์​ใน​ช่วง​การ​ประชุม​ใหญ่ ต่อ​มา​เรา​ตก​ลง​หมั้น​กัน. เดือน​สิงหาคม ปี 1954 บราเดอร์​นอรร์​สั่ง​ผม​ไป​ที่​บรุกลิน ซึ่ง​ผม​ได้​ไป​เห็น​ลักษณะ​งาน​แบบ​ใหม่​และ​น่า​ตื่นเต้น​จริง ๆ. เนื่อง​จาก​สำนักงาน​สาขา​ทั่ว​โลก​ขยาย​ตัว​มาก​ขึ้น​ทั้ง​ปริมาณ​และ​ขนาด จึง​มี​การ​นำ​เอา​วิธี​การ​ใหม่ ๆ มา​ใช้. โลก​ถูก​แบ่ง​ออก​เป็น​โซน แต่​ละ​โซน​มี​ผู้​ดู​แล​โซน​หนึ่ง​คน. ผม​รับ​มอบ​หน้า​ที่​ดู​แล​งาน​สอง​โซน: แถบ​ยุโรป​และ​แถบ​เมดิเตอร์เรเนียน.

ไม่​นาน​หลัง​การ​ไป​เยือน​บรุกลิน​ใน​ช่วง​สั้น ๆ ผม​กลับ​สวิตเซอร์แลนด์ และ​เตรียม​ตัว​สำหรับ​งาน​โซน. แล้ว​ผม​ก็​แต่งงาน​กับ​เอสเทอร์ และ​เธอ​ได้​ร่วม​งาน​รับใช้​กับ​ผม​ใน​สำนักงาน​สาขา​สวิตเซอร์แลนด์. การ​เดิน​ทาง​รอบ​แรก​ของ​ผม​เป็น​การ​เยี่ยม​บ้าน​มิชชันนารี​และ​สำนักงาน​สาขา​ที่​อิตาลี, กรีซ, ไซปรัส, และ​อีก​หลาย​ประเทศ​ใน​ตะวัน​ออก​กลาง รวม​ถึง​ประเทศ​ชายฝั่ง​แอฟริกา​เหนือ, สเปน, และ​โปรตุเกส รวม​ทั้ง​สิ้น 13 ประเทศ. หลัง​จาก​กลับ​มา​แวะ​ที่​กรุง​เบิร์น ผม​เดิน​ทาง​ต่อ​และ​เยี่ยม​กลุ่ม​ประเทศ​แถบ​ยุโรป​ซึ่ง​อยู่​ทาง​ตะวัน​ตก​ของ​ม่าน​เหล็ก. ชีวิต​คู่​ใน​ช่วง​ปี​แรก​นั้น ผม​ต้อง​จาก​บ้าน​ไป​รับใช้​พี่​น้อง​คริสเตียน​นาน​ถึง​หก​เดือน.

สภาพการณ์​เปลี่ยน​ไป

ปี 1957 เอสเทอร์​รู้​ตัว​ว่า​ตั้ง​ครรภ์ และ​เนื่อง​จาก​สำนักงาน​สาขา​รับ​เฉพาะ​ครอบครัว​ที่​ไม่​มี​บุตร เรา​จึง​ตก​ลง​ใจ​ย้าย​ไป​เดนมาร์ก ซึ่ง​คุณ​พ่อ​ผม​ยินดี​ให้​เรา​ไป​พัก​อยู่​กับ​ท่าน. เอสเทอร์​ดู​แล​เอา​ใจ​ใส่​ทั้ง​ราเคล ลูก​สาว​ของ​เรา​และ​คุณ​พ่อ​ด้วย ขณะ​ที่​ผม​ช่วย​งาน​ใน​สำนักงาน​สาขา​ที่​เพิ่ง​สร้าง​เสร็จ. ผม​ได้​ทำ​หน้า​ที่​เป็น​ผู้​สอน​ใน​โรง​เรียน​พระ​ราชกิจ​ซึ่ง​บรรดา​ผู้​ดู​แล​ประชาคม​เข้า​รับ​การ​อบรม และ​ยัง​คง​ปฏิบัติ​งาน​ฐานะ​ผู้​ดู​แล​โซน​ต่อ​ไป.

งาน​ดู​แล​โซน​หมาย​ถึง​การ​เดิน​ทาง​เป็น​ช่วง​เวลา​นาน ด้วย​เหตุ​นี้​จึง​ไม่​ค่อย​ได้​เจอ​หน้า​ลูก​สาว. และ​นี่​มี​ผล​สืบ​เนื่อง. คราว​หนึ่ง​ผม​อยู่​ทำ​งาน​นาน​พอ​สม​ควร​ใน​นคร​ปารีส เนื่อง​จาก​ได้​จัด​ตั้ง​แผนก​การ​พิมพ์​ขนาด​ย่อม​ขึ้น​ที่​นั่น. เอสเทอร์​กับ​ราเคล​เดิน​ทาง​โดย​รถไฟ​มา​เยี่ยม​ผม และ​เมื่อ​ถึง​สถานี​รถไฟ​การ์ ดือ นอร์. เลโอโปล ชองแต​จาก​สาขา​กับ​ผม​ได้​ไป​รับ​เขา. ราเคล​ยืน​ที่​บันได​ตู้​รถไฟ มอง​หน้า​เลโอโปล​ที มอง​หน้า​ผม​ที และ​ก็​มอง​เลโอโปล​อีก แต่​แล้ว​ลูก​ก็​อ้า​แขน​โผ​เข้า​กอด​เลโอโปล!

มี​การ​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​ใหญ่​โต​อีก​ครั้ง​หนึ่ง​ตอน​ผม​อายุ 45 ผม​เลิก​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​หัน​มา​ประกอบ​อาชีพ​เพื่อ​หา​ราย​ได้​จุนเจือ​ครอบครัวของ​ผม. เนื่อง​จาก​ผม​ผ่าน​ประสบการณ์​ฐานะ​ผู้​เผยแพร่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา ผม​จึง​ได้​งาน​เป็น​ผู้​จัด​การ​ฝ่าย​ส่ง​ออก. หลัง​จาก​ผม​ทำ​งาน​ที่​บริษัท​แห่ง​เดียว​นี้​ประมาณ​เก้า​ปี และ​ราเคล​ก็​สำเร็จ​การ​ศึกษา​แล้ว เรา​จึง​ตัดสิน​ใจ​ตอบรับ​การ​สนับสนุน​ให้​ย้าย​ไป​ยัง​เขต​งาน​ที่​มี​ความ​ต้องการ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​มาก​กว่า.

เมื่อ​มอง​หา​โอกาส​ที่​จะ​หา​งาน​ได้​ใน​นอร์เวย์ ผม​ได้​ติด​ต่อ​ตัว​แทน​จัด​หา​งาน. คำ​ตอบ​ไม่​ช่วย​ให้​เกิด​กำลังใจ​มาก​เท่า​ใด. ความ​หวัง​นั้น​ริบหรี่​เหลือ​เกิน​สำหรับ​ชาย​วัย 55. แม้​กระนั้น ผม​ได้​ติด​ต่อ​ไป​ยัง​สำนักงาน​สาขา​ใน​กรุง​ออสโล ครั้น​แล้ว​จัด​การ​เช่า​บ้าน​ใกล้​เมือง​เดรอบัค ตั้ง​ความ​หวัง​ไว้​ว่า​โอกาส​ได้​งาน​ทำ​คง​จะ​มี​มา​เอง. ผม​ได้​งาน​จริง และ​ถัด​จาก​นั้น​เวลา​สำหรับ​งาน​รับใช้​ราชอาณาจักร​ใน​นอร์เวย์​อัน​เปี่ยม​ล้น​ด้วย​ความ​ชื่นชม​ยินดี​ก็​ตาม​มา.

ช่วง​เวลา​ที่​นับ​ว่า​ดี​ที่​สุด​คือ​ตอน​ที่​พวก​เรา​ส่วน​ใหญ่​ใน​ประชาคม​เดิน​ทาง​ขึ้น​เหนือ​ไป​ทำ​งาน​ใน​เขต​งาน​ที่​ยัง​ไม่​ถูก​มอบหมาย. พวก​เรา​เช่า​บ้าน​พัก​หลัง​เล็ก ๆ ใน​บริเวณ​ที่​จัด​เป็น​ค่าย​พัก​แรม และ​ทุก​วัน​เรา​มัก​ออก​ไป​เยี่ยม​ตาม​ไร่​ที่​กระจาย​กัน​อยู่​ตาม​เทือก​เขา​ที่​สวย​งาม. เรา​ถือ​ว่า​เป็น​ความ​เพลิดเพลิน​อย่าง​ยิ่ง​ที่​ได้​บอก​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​แก่​ผู้​คน​แถว​นั้น​ที่​มี​ไมตรี​จิต. มี​การ​จ่าย​แจก​สรรพหนังสือ​ออก​ไป​ไม่​น้อย แต่​การ​กลับ​เยี่ยม​คง​ต้อง​รอ​ปี​ถัด​ไป. กระนั้น ผู้​คน​ไม่​ลืม​พวก​เรา! เอสเทอร์​กับ​ราเคล​ยัง​จด​จำ​สมัย​ที่​เรา​ได้​กลับ​ไป​ที่​นั่น​และ​ได้​รับ​การ​สวมกอด​เหมือน​เป็น​สมาชิก​ใน​ครอบครัว​ที่​พราก​จาก​กัน​ไป​นาน ๆ. หลัง​จาก​อยู่​ใน​นอร์เวย์​สาม​ปี เรา​หวน​กลับ​สู่​เดนมาร์ก​อีก.

ความ​ปีติ​ยินดี​จาก​ชีวิต​ครอบครัว

ต่อ​มา​ไม่​นาน​ราเคล​หมั้น​กับ​นีลส์ ฮอย์ออ ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​ประเภท​ไพโอเนียร์​ที่​มี​ใจ​แรง​กล้า. ครั้น​ทั้ง​สอง​แต่งงาน​แล้ว นีลส์​กับ​ราเคล​ยัง​คง​เป็น​ไพโอเนียร์​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​กระทั่ง​เขา​มี​ลูก. นีลส์​เป็น​ทั้ง​สามี​ที่​ดี​และ​เป็น​พ่อ​ที่​รัก​ลูก​เสมอ​มา เขา​เอา​ใจ​ใส่​ครอบครัว​อย่าง​แท้​จริง. เช้า​วัน​หนึ่ง เขา​พา​ลูก​ชาย​นั่ง​จักรยาน​ไป​ที่​ชาย​หาด​เพื่อ​เฝ้า​ดู​ตะวัน​ขึ้น. ชาย​คน​หนึ่ง​ถาม​ลูก​ชาย​ว่า​เขา​ไป​ทำ​อะไร​ที่​นั่น. เด็ก​ตอบ​ว่า “เรา​อธิษฐาน​ทูล​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​ครับ.”

สอง​สาม​ปี​ต่อ​มา ผม​กับ​เอสเทอร์​ได้​เป็น​พยาน​รู้​เห็น​การ​รับ​บัพติสมา​ของ​หลาน​คน​โต​สอง​คน​ของ​เรา คือ​เบนยามิน​และ​เน็ดยา. หนึ่ง​ใน​จำนวน​ผู้​เฝ้า​สังเกตการณ์​ได้​แก่​นีลส์ เขา​ปราด​เข้า​มา​ยืน​อยู่​ตรง​หน้า​ผม​พอ​ดี. เขา​มอง​หน้า​ผม​พร้อม​กับ​พูด​ว่า “ลูก​ผู้​ชาย​ไม่​ร้องไห้.” แต่​ชั่ว​อึด​ใจ​เดียว​เรา​ต่าง​ก็​กลั้น​น้ำตา​ไม่​อยู่​ขณะ​ที่​สวมกอด​กัน. น่า​ปลาบปลื้ม​ยินดี​เสีย​นี่​กระไร​ที่​ได้​ลูก​เขย​ซึ่ง​คุณ​จะ​หัวเราะ​และ​ร้องไห้​ด้วย​กัน​ได้!

ยัง​คง​ปรับ​ตัว​เข้า​กับ​สภาพการณ์

เรา​ได้​รับ​พระ​พร​อีก​ประการ​หนึ่ง​ใน​คราว​ที่​ผม​กับ​เอสเทอร์​ถูก​ทาบทาม​ให้​กลับ​เข้า​ไป​รับใช้​ใน​สำนักงาน​สาขา​ประเทศ​เดนมาร์ก. แต่​ช่วง​เวลา​นั้น​อยู่​ใน​ระหว่าง​ดำเนิน​การ​ตระเตรียม​สร้าง​สำนักงาน​สาขา​ใหญ่​กว่า​เดิม​ที่​เมือง​ฮอลเบค. ผม​มี​สิทธิ​พิเศษ​ได้​ทำ​งาน​คุม​การ​ก่อ​สร้าง ซึ่ง​งาน​ทุก​อย่าง​ทำ​โดย​อาสา​สมัคร​ที่​ไม่​ได้​รับ​ค่า​จ้าง. ทั้ง​ที่​เป็น​ช่วง​ฤดู​หนาว​ที่​รุนแรง พอ​ถึง​ปลาย​ปี 1982 งาน​ก่อ​สร้าง​ใน​ส่วน​สำคัญ ๆ เป็น​อัน​ว่า​เสร็จ​เรียบร้อย และ​พวก​เรา​ต่าง​ก็​รู้สึก​ดีใจ​ที่​ได้​ย้าย​เข้า​ไป​อยู่​ใน​อาคาร​กว้าง​ใหญ่ และ​ดี​กว่า​เดิม!

หลัง​จาก​นั้น​ไม่​นาน ผม​เข้า​ทำ​งาน​ประจำ​สำนักงาน​ซึ่ง​ผม​รู้สึก​พอ​ใจ​มาก ส่วน​เอสเทอร์​เป็น​พนักงาน​สลับ​สาย​โทรศัพท์. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ต่อ​มา​เธอ​ต้อง​เข้า​รับ​การ​ผ่าตัด​กระดูก​สะโพก และ​หนึ่ง​ปี​ครึ่ง​จาก​นั้น เธอ​ต้อง​รับ​การ​ผ่าตัด​ถุง​น้ำ​ดี. ถึง​แม้​บุคลากร​ใน​สาขา​พา​กัน​แสดง​น้ำใจ​กรุณา​ต่อ​เรา​มาก​มาย แต่​เรา​ตัดสิน​ใจ​ว่า​คง​ดี​กว่า​สำหรับ​ทุก​คน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​ถ้า​เรา​ออก​ไป​อยู่​ข้าง​นอก. แล้ว​เรา​ก็​ได้​ย้าย​เข้า​ประชาคม​ที่​ลูก​สาว​และ​ครอบครัว​สมทบ​อยู่.

เวลา​นี้​สุขภาพ​ของ​เอสเทอร์​ไม่​สู้​จะ​ดี​นัก. กระนั้น ผม​พูด​ได้​จริง ๆ ว่า​ตลอด​หลาย​ปี​ที่​เรา​ทำ​งาน​รับใช้​มา​ด้วย​กัน สภาพการณ์​หลาย​อย่าง​ได้​เปลี่ยน​แปลง​ไป​มาก เธอ​เป็น​ผู้​ช่วย​ที่​เยี่ยมยอด​และ​เป็น​เพื่อน​คู่​ทุกข์​คู่​ยาก. แม้​ว่า​เสื่อม​กำลัง แต่​เรา​ทั้ง​สอง​ยัง​คง​มี​ส่วน​ร่วม​งาน​เผยแพร่​แม้​ไม่​มาก​ก็​ตาม. เมื่อ​ผม​ไตร่ตรอง​วิถี​ชีวิต​ของ​ผม ผม​ยัง​จำ​ถ้อย​คำ​ใน​บทเพลง​สรรเสริญ​ด้วย​ความ​รู้สึก​ขอบคุณ​ที่​ว่า “ข้า​แต่​พระเจ้า, พระองค์​ได้​ทรง​ฝึก​สอน​ข้าพเจ้า​ตั้ง​แต่​เด็ก ๆ มา.”—บทเพลง​สรรเสริญ 71:17.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 15 ดู​หอสังเกตการณ์ (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 15 กรกฎาคม 1963 หน้า 437-442.

[ภาพ​หน้า 24]

การ​ขน​ถ่าย​สรรพหนังสือ​ที่​สาขา​ประเทศ​เยอรมนี​ขณะ​ดำเนิน​การ​ก่อ​สร้าง​ใน​ปี 1949

[ภาพ​หน้า 25]

เพื่อน​ร่วม​งาน​ของ​ผม รวม​ทั้ง​บรรดา​พยาน​ฯ เหล่า​นี้​ที่​ได้​กลับ​มา​หลัง​จาก​ถูก​ขัง​ใน​ค่าย​กัก​กัน

[ภาพ​หน้า 26]

กับ​เอสเทอร์​ใน​ปัจจุบัน​และ​ภาพ​วัน​แต่งงาน​ของ​เรา​ที่​เบเธล กรุง​เบิร์น ตุลาคม 1955