ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คริสเตียนควรหวงแหนไหม?

คริสเตียนควรหวงแหนไหม?

คริสเตียน​ควร​หวง​แหน​ไหม?

ความ​หวง​แหน​เป็น​ลักษณะ​ที่​คริสเตียน​ควร​ปลูกฝัง​ไหม? พวก​เรา​ฐานะ​เป็น​คริสเตียน​ได้​รับ​การ​กระตุ้น​ให้ “แสวง​หา​ความ​รัก” และ​เรา​ได้​มา​รับ​รู้​ว่า “ความ​รัก​ไม่​อิจฉา​ริษยา.” (1 โกรินโธ 13:4, ล.ม.; 14:1) นอก​จาก​นี้ เรา​ยัง​ได้​เรียน​รู้​ด้วย​ว่า “พระ​ยะโฮวา . . . เป็น​พระเจ้า​ผู้​หวง​แหน” และ​มี​บัญชา​ให้​เรา “เป็น​ผู้​เลียน​แบบ​พระเจ้า.” (เอ็กโซโด 34:14; เอเฟโซ 5:1, ล.ม.) ข้อ​ความ​เหล่า​นี้​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ทำ​ให้​บาง​คน​มี​คำ​ถาม​ขึ้น​ใน​ใจ. ทำไม​ล่ะ?

เพราะ​ทั้ง​คำ​ภาษา​ฮีบรู​และ​ภาษา​กรีก​ที่​แปล​ออก​มา​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ว่า “อิจฉา​ริษยา” และ “หวง​แหน” นั้น​เป็น​คำ​เดียว​กัน​และ​มี​ความ​หมาย​กว้าง. ความ​หมาย​ของ​คำ​เหล่า​นั้น​อาจ​แสดง​นัย​ทั้ง​แง่​บวก​หรือ​แง่​ลบ ขึ้น​อยู่​กับ​ว่า​ใช้​คำ​เหล่า​นั้น​อย่าง​ไร. ตัว​อย่าง​เช่น คำ​ฮีบรู​ที่​ได้​รับ​การ​แปล​เป็น “หวง​แหน” นั้น​อาจ​หมาย​ความ​ว่า “ยืน​ยัน​ใน​เรื่อง​ความ​เลื่อมใส​โดย​เฉพาะ; ไม่​ยอม​ให้​มี​คู่​แข่ง; ใจ​แรง​กล้า; กระตือรือร้น; หวง​แหน [ทั้ง​ใน​ทาง​ที่​ชอบธรรม​และ​ใน​ทาง​ที่​เป็น​บาป]; ริษยา.” คำ​ภาษา​กรีก​ที่​ตรง​กับ​คำ​นี้​ก็​มี​ความ​หมาย​คล้าย​กัน. คำ​เหล่า​นี้​อาจ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​อารมณ์​ความ​รู้สึก​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง​ต่อ​ผู้​ที่​อยู่​ใน​ข่าย​สงสัย​ว่า​เป็น​คู่​แข่ง หรือ​ต่อ​ผู้​ที่​ตน​คิด​ว่า​ได้​เปรียบ. (สุภาษิต 14:30) คำ​ภาษา​ฮีบรู​และ​ภาษา​กรีก​เหล่า​นั้น​อาจ​พาด​พิง​ถึง​การ​แสดง​คุณลักษณะ​ใน​ด้าน​ดี​ตาม​ที่​ได้​รับ​จาก​พระเจ้า นั่น​คือ ความ​ต้องการ​จะ​ปก​ป้อง​คน​ที่​เรา​รัก​ให้​พ้น​ภัย​อันตราย.—2 โกรินโธ 11:2.

ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เยี่ยม

พระ​ยะโฮวา​ได้​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​เยี่ยม​ใน​การ​แสดง​ความ​หวง​แหน​อย่าง​เหมาะ​สม. เจตนา​ของ​พระองค์​บริสุทธิ์​สะอาด ได้​รับ​การ​กระตุ้น​จาก​พระ​ประสงค์​ที่​จะ​พิทักษ์​ไพร่​พล​ของ​พระองค์​พ้น​จาก​ความ​เสื่อม​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​ทาง​ศีลธรรม. ใน​การ​เปรียบ​เทียบ​ไพร่​พล​ของ​พระองค์​สมัย​โบราณ​เป็น​ซีโอน พระองค์​ตรัส​ดัง​นี้: “เรา​ได้​มี​ความ​หวง​แหน​ต่อ​ซีโอน​ด้วย​ความ​หวง​แหน​อัน​ใหญ่, แล​เรา​มี​ความ​หึงสา​ต่อ​เขา​ทั้ง​หลาย​ด้วย​ความ​กริ้ว​อัน​ใหญ่.” (ซะคาระยา 8:2) บิดา​ที่​มี​ความ​รักใคร่​ย่อม​ตื่น​ตัว​คอย​ปก​ป้อง​บุตร​ให้​พ้น​อันตราย​ฉัน​ใด พระ​ยะโฮวา​ทรง​พร้อม​ที่​จะ​คุ้มครอง​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ให้​พ้น​อันตราย​ด้าน​ร่าง​กาย​และ​ฝ่าย​วิญญาณ​ฉัน​นั้น.

เพื่อ​ป้องกัน​รักษา​ไพร่​พล​ของ​พระองค์ พระ​ยะโฮวา​ทรง​จัด​ให้​มี​พระ​คำ​ของ​พระองค์​คือ​คัมภีร์​ไบเบิล. คัมภีร์​ไบเบิล​บรรจุ​ถ้อย​คำ​หนุน​กำลังใจ​เป็น​อย่าง​มาก​เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​อย่าง​สุขุม ทั้ง​มี​ตัว​อย่าง​ดี ๆ มาก​มาย​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​กระทำ​อย่าง​นั้น. เรา​อ่าน​ที่​ยะซายา 48:17 ว่า “เรา​คือ​ยะโฮวา, พระเจ้า​ของ​เจ้า​ผู้​สั่ง​สอน​เจ้า, เพื่อ​ประโยชน์​แก่​ตัว​ของ​เจ้า​เอง, และ​ผู้​นำ​เจ้า​ให้​ดำเนิน​ใน​ทาง​ที่​เจ้า​ควร​ดำเนิน.” ช่าง​เป็น​การ​ชู​ใจ​สัก​เพียง​ใด​ที่​รู้​ว่า​เพราะ​ความ​หวง​แหน​นี้​เอง พระองค์​จึง​ทรง​ใฝ่​พระทัย​และ​เฝ้า​พิทักษ์​พวก​เรา! หาก​พระองค์​ไม่​ได้​หวง​แหน​ใน​ทาง​ที่​ดี​เช่น​นี้ พวก​เรา​คง​ประสบ​อันตราย​เสียหาย​ทุก​รูป​แบบ​ที​เดียว เนื่อง​จาก​เรา​ขาด​ประสบการณ์. การ​สำแดง​ความ​หวง​แหน​ของ​พระ​ยะโฮวา​นั้น​หา​ใช่​เพราะ​ความ​เห็น​แก่​ตัว​อย่าง​เด็ดขาด.

ถ้า​อย่าง​นั้น​แล้ว มี​ความ​แตกต่าง​อย่าง​ไร​ระหว่าง​ความ​หวง​แหน​เยี่ยง​พระเจ้า​กับ​ความ​หวง​แหน​ที่​ไม่​สม​ควร? เพื่อ​จะ​พบ​คำ​ตอบ ให้​เรา​พิจารณา​ตัว​อย่าง​ของ​มิระยาม​และ​ตัว​อย่าง​ของ​ฟีนะฮาศ. จง​สังเกต​ว่า​มี​อะไร​กระตุ้น​เขา​ให้​ทำ​อย่าง​ที่​ทำ​ไป.

มิระยาม​และ​ฟีนะฮาศ

มิระยาม​เป็น​พี่​สาว​ของ​โมเซ​และ​อาโรน ผู้​นำ​ชาติ​อิสราเอล​ระหว่าง​เดิน​ทาง​อพยพ​จาก​อียิปต์. ใน​ช่วง​เวลา​ที่​ชาว​อิสราเอล​อยู่​กลาง​ป่า​ทุรกันดาร มิระยาม​เกิด​ความ​รู้สึก​อิจฉา​โมเซ​น้อง​ชาย​ของ​ตน. บันทึก​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​บอก​ดัง​นี้: “มิระยาม​กับ​อาโรน​ได้​พูด​ติ​โมเซ, เพราะ​หญิง​ชาว​เมือง​คูศ​ภรรยา​ของ​โมเซ, . . . เขา​ได้​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ได้​ตรัส​จำเพาะโดย​โมเซ​คน​เดียว​หรือ? พระองค์​ไม่​ได้​ตรัส​โดย​เรา​ด้วย​หรือ?” ดู​เหมือน​ว่า มิระยาม​เป็น​ตัว​ตั้ง​ตัว​ตี​ใน​การ​ต่อ​ต้าน​โมเซ​คราว​นี้ ด้วย​เหตุ​นั้น​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตี​สอน​มิระยาม แต่​ไม่​ได้​ตี​สอน​อาโรน โดย​บันดาล​โรค​เรื้อน​ให้​เกิด​แก่​นาง​นาน​หนึ่ง​สัปดาห์ เนื่อง​จาก​นาง​ประพฤติ​อย่าง​ขาด​ความ​เคารพ​ยำเกรง.—อาฤธโม 12:1-15.

อะไร​ได้​กระตุ้น​มิระยาม​ให้​ต่อ​ต้าน​โมเซ? ความ​เป็น​ห่วง​การ​นมัสการ​แท้​และ​ปรารถนา​อยาก​ปก​ป้อง​เพื่อน​ชาว​อิสราเอล​ให้​พ้น​อันตราย​ใช่​ไหม? ปรากฏ​ชัด​ว่า​ไม่​ใช่. ดู​เหมือน​มิระยาม​ยอม​ให้​ความ​ปรารถนา​ที่​ไม่​ถูก​ต้อง​เข้า​ครอบ​งำ​หัวใจ​ของ​นาง โดย​หวัง​ได้​ชื่อเสียง​และ​สิทธิ​อำนาจ​มาก​กว่า​ที่​มี​อยู่. ฐานะ​เป็น​ผู้​พยากรณ์​หญิง​ใน​ชาติ​อิสราเอล นาง​ย่อม​ได้​รับ​ความ​นับถือ​อย่าง​มาก​อยู่​แล้ว​จาก​ประชาชน​โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​พวก​ผู้​หญิง. นาง​เคย​นำ​พวก​เขา​บรรเลง​ดนตรี​และ​ร้อง​เพลง​หลัง​จาก​ชาว​อิสราเอล​ประสบ​ความ​รอด​ผ่าน​ทะเล​แดง​ได้​อย่าง​อัศจรรย์. มา​ถึง​ตอน​นี้ มิระยาม​อาจ​คิด​กังวล​อย่าง​ไม่​สม​ควร เกรง​ว่า​ฐานะ​เด่น​ของ​ตน​อาจ​ตก​เป็น​ของ​ผู้​ที่​อยู่​ใน​ข่าย​น่า​สงสัย​เป็น​คู่​แข่ง นั่น​คือ​ภรรยา​ของ​โมเซ. เนื่อง​จาก​ถูก​กระตุ้น​ด้วย​ความ​ริษยา​อัน​เห็น​แก่​ตัว นาง​จึง​โต้​เถียง​อย่าง​รุนแรง​กับ​โมเซ บุรุษ​ผู้​ได้​รับ​การ​แต่ง​ตั้ง​จาก​พระ​ยะโฮวา.—เอ็กโซโด 15:1, 20, 21.

ใน​ทาง​กลับ​กัน ฟีนะฮาศ​มี​เจตนา​ต่าง​ออก​ไป​สำหรับ​การ​กระทำ​ของ​เขา. ไม่​นาน​ก่อน​จะ​เข้า​ไป​ถึง​แผ่นดิน​ตาม​คำ​สัญญา ตอน​ที่​ชาว​อิสราเอล​ตั้ง​ค่าย​บน​ที่​ราบ​โมอาบ พวก​ผู้​หญิง​ชาว​โมอาบ​และ​ชาว​มิดยาน​ได้​ล่อ​ลวง​ชาย​อิสราเอล​หลาย​คน​ให้​หลง​ทำ​ผิด​ศีลธรรม​และ​บูชา​รูป​เคารพ. ที่​จะ​ชำระ​ค่าย​ที่​พัก​ให้​ปราศจาก​มลทิน​และ​เพื่อ​พระ​ยะโฮวา​จะ​ทรง​ระงับ​พระ​พิโรธ​อัน​ร้อน​แรง​นั้น บรรดา​ผู้​วินิจฉัย​ของ​ชาติ​อิสราเอล​ได้​รับ​คำ​สั่ง​ให้​สังหาร​ผู้​ชาย​ทุก​คน​ที่​หันเห​ไป​กระทำ​ผิด. ด้วย​จุด​ประสงค์​จะ​ทำ​ผิด​ศีลธรรม ซิมรี​หัวหน้า​ใน​ตระกูล​ซีโมน​ได้​พา​คัศบี​หญิง​ชาว​มิดยาน​เข้า​ไป​ใน​ค่าย​ที่​พัก​อย่าง​หน้า​ด้าน “ตรง​หน้า​บรรดา​พวก​ยิศราเอล​ที่​ประชุม​กัน.” ฟีนะฮาศ​ดำเนิน​การ​ขั้น​เด็ดขาด. เนื่อง​จาก​ความ​หวง​แหน​หรือ​ความ​มี​ใจ​แรง​กล้า​เพื่อ​การ​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​แรง​กระตุ้น และ​ความ​ปรารถนา​จะ​รักษา​ความ​บริสุทธิ์​สะอาด​ทาง​ศีลธรรม​ท่ามกลาง​ค่าย​ที่​พัก ฟีนะฮาศ​จึง​ได้​ประหาร​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ทำ​ผิด​ประเวณี​ภาย​ใน​กระโจม​ของ​พวก​เขา. เขา​ได้​รับ​การ​ยกย่อง​เพราะ​เขา​มี “ความ​โกรธ​หวง​แหน​ไม่​ยอม​ให้​มี​คู่​แข่ง​เลย” เพื่อ​พระ​ยะโฮวา. การ​กระทำ​ของ​ฟีนะฮาศ​โดย​ฉับพลัน​ช่วย​ยับยั้ง​การ​ลง​โทษ​อย่าง​รุนแรง​ไว้​ได้ ซึ่ง​ผู้​คน​ถูก​สังหาร​ไป​แล้ว​ถึง 24,000 คน และ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ตอบ​แทน​ฟีนะฮาศ​ด้วย​สัญญา​ไมตรี​ว่า​จะ​มอบ​หน้า​ที่​ปุโรหิต​ไว้​กับ​เผ่า​พันธุ์​ของ​เขา​อย่าง​ไม่​มี​เวลา​กำหนด.—อาฤธโม 25:4-13, เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล.

มี​ความ​แตกต่าง​อะไร​ระหว่าง​การ​แสดง​ออก​ซึ่ง​ความ​อิจฉา​ริษยา​กับ​ความ​หวง​แหน​ดัง​กล่าว? มิระยาม​แสดง​การ​ต่อ​ต้าน​น้อง​ชาย​เพราะ​ความ​อิจฉา​อย่าง​เห็น​แก่​ตัว ส่วน​ฟีนะฮาศ​ได้​ดำเนิน​การ​ด้วย​ความ​ยุติธรรม​บน​พื้น​ฐาน​ของ​ความ​หวง​แหน​เยี่ยง​พระเจ้า. เช่น​เดียว​กับ​ฟีนะฮาศ บาง​โอกาส​พวก​เรา​น่า​จะ​เกิด​ความ​รู้สึก​ที่​จะ​พูด​อย่าง​ตรง​ไป​ตรง​มา หรือ​ลง​มือ​ทำ​บาง​อย่าง​เพื่อ​ปก​ป้อง​พระ​นาม​ของ​พระ​ยะโฮวา, การ​นมัสการ​พระองค์, และ​ไพร่​พล​ของ​พระองค์.

ความ​หวง​แหน​บน​พื้น​ฐาน​แนว​คิด​ที่​ผิด​พลาด

แต่​เป็น​ไป​ได้​ไหม​ที่​จะ​รู้สึก​หวง​แหน​ใน​แง่​ที่​ผิด? เป็น​ไป​ได้. กรณี​นี้​เคย​เกิด​ขึ้น​ทั่ว​ไป​กับ​ชาว​ยิว​ใน​สมัย​ศตวรรษ​แรก. ด้วย​ความ​หวง​แหน พวก​เขา​ปก​ป้อง​รักษา​พระ​บัญญัติ​ที่​พระเจ้า​ประทาน​แก่​เขา รวม​ทั้ง​ประเพณี​ที่​สืบ​กัน​ต่อ ๆ มา. ด้วย​ความ​พยายาม​จะ​ปก​ป้อง​พระ​บัญญัติ พวก​เขา​ได้​ตั้ง​กฎเกณฑ์​และข้อ​ห้าม​หยุมหยิม​นับ​ไม่​ถ้วน ซึ่ง​กลาย​เป็น​ภาระ​หนัก​สำหรับ​ประชาชน. (มัดธาย 23:4) ใน​เมื่อ​ไม่​สามารถ​หรือ​ไม่​เต็ม​ใจ​จะ​รับ​รู้​ว่า​ตอน​นั้น​พระเจ้า​ได้​นำ​สิ่ง​ที่​เป็น​ตัว​จริง​ซึ่ง​บัญญัติ​ของ​โมเซ​เป็น​เงา​นั้น​เข้า​มา​แทน​แล้ว ความ​หวง​แหน​อย่าง​ผิด ๆ ของ​เขา​ได้​กระตุ้น​ให้​เขา​ระบาย​ความ​โกรธ​ต่อ​สาวก​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​อย่าง​ไม่​อาจ​จะ​ระงับ​ได้. อัครสาวก​เปาโล ซึ่ง​ครั้ง​หนึ่ง​เคย​ภักดี​ต่อ​พระ​บัญญัติ​ด้วย​ความ​หวง​แหน​อย่าง​ไม่​ถูก​ต้อง ท่าน​ได้​ชี้​ให้​เห็น​ว่า​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ปก​ป้อง​พระ​บัญญัติ “มี​ใจ​แรง​กล้า [หวง​แหน] เพื่อ​พระเจ้า; แต่​หา​เป็น​ไป​ตาม​ความ​รู้​ถ่องแท้​ไม่.”—โรม 10:2, ล.ม.; ฆะลาเตีย 1:14.

แม้​แต่​ชาว​ยิว​จำนวน​มาก​ที่​เข้า​มา​เป็น​คริสเตียน​ก็​รู้สึก​ว่า​เป็น​เรื่อง​ยาก​ที่​จะ​หลุด​พ้น​จาก​ความ​ร้อน​รน​เพื่อ​พระ​บัญญัติ​จน​เกิน​ควร​เช่น​นั้น. ภาย​หลัง​การ​เดิน​ทาง​รอบ​ที่​สาม​ใน​ฐานะ​มิชชันนารี เปาโล​ได้​รายงาน​ต่อ​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ใน​ศตวรรษ​แรก​เกี่ยว​กับ​การ​เปลี่ยน​ศาสนา​ของ​ชาติ​ต่าง ๆ. เวลา​นั้น คริสเตียน​ชาว​ยิว​หลาย​พัน​คน “มี​ใจ​ร้อน​รน​ใน​การ​ถือ​พระ​บัญญัติ.” (กิจการ 21:20) เรื่อง​นี้​เกิด​ขึ้น​หลัง​จาก​คณะ​กรรมการ​ปกครอง​ตัดสิน​ไป​แล้ว​หลาย​ปี​ว่า คน​ต่าง​ชาติ​ที่​เป็น​คริสเตียน​ไม่​จำเป็น​ต้อง​รับ​สุหนัต. ประเด็น​ที่​ว่า​ด้วย​การ​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​เป็น​เหตุ​ให้​มี​การ​ถกเถียง​ใน​ประชาคม. (กิจการ 15:1, 2, 28, 29; ฆะลาเตีย 4:9, 10; 5:7-12) ความ​ที่​ไม่​เข้าใจ​ถ่องแท้​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​พระ​ยะโฮวา​ติด​ต่อ​ดำเนิน​การ​กับ​ไพร่​พล​ของ​พระองค์​สมัย​นั้น คริสเตียน​ชาว​ยิว​บาง​คน​จึง​ยืนกราน​ตาม​ทัศนะ​ของ​ตัว​เอง​และ​วิพากษ์วิจารณ์​ผู้​อื่น.—โกโลซาย 2:17; เฮ็บราย 10:1.

ฉะนั้น เรา​ต้อง​หลีก​เลี่ยง​บ่วง​แร้ว​ใน​อัน​ที่​จะ​พยายาม​อย่าง​หวง​แหน​เพื่อ​ปก​ป้อง​ความ​คิด​เห็น​หรือ​แนว​ทาง​ที่​ตน​ยึด​มั่น​ซึ่ง​ไม่​ตั้ง​มั่นคง​บน​พื้น​ฐาน​แห่ง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. เรา​พึง​รับรอง​ความ​เข้าใจ​ใหม่ ๆ ที่​ได้​จาก​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า ผ่าน​ช่อง​ทาง​ที่​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ใช้​ใน​ปัจจุบัน.

จง​หวง​แหน​พระ​ยะโฮวา

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​หวง​แหน​เยี่ยง​พระเจ้า​เป็น​สิ่ง​เหมาะ​สม​ใน​การ​นมัสการ​แท้. เมื่อ​เรา​มี​แนว​โน้ม​จะ​คิด​กังวล​แต่​ชื่อเสียง​หรือ​สิทธิ​ของ​ตัว​เอง​มาก​เกิน​ไป ความ​หวง​แหน​เยี่ยง​พระเจ้า​จะ​นำ​พา​เรา​ให้​ฝักใฝ่​สนใจ​พระ​ยะโฮวา. ความ​หวง​แหน​ดัง​กล่าว​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​มุ่ง​แสวง​วิธี​ต่าง ๆ ที่​จะ​บอก​กล่าว​ความ​จริง​เกี่ยว​กับ​พระองค์ กล่าว​ปก​ป้อง​แนว​ทาง​ต่าง ๆ ของ​พระองค์​และ​ไพร่​พล​ของ​พระองค์​ด้วย.

อะกิโกะ พยาน​พระ​ยะโฮวา​ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา ถูก​เจ้าของ​บ้าน​ตำหนิ​วิจารณ์​อย่าง​เกรี้ยวกราด​ใน​เรื่อง​ความ​เข้าใจ​กฎหมาย​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ผิด ๆ เกี่ยว​กับ​เลือด. อะกิโกะ​ปก​ป้อง​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ผ่อน​หนัก​ผ่อน​เบา กระทั่ง​พูด​ถึง​ความ​ซับซ้อน​ทาง​การ​รักษา​และ​ปัญหา​แทรก​ซ้อน​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ถ่าย​เลือด. ด้วย​ความ​ปรารถนา​อัน​แรง​กล้า​อยาก​พูด​เกี่ยว​กับ​พระ​ยะโฮวา อะกิโกะ​จึง​เปลี่ยน​เรื่อง​สนทนา​เมื่อ​มอง​เห็น​ว่า สิ่ง​ซึ่ง​เป็น​พื้น​ฐาน​จริง ๆ ที่​ทำ​ให้​เจ้าของ​บ้าน​คัดค้าน นั่น​คือ​การ​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​ว่า​พระ​ผู้​สร้าง​มี​อยู่​จริง. อะกิโกะ​จึง​หา​เหตุ​ผล​กับ​เจ้าของ​บ้าน​เกี่ยว​กับ​วิธี​ที่​สิ่ง​ต่าง ๆ ถูก​สร้าง​ให้​หลักฐาน​สนับสนุน​ความ​เชื่อ​ว่า​มี​พระ​ผู้​สร้าง. การ​กล่าว​ปก​ป้อง​ด้วย​ความ​กล้า​เช่น​นั้น​ไม่​เพียง​แต่​ขจัด​อคติ​ที่​ไม่​มี​มูล​เท่า​นั้น แต่​ทำ​ให้​ได้​เริ่ม​นำ​การ​ศึกษา​คัมภีร์​ไบเบิล​กับ​หญิง​คน​นั้น​ด้วย. เจ้าของ​บ้าน​ที่​โกรธ​เกรี้ยว​เมื่อ​ก่อน เวลา​นี้​เป็น​ผู้​กล่าว​คำ​สรรเสริญ​พระ​ยะโฮวา.

ความ​หวง​แหน หรือ​การ​มี​ใจ​แรง​กล้า​ที่​เหมาะ​สม​เพื่อ​การ​นมัสการ​แท้​ย่อม​เป็น​แรง​บันดาล​ใจ​เรา​ให้​ตื่น​ตัว​และ​ฉวย​โอกาส​พูด​และ​ปก​ป้อง​ความ​เชื่อ​เมื่อ​อยู่​ใน​ที่​ทำ​งาน, ใน​โรงเรียน, ใน​ห้าง​ร้าน, และ​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง. ยก​ตัว​อย่าง มิโด​ริ​ตั้งใจ​มุ่ง​มั่น​จะ​พูด​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ศรัทธา​กับ​เพื่อน​ใน​ที่​ทำ​งาน. เพื่อน​ร่วม​งาน​วัย 40 คน​หนึ่ง​บอก​ว่า​เธอ​ไม่​สนใจ​จะ​พูด​คุย​กับ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​แม้​แต่​น้อย. ต่อ​มา ณ ช่วง​การ​สนทนา​อีก​คราว​หนึ่ง สตรี​ผู้​นั้น​บ่น​ถึง​ลูก​สาว​ที่​กำลัง​มี​ปัญหา​ด้าน​บุคลิกภาพ. มิโด​ริ​ให้​เธอ​ดู​หนังสือ​คำ​ถาม​ที่​หนุ่ม​สาว​ถาม—คำ​ตอบ​ที่​ได้​ผล * อีก​ทั้ง​เสนอ​จะ​นำ​การ​ศึกษา​หนังสือ​นี้​กับ​ลูก​สาว. ครั้น​แล้ว​ก็​เริ่ม​การ​ศึกษา แต่​มารดา​ไม่​ได้​นั่ง​ร่วม​ด้วย. มิโด​ริ​ตัดสิน​ใจ​จะ​ให้​ผู้​หญิง​คน​นี้​ได้​ชม​วีดิทัศน์​เรื่อง​พยาน​พระ​ยะโฮวาองค์การ​เบื้อง​หลัง​ชื่อ​นี้. * ครั้น​ได้​ดู​วีดิทัศน์​แล้ว ความ​รู้สึก​ฝัง​ใจ​แบบ​ผิด ๆ หลาย​อย่าง​ของ​เธอ​ถูก​ขจัด​ออก​ไป. สิ่ง​ที่​เธอ​ได้​ดู​กระตุ้น​ให้​เธอ​พูด​ว่า “ฉัน​อยาก​เป็น​อย่าง​พยาน​พระ​ยะโฮวา.” เธอ​ได้​สมทบ​กับ​ลูก​สาว​เมื่อ​มี​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์.

ความ​หวง​แหน​ที่​เหมาะ​สม​ควร​มี​อยู่​ใน​ประชาคม​คริสเตียน​ด้วย​เช่น​กัน. ความ​หวง​แหน​ดัง​กล่าว​ส่ง​เสริม​น้ำใจ​แห่ง​ความ​รัก​และ​ความ​เอื้อ​อาทร​อัน​อบอุ่น​และ​กระตุ้น​เรา​ให้​ต้านทาน​อิทธิพล​ใน​ทาง​ทำลาย​ซึ่ง​อาจ​เป็น​อันตราย​ต่อ​พี่​น้อง​ฝ่าย​วิญญาณ​ของ​เรา เช่น การ​นินทา​ที่​ก่อ​ความ​เสียหาย​และ​แนว​คิด​ออก​หาก​เป็น​ต้น. ความ​หวง​แหน​เยี่ยง​พระเจ้า​กระตุ้น​เรา​ให้​สนับสนุน​การ​ตัดสิน​ใจ​ของ​พวก​ผู้​ปกครอง ซึ่ง​บาง​ครั้ง​เห็น​ว่า​จำเป็น​ต้อง​ว่า​กล่าว​คน​ทำ​ผิด. (1 โกรินโธ 5:11-13; 1 ติโมเธียว 5:20) เมื่อ​เขียน​ถึง​ความ​รู้สึก​หวง​แหน​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​ประชาคม​โครินท์ [โกรินโธ] เปาโล​พูด​ดัง​นี้: “ข้าพเจ้า​หวง​แหน​ท่าน​ทั้ง​หลาย​ตาม​อย่าง​ความ​หวง​แหน​ของ​พระเจ้า เหตุ​ว่า​ข้าพเจ้า​ได้​หมั้น​พวก​ท่าน​ไว้​สำหรับ​สามี​ผู้​เดียว, เพื่อ​จะ​ได้​ถวาย​พวก​ท่าน​ให้​แก่​พระ​คริสต์​เป็น​พรหมจารี​อัน​บริสุทธิ์.” (2 โกรินโธ 11:2) ดัง​นั้น ความ​หวง​แหน​ของ​เรา​ก็​จะ​กระตุ้น​เรา​ให้​ทำ​ทุก​อย่าง​ที่​ทำ​ได้​เช่น​เดียว​กัน เพื่อ​ปก​ป้อง​ความ​บริสุทธิ์​ของ​ทุก​คน​ใน​ประชาคม​ทั้ง​ด้าน​หลัก​คำ​สอน, ฝ่าย​วิญญาณ, และ​ทาง​ศีลธรรม.

ถูก​แล้ว ความ​หวง​แหน​ที่​เกิด​จาก​แรง​กระตุ้น​ที่​เหมาะ​สม คือ​ความ​หวง​แหน​เยี่ยง​พระเจ้า ย่อม​จูง​ใจ​คน​อื่น​ใน​ทาง​ที่​ดี​งาม, ทำ​ให้​พระ​ยะโฮวา​พอ​พระทัย, และ​ควร​เป็น​หนึ่ง​ใน​คุณลักษณะ​ที่​ถือ​ปฏิบัติ​ใน​กลุ่ม​ชน​คริสเตียน​สมัย​นี้.—โยฮัน 2:17.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 20 จัด​ทำ​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

^ วรรค 20 จัด​ทำ​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[ภาพ​หน้า 29]

การ​ลง​มือ​ปฏิบัติการ​ของ​ฟีนะฮาศ​เกิด​จาก​ความ​หวง​แหน​เยี่ยง​พระเจ้า

[ภาพ​หน้า 30]

จง​หลีก​เลี่ยง​บ่วง​แร้ว​ของ​ความ​หวง​แหน​ที่​ผิด ๆ

[ภาพ​หน้า 31]

ความ​หวง​แหน​เยี่ยง​พระเจ้า​กระตุ้น​เรา​ให้​บอก​เรื่อง​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​แก่​คน​อื่น และ​ทะนุถนอม​ภราดรภาพ​ของ​เรา​ไว้