ซาตานเทพนิยายหรือว่าตัวชั่วร้ายที่มีอยู่จริง?
ซาตานเทพนิยายหรือว่าตัวชั่วร้ายที่มีอยู่จริง?
ต้นกำเนิดของความชั่วร้ายได้กระตุ้นความสนใจของคนช่างคิดตั้งแต่ยุคแรก ๆ ทีเดียว. อะ ดิกชันนารี ออฟ เดอะ ไบเบิล โดยเจมส์ เฮสติงส์ กล่าวว่า “ในตอนเริ่มต้นแห่งจิตสำนึกของมนุษย์ คนเราพบว่าตัวเองเผชิญกับพลังอำนาจซึ่งเขาไม่สามารถควบคุมได้ และเป็นพลังซึ่งก่อผลกระทบที่เป็นอันตรายหรือยังความเสียหาย.” หนังสืออ้างอิงเล่มเดียวกันนี้ยังกล่าวด้วยว่า “มนุษยชาติในยุคต้น ๆ ได้สืบหาสาเหตุต่าง ๆ โดยสัญชาตญาณ และอธิบายพลังอำนาจและปรากฏการณ์อื่น ๆ ในธรรมชาตินั้นว่าเป็นบุคคล.”
ตามที่นักประวัติศาสตร์กล่าวไว้ ความเชื่อในเทพเจ้าที่เป็นผีปิศาจและวิญญาณที่ชั่วร้ายทั้งหลายนั้นอาจสืบร่องรอยย้อนไปถึงประวัติศาสตร์แรกสุดของเมโสโปเตเมีย. ชาวบาบิโลนโบราณเชื่อว่าพระเนอร์กัลซึ่งเป็นผู้ครองยมโลก หรือ “ดินแดนที่ไปแล้วไม่หวนกลับ” นั้น เป็นเทพเจ้าที่ชอบความรุนแรงซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ผู้เผาผลาญ.” พวกเขายังกลัวพวกผีปิศาจด้วย ทั้งพยายามเอาใจผีเหล่านั้นโดยการท่องเวทมนตร์. ในเทพนิยายของอียิปต์ เซตเป็นเทพเจ้าแห่งความชั่วร้าย “มีการแสดงภาพไว้ว่ามีลักษณะของสัตว์ประหลาดซึ่งมีสันจมูกบางและงองุ้ม, มีหูรูปทรงสี่เหลี่ยมตั้งชี้ขึ้นและหางเป็นสามง่าม.”—ลารุสส์ เอ็นไซโคลพีเดีย ออฟ มิทโทโลยี.
แม้ชาวกรีกและชาวโรมันมีเทพเจ้าต่าง ๆ ที่ดีและที่มุ่งร้ายก็ตาม พวกเขาไม่มีเทพเจ้าองค์ใดที่ชั่วร้ายอย่างโดดเด่น. นักปรัชญาของพวกเขาสอนว่า มีหลักสองอย่างที่ตรงกันข้ามกัน. สำหรับเอ็มเพโดเคลส หลักดังกล่าวนั้นคือความรักกับความไม่ลงรอยกัน. สำหรับเพลโต โลกมี “จิตวิญญาณ” สองอย่าง อย่างหนึ่งทำให้เกิดสิ่งดีและอีกอย่างหนึ่งทำให้เกิดสิ่งชั่วร้าย. ดังที่ชอร์ช มีนัวส์กล่าวในหนังสือของเขาชื่อเลอ ดิอับเลอ (พญามาร) ว่า “ศาสนาแบบนอกรีตของกรีก-โรมันไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของพญามาร.”
ในอิหร่าน ศาสนาโซโรอัสเตอร์สอนว่าเทพเจ้าองค์สูงสุดชื่ออะหุระ มาซดะ หรือออร์มาซด์ ได้สร้างแองกรา ไมน์ยู หรืออารีมานซึ่งเลือกที่จะทำสิ่งชั่วร้าย และด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็นวิญญาณที่ชอบทำลาย หรือผู้ทำลาย.
ในศาสนายิว มีการเสนอภาพซาตานอย่างง่าย ๆ ว่าเป็นปรปักษ์ของพระเจ้าผู้ซึ่งทำให้เกิดบาป. แต่หลังจากหลายศตวรรษผ่านไป ภาพที่มีการเสนอนั้นได้กลายเป็นเรื่องที่แปดเปื้อนด้วยแนวคิดต่าง ๆ แบบนอกรีต. สารานุกรมจูไดกา กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ได้เกิดขึ้น . . . ภายในไม่กี่ร้อยปีก่อนสากลศักราช. ในช่วงนี้ศาสนา [ของชาวยิว] . . . ได้รับเอาลักษณะหลายอย่างของความเชื่อในหลักที่ว่ามีสองสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน ซึ่งในหลักดังกล่าวพระเจ้าและพลังอำนาจของความดีและความจริงถูกต่อต้านทั้งในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกโดยพลังอำนาจของความชั่วร้ายและการหลอกลวง. ความเชื่อเช่นนี้ดูเหมือนอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนาเปอร์เซีย.” เดอะ คอนไซส์ จูวิช เอ็นไซโคลพีเดีย
แจ้งว่า “มีทางเป็นไปได้ในการปกป้องไว้จากพวกผีปิศาจโดยการปฏิบัติตามพระบัญญัติและโดยใช้เครื่องราง.”เทววิทยาคริสเตียนที่ออกหาก
เช่นเดียวกับที่ศาสนายิวได้รับเอาแนวคิดที่ไม่ได้มาจากคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับซาตานและพวกผีปิศาจ คริสเตียนที่ออกหากก็ได้ขยายแนวคิดที่ไม่ถูกหลักพระคัมภีร์. พจนานุกรม ดิ แองเคอร์ ไบเบิล กล่าวว่า “หนึ่งในแนวคิดทางเทววิทยาที่ผิดธรรมดาที่สุดคือข้อที่ว่า พระเจ้าทรงไถ่เพื่อปลดปล่อยไพร่พลของพระองค์โดยการชำระค่าไถ่ให้ซาตาน.” อิเรแนอุส (ศตวรรษที่สองสากลศักราช) ได้เสนอแนวคิดนี้. ได้มีการขยายแนวคิดนั้นต่อไปโดยออริเกน (ศตวรรษที่สามสากลศักราช) ผู้ซึ่งอ้างว่า “พญามารได้รับสิทธิตามกฎหมายในตัวมนุษย์” และเป็นผู้ที่ถือว่า “ความตายของพระคริสต์ .. . เป็นค่าไถ่ที่จ่ายให้พญามาร.”—ประวัติของหลักคำสอน โดยอะดอล์ฟ ฮาร์นัค.
ตามที่กล่าวไว้ในสารานุกรม เดอะ คาทอลิก นั้น “เป็นเวลาประมาณหนึ่งพันปี [แนวคิดที่ว่ามีการชำระค่าไถ่ให้พญามาร] มีบทบาทที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์ของเทววิทยา” และยังคงเป็นส่วนหนึ่งแห่งความเชื่อของคริสตจักร. นักเขียนแห่งคริสตจักรโบราณคนอื่น ๆ รวมทั้งเอากุสติน (ศตวรรษที่สี่-ห้าสากลศักราช) ได้รับเอาแนวคิดที่ว่ามีการชำระค่าไถ่ให้ซาตาน. ในที่สุด เมื่อมาถึงศตวรรษที่ 12 สากลศักราช นักเทววิทยาคาทอลิกชื่อแอนเซล์มและอะบีลาร์ได้สรุปว่าไม่ได้มีการถวายเครื่องบูชาของพระคริสต์ให้ซาตาน แต่ถวายให้พระเจ้า.
การเชื่อโชคลางในยุคกลาง
ถึงแม้สภาคริสตจักรคาทอลิกส่วนใหญ่ยังคงเงียบเสียงอย่างน่าสังเกตในเรื่องเกี่ยวกับซาตาน ในปี ส.ศ. 1215 การประชุมสังคายนาลาเทอรันที่สี่ได้เสนอสิ่งที่สารานุกรมคาทอลิกฉบับใหม่ เรียกว่า “คำแถลงอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับความเชื่อ.” กฎข้อ 1 กล่าวว่า “เดิมทีพญามารและผีปิศาจอื่น ๆ ถูกพระเจ้าสร้างให้ดี แต่พวกมันกลับชั่วร้ายไปโดยการกระทำของตัวเอง.” กฎข้อนั้นยังกล่าวอีกว่าพวกมันพยายามอย่างแข็งขันที่จะล่อลวงมนุษยชาติ. ผู้คนมากมายถูกครอบงำด้วยความคิดประการหลังนี้ในระหว่างยุคกลาง. ซาตานเป็นต้นเหตุของสิ่งใด ๆ ที่ดูเหมือนว่าผิดธรรมดา เช่น ความเจ็บป่วยที่อธิบายสาเหตุไม่ได้, ความตายอย่างกะทันหัน, หรือผลเก็บเกี่ยวที่ไม่ดี. ในปี ส.ศ. 1233 โปปเกรกอรีที่ 9 ได้ออกคำสั่งต่อต้านพวกนอกรีต รวมทั้งคำสั่งที่ให้ต่อต้านพวกลูซิเฟอร์ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผู้นมัสการพญามาร.
ในไม่ช้าความเชื่อที่ว่าพญามารหรือผีปิศาจของมันสามารถเข้าสิงผู้คนได้ทำให้เกิดความหวาดระแวงโดยรวม นั่นคือความกลัวแบบประสาทหลอนในเรื่องไสยศาสตร์และเวทมนตร์คาถา. ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 จนถึงศตวรรษที่ 17 ความกลัวพวกแม่มดได้แพร่ไปอย่างรวดเร็วตลอดทั่วยุโรปและไปถึงอเมริกาเหนือพร้อมกับผู้บุกเบิกอาณานิคมที่เป็นชาวยุโรป. แม้แต่มาร์ติน ลูเทอร์และจอห์น แคลวิน นักปฏิรูปโปรเตสแตนต์ก็เห็นชอบกับการล่าแม่มด. ในยุโรปทั้งศาลศาสนาและศาลทางโลกมีการพิจารณาคดีเกี่ยวกับแม่มดซึ่งอาศัยเพียงข่าวลือหรือข้อกล่าวหาที่มุ่งร้าย. การใช้วิธีทรมานเพื่อขู่บังคับให้คนบริสุทธิ์สารภาพผิดเป็นการกระทำที่มีอยู่ทั่วไป.
คนเหล่านั้นที่ถูกพบว่ามีความผิดอาจถูกประหารชีวิต ถ้าในอังกฤษและสกอตแลนด์ก็โดยการแขวนคอ และในที่อื่นโดยการเผา. เกี่ยวกับจำนวนของผู้ตกเป็นเหยื่อนั้น สารานุกรม เดอะ เวิลด์ บุ๊ก กล่าวว่า “ตามที่นักประวัติศาสตร์บางคนบอกไว้ ตั้งแต่ปี 1484 ถึงปี 1782 คริสตจักรคริสเตียนได้ประหารชีวิตผู้หญิงประมาณ 300,000 คนโดยหาว่าเป็นแม่มด.” หากซาตานอยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมในยุคกลางเช่นนี้แล้ว ใครเป็นเครื่องมือของมัน ผู้ตกเป็นเหยื่อ หรือว่าผู้ข่มเหงทางศาสนาที่บ้าคลั่ง?
ความเชื่อและความไม่เชื่อในปัจจุบัน
ศตวรรษที่ 18 มีการพัฒนาแนวคิดแบบที่ชอบด้วยเหตุผลขึ้นมา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าขบวนการยุคสว่าง. สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าวว่า “ปรัชญาและเทววิทยาของยุคสว่างได้พยายามขจัดพญามารออกไปจากจิตสำนึกของคริสเตียนในฐานะเป็นผลิตผลจากจินตนาการตามเทพนิยายของยุคกลาง.” คริสตจักรโรมันคาทอลิกมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้และยืนยันอีกถึงความเชื่อในเรื่องซาตานพญามาร ณ การประชุมสังคายนาวาติกันที่หนึ่ง (ปี 1869-1870) ย้ำความเชื่อนี้อีกครั้ง ณ การประชุมสังคายนาวาติกันที่สอง (1962-1965) อย่างค่อนข้างเหนียมอาย.
ดังที่สารานุกรมคาทอลิกฉบับใหม่ ยอมรับว่า “คริสตจักรมีพันธะที่จะเชื่อในเรื่องทูตสวรรค์และผีปิศาจ” อย่างเป็นทางการ. อย่างไรก็ดี เทออ พจนานุกรมฝรั่งเศสของคาทอลิกยอมรับว่า “คริสเตียนหลายคนในทุกวันนี้ไม่ยอมรับว่าความชั่วร้ายในโลกเกิดขึ้นเนื่องจากพญามาร.” ไม่กี่ปีมานี้ นักเทววิทยาคาทอลิกได้รับมือกับสถานการณ์นี้อย่างระมัดระวัง โดยถ่วงดุลระหว่างคำสอนอย่างเป็นทางการของคาทอลิกกับแนวคิดสมัยใหม่อย่างล่อแหลมต่ออันตราย. สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าวว่า “เทววิทยาคริสเตียนที่มีความคิดแบบเปิดกว้างมีแนวโน้มที่จะถือว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับซาตานเป็นเพียง ‘จินตภาพ’ ไม่ควรถือเอาตามตัวอักษร คือถือว่าเป็นความพยายามซึ่งมาจากเทพนิยายที่จะแสดงให้เห็นความเป็นจริงและขนาดของความชั่วร้ายในจักรวาล.” สำหรับพวกโปรเตสแตนต์ หนังสืออ้างอิงเล่มเดียวกันกล่าวว่า “นิกายโปรเตสแตนต์สมัยปัจจุบันที่มีความคิดแบบเปิดกว้างมีแนวโน้มจะปฏิเสธความจำเป็นเรื่องการมีความเชื่อในพญามารฐานะเป็นบุคคล.” แต่คริสเตียนแท้ควรถือว่าสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับซาตานเป็นเพียง “จินตภาพ” เท่านั้นไหม?
สิ่งที่พระคัมภีร์สอน
คำอธิบายเรื่องต้นตอของความชั่วตามที่ปรัชญาและเทววิทยาของมนุษย์เสนอนั้นไม่ได้ดีกว่าคำอธิบายที่บอกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล. สิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวเกี่ยวกับซาตานเป็นพื้นฐานในการเข้าใจต้นตอของความชั่วและความทุกข์ของมนุษย์ อีกทั้งสาเหตุที่ความรุนแรงอย่างเลวร้ายที่สุดเท่าที่จะนึกภาพออกได้นั้นเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี.
บางคนอาจถามว่า ‘หากพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างที่ดีและเปี่ยมด้วยความรักแล้ว พระองค์จะสร้างกายวิญญาณที่ชั่วดังเช่นซาตานได้อย่างไร?’ คัมภีร์ไบเบิลชี้แจงหลักการที่ว่าพระราชกิจทั้งสิ้นของพระยะโฮวาพระเจ้าสมบูรณ์พร้อมและพระองค์ทรงประทานเจตจำนงเสรีให้บรรดาสิ่งทรงสร้างที่มีเชาวน์ปัญญา. (พระบัญญัติ 30:19; 32:4; ยะโฮซูอะ 24:15; 1 กษัตริย์ 18:21) เพราะฉะนั้น บุคคลวิญญาณซึ่งกลายเป็นซาตานต้องถูกสร้างมาอย่างสมบูรณ์ และต้องได้หันเหไปจากแนวทางแห่งความจริงและความชอบธรรมโดยเจตนาเลือกเอง.—โยฮัน 8:44; ยาโกโบ 1:14, 15.
ยะเอศเคล 28:11-19, ฉบับแปลใหม่) ซาตานมิได้โต้แย้งอำนาจสูงสุดของพระยะโฮวาหรือตำแหน่งพระผู้สร้างของพระองค์. เนื่องจากถูกพระเจ้าสร้าง มันจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? กระนั้น ซาตานได้ท้าทายวิธีที่พระยะโฮวาทรงสำแดงพระบรมเดชานุภาพของพระองค์. ในสวนเอเดน ซาตานได้พูดเป็นนัยว่าพระเจ้าทรงกีดกันอะไรบางอย่างไว้จากมนุษย์คู่แรกซึ่งเขามีสิทธิ์ได้รับและสวัสดิภาพของเขาขึ้นอยู่กับสิ่งนั้น. (เยเนซิศ 3:1-5) มันประสบผลสำเร็จในการทำให้อาดามและฮาวากบฏขัดขืนพระบรมเดชานุภาพอันชอบธรรมของพระยะโฮวาและนำบาปกับความตายมาสู่คนทั้งสองรวมทั้งลูกหลานของเขา. (เยเนซิศ 3:16-19; โรม 5:12) ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าซาตานเป็นมูลเหตุอันแท้จริงแห่งความทุกข์ของมนุษย์.
ในหลายทาง แนวทางกบฏขัดขืนของซาตานคล้ายกันกับแนวทางของ “กษัตริย์เมืองไทระ” ผู้ซึ่งได้รับการพรรณนาในเชิงกวีว่า “มีความงามอย่างพร้อมสรรพ” และ ‘ปราศจากตำหนิในวิธีการทั้งหลายของเขาตั้งแต่วันที่เขาได้ถูกสร้างขึ้นมาจนพบความบาปชั่วในตัวเขา.’ (ช่วงเวลาหนึ่งก่อนน้ำท่วมโลก ทูตสวรรค์อื่น ๆ ได้สมทบกับซาตานในการกบฏขัดขืนของมัน. ทูตสวรรค์เหล่านี้ได้แปลงกายเป็นมนุษย์เพื่อสนองความปรารถนาจะได้ความเพลิดเพลินทางเพศกับบุตรสาวของมนุษย์. (เยเนซิศ 6:1-4) ในคราวน้ำท่วมโลก ทูตสวรรค์ที่ทรยศเหล่านี้ได้กลับไปยังแดนวิญญาณ ทว่าไม่ได้คืนสู่ “ตำแหน่งดั้งเดิมของตน” กับพระเจ้าในสวรรค์. (ยูดา 6, ล.ม.) พวกมันถูกลดฐานะลงสู่สภาพความมืดทึบฝ่ายวิญญาณ. (1 เปโตร 3:19, 20; 2 เปโตร 2:4) พวกมันกลายเป็นผีปิศาจ ไม่ได้รับใช้ภายใต้พระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาอีกต่อไป แต่อยู่ใต้อำนาจของซาตาน. แม้ปรากฏว่าไม่สามารถแปลงกายได้อีก แต่พวกผีปิศาจก็ยังคงสามารถใช้อำนาจมากมายเหนือความคิดจิตใจและชีวิตของมนุษย์อยู่ และไม่ต้องสงสัยว่าพวกมันเป็นต้นเหตุของความรุนแรงส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นอยู่ในทุกวันนี้.—มัดธาย 12:43-45; ลูกา 8:27-33.
อวสานแห่งการปกครองของซาตานใกล้เข้ามาแล้ว
ปรากฏชัดว่าพลังอำนาจที่ชั่วร้ายดำเนินงานอยู่ในโลกทุกวันนี้. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “โลกทั้งสิ้นอยู่ในอำนาจตัวชั่วร้ายนั้น.”—1 โยฮัน 5:19, ล.ม.
อย่างไรก็ดี คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่สำเร็จเป็นจริงแล้วแสดงว่าพญามารกำลังทำให้วิบัติของแผ่นดินโลกรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะรู้ว่ามันมี “ระยะเวลาอันสั้น” เท่านั้นเหลืออยู่ที่จะก่อความหายนะก่อนมันถูกกักตัว. (วิวรณ์ 12:7-12, ล.ม.; 20:1-3) อวสานแห่งการปกครองของซาตานจะนำมาซึ่งโลกใหม่อันชอบธรรมที่น้ำตา, ความตาย, และความเจ็บปวด “จะไม่มีต่อไป.” ครั้นแล้ว พระทัยประสงค์ของพระเจ้า “สำเร็จในสวรรค์อย่างไร” ก็จะ “สำเร็จในแผ่นดินโลกเหมือนกัน.”—วิวรณ์ 21:1-4; มัดธาย 6:10.
[ภาพหน้า 4]
ชาวบาบิโลนเชื่อในพระเนอร์กัล (ซ้ายสุด) ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ชอบความรุนแรง; เพลโต (ซ้าย) เชื่อว่ามีอยู่สอง “จิตวิญญาณ” ที่ตรงกันข้ามกัน
[ที่มาของภาพ]
Cylinder: Musée du Louvre, Paris; Plato: National Archaeological Museum, Athens, Greece
[ภาพหน้า 5]
อิเรแนอุส, ออริเกน, และเอากุสตินสอนว่ามีการชำระค่าไถ่ให้พญามาร
[ที่มาของภาพ]
Origen: Culver Pictures; Augustine: From the book Great Men and Famous Women
[ภาพหน้า 6]
ความกลัวพวกแม่มดได้นำไปสู่การประหารชีวิตหลายแสนคน
[ที่มาของภาพ]
From the book Bildersaal deutscher Geschichte