วาระสำหรับความปีติยินดีในประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่าน
วาระสำหรับความปีติยินดีในประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่าน
ปี 1922 กลุ่มนักศึกษาพระคัมภีร์ที่มีใจแรงกล้า ชื่อเรียกพยานพระยะโฮวาสมัยนั้น ได้จัดการประชุมที่เมืองอินส์บรุค ประเทศออสเตรีย. หนึ่งในจำนวนคนเข้าร่วมประชุมคือชายหนุ่มชื่อฟรันซ์ บรันด์ มาจากเมืองอะพาทีน เขตปกครองโวจโวดินาในเซอร์เบีย. ทันทีที่ผู้บรรยายเอ่ยนามพระเจ้า ยะโฮวา กลุ่มก่อกวนความสงบก็ฮาป่าแสดงความไม่พอใจ จนไม่สามารถจะบรรยายต่อไปได้ และจำต้องเลิกการประชุม. กระนั้น ฟรันซ์รู้สึกประทับใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟัง และเขาจึงเริ่มเผยแพร่ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร. เหตุการณ์เหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของกิจกรรมฝ่ายวิญญาณซึ่งได้เติบโตขยายตัวอย่างน่าตื่นเต้นในประเทศหนึ่งแถบบอลข่าน.
ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินชื่อยูโกสลาเวียมักจะนึกภาพสงครามและภาพการสังหารผลาญชีวิตอย่างน่าสยดสยอง, ภาพผู้ลี้ภัยที่ลำบากเดือดร้อนและสิ้นหวัง, บ้านเรือนเสียหายยับเยิน, และเด็กกำพร้าที่ทนทุกข์ทรมานอย่างสุดแสน. ถ้อยคำใด ๆ ก็ไม่อาจจะพรรณนาสภาพเจ็บปวดด้านร่างกาย ความบอบช้ำของจิตใจและความทุกขเวทนาสืบเนื่องจากการทำสงครามแย่งชิงอำนาจบนคาบสมุทรบอลข่านระหว่างปี 1991 ถึง 1995 ซึ่งได้ทำลายความหวังทั้งมวลที่อาศัยความบากบั่นของมนุษย์เพื่อให้ได้มาซึ่งความเจริญมั่งคั่งและอนาคตที่ปราศจากความกังวล. ผลสืบเนื่องของสงคราม ประชาชนในประเทศอดีตยูโกสลาเวียนั้นทำงานหนักสู้ความยากลำบากทางเศรษฐกิจและความยากจนข้นแค้น. *
เนื่องจากความทุกข์ยากแสนเข็ญดังกล่าว การคาดหวังจะพบเห็นผู้คนอิ่มเอิบมีความสุขในภูมิภาคส่วนนี้ของโลกคงเป็นไปได้ยาก. แต่ก็น่าแปลกที่ยังเห็นผู้คนแบบนั้นมีอยู่จริง. อันที่จริง คนที่มีความสุขเหล่านั้นได้ประสบวาระที่น่าชื่นชมยินดีเป็นพิเศษตอนปลายศตวรรษที่ 20 นี้เอง. ฟรันซ์ บรันด์ ชายหนุ่มที่กล่าวข้างต้นได้เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรกับความชื่นชมยินดีนี้?
ความเจริญเติบโตฝ่ายวิญญาณบนคาบสมุทรบอลข่าน
ฟรันซ์ บรันด์ตื่นเต้นที่ได้ยินความจริงใหม่ ๆ หลายเรื่อง และจึงตัดสินใจว่าจะต้องแพร่ข่าวดีนี้. เขาได้งานเป็นช่างตัดผมที่เมืองมาริบอร์ ในสาธารณรัฐสโลวีเนีย ใกล้ชายแดนออสเตรีย และเริ่มต้นประกาศแก่คนที่มาตัดผม ซึ่งตามปกติจะนั่งฟังเงียบ ๆ อยู่แล้วเมื่อช่างตัดผมโกนหนวดให้. ความเพียรพยายามของฟรันซ์เกิดผล คือมีกลุ่มผู้ประกาศ
แห่งราชอาณาจักรกลุ่มเล็ก ๆ ที่เมืองมาริบอร์ในปลายทศวรรษ 1920. ได้มีการบรรยายเรื่องคัมภีร์ไบเบิลขึ้นที่ภัตตาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งภายหลังตั้งชื่อได้อย่างเหมาะเจาะว่าภัตตาคารซีฟู้ดนอวี สเวต (โลกใหม่).ต่อมา ข่าวดีได้แพร่ไปทั่วประเทศ. “ภาพยนตร์เรื่องการทรงสร้าง” (การนำเสนอนานแปดชั่วโมง ทั้งการฉายภาพยนตร์, ภาพนิ่ง, และแผ่นบันทึกเสียง) เป็นเครื่องมือที่เอื้อประโยชน์แก่การแผ่ขยายนี้. ครั้นแล้ว ทศวรรษ 1930 เมื่อพยานพระยะโฮวาในประเทศเยอรมนีทนการข่มเหงอย่างหนัก เหล่าพยานฯ ในประเทศยูโกสลาเวียได้รับการเสริมกำลังจากไพโอเนียร์ชาวเยอรมันที่หนีจากบ้านเกิดของตน. ด้วยการเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัว พวกเขามุ่งมั่นจะเผยแพร่ไปจนถึงท้องถิ่นห่างไกลที่สุดของประเทศนี้ซึ่งพื้นที่เป็นภูเขา. ทีแรก ดูเหมือนไม่ค่อยมีการตอบรับข่าวสาร. ในช่วงต้นทศวรรษ 1940 ผู้ประกาศที่ส่งรายงานมีประมาณ 150 คนเท่านั้น.
ในปี 1941 การข่มเหงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และยืดเยื้อจนกระทั่งปี 1952. แต่น่ายินดีเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1953 ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ของนายพลติโต พยานพระยะโฮวาได้รับการรับรองตามกฎหมาย! ปีนั้นเองมีผู้ประกาศข่าวดี 914 คน และการเพิ่มทวีเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ. พอมาในปี 1991 จำนวนผู้ประกาศเพิ่มเป็น 7,420 และมี 16,072 คนเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ในปีนั้น.
ได้มีการประชุมนานาชาติครั้งแรกของพยานพระยะโฮวาในประเทศนี้ระหว่างวันที่ 16 ถึง 18 สิงหาคม 1991 ณ เมืองซาเกร็บ, สาธารณรัฐโครเอเชีย. ผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 14,684 คน. การประชุมครั้งนี้ซึ่งจะลืมเสียมิได้ถือว่าเป็นการเตรียมไพร่พลของพระยะโฮวาสำหรับการทดสอบที่รออยู่เบื้องหน้า. บรรดายานพาหนะที่ผ่านจุดตรวจช่วงสุดท้ายระหว่างโครเอเชียกับเซอร์เบียนั้นเป็นรถโดยสารที่นำผู้ร่วมประชุมชาวเซอร์เบียกลับบ้าน. พอรถคันสุดท้ายแล่นผ่านจุดตรวจไปแล้ว พรมแดนถูกปิดและสงครามก็เริ่มขึ้น.
ไพร่พลของพระยะโฮวามีเหตุผลจะชื่นชมยินดี
ระหว่างช่วงสงครามหลายปีนั้นถือว่าเป็นเวลาทดสอบอันแสนสาหัสสำหรับพยานพระยะโฮวาในแถบบอลข่าน. กระนั้นก็ดี เหล่าพยานฯ มีเหตุผลจะชื่นชมยินดีเนื่องด้วยพระยะโฮวาทรงอวยพรไพร่พลของพระองค์ที่นั่นให้มีการทวีจำนวนอย่างน่าทึ่ง. ตั้งแต่ปี 1991 เรื่อยมา ผู้ประกาศราชอาณาจักรในพื้นที่อดีตยูโกสลาเวียเพิ่มมากกว่าร้อยละ 80. ยอดสูงสุดของปีรับใช้ 2001 คือ 13,472 คน.
สำนักงานในซาเกร็บและที่เบลเกรด (เซอร์เบีย) เคยดูแลงานทั้งหมดของพยานพระยะโฮวาในประเทศอดีตยูโกสลาเวีย. ครั้นมีการเพิ่มทวีและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงจำเป็นต้องตั้งสำนักงานแห่งใหม่ขึ้นในลีอูบลีอานา (สาธารณรัฐสโลวีเนีย) และที่สโกเปีย (สาธารณรัฐมาซิโดเนีย) นอกเหนือจากสำนักงานแห่งใหม่ที่อยู่ในเบลเกรดและซาเกร็บ. สมาชิกราว ๆ 140 คนปฏิบัติงาน ณ สำนักงานเหล่านี้. ส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาวที่กระตือรือร้นและรักพระยะโฮวา. มีหลายคนในจำพวกหนุ่มสาวเหล่านั้นทำงานแปลคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาโครเอเชีย, มาซิโดเนีย, เซอร์เบีย, และสโลวีเนีย. ช่างเป็นพระพรอย่างแท้จริงเมื่อวารสารและสรรพหนังสือส่วนใหญ่ของพยานพระยะโฮวาในภาษาเหล่านี้ได้รับการพิมพ์ออกพร้อมกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ! สรรพหนังสือเหล่านี้ช่วยผู้คนมากมายได้รับการชูใจและมีความหวัง.
เหตุผลที่ยังความยินดีนอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้วก็คือการสนับสนุนอย่างไม่เห็นแก่ตัวของผู้เผยแพร่เต็มเวลาจาก
ประเทศอื่น ๆ. เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการสร้างหอประชุมราชอาณาจักรที่สวยงามน่าดูหลายแห่ง เพิ่มความปลาบปลื้มยินดีแก่ประชาคมต่าง ๆ. กระนั้น ความยินดีมากกว่านั้นยังจะมีมาอีกสำหรับพวกเขา. เป็นไปได้อย่างไร?แผนงานอันโดดเด่น
ผู้ประกาศหลายคนมักสงสัยว่า ‘เราจะมีโอกาสอ่านคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาของเราหรือเปล่านะ?’ ปีแล้วปีเล่า พวกเขามุ่งหวังตั้งใจคอยคำประกาศเรื่องนี้ ณ การประชุมภาค. กระนั้น การดำเนินการตามแผนงานใหญ่โตเช่นนั้นจะทำได้อย่างไร ในเมื่อทีมงานแปลภาษาเหล่านี้เพิ่งก่อตั้งขึ้นไม่กี่ปีมานี้เอง และจำนวนผู้แปลมีค่อนข้างน้อย?
หลังสำรวจตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว คณะกรรมการปกครองลงมติเห็นชอบให้มีโครงการร่วมมือระหว่างทีมแปลโครเอเชีย, มาซิโดเนีย, และเซอร์เบียซึ่งจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิด และด้วยเหตุนี้ จึงได้รับประโยชน์จากงานและการเสนอแนะของกันและกัน. ทีมโครเอเชียเป็นฝ่ายนำ.
วาระที่มีความชื่นชม
พยานพระยะโฮวาในแถบบอลข่านจะไม่มีวันลืมวันที่ 23 กรกฎาคม 1999. ชุดการประชุมภาค “พระคำเชิงพยากรณ์ของพระเจ้า” ซึ่งจัดขึ้นในเวลาเดียวกันทั้งที่เบลเกรด, ซาราเยโว (บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา), สโกเปีย, และซาเกร็บ. มีช่วงเวลาหนึ่งซึ่งยังไม่แน่ว่าจะจัดการประชุมใหญ่ที่เมืองเบลเกรดได้หรือไม่ เพราะช่วงนั้นองค์การนาโต้ทำการทิ้งระเบิด ไม่อนุญาตการประชุมสาธารณะ. บรรดาพี่น้องรู้สึกดีใจเพียงใดเมื่อมีความคาดหวังจะสามารถร่วมชุมนุมกันได้อีก หลังจากหลายเดือนที่มีแต่ความไม่แน่นอน! อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงนั้นเกินความคาดหมายเสียอีก.
บ่ายวันศุกร์มีคำประกาศพิเศษ ณ สี่เมืองที่มีการประชุมใหญ่. ผู้เข้าร่วมประชุม 13,497 คนต่างก็นิ่งเงียบคอยฟังว่าเป็นเรื่องอะไร. ในที่สุด เมื่อผู้บรรยายออกหนังสือพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาโครเอเชียและภาษาเซอร์เบีย และยังได้แถลงต่อผู้ร่วมประชุมว่าการแปลภาษามาซิโดเนียนั้นคืบหน้าเป็นอย่างดี บรรดาตัวแทนทั้งหลายไม่อาจเก็บความรู้สึกไว้ได้. เสียงปรบมือดังกึกก้องจนผู้บรรยายไม่อาจจบคำประกาศ. ณ การประชุมที่เมืองซาราเยโว ผู้เข้าร่วมประชุมถึงกับเงียบกริบทันทีทันใดด้วยความประหลาดใจ. และก็มีเสียงปรบมือยาวนานตามมา. ในเมืองเบลเกรด หลายคนรู้สึกตื้นตันถึงกับน้ำตาอาบแก้ม และผู้บรรยายถูกขัดจังหวะด้วยเสียงปรบมือที่ต่อเนื่องยาวนานกว่าจะจบคำประกาศได้. ทุกคนต่างก็ยินดีปรีดากันถ้วนหน้า!
ของขวัญชิ้นนี้ยิ่งมีคุณค่ามากขึ้นด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าพยานพระยะโฮวาได้สิทธิ์การจัดพิมพ์พระคัมภีร์ฉบับแปลภาษาโครเอเชียและเซอร์เบีย. ด้วยเหตุนี้เอง พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกฉบับแปลโลกใหม่ ในสองภาษานี้จึงประกอบเข้ากับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเป็นภาษาเดียวกันอยู่ในเล่มเดียว. ยิ่งกว่านั้น มีการพิมพ์พระคัมภีร์ภาษาเซอร์เบียทั้งอักษรโรมันและอักษรซีริลลิก.
ด้วยความขอบคุณเพราะได้รับของประทานอันดีเยี่ยมและการชี้นำ ไพร่พลของพระยะโฮวาในประเทศแถบคาบสมุทรบอลข่านต่างก็เห็นด้วยกับคำกล่าวของดาวิดที่ว่า “แม้ว่าข้าพเจ้าจะดำเนินไปตามหว่างเขาอันมัวมืดแห่งความตาย, ข้าพเจ้าจะไม่กลัวอันตรายเลย; เพราะพระองค์ [พระยะโฮวา] ทรงสถิตอยู่ด้วยข้าพเจ้า.” แม้ว่าจะยังคงเผชิญความยากลำบากสารพัดอย่าง แต่พวกเขาก็ตั้งใจแน่วแน่จะทำให้ ‘ความยินดีในพระยะโฮวาเป็นป้อมของเขา.’—บทเพลงสรรเสริญ 23:4; นะเฮมยา 8:10, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 3 อดีตยูโกสลาเวียประกอบด้วยหกสาธารณรัฐ ได้แก่ สาธารณรัฐบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา, โครเอเชีย, มาซิโดเนีย, มอนเตเนโกร, เซอร์เบีย, และสโลวีเนีย.
[ภาพหน้า 20]
ผู้ประกาศกลุ่มแรกจากมาริบอร์, สโลวีเนีย, ทำงานเผยแพร่ในเขตห่างไกล