ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

เราไม่ละทิ้งเขตงานที่ได้รับมอบหมาย

เราไม่ละทิ้งเขตงานที่ได้รับมอบหมาย

เรื่อง​ราว​ชีวิต​จริง

เรา​ไม่​ละ​ทิ้ง​เขต​งาน​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย

เล่า​โดย​เฮอร์มันน์ บรือเดอร์

ผม​มี​ทาง​เลือก​ง่าย ๆ คือ รับ​หน้า​ที่​ห้า​ปี​ใน​กอง​ทหาร​ต่าง​ด้าว​ของ​ฝรั่งเศส หรือ​ยอม​ติด​คุก​ใน​ประเทศ​โมร็อกโก. ขอ​ผม​ชี้​แจง​ว่า​ตัว​เอง​เข้า​ไป​อยู่​ใน​สภาพการณ์​นี้​อย่าง​ไร.

ผม​เกิด​ปี 1911 ที่​เมือง​โอพเพอนาว ประเทศ​เยอรมนี เพียง​สาม​ปี​ก่อน​เกิด​สงคราม​โลก​ครั้ง​ที่​หนึ่ง. พ่อ​แม่​ผม​คือ​โยเซฟ​และ​ฟรีดา บรือเดอร์ มี​บุตร​ชาย​หญิง 17 คน. ผม​เป็น​คน​ที่ 13.

ความ​ทรง​จำ​แรก ๆ ของ​ผม​ใน​วัย​เยาว์​คือ​การ​เฝ้า​ดู​ทหาร​เดิน​แถว​ไป​ตาม​ถนน​สาย​หลัก​ใน​บ้าน​เกิด​ของ​เรา. เนื่อง​จาก​ผม​ชอบ​เสียง​เพลง​มาร์ช​อัน​คึกคัก ผม​จึง​เดิน​ตาม​กลุ่ม​ผู้​เล่น​ดนตรี​ไป​จน​ถึง​สถานี​ทัน​เวลา​ได้​เห็น​พ่อ​และ​พวก​ผู้​ชาย​ใน​เครื่อง​แบบ​ทหาร​กำลัง​ขึ้น​รถไฟ. ขณะ​ขบวน​รถไฟ​เคลื่อน​ออก​จาก​สถานี ผู้​หญิง​บาง​คน​ที่​อยู่​บน​ชานชาลา​ร้องไห้. ไม่​นาน​หลัง​จาก​นั้น บาทหลวง​ประจำ​หมู่​บ้าน​ได้​เทศน์​อย่าง​ยืด​ยาว​ใน​โบสถ์​และ​ประกาศ​ชื่อ​ชาย​สี่​คน​ที่​สละ​ชีพ​ปก​ป้อง​ปิตุภูมิ. “ตอน​นี้​พวก​เขา​อยู่​ใน​สวรรค์” บาทหลวง​อธิบาย. ผู้​หญิง​ที่​ยืน​อยู่​ข้าง ๆ ผม​ถึง​กับ​เป็น​ลม.

พ่อ​ติด​โรค​ไข้​รากสาด​น้อย​ระหว่าง​ปฏิบัติการ​ที่​แนว​รบ​ด้าน​รัสเซีย. ท่าน​กลับ​มา​ถึง​บ้าน​มี​อาการ​อ่อน​เพลีย​มาก​และ​ถูก​นำ​ส่ง​โรง​พยาบาล​ทันที. บาทหลวง​แนะ​นำ​ผม “ไป​ที่​โรง​สวด​ข้าง​สุสาน​แล้ว​กล่าว​คำ​ข้า​แต่​พระ​บิดา​ของ​ข้าพเจ้า​ทั้ง​หลาย 50 ครั้ง และ​คำ​อธิษฐาน​ขอ​วันทา​ท่าน​มารีอา 50 ครั้ง. แล้ว​พ่อ​ของ​เจ้า​จะ​หาย​ไข้.” ผม​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เขา ทว่า​วัน​ถัด​มา​พ่อ​ผม​ก็​เสีย​ชีวิต. แม้​แต่​เด็ก​ชาย​อายุ​น้อย​ยัง​ได้​ประสบ​ว่า​สงคราม​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​เจ็บ​ปวด​มาก​มาย.

ผม​พบ​ความ​จริง​ได้​อย่าง​ไร

ระหว่าง​ปี 1919 และ 1939 ใน​ประเทศ​เยอรมนี การ​ได้​งาน​ทำ​นั้น​ไม่​ง่าย. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ภาย​หลัง​ออก​จาก​โรง​เรียน​ใน​ปี 1928 ผม​ได้​งาน​เป็น​คน​สวน​ใน​เมือง​บาเซิล สวิตเซอร์แลนด์.

ผม​เป็น​ชาว​คาทอลิก​ที่​เคร่งครัด​เหมือน​พ่อ. ผม​ตั้ง​เป้า​ว่า​จะ​ปฏิบัติ​กิจ​ทาง​ศาสนา​ด้วย​การ​บวช​เป็น​พระ​นิกาย​โรมัน​คาทอลิก​ใน​อินเดีย. เมื่อ​ริ​คาร์ด​น้อง​ชาย​ของ​ผม ตอน​นั้น​เป็น​พยาน​พระ​ยะโฮวา​แล้ว​ล่วง​รู้​ถึง​แผนการ​เหล่า​นี้ เขา​อุตส่าห์​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​สวิตเซอร์แลนด์​เป็น​พิเศษ​เพื่อ​ยับยั้ง​ผม. เขา​เตือน​ถึง​อันตราย​ของ​การ​ไว้​วางใจ​มนุษย์ โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​นัก​เทศน์​นัก​บวช และ​สนับสนุน​ผม​ให้​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​และ​ไว้​ใจ​เพียง​คัมภีร์​ไบเบิล​เท่า​นั้น. ทั้ง ๆ ที่​สงสัย แต่​ผม​ก็​ได้​คัมภีร์​ภาค​พันธสัญญา​ใหม่​เล่ม​หนึ่ง​มา​และ​เริ่ม​ต้น​อ่าน. ที​ละ​เล็ก​ที​ละ​น้อย​ผม​จึง​เข้าใจ​ชัดเจน​ว่า​คำ​สอน​หลาย​อย่าง​ที่​ผม​เชื่อ​ไม่​สอดคล้อง​กับ​คัมภีร์​ไบเบิล.

วัน​นั้น​เป็น​วัน​อาทิตย์​ปี 1933 ขณะ​อยู่​ที่​บ้าน​ของ​ริ​คาร์ด​ใน​เยอรมนี เขา​แนะ​นำ​ให้​ผม​รู้​จัก​คู่​สามี​ภรรยา​พยาน​พระ​ยะโฮวา. เมื่อ​รู้​ว่า​ผม​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล เขา​ได้​มอบ​หนังสือ​เล่ม​เล็ก​ชื่อ​วิกฤตการณ์ ให้​ผม. * ผม​อ่าน​หนังสือ​เล่ม​นั้น​อยู่​จน​ดึกดื่น​เกือบ​เที่ยง​คืน. ผม​เชื่อ​มั่น​ว่า​ผม​ได้​พบ​ความ​จริง​แล้ว!

พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​บาเซิล​มอบ​ชุด​หนังสือ​คู่มือ​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์ * สอง​เล่ม​ให้​ผม​พร้อม​กับ​วารสาร​และ​สรรพหนังสือ​อื่น ๆ บาง​เล่ม. ผม​ประทับใจ​ใน​เรื่อง​ต่าง ๆ ที่​ได้​อ่าน ผม​จึง​ติด​ต่อ​บาทหลวง​ประจำ​ท้อง​ที่​ขอ​ถอน​ชื่อ​ผม​ออก​จาก​ทะเบียน​สมาชิก​ของ​โบสถ์. บาทหลวง​โมโห​มาก​และ​เตือน​ว่า​ผม​กำลัง​อยู่​ใน​อันตราย​ที่​จะ​สูญ​เสีย​ความ​เชื่อ. ที่​จริง ผม​ไม่​มี​วัน​จะ​สูญ​เสีย​ความ​เชื่อ​อย่าง​แน่นอน. นี่​เป็น​ครั้ง​แรก​ใน​ชีวิต​ที่​ผม​กำลัง​เริ่ม​ปลูกฝัง​ความ​เชื่อ​แท้.

พวก​พี่​น้อง​ใน​เมือง​บาเซิล​วาง​แผน​จะ​เดิน​ทาง​ไป​ประกาศ​ปลาย​สัปดาห์​โดย​การ​ข้าม​พรม​แดน​ไป​ยัง​ฝรั่งเศส. หนึ่ง​ใน​บรรดา​พี่​น้อง​ฝ่าย​ชาย​ได้​ชี้​แจง​อย่าง​กรุณา​ว่า​ที่​ไม่​ได้​ชวน​ผม​ไป​เนื่อง​จาก​ผม​เพิ่ง​สมาคม​คบหา​กับ​ประชาคม​ได้​ไม่​นาน. ด้วย​ความ​ไม่​ย่อท้อ ผม​แสดง​ความ​ปรารถนา​อย่าง​เด็ด​เดี่ยว​จะ​เริ่ม​ประกาศ​เผยแพร่. หลัง​จาก​ได้​ปรึกษา​ผู้​ปกครอง​อีก​คน​หนึ่ง เขา​จึง​มอบหมาย​ให้​ผม​ทำ​เขต​งาน​หนึ่ง​ใน​สวิตเซอร์แลนด์. เช้า​ตรู่​วัน​อาทิตย์ ผม​ขี่​จักรยาน​เดิน​ทาง​ไป​ยัง​หมู่​บ้าน​เล็ก ๆ ที่​อยู่​ใกล้​เมือง​บาเซิล พร้อม​กับ​กระเป๋า​บรรจุ​หนังสือ​ปก​แข็ง 4 เล่ม, วารสาร 28 เล่ม, และ​จุลสาร 20 เล่ม​สำหรับ​ใช้​ใน​งาน​ประกาศ. เมื่อ​ผม​ไป​ถึง​ที่​นั่น ชาว​บ้าน​ส่วน​ใหญ่​นมัสการ​อยู่​ใน​โบสถ์. แม้​เป็น​เช่น​นั้น ตอน 11 นาฬิกา หนังสือ​ก็​เกลี้ยง​กระเป๋า​แล้ว.

เมื่อ​ผม​แจ้ง​ความ​ประสงค์​แก่​พี่​น้อง​ชาย​ว่า​ต้องการ​รับ​บัพติสมา พวก​เขา​ได้​สนทนา​อย่าง​จริงจัง​กับ​ผม และ​ตั้ง​คำ​ถาม​ที่​ลึกซึ้ง​เกี่ยว​กับ​ความ​จริง. ผม​รู้สึก​ประทับใจ​จริง ๆ ที่​พวก​เขา​มี​ใจ​แรง​กล้า​และ​ภักดี​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​องค์การ​ของ​พระองค์. เนื่อง​จาก​ช่วง​นั้น​เป็น​หน้า​หนาว บราเดอร์​คน​หนึ่ง​จึง​ให้​บัพติสมา​ผม​ใน​อ่าง​อาบ​น้ำ​ที่​บ้าน​ผู้​ปกครอง. จำ​ได้​ว่า​ผม​รู้สึก​ชื่นชม​ยินดี​สุด​พรรณนา​และ​รู้สึก​ว่า​เกิด​ความ​เข้มแข็ง​ภาย​ใน. นั่น​คือ​ปี 1934.

ทำ​งาน​ที่​ฟาร์ม​ราชอาณาจักร

ปี 1936 ผม​ได้​ข่าว​พยาน​พระ​ยะโฮวา​จัด​ซื้อ​ที่​ดิน​ผืน​หนึ่ง​ใน​สวิตเซอร์แลนด์. ผม​จึง​เสนอ​ตัว​เป็น​คน​ทำ​สวน. ผม​ดีใจ​เมื่อ​ได้​คำ​ตอบ​ให้​เข้า​ทำ​งาน​ใน​ฟาร์ม​ราชอาณาจักร​ที่​เมือง​ชเตฟฟิสบูร์ก ห่าง​จาก​กรุง​เบิร์น​ประมาณ 30 กิโลเมตร. เมื่อ​ไร​ก็​ตาม​ที่​เป็น​ไป​ได้ ผม​มัก​จะ​ช่วย​บาง​คน​ทำ​งาน​ส่วน​ของ​เขา​ที่​ฟาร์ม​นั้น. เบเธล​สอน​ผม​รู้​ความ​สำคัญ​ของ​การ​มี​น้ำใจ​ให้​ความ​ร่วม​มือ​ซึ่ง​กัน​และ​กัน.

ระหว่าง​หลาย​ปี​ที่​อยู่​เบเธล ช่วง​สำคัญ​ยิ่ง​ของ​ผม​คือ ตอน​ที่​บราเดอร์​รัทเทอร์ฟอร์ด​แวะ​ไป​เยี่ยม​ฟาร์ม​ใน​ปี 1936. เมื่อ​ท่าน​เห็น​มะเขือ​เทศ​ลูก​ใหญ่​และ​พืช​ผล​อุดม​สมบูรณ์ ท่าน​ยิ้ม​และ​แสดง​ความ​พอ​อก​พอ​ใจ​เป็น​อย่าง​มาก. ท่าน​เป็น​บราเดอร์​ที่​น่า​รัก​น่า​ชื่นชม​เหลือ​เกิน!

เมื่อ​ผม​ได้​มา​ทำ​งาน​ที่​ฟาร์ม​แห่ง​นี้​นาน​สาม​ปี​เศษ ก็​มี​การ​อ่าน​จดหมาย​จาก​สำนักงาน​ใหญ่​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​สหรัฐ​ที่​โต๊ะ​รับประทาน​อาหาร​เช้า. จดหมาย​ฉบับ​นั้น​เน้น​ความ​เร่ง​ด่วน​ของ​งาน​เผยแพร่ และ​กล่าว​เชิญ​ชวน​ผู้​ใด​ที่​อยู่​พร้อม​จะ​ไป​ทำ​งาน​ต่าง​แดน​ฐานะ​เป็น​ไพโอเนียร์. ผม​อาสา​สมัคร​ทันที​โดย​ไม่​ลังเล. เดือน​พฤษภาคม 1939 ผม​ถูก​มอบหมาย​ให้​ไป​ประเทศ​บราซิล!

ใน​เวลา​นั้น ผม​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​ที่​ประชาคม​ทูน ใกล้​ฟาร์ม​ราชอาณาจักร. พอ​ถึง​วัน​อาทิตย์ กลุ่ม​ของ​เรา​จะ​ไป​ประกาศ​แถบ​ภูเขา​แอลป์ ขี่​จักรยาน​จาก​ทูน​ไป​สอง​ชั่วโมง. มาร์การิทา สไตเนอร์​เป็น​คน​หนึ่ง​ใน​กลุ่ม. ความ​คิด​หนึ่ง​แวบ​ขึ้น​มา​ทันที: พระ​เยซู​ทรง​ส่ง​สาวก​ออก​ไป​เป็น​คู่​มิ​ใช่​หรือ? เมื่อ​ผม​พูด​ขึ้น​มา​ลอย ๆ กับ​มาร์การิทา​ว่า​ผม​ถูก​มอบหมาย​ไป​บราซิล เธอ​แสดง​ความ​ปรารถนา​ออก​มา​ว่า​อยาก​ทำ​งาน​รับใช้​ใน​ที่​ซึ่ง​มี​ความ​ต้องการ​มาก​กว่า. เรา​แต่งงาน​กัน​เมื่อ​วัน​ที่ 31 กรกฎาคม 1939.

จุด​แวะ​ที่​ไม่​ได้​คาด​หมาย

เรา​ลง​เรือ​จาก​เลอ อาฟร์ ประเทศ​ฝรั่งเศส​เมื่อ​ปลาย​เดือน​สิงหาคม 1939 มุ่ง​ไป​ยัง​เมือง​ซานโตส ประเทศ​บราซิล. ห้อง​เตียง​นอน​แบบ​สอง​ชั้น​ใน​เรือ​มี​ไม่​พอ​ผู้​โดยสาร เรา​จึง​ต้อง​แยก​กัน​นอน​คน​ละ​ห้อง. ขณะ​อยู่​ระหว่าง​การ​เดิน​ทาง​มี​การ​ประกาศ​ข่าว​ว่า​บริเตนใหญ่​และ​ฝรั่งเศส​ประกาศ​สงคราม​กับ​เยอรมนี​แล้ว. กลุ่ม​ผู้​โดยสาร​ชาว​เยอรมัน​ประมาณ 30 คน​แสดง​ท่าที​ตอบ​สนอง​ด้วย​การ​ร้อง​เพลง​ชาติ​เยอรมัน. ทั้ง​นี้​ทำ​ให้​กัปตัน​เรือ​โกรธ​มาก​ถึง​กับ​เปลี่ยน​เส้น​ทาง​และ​นำ​เรือ​เข้า​เทียบ​ท่า​ที่​ซาฟิ ประเทศ​โมร็อกโก. ผู้​โดยสาร​ที่​ถือ​หนังสือ​เดิน​ทาง​เยอรมัน​มี​เวลา​ขึ้น​บก​ได้​เพียง​ห้า​นาที. เรา​สอง​คน​รวม​อยู่​ด้วย.

เรา​ถูก​กัก​ตัว​ไว้​ที่​สถานี​ตำรวจ​หนึ่ง​วัน ครั้น​แล้ว​ต้อง​นั่ง​เบียด​กัน​ใน​รถ​ประจำ​ทาง​เก่า​บุโรทั่ง​ที่​นำ​เรา​ไป​ยัง​เรือน​จำ​อีก​แห่ง​หนึ่ง​ที่​มาร์ราเคช ระยะ​ทาง​ประมาณ 140 กิโลเมตร. จาก​นั้น​วัน​แห่ง​ความ​ยุ่งยาก​ลำบาก​ก็​ตาม​มา. ห้อง​ขัง​ของ​เรา​ทั้ง​มืด​และ​แออัด​ยัดเยียด. แถม​ห้อง​ส้วม​รวม​ก็​อุดตัน​เสมอ ซึ่ง​มัน​ก็​คือ​ช่อง​ที่​เจาะ​บน​พื้น​ห้อง​นั่น​เอง. แต่​ละ​คน​ได้​รับ​แจก​กระสอบ​สกปรก​ใบ​หนึ่ง​ไว้​ปู​นอน ตก​กลางคืน พวก​เรา​โดน​หนู​กัด​ที่​น่อง. เรา​รับ​แจก​อาหาร​ปัน​ส่วน​วัน​ละ​สอง​ครั้ง​ใน​กระป๋อง​เกรอะ​สนิม.

นาย​ทหาร​บอก​ผม​ว่า​จะ​ถูก​ปล่อย​ตัว​ก็​ต่อ​เมื่อ​ผม​ตก​ลง​รับ​หน้า​ที่​ห้า​ปี​ใน​กอง​ทหาร​ต่าง​ด้าว​ของ​ฝรั่งเศส. เพราะ​ผม​ตอบ​ปฏิเสธ​จึง​ต้อง​ถูก​กัก​เป็น​เวลา 24 ชั่วโมง​ใน​สภาพ​ที่​บอก​ได้​อย่าง​เดียว​ว่า​ร้ายกาจ​น่า​สยดสยอง. ตอน​นั้น​ผม​ใช้​เวลา​ส่วน​ใหญ่​อธิษฐาน.

ครั้น​ล่วง​ไป​แปด​วัน เจ้าหน้าที่​เรือน​จำ​อนุญาต​ให้​ผม​ได้​พบ​มาร์การิทา​อีก. เธอ​ซูบ​ผอม​ไป​มาก​และ​ร้องไห้​อย่าง​หนัก. ผม​ทำ​ดี​ที่​สุด​เพื่อ​ให้​การ​หนุน​กำลังใจ​เธอ. เรา​ถูก​สอบสวน​และ​ย้าย​ไป​ที่​เมือง​คาซาบลังกา​โดย​รถไฟ ที่​นั่น​เขา​ปล่อย​มาร์การิทา​เป็น​อิสระ. ส่วน​ผม​ถูก​ส่ง​เข้า​ค่าย​คุม​ขัง​ที่​พอร์ตไลโอเทย์ (เคนิทรา ใน​ปัจจุบัน) ไกล​ออก​ไป​ราว ๆ 180 กิโลเมตร. สถาน​กงสุล​สวิตเซอร์แลนด์​ได้​แนะ​นำ​มาร์การิทา​ให้​กลับ​สวิตเซอร์แลนด์ แต่​ด้วย​ความ​ภักดี เธอ​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ไป​เพียง​ลำพัง​โดย​ไม่​มี​ผม​ไป​ด้วย. ช่วง​สอง​เดือน​ที่​ผม​ติด​คุก​ที่​พอร์ตไลโอเทย์ เธอ​เดิน​ทาง​จาก​คาซาบลังกา​มา​เยี่ยม​และ​นำ​อาหาร​มา​ให้​ผม​ทุก​วัน.

ก่อน​หน้า​นั้น​หนึ่ง​ปี พยาน​พระ​ยะโฮวา​ออก​หนังสือ​ชื่อ​สงคราม​ครูเสด​ปราบ​ปราม​ศาสนา​คริสเตียน (ภาษา​เยอรมัน) เพื่อ​สาธารณชน​จะ​ได้​รู้​จัก​ว่า​พยาน​ฯ ไม่​มี​ส่วน​เกี่ยว​ข้อง​แต่​อย่าง​ใด​กับ​การ​ปกครอง​ระบอบ​นาซี. ระหว่าง​ที่​ผม​อยู่​ใน​ค่าย​คุม​ขัง สำนักงาน​สาขา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ใน​กรุง​เบิร์น​ส่ง​จดหมาย​ถึง​เจ้าหน้าที่​ฝรั่งเศส พร้อม​กับ​แนบ​หนังสือ​เล่ม​นั้น​เป็น​การ​ยืน​ยัน​ว่า​พวก​เรา​ไม่​ใช่​นาซี. มาร์การิทา​ทำ​งาน​อย่าง​น่า​ยกย่อง​เช่น​กัน ด้วย​การ​ไป​พบ​เจ้าหน้าที่​บ้าน​เมือง และ​พยายาม​ให้​พวก​เขา​เห็น​ว่า​พวก​เรา​ไม่​มี​ความ​ผิด. ใน​ที่​สุด ปลาย​ปี 1939 เรา​ได้​รับ​อนุญาต​ให้​เดิน​ทาง​ออก​จาก​ประเทศ​โมร็อกโก.

หลัง​จาก​ลง​เรือ​ต่อ​ไป​บราซิล เรา​จึง​ได้​รู้​ว่า​เรือ​ดำ​น้ำ​อู​ของ​ฝ่าย​เยอรมัน​ได้​มุ่ง​โจมตี​เรือ​บน​เส้น​ทาง​เดิน​เรือ​ใน​มหาสมุทร​แอตแลนติก และ​พวก​เรา​เป็น​เป้า​สำคัญ. ถึง​แม้​เป็น​เรือ​พาณิชย์ แต่​เรือ​ชาไมค์ ติด​ตั้ง​ปืน​ใหญ่​ที่​หัว​เรือ​และ​ท้าย​เรือ​ด้วย. ใน​เวลา​กลางวัน กัปตัน​แล่น​เรือ​เลี้ยว​ไป​เลี้ยว​มา​และ​ระดม​ยิง​ปืน​ใหญ่​ไม่​ขาด​ระยะ. ตก​กลางคืน เรา​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​สั่ง​ให้​ปิด​ไฟ​เพื่อ​หลีกเลี่ยง​การ​ตรวจ​พบ​จาก​ฝ่าย​เยอรมัน. เรา​รู้สึก​โล่ง​ใจ​เพียง​ใด​เมื่อ​ใน​ที่​สุด​เรา​เข้า​เทียบ​ท่า​เรือ​ที่​ซานโตส ประเทศ​บราซิล เมื่อ​วัน​ที่ 6 กุมภาพันธ์ 1940 ภาย​หลัง​ออก​จาก​ยุโรป​มา​นาน​กว่า​ห้า​เดือน!

กลับ​เข้า​คุก​อีก

เขต​งาน​ประกาศ​แรก​ที่​เรา​ได้​รับ​มอบหมาย​คือ​เขต​เมือง​มองเตนีโกร ใน​รัฐ​ริโอกรานเดโดซูล​ทาง​ภาค​ใต้​ของ​บราซิล. ปรากฏ​ว่า​พวก​เจ้าหน้าที่​ฝ่าย​คริสตจักร​รับ​แจ้ง​เรื่อง​การ​มา​ของ​เรา​แล้ว. หลัง​จาก​ออก​ทำ​งาน​เผยแพร่​เพียง​สอง​ชั่วโมง ตำรวจ​ก็​จับ​กุม​เรา​และ​ยึด​ชุด​แผ่น​เสียง​ที่​บันทึก​คำ​เทศน์​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล, สรรพหนังสือ​ทุก​อย่าง, กระทั่ง​กระเป๋า​หนัง​อูฐ​ที่​ใช้​ใส่​หนังสือ​สำหรับ​งาน​เผยแพร่​ซึ่ง​ซื้อ​จาก​โมร็อกโก. บาทหลวง​และ​นัก​เทศน์​คน​หนึ่ง​ที่​พูด​ภาษา​เยอรมัน​คอย​เรา​อยู่​แล้ว​ที่​สถานี​ตำรวจ. เขา​ฟัง​ขณะ​ที่​นาย​ตำรวจ​เปิด​แผ่น​เสียง​คำ​บรรยาย​ของ​บราเดอร์​รัทเทอร์ฟอร์ด​จาก​หีบ​เสียง​ที่​ยึด​ไป​จาก​เรา. แน่นอน บราเดอร์​รัทเทอร์ฟอร์ด​เป็น​คน​พูด​ตรง​ไป​ตรง​มา! เมื่อ​ตอน​หนึ่ง​ใน​คำ​บรรยาย​พูด​ถึง​สำนัก​วาติกัน บาทหลวง​หน้า​แดง​ทั้ง​โกรธ​ทั้ง​อับอาย​และ​ก้าว​พรวดพราด​ออก​ไป.

เมื่อ​รับ​คำ​ร้อง​เรียน​จาก​บิชอป​แห่ง​รัฐ​ซานตา​มาเรีย ตำรวจ​ย้าย​เรา​ไป​ที่​ปอร์โต อเลเกร เมือง​หลวง​ของ​รัฐ. ไม่​ช้า มาร์การิทา​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว แล้ว​จึง​ได้​ร้อง​ขอ​สถาน​กงสุล​สวิส​ให้​ช่วย. ทาง​กงสุล​แนะ​นำ​เธอ​ให้​กลับ​สวิตเซอร์แลนด์. อีก​ครั้ง​หนึ่ง เธอ​ปฏิเสธ​ที่​จะ​ทิ้ง​ผม​ไป. ตลอด​เวลา มาร์การิทา​เป็น​เพื่อน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ภักดี​อย่าง​แท้​จริง. สาม​สิบ​วัน​ต่อ​มา ผม​ถูก​สอบสวน​แล้ว​ได้​รับ​การ​ปล่อย​ตัว. ทาง​ตำรวจ​เสนอ​ทางเลือก​ให้​เรา​คือ​ออก​จาก​รัฐ​ภาย​ใน​สิบ​วัน หรือ “เผชิญ​กับ​ผล​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น.” เมื่อ​ได้​รับ​การ​เสนอ​แนะ​จาก​สำนักงาน​ใหญ่ เรา​จึง​ออก​เดิน​ทาง​ไป​นคร​ริวเดจาเนโร.

“เชิญ​อ่าน​บัตร​นี้”

ทั้ง​ที่​การ​เริ่ม​ต้น​เผยแพร่​ใน​เขต​งาน​ที่​บราซิล​ไม่​ค่อย​ราบรื่น แต่​เรา​ชื่นชม​ยินดี​เสีย​นี่​กระไร! ที่​สำคัญ​ยิ่ง พวก​เรา​ยัง​มี​ชีวิต​อยู่ กระเป๋า​ของ​เรา​จุ​หนังสือ​ไว้​เต็ม​อีก​ครั้ง​หนึ่ง และ​เรา​มี​นคร​ริวเดจาเนโร​ทั้ง​เมือง​เป็น​เขต​งาน​ประกาศ. ทว่า​เรา​จะ​ประกาศ​อย่าง​ไร​ใน​เมื่อ​เรา​รู้​ภาษา​โปรตุเกส​เพียง​ไม่​กี่​คำ? บัตร​ที่​พิมพ์​คำ​พยาน​อย่าง​ไร​ล่ะ. “โปร์ ฟาโวร์ เลอะ เอสเต คาร์เตา” (“เชิญ​อ่าน​บัตร​นี้”) เป็น​คำ​ภาษา​โปรตุเกส​ซึ่ง​เรา​ได้​เรียน​ครั้ง​แรก​เพื่อ​ใช้​ใน​งาน​ประกาศ​เผยแพร่. ผล​สำเร็จ​จาก​การ​ใช้​บัตร​นี้​เยี่ยม​จริง ๆ! ภาย​ใน​เดือน​เดียว เรา​จำหน่าย​หนังสือ​ปก​แข็ง​มาก​กว่า 1,000 เล่ม. หลาย​คน​ที่​รับ​สรรพหนังสือ​คู่มือ​พระ​คัมภีร์​จาก​พวก​เรา ใน​เวลา​ต่อ​มา​ได้​รับ​เอา​ความ​จริง. ว่า​กัน​ตาม​ตรง สรรพหนังสือ​ของ​เรา​ให้​คำ​พยาน​อย่าง​มี​ประสิทธิผล​เกิน​กว่า​ที่​เรา​จะ​สามารถ​ทำ​ได้. จุด​นี้​ให้​ความ​ประทับใจ​แก่​ผม​ว่า​การ​ให้​หนังสือ​ของ​เรา​ตก​ไป​อยู่​ใน​มือ​ผู้​สนใจ​นั้น​เป็น​เรื่อง​สำคัญ​จริง ๆ.

สมัย​นั้น นคร​ริวเดจาเนโร​เป็น​เมือง​หลวง​ของ​บราซิล และ​โดย​เฉพาะ​ตาม​สถาน​ที่​ราชการ​ได้​ต้อนรับ​ข่าวสาร​ของ​พวก​เรา​เป็น​อย่าง​ดี. ผม​สบ​โอกาส​ซึ่ง​ถือ​ว่า​เป็น​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​ให้​คำ​พยาน​ด้วย​ตัว​เอง​แก่​รัฐมนตรี​กระทรวง​การ​คลัง​และ​รัฐมนตรี​กลาโหม. ณ โอกาส​เหล่า​นี้ ผม​มอง​เห็น​หลักฐาน​ชัดเจน​ว่า​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ดำเนิน​การ.

มี​อยู่​ครั้ง​หนึ่ง ขณะ​เผยแพร่​ที่​จัตุรัส​ใน​ใจ​กลาง​นคร​ริว​ผม​เดิน​เข้า​ไป​ใน​ศาล​ยุติธรรม. ด้วย​เหตุ​ผล​กล​ใด​ไม่​ทราบ ผม​ได้​เข้า​มา​อยู่​ใน​ห้อง​ล้อม​รอบ​ด้วย​ผู้​ชาย​หลาย​คน​แต่ง​ชุด​ดำ​เป็น​คณะ​ซึ่ง​ดู​เหมือน​ประกอบ​พิธี​ทำ​ศพ. ผม​เข้า​หา​ผู้​ชาย​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ดู​เด่น​กว่า​เพื่อน และ​ได้​ยื่น​บัตร​ที่​พิมพ์​คำ​พยาน​ให้​อ่าน. ที่​แท้​ไม่​ใช่​งาน​ศพ. จริง ๆ แล้ว ผม​ได้​ขัด​จังหวะ​การ​พิจารณา​คดีความ และ​ผม​กำลัง​พูด​กับ​ผู้​พิพากษา. เขา​หัวเราะ​ลั่น​และ​ยก​มือ​เป็น​สัญญาณ​ให้​ยาม​รักษา​การณ์​อยู่​เฉย ๆ. เขา​รับ​เอา​หนังสือ​เด็ก​ทั้ง​หลาย * ไว้​ด้วย​มารยาท​อัน​ดี​พร้อม​กับ​ให้​เงิน​บริจาค​ด้วย. เมื่อ​เดิน​ออก​จาก​ที่​นั่น ยาม​รักษา​การณ์​ชี้​ไป​ที่​ป้าย​ติด​บน​ประตู​อ่าน​ว่า ปรอยบีดา อา เอนตราดา เดอ เปโซอัส เอสตรังยัส (บุคคล​ภาย​นอก​ห้าม​เข้า) ซึ่ง​มอง​เห็น​ได้​ถนัด​ชัดเจน.

เขต​งาน​ที่​บังเกิด​ผล​ดี​อีก​แห่ง​หนึ่ง​คือ​ท่า​เรือ. คราว​หนึ่ง ผม​เจอ​ลูกเรือ​ซึ่ง​รับ​หนังสือ​ก่อน​ออก​ทะเล. ต่อ​มา ผม​พบ​เขา​ที่​การ​ประชุม​ใหญ่. ทุก​คน​ใน​ครอบครัว​ของ​เขา​รับ​เอา​ความ​จริง และ​ตัว​เขา​เอง​กำลัง​ก้าว​หน้า​เป็น​อย่าง​ดี. ข่าว​นี้​ทำ​ให้​เรา​มี​ความ​สุข​มาก.

อย่าง​ไร​ก็​ตาม ไม่​ใช่​ทุก​อย่าง​ราบรื่น​เสมอ​ไป. วีซ่า​กำหนด​เวลา​หก​เดือน​ของ​เรา​นั้น​หมด​อายุ และ​เรา​ต้อง​เผชิญ​ความ​เป็น​ไป​ได้​ที่​จะ​ถูก​เนรเทศ​ออก​นอก​ประเทศ. หลัง​จาก​รายงาน​สถานการณ์​ของ​เรา​ให้​สำนักงาน​ใหญ่​ทราบ​แล้ว เรา​ได้​รับ​จดหมาย​แสดง​ความ​รักใคร่​จาก​บราเดอร์​รัทเทอร์ฟอร์ด​ที่​หนุน​ใจ​เรา​ให้​เพียร​อด​ทน และ​แนะ​นำ​เรา​ว่า​ควร​ดำเนิน​การ​ขั้น​ต่อ​ไป​อย่าง​ไร. เรา​ต้องการ​อยู่​ใน​บราซิล​ต่อ และ​ด้วย​การ​ช่วยเหลือ​ของ​ทนาย​ความ ใน​ที่​สุด ปี 1945 เรา​ก็​ได้​วีซ่า​ถาวร.

งาน​มอบหมาย​ระยะ​ยาว

แต่​ก่อน​หน้า​นั้น เรา​ได้​ลูก​ชาย​ชื่อ​โยนา​ทาน​เกิด​เมื่อ​ปี 1941, รูธ​เกิด​ปี 1943, แล้ว​เอสเทอร์​เกิด​ปี 1945. ผม​จึง​ต้อง​หา​งาน​อาชีพ​เพื่อ​ดู​แล​และ​จัด​หา​สิ่ง​จำเป็น​สำหรับ​ครอบครัว​ของ​เรา​ที่​กำลัง​ขยาย​ตัว. มาร์การิทา​ยัง​คง​รับใช้​เต็ม​เวลา​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​จน​กระทั่ง​เธอ​คลอด​ลูก​คน​ที่​สาม.

ตั้ง​แต่​แรก เรา​ทำ​งาน​ด้วย​กัน​เป็น​ครอบครัว​เมื่อ​เผยแพร่​ตาม​ย่าน​ชุมชน​ใน​เมือง, ที่​สถานี​รถไฟ, ตาม​ถนน, และ​ใน​เขต​ธุรกิจ. คืน​วัน​เสาร์ เรา​ไป​ด้วย​กัน​เป็น​ครอบครัว​เพื่อ​จำหน่าย​วารสาร​หอสังเกตการณ์ และ​ตื่นเถิด! และ​โอกาส​ที่​ไป​ไหน​มา​ไหน​ด้วย​กัน​อย่าง​นี้​เอื้อ​ความ​สุข​เป็น​พิเศษ.

ที่​บ้าน ลูก​แต่​ละ​คน​มี​หน้า​ที่​ประจำ​วัน​ที่​ต้อง​ทำ. โยนา​ทาน​รับผิดชอบ​ทำ​ความ​สะอาด​เตา​ไฟ​และ​ห้อง​ครัว. ลูก​สาว​ทำ​สะอาด​ตู้​เย็น, กวาด​สนาม​หญ้า, และ​ขัด​รอง​เท้า​ของ​เรา. การ​ทำ​งาน​แบบ​นี้​ช่วย​เขา​เรียน​รู้​วิธี​จัด​ระเบียบ​และ​เกิด​ความ​คิด​ริเริ่ม. เวลา​นี้​ลูก ๆ ของ​เรา​ขันแข็ง​ดู​แล​บ้าน​เรือน​และ​สมบัติ​ส่วน​ตัว​ของ​เขา​เป็น​อย่าง​ดี ทำ​ให้​ผม​กับ​มาร์การิทา​มี​ความ​สุข​มาก.

อนึ่ง เรา​คาด​หมาย​ให้​ลูก​ประพฤติ​ตัว​เรียบร้อย ณ การ​ประชุม. ก่อน เริ่ม​ระเบียบ​วาระ พวก​เขา​ดื่ม​น้ำ​หนึ่ง​แก้ว​และ​ทำ​ธุระ​ใน​ห้อง​น้ำ​ให้​เสร็จ. ณ ช่วง​เวลา​ประชุม โยนา​ทาน​นั่ง​ทาง​ซ้าย​มือ​ผม รูธ​นั่ง​ทาง​ขวา มาร์การิทา​นั่ง​ถัด​ไป และ​มี​เอสเทอร์​นั่ง​ขนาบ​ทาง​ขวา​มือ. ทั้ง​นี้ เป็น​การ​ช่วย​เด็ก​ให้​ตั้งใจ​จดจ่อ​และ​รับ​เอา​อาหาร​ฝ่าย​วิญญาณ​ตั้ง​แต่​วัย​เยาว์.

พระ​ยะโฮวา​ทรง​อวย​พร​ความ​บากบั่น​พยายาม​ของ​เรา. ลูก​ทุก​คน​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ต่อ​เนื่อง​ด้วย​ความ​ซื่อ​สัตย์ และ​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​เผยแพร่​ด้วย​ความ​ชื่นชม​ยินดี. ปัจจุบัน​โยนา​ทาน​รับใช้​ฐานะ​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​โนวูเมเออร์ ใน​นคร​ริวเดจาเนโร.

มา​ถึง​ปี 1970 ลูก​ทุก​คน​แต่งงาน​และ​ออก​เรือน​กัน​หมด ผม​กับ​มาร์การิทา​จึง​ตก​ลง​ใจ​ย้าย​ไป​ทำ​งาน​เผยแพร่​ใน​เขต​ที่​ยัง​มี​ความ​ต้องการ​ผู้​ประกาศ​อยู่​มาก. เขต​แรก​ของ​เรา​คือ​เมือง​ปอซูส ดี คัลดัส ใน​รัฐ​มีนัสเจไรส์ ซึ่ง​ตอน​นั้น​มี​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​แค่​กลุ่ม​เล็ก ๆ เพียง 19 คน. ผม​รู้สึก​หนัก​ใจ​เมื่อ​แรก​เห็น​สถาน​ประชุม​ของ​เขา เป็น​ห้อง​ใต้​ถุน​ตึก​ไม่​มี​หน้าต่าง แถม​จำเป็น​ต้อง​ซ่อมแซม​อีก​มาก. เรา​เริ่ม​หา​สถาน​ที่​แห่ง​ใหม่​ทันที​เพื่อ​จะ​มี​หอ​ประชุม​ราชอาณาจักร​ที่​เหมาะ​สม และ​ไม่​นาน​ก็​เจอ​อาคาร​สวย​งาม​ดึงดูด​ใจ​อยู่​ใน​ทำเล​ที่​ดี​มาก. มัน​ต่าง​กัน​ชนิด​หน้า​มือ​เป็น​หลัง​มือ​ที​เดียว! ต่อ​มา​ราว ๆ สี่​ปี​ครึ่ง จำนวน​ผู้​ประกาศ​เพิ่ม​ขึ้น​ถึง 155 คน. ปี 1989 เรา​ได้​ย้าย​ไป​ที่​เมือง​อะรา​รัว​มา​ใน​รัฐ​ริวเดจาเนโร เรา​รับใช้​ที่​นี่​นาน​เก้า​ปี. ใน​ช่วง​เวลา​ดัง​กล่าว เรา​ได้​รู้​เห็น​การ​ตั้ง​ประชาคม​ใหม่​สอง​ประชาคม.

ได้​รับ​ผล​ตอบ​แทน​สำหรับ​การ​ยืนหยัด​ใน​เขต​งาน​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย

ปี 1998 ปัญหา​ด้าน​สุขภาพ​และ​ความ​ต้องการ​จะ​อยู่​ใกล้​ลูก ๆ ทำ​ให้​เรา​ย้าย​ไป​ที่​เมือง​เซากอนซาลู รัฐ​ริวเดจาเนโร. ผม​ยัง​คง​รับใช้​ฐานะ​ผู้​ปกครอง​ใน​ประชาคม​นั้น. เรา​พยายาม​ทำ​ดี​ที่​สุด​เพื่อ​มี​ส่วน​ร่วม​งาน​ประกาศ​อย่าง​สม่ำเสมอ. มาร์การิทา​ชอบ​ให้​คำ​พยาน​แก่​ผู้​คน​ที่​ซูเปอร์มาร์เกต​ใกล้​บ้าน และ​ทาง​ประชาคม​ก็​กรุณา​กัน​เขต​งาน​ประกาศ​ใกล้​บ้าน​ไว้​ให้​เรา ซึ่ง​ทำ​ให้​สะดวก​และ​ง่าย​ที่​จะ​ประกาศ​ตราบ​เท่า​สุขภาพ​ของ​เรา​อำนวย.

ผม​กับ​มาร์การิทา​ได้​อุทิศ​ตัว​เป็น​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​มา​นาน​กว่า​หก​สิบ​ปี​แล้ว. เรา​ประสบ​ด้วย​ตัว​เอง​ว่า ‘ไม่​ว่า​รัฐบาล​หรือ​สิ่ง​ที่​มี​อยู่​เดี๋ยว​นี้​หรือ​สิ่ง​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น​มา​หรือ​อำนาจ​หรือ​ความ​สูง​หรือ​ความ​ลึก​หรือ​สิ่ง​ทรง​สร้าง​อื่น​ใด​จะ​ไม่​สามารถ​พราก​เรา​จาก​ความ​รัก​ของ​พระเจ้า​ซึ่ง​อยู่​ใน​พระ​คริสต์​เยซู​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้าของ​เรา.’ (โรม 8:38, 39, ล.ม.) และ​น่า​ชื่น​ใจ​เสีย​จริง ๆ ที่​มี​โอกาส​ได้​เห็น​การ​รวบ​รวม “แกะ​อื่น” ซึ่ง​มี​ความ​หวัง​ที่​น่า​พิศวง​จะ​อยู่​ตลอด​ไป​บน​แผ่นดิน​โลก​ที่​สมบูรณ์​พร้อม แวด​ล้อม​ด้วย​สรรพสิ่ง​งดงาม​ที่​พระเจ้า​ทรง​สร้าง! (โยฮัน 10:16) เมื่อ​เรา​มา​ถึง​ใน​ปี 1940 นคร​ริวเดจาเนโร​มี​เพียง​ประชาคม​เดียว ผู้​ประกาศ 28 คน. ปัจจุบัน​มี​ประมาณ 250 ประชาคม​และ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​มาก​กว่า 20,000 คน.

เรา​สามารถ​กลับ​ไป​หา​ญาติ​ใน​ยุโรป​ได้​ใน​บาง​โอกาส. แต่​งาน​มอบหมาย​ที่​เรา​ได้​รับ​จาก​พระ​ยะโฮวา​อยู่​ที่​นี่​ใน​ประเทศ​บราซิล. เรา​ดีใจ​มาก​เพียง​ใด​ที่​เรา​ไม่​ละ​ทิ้ง​เขต​งาน​ที่​ได้​รับ​มอบหมาย!

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 11 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา แต่​ไม่​มี​การ​พิมพ์​อีก.

^ วรรค 12 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา แต่​ไม่​มี​การ​พิมพ์​อีก.

^ วรรค 33 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา แต่​ไม่​มี​การ​พิมพ์​อีก​แล้ว.

[ภาพ​หน้า 21]

ที่​ฟาร์ม​ราชอาณาจักร ชเตฟฟิสบูร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ช่วง​ปลาย​ทศวรรษ 1930 (ผม​อยู่​ซ้าย​สุด)

[ภาพ​หน้า 23]

ไม่​นาน​ก่อน​เรา​แต่งงาน​ปี 1939

[ภาพ​หน้า 23]

คาซาบลังกา ใน​ทศวรรษ 1940

[ภาพ​หน้า 23]

ทำ​งาน​เผยแพร่​ด้วย​กัน​เป็น​ครอบครัว

[ภาพ​หน้า 24]

ทุก​วัน​นี้​มี​ส่วน​ร่วม​งาน​เผยแพร่​อย่าง​สม่ำเสมอ