คำถามจากผู้อ่าน
คำถามจากผู้อ่าน
การปฏิญาณตนต่อพระเจ้าเป็นข้อผูกมัดเสมอไปไหม?
ในแง่ของคัมภีร์ไบเบิล การปฏิญาณหมายถึงคำมั่นสัญญาที่ทำไว้กับพระเจ้าอย่างจริงจังว่าจะปฏิบัติ, มอบของถวาย, เริ่มการงานพิเศษหรือรับเอาหน้าที่, หรือละเว้นบางอย่างซึ่งในตัวมันเองไม่ผิดกฎหมาย. คัมภีร์ไบเบิลมีเรื่องราวของบางคนที่ปฏิญาณแบบมีเงื่อนไข คือสัญญาว่าจะปฏิบัติตามแนวที่ว่าไว้ หากพระเจ้าได้กระทำบางสิ่งเสียก่อน. ยกตัวอย่าง นางฮันนามารดาผู้พยากรณ์ซามูเอล “ได้ปฏิญาณไว้ว่า ‘ข้าแต่พระยะโฮวาเจ้าแห่งพลโยธา, แม้นพระองค์จะ . . . ไม่ละลืมข้าพเจ้า, กับทั้งจะทรงประทานบุตรชายแก่ผู้ทาสของพระองค์. แล้วข้าพเจ้าจะขอถวายบุตรนั้นไว้เฉพาะพระยะโฮวาตลอดชีวิต, โดยไม่ให้มีดโกนต้องศีรษะเลย.’” (1 ซามูเอล 1:11) อนึ่ง คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาการปฏิญาณว่าเป็นการกระทำด้วยความสมัครใจ. การปฏิญาณตนต่อพระเจ้าเป็นข้อผูกมัดแน่นหนาเพียงใด?
กษัตริย์ซะโลโมแห่งชาติอิสราเอลโบราณกล่าวดังนี้: “เมื่อเจ้าปฏิญาณบนไว้ต่อพระเจ้า, อย่าชักช้าในการที่จะแก้บนนั้นให้สำเร็จ.” ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า “จงแก้บนตามที่เจ้าบนไว้เถิด. ที่เจ้าจะไม่บนยังดีกว่าที่เจ้าจะบนแล้วไม่แก้.” (ท่านผู้ประกาศ 5:4, 5) กฎหมายที่พระเจ้าประทานแก่ชาวอิสราเอลผ่านทางโมเซระบุว่า “ในกรณีที่เจ้ากล่าวคำปฏิญาณต่อพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า อย่าเฉื่อยช้าในการทำตามคำปฏิญาณนั้น ด้วยพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าจะทรงเรียกร้องให้เจ้าทำตามเป็นแน่ และนั่นจะเป็นบาปแก่เจ้าอย่างแน่นอน.” (พระบัญญัติ 23:21, ล.ม.) เห็นได้ชัดว่า การปฏิญาณต่อพระเจ้าเป็นเรื่องจริงจัง. พึงปฏิญาณด้วยเหตุผลอันสมควร และผู้ปฏิญาณไม่น่าจะสงสัยว่าตนสามารถทำตามคำปฏิญาณที่ให้ไว้ได้หรือไม่. มิฉะนั้น ผู้นั้นไม่ปฏิญาณเสียเลยก็ดีกว่า. แต่เมื่อได้ปฏิญาณแล้ว คำปฏิญาณทุกอย่างเป็นข้อผูกมัดไหม?
จะว่าอย่างไรถ้าคำปฏิญาณเรียกร้องให้ทำอะไรบางอย่างซึ่งมารู้ทีหลังว่าไม่ประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า? สมมุติว่าคำปฏิญาณนั้นผูกโยงการประพฤติผิดศีลธรรมเข้ากับการนมัสการแท้ในทางหนึ่งทางใดล่ะ? (พระบัญญัติ 23:18) เห็นได้ชัดว่าคำปฏิญาณดังกล่าวไม่เป็นการผูกมัด. ยิ่งกว่านั้น ภายใต้พระบัญญัติของโมเซ คำปฏิญาณของหญิงคนหนึ่งคนใดอาจถูกบิดาหรือสามีของหญิงนั้นยกเลิกได้.—อาฤธโม 30:3-15.
อนึ่ง โปรดพิจารณากรณีของผู้ที่ได้ปฏิญาณต่อพระเจ้าว่าจะอยู่เป็นโสด แต่ตอนนี้พบว่าตัวเองตกอยู่ในภาวะยุ่งยากใจ. การปฏิญาณนั้นทำให้เขาอยู่ในสภาพที่รู้สึกว่าการจะทำตามคำปฏิญาณนั้น เขาคงมาถึงจุดที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดมาตรฐานของพระเจ้าทางด้านศีลธรรม. เขายังควรจะพยายามทำตามคำปฏิญาณนั้นไหม? จะดีกว่ามิใช่หรือหากเขาป้องกันตัวเองให้ผ่านพ้นการทำผิดศีลธรรม โดยเลิกปฏิบัติตามคำปฏิญาณนั้น แล้วแสวงความเมตตาจากพระเจ้าและวิงวอนขอการอภัยโทษ? เฉพาะเขาเองเท่านั้นพึงตัดสินใจในเรื่องนี้. คนอื่นจะตัดสินใจแทนเขาไม่ได้.
จะว่าอย่างไรถ้าผู้ให้คำปฏิญาณได้ตระหนักในภายหลังว่าตนด่วนกระทำอย่างไม่รอบคอบ? เขายังควรจะพยายามทำตามคำปฏิญาณนั้นไหม? ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ยิพธาจะปฏิบัติตามการปฏิญาณตนต่อพระเจ้า แต่ท่านก็ได้ทำด้วยสติรู้สึกผิดชอบ. (วินิจฉัย 11:30-40) ผู้ที่ไม่ได้ทำตามคำปฏิญาณอาจประสบ “พระพิโรธ” ของพระเจ้าและพระองค์อาจทำให้ผลงานของเขาสูญไป. (ท่านผู้ประกาศ 5:6) การดูเบาในเรื่องการ ปฏิบัติตามคำปฏิญาณ ในที่สุดอาจไม่ได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า.
พระเยซูคริสต์ตรัสดังนี้: “เพียงให้คำของเจ้าที่ว่าใช่ หมายความว่าใช่ ที่ว่าไม่ ก็หมายความว่าไม่; เพราะสิ่งที่เกินนั้นก็มาจากตัวชั่วร้าย.” (มัดธาย 5:37, ล.ม.) คริสเตียนต้องคำนึงถึงไม่เพียงแต่การปฏิบัติตามคำปฏิญาณที่ทำไว้กับพระเจ้า แต่พึงคำนึงถึงการพิสูจน์ตัวว่าคำพูดทุกคำของตนเป็นที่เชื่อถือได้ ทั้งต่อพระเจ้าและต่อมนุษย์. จะว่าอย่างไรถ้าเขาตกอยู่ในภาวะลำบากใจเกี่ยวกับข้อตกลงที่ทำไว้กับอีกคนหนึ่ง ซึ่งทีแรกดูท่าว่าจะดี แต่เมื่อคิดไตร่ตรองถี่ถ้วนแล้วเห็นว่าไม่เป็นสาระ? เขาก็ไม่ควรดูเบาเรื่องนั้น. แต่เมื่อได้พิจารณากันอย่างจริงจัง อีกฝ่ายหนึ่งอาจตกลงใจยอมให้เขาพ้นพันธะนั้น.—บทเพลงสรรเสริญ 15:4; สุภาษิต 6:2, 3.
ในเรื่องของคำปฏิญาณและเรื่องอื่น ๆ ทั้งปวง อะไรควรเป็นความห่วงใยประการสำคัญของเรา? ขอให้เราพยายามรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับพระยะโฮวาพระเจ้าเสมอ.
[ภาพหน้า 30, 31]
นางฮันนาไม่รีรอที่จะปฏิบัติตามคำปฏิญาณ
[ภาพหน้า 30, 31]
ยิพธาปฏิบัติตามคำปฏิญาณด้วยความเต็มใจ แม้ว่าการทำเช่นนั้นเป็นเรื่องยาก