จงรับใช้เคียงบ่าเคียงไหล่กันต่อ ๆ ไป
จงรับใช้เคียงบ่าเคียงไหล่กันต่อ ๆ ไป
“เราจะให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์แก่ชนชาติต่าง ๆ เพื่อเขาทุกคนจะได้ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.”—ซะฟันยา 3:9, ล.ม.
1. อะไรกำลังเกิดขึ้นสมจริงตามซะฟันยา 3:9?
ในปัจจุบัน มีประมาณ 6,000 ภาษาที่ใช้พูดกันอยู่ตลอดทั่วโลก. ในจำนวนนี้ ยังไม่นับภาษาถิ่นหรือภาษาที่ใช้กันเฉพาะในท้องถิ่น. แต่ไม่ว่าผู้คนจะพูดภาษาที่แตกต่างกันไปตั้งแต่กรีกจนถึงฮินดีก็ตาม พระเจ้าได้ทรงทำบางสิ่งที่น่าทึ่งอย่างแท้จริง. พระองค์ทรงทำให้เป็นไปได้ที่มนุษย์ทุกหนแห่งจะเรียนรู้และพูดภาษาบริสุทธิ์ซึ่งมีเพียงภาษาเดียว. นี่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นสมจริงตามคำสัญญาที่พระองค์ประทานผ่านทางผู้พยากรณ์ซะฟันยา: “เรา [พระยะโฮวาพระเจ้า] จะให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์ [ตามตัวอักษร, “ริมฝีปากที่สะอาด”] แก่ชนชาติต่าง ๆ เพื่อเขาทุกคนจะได้ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.”—ซะฟันยา 3:9, ล.ม.
2. “ภาษาบริสุทธิ์” คืออะไร และภาษาบริสุทธิ์นี้ทำให้สิ่งใดเป็นไปได้?
2 “ภาษาบริสุทธิ์” คือความจริงของพระเจ้าที่พบในพระคำของพระองค์ คือคัมภีร์ไบเบิล. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นความจริงเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งจะทำให้พระนามพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์, พิสูจน์ความถูกต้องแห่งพระบรมเดชานุภาพของพระองค์, และนำพระพรมาสู่มนุษยชาติ. (มัดธาย 6:9, 10) ภาษานี้เป็นภาษาเดียวในโลกที่บริสุทธิ์สะอาดฝ่ายวิญญาณและเป็นภาษาที่มีผู้คนจากทุกชาติทุกเชื้อชาติพูดกัน. ภาษาบริสุทธิ์นี้ทำให้พวกเขาสามารถรับใช้พระยะโฮวา “เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.” ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงรับใช้พระองค์อย่างเป็นเอกภาพ หรือ “เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน.”—เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล.
ไม่ควรมีความลำเอียงท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า
3. อะไรทำให้เราสามารถรับใช้พระยะโฮวาร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ?
3 ในฐานะคริสเตียน เราชื่นชมยินดีที่มีความร่วมมือระหว่างผู้ที่พูดภาษาต่าง ๆ กันท่ามกลางพวกเรา. แม้ว่าเราประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรด้วยภาษาต่าง ๆ มากมายของมนุษย์ แต่เรารับใช้พระเจ้าร่วมกันอย่างมีเอกภาพ. (บทเพลงสรรเสริญ 133:1) สิ่งนี้เป็นไปได้เพราะไม่ว่าเราอยู่ที่ไหนในโลก เราต่างพูดภาษาบริสุทธิ์ภาษาเดียวกันเพื่อสรรเสริญพระยะโฮวา.
4. ทำไมต้องไม่มีความลำเอียงในท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า?
4 ต้องไม่มีความลำเอียงในท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า. อัครสาวกเปโตรทำให้เรื่องนี้กระจ่างชัดเมื่อท่านประกาศสั่งสอนที่บ้านของนายทหารต่างชาติชื่อโกระเนเลียวในปี ส.ศ. 36 และถูกกระตุ้นใจให้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด แต่ชาวชนในประเทศใด ๆ ที่เกรงกลัวพระองค์และประพฤติในทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์.” (กิจการ 10:34, 35) ด้วยเหตุนั้น จึงไม่ควรมีความลำเอียง, การแบ่งพรรคแบ่งพวก, หรือการเห็นแก่หน้าภายในประชาคมคริสเตียน.
5. ทำไมจึงเป็นการผิดที่จะส่งเสริมการแบ่งพรรคแบ่งพวกในประชาคม?
5 เมื่อนักศึกษาวิทยาลัยคนหนึ่งมาเยือนหอประชุมราชอาณาจักร เธอกล่าวว่า “โดยทั่วไป คริสตจักรต่าง ๆ จะดึงดูดผู้คนเข้าเป็นสมาชิกจากเฉพาะบางเชื้อชาติหรือกลุ่มชาติพันธุ์ . . . . แต่พยานพระยะโฮวานั่งอยู่รวมกัน ไม่ได้แบ่งเป็นพรรคเป็นพวก.” อย่างไรก็ตาม สมาชิกบางคนในประชาคมโครินท์โบราณสร้างความแตกแยกในประชาคม. โดยเหตุที่ทำให้เกิดการทุ่มเถียงกัน พวกเขาจึงต่อต้านการดำเนินงานของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เนื่องจากพระวิญญาณนั้นส่งเสริมเอกภาพและสันติสุข. (ฆะลาเตีย 5:22) หากเราส่งเสริมการแบ่งพรรคแบ่งพวกในประชาคม เราก็กำลังดำเนินการขัดขวางการนำของพระวิญญาณ. ดังนั้น ให้เราจดจำถ้อยคำของอัครสาวกเปาโลที่มีไปถึงชาวโครินท์ที่ว่า “พี่น้องทั้งหลาย, ข้าพเจ้าวิงวอนท่านทั้งหลายในพระนามพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา, ให้ท่านทั้งหลาย ปรองดองกัน อย่าถือพวกถือคณะ แต่ให้ท่านทั้งหลายเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวและถืออย่างเดียวกัน.” (1 โกรินโธ 1:10) เปาโลกล่าวเน้นเรื่องความเป็นเอกภาพในจดหมายของท่านถึงชาวเอเฟโซสเช่นกัน.—เอเฟโซ 4:1-6, 16.
6, 7. ยาโกโบให้คำแนะนำอะไรในเรื่องการเห็นแก่หน้า และเราจะใช้คำแนะนำของท่านได้อย่างไร?
6 ความไม่ลำเอียงเป็นข้อเรียกร้องสำหรับคริสเตียนเสมอมา. (โรม 2:11) เนื่องจากบางคนในประชาคมในศตวรรษแรกทำสิ่งที่แสดงว่าเห็นแก่หน้าคนมั่งมี สาวกยาโกโบจึงเขียนถึงพวกเขาดังนี้: “พี่น้องของข้าพเจ้า ท่านทั้งหลายมิยึดเอาความเชื่อขององค์พระผู้เป็นเจ้าของเราคือพระเยซูคริสต์ สง่าราศีของเรา ด้วยการกระทำที่เห็นแก่หน้าหรือ? เพราะว่าถ้ามีคนหนึ่งสวมแหวนทองคำ และแต่งตัวงามหรูเข้ามาในการประชุมของท่าน แต่มีคนจนคนหนึ่งแต่งตัวสกปรกเข้ามาด้วย แต่ท่านทั้งหลายมองคนที่ใส่เสื้อผ้างามหรูอย่างชื่นชอบแล้วพูดว่า ‘เชิญท่านนั่งที่ดีตรงนี้เถิด’ และท่านพูดกับคนจนว่า ‘เจ้ายืนก็แล้วกัน’ หรือว่า ‘นั่งที่โน่นข้างม้ารองเท้าของข้า’ ท่านก็แบ่งชั้นวรรณะในพวกท่าน และกลายเป็นผู้พิพากษาที่ตัดสินอย่างชั่วช้ามิใช่หรือ?”—ยาโกโบ 2:1-4, ล.ม.
7 หากคนไม่มีความเชื่อที่ร่ำรวยสวมแหวนทองคำและสวมเสื้อผ้าอย่างดีเข้ามาในที่ประชุมคริสเตียนพร้อมกับคนไม่มีความเชื่อที่ยากจนแต่งตัวซอมซ่อ คนที่ร่ำรวยนั้นได้รับการปฏิบัติอย่างดี. พวกเขาได้รับเชิญให้นั่งใน “ที่ดี” ขณะที่ให้คนยากจนยืนหรือนั่งกับพื้นแทบเท้าบางคน. แต่พระเจ้าทรงจัดเตรียมเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูให้กับคนรวยและคนจนเหมือนกันโดยไม่ลำเอียง. (โยบ 34:19, ฉบับแปลใหม่; 2 โกรินโธ 5:14) ดังนั้น ถ้าเราปรารถนาเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวาและรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน เราต้องไม่ทำสิ่งที่แสดงว่าเห็นแก่หน้าหรือ ‘ชมเชยบุคคลต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของเราเอง.’—ยูดา 4, 16, ล.ม.
รักษาตัวให้พ้นจากการบ่นพึมพำ
8. เกิดอะไรขึ้นอันเป็นผลจากการที่ชาวอิสราเอลบ่นพึมพำ?
8 เพื่อจะรักษาเอกภาพของเราไว้และได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้าต่อ ๆ ไป เราต้องเอาใจใส่คำแนะนำของเปาโลที่ว่า “จงทำทุกสิ่งต่อ ๆ ไปโดยปราศจากการบ่นพึมพำ.” (ฟิลิปปอย 2:14, 15, ล.ม.) ชาวอิสราเอลที่ขาดความเชื่อซึ่งได้รับการปลดปล่อยจากการเป็นทาสในอียิปต์ได้บ่นว่าโมเซกับอาโรน และด้วยการทำอย่างนั้น จึงเท่ากับพวกเขาบ่นว่าพระยะโฮวาพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ ชายทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จึงไม่ได้เข้าสู่แผ่นดินตามคำสัญญา แต่เสียชีวิตระหว่างการเดินทางรอนแรม 40 ปีในถิ่นทุรกันดาร เว้นแต่ยะโฮซูอะกับคาเลบที่ซื่อสัตย์และพวกเลวี. (อาฤธโม 14:2, 3, 26-30; 1 โกรินโธ 10:10) พวกเขาต้องจ่ายด้วยราคาแพงสักเพียงไรสำหรับการเป็นคนช่างบ่น!
9. มิระยามต้องประสบกับสิ่งใดเนื่องจากการบ่นของเธอ?
9 นี่แสดงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับชาติทั้งชาติที่ช่างบ่น. แต่จะว่าอย่างไรกับคนที่พร่ำบ่นเป็นรายบุคคล? มิระยาม พี่สาวของโมเซ พร้อมกับอาโรน น้องชายของเธอ บ่นดังนี้: “พระยะโฮวาตรัสโดยทางโมเซเท่านั้นหรือ? พระองค์ตรัสทางเราด้วยมิใช่หรือ?” บันทึกกล่าวต่อไปว่า “พระยะโฮวาทรงฟังอยู่.” (อาฤธโม 12:1, 2, ล.ม.) ผลเป็นเช่นไร? พระเจ้าทรงทำให้มิระยามซึ่งดูเหมือนว่าเป็นผู้นำหน้าในการบ่นนี้ได้รับความอับอาย. โดยวิธีใด? โดยการทำให้เธอเป็นโรคเรื้อนและต้องถูกกักอยู่นอกค่ายเป็นเวลาเจ็ดวันกว่าจะสะอาด.—อาฤธโม 12:9-15.
10, 11. ถ้าไม่ยับยั้งไว้ การบ่นพึมพำอาจนำไปสู่อะไร? จงยกตัวอย่าง.
10 การบ่นพึมพำไม่ใช่แค่การบ่นร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดบางอย่าง. คนที่บ่นพึมพำนั้นเป็นห่วงกังวลมากเกินไปกับความรู้สึกหรือความสำคัญของตนเอง นำความสนใจมาสู่ตัวเขาเองแทนที่จะเป็นพระเจ้า. ถ้าไม่ยับยั้งไว้ การกระทำเช่นนี้อาจ
นำไปสู่ความขัดแย้งท่ามกลางพี่น้องฝ่ายวิญญาณและขัดขวางความพยายามของพวกเขาที่จะรับใช้พระยะโฮวาเคียงบ่าเคียงไหล่กัน. ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนที่บ่นพึมพำจะพร่ำบ่นไม่รู้จักหยุดหย่อน ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัย โดยหวังว่าคนอื่น ๆ จะเห็นพ้องกับตน.11 เพื่อเป็นตัวอย่าง บางคนอาจวิพากษ์วิจารณ์วิธีที่ผู้ปกครองคนหนึ่งจัดการหรือเอาใจใส่หน้าที่ของเขาในประชาคม. ถ้าเราฟังคนที่บ่นว่านั้น เราอาจเริ่มคิดเหมือนกันกับคนนั้น. ก่อนหน้าที่เมล็ดแห่งความไม่พอใจได้ถูกหว่านลงในจิตใจของเรา กิจกรรมต่าง ๆ ของผู้ปกครองคนนั้นอาจไม่รบกวนใจเรา แต่ตอนนี้สิ่งเหล่านั้นเริ่มรบกวนใจเราแล้ว. ในที่สุด อาจไม่มีสิ่งใดเลยที่ผู้ปกครองคนนั้นทำจะถูกต้องในสายตาของเรา และเราอาจเริ่มบ่นเกี่ยวกับตัวเขาเช่นกัน. ความประพฤติเช่นนั้นไม่เหมาะสมเลยในประชาคมแห่งไพร่พลของพระยะโฮวา.
12. การบ่นพึมพำจะส่งผลกระทบเช่นไรต่อสัมพันธภาพระหว่างเรากับพระเจ้า?
12 การบ่นเกี่ยวกับพวกผู้ชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการบำรุงเลี้ยงฝูงแกะของพระเจ้าอาจนำไปสู่การใช้วาจาหยาบคายต่อพวกเขา. การบ่นเช่นนั้น หรือการแช่งด่าพวกเขาจะส่งผลให้สัมพันธภาพระหว่างเรากับพระยะโฮวาตกอยู่ในอันตราย. (เอ็กโซโด 22:28) คนปากร้ายที่ไม่กลับใจจะไม่ได้รับราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นมรดก. (1 โกรินโธ 5:11; 6:10) สาวกยูดาเขียนเกี่ยวกับคนบ่นพึมพำซึ่ง “เพิกเฉยต่อตำแหน่งผู้เป็นนาย และพูดหยาบคายต่อเหล่าผู้มีสง่าราศี” กล่าวคือพวกผู้ชายที่มีหน้าที่รับผิดชอบในประชาคม. (ยูดา 8, ล.ม.) คนเหล่านั้นที่บ่นพึมพำไม่ได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า และนับว่าฉลาดที่เราจะหลีกเลี่ยงแนวทางอันชั่วช้าของพวกเขา.
13. เหตุใดไม่ใช่ว่าการบ่นทุกอย่างผิด?
13 อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่การบ่นทุกอย่างที่พระเจ้าไม่พอพระทัย. พระองค์ไม่ได้เพิกเฉย “เสียงร้องบ่นว่า” เมืองโซโดมและเมืองโกโมร์ราห์ แต่ทรงทำลายเมืองที่ชั่วช้าเหล่านั้น. (เยเนซิศ 18:20, 21, ล.ม.; 19:24, 25) ในกรุงเยรูซาเลม ไม่นานหลังจากวันเพนเตคอสเต ปี ส.ศ. 33 “พวกเฮเลนซึ่งเข้าจารีตบ่นติเตียนพวกเฮ็บรายว่าในการแจกทานทุก ๆ วันนั้นเขาเว้นแจกพวกแม่ม่ายชาวเฮเลนเสีย.” ดังนั้น “อัครสาวกทั้งสิบสองคน” ได้แก้ไขสภาพการณ์โดยตั้ง “เจ็ดคน . . . ซึ่งมีชื่อเสียงดี .. . ให้ดูแล” การแจกจ่ายอาหาร. (กิจการ 6:1-6) เหล่าผู้ปกครองในปัจจุบันต้องไม่ “ปิดหูของตน” ต่อคำร้องเรียนที่ชอบด้วยเหตุผล. (สุภาษิต 21:13) และแทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนผู้ร่วมนมัสการ ผู้ปกครองควรหนุนใจและก่อร่างสร้างขึ้น.—1 โกรินโธ 8:1.
14. คุณลักษณะอะไรเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อจะรักษาตัวให้พ้นจากการบ่นพึมพำ?
14 เราทุกคนต้องรักษาตัวให้พ้นจากการบ่นพึมพำ เนื่องจากน้ำใจชอบบ่นว่านั้นเป็นอันตรายทางฝ่ายวิญญาณ. น้ำใจเช่นนั้นจะทำลายเอกภาพของพวกเรา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ให้เรายอมให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อผลเป็นความรักในตัวเราเสมอ. (ฆะลาเตีย 5:22) การเชื่อฟัง ‘พระราชบัญญัติแห่งความรัก’ จะช่วยให้เรารับใช้พระยะโฮวาเคียงบ่าเคียงไหล่กันต่อ ๆ ไป.—ยาโกโบ 2:8; 1 โกรินโธ 13:4-8; 1 เปโตร 4:8.
จงระวังที่จะไม่ใส่ร้ายป้ายสี
15. การซุบซิบนินทากับการใส่ร้ายแตกต่างกันอย่างไร?
15 เนื่องจากการบ่นพึมพำอาจนำไปสู่การซุบซิบนินทาที่ก่อความเสียหาย เราจึงต้องระมัดระวังในสิ่งที่เราพูด. การซุบซิบนินทาเป็นการพูดคุยเรื่อยเปื่อยในเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น. แต่การใส่ร้ายเป็นการเล่าเรื่องเท็จโดยมีเจตนาให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง. การใส่ร้ายเป็นการกระทำที่มุ่งร้ายและแสดงว่าไม่มีความเลื่อมใสในพระเจ้า. ด้วยเหตุนั้น พระเจ้าจึงตรัสแก่ชาวอิสราเอลว่า “อย่าเป็นคนเที่ยวไปเที่ยวมาส่อเสียดแก่เพื่อนบ้าน.”—เลวีติโก 19:16.
16. เปาโลกล่าวถึงบางคนที่ชอบซุบซิบนินทาไว้อย่างไร และคำแนะนำของท่านควรส่งผลเช่นไรต่อเรา?
16 เนื่องจากการพูดคุยเรื่อยเปื่อยในเรื่องของคนอื่นอาจนำไปสู่การใส่ร้าย เปาโลจึงตำหนิแรง ๆ ต่อบางคนที่ชอบซุบซิบนินทา. หลังจากกล่าวถึงหญิงม่ายที่มีสิทธิจะได้รับความช่วยเหลือจากประชาคม ท่านกล่าวถึงหญิงม่ายบางคนที่กลายเป็นคน “ไม่รู้จักทำการทำงาน เที่ยวไปบ้านนั้นบ้านนี้; ถูกแล้ว ไม่เพียงแต่ไม่รู้จักทำการทำงาน แต่ยังชอบซุบซิบนินทา และเข้าไปยุ่งเรื่องของคนอื่น พูดเรื่องที่ไม่ควรพูด.” (1 ติโมเธียว 5:11-15, ล.ม.) หากสตรีคริสเตียนคนใดพบว่าตัวเองมีจุดอ่อนในการพูดแบบที่อาจนำไปสู่การนินทา ว่าร้ายผู้อื่น เธอควรเอาใจใส่คำแนะนำของเปาโลที่ให้เป็นคน “เอาจริงเอาจัง, ไม่ใส่ร้ายผู้อื่น.” (1 ติโมเธียว 3:11, ล.ม.) แน่นอน ชายคริสเตียนต้องระวังตัวไม่พูดซุบซิบนินทาที่ก่อความเสียหายเช่นกัน.—สุภาษิต 10:19.
อย่าตัดสินผู้อื่น!
17, 18. (ก) พระเยซูตรัสเช่นไรเกี่ยวกับการตัดสินพี่น้องของเรา? (ข) เราจะใช้คำแนะนำของพระเยซูในเรื่องการตัดสินได้อย่างไร?
17 แม้ว่าเราไม่ได้ใส่ร้ายใคร แต่เราอาจจำเป็นต้องพยายามอย่างจริงจังมากขึ้นที่จะไม่ตัดสินผู้อื่น. พระเยซูทรงตำหนิน้ำใจเช่นนั้น เมื่อพระองค์ตรัสว่า “อย่ากล่าวโทษเขา เพื่อเขาจะไม่กล่าวโทษท่าน [“จงเลิกตัดสินผู้อื่น เพื่อท่านทั้งหลายจะไม่ถูกตัดสิน,” ล.ม.]. เพราะว่าท่านทั้งหลายจะกล่าวโทษเขาอย่างไร, เขาจะกล่าวโทษท่านอย่างนั้น, และท่านจะตวงให้เขาด้วยทะนานอันใด, เขาจะตวงให้ท่านด้วยทะนานอันนั้น. เหตุไฉนท่านมองดูผงที่ในตาพี่น้องของท่าน, แต่ไม้ทั้งท่อนที่อยู่ในตาของท่าน ท่านก็ไม่รู้สึก? หรือเหตุไฉนท่านจะว่าแก่พี่น้องว่า, ‘ให้เราเขี่ยผงออกจากตาของท่าน’, แต่ที่จริงไม้ทั้งท่อนมีอยู่ที่ในตาของท่านเอง? เจ้าคนหน้าซื่อใจคด, จงชักไม้ทั้งท่อนออกจากตาของเจ้าก่อน, แล้วเจ้าจะเห็นได้ถนัด, จึงจะเขี่ยผงออกจากตาพี่น้องของเจ้าได้.”—มัดธาย 7:1-5.
18 เราไม่ควรถือดีไปเสนอตัวช่วยเขี่ยเอาแค่เพียง “ผง” ออกจากตาพี่น้องของเรา ทั้ง ๆ ที่ความสามารถในการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องของเราเองบกพร่องไปเนื่องจาก “ไม้ทั้งท่อน” โดยนัย. อันที่จริง ถ้าเราหยั่งรู้เข้าใจว่าพระเจ้าทรงเปี่ยมด้วยพระเมตตาสักเพียงไร เราจะไม่มีแนวโน้มที่จะตัดสินพี่น้องชายหญิงฝ่ายวิญญาณของเรา. จะเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะเข้าใจพวกเขาได้เท่ากับที่พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราทรงเข้าใจ? จึงไม่แปลกที่พระเยซูทรงเตือนเราว่า ‘จงเลิกตัดสินผู้อื่น เพื่อพวกเราจะไม่ถูกตัดสิน’! การประเมินความไม่สมบูรณ์ของเราเองอย่างซื่อตรงจะช่วยป้องกันเราไม่ให้ทำการตัดสินแบบที่พระเจ้าทรงถือว่าไม่ชอบธรรม.
เปราะบางทว่ามีเกียรติ
19. เราควรมีทัศนะเช่นไรต่อเพื่อนร่วมความเชื่อ?
19 ถ้าเราตั้งใจแน่วแน่ที่จะรับใช้พระเจ้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนร่วมความเชื่อ เราจะไม่เพียงแต่ระวังการเป็นคนชอบตัดสินคนอื่นเท่านั้น. เราจะนำหน้าในการให้เกียรติพวกเขา. (โรม 12:10, ล.ม.) อันที่จริง เราจะแสวงหาเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา ไม่ใช่ของเราเอง และยินดีจะทำงานต่ำต้อยเพื่อประโยชน์ของพวกเขา. (โยฮัน 13:12-17; 1 โกรินโธ ) เราจะรักษาน้ำใจที่น่าชมเชยอย่างนั้นไว้ได้อย่างไร? โดยการระลึกเสมอว่าผู้มีความเชื่อทุกคนมีค่าต่อพระยะโฮวาและเราต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน เหมือนที่อวัยวะแต่ละส่วนในร่างกายมนุษย์ต่างต้องพึ่งพากัน.— 10:241 โกรินโธ 12:14-27.
20, 21. ถ้อยคำใน 2 ติโมเธียว 2:20, 21 มีความหมายเช่นไรต่อเรา?
20 เป็นที่ยอมรับว่า คริสเตียนเป็นเหมือนภาชนะดินที่เปราะบางซึ่งได้รับมอบงานรับใช้ที่เปรียบเหมือนทรัพย์อันประเสริฐ. (2 โกรินโธ 4:7) ถ้าเราจะทำงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์นี้เพื่อนำคำสรรเสริญมาสู่พระยะโฮวา เราต้องรักษาฐานะที่มีเกียรติจำเพาะพระองค์และพระบุตรของพระองค์. เฉพาะแต่โดยการรักษาความสะอาดบริสุทธิ์ฝ่ายวิญญาณและศีลธรรมไว้เท่านั้น เราจึงจะยังคงเป็นภาชนะที่มีเกียรติซึ่งพระเจ้าจะทรงใช้. ในเรื่องนี้ เปาโลเขียนว่า “ในตึกใหญ่มิได้มีภาชนะทองและเงินอย่างเดียว แต่ย่อมมีภาชนะไม้และภาชนะดินด้วย บ้างก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่มีเกียรติ บ้างก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่มีเกียรติ. เหตุฉะนั้น ถ้าผู้ใดหลีกห่างจากภาชนะประเภทหลัง เขาก็ย่อมจะเป็นภาชนะสำหรับวัตถุประสงค์อันมีเกียรติ ถูกจัดไว้ต่างหากให้บริสุทธิ์แล้ว มีประโยชน์แก่เจ้าของ ถูกเตรียมไว้สำหรับการดีทุกอย่าง.”—2 ติโมเธียว 2:20, 21, ล.ม.
21 คนที่ประพฤติไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของพระเจ้าเป็น ‘ภาชนะที่ไม่มีเกียรติ.’ อย่างไรก็ตาม โดยการติดตามแนวทางของพระเจ้า เราจะเป็น ‘ภาชนะสำหรับวัตถุประสงค์อันมีเกียรติ ถูกทำให้บริสุทธิ์หรือถูกแยกไว้ต่างหาก สำหรับงานรับใช้พระยะโฮวาและถูกเตรียมไว้สำหรับการดีทุกอย่าง.’ ดังนั้น เราอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันเป็น “ภาชนะที่มีเกียรติ” ไหม? ฉันเป็นแรงจูงใจในทางที่ดีต่อเพื่อนร่วมความเชื่อไหม? ฉันเป็นสมาชิกคนหนึ่งของประชาคมที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนร่วมนมัสการไหม?’
รับใช้เคียงบ่าเคียงไหล่กันต่อ ๆ ไป
22. ประชาคมคริสเตียนอาจเปรียบได้กับอะไร?
22 ประชาคมคริสเตียนเป็นการจัดเตรียมที่มีลักษณะคล้ายครอบครัว. บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความรัก, การช่วยเหลือกันและกัน, และการแสดงไมตรีจิตต่อกันมีอยู่ในครอบครัวที่สมาชิกทุกคนนมัสการพระยะโฮวา. ครอบครัวอาจประกอบไปด้วยหลายคนที่มีบุคลิกภาพที่หลากหลาย แต่ทุกคนต่างมีฐานะที่มีเกียรติ. สภาพการณ์ที่คล้ายกันนั้นมีอยู่ในประชาคมคริสเตียน. ถึงแม้เราทุกคนมีความแตกต่างกัน และเป็นคนไม่สมบูรณ์ พระเจ้าได้ทรงชักนำพวกเราไปถึงพระองค์โดยทางพระคริสต์. (โยฮัน 6:44; 14:6) พระยะโฮวากับพระเยซูทรงรักเรา และเช่นเดียวกับครอบครัวที่มีเอกภาพ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงความรักต่อกันและกัน.—1 โยฮัน 4:7-11.
23. เราควรจดจำอะไรไว้เสมอ และเราตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำอะไร?
23 ประชาคมคริสเตียนซึ่งเป็นเหมือนครอบครัวยังเป็นสถานที่ที่เราคาดหมายได้อย่างถูกต้องว่าจะพบความภักดี. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ข้าพเจ้าปรารถนาให้ชายทั้งหลายอธิษฐานในที่ประชุมทุกแห่ง, ด้วยยกมืออันบริสุทธิ์ [“ภักดี,” ล.ม.], ปราศจากโทโสและการเถียงกัน.” (1 ติโมเธียว 2:8) ด้วยเหตุนั้น เปาโลเชื่อมโยงความภักดีเข้ากับการอธิษฐาน ณ การประชุม “ทุกแห่ง” ของคริสเตียน. เฉพาะชายที่ภักดีเท่านั้นที่ควรได้เป็นตัวแทนของประชาคมในการนำอธิษฐาน ณ การประชุม. แน่นอน พระเจ้าทรงคาดหมายเราทุกคนให้ภักดีต่อพระองค์และต่อกันและกัน. (ท่านผู้ประกาศ 12:13, 14) ดังนั้น ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำงานประสานกัน เหมือนอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายมนุษย์. นอกจากนี้ ขอให้เรารับใช้ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพในฐานะเป็นส่วนของครอบครัวผู้นมัสการพระยะโฮวา. เหนือสิ่งอื่นใด ให้เราจดจำไว้เสมอว่าเราต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน และเราจะได้รับความพอพระทัยและพระพรจากพระเจ้าถ้าเรารับใช้พระยะโฮวาเคียงบ่าเคียงไหล่กันต่อ ๆ ไป.
คุณจะตอบอย่างไร?
• อะไรทำให้ไพร่พลของพระยะโฮวาสามารถรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน?
• ทำไมคริสเตียนต้องไม่ลำเอียง?
• คุณจะอธิบายอย่างไรว่าเป็นการผิดที่จะบ่นพึมพำ?
• ทำไมเราควรให้เกียรติเพื่อนร่วมความเชื่อ?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 15]
เปโตรเห็นแล้วว่า “พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด”
[ภาพหน้า 16]
คุณทราบไหมว่าทำไมพระเจ้าทรงทำให้มิระยามได้รับความอับอาย?
[ภาพหน้า 18]
คริสเตียนที่ภักดีรับใช้พระยะโฮวาเคียงบ่าเคียงไหล่กันด้วยความชื่นชมยินดี