ไม่ขาดการประชุมร่วมกัน
ไม่ขาดการประชุมร่วมกัน
พระคัมภีร์กล่าวว่า “ซึ่งเราเคยประชุมกันนั้นอย่าให้หยุด, เหมือนอย่างบางคนเคยกระทำนั้น, แต่จงเตือนสติกัน และให้มากยิ่งขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันเวลานั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:25) ปรากฏชัดว่า ผู้นมัสการแท้ต้องมาร่วมกัน ณ สถานที่นมัสการเพื่อ “พิจารณาดูกันและกัน, เพื่อเป็นเหตุให้บังเกิดใจรักซึ่งกันและกันและกระทำการดี.”—เฮ็บราย 10:24.
เมื่ออัครสาวกเปาโลเขียนถ้อยคำข้างต้นในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช พระวิหารที่น่าประทับใจในกรุงเยรูซาเลมเป็นสถานที่สำหรับชาวยิวใช้นมัสการ. ยังมีธรรมศาลาด้วย. พระเยซูได้ “สั่งสอนในธรรมศาลาและในพระวิหาร . . . ที่ซึ่งบรรดาชาวยิวมาชุมนุมกัน.”—โยฮัน 18:20, ล.ม.
เปาโลคิดถึงสถานที่ประชุมแบบใดเมื่อท่านตักเตือนคริสเตียนให้มาชุมนุมกันเพื่อชูใจซึ่งกันและกัน? อาคารศาสนาที่โอ่อ่าของคริสต์ศาสนจักรได้แบบอย่างใด ๆ ที่มีมาก่อนไหมจากการจัดเตรียมเกี่ยวกับพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม? เมื่อไรที่มีการนำอาคารทางศาสนาอันโอฬารมาใช้สำหรับผู้ที่อ้างว่าเป็นคริสเตียน?
‘วิหารสำหรับนามของพระเจ้า’
คำสั่งแรกเกี่ยวกับสถานที่นมัสการพระเจ้าพบได้ในพระธรรมเอ็กโซโด. พระยะโฮวาพระเจ้าทรงสั่งไพร่พลที่พระองค์ทรงเลือกสรร คือชนอิสราเอล ให้สร้าง “พลับพลา” หรือ “พลับพลาเอ็กโซโดบท 25-27; 40:33-38) คัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวถึงพลับพลานี้ว่าเป็น “พระวิหารของพระเจ้า” และ “พระนิเวศของพระเจ้า”—1 ซามูเอล 1:9, 24, ฉบับแปลใหม่.
ประชุม.” มีการเก็บรักษาหีบสัญญาไมตรีและภาชนะศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ไว้ที่นั่น. เมื่อพลับพลานั้นสร้างเสร็จในปี 1512 ก่อนสากลศักราช “รัศมีของพระยะโฮวาก็ปรากฏอยู่เต็มพลับพลานั้น.” พลับพลาที่เคลื่อนย้ายได้ใช้เป็นศูนย์กลางแห่งการจัดเตรียมของพระเจ้าเพื่อเข้าเฝ้าพระองค์เป็นเวลากว่าสี่ร้อยปี. (ต่อมา เมื่อดาวิดเป็นกษัตริย์ในกรุงเยรูซาเลม ท่านได้แสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างพระนิเวศถาวรเพื่อสง่าราศีของพระยะโฮวา. แต่เนื่องจากดาวิดเคยเป็นนักรบ พระยะโฮวาจึงทรงมีรับสั่งแก่ท่านว่า “เจ้าอย่าสร้างวิหารไว้สำหรับนามของเราเลย.” แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์เลือกซะโลโมราชบุตรของดาวิดให้สร้างพระวิหาร. (1 โครนิกา 22:6-10) ซะโลโมได้เฉลิมฉลองอุทิศพระวิหารในปี 1026 ก่อน ส.ศ. หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนานถึงเจ็ดปีครึ่ง. พระยะโฮวาทรงพอพระทัยอาคารนั้นโดยตรัสว่า “เราได้รับพระนิเวศซึ่งเจ้าได้สร้างนี้ไว้เป็นสถานบริสุทธิ์และได้ประดิษฐานชื่อของเราไว้ที่นั่นเป็นนิตย์ ตาของเราและใจของเราจะอยู่ที่นั่นตลอดไป.” (1 กษัตริย์ 9:3, ฉบับแปลใหม่) ตราบใดที่ชนอิสราเอลยังคงซื่อสัตย์ พระยะโฮวาจะแสดงความพอพระทัยต่อพระนิเวศนั้น. แต่ถ้าพวกเขาหันเหไปจากสิ่งที่ถูกต้อง พระยะโฮวาจะทรงถอนเอาความพอพระทัยของพระองค์ไปจากสถานที่แห่งนั้น และ “พระนิเวศนี้จะกลายเป็นกองสิ่งสลักหักพัง.”—1 กษัตริย์ 9:4-9, ฉบับแปลใหม่; 2 โครนิกา 7:16, 19, 20.
ในที่สุด ชนอิสราเอลได้หันเหไปจากการนมัสการแท้. (2 กษัตริย์ 21:1-5) “[พระเยโฮวาห์] จึงทรงนำพระราชาแห่งคนเคลเดียมาต่อสู้เขาทั้งหลายผู้ซึ่ง . . . เผาพระนิเวศของพระเจ้าและพังกำแพงเยรูซาเล็มลง และเอาไฟเผาวังของเมืองนั้นเสียสิ้นและทำลายเครื่องใช้ประเสริฐทั้งปวงในนั้น และบรรดาผู้ที่รอดจากดาบนั้นพระองค์ทรงให้กวาดไปเป็นเชลยยังบาบิโลน และเขาทั้งหลายเป็นผู้รับใช้ของพระองค์และแก่ราชวงศ์ของพระองค์.” ตามที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นในปี 607 ก่อน ส.ศ.—2 โครนิกา 36:15-21, ฉบับแปลใหม่; ยิระมะยา 52:12-14.
ดังที่ผู้พยากรณ์ยะซายาได้บอกไว้ล่วงหน้า พระเจ้าทรงปลุกเร้าพระทัยกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซียให้ปลดปล่อยชาวยิวจากอำนาจของบาบิโลน. (ยะซายา 45:1) หลังจากตกอยู่ในสภาพพลัดถิ่นเป็นเวลา 70 ปี พวกเขาได้กลับคืนสู่กรุงเยรูซาเลมในปี 537 ก่อน ส.ศ. โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่. (เอษรา 1:1-6; 2:1, 2; ยิระมะยา 29:10) หลังจากมีความล่าช้าในการก่อสร้าง ในที่สุดพระวิหารก็เสร็จสมบูรณ์ในปี 515 ก่อน ส.ศ. และการนมัสการบริสุทธิ์ของพระเจ้าได้รับการฟื้นฟู. ถึงแม้จะมีสง่าราศีไม่เทียบเท่ากับพระวิหารของซะโลโม อาคารนี้ยืนหยัดอยู่นานเกือบ 600 ปี. อย่างไรก็ดี พระวิหารหลังนี้ได้ตกเข้าสู่สภาพชำรุดทรุดโทรมด้วยเนื่องจากชนอิสราเอลละเลยการนมัสการพระยะโฮวา. เมื่อพระเยซูคริสต์ได้ปรากฏตัวบนแผ่นดินโลก พระวิหารนั้นอยู่ในระหว่างการสร้างขึ้นใหม่เป็นขั้น ๆ โดยกษัตริย์เฮโรด. อะไรกำลังจะเกิดขึ้นกับพระวิหารหลังนี้ในอีกไม่ช้า?
‘ศิลาที่ซ้อนทับกันอยู่ซึ่งจะไม่ถูกทำลายลงก็หามิได้’
เมื่อตรัสถึงพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม พระเยซูทรงแจ้งแก่เหล่าสาวกว่า “ศิลาที่ซ้อนทับกันอยู่ที่นี่, ซึ่งจะไม่ถูกทำลายลงก็หามิได้.” (มัดธาย 24:1, 2) จริงตามคำตรัสนั้น สถานที่ซึ่งเป็นที่ยอมรับในฐานะศูนย์กลางแห่งการนมัสการพระเจ้ามาตลอดหลายศตวรรษได้ถูกทำลายในปี ส.ศ. 70 โดยกองทัพโรมันซึ่งมาปราบกบฏชาวยิว. * พระวิหารนั้น ไม่เคยถูกบูรณะขึ้นอีกเลย. ในศตวรรษที่เจ็ด สถานศักดิ์สิทธิ์ของมุสลิมซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าโดม ออฟ เดอะ ร็อกได้ถูกสร้างขึ้น และจนกระทั่งปัจจุบันก็ยังคงตั้งอยู่ในบริเวณที่สถานที่นมัสการเดิมของชาวยิวเคยตั้งอยู่.
เหล่าสาวกของพระเยซูจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับการนมัสการอย่างไร? คริสเตียนยุคแรกที่มาจากภูมิหลังแบบยิวยังคงนมัสการพระเจ้าต่อไป ณ พระวิหารที่จะถูกทำลายในไม่ช้าไหม? คริสเตียนซึ่งไม่ใช่ชาวยิวจะนมัสการพระเจ้าที่ไหน? อาคารทางศาสนาของคริสต์ศาสนจักรจะนำมาใช้แทนพระวิหารไหม? การสนทนากันระหว่างพระเยซูกับผู้หญิงชาวซะมาเรียให้ความกระจ่างแก่เราในเรื่องนี้.
เป็นเวลาหลายศตวรรษ ชาวซะมาเรียนมัสการพระเจ้า ณ วิหารใหญ่บนภูเขาเกริซิม (ฆะรีซีม) ในซะมาเรีย. หญิงชาวซะมาเรียได้ทูลพระเยซูว่า “บรรพบุรุษของเรานมัสการที่ภูเขานี้ แต่พวกท่านกล่าวว่าที่ซึ่งผู้คนควรนมัสการนั้นคือที่เยรูซาเลม.” พระเยซูตรัสตอบว่า “หญิงเอ๋ย เชื่อเราเถิด จะมีเวลาที่พวกเจ้าจะมิได้นมัสการพระบิดาที่ภูเขานี้หรือที่เยรูซาเลม.” พระวิหารที่เป็นสิ่งทางวัตถุจะไม่จำเป็นอีกต่อไปในการนมัสการพระยะโฮวา เพราะพระเยซูทรงอธิบายว่า “พระเจ้าทรงเป็นองค์วิญญาณ และผู้ที่นมัสการพระองค์ต้องนมัสการด้วยวิญญาณและความจริง.” (โยฮัน 4:20, 21, 24, ล.ม.) อัครสาวกเปาโลได้บอกแก่ชาวเมืองเอเธนส์ (อะเธนาย) ในภายหลังว่า “พระเจ้าซึ่งได้ทรงสร้างโลกและสรรพสิ่งในโลก พระองค์ผู้นี้แหละทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก มิได้ทรงสถิตในวิหารที่สร้างด้วยมือ.”—กิจการ 17:24, ล.ม.
ปรากฏชัดว่า อาคารทางศาสนาของคริสต์ศาสนจักรไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมเกี่ยวกับพระวิหารในยุคก่อนคริสเตียน. และคริสเตียนในศตวรรษแรกก็ไม่มีเหตุผลที่จะสร้างสถานที่ดังกล่าวขึ้น. อย่างไรก็ดี หลังจากพวกอัครสาวกเสียชีวิต การหันเหไปจากคำสอนแท้ตามที่มีการบอกไว้ล่วงหน้า นั่นก็คือการออกหาก ได้เกิดขึ้น. (กิจการ 20:29, 30) หลายปีก่อนที่คอนสแตนตินจักรพรรดิโรมันได้เปลี่ยนมาถือศาสนาคริสเตียนในปี ส.ศ. 313 ตามที่เชื่อกันนั้น บรรดาผู้ที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนได้เริ่มหันเหไปจากสิ่งที่พระเยซูได้สอน.
คอนสแตนตินได้มีส่วนสนับสนุนการหลอมรวม “ศาสนาคริสเตียน” กับศาสนานอกรีตของโรมเข้าด้วยกัน. สารานุกรมบริแทนนิกา กล่าวว่า “คอนสแตนตินเองได้มอบหมายให้มีการก่อสร้างโบสถ์คริสเตียนที่ใหญ่โตสามหลังในกรุงโรม คือ เซนต์ปีเตอร์, ซานปาโอโล ฟูโอรี เล มูรา, และซานโจวานนี ในเมืองลาเทราโน. เขา . . . ได้สร้างแบบรูปไม้กางเขนซึ่งได้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับโบสถ์ต่าง ๆ ในยุโรปตะวันตกตลอดช่วงยุคกลาง.” โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ที่สร้างใหม่ในกรุงโรมยังคงถือกันว่า เป็นศูนย์กลางของคริสตจักรโรมันคาทอลิก.
นักประวัติศาสตร์วิลล์ ดูแรนต์กล่าวว่า “คริสตจักรได้รับเอาธรรมเนียมศาสนาและรูปแบบต่าง ๆ ของการนมัสการซึ่งมีอยู่ทั่วไปในกรุงโรม [นอกรีต] ก่อนยุคคริสเตียน.” นี่รวมไปถึง “สถาปัตยกรรมของโบสถ์ใหญ่” ด้วย. ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 15 มีการเพิ่มทวีอย่างรวดเร็วในการสร้างโบสถ์ใหญ่ต่าง ๆ พร้อมด้วยมีการเน้นมากทีเดียวในเรื่องสถาปัตยกรรม. นั่นเป็นช่วงที่มีการสร้างอาคารอันโอ่อ่าหลายหลังของคริสต์ศาสนจักรซึ่งปัจจุบันถือกันว่าเป็นอนุสรณ์สถานทางศิลปะ.
ผู้คนประสบความสดชื่นทางฝ่ายวิญญาณและได้กำลังใจเสมอจากการนมัสการในโบสถ์ไหม? ฟรังซิสคูจากบราซิลกล่าวว่า “สำหรับผมแล้ว โบสถ์เป็นเหมือนกับความน่าเบื่อหน่ายในศาสนา. มิสซาเป็นพิธีที่ซ้ำซากไร้ความหมายและไม่ได้สนองความต้องการที่แท้จริงของผมแต่อย่างใด. พอ
พิธีนั้นเสร็จสิ้นผมก็โล่งอก.” อย่างไรก็ตาม ผู้มีความเชื่อแท้ได้รับพระบัญชาให้ประชุมร่วมกัน. พวกเขาควรติดตามแบบอย่างอะไรในเรื่องการจัดการประชุมต่าง ๆ?‘ประชาคมที่อยู่ในบ้านเขา’
แบบอย่างในเรื่องวิธีการประชุมร่วมกันของคริสเตียนนั้นปรากฏชัดจากการตรวจสอบดูวิธีที่ผู้มีความเชื่อในศตวรรษแรกประชุมกัน. พระคัมภีร์บ่งชี้ว่าตามปกติพวกเขาประชุมกันในบ้านส่วนตัว. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “ขอคำนับปริศกีลาและอะกูลาผู้ร่วมมือด้วยกันกับข้าพเจ้าในการของพระคริสต์ และขอคำนับคริสตจักร [“ประชาคม,” ล.ม.] ที่อยู่ในบ้านเขาด้วย.” (โรม 16:3, 5; โกโลซาย 4:15; ฟิเลโมน 2) คำภาษากรีกสำหรับ “ประชาคม” (เอคลีซีอา) ได้รับการแปลว่า “คริสตจักร” ในพระคัมภีร์ภาษาไทยทั้งฉบับแปลเก่าและฉบับแปลใหม่. แต่คำนี้พาดพิงถึงกลุ่มคนที่ชุมนุมกันเพื่อจุดประสงค์ร่วมกัน มิได้พาดพิงถึงตัวอาคาร. (กิจการ 8:1; 13:1) การนมัสการที่พวกคริสเตียนแท้ปฏิบัติกันนั้นไม่จำเป็นต้องใช้อาคารทางศาสนาที่หรูหรา.
มีการจัดการประชุมต่าง ๆ อย่างไรในประชาคมคริสเตียนยุคแรก? สาวกยาโกโบใช้รูปหนึ่งของคำภาษากรีกซีนากอกีน เพื่อพาดพิงถึงการประชุมคริสเตียน. (ยาโกโบ 2:2) คำภาษากรีกคำนี้หมายถึง “การนำมาร่วมกัน” และมีการใช้สลับกันกับคำเอคลีซีอา. แต่เมื่อเวลาผ่านไป คำนั้นค่อย ๆ เปลี่ยนความหมายเป็นสถานที่หรืออาคารซึ่งมีการจัดการประชุมกัน. คริสเตียนชาวยิวยุคแรกคุ้นเคยกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่ธรรมศาลา. *
ขณะที่ชาวยิวชุมนุมกัน ณ พระวิหารในกรุงเยรูซาเลมสำหรับเทศกาลฉลองประจำปีของพวกเขา ธรรมศาลาใช้เป็นสถานที่ประจำท้องถิ่นสำหรับการเรียนรู้เรื่องพระยะโฮวาและเพื่อได้รับการศึกษาในพระบัญญัติ. กิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ ณ ธรรมศาลาดูเหมือนว่าประกอบด้วยการอธิษฐานและการอ่านพระคัมภีร์ รวมทั้งการพิจารณาพระคัมภีร์อย่างละเอียดและการกระตุ้นเตือน. เมื่อเปาโลและคนอื่น ๆ ที่อยู่กับท่านได้เข้าไปในธรรมศาลาที่เมืองอันทิโอก (อันติโอเกีย) “นายธรรมศาลาจึงใช้คนไปบอกบาระนาบากับเปาโลว่า, ‘พี่น้องเอ๋ย, ถ้าท่านมีคำกล่าวเตือนสติแก่คนทั้งปวงก็เชิญกล่าวไปเถิด.’” (กิจการ 13:15) เมื่อคริสเตียนชาวยิวยุคแรกประชุมกันในบ้านส่วนตัว พวกเขาคงต้องติดตามแบบอย่างคล้ายกันอย่างไม่ต้องสงสัย โดยทำให้การ ประชุมของพวกเขาเป็นการสั่งสอนตามหลักพระคัมภีร์และเป็นการเสริมสร้างฝ่ายวิญญาณ.
ประชาคมต่าง ๆ เพื่อการเสริมสร้างขึ้น
เช่นเดียวกับคริสเตียนยุคแรก พยานพระยะโฮวาในปัจจุบันมาร่วมกัน ณ สถานที่นมัสการแบบเรียบง่ายเพื่อได้รับคำสั่งสอนในคัมภีร์ไบเบิลและมีการคบหาสมาคมที่ดีงาม. ตลอดหลายปีพวกเขาได้พบปะกันเฉพาะแต่ในบ้านส่วนตัวเท่านั้นและยังคงทำเช่นนั้นอยู่ในบางแห่ง. แต่ขณะนี้จำนวนประชาคมได้เพิ่มขึ้นถึงมากกว่า 90,000 ประชาคม และสถานที่ประชุมหลักของพวกเขาถูกเรียกว่าหอประชุม. อาคารเหล่านี้มิได้มีลักษณะโอ้อวดหรูหราและไม่เป็นเหมือนโบสถ์. อาคารดังกล่าวเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เรียบง่ายซึ่งทำให้เป็นไปได้ที่ประชาคมซึ่งประกอบด้วยผู้คน 100 ถึง 200 คนจะมาชุมนุมกันในการประชุมประจำสัปดาห์เพื่อจะรับฟังและเรียนรู้จากพระคำของพระเจ้า.
ประชาคมส่วนใหญ่ของพยานพระยะโฮวาประชุมกันสัปดาห์ละสามครั้ง. การประชุมรายการหนึ่งคือคำบรรยายสาธารณะในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่น่าสนใจในปัจจุบัน. หลังจากนั้นเป็นการศึกษาซึ่งอาศัยหัวเรื่องหรือคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล โดยใช้วารสารหอสังเกตการณ์ เป็นแหล่งข้อมูล. การประชุมอีกรายการหนึ่งเป็นโรงเรียนที่มุ่งหมายจะให้การฝึกอบรมในการเสนอข่าวสารของคัมภีร์ไบเบิล. ต่อจากนั้นเป็นการประชุมที่จัดขึ้นโดยเฉพาะเพื่อให้คำแนะนำที่ใช้ได้จริงสำหรับงานเผยแพร่ของคริสเตียน. สัปดาห์ละครั้ง พวกพยานฯ ยังประชุมกันเพื่อศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในบ้านส่วนตัวด้วย. การประชุมเหล่านี้ทั้งหมดเปิดรับสาธารณชน. ไม่เคยมีการเรี่ยไรเลย.
ฟรังซิสคู ที่มีการกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ได้พบว่าการประชุมต่าง ๆ ที่หอประชุมเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง. เขากล่าวว่า “สถานที่ประชุมแห่งแรกซึ่งผมไปเยือนนั้นเป็นอาคารที่สะดวกสบายอยู่ในย่านการค้า และผมออกจากหอประชุมมาด้วยความประทับใจที่ดี. บรรดาคนที่เข้าร่วมประชุมแสดงความเป็นมิตร และผมรู้สึกได้ถึงความรักในท่ามกลางพวกเขา. ผมอยากกลับไปอีกจนแทบจะรอไม่ไหว. ที่จริง ผมไม่พลาดการประชุมเลยนับแต่นั้นมา. การประชุมคริสเตียนเหล่านี้มีชีวิตชีวา และสนองความต้องการฝ่ายวิญญาณของผม. แม้แต่เมื่อผมรู้สึกท้อแท้เนื่องด้วยเหตุบางอย่าง ผมก็ยังไปหอประชุม เพราะมั่นใจว่าผมจะกลับบ้านโดยได้รับการชูใจ.”
การศึกษาด้านคัมภีร์ไบเบิล, การคบหาสมาคมที่เสริมสร้าง, และโอกาสที่จะสรรเสริญพระเจ้ารอคุณอยู่เช่นกัน ณ การประชุมคริสเตียนของพยานพระยะโฮวา. เราขอเชิญคุณอย่างจริงใจให้เข้าร่วม ณ หอประชุมที่อยู่ใกล้บ้านคุณ. คุณจะยินดีแน่ ๆ ที่ได้เข้าร่วม.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 11 พระวิหารได้ถูกพวกโรมันรื้อทำลายเรียบ. กำแพงร้องไห้ ซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวยิวจำนวนมากมายเดินทางมาเป็นระยะไกลมากเพื่ออธิษฐานที่นั่น มิได้เป็นส่วนแห่งพระวิหารนั้น. นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกำแพงลานพระวิหาร.
^ วรรค 20 ดูเหมือนว่าคงมีการสร้างธรรมศาลาขึ้นระหว่างช่วงการพลัดถิ่นของชาวยิว 70 ปีในบาบิโลนตอนที่ไม่มีพระวิหารหรือทันทีภายหลังการกลับมาจากการพลัดถิ่นขณะที่มีการสร้างพระวิหารขึ้นใหม่. พอถึงศตวรรษแรก แต่ละเมืองในปาเลสไตน์ก็มีธรรมศาลาประจำเมืองของตนเอง ถ้าเป็นเมืองที่ใหญ่กว่าก็มีธรรมศาลามากกว่าหนึ่งแห่ง.
[ภาพหน้า 4, 5]
พลับพลาและต่อมาก็คือพระวิหารถูกใช้เป็นศูนย์กลางที่ดีเยี่ยมสำหรับการนมัสการพระยะโฮวา
[ภาพหน้า 6]
โบสถ์ใหญ่เซนต์ปีเตอร์ในกรุงโรม
[ภาพหน้า 7]
คริสเตียนยุคแรกประชุมกันในบ้านส่วนตัว
[ภาพหน้า 8, 9]
พยานพระยะโฮวาจัดการประชุมคริสเตียนในบ้านส่วนตัวและที่หอประชุม