ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

การให้ที่ก่อความยินดี

การให้ที่ก่อความยินดี

การ​ให้​ที่​ก่อ​ความ​ยินดี

เชนิเวา​ซึ่ง​อาศัย​อยู่​ใน​ย่าน​สลัม​แห่ง​หนึ่ง​ทาง​ภาค​ตะวัน​ออก​เฉียง​เหนือ​ของ​บราซิล ได้​เลี้ยง​ดู​ภรรยา​และ​บุตร​ด้วย​ค่า​จ้าง​น้อย​นิด​ที่​ได้​รับ​จาก​การ​เป็น​เจ้าหน้าที่​รักษา​ความ​ปลอด​ภัย​ของ​โรง​พยาบาล. ทั้ง ๆ ที่​ลำบาก​ยาก​เข็ญ เชนิเวา​ได้​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​อย่าง​ซื่อ​ตรง. เขา​เล่า​พลาง​ลูบ​ท้อง​ไป​พลาง​ว่า “บาง​ครั้ง​ครอบครัว​ของ​ผม​หิว​โหย แต่​ผม​ก็​ยัง​ต้องการ​ให้​สิ่ง​ดี​ที่​สุด​แก่​พระเจ้า ไม่​ว่า​จำเป็น​ต้อง​เสีย​สละ​แค่​ไหน​ก็​ตาม.”

หลัง​จาก​ตก​งาน เชนิเวา​ก็​ยัง​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​อยู่​ต่อ​ไป. นัก​เทศน์​ได้​กระตุ้น​เขา​ให้​ทดลอง​ดู​พระเจ้า​โดย​การ​บริจาค​เงิน​ก้อน​ใหญ่. นัก​เทศน์​รับรอง​ว่า​พระเจ้า​จะ​เท​พร​ให้​เขา​แน่นอน. ดัง​นั้น เชนิเวา​ตัดสิน​ใจ​ที่​จะ​ขาย​บ้าน​แล้ว​ถวาย​เงิน​ที่​ได้​นั้น​ให้​แก่​โบสถ์.

เชนิเวา​ใช่​ว่า​เป็น​คน​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​มี​ความ​จริง​ใจ​ดัง​กล่าว​ใน​การ​ให้. หลาย​คน​ที่​ยาก​จน​ข้นแค้น​ได้​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​ด้วย​ความ​สำนึก​ใน​หน้า​ที่​เนื่อง​จาก​พวก​เขา​ได้​รับ​การ​สอน​จาก​คริสตจักร​ของ​ตน​ว่า การ​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​เป็น​ข้อ​เรียก​ร้อง​ที่​มี​อยู่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. เรื่อง​นี้​เป็น​ความ​จริง​ไหม?

การ​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​และ​พระ​บัญญัติ

พระ​บัญญัติ​ว่า​ด้วย​การ​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​เป็น​ส่วน​แห่ง​พระ​บัญญัติ​ที่​พระ​ยะโฮวา​พระเจ้า​ทรง​ประทาน​ให้​แก่​ชาติ​อิสราเอล​โบราณ 12 ตระกูล เป็น​เวลา​กว่า 3,500 ปี​มา​แล้ว. พระ​บัญญัติ​นั้น​สั่ง​ว่า​ต้อง​ให้​หนึ่ง​ใน​สิบ​ของ​ผล​ผลิต​จาก​แผ่นดิน​และ​ต้น​ไม้​ที่​เกิด​ผล รวม​ทั้ง​หนึ่ง​ใน​สิบ​ของ​ฝูง​สัตว์​ที่​เพิ่ม​ขึ้น​แก่​ตระกูล​เลวี​เพื่อ​สนับสนุน​การ​รับใช้​ของ​พวก​เขา​ที่​พลับพลา.—เลวีติโก 27:30, 32; อาฤธโม 18:21, 24.

พระ​ยะโฮวา​ทรง​รับรอง​กับ​ชน​อิสราเอล​ว่า​พระ​บัญญัติ ‘ไม่​เป็น​ข้อ​ยาก​เหลือ​ปัญญา​ของ​เขา.’ (พระ​บัญญัติ 30:11) ตราบ​ใด​ที่​พวก​เขา​ปฏิบัติ​ตาม​พระ​บัญญัติ​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ซื่อ​สัตย์ รวม​ทั้ง​กฎ​เรื่อง​การ​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง พระองค์​ทรง​สัญญา​เรื่อง​การ​เก็บ​เกี่ยว​อย่าง​บริบูรณ์. และ​เพื่อ​เป็น​การ​ป้องกัน​ความ​ขาด​แคลน มี​การ​กัน​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​ประจำ​ปี​อีก​ส่วน​ไว้ ซึ่ง​ตาม​ปกติ​ถูก​นำ​มา​ใช้​เมื่อ​ชาติ​นั้น​ประชุม​กัน​เพื่อ​การ​ฉลอง​เทศกาล​ทาง​ศาสนา​ของ​พวก​เขา. โดย​วิธี​นี้ ‘คน​แขก​เมือง, ลูก​กำพร้า, และ​หญิง​หม้าย​ทั้ง​ปวง’ จะ​ได้​รับ​การ​สนอง​ตาม​ความ​ต้องการ.—พระ​บัญญัติ 14:28, 29; 28:1, 2, 11-14.

พระ​บัญญัติ​มิ​ได้​กำหนด​บท​ลง​โทษ​ไว้​สำหรับ​การ​ไม่​ได้​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง ทว่า​ชน​อิสราเอล​แต่​ละ​คน​อยู่​ภาย​ใต้​พันธะ​ทาง​ศีลธรรม​อัน​หนักแน่น​ที่​จะ​สนับสนุน​การ​นมัสการ​แท้​โดย​วิธี​นี้. ที่​จริง พระ​ยะโฮวา​ทรง​กล่าว​โทษ​ชน​อิสราเอล​ซึ่ง​ละเลย​การ​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​ใน​สมัย​ของ​มาลาคี​ว่า ‘ฉ้อ​โกง​พระองค์​ใน​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​และ​ใน​เครื่อง​ถวาย​บูชา.’ (มาลาคี 3:8) ข้อ​กล่าวหา​เดียว​กัน​นี้​นำ​มา​ใช้​กับ​คริสเตียน​ที่​ไม่​ได้​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​ได้​ไหม?

เอา​ละ ให้​เรา​มา​พิจารณา​กัน. ตาม​ปกติ​กฎหมาย​ของ​ประเทศ​หนึ่ง​ไม่​มี​ผล​บังคับ​ใช้​ใน​อีก​ประเทศ​หนึ่ง. ตัว​อย่าง​เช่น กฎหมาย​ที่​กำหนด​ให้​ผู้​ขับ​ขี่​รถยนต์​ใน​บริเตน​ขับ​รถ​ทาง​ด้าน​ซ้าย​ของ​ถนน​ไม่​ได้​นำ​มา​ใช้​กับ​ผู้​ขับ​รถ​ใน​ฝรั่งเศส. คล้าย​กัน กฎหมาย​ที่​เรียก​ร้อง​การ​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​นั้น​เป็น​ส่วน​แห่ง​สัญญา​ไมตรี​โดย​เฉพาะ​ระหว่าง​พระเจ้า​กับ​ชาติ​อิสราเอล. (เอ็กโซโด 19:3-8; บทเพลง​สรรเสริญ 147:19, 20) เฉพาะ​ชน​อิสราเอล​เท่า​นั้น​ที่​ถูก​ผูก​มัด​โดย​กฎหมาย​นั้น.

นอก​จาก​นี้ ถึง​แม้​เป็น​ความ​จริง​ที่​ว่า พระเจ้า​ไม่​เคย​เปลี่ยน​แปลง​ก็​ตาม แต่​บาง​ครั้ง​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​พระองค์​เปลี่ยน​ไป. (มาลาคี 3:6) คัมภีร์​ไบเบิล​กล่าว​อย่าง​แน่ชัด​ว่า​การ​วาย​พระ​ชนม์​เป็น​เครื่อง​บูชา​ของ​พระ​เยซู​ใน​ปี ส.ศ. 33 “ลบ” หรือ “กำจัด” พระ​บัญญัติ และ​รวม​ทั้ง ‘พระ​บัญญัติ​ที่​สั่ง​ให้​รับ​ทศางค์ [“ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง,” ล.ม.] ด้วย.’—โกโลซาย 2:13, 14, ล.ม.; เอเฟโซ 2:13-15; เฮ็บราย 7:5, 18, ฉบับ​แปล​ใหม่.

การ​ให้​ของ​คริสเตียน

อย่าง​ไร​ก็​ดี การ​บริจาค​เพื่อ​สนับสนุน​การ​นมัสการ​แท้​ยัง​คง​จำเป็น​อยู่. พระ​เยซู​ได้​มอบหมาย​เหล่า​สาวก ‘ที่​จะ​เป็น​พยาน​จน​ถึง​ที่​สุด​ปลาย​แผ่นดิน​โลก.’ (กิจการ 1:8) ขณะ​ที่​จำนวน​ของ​ผู้​เชื่อถือ​เพิ่ม​ขึ้น ก็​มี​ความ​จำเป็น​เพิ่ม​ขึ้น​ที่​ผู้​สอน​คริสเตียน​และ​ผู้​ดู​แล​จะ​ไป​เยี่ยม​และ​เสริม​สร้าง​ประชาคม. แม่​ม่าย, ลูก​กำพร้า, และ​ผู้​ที่​ขัดสน​คน​อื่น ๆ ต้อง​ได้​รับ​การ​ดู​แล​เป็น​ครั้ง​คราว. คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก​รับ​ภาระ​ค่า​ใช้​จ่าย​ที่​เกี่ยว​ข้อง​อย่าง​ไร?

ประมาณ​ปี ส.ศ. 55 มี​การ​ส่ง​คำ​ขอร้อง​ไป​ยัง​คริสเตียน​ต่าง​ชาติ​ใน​ยุโรป​และ​เอเชีย​ไมเนอร์​เพื่อ​ประโยชน์​ของ​ประชาคม​ที่​ยาก​จน​ใน​ยูเดีย. ใน​จดหมาย​ถึง​ประชาคม​ใน​เมือง​โครินท์ อัครสาวก​เปาโล​พรรณนา​วิธี​จัด​ระเบียบ “การ​เรี่ยไร​สำหรับ​สิทธชน.” (1 โกรินโธ 16:1) คุณ​อาจ​แปลก​ใจ​ใน​สิ่ง​ที่​ถ้อย​คำ​ของ​เปาโล​เผย​ให้​เห็น​ใน​เรื่อง​การ​ให้​ของ​คริสเตียน.

อัครสาวก​เปาโล​ไม่​ได้​คะยั้นคะยอ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ใน​การ​ให้. ที่​จริง คริสเตียน​ชาว​มาซิโดเนีย​ซึ่ง “รับ​ความ​ทุกข์​ลำบาก” และ​อยู่​ใน “ความ​ยาก​จน​แสน​เข็ญ” ต้อง ‘วิงวอน​ท่าน​มาก​มาย​ขอ​เข้า​ส่วน​ใน​การ​กุศล​ที่​จะ​ช่วย​สิทธชน.’—2 โกรินโธ 8:1-4.

จริง​อยู่ เปาโล​ได้​สนับสนุน​ชาว​โครินท์​ที่​มั่งมี​กว่า​ให้​เลียน​แบบ​พี่​น้อง​ของ​เขา​ที่​ใจ​กว้าง​ซึ่ง​อยู่​ใน​มาซิโดเนีย. แม้​จะ​เป็น​เช่น​นั้น หนังสือ​อ้างอิง​เล่ม​หนึ่ง​ได้​ตั้ง​ข้อ​สังเกต​ว่า ท่าน ‘ไม่​ยอม​ออก​คำ​สั่ง แต่​เลือก​ที่​จะ​ขอร้อง, เสนอ​แนะ, สนับสนุน, หรือ​อ้อน​วอน​มาก​กว่า. หาก​มี​การ​บีบ​บังคับ การ​ให้​ของ​ชาว​โครินท์​คง​จะ​ไม่​ได้​เป็น​ไป​ด้วย​ใจ​สมัคร​และ​ขาด​ความ​กระตือรือร้น​ใน​การ​ให้.’ เปาโล​ทราบ​ว่า “พระเจ้า​ทรง​รัก​ผู้​ที่​ให้​ด้วย​ใจ​ยินดี” มิ​ใช่​ผู้​ที่​ให้ “ด้วย​ฝืน​ใจ​หรือ​ถูก​บังคับ.”—2 โกรินโธ 9:7, ล.ม.

ความ​เชื่อ​และ​ความ​รู้​ที่​เต็ม​เปี่ยม​พร้อม​กับ​ความ​รัก​แท้​ต่อ​เพื่อน​คริสเตียน​คง​ได้​กระตุ้น​ชาว​โครินท์​ที่​จะ​ให้​โดย​ไม่​ต้อง​มี​ใคร​กระตุ้น.—2 โกรินโธ 8:7, 8.

‘อย่าง​ที่​เขา​ได้​มุ่ง​หมาย​ไว้​ใน​หัวใจ​ของ​ตน’

แทน​ที่​จะ​ระบุ​จำนวน​หรือ​อัตรา​ส่วน เปาโล​เพียง​แต่​เสนอ​แนะ​ว่า “ใน​วัน​แรก​ของ​ทุก​สัปดาห์ แต่​ละ​คน . . . ควร​กัน​เงิน​จำนวน​หนึ่ง​ไว้ อย่าง​ที่​ประสาน​กัน​กับ​ราย​ได้​ของ​เขา.” (เรา​ทำ​ให้​เป็น​ตัว​เอน; 1 โกรินโธ 16:2, นิว อินเตอร์​แนชันแนล เวอร์ชัน ) โดย​การ​วาง​แผน​และ​กัน​เงิน​จำนวน​หนึ่ง​ไว้​เป็น​ประจำ ชาว​โครินท์​คง​จะ​ไม่​รู้สึก​ถูก​กดดัน​ใน​การ​ให้​ด้วย​ความ​เสียดาย​หรือ​โดย​อาศัย​แรง​กระตุ้น​ทาง​ด้าน​อารมณ์​เมื่อ​เปาโล​มา​ถึง. สำหรับ​คริสเตียน​แต่​ละ​คน การ​ตัดสิน​ใจ​ว่า​จะ​ให้​เท่า​ไร​นั้น​เป็น​เรื่อง​ส่วน​ตัว เป็น​การ​ตัดสิน​ใจ​ที่ ‘เขา​ได้​มุ่ง​หมาย​ไว้​ใน​หัวใจ​ของ​ตน.’—2 โกรินโธ 9:5, 7, ล.ม.

เพื่อ​จะ​เก็บ​เกี่ยว​มาก ชาว​โครินท์​ต้อง​หว่าน​มาก. ไม่​เคย​มี​การ​เสนอ​แนะ​เรื่อง​การ​ให้​เกิน​กว่า​ที่​สามารถ​ให้​ได้. เปาโล​รับรอง​กับ​พวก​เขา​ว่า ‘ข้าพเจ้า​ไม่​ได้​หมาย​ความ​ว่า​ให้​การ​งาน​ของ​พวก​ท่าน​หนัก​ขึ้น.’ การ​บริจาค​เป็น “ที่​ทรง​รับ​ตาม​ที่​ทุก​คน​มี​อยู่ มิ​ใช่​ตาม​ที่​เขา​ไม่​มี.” (2 โกรินโธ 8:12, 13, ฉบับ​แปล​ใหม่; 9:6) ใน​จดหมาย​ฉบับ​ต่อ​มา อัครสาวก​เตือน​ว่า “ถ้า​แม้น​ผู้​ใด​ไม่​เลี้ยง​ดู​คน​เหล่า​นั้น . . . ซึ่ง​เป็น​สมาชิก​แห่ง​ครอบครัว​ของ​ตน ผู้​นั้น​ก็​ได้​ปฏิเสธ​เสีย​ซึ่ง​ความ​เชื่อ​และ​นับว่า​เลว​ร้าย​กว่า​คน​ที่​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​เสีย​ด้วย​ซ้ำ.” (1 ติโมเธียว 5:8, ล.ม.) เปาโล​มิ​ได้​สนับสนุน​การ​ให้​ที่​ละเมิด​หลักการ​ข้อ​นี้.

นับ​ว่า มี​ความ​หมาย​ที่​เปาโล​ดู​แล “การ​เรี่ยไร​สำหรับ​สิทธชน” ผู้​ซึ่ง​ขัดสน. เรา​ไม่​ได้​อ่าน​ใน​พระ​คัมภีร์​เกี่ยว​กับ​การ​ที่​เปาโล​หรือ​อัครสาวก​คน​อื่น ๆ จัด​การ​เรี่ยไร​หรือ​ได้​รับ​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​เพื่อ​หา​เงิน​ทุน​สำหรับ​งาน​รับใช้​ของ​พวก​เขา​เอง. (กิจการ 3:6) โดย​รู้สึก​ขอบคุณ​เสมอ​ที่​ได้​รับ​ของ​กำนัล​ซึ่ง​ประชาคม​ต่าง ๆ ส่ง​ให้​ท่าน เปาโล​ระมัดระวัง​ไม่​วาง “ภาระ​หนัก” ไว้​บน​พี่​น้อง​ของ​ท่าน.—1 เธซะโลนิเก 2:9, ล.ม.; ฟิลิปปอย 4:15-18.

การ​ให้​ด้วย​ใจ​สมัคร​ใน​ทุก​วัน​นี้

เห็น​ได้​ชัด ระหว่าง​ศตวรรษ​แรก เหล่า​สาวก​ของ​พระ​คริสต์​ทำ​การ​ให้​ด้วย​ใจ​สมัคร ไม่​ใช่​โดย​การ​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง. อย่าง​ไร​ก็​ดี คุณ​อาจ​สงสัย​ว่า​การ​ให้​เช่น​นี้​ยัง​คง​เป็น​วิธี​ที่​ได้​ผล​หรือ​ไม่​เพื่อ​สนับสนุน​ด้าน​การ​เงิน​ใน​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​และ​เอา​ใจ​ใส่​ดู​แล​คริสเตียน​ที่​ขัดสน.

ขอ​พิจารณา​ส่วน​ต่อ​ไป​นี้. ใน​ปี 1879 กอง​บรรณาธิการ​ของ​วารสาร​นี้​ได้​แถลง​อย่าง​เปิด​เผย​ว่า พวก​เขา​จะ “ไม่​มี​วัน​ขอ หรือ​เรียก​ร้อง ให้​มนุษย์​สนับสนุน​เลย.” การ​ตัดสิน​ใจ​เช่น​นั้น​ได้​ขัด​ขวาง​ความ​พยายาม​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ที่​จะ​เผยแพร่​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไหม?

ปัจจุบัน พวก​พยาน​ฯ แจก​จ่าย​คัมภีร์​ไบเบิล, หนังสือ​คริสเตียน, และ​สิ่ง​พิมพ์​อื่น ๆ ใน 235 ดินแดน. หอสังเกตการณ์ วารสาร​ที่​ให้​การ​ศึกษา​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล เริ่ม​ต้น​มี​การ​แจก​จ่าย​เป็น​ราย​เดือน 6,000 เล่ม พิมพ์​ใน​หนึ่ง​ภาษา. หลัง​จาก​นั้น​วารสาร​นี้​ได้​กลาย​เป็น​วารสาร​ราย​ปักษ์​โดย​มี​จำนวน​พิมพ์​มาก​กว่า 24,000,000 เล่ม​ที่​หา​ได้​ใน 146 ภาษา. เพื่อ​จัด​ระเบียบ​งาน​ให้​การ​ศึกษา​ด้าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั่ว​โลก พยาน​ฯ ได้​สร้าง​หรือ​ซื้อ​อาคาร​ศูนย์กลาง​สำหรับ​การ​บริหาร​งาน​ใน 110 ประเทศ. นอก​จาก​นี้ พวก​เขา​ได้​สร้าง​สถาน​ที่​ประชุม​ใน​ท้องถิ่น​หลาย​หมื่น​แห่ง​รวม​ทั้ง​ห้อง​ประชุม​ใหญ่​เพื่อ​จัด​ให้​มี​ที่​สำหรับ​บรรดา​ผู้​สนใจ​ใน​การ​ได้​รับ​คำ​สั่ง​สอน​จาก​คัมภีร์​ไบเบิล​มาก​ขึ้น​อีก.

ขณะ​ที่​การ​เอา​ใจ​ใส่​ต่อ​ความ​จำเป็น​ด้าน​วิญญาณ​ของ​ผู้​คน​มี​ความ​สำคัญ​อันดับ​แรก พยาน​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​ละเลย​ความ​จำเป็น​ด้าน​วัตถุ​ของ​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ. เมื่อ​พี่​น้องของ​เขา​ได้​รับ​ผล​กระทบ​จาก​สงคราม, แผ่นดิน​ไหว, ความ​แห้ง​แล้ง, และ​พายุ พวก​เขา​ได้​จัด​ส่ง​เวชภัณฑ์, อาหาร, เครื่อง​นุ่ง​ห่ม, และ​สิ่ง​จำเป็น​อื่น ๆ ไป​ให้​ทันที. เงิน​ทุน​สำหรับ​สิ่ง​เหล่า​นี้​ได้​มา​โดย​การ​บริจาค​ของ​คริสเตียน​เป็น​ราย​บุคคล​และ​ประชาคม​ต่าง ๆ.

นอก​จาก​ได้​ผล​แล้ว การ​บริจาค​ด้วย​ใจ​สมัคร​ยัง​ลด​ภาระ​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​มี​ทรัพย์​จำกัด เช่น เชนิเวา​ที่​กล่าว​ถึง​ใน​ตอน​ต้น. น่า​ยินดี ก่อน​ที่​เขา​จะ​ขาย​บ้าน​ได้ มารีอา ผู้​เผยแพร่​เต็ม​เวลา​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ได้​มา​เยี่ยม​เชนิเวา. เชนิเวา​เล่า​ว่า “การ​สนทนา​ครั้ง​นั้น​ได้​ช่วย​ครอบครัว​ของ​ผม​ให้​พ้น​จาก​ความ​ยาก​ลำบาก​มาก​มาย​โดย​ไม่​จำเป็น.”

เชนิเวา​ได้​พบ​ว่า​งาน​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า​ไม่​ได้​ขึ้น​อยู่​กับ​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง. ที่​จริง การ​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​ไม่​ใช่​ข้อ​เรียก​ร้อง​ของ​พระ​คัมภีร์​อีก​ต่อ​ไป. เขา​ได้​เรียน​รู้​ว่า​คริสเตียน​ได้​รับ​พระ​พร​เมื่อ​ให้​อย่าง​ใจ​กว้าง แต่​คริสเตียน​ไม่​มี​พันธะ​ที่​จะ​ให้​เกิน​กว่า​สามารถ​ให้​ได้.

การ​ให้​ด้วย​ใจ​สมัคร​ได้​ทำ​ให้​เชนิเวา​เกิด​ความ​ยินดี​แท้. เขา​แสดง​ความ​ยินดี​นั้น​ดัง​นี้: “ผม​อาจ​ให้​หรือ​ไม่​ให้ 10 เปอร์เซ็นต์​ก็​ได้ แต่​ผม​ยินดี​ใน​การ​บริจาค และ​ผม​มั่น​ใจ​ว่า​พระ​ยะโฮวา​ทรง​ยินดี​ด้วย​เช่น​กัน.”

[กรอบ/ภาพ​หน้า 6]

นัก​เขียน​คริสตจักร​รุ่น​แรก​สอน​เรื่อง​การ​ถวาย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​ไหม?

“คน​ร่ำรวย​ที่​อยู่​ใน​ท่ามกลาง​พวก​เรา​ช่วย​คน​ขัดสน . . . พวก​เขา​ที่​มั่งคั่ง และ​เต็ม​ใจ ให้​สิ่ง​ที่​แต่​ละ​คน​เห็น​ว่า​เหมาะ​สม.”—การ​ขอ​ขมา​ครั้ง​แรก (ภาษา​อังกฤษ) โดย​จัสติน มาร์เทอร์ ราว ๆ ส.ศ. 150.

“ชาว​ยิว​ได้​อุทิศ​หนึ่ง​ใน​สิบ​แห่ง​ทรัพย์​ของ​ตน​ให้​พระองค์​อย่าง​แท้​จริง แต่​พวก​คริสเตียน​ได้​กัน​ทรัพย์​สมบัติ​ทั้ง​สิ้น​ของ​เขา​ไว้​เพื่อ​พระ​ประสงค์​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า . . . ดัง​ที่​หญิง​ม่าย​ยาก​จน​คน​นั้น​ได้​ทำ​โดย​ใส่​เงิน​ทั้ง​หมด​ที่​ใช้​เลี้ยง​ชีพ​ของ​เธอ​ลง​ใน​คลัง​ทรัพย์​ของ​พระเจ้า.”—ต่อ​ต้าน​คำ​สอน​นอก​รีต (ภาษา​อังกฤษ) โดย​ไอรีเนียส ราว ๆ ส.ศ. 180.

“ถึง​แม้​เรา​มี​ตู้​ใส่​เงิน​ถวาย ก็​ไม่​ใช่​เป็น​เงิน​สำหรับ​ซื้อ​ความ​รอด ราว​กับ​ว่า​ศาสนา​ตั้ง​ราคา​ขึ้น​มา. เดือน​ละ​ครั้ง ถ้า​คน​ไหน​อยาก​จะ​บริจาค แต่​ละ​คน​ก็​ใส่​เงิน​จำนวน​เล็ก​น้อย​ลง​ใน​ตู้​ถวาย แต่​เป็น​ไป​ตาม​ที่​เขา​พอ​ใจ​จะ​ให้ และ​เท่า​ที่​เขา​สามารถ​จะ​นำ​มา​ถวาย เพราะ​ไม่​มี​การ​บังคับ เป็น​การ​ให้​ด้วย​ความ​สมัคร​ใจ​ทั้ง​สิ้น.”—การ​แก้​ต่าง (ภาษา​อังกฤษ) โดย​เทอร์ทูลเลียน ราว ๆ ส.ศ. 197.

“ขณะ​ที่​คริสตจักร​ขยาย​ตัว​และ​สถาบัน​ต่าง ๆ เกิด​ขึ้น จึง​กลาย​เป็น​เรื่อง​จำเป็น​ที่​จะ​ออก​กฎหมาย​ซึ่ง​จะ​รับประกัน​การ​สนับสนุน​ทาง​การ​เงิน​ที่​เหมาะ​สม​อย่าง​ถาวร​แก่​นัก​เทศน์. มี​การ​นำ​กฎ​เรื่อง​การ​จ่าย​ส่วน​สิบ​ชัก​หนึ่ง​จาก​พระ​บัญญัติ​เก่า​มา​ใช้ .. . กฎ​ข้อ​บังคับ​แรก​สุด​ที่​แน่ชัด​ใน​เรื่อง​นั้น​ดู​เหมือน​มี​อยู่​ใน​จดหมาย​ของ​บิชอป​ที่​ชุมนุม​กัน ณ เมือง​ตูร์​ใน​ปี 567 และ [กฎ​ข้อ​บังคับ] ของ​การ​ประชุม​สังคายนา​ที่​เมือง​มา​กอง​ใน​ปี 585.”—สารานุกรม​คาทอลิก (ภาษา​อังกฤษ).

[ที่​มา​ของ​ภาพ]

Coin, top left: Pictorial Archive (Near Eastern History) Est.

[ภาพ​หน้า 4, 5]

การ​ให้​ด้วย​ใจ​สมัคร​นำ​มา​ซึ่ง​ความ​ยินดี

[ภาพ​หน้า 7]

การ​บริจาค​ด้วย​ใจ​สมัคร​ทำ​ให้​มี​เงิน​ทุน​สำหรับ​งาน​ประกาศ, การ​บรรเทา​ทุกข์​เมื่อ​เกิด​ภาวะ​ฉุกเฉิน, และ​การ​ก่อ​สร้าง​สถาน​ที่​ประชุม