“จงเข้าใกล้พระเจ้า”
“จงเข้าใกล้พระเจ้า”
“จงเข้าใกล้พระเจ้า, แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย.”—ยาโกโบ 4:8, ล.ม.
1, 2. (ก) บ่อยครั้งมนุษย์กล่าวอ้างเช่นไร? (ข) ยาโกโบให้คำกระตุ้นเตือนอะไร และเหตุใดจึงต้องให้คำกระตุ้นเตือนเช่นนั้น?
“พระเจ้าอยู่กับเรา.” ถ้อยคำนี้ประดับอยู่บนสัญลักษณ์ประจำชาติหรือแม้กระทั่งเครื่องแบบของทหาร. คำว่า “เราไว้วางใจพระเจ้า” จารึกอยู่บนเหรียญหรือธนบัตรจำนวนนับไม่ถ้วนของเงินสกุลต่าง ๆ ที่ใช้กันในปัจจุบัน. เป็นเรื่องธรรมดาที่มนุษย์จะอ้างว่าเขามีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า. แต่คุณคงเห็นด้วยมิใช่หรือว่าการมี สัมพันธภาพเช่นนั้นจริง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องของการพูดในทำนองนั้นหรือเพียงแสดงออกโดยทางคำขวัญ?
2 คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าการมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้. แต่ต้องใช้ความพยายาม. แม้แต่คริสเตียนผู้ถูกเจิมบางคนในศตวรรษแรกก็จำเป็นต้องเสริมสัมพันธภาพที่พวกเขามีกับพระยะโฮวาพระเจ้าให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น. ยาโกโบซึ่งเป็นคริสเตียนผู้ดูแลจึงจำเป็นต้องเตือนบางคนเกี่ยวกับแนวโน้มฝ่ายเนื้อหนังและการสูญเสียความสะอาดฝ่ายวิญญาณ. ส่วนหนึ่งของคำแนะนำที่ท่านให้นั้น มีคำกระตุ้นเตือนอันทรงพลังต่อไปนี้ไว้ด้วยที่ว่า “จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย.” (ยาโกโบ 4:1-12, ล.ม.) ยาโกโบหมายความอย่างไรเมื่อท่านกล่าวว่า “จงเข้าใกล้”?
3, 4. (ก) ผู้อ่านจดหมายของยาโกโบบางคนในสมัยศตวรรษแรกอาจได้รับข้อเตือนใจอะไรจากคำกล่าวที่ว่า “จงเข้าใกล้พระเจ้า”? (ข) ทำไมเราจึงแน่ใจว่าการเข้าใกล้พระเจ้าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้?
3 ยาโกโบใช้ถ้อยคำที่ผู้อ่านจดหมายของท่านรู้จักคุ้นเคยดี. พระบัญญัติของโมเซมีคำชี้แนะที่เจาะจงแก่พวกปุโรหิตว่าพวกเขาจะเข้ามาใกล้หรือ ‘เข้าเฝ้า’ พระยะโฮวาอย่างไรในฐานะตัวแทนสำหรับไพร่พลของพระองค์. (เอ็กโซโด 19:22) โดยวิธีนี้ ผู้อ่านจดหมายของยาโกโบจึงอาจได้รับการเตือนใจว่าการเข้าเฝ้าพระยะโฮวาไม่ควรถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา. พระยะโฮวาเป็นองค์สูงศักดิ์ที่สุดในเอกภพ.
4 ในอีกด้านหนึ่ง ผู้คงแก่เรียนด้านคัมภีร์ไบเบิลคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “คำกระตุ้นเตือนนี้ [ที่ยาโกโบ 4:8] แสดงถึงความมั่นใจอย่างเต็มที่.” ยาโกโบรู้ว่า ด้วยความรักใคร่ พระยะโฮวาทรงเชิญชวนมนุษย์ไม่สมบูรณ์ให้เข้าใกล้พระองค์เสมอมา. (2 โครนิกา 15:2) เครื่องบูชาของพระเยซูเปิดทางให้มนุษย์ไม่สมบูรณ์เข้าใกล้พระยะโฮวาในความหมายที่ครบถ้วนยิ่งขึ้น. (เอเฟโซ 3:11, 12) ในทุกวันนี้ มีการเปิดโอกาสให้ผู้คนนับล้าน ๆ ได้เข้าใกล้พระเจ้า! แต่เราอาจทำอะไรได้บ้างเพื่อจะฉวยประโยชน์จากโอกาสอันน่าพิศวงนี้? เราจะพิจารณาสั้น ๆ ถึงสามวิธีที่เราสามารถเข้าใกล้พระยะโฮวาพระเจ้า.
จง “รับเอาความรู้” เกี่ยวกับพระเจ้าต่อ ๆ ไป
5, 6. ตัวอย่างของซามูเอลในวัยเยาว์แสดงให้เห็นอย่างไรถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยในการ “รับเอาความรู้ต่อ ๆ ไป” เกี่ยวกับพระเจ้า?
5 ตามที่กล่าวไว้ในโยฮัน 17:3 (ล.ม.) พระเยซูตรัสว่า “นี่แหละหมายถึงชีวิตนิรันดร์ คือการที่เขารับเอาความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระองค์ ผู้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว และเกี่ยวกับผู้ที่พระองค์ทรงใช้มา คือพระเยซูคริสต์.” คัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับแปลข้อความนี้ต่างออกไปเล็กน้อยจากฉบับแปลโลกใหม่. แทนที่จะกล่าวว่า “รับเอาความรู้ต่อ ๆ ไป” เกี่ยวกับพระเจ้า หลายฉบับเพียงแต่แปลคำกริยานั้นว่า “รู้จัก” พระเจ้า หรือ “การรู้จัก” พระเจ้า. อย่างไรก็ตาม นักวิชาการหลายคนให้ข้อสังเกตว่าคำนี้ในภาษากรีกดั้งเดิมมีความหมายเกี่ยวข้องกับบางสิ่งที่มากกว่านั้น นั่นคือเป็นการกระทำอย่างต่อเนื่อง เป็นการกระทำที่อาจถึงกับนำไปสู่การรู้จักคุ้นเคยกันอย่างใกล้ชิด.
6 การรู้จักพระเจ้าอย่างใกล้ชิดไม่ใช่แนวคิดใหม่ในสมัยของพระเยซู. ตัวอย่างเช่น ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู เราอ่านว่าเมื่อซามูเอลเป็นเด็ก ท่าน “ยังไม่รู้จักพระยะโฮวา.” (1 ซามูเอล 3:7) นี่หมายความว่าซามูเอลแทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพระเจ้าของท่านไหม? เปล่าเลย. ท่านคงต้องได้เรียนรู้อะไรหลายสิ่งจากบิดามารดาของท่านรวมทั้งจากพวกปุโรหิตอย่างแน่นอน. อย่างไรก็ดี ตามที่ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งกล่าวไว้ คำฮีบรูในข้อนี้สามารถ “ใช้ในแง่ของการรู้จักคุ้นเคยกันอย่างใกล้ชิดที่สุด.” ซามูเอลยังไม่ได้รู้จักพระยะโฮวาอย่างใกล้ชิดเหมือนกับตอนที่ท่านรับใช้เป็นโฆษกของพระองค์ในเวลาต่อมา. ขณะที่ซามูเอลเติบโตขึ้น ท่านคงได้มารู้จักพระ ยะโฮวาอย่างแท้จริง และมีสัมพันธภาพที่ใกล้ชิดกับพระองค์เป็นส่วนตัว.—1 ซามูเอล 3:19, 20.
7, 8. (ก) ทำไมคำสอนที่ลึกซึ้งมากขึ้นจากคัมภีร์ไบเบิลไม่น่าจะทำให้เราท้อใจ? (ข) ความจริงบางเรื่องที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าที่เราควรศึกษามีอะไรบ้าง?
7 คุณกำลังรับเอาความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาเพื่อจะรู้จักพระองค์อย่างใกล้ชิดไหม? เพื่อจะทำเช่นนั้น คุณจำเป็นต้อง “ปลูกฝังความปรารถนา” ที่จะได้อาหารฝ่ายวิญญาณซึ่งพระเจ้าประทานให้. (1 เปโตร 2:2, ล.ม.) อย่าพอใจกับการรู้เพียงแค่คำสอนพื้นฐาน. จงพยายามที่จะเรียนรู้คำสอนที่ลึกซึ้งมากขึ้นจากคัมภีร์ไบเบิล. (เฮ็บราย 5:12-14) คุณท้อใจเพราะคำสอนเหล่านั้นไหม เนื่องจากคิดไปว่าคำสอนเหล่านั้นยากเกินกว่าที่คุณจะเข้าใจได้? ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ขอให้จำไว้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็น “พระบรมครู.” (ยะซายา 30:20, ล.ม.) พระองค์ทรงทราบวิธีที่จะถ่ายทอดความจริงอันลึกซึ้งเข้าสู่ความคิดจิตใจของมนุษย์ไม่สมบูรณ์. และพระองค์จะอวยพรความพยายามอย่างจริงใจของคุณเพื่อจะเข้าใจในสิ่งที่พระองค์สอนคุณ.—บทเพลงสรรเสริญ 25:4.
8 ทำไมไม่ลองตรวจสอบ “สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” ด้วยตัวคุณเองล่ะ? (1 โกรินโธ 2:10, ล.ม.) สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้าไม่ใช่หัวข้ออภิปรายที่น่าเบื่อหน่ายอย่างที่พวกนักเทววิทยาและพวกนักเทศน์อาจนำมาถกกัน. แต่สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้าเป็นหลักคำสอนที่มีชีวิตชีวา ทำให้เราตื่นตาตื่นใจที่ได้หยั่งรู้พระดำริและพระทัยของพระบิดาผู้เปี่ยมด้วยความรักของเรา. ตัวอย่างเช่น เรื่องค่าไถ่, “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์,” และคำสัญญาไมตรีต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาใช้เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ไพร่พลของพระองค์และเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์บรรลุผลสำเร็จ—เรื่องเหล่านี้และอีกหลายเรื่องในทำนองนี้ต่างนำมาซึ่งความเพลิดเพลินและยังประโยชน์เมื่อทำการค้นคว้าและการศึกษาส่วนตัว.—1 โกรินโธ 2:7, ล.ม.
9, 10. (ก) ทำไมความหยิ่งทะนงเป็นอันตราย และอะไรจะช่วยเราไม่ให้หยิ่งทะนง? (ข) ทำไมเราควรถ่อมใจเมื่อคำนึงถึงความรู้ของพระยะโฮวา?
9 ขณะที่คุณมีความรู้เกี่ยวกับความจริงฝ่ายวิญญาณที่ลึกซึ้งขึ้น จงระวังอันตรายที่อาจมาพร้อมกับความรู้ นั่นคือความหยิ่งทะนง. (1 โกรินโธ 8:1) ความหยิ่งทะนงเป็นอันตราย เนื่องจากสิ่งนี้ทำให้มนุษย์เหินห่างจากพระเจ้า. (สุภาษิต 16:5; ยาโกโบ 4:6) จำไว้ว่าไม่มีมนุษย์คนใดมีเหตุที่จะโอ้อวดความรู้ของตนได้. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้พิจารณาถ้อยคำต่อไปนี้จากบทนำหนังสือเล่มหนึ่งที่ทำการประเมินความ ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์เมื่อไม่นานมานี้ที่ว่า “ยิ่งเรารู้มากขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งตระหนักว่า เรารู้น้อยเท่านั้น . . . . ทุกสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาแล้วนั้นเหมือนไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยเมื่อเทียบกับสิ่งที่เรายังจะต้องเรียนรู้.” การแสดงความถ่อมใจเช่นนั้นเป็นเรื่องน่ายินดี. ทีนี้ เมื่อคำนึงถึงความรู้มากมายมหาศาล—ความรู้ของพระยะโฮวาพระเจ้า—เราก็ยิ่งมีเหตุผลมากขึ้นไปอีกที่จะถ่อมใจอยู่เสมอ. เพราะเหตุใด?
10 ขอให้สังเกตบางสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเกี่ยวกับพระยะโฮวา. “พระดำริของพระองค์ก็ลึกซึ้งมาก.” (บทเพลงสรรเสริญ 92:5) “ความเข้าใจของ [พระยะโฮวา] นั้นสุดจะพรรณนา.” (บทเพลงสรรเสริญ 147:5, ล.ม.) “ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ถึงพระปัญญาของ [พระยะโฮวา] ได้.” (ยะซายา 40:28) “โอพระปัญญาและความรู้ของพระเจ้ามีอเนกอนันต์มากเท่าใด.” (โรม 11:33) เห็นได้ชัด ไม่มีวันที่เราจะรู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับพระยะโฮวา. (ท่านผู้ประกาศ 3:11, ล.ม.) แม้พระองค์สอนสิ่งที่น่าพิศวงแก่เราไปแล้วมากมายหลายประการ แต่ก็มีความรู้อีกนับไม่ถ้วนเสมอที่เรายังจะเรียนรู้ได้อีก. ความคาดหมายที่จะได้เรียนรู้เช่นนั้นทำให้เราทั้งตื่นเต้นและรู้สึกว่าต้องถ่อมใจมิใช่หรือ? ดังนั้น ขณะที่เราเรียนรู้ ขอให้เราใช้ความรู้ของเราเสมอเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการเข้าใกล้พระยะโฮวาและสำหรับการช่วยคนอื่น ๆ ให้ทำอย่างเดียวกัน ไม่ใช่เพื่อใช้ความรู้นั้นยกตัวเราเองเหนือคนอื่น.—มัดธาย 23:12; ลูกา 9:48.
จงแสดงออกถึงความรักที่คุณมีต่อพระยะโฮวา
11, 12. (ก) ความรู้ที่เราได้รับเกี่ยวกับพระยะโฮวาควรส่งผลกระทบต่อเราอย่างไร? (ข) อะไรจะเป็นตัวกำหนดว่าใครมีความรักแท้ต่อพระเจ้าหรือไม่?
11 เหมาะทีเดียวที่อัครสาวกเปาโลเชื่อมโยงความรู้เข้ากับความรัก. ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าอธิษฐานอย่างนี้อยู่เรื่อยไป เพื่อว่าความรักของท่านทั้งหลายจะอุดมยิ่ง ๆ ขึ้นพร้อมด้วยความรู้ถ่องแท้และความสังเกตเข้าใจครบถ้วน.” (ฟิลิปปอย 1:9, ล.ม.) แทนที่จะพองตัวด้วยความหยิ่งทะนง ความจริงอันล้ำค่าทั้งสิ้นที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์ควรทำให้ความรักที่เรามีต่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราเพิ่มพูนยิ่งขึ้น.
12 ดังที่คาดหมายได้ หลายคนที่อ้างว่ารักพระเจ้านั้นที่แท้แล้วไม่ได้รักพระองค์จริง ๆ. หัวใจของพวกเขาอาจเปี่ยมล้นไปด้วยความรู้สึกอย่างแรงกล้าด้วยความจริงใจ. ความรู้สึกอย่างนั้นเป็นสิ่งที่ดี และน่าชมเชยด้วยซ้ำ ถ้าเป็นไปอย่างที่สอดคล้องกับความรู้ถ่องแท้. แต่ความรู้สึกอันแรงกล้าในตัวมันเองแล้วใช่ว่าจะเป็นความรักแท้ต่อพระเจ้า. เพราะเหตุใด? ขอให้สังเกตว่าพระคำของพระเจ้านิยามความรักเช่นนั้นไว้อย่างไร: “นี่แหละเป็นความรักพระเจ้า, คือว่าให้เราทั้งหลายประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์.” (1 โยฮัน 5:3) ฉะนั้น ความรักต่อพระยะโฮวาจะเป็นความรักแท้ก็ต่อเมื่อมีการแสดงออกด้วยการกระทำที่เชื่อฟังเท่านั้น.
13. ความเกรงกลัวพระเจ้าจะช่วยให้เราแสดงถึงความรักที่มีต่อพระยะโฮวาอย่างไร?
13 ความเกรงกลัวพระยะโฮวาจะช่วยให้เราเชื่อฟังพระองค์. ความเกรงขามและความนับถืออย่างสุดซึ้งต่อพระยะโฮวานี้เกิดจากการรับเอาความรู้เกี่ยวกับพระองค์ การได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะอันหาที่เปรียบมิได้ของพระองค์ในด้านความบริสุทธิ์, สง่าราศี, อำนาจ, ความยุติธรรม, สติปัญญา, และความรัก. ความเกรงกลัวเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเข้าใกล้พระองค์. อันที่จริง ขอให้สังเกตข้อความในบทเพลงสรรเสริญ 25:14 (ล.ม.) ที่กล่าวว่า “ความสนิทสนมใกล้ชิดกับพระยะโฮวาย่อมมีอยู่แก่คนที่เกรงกลัวพระองค์.” ดังนั้น ถ้าเรามีความเกรงกลัวอย่างเหมาะสมว่าจะทำให้พระบิดาฝ่ายสวรรค์ผู้เป็นที่รักของเราไม่พอพระทัย เราก็สามารถเข้าใกล้พระองค์ได้. ความเกรงกลัวพระเจ้าจะช่วยให้เราเอาใจใส่คำแนะนำอันสุขุมซึ่งบันทึกไว้ที่สุภาษิต 3:6 ที่ว่า “จงรับพระองค์ให้เข้าส่วนในทางทั้งหลายของเจ้า, และพระองค์จะชี้ทางเดินของเจ้าให้แจ่มแจ้ง.” คำแนะนำดังกล่าวนี้มีความหมายเช่นไร?
14, 15. (ก) เราเผชิญการตัดสินใจเรื่องใดบ้างในชีวิตประจำวัน? (ข) เราจะทำการตัดสินใจอย่างที่สะท้อนถึงความเกรงกลัวพระเจ้าได้โดยวิธีใด?
14 แต่ละวัน คุณมีเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ทั้งเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก. ตัวอย่างเช่น คุณจะพูดคุยเรื่องแบบไหนกับเพื่อนร่วมงาน, เพื่อนนักเรียน, เพื่อนบ้านของคุณ? (ลูกา 6:45) คุณจะทำงานชิ้นสำคัญที่อยู่ต่อหน้าคุณอย่างขยันขันแข็ง หรือว่าคุณจะหาทางทำงานนั้นให้เสร็จ ๆ แบบขอไปที? (โกโลซาย 3:23) คุณจะเข้าไปใกล้ชิดสนิทสนมกับคนที่แสดงให้เห็นว่าแทบไม่มีหรือไม่มีความรักต่อพระยะโฮวา หรือว่าคุณจะพยายามเสริมสร้างสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นกับคนที่ฝักใฝ่ฝ่ายวิญญาณ? (สุภาษิต 13:20) คุณจะทำอะไรเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า แม้ว่าจะทำได้เล็กน้อย ก็ตาม? (มัดธาย 6:33) ถ้าหลักการต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ดังที่อ้างถึงเหล่านี้ชี้นำการตัดสินใจต่าง ๆ ของคุณในแต่ละวัน คุณก็กำลังรับพระยะโฮวาให้เข้าส่วน ‘ในทางทั้งหลายของคุณ’ อย่างแท้จริง.
15 ที่จริงแล้ว ในการตัดสินใจแต่ละครั้ง เราควรให้แนวความคิดต่อไปนี้ชี้นำเรา นั่นคือ ‘พระยะโฮวาประสงค์ให้ฉันทำอะไร? แนวทางใดจะเป็นที่พอพระทัยพระองค์มากที่สุด?’ (สุภาษิต 27:11) การแสดงความเกรงกลัวพระเจ้าในลักษณะนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ดีเยี่ยมในการแสดงความรักต่อพระยะโฮวา. ความเกรงกลัวพระเจ้ายังกระตุ้นให้เรารักษาตัวสะอาด ทั้งทางฝ่ายวิญญาณ, ด้านศีลธรรม, และด้านร่างกายด้วย. อย่าลืมว่าในข้อคัมภีร์เดียวกันที่ยาโกโบกระตุ้นคริสเตียนให้ “เข้าใกล้พระเจ้า” นั้น ท่านยังกระตุ้นเตือนด้วยว่า “คนบาปทั้งหลาย จงชำระมือของท่านให้สะอาด และคนสองจิตสองใจทั้งหลาย จงกระทำหัวใจของท่านให้บริสุทธิ์.”—ยาโกโบ 4:8, ล.ม.
16. เมื่อเราถวายสิ่งต่าง ๆ แด่พระยะโฮวา นั่นไม่ได้หมายความว่าเราได้ทำสิ่งใด แต่การถวายเช่นนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้ทำอะไร?
16 แน่นอน การแสดงความรักต่อพระยะโฮวาเกี่ยวข้องไม่เพียงแค่การละเว้นจากสิ่งชั่ว. ความรักยังกระตุ้นเราให้ลงมือกระทำในสิ่งที่ดีด้วย. ยกตัวอย่าง เราตอบสนองเช่นไรต่อพระทัยเอื้ออารีอย่างเหลือล้นของพระยะโฮวา? ยาโกโบเขียนดังนี้: “ของประทานอันดีทุกอย่างและของประทานอันสมบูรณ์ทุกอย่างย่อมมาจากเบื้องบน เพราะลงมาจากพระบิดาแห่งดวงสว่างทั้งหลายแห่งฟ้าสวรรค์.” (ยาโกโบ 1:17, ล.ม.) จริงอยู่ เมื่อเราถวายของของเราแด่พระยะโฮวา เราก็ไม่ได้ทำให้พระองค์มีบริบูรณ์ขึ้น. ผลิตผลและทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้นเป็นของพระองค์อยู่แล้ว. (บทเพลงสรรเสริญ 50:12) และเมื่อเราถวายเวลาและกำลังของเราแด่พระยะโฮวา ก็ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังสนองความจำเป็นอะไรบางอย่างของพระองค์ ที่พระองค์จะทำสิ่งนั้นไม่ได้ด้วยวิธีอื่น. ถึงแม้เราปฏิเสธที่จะประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า พระองค์ก็ทรงสามารถทำให้ก้อนหินส่งเสียงร้องได้! ถ้าอย่างนั้น ทำไมเราจึงถวายทรัพย์, เวลา, และกำลังแด่พระยะโฮวาล่ะ? ประการสำคัญที่สุด เพราะนั่นเป็นการแสดงว่าเรารักพระองค์ด้วยสุดหัวใจ, จิตวิญญาณ, จิตใจ, และกำลังของเรา.—มาระโก 12:29, 30.
17. อะไรจะกระตุ้นให้เราถวายสิ่งต่าง ๆ แด่พระยะโฮวาด้วยใจยินดี?
17 เมื่อเราถวายแด่พระยะโฮวา เราควรทำเช่นนั้นด้วยใจยินดี “เพราะว่าพระเจ้าทรงรักคนนั้นที่ให้ด้วยใจยินดี.” (2 โกรินโธ 9:7) หลักการที่จะช่วยให้เราเป็นผู้ให้ด้วยใจยินดีบันทึกไว้ที่พระบัญญัติ 16:17 (ฉบับแปลใหม่) ซึ่งกล่าวว่า “ให้ทุกคนถวายตามความสามารถของเขา ตามส่วนพระพรที่พระเยโฮวาห์พระเจ้าของท่านทั้งหลายประทานแก่ท่าน.” เมื่อเราตรึกตรองว่าพระยะโฮวาทรงพระทัยกว้างต่อเราสักเพียงไร เราจึงปรารถนาที่จะถวายแด่พระองค์อย่างใจกว้างและด้วยใจยินดี. การให้อย่างนั้นทำให้พระทัยของพระองค์ปีติยินดี เหมือนกับที่ของขวัญชิ้นน้อย ๆ จากลูกผู้เป็นที่รักทำให้บิดามารดามีความยินดี. การแสดงความรักของเราในวิธีนี้จะช่วยให้เราเข้าใกล้พระยะโฮวา.
จงพัฒนาความใกล้ชิดด้วยการอธิษฐาน
18. เหตุใดจึงนับว่าสมควรที่จะพิจารณาถึงวิธีที่เราจะปรับปรุงคุณภาพคำอธิษฐาน?
18 ณ เวลาที่เราอธิษฐานส่วนตัวทำให้เรามีโอกาสอันล้ำค่าอย่างหนึ่ง นั่นคือโอกาสที่จะสนทนาอย่างใกล้ชิดและเผยความรู้สึกส่วนตัวกับพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา. (ฟิลิปปอย 4:6) เนื่องจากการอธิษฐานเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้เราเข้าใกล้พระเจ้า จึงสมควรที่จะใช้เวลาพิจารณาถึงคุณภาพคำอธิษฐานของเรา. คำอธิษฐานของเราไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่ใช้ถ้อยคำที่จับใจหรือเรียงลำดับเนื้อหาได้อย่างดีเลิศ แต่ควรเป็นถ้อยคำที่จริงใจซึ่งออกมาจากหัวใจ. เราจะปรับปรุงคุณภาพคำอธิษฐานของเราได้อย่างไร?
19, 20. ทำไมจึงคิดใคร่ครวญล่วงหน้าก่อนที่เราจะอธิษฐาน และเรื่องใดบ้างเหมาะที่จะใคร่ครวญ?
19 เราอาจคิดใคร่ครวญล่วงหน้าก่อนที่จะอธิษฐาน. ถ้าเราใคร่ครวญล่วงหน้า เราสามารถทำให้คำอธิษฐานของเราเฉพาะเจาะจงและมีความหมาย โดยวิธีนี้จึงหลีกเลี่ยงการกระทำด้วยความเคยชินที่จะกล่าวถ้อยคำเดิม ๆ ที่คุ้นเคยที่นึกได้ในทันที. (สุภาษิต 15:28, 29) บางที การไตร่ตรองถึงสาระสำคัญบางอย่างที่พระเยซูกล่าวถึงในคำอธิษฐานแบบอย่างและพิจารณาว่าสาระสำคัญเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับสภาพการณ์ส่วนตัวของเราอย่างไรก็อาจช่วยได้. (มัดธาย 6:9-13) ตัวอย่างเช่น เราอาจถามตัวเองว่าส่วนเล็กน้อยอะไรที่เราอยากจะทำเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวา บนแผ่นดินโลกนี้. เป็นไปได้ไหมที่เราจะทูลต่อพระยะโฮวาถึงความปรารถนาของเราที่จะทำตัวเราเองให้เป็นประโยชน์ต่อพระองค์มากเท่าที่จะเป็นไปได้ และทูลขอความช่วยเหลือในการทำหน้าที่มอบหมายให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตามที่ได้รับจากพระองค์? เราเป็นทุกข์หนักใจเนื่องจากวิตกกังวลเรื่องสิ่งจำเป็นฝ่ายวัตถุไหม? บาปในเรื่องใดที่เราต้องการการให้อภัย และใครที่เราจำเป็นต้องให้อภัยมากขึ้น? มีการล่อใจอะไรที่ทำให้เราเป็นทุกข์กังวล และเราตระหนักไหมว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนมากเพียงไรที่เราจะต้องได้รับการปกป้องจากพระยะโฮวาในเรื่องนั้น?
20 นอกจากนี้ เราอาจคิดถึงคนที่เรารู้จักซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเป็นพิเศษ. (2 โกรินโธ 1:11) แต่ที่ไม่ควรลืมก็คือเรื่องการขอบพระคุณ. ถ้าเราหยุดคิดสักครู่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราก็จะคิดออกอย่างแน่นอนถึงเหตุผลต่าง ๆ มากมายที่จะขอบพระคุณและสรรเสริญพระยะโฮวาในแต่ละวันสำหรับคุณความดีอันล้นเหลือของพระองค์. (พระบัญญัติ 8:10; ลูกา 10:21) การทำอย่างนั้นยังให้ประโยชน์อีกด้วย คือช่วยให้เรามองชีวิตในแง่ดีและมีความหยั่งรู้ค่าต่อชีวิตมากขึ้น.
21. การศึกษาตัวอย่างอะไรบ้างในพระคัมภีร์อาจช่วยเราเมื่อเข้าเฝ้าพระยะโฮวาด้วยการอธิษฐาน?
21 การศึกษาช่วยปรับปรุงคุณภาพการอธิษฐานของเราเช่นกัน. พระคำของพระเจ้าบันทึกคำอธิษฐานที่โดดเด่นของชายหญิงที่ซื่อสัตย์ไว้มากมาย. ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังจะเผชิญกับปัญหาที่ท้าทาย ซึ่งทำให้เราวิตกกังวลและกระทั่งหวาดกลัวด้วยซ้ำเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเราหรือของคนที่เรารัก เราอาจอ่านคำอธิษฐานของยาโคบในโอกาสที่ท่านกำลังจะพบกับพี่ชายของท่านที่อาฆาตแค้น คือเอซาว. (เยเนซิศ 32:9-12) หรือเราอาจพิจารณาคำทูลอธิษฐานของกษัตริย์อาซาเมื่อชาวเอธิโอเปียยกกองทัพที่ประกอบด้วยทหารราวหนึ่งล้านคนมาข่มขู่ไพร่พลของพระเจ้า. (2 โครนิกา 14:11, 12) ถ้าเราวิตกกังวลถึงปัญหาบางอย่างที่อาจทำให้ชื่อเสียงของพระยะโฮวาได้รับการตำหนิ ก็เหมาะที่เราจะพิจารณาคำอธิษฐานที่เอลียากล่าวต่อหน้าผู้นมัสการพระบาละบนภูเขาคารเมล เช่นเดียวกับคำอธิษฐานของนะเฮมยาเกี่ยวกับสภาพที่น่าสมเพชของกรุงเยรูซาเลม. (1 กษัตริย์ 18:36, 37; นะเฮมยา 1:4-11) การอ่านและใคร่ครวญคำอธิษฐานเหล่านั้นช่วยเสริมสร้างความเชื่อของเราและทำให้เราได้แนวความคิดที่ว่าจะเข้าเฝ้าพระยะโฮวาอย่างไรดีที่สุดเมื่อมีเรื่องกังวลใจที่ทำให้เราหนักใจ.
22. ข้อพระคัมภีร์ประจำปี 2003 คืออะไร และเราอาจถามตัวเองด้วยคำถามอะไรเป็นระยะ ๆ ตลอดปี 2003 นี้?
22 เห็นได้ชัดว่า ไม่มีเกียรติหรือเป้าหมายอันใดที่ยิ่งใหญ่ยาโกโบ 4:8, ล.ม.) ขอให้เราทำเช่นนั้นโดยเพิ่มพูนความรู้ต่อ ๆ ไปเกี่ยวกับพระเจ้า, แสดงความรักต่อพระองค์ให้มากยิ่ง ๆ ขึ้น, และพัฒนาความใกล้ชิดกับพระองค์ในการอธิษฐาน. ตลอดปี 2003 ขณะที่เราจดจำยาโกโบ 4:8 ซึ่งเป็นข้อพระคัมภีร์ประจำปีไว้เสมอ ขอให้เราตรวจสอบตัวเองต่อ ๆ ไปว่า เรากำลังเข้าใกล้พระยะโฮวาอย่างแท้จริงหรือไม่. แต่จะว่าอย่างไรสำหรับส่วนหลังของข้อนั้น? ในแง่ใดที่ว่าพระยะโฮวาจะ “เข้าใกล้ท่านทั้งหลาย” และจะก่อประโยชน์อะไรแก่เรา? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
สูงส่งไปกว่าการปฏิบัติตามคำแนะนำของยาโกโบที่ให้ “เข้าใกล้พระเจ้า.” (คุณจำได้ไหม?
• ทำไมการเข้าใกล้พระยะโฮวาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ?
• เราอาจตั้งเป้าหมายอะไรในการรับเอาความรู้เกี่ยวกับพระยะโฮวา?
• เราจะแสดงได้อย่างไรว่าเรามีความรักแท้ต่อพระยะโฮวา?
• ในทางใดบ้างที่เราอาจเสริมสร้างสัมพันธภาพอันใกล้ชิดกับพระยะโฮวาให้มากขึ้นในการอธิษฐาน?
[คำถาม]
[คำโปรยหน้า 12]
ข้อพระคัมภีร์ประจำปี 2003 คือ “จงเข้าใกล้พระเจ้า แล้วพระองค์จะทรงเข้าใกล้ท่านทั้งหลาย.”—ยาโกโบ 4:8, ล.ม.
[ภาพหน้า 8, 9]
ขณะที่ซามูเอลเติบโตขึ้น ท่านได้มารู้จักพระยะโฮวาอย่างใกล้ชิด
[ภาพหน้า 12]
คำอธิษฐานของเอลียาบนภูเขาคารเมลเป็นตัวอย่างของคำอธิษฐานที่ดีสำหรับเรา