ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

บัดนี้ ยิ่งกว่าแต่ก่อน จงตื่นตัวอยู่!

บัดนี้ ยิ่งกว่าแต่ก่อน จงตื่นตัวอยู่!

บัด​นี้ ยิ่ง​กว่า​แต่​ก่อน จง​ตื่น​ตัว​อยู่!

“อย่า​ให้​เรา​หลับ​เหมือน​คน​อื่น แต่​ให้​เรา​ตื่น​อยู่​และ​รักษา​สติ​ของ​เรา.”—1 เธซะโลนิเก 5:6, ล.ม.

1, 2. (ก) ปอมเปอี​และ​เฮอร์คิวเลเนียม​เป็น​เมือง​แบบ​ใด? (ข) สัญญาณ​เตือน​อะไร​ที่​ชาว​เมือง​ปอมเปอี​และ​เฮอร์คิวเลเนียม​หลาย​คน​เพิกเฉย และ​พร้อม​ด้วย​ผล​ประการ​ใด?

ใน​ศตวรรษ​แรก​แห่ง​สากล​ศักราช ปอมเปอี​และ​เฮอร์คิวเลเนียม​เป็น​เมือง​โรมัน​ที่​เจริญ​มั่งคั่ง​ซึ่ง​ตั้ง​อยู่​ใกล้​ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส. เมือง​ทั้ง​สอง​เป็น​ที่​พัก​ตากอากาศ​ยอด​นิยม​ของ​ชาว​โรมัน​ที่​มั่งคั่ง. โรง​ละคร​กลางแจ้ง​ใน​เมือง​เหล่า​นี้​จุ​ผู้​ชม​ได้​มาก​กว่า​พัน​คน และ​ที่​ปอมเปอี​มี​โรง​มหรสพ​ขนาด​ใหญ่ มี​ที่​นั่ง​ซึ่ง​จุ​ผู้​คน​ได้​เกือบ​ทั้ง​เมือง. ผู้​ขุด​ค้น​ซาก​เมือง​ปอมเปอี​นับ​จำนวน​ร้าน​เหล้า​ได้ 118 แห่ง ซึ่ง​บาง​แห่ง​ใช้​เป็น​บ่อน​การ​พนัน​และ​ซ่อง​โสเภณี. จิตรกรรม​ฝา​ผนัง​และ​สิ่ง​ประดิษฐ์​อื่น ๆ ที่​ขุด​ค้น​พบ​ให้​หลักฐาน​ว่า​มี​การ​ผิด​ศีลธรรม​และ​การ​นิยม​วัตถุ​กัน​อย่าง​แพร่​หลาย.

2 ภูเขา​ไฟ​เวซูเวียส​เริ่ม​ปะทุ​ใน​วัน​ที่ 24 สิงหาคม ส.ศ. 79. นัก​วิทยา​ภูเขา​ไฟ​เชื่อ​ว่า​ใน​การ​ระเบิด​ครั้ง​แรก ซึ่ง​ได้​พ่น​หิน​พัมมิซ​และ​เถ้า​ภูเขา​ไฟ​ตก​ลง​มา​ยัง​เมือง​ทั้ง​สอง​นั้น ยัง​คง​พอ​เปิด​โอกาส​ให้​ชาว​เมือง​หนี​ออก​ไป​ได้. ที่​จริง ดู​เหมือน​หลาย​คน​ได้​ทำ​เช่น​นั้น. แต่​คน​ที่​คิด​ว่า​คง​ไม่​อันตราย​เท่า​ไร​หรือ​เพิกเฉย​สัญญาณ​เตือน​ได้​เลือก​จะ​อยู่​ใน​เมือง​นั้น​ต่อ​ไป. ต่อ​มา​ใน​เวลา​ประมาณ​เที่ยง​คืน​ของ​วัน​นั้น แก๊ส​ที่​ร้อน​จัด, หิน​พัมมิซ, และ​หิน​ภูเขา​ไฟ​ปริมาณ​มหาศาล​พวย​พุ่ง​ออก​มา​แผด​เสียง​ดัง​กึกก้อง​ถล่ม​เมือง​เฮอร์คิวเลเนียม ยัง​ผล​ให้​ผู้​คน​ทั้ง​หมด​ที่​เหลือ​อยู่​ใน​เมือง​เสีย​ชีวิต​เพราะ​หายใจ​ไม่​ออก. เช้า​ตรู่​วัน​รุ่ง​ขึ้น แก๊ส​และ​วัตถุ​ที่​เกิด​จาก​การ​ระเบิด​ของ​ภูเขา​ไฟ​ได้​ถล่ม​ชาว​เมือง​ปอมเปอี​เช่น​กัน และ​ไม่​มี​ผู้​ใด​รอด​ชีวิต. ช่าง​เป็น​ผล​อัน​น่า​เศร้า​จริง ๆ จาก​การ​ไม่​ใส่​ใจ​สัญญาณ​เตือน!

อวสาน​ของ​ระบบ​ยิว

3. มี​ความ​คล้าย​กัน​อย่าง​ไร​ระหว่าง​ความ​พินาศ​ของ​กรุง​เยรูซาเลม​กับ​ของ​เมือง​ปอมเปอี​และ​เฮอร์คิวเลเนียม?

3 จุด​จบ​อัน​น่า​ตกตะลึง​ของ​เมือง​ปอมเปอี​และ​เฮอร์คิวเลเนียม​ยัง​เทียบ​ไม่​ได้​กับ​ความ​พินาศ​อย่าง​ใหญ่​หลวง​ของ​กรุง​เยรูซาเลม​เมื่อ​เก้า​ปี​ก่อน​หน้า​นั้น ถึง​แม้​ความ​หายนะ​นั้น​เกิด​จาก​น้ำ​มือ​ของ​มนุษย์. นี่​เป็น​เหตุ​การณ์​ที่​ได้​รับ​การ​พรรณนา​ว่า​เป็น “หนึ่ง​ใน​การ​ปิด​ล้อม​กรุง​ที่​น่า​สยดสยอง​ที่​สุด​ใน​ประวัติศาสตร์” ซึ่ง​มี​รายงาน​ว่า​ชาว​ยิว​เสีย​ชีวิต​มาก​กว่า​หนึ่ง​ล้าน​คน. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เช่น​เดียว​กับ​ความ​หายนะ​ของ​เมือง​ปอมเปอี​และ​เฮอร์คิวเลเนียม ความ​พินาศ​ของ​กรุง​เยรูซาเลม​ไม่​ได้​เกิด​ขึ้น​โดย​ไม่​มี​การ​เตือน​ล่วง​หน้า.

4. พระ​เยซู​ทรง​ให้​หมาย​สำคัญ​เชิง​พยากรณ์​อะไร​เพื่อ​เตือน​เหล่า​สาวก​ว่า​อวสาน​ของ​ระบบ​ใกล้​เข้า​มา​แล้ว และ​สิ่ง​นั้น​สำเร็จ​เป็น​จริง​ครั้ง​แรก​อย่าง​ไร​ใน​ศตวรรษ​แรก?

4 พระ​เยซู​คริสต์​ได้​พยากรณ์​ถึง​ความ​พินาศ​ของ​กรุง​เยรูซาเลม และ​พระองค์​บอก​ล่วง​หน้า​ถึง​เหตุ​การณ์​ที่​จะ​เกิด​ขึ้น​ก่อน​หน้า​นั้น ซึ่ง​จะ​ก่อ​ความ​วิตก​กังวล เช่น สงคราม, การ​ขาด​แคลน​อาหาร, แผ่นดิน​ไหว, และ​การ​ละเลย​กฎหมาย. จะ​มี​ผู้​พยากรณ์​เท็จ​เกิด​ขึ้น ขณะ​ที่​ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า​จะ​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ไป​ทั่ว​โลก. (มัดธาย 24:4-7, 11-14) แม้​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ได้​สำเร็จ​เป็น​จริง​ครั้ง​ใหญ่​ใน​สมัย​ของ​เรา แต่​ถ้อย​คำ​เหล่า​นั้น​ได้​สำเร็จ​เป็น​จริง​ไป​แล้ว​ใน​ขอบ​เขต​ที่​เล็ก​กว่า​ใน​ศตวรรษ​แรก. ประวัติศาสตร์​บันทึก​ว่า​มี​การ​กันดาร​อาหาร​อย่าง​รุนแรง​ใน​แคว้น​ยูเดีย. (กิจการ 11:28) โยเซฟุส นัก​ประวัติศาสตร์​ชาว​ยิว รายงาน​ว่า​เกิด​แผ่นดิน​ไหว​ใน​บริเวณ​กรุง​เยรูซาเลม​ไม่​นาน​ก่อน​ความ​พินาศ​ของ​กรุง​นั้น. เมื่อ​ความ​พินาศ​ของ​กรุง​เยรูซาเลม​ใกล้​เข้า​มา มี​การ​จลาจล​เกิด​ขึ้น​อย่าง​ต่อ​เนื่อง, ชาว​ยิว​ที่​อยู่​คน​ละ​กลุ่ม​การ​เมือง​สู้​รบ​กัน​เอง, และ​มี​การ​สังหาร​หมู่​ใน​หลาย​เมือง​ที่​ชาว​ยิว​กับ​ชาว​ต่าง​ชาติ​อาศัย​อยู่. ถึง​กระนั้น ข่าว​ดี​เรื่อง​ราชอาณาจักร​ก็​ได้​รับ​การ​ประกาศ “แก่​มนุษย์​ทุก​คน​ที่​อยู่​ใต้​ฟ้า.”—โกโลซาย 1:23.

5, 6. (ก) คำ​พยากรณ์​อะไร​ของ​พระ​เยซู​ที่​สำเร็จ​เป็น​จริง​ใน​ปี ส.ศ. 66? (ข) เหตุ​ใด​จึง​มี​ผู้​คน​มาก​มาย​เสีย​ชีวิต​เมื่อ​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย​ใน​ที่​สุด​ใน​ปี ส.ศ. 70?

5 ใน​ที่​สุด ชาว​ยิว​ก็​ได้​กบฏ​ต่อ​โรม​ใน​ปี ส.ศ. 66. ใน​คราว​ที่​เซสติอุส กัลลุส​นำ​กองทัพ​มา​ตั้ง​ล้อม​กรุง​เยรูซาเลม เหล่า​สาวก​ของ​พระ​เยซู​ระลึก​ถึง​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู​ที่​ว่า “เมื่อ​ท่าน​เห็น​กองทัพ​มา​ตั้ง​ล้อม​รอบ​กรุง​ยะรูซาเลม, เมื่อ​นั้น​ท่าน​จง​รู้​ว่า​ความ​พินาศ​ของ​กรุง​นั้น​ก็​ใกล้​เข้า​มา​แล้ว. เวลา​นั้น​ให้​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​อยู่​ใน​แขวง​ยูดาย​หนี​ไป​ยัง​ภูเขา และ​คน​ทั้ง​หลาย​ที่​อยู่​ใน​กรุง​ให้​ออก​ไป และ​คน​ที่​อยู่​บ้าน​นอก​อย่า​ให้​เข้า​มา​ใน​กรุง.” (ลูกา 21:20, 21) เวลา​ที่​จะ​หนี​ออก​ไป​จาก​กรุง​เยรูซาเลม​มา​ถึง​แล้ว แต่​จะ​หนี​ได้​อย่าง​ไร? โดย​ไม่​ได้​คาด​หมาย กัลลุส​ถอน​ทัพ​กลับ​ไป เปิด​โอกาส​ให้​คริสเตียน​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​และ​แคว้น​ยูเดีย​ทำ​ตาม​คำ​ตรัส​ของ​พระ​เยซู และ​หนี​ไป​ยัง​ภูเขา.—มัดธาย 24:15, 16.

6 สี่​ปี​ต่อ​มา ใน​ช่วง​เทศกาล​ปัศคา กองทัพ​โรมัน​กลับ​มา​ใหม่​ภาย​ใต้​การ​นำ​ของ​นาย​พล​ทิทุส ผู้​ซึ่ง​หมาย​มั่น​จะ​กำจัด​การ​กบฏ​ของ​พวก​ยิว​ให้​สิ้น​ซาก. กองทัพ​ของ​เขา​ล้อม​กรุง​เยรูซาเลม​และ​ตั้ง “ค่าย​รอบ” เพื่อ​ไม่​ให้​มี​ใคร​หนี​รอด​ไป​ได้. (ลูกา 19:43, 44) ทั้ง ๆ ที่​ถูก​คุกคาม​ด้วย​สงคราม ชาว​ยิว​จาก​ทั่ว​จักรวรรดิ​โรมัน​ต่าง​พา​กัน​มา​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม​เพื่อ​ฉลอง​ปัศคา. ตอน​นี้ พวก​เขา​หนี​ไป​ไหน​ไม่​ได้. ตาม​ที่​โยเซฟุส​กล่าว ผู้​มา​เยือน​ที่​เคราะห์​ร้าย​เหล่า​นี้​คือ​พวก​ที่​เสีย​ชีวิต​เป็น​ส่วน​ใหญ่​ใน​การ​ปิด​ล้อม​ของ​ชาว​โรมัน. * ใน​ที่​สุด​เมื่อ​กรุง​เยรูซาเลม​ถูก​ทำลาย มี​ประมาณ​หนึ่ง​ใน​เจ็ด​ของ​ชาว​ยิว​ทั้ง​หมด​ใน​จักรวรรดิ​โรมัน​ที่​สูญ​เสีย​ชีวิต. ความ​พินาศ​ของ​กรุง​เยรูซาเลม​และ​การ​ทำลาย​พระ​วิหาร​ของ​กรุง​นั้น​หมาย​ถึง​การ​สิ้น​สุด​ของ​รัฐ​ยิว​และ​ระบบ​ศาสนา​ที่​อาศัย​พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ. *มาระโก 13:1, 2.

7. เหตุ​ใด​คริสเตียน​ที่​ซื่อ​สัตย์​จึง​รอด​ชีวิต​จาก​การ​ทำลาย​กรุง​เยรูซาเลม?

7 ใน​ปี ส.ศ. 70 คริสเตียน​ชาว​ยิว​คง​ถูก​ฆ่า​หรือ​ไม่​ก็​ถูก​จับ​ไป​เป็น​เชลย​พร้อม​กับ​คน​อื่น ๆ ที่​อยู่​ใน​กรุง​เยรูซาเลม. อย่าง​ไร​ก็​ตาม หลักฐาน​ทาง​ประวัติศาสตร์​บ่ง​ชี้​ว่า พวก​เขา​ได้​เชื่อ​ฟัง​คำ​เตือน​ของ​พระ​เยซู​ที่​ให้​ไว้ 37 ปี​ก่อน​หน้า​นั้น. พวก​เขา​ออก​ไป​จาก​กรุง​และ​ไม่​กลับ​เข้า​มา​อีก.

คำ​เตือน​ที่​เหมาะ​กับ​เวลา​จาก​เหล่า​อัครสาวก

8. เปโตร​มอง​เห็น​ถึง​ความ​จำเป็น​ใน​เรื่อง​ใด และ​ท่าน​คง​นึก​ถึง​คำ​ตรัส​อะไร​ของ​พระ​เยซู?

8 ใน​ปัจจุบัน ความ​พินาศ​ใน​ขอบ​เขต​ที่​ใหญ่​กว่า​นั้น​มาก​กำลัง​ใกล้​เข้า​มา ซึ่ง​จะ​นำ​อวสาน​มา​สู่​ระบบ​นี้​ทั้ง​สิ้น. หก​ปี​ก่อน​ความ​พินาศ​ของ​กรุง​เยรูซาเลม อัครสาวก​เปโตร​ให้​คำ​แนะ​นำ​ที่​เร่ง​ด่วน​และ​เหมาะ​กับ​เวลา​ซึ่ง​ใช้​ได้​กับ​คริสเตียน​ใน​สมัย​ของ​เรา​เป็น​พิเศษ​ที่​ว่า จง​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ! เปโตร​เห็น​ความ​จำเป็น​ที่​คริสเตียน​ต้อง​กระตุ้น “ความ​สามารถ​ใน​การ​คิด​อย่าง​แจ่ม​ชัด” เพื่อ​พวก​เขา​จะ​ไม่​เพิกเฉย​ต่อ “พระ​บัญญัติ​ของ​องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” พระ​เยซู​คริสต์. (2 เปโตร 3:1, 2, ล.ม.) ใน​การ​กระตุ้น​คริสเตียน​ให้​ตื่น​ตัว เปโตร​คง​จะ​นึก​ถึง​สิ่ง​ที่​ท่าน​เคย​ได้​ยิน​พระ​เยซู​ตรัส​กับ​พวก​อัครสาวก​ไม่​กี่​วัน​ก่อน​พระองค์​สิ้น​พระ​ชนม์​ว่า “จง​คอย​ดู​อยู่ จง​ตื่น​ตัว​เสมอ เพราะ​เจ้า​ทั้ง​หลาย​ไม่​รู้​ว่า​เวลา​กำหนด​คือ​เมื่อ​ไร.”—มาระโก 13:33, ล.ม.

9. (ก) บาง​คน​เริ่ม​มี​เจตคติ​เช่น​ไร​ที่​เป็น​อันตราย? (ข) เหตุ​ใด​เจตคติ​ที่​แคลง​ใจ​สงสัย​จึง​เป็น​อันตราย​อย่าง​ยิ่ง?

9 ใน​ทุก​วัน​นี้ บาง​คน​อาจ​ถาม​เชิง​เยาะเย้ย​ว่า “การ​ประทับ​ของ​พระองค์​ที่​ทรง​สัญญา​ไว้​นี้​อยู่​ที่​ไหน​ล่ะ?” (2 เปโตร 3:3, 4, ล.ม.) ดู​เหมือน​ว่า​คน​เหล่า​นั้น​รู้สึก​ว่า​สิ่ง​ต่าง ๆ ก็​ดำเนิน​ไป​เหมือน​อย่าง​ที่​เคย​เป็น​มา ไม่​เห็น​มี​อะไร​เปลี่ยน​แปลง​อย่าง​แท้​จริง​ตั้ง​แต่​แรก​สร้าง​โลก. การ​แคลง​ใจ​สงสัย​อย่าง​นั้น​เป็น​อันตราย. ความ​สงสัย​สามารถ​บ่อน​ทำลาย​ความ​สำนึก​ถึง​ความ​เร่ง​ด่วน​ของ​เรา ชักจูง​เรา​ให้​ค่อย ๆ กลาย​เป็น​คน​ทำ​ตาม​ใจ​ตัว​เอง​โดย​ไม่​รู้​ตัว. (ลูกา 21:34) นอก​จาก​นี้ ดัง​ที่​เปโตร​ชี้​ให้​เห็น คน​ที่​เยาะเย้ย​เหล่า​นั้น​ลืม​เหตุ​การณ์​น้ำ​ท่วม​ใน​สมัย​โนฮา​ที่​ทำลาย​ระบบ​ของ​โลก​ทั้ง​สิ้น. โลก​ได้​เปลี่ยน​แปลง​ไป​อย่าง​แท้​จริง​ใน​ครั้ง​นั้น!—เยเนซิศ 6:13, 17; 2 เปโตร 3:5, 6.

10. เปโตร​หนุน​ใจ​ผู้​ที่​อาจ​กลาย​เป็น​คน​ขาด​ความ​อด​ทน​ด้วย​ถ้อย​คำ​อะไร?

10 เปโตร​ช่วย​ผู้​อ่าน​จดหมาย​ของ​ท่าน​ให้​ปลูกฝัง​ความ​อด​ทน​โดย​เตือน​พวก​เขา​ให้​ระลึก​ถึง​เหตุ​ผล​ที่​บ่อย​ครั้ง​พระเจ้า​ไม่​ปฏิบัติการ​ใน​ทันที. แรก​ที​เดียว เปโตร​กล่าว​ว่า “วัน​เดียว​สำหรับ​พระ​ยะโฮวา​เป็น​เหมือน​พัน​ปี และ​พัน​ปี​ก็​เป็น​เหมือน​วัน​เดียว.” (2 เปโตร 3:8, ล.ม.) เนื่อง​จาก​พระ​ยะโฮวา​ทรง​พระ​ชนม์​อยู่​เป็น​นิตย์ พระองค์​สามารถ​นำ​เอา​ปัจจัย​ทุก​อย่าง​มา​พิจารณา​และ​เลือก​เวลา​ที่​เหมาะ​ที่​สุด​สำหรับ​การ​ลง​มือ​ปฏิบัติการ. จาก​นั้น เปโตร​ชี้​ถึง​ความ​ปรารถนา​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่​ต้องการ​ให้​ผู้​คน​ทุก​หน​แห่ง​กลับ​ใจ. ความ​อด​กลั้น​พระทัย​ของ​พระเจ้า​หมาย​ถึง​ความ​รอด​สำหรับ​ผู้​คน​มาก​มาย​ซึ่ง​คง​จะ​ถูก​ทำลาย​หาก​พระองค์​ลง​มือ​ปฏิบัติการ​ใน​ทันที. (1 ติโมเธียว 2:3, 4; 2 เปโตร 3:9) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ความ​อด​กลั้น​พระทัย​ของ​พระ​ยะโฮวา​ไม่​ได้​หมายความ​ว่า​พระองค์​จะ​ไม่​ลง​มือ​ปฏิบัติการ​เลย. เปโตร​กล่าว​ว่า “วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​จะ มา​เหมือน​อย่าง​ขโมย.”—2 เปโตร 3:10, ล.ม.

11. อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ตื่น​ตัว​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​อยู่​เสมอ และ​การ​ทำ​เช่น​นั้น​จะ​เป็น​เหมือน​กับ “เร่ง” วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​ไร?

11 การ​เปรียบ​เทียบ​ของ​เปโตร​นั้น​น่า​สนใจ. ที่​จะ​จับ​ขโมย​นั้น​ไม่​ง่าย แต่​คน​ยาม​ที่​ตื่น​ตัว​เสมอ​ตลอด​คืน​คง​จะ​สังเกต​เห็น​ขโมย​ได้​มาก​กว่า​คน​ยาม​ที่​งีบ​หลับ​เป็น​พัก ๆ. คน​ยาม​จะ​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ​ได้​อย่าง​ไร? การ​เดิน​ไป​มา​คง​จะ​ช่วย​ให้​ตื่นตัว​ได้​ดี​กว่า​การ​นั่ง​อยู่​ตลอด​ทั้ง​คืน. ใน​ทำนอง​เดียว​กัน การ​รักษา​กิจกรรม​ฝ่าย​วิญญาณ​จะ​ช่วย​เรา​ที่​เป็น​คริสเตียน​ให้​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ. ด้วย​เหตุ​นี้ เปโตร​จึง​กระตุ้น​เรา​ให้​จดจ่อ​อยู่​กับ “การ​ประพฤติ​อัน​บริสุทธิ์ และ​การ​กระทำ​ด้วย​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า.” (2 เปโตร 3:11, ล.ม.) การ​กระทำ​อย่าง​นั้น​จะ​ช่วย​เรา​ให้ “คำนึง​ถึง​วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​เสมอ.” คำ​ภาษา​กรีก​ที่​ได้​รับ​การ​แปล​ว่า “คำนึง​ถึง . . . เสมอ” อาจ​แปล​ตาม​ตัว​อักษร​ได้​ว่า “เร่ง.” (2 เปโตร 3:12, ล.ม., เชิงอรรถ) แน่​ล่ะ เรา​ไม่​สามารถ​เปลี่ยน​แปลง​เวลา​กำหนด​ของ​พระ​ยะโฮวา. วัน​ของ​พระองค์​จะ​มา​ตาม​เวลา​ที่​พระองค์​ทรง​กำหนด. แต่​เวลา​จาก​ปัจจุบัน​ไป​จน​ถึง​ตอน​นั้น​จะ​ดู​เหมือน​ว่า​ผ่าน​ไป​อย่าง​รวด​เร็ว​ยิ่ง​ขึ้น ถ้า​เรา​หมกมุ่น​อยู่​ใน​งาน​รับใช้​พระองค์.—1 โกรินโธ 15:58.

12. เรา​แต่​ละ​คน​จะ​ฉวย​ประโยชน์​จาก​ความ​อด​กลั้น​พระทัย​ของ​พระ​ยะโฮวา​ได้​อย่าง​ไร?

12 ด้วย​เหตุ​นี้ ใคร​ก็​ตาม​ที่​รู้สึก​ว่า​วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​มา​ช้า​จึง​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​ให้​ใส่​ใจ​ใน​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปโตร​ที่​ให้​คอย​ท่า​เวลา​กำหนด​ของ​พระ​ยะโฮวา​ด้วย​ความ​อด​ทน. อัน​ที่​จริง เรา​สามารถ​ใช้​เวลา​ที่​มี​มาก​ขึ้น​จาก​การ​อด​กลั้น​พระทัย​ของ​พระเจ้า​นั้น​อย่าง​ฉลาด​สุขุม. ตัว​อย่าง​เช่น เรา​สามารถ​พัฒนา​คุณลักษณะ​ต่าง ๆ แบบ​คริสเตียน​ที่​สำคัญ​ได้​ต่อ​ไป รวม​ทั้ง​สามารถ​แบ่ง​ปัน​ข่าว​ดี​ให้​กับ​ผู้​คน​ได้​อีก​มาก​มาย ซึ่ง​เรา​คง​จะ​ทำ​ไม่​ได้​หาก​พระเจ้า​ไม่​ทรง​อด​กลั้น​พระทัย​ไว้. ถ้า​เรา​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ พระ​ยะโฮวา​จะ​พบ​ว่า​เรา “ปราศจาก​ด่าง​พร้อย​และ​มลทิน และ​มี​สันติ​สุข” ใน​ตอน​อวสาน​ของ​ระบบ​นี้. (2 เปโตร 3:14, 15, ล.ม.) ช่าง​จะ​เป็น​บำเหน็จ​อะไร​เช่น​นั้น!

13. ถ้อย​คำ​อะไร​ของ​เปาโล​ที่​ไป​ถึง​คริสเตียน​ใน​เทสซาโลนีกา​เหมาะ​กับ​ทุก​วัน​นี้​เป็น​พิเศษ?

13 ใน​จดหมาย​ฉบับ​แรก​ที่​เขียน​ไป​ถึง​คริสเตียน​ใน​เทสซาโลนีกา เปาโล​พูด​ถึง​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ​เช่น​กัน. ท่าน​แนะ​นำ​ว่า “อย่า​ให้​เรา​หลับ​เหมือน​คน​อื่น แต่​ให้​เรา​ตื่น​อยู่​และ​รักษา​สติ​ของ​เรา.” (1 เธซะโลนิเก 5:2, 6, ล.ม.) เนื่อง​จาก​ใน​ปัจจุบัน ความ​พินาศ​ของ​ระบบ​โลก​ทั้ง​สิ้น​กำลัง​ใกล้​เข้า​มา เป็น​สิ่ง​จำเป็น​สัก​เพียง​ไร​ที่​จะ​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ! ผู้​นมัสการ​พระ​ยะโฮวา​มี​ชีวิต​อยู่​ใน​โลก​ที่​เต็ม​ไป​ด้วย​ผู้​คน​ที่​ขาด​ความ​สนใจ​ใน​สิ่ง​ฝ่าย​วิญญาณ และ​นี่​อาจ​มี​ผล​กระทบ​ต่อ​พวก​เขา. ด้วย​เหตุ​นี้ เปาโล​จึง​แนะ​นำ​ว่า “จง​ให้​เรา​รักษา​สติ และ​สวม​เกราะ​หน้า​อก​แห่ง​ความ​เชื่อ​และ​ความ​รัก และ​เอา​ความ​หวัง​เกี่ยว​กับ​ความ​รอด​มา​สวม​เป็น​หมวก​เกราะ.” (1 เธซะโลนิเก 5:8, ล.ม.) การ​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​และ​การ​คบหา​กับ​พี่​น้อง​ของ​เรา​เป็น​ประจำ ณ การ​ประชุม​ต่าง ๆ จะ​ช่วย​ให้​เรา​ทำ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล​และ​สำนึก​ถึง​ความ​เร่ง​ด่วน​อยู่​เสมอ.—มัดธาย 16:1-3.

หลาย​ล้าน​คน​กำลัง​เฝ้า​ระวัง​อยู่

14. สถิติ​อะไร​ที่​แสดง​ว่า​มี​ผู้​คน​มาก​มาย​ใน​ทุก​วัน​นี้​กำลัง​ปฏิบัติ​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปโตร​ที่​ให้​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ?

14 มี​หลาย​คน​ไหม​ใน​ทุก​วัน​นี้​ที่​กำลัง​เอา​ใจ​ใส่​คำ​กระตุ้น​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ที่​ให้​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ? ใช่​แล้ว. ใน​ปี​การ​รับใช้ 2002 ยอด​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร 6,304,645 คน ซึ่ง​เพิ่ม​ขึ้น 3.1 เปอร์เซ็นต์​จาก​ปี 2001 เป็น​หลักฐาน​แสดง​ว่า​พวก​เขา​ตื่น​ตัว​ฝ่าย​วิญญาณ โดย​ใช้​เวลา 1,202,381,302 ชั่วโมง​ใน​การ​พูด​คุย​กับ​คน​อื่น ๆ เรื่อง​ราชอาณาจักร​ของ​พระเจ้า. สำหรับ​คน​เหล่า​นี้ กิจกรรม​ดัง​กล่าว​ไม่​ใช่​งาน​ที่​ทำ​แค่​พอ​เป็น​พิธี. นั่น​เป็น​ส่วน​สำคัญ​ใน​ชีวิต​ของ​พวก​เขา. เจตคติ​ของ​พวก​เขา​หลาย​คน​เห็น​ได้​ชัด​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​เอดวาร์โด​และ​โนเอมี​ใน​เอลซัลวาดอร์.

15. ประสบการณ์​อะไร​จาก​เอลซัลวาดอร์​แสดง​ว่า​หลาย​คน​กำลัง​ตื่น​ตัว​ฝ่าย​วิญญาณ?

15 หลาย​ปี​มา​แล้ว เอดวาร์โด​และ​โนเอมี​ได้​ใส่​ใจ​ถ้อย​คำ​ของ​เปาโล​ที่​ว่า “ฉาก​ของ​โลก​นี้​กำลัง​เปลี่ยน​ไป.” (1 โกรินโธ 7:31, ล.ม.) พวก​เขา​ทำ​ชีวิต​ของ​ตน​ให้​เรียบ​ง่าย​และ​เข้า​สู่​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา​ประเภท​ไพโอเนียร์. เมื่อ​เวลา​ผ่าน​ไป ทั้ง​สอง​ได้​รับ​พระ​พร​มาก​มาย​ใน​หลาย​ทาง และ​กระทั่ง​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​งาน​หมวด​และ​ภาค. แม้​ว่า​ต้อง​ประสบ​ปัญหา​ร้ายแรง เอดวาร์โด​และ​โนเอมี​มั่น​ใจ​ว่า​ตน​ตัดสิน​ใจ​อย่าง​ถูก​ต้อง​ที่​ได้​สละ​ความ​สะดวก​สบาย​ฝ่าย​วัตถุ​เพื่อ​เข้า​สู่​งาน​รับใช้​เต็ม​เวลา. หลาย​คน​ใน​จำนวน​ผู้​ประกาศ 29,269 คน รวม​ทั้ง​ไพโอเนียร์ 2,454 คน​ใน​เอลซัลวาดอร์​ได้​แสดง​น้ำใจ​เสีย​สละ​คล้าย ๆ กัน​นั้น ซึ่ง​เป็น​เหตุ​ผล​หนึ่ง​ที่​ประเทศ​นี้​มี​จำนวน​ผู้​ประกาศ​เพิ่ม​ขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์​ใน​ปี​ที่​ผ่าน​มา.

16. พี่​น้อง​หนุ่ม​คน​หนึ่ง​ใน​โกตดิวัวร์​ได้​แสดง​เจตคติ​แบบ​ใด?

16 ใน​โกตดิวัวร์ เจตคติ​อย่าง​เดียว​กัน​นั้น​มี​การ​แสดง​ออก​โดย​คริสเตียน​วัย​หนุ่ม​คน​หนึ่ง ซึ่ง​เขียน​ถึง​สำนักงาน​สาขาดัง​นี้: “ผม​กำลัง​รับใช้​ใน​ฐานะ​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้. แต่​ผม​ไม่​สามารถ​บอก​พี่​น้อง​ให้​เป็น​ไพโอเนียร์​ได้ ใน​ขณะ​ที่​ตัว​เอง​ไม่​ได้​วาง​ตัว​อย่าง​ที่​ดี​ใน​เรื่อง​นี้. ดัง​นั้น ผม​จึง​ลา​ออก​จาก​งาน​ที่​มี​ราย​ได้​ดี​และ​ตอน​นี้​ทำ​งาน​ส่วน​ตัว ซึ่ง​ทำ​ให้​ผม​มี​เวลา​มาก​ขึ้น​ใน​งาน​รับใช้.” ตอน​นี้ ชาย​หนุ่ม​คน​นี้​เป็น​หนึ่ง​ใน​ไพโอเนียร์ 983 คน​ที่​รับใช้​ใน​โกตดิวัวร์ ซึ่ง​มี​รายงาน​ว่า​มี​ผู้​ประกาศ 6,701 คน​ใน​ปี​ที่​ผ่าน​มา เพิ่ม​ขึ้น 5 เปอร์เซ็นต์.

17. เด็ก​สาว​พยาน​ฯ คน​หนึ่ง​ใน​เบลเยียม​แสดง​อย่าง​ไร​ว่า​การ​มี​อคติ​ไม่​ได้​ทำ​ให้​เธอ​หวั่น​กลัว?

17 การ​มี​จิตใจ​คับแคบ, อคติ, และ​ความ​ลำเอียง​ยัง​คง​สร้าง​ปัญหา​ให้​กับ​ผู้​ประกาศ​ราชอาณาจักร​จำนวน 24,961 คน​ใน​เบลเยียม. ถึง​กระนั้น พวก​เขา​ยัง​คง​กระตือรือร้น​และ​ไม่​หวั่น​กลัว. เมื่อ​เด็ก​สาว​พยาน​ฯ อายุ 16 ปี​คน​หนึ่ง​ได้​ยิน​ว่า​มี​การ​เรียก​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ว่า​เป็น​นิกาย​อันตราย​ใน​ชั้น​เรียน​ด้าน​ศีลธรรม เธอ​ขอ​อนุญาต​ที่​จะ​แสดง​ถึง​จุด​ยืน​ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา. โดย​การ​ใช้​วีดิทัศน์​พยาน​พระ​ยะโฮวา—องค์การ​เบื้อง​หลัง​ชื่อ​นี้ และ​จุลสาร​พยาน​พระ​ยะโฮวา—พวก​เขา​เป็น​ใคร? เธอ​สามารถ​อธิบาย​ว่า​จริง ๆ แล้ว​พวก​พยาน​ฯ เป็น​ใคร. ข้อมูล​ที่​เธอ​นำ​เสนอ​ได้​รับ​การ​ตอบรับ​อย่าง​ดี และ​ใน​สัปดาห์​ต่อ​มา นัก​เรียน​ได้​รับ​ข้อ​สอบ​ซึ่ง​คำ​ถาม​ทุก​ข้อ​เกี่ยว​ข้อง​กับ​ศาสนา​คริสเตียน​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

18. มี​หลักฐาน​อะไร​ที่​แสดง​ว่า​ปัญหา​ทาง​เศรษฐกิจ​ไม่​ได้​ทำ​ให้​ผู้​ประกาศ​ใน​อาร์เจนตินา​และ​โมซัมบิก​หันเห​ไป​จาก​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา?

18 คริสเตียน​ส่วน​ใหญ่​ต้อง​ประสบ​ปัญหา​หนัก​ระหว่าง​สมัย​สุด​ท้าย​นี้. กระนั้น พวก​เขา​พยายาม​ที่​จะ​ไม่​ให้​ปัญหา​ต่าง ๆ มา​ทำ​ให้​พวก​เขา​หันเห​ไป​จาก​งาน​รับใช้. ทั้ง ๆ ที่​ประสบ​ปัญหา​ทาง​เศรษฐกิจ​อย่าง​ที่​ทราบ​กัน​ทั่ว​ไป แต่​อาร์เจนตินา​ก็​ยัง​รายงาน​ยอด​ใหม่​จำนวน​พยาน​ฯ 126,709 คน​ใน​ปี​ที่​ผ่าน​มา. ความ​ยาก​จน​ยัง​คง​มี​ทั่ว​ไป​ใน​โมซัมบิก. แต่​กระนั้น มี​รายงาน​ว่า​มี​ผู้​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​ให้​คำ​พยาน 37,563 คน เพิ่ม​ขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์. ชีวิต​ช่าง​ลำบาก​ยาก​แค้น​สำหรับ​หลาย​คน​ใน​แอลเบเนีย กระนั้น ประเทศ​นี้​ก็​ยัง​รายงาน​การ​เพิ่ม​ทวี​ที่​ยอด​เยี่ยม​ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ บรรลุ​ยอด​ผู้​ประกาศ 2,708 คน. เห็น​ได้​ชัด​ว่า สภาพการณ์​ที่​ยาก​ลำบาก​ไม่​ได้​กีด​ขวาง​พระ​วิญญาณ​ของ​พระ​ยะโฮวา เมื่อ​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์​ให้​ผล​ประโยชน์​แห่ง​ราชอาณาจักร​อยู่​ใน​อันดับ​แรก.—มัดธาย 6:33.

19. (ก) หลักฐาน​อะไร​แสดง​ว่า​ยัง​คง​มี​คน​เยี่ยง​แกะ​อีก​มาก​มาย​ที่​กระหาย​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล? (ข) มี​ราย​ละเอียด​อะไร​อื่น​อีก​จาก​รายงาน​ประจำ​ปี​ที่​แสดง​ว่า​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา​กำลัง​ตื่น​ตัว​ฝ่าย​วิญญาณ? (ดู​แผนภูมิ​ใน​หน้า 12-15.)

19 รายงาน​การ​ศึกษา​พระ​คัมภีร์​ตลอด​ทั่ว​โลก​ใน​ปี​ที่​ผ่าน​มา​เฉลี่ย​ต่อ​เดือน 5,309,289 ราย​แสดง​ว่า​ยัง​มี​คน​เยี่ยง​แกะ​อีก​มาก​มาย​ที่​กระหาย​ความ​จริง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. เกี่ยว​กับ​ยอด​ใหม่ 15,597,746 คน​ของ​ผู้​ที่​เข้า​ร่วม​การ​ประชุม​อนุสรณ์​นั้น คน​เหล่า​นี้​ส่วน​ใหญ่​ยัง​ไม่​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​อย่าง​จริงจัง. ขอ​ให้​พวก​เขา​เติบโต​ต่อ ๆ ไป​ใน​ความ​รู้​และ​ความ​รัก​ต่อ​พระ​ยะโฮวา​และ​สังคม​พี่​น้อง. เป็น​เรื่อง​น่า​ตื่นเต้น​ที่​เห็น​ว่า “ชน​ฝูง​ใหญ่” แห่ง “แกะ​อื่น” ยัง​คง​บังเกิด​ผล​ต่อ​ไป​ขณะ​ที่​รับใช้​พระ​ผู้​สร้าง “ทั้ง​วัน​ทั้ง​คืน​ใน​พระ​วิหาร​ของ​พระองค์” ร่วม​กับ​พี่​น้อง​ของ​พวก​เขา​ที่​ได้​รับ​การ​เจิม​ด้วย​พระ​วิญญาณ.—วิวรณ์ 7:9, 15, ล.ม.; โยฮัน 10:16.

บทเรียน​จาก​โลต

20. เรา​ได้​เรียน​อะไร​จาก​ตัว​อย่าง​ของ​โลต​และ​ภรรยา​ของ​ท่าน?

20 แน่นอน แม้​แต่​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​ของ​พระเจ้า​ก็​อาจ​สูญ​เสีย​ความ​สำนึก​ถึง​ความ​เร่ง​ด่วน​ไป​ได้​ชั่ว​ขณะ. ขอ​ให้​คิด​ถึง​โลต หลาน​ชาย​ของ​อับราฮาม. ท่าน​ได้​ทราบ​จาก​ทูตสวรรค์​สอง​องค์​ที่​มา​หา​ท่าน​ว่า พระเจ้า​จะ​ทำลาย​เมือง​โซโดม​และ​โกโมร์ราห์​ใน​อีก​ไม่​ช้า. โลต​ซึ่ง “มี​ทุกข์​เป็น​อัน​มาก​เพราะ​การ​ประพฤติ​ลามก​ของ​คน​ชั่ว​เหล่า​นั้น” คง​ไม่​ประหลาด​ใจ​ที่​ได้​ยิน​ข่าว​นี้. (2 เปโตร 2:7) ถึง​กระนั้น เมื่อ​ทูตสวรรค์​สอง​องค์​นั้น​มา​พา​ท่าน​ออก​ไป​จาก​โซโดม ท่าน “ยัง​รีรอ.” ทูตสวรรค์แทบ​จะ​ต้อง​ฉุด​ลาก​ท่าน​และ​ครอบครัว​ออก​จาก​เมือง​นั้น. ต่อ​มา ภรรยา​ของ​โลต​ไม่​ใส่​ใจ​คำ​เตือน​ของ​ทูตสวรรค์​ที่​ห้าม​หัน​กลับ​ไป​มอง. การ​ถือ​ว่า​คำ​เตือน​เป็น​เรื่อง​ไม่​สำคัญ​ทำ​ให้​เธอ​เสีย​ชีวิต. (เยเนซิศ 19:14-17, 26, ฉบับ​แปล​ใหม่) พระ​เยซู​เตือน​ว่า “จง​ระลึก​ถึง​ภรรยา​ของ​โลต​นั้น​เถิด.”—ลูกา 17:32.

21. ทำไม​จึง​สำคัญ​ที่​จะ​ต้อง​ตื่น​ตัว​ใน​เวลา​นี้​ยิ่ง​กว่า​แต่​ก่อน?

21 ความ​หายนะ​ของ​เมือง​ปอมเปอี​และ​เฮอร์คิวเลเนียม, เหตุ​การณ์​ต่าง ๆ ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​การ​ทำลาย​กรุง​เยรูซาเลม, รวม​ทั้ง​ตัว​อย่าง​เรื่อง​น้ำ​ท่วม​ใน​สมัย​โนฮา​กับ​ตัว​อย่าง​ของ​โลต เหตุ​การณ์​ทั้ง​หมด​นี้​แสดง​ให้​เห็น​ถึง​ความ​สำคัญ​ของ​การ​เอา​ใจ​ใส่​คำ​เตือน​อย่าง​จริงจัง. ใน​ฐานะ​ผู้​รับใช้​ของ​พระ​ยะโฮวา เรา​เข้าใจ​ดี​เกี่ยว​กับ​สัญลักษณ์​ของ​สมัย​สุด​ท้าย. (มัดธาย 24:3) เรา​ได้​แยก​ตัว​เอง​ออก​จาก​ศาสนา​เท็จ. (วิวรณ์ 18:4) เช่น​เดียว​กับ​คริสเตียน​ใน​ศตวรรษ​แรก เรา​ต้อง “คำนึง​ถึง​วัน​ของ​พระ​ยะโฮวา​เสมอ.” (2 เปโตร 3:12, ล.ม.) ถูก​แล้ว บัด​นี้​เรา​ต้อง​ตื่น​ตัว​ยิ่ง​กว่า​แต่​ก่อน! เรา​แต่​ละ​คน​อาจ​ทำ​อะไร​ได้​บ้าง​และ​เรา​จะ​พัฒนา​คุณลักษณะ​อะไร​บ้าง​เพื่อ​จะ​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ? จะ​มี​การ​พิจารณา​เรื่อง​เหล่า​นี้​ใน​บทความ​ถัด​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 6 กรุง​เยรูซาเลม​ใน​ศตวรรษ​แรก​ไม่​น่า​จะ​มี​พลเมือง​มาก​กว่า 120,000 คน. ยูเซบิอุส​คำนวณ​ว่า​ผู้​อาศัย​ใน​แคว้น​ยูเดีย​ประมาณ 300,000 คน​เดิน​ทาง​มา​ยัง​กรุง​เยรูซาเลม​เพื่อ​ฉลอง​ปัศคา​ใน​ปี ส.ศ. 70. ผู้​ที่​เสีย​ชีวิต​นอก​นั้น​คง​ต้อง​มา​จาก​ส่วน​อื่น ๆ ของ​จักรวรรดิ.

^ วรรค 6 แน่นอน จาก​ทัศนะ​ของ​พระ​ยะโฮวา​แล้ว พระ​บัญญัติ​ของ​โมเซ​ถูก​แทน​ที่​ด้วย​คำ​สัญญา​ไมตรี​ใหม่​ใน​ปี ส.ศ. 33.—เอเฟโซ 2:15.

คุณ​จะ​ตอบ​อย่าง​ไร?

• เหตุ​การณ์​อะไร​ที่​ทำ​ให้​คริสเตียน​ชาว​ยิว​สามารถ​รอด​พ้น​จาก​การ​ทำลาย​ล้าง​กรุง​เยรูซาเลม?

• คำ​แนะ​นำ​ใน​จดหมาย​ของ​อัครสาวก​เปโตร​และ​เปาโล​ช่วย​เรา​ให้​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ​อย่าง​ไร?

• ใคร​ใน​ทุก​วัน​นี้​ให้​หลักฐาน​ว่า​พวก​เขา​ตื่น​ตัว​อย่าง​เต็ม​ที่?

• เรา​ได้​บทเรียน​อะไร​จาก​เรื่อง​ราว​ของ​โลต​และ​ภรรยา​ของ​ท่าน?

[คำ​ถาม]

[แผนภูมิ​หน้า 12-15]

รายงาน​เกี่ยว​กับ​ปี​รับใช้ 2002 ของ​พยาน​พระ​ยะโฮวา​ตลอด​ทั่ว​โลก

(ราย​ละเอียด​ดู​จาก​วารสาร)

[ภาพ​หน้า 9]

ใน​ปี ส.ศ. 66 คริสเตียน​ที่​อาศัย​ใน​กรุง​เยรูซาเลม​ได้​เอา​ใจ​ใส่​คำ​เตือน​ของ​พระ​เยซู

[ภาพ​หน้า 10]

การ​รักษา​กิจกรรม​ฝ่าย​วิญญาณ​ช่วย​คริสเตียน​ให้​ตื่น​ตัว​อยู่​เสมอ