ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

อะไรจะช่วยเราให้ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง?

อะไรจะช่วยเราให้ใช้คำแห่งความจริงอย่างถูกต้อง?

อะไร​จะ​ช่วย​เรา​ให้​ใช้​คำ​แห่ง​ความ​จริง​อย่าง​ถูก​ต้อง?

นัก​วิจารณ์​ละคร​เวที​ของ​หนังสือ​พิมพ์​ฉบับ​หนึ่ง​ได้​ไป​ชม​ละคร​เรื่อง​หนึ่ง. เขา​ไม่​ค่อย​ชอบ​การ​แสดง​นั้น​เท่า​ใด​นัก และ​ต่อ​มา​เขา​ได้​เขียน​บท​วิจารณ์​ว่า “ถ้า​คุณ​สนใจ​จะ​ดู​อะไร​ที่​ไร้​สาระ​ล่ะ​ก็ อย่า​พลาด​ไป​ชม​การ​แสดง​เรื่อง​นี้.” ภาย​หลัง ผู้​จัด​ละคร​เรื่อง​นี้​ได้​ยก​เอา​คำ​พูด​ของ​นัก​วิจารณ์​คน​นี้​ไป​พิมพ์​ลง​ใน​ใบ​โฆษณา. ข้อ​ความ​ที่​นำ​ไป​พิมพ์​ก็​คือ “อย่า​พลาด​ไป​ชม​การ​แสดง​เรื่อง​นี้”! คำ​กล่าว​ของ​นัก​วิจารณ์​ที่​ยก​ไป​อ้าง​ใน​ใบ​โฆษณา​นั้น​ถูก​ต้อง แต่​เป็น​การ​ยก​มา​กล่าว​โดย​ไม่​คำนึง​ถึง​บริบท และ​โดย​วิธี​นี้​จึง​เป็น​การ​สื่อ​ความหมาย​ผิด​ไป​จาก​ที่​นัก​วิจารณ์​ต้องการ​บอก​อย่าง​สิ้นเชิง.

ตัว​อย่าง​ข้าง​ต้น​แสดง​ว่า​บริบท​ของ​ข้อ​ความ​ใด​ข้อ​ความ​หนึ่ง​มี​ความ​สำคัญ​สัก​เพียง​ไร. การ​ยก​ข้อ​ความ​ใด ๆ ขึ้น​มา​กล่าว​โดย​ไม่​คำนึง​ถึง​บริบท​อาจ​บิดเบือน​ความหมาย​ของ​ข้อ​ความ​นั้น เหมือน​อย่าง​ที่​ซาตาน​ได้​บิดเบือน​ความหมาย​ของ​ข้อ​คัมภีร์​เมื่อ​มัน​พยายาม​ล่อ​ลวง​พระ​เยซู. (มัดธาย 4:1-11) ตรง​กัน​ข้าม การ​คำนึง​ถึง​บริบท​จะ​ช่วย​ให้​เรา​เข้าใจ​ความหมาย​ของ​ข้อ​ความ​นั้น​ถูก​ต้อง​ยิ่ง​ขึ้น. ด้วย​เหตุ​นี้ เมื่อ​เรา​ศึกษา​ข้อ​พระ​คัมภีร์​ข้อ​หนึ่ง จึง​นับ​ว่า​สุขุม​เสมอ​ที่​จะ​พิจารณา​บริบท​ของ​ข้อ​นั้น เพื่อ​จะ​เข้าใจ​ได้​ดี​ขึ้น​ว่า​ผู้​เขียน​กำลัง​พูด​ถึง​อะไร.

จง​ใช้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ระมัดระวัง

บริบท​ได้​รับ​การ​นิยาม​ใน​พจนานุกรม​เล่ม​หนึ่ง​ว่า​เป็น “ข้อ​ความ​ส่วน​ที่​เขียน​หรือ​พูด​ก่อน​หน้า​หรือ​ตาม​หลัง​คำ​หรือ​ข้อ​ความ​ใด ๆ ซึ่ง​มัก​จะ​มี​ผล​ต่อ​ความหมาย​หรือ​ช่วย​ให้​เข้าใจ​ความหมาย​ของ​คำ​หรือ​ข้อ​ความ​นั้น.” นอก​จาก​นี้ บริบท​ยัง​อาจ​หมาย​ถึง “สถานการณ์​หรือ​ข้อ​เท็จ​จริง​ที่​เกี่ยว​ข้อง​กับ​เหตุ​การณ์​หนึ่ง ๆ.” ใน​ความหมาย​หลัง​นี้ “บริบท” มี​ความหมาย​ตรง​กับ “ภูมิหลัง.” การ​คำนึง​ถึง​บริบท​ของ​ข้อ​คัมภีร์​มี​ความ​สำคัญ​เป็น​พิเศษ เมื่อ​คิด​ถึง​สิ่ง​ที่​อัครสาวก​เปาโล​ได้​เขียน​ไป​ถึง​ติโมเธียว​ที่​ว่า “จง​ทำ​สุด​ความ​สามารถ​เพื่อ​สำแดง​ตน​ให้​เป็น​ที่​พอ​พระทัย​พระเจ้า เป็น​คน​งาน​ที่​ไม่​มี​อะไร​ต้อง​อาย ใช้​คำ​แห่ง​ความ​จริง​อย่าง​ถูก​ต้อง.” (2 ติโมเธียว 2:15, ล.ม.) เพื่อ​จะ​ใช้​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​อย่าง​ถูก​ต้อง เรา​ต้อง​เข้าใจ​พระ​คำ​นั้น​อย่าง​ถูก​ต้อง แล้ว​อธิบาย​แก่​คน​อื่น​อย่าง​ซื่อ​ตรง​และ​แม่นยำ. ความ​นับถือ​ต่อพระ​ยะโฮวา ผู้​ประพันธ์​คัมภีร์​ไบเบิล จะ​กระตุ้น​ให้​เรา​พยายาม​ทำ​เช่น​นั้น และ​การ​พิจารณา​บริบท​จะ​ช่วย​เรา​ได้​มาก​ที​เดียว​ใน​เรื่อง​นี้.

ภูมิหลัง​ของ​พระ​ธรรม​ติโมเธียว​ฉบับ​สอง

เพื่อ​เป็น​ตัว​อย่าง ขอ​ให้​เรา​พิจารณา​พระ​ธรรม​ติโมเธียว​ฉบับ​สอง. * เพื่อ​เริ่ม​ต้น​การ​พิจารณา เรา​อาจ​ตั้ง​คำ​ถาม​เกี่ยว​กับ​ภูมิหลัง​ของ​พระ​ธรรม​เล่ม​นี้. ใคร​เป็น​ผู้​เขียน​ติโมเธียว​ฉบับ​สอง? เขียน​เมื่อ​ไร? ภาย​ใต้​สภาพการณ์​เช่น​ไร? แล้ว​จาก​นั้น เรา​อาจ​ถาม​ว่า “ติโมเธียว” ซึ่ง​ชื่อ​ของ​เขา​ถูก​ใช้​เป็น​ชื่อ​ของ​พระ​ธรรม​นี้ อยู่​ใน​สถานการณ์​เช่น​ไร​ใน​ตอน​นั้น? ทำไม​เนื้อหา​ใน​พระ​ธรรม​นี้​จึง​จำเป็น​สำหรับ​ท่าน? คำ​ตอบ​สำหรับ​คำ​ถาม​เหล่า​นี้​จะ​เพิ่ม​ความ​หยั่ง​รู้​ค่า​ที่​เรา​มี​ต่อ​พระ​ธรรม​นี้ และ​ช่วย​เรา​ให้​เห็น​วิธี​ที่​พวก​เรา​ใน​ปัจจุบัน​จะ​ได้​ประโยชน์​จาก​พระ​ธรรม​เล่ม​นี้.

ข้อ​ต้น ๆ ของ​ติโมเธียว​ฉบับ​สอง​บอก​ให้​เรา​ทราบ​ว่า​พระ​ธรรม​เล่ม​นี้​เป็น​จดหมาย​ที่​อัครสาวก​เปาโล​เขียน​ถึง​ติโมเธียว. ข้อ​อื่น ๆ แสดง​ว่า​ขณะ​ที่​เปาโล​เขียน​จดหมาย​ฉบับ​นี้ ท่าน​กำลัง​ถูก​คุม​ขัง​เนื่อง​ด้วย​ข่าว​ดี. เนื่อง​จาก​หลาย​คน​ทอดทิ้ง​ท่าน​ไป เปาโล​คิด​ว่า​จุด​จบ​ของ​ตัว​เอง​ใกล้​เข้า​มา​แล้ว. (2 ติโมเธียว 1:15, 16; 2:8-10; 4:6-8) ดัง​นั้น ท่าน​คง​ต้อง​ได้​เขียน​พระ​ธรรม​เล่ม​นี้​ระหว่าง​ที่​ถูก​คุม​ขัง​ครั้ง​ที่​สอง​ใน​กรุง​โรม ประมาณ​ปี ส.ศ. 65. จาก​นั้น​ไม่​นาน ดู​เหมือน​จักรพรรดิ​เนโร​สั่ง​ประหาร​ชีวิต​ท่าน.

นั่น​คือ​ภูมิหลัง​ของ​ติโมเธียว​ฉบับ​สอง. อย่าง​ไร​ก็​ตาม เป็น​ที่​น่า​สังเกต​ว่า​เปาโล​ไม่​ได้​เขียน​ไป​ถึง​ติโมเธียว​เพื่อ​พร่ำ​บ่น​เกี่ยว​กับ​ความ​ลำบาก​ของ​ตัว​เอง. แทน​ที่​จะ​ทำ​เช่น​นั้น ท่าน​เตือน​ติโมเธียว​ล่วง​หน้า​ถึง​สมัย​ที่​ยุ่งยาก และ​สนับสนุน​สหาย​ของ​ท่าน​ให้​หลีก​เว้น​จาก​สิ่ง​ที่​ทำ​ให้​เขว, ให้ “รับ​เอา​พลัง” ต่อ ๆ ไป, และ​ถ่ายทอด​คำ​แนะ​นำ​ที่​ได้​จาก​เปาโล​ให้​แก่​คน​อื่น ๆ. ผล​คือ คน​เหล่า​นี้​จะ​มี​คุณวุฒิ​พอ​จะ​ช่วย​คน​อื่น​ได้​ต่อ​ไป. (2 ติโมเธียว 2:1-7, ล.ม.) ช่าง​เป็น​ตัว​อย่าง​อัน​ดี​เลิศ​จริง ๆ ใน​เรื่อง​ความ​ห่วงใย​ที่​มี​ต่อ​ผู้​อื่น​อย่าง​ไม่​เห็น​แก่​ตัว​แม้​แต่​ใน​ยาม​ยาก​ลำบาก! และ​ช่าง​เป็น​คำ​แนะ​นำ​ที่​ดี​เยี่ยม​จริง ๆ สำหรับ​เรา​ใน​ทุก​วัน​นี้!

เปาโล​เรียก​ติโมเธียว​ว่า “บุตร​ที่​รัก.” (2 ติโมเธียว 1:2) ชาย​หนุ่ม​คน​นี้​ถูก​เอ่ย​ถึง​บ่อย ๆ ใน​พระ​คัมภีร์​คริสเตียน​ภาค​ภาษา​กรีก​ใน​ฐานะ​เพื่อน​ร่วม​งาน​ที่​ซื่อ​สัตย์​ภักดี​ของ​เปาโล. (กิจการ 16:1-5; โรม 16:21; 1 โกรินโธ 4:17) ตอน​ที่​เปาโล​เขียน​จดหมาย​ฉบับ​นี้​ไป​หา​ท่าน ดู​เหมือน​ว่า​ติโมเธียว​อยู่​ใน​ช่วง​วัย 30 กว่า​ปี ซึ่ง​ยัง​ถือ​ได้​ว่า​เป็น​คน​หนุ่ม. (1 ติโมเธียว 4:12) ถึง​กระนั้น ติโมเธียว​มี​ประวัติ​ที่​ดี​เยี่ยม​อยู่​แล้ว​ใน​เรื่อง​ความ​ซื่อ​สัตย์​ภักดี ท่าน ‘ได้​ปรนนิบัติ​ด้วย​กัน​กับ​เปาโล’ เป็น​เวลา​ประมาณ 14 ปี. (ฟิลิปปอย 2:19-22) แม้​ว่า​ติโมเธียว​อยู่​ใน​วัย​ค่อนข้าง​หนุ่ม เปาโล​ได้​มอบหมาย​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​แก่​ท่าน​ให้​แนะ​นำ​ผู้​ปกครอง​คน​อื่น ๆ “ไม่​ให้ . . . เถียง​กัน​ใน​เรื่อง​ถ้อย​คำ” แต่​ให้​จดจ่อ​อยู่​กับ​เรื่อง​ที่​สำคัญ เช่น ความ​เชื่อ​และ​ความ​เพียร​อด​ทน. (2 ติโมเธียว 2:14) ติโมเธียว​ยัง​ได้​รับ​อำนาจ​ที่​จะ​จัด​การ​แต่ง​ตั้ง​ผู้​ปกครอง​และ​ผู้​ช่วย​งาน​รับใช้​ใน​ประชาคม​ต่าง ๆ. (1 ติโมเธียว 5:22) อย่าง​ไร​ก็​ตาม ท่าน​อาจ​ขาด​ความ​มั่น​ใจ​ใน​ตัว​เอง​อยู่​บ้าง​ใน​เรื่อง​การ​ใช้​อำนาจ​ของ​ท่าน.—2 ติโมเธียว 1:6, 7.

ผู้​ปกครอง​หนุ่ม​คน​นี้​เผชิญ​ข้อ​ท้าทาย​ที่​ยากเย็น​บาง​อย่าง. อย่าง​หนึ่ง​ก็​คือ ฮุเมนาย​กับ​ฟิเลโต​กำลัง “ทำลาย​ความ​เชื่อ​ของ​บาง​คน” โดย​สอน​ว่า “การ​ซึ่ง​จะ​เป็น​ขึ้น​มา​จาก​ตาย​นั้น​ผ่าน​พ้น​มา​แล้ว.” (2 ติโมเธียว 2:17, 18) ดู​เหมือน​สอง​คน​นี้​เชื่อ​ว่า​มี​เฉพาะ​การ​เป็น​ขึ้น​จาก​ตาย​ทาง​ฝ่าย​วิญญาณ​เท่า​นั้น และ​เชื่อ​ว่า​สิ่ง​นี้​ได้​เกิด​ขึ้น​ไป​แล้ว​สำหรับ​คริสเตียน. เป็น​ไป​ได้​ว่า​พวก​เขา​ไม่​ได้​คำนึง​ถึง​บริบท​เมื่อ​ยก​คำ​กล่าว​ของ​เปาโล​ขึ้น​มา​อ้าง​ที่​ว่า​คริสเตียน​ได้​ตาย​แล้ว​ใน​การ​บาป​แต่​ถูก​ทำ​ให้​มี​ชีวิต​โดย​ทาง​พระ​วิญญาณ​ของ​พระเจ้า. (เอเฟโซ 2:1-6) เปาโล​เตือน​ว่า​อิทธิพล​ของ​การ​ออก​หาก​เช่น​นั้น​จะ​มี​มาก​ขึ้น. ท่าน​เขียน​ว่า “จะ​มี​ช่วง​เวลา​หนึ่ง​ที่​เขา​จะ​ไม่​ยอม​รับ​ฟัง​คำ​สอน​ที่​ก่อ​ประโยชน์ . . . และ​เขา​จะ​บ่าย​หู​จาก​ความ​จริง แต่​แล้ว​เขา​จะ​หัน​ไป​ยัง​เรื่อง​เท็จ.” (2 ติโมเธียว 4:3, 4, ล.ม.) คำ​เตือน​ล่วง​หน้า​ของ​เปาโล​แสดง​ว่า​เป็น​เรื่อง​เร่ง​ด่วน​สำหรับ​ติโมเธียว​ที่​จะ​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​คำ​แนะ​นำ​ของ​ท่าน​อัครสาวก.

คุณค่า​ของ​พระ​ธรรม​เล่ม​นี้​ใน​ปัจจุบัน

จาก​ที่​ได้​กล่าว​มา​แล้ว เรา​เห็น​ว่า​เปาโล​เขียน​พระ​ธรรม​ติโมเธียว​ฉบับ​สอง​ด้วย​เหตุ​ผล​อย่าง​น้อย​ที่​สุด​ดัง​ต่อ​ไป​นี้: (1) ท่าน​รู้​ว่า​ตัว​เอง​จะ​มี​ชีวิต​อยู่​ได้​อีก​ไม่​นาน และ​ท่าน​หา​ทาง​เตรียม​ติโมเธียว​ไว้​ให้​พร้อม​สำหรับ​ช่วง​เวลา​ที่​ท่าน​เอง​ไม่​สามารถ​จะ​เกื้อ​หนุน​ติโมเธียว​ได้​อีก​ต่อ​ไป. (2) ท่าน​ใคร่​จะ​เตรียม​ติโมเธียว​ไว้​สำหรับ​การ​ปก​ป้อง​ประชาคม​ต่าง ๆ ที่​อยู่​ภาย​ใต้​การ​ดู​แล เพื่อ​ให้​พ้น​จาก​การ​ออก​หาก​และ​อิทธิพล​ที่​เป็น​อันตราย​อื่น ๆ. (3) ท่าน​ต้องการ​จะ​สนับสนุน​ติโมเธียว​ให้​หมกมุ่น​อยู่​กับ​งาน​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​และ​อาศัย​ความ​รู้​ถ่องแท้​จาก​พระ​คัมภีร์​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​เพื่อ​ต่อ​ต้าน​คำ​สอน​ที่​ผิด ๆ.

การ​เข้าใจ​ภูมิหลัง​ดัง​กล่าว​ทำ​ให้​ติโมเธียว​ฉบับ​สอง​มี​ความหมาย​ยิ่ง​ขึ้น​สำหรับ​เรา. ใน​ปัจจุบัน มี​ผู้​ออก​หาก​ที่​เป็น​เหมือน​ฮุเมนาย​กับ​ฟิเลโต ซึ่ง​ส่ง​เสริม​ความ​คิด​ของ​ตน​เอง​และ​ต้องการ​จะ​บ่อน​ทำลาย​ความ​เชื่อ​ของ​เรา​เช่น​กัน. ยิ่ง​กว่า​นั้น บัด​นี้​เป็น “วิกฤตกาล​ซึ่ง​ยาก​ที่​จะ​รับมือ​ได้” ดัง​ที่​เปาโล​บอก​ไว้​ล่วง​หน้า. หลาย​คน​ประสบ​ความ​เป็น​จริง​ของ​คำ​เตือน​ของ​เปาโล​ที่​ว่า “ทุก​คน​ที่​ปรารถนา​จะ​ดำเนิน​ชีวิต​ด้วย​ความ​เลื่อมใส​ใน​พระเจ้า​ร่วม​กับ​พระ​คริสต์​เยซู​ก็​จะ​ถูก​ข่มเหง​ด้วย.” (2 ติโมเธียว 3:1, 12, ล.ม.) เรา​จะ​ยืนหยัด​มั่นคง​ได้​อย่าง​ไร? เช่น​เดียว​กับ​ติโมเธียว เรา​จำเป็น​ต้อง​เอา​ใจ​ใส่​คำ​แนะ​นำ​ของ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​ได้​รับใช้​พระ​ยะโฮวา​มา​นาน​หลาย​ปี. และ​โดย​การ​ศึกษา​ส่วน​ตัว, การ​อธิษฐาน, และ​คบหา​สมาคม​แบบ​คริสเตียน เรา​สามารถ “รับ​เอา​พลัง​ต่อ ๆ ไป” โดย​พระ​กรุณาคุณ​อัน​ไม่​พึง​ได้​รับ​ของ​พระ​ยะโฮวา. นอก​จาก​นี้ ด้วย​ความ​มั่น​ใจ​ใน​พลัง​ของ​ความ​รู้​ถ่องแท้ เรา​สามารถ​เอา​ใจ​ใส่​คำ​กระตุ้น​เตือน​ของ​เปาโล​ที่​ว่า “จง​ยึด​ถือ​แบบ​แผน​แห่ง​ถ้อย​คำ​ที่​ก่อ​ประโยชน์.”—2 ติโมเธียว 1:13, ล.ม.

“แบบ​แผน​แห่ง​ถ้อย​คำ​ที่​ก่อ​ประโยชน์”

อะไร​คือ “ถ้อย​คำ​ที่​ก่อ​ประโยชน์” ที่​เปาโล​กล่าว​ถึง? ท่าน​ใช้​สำนวน​นี้​เพื่อ​พาด​พิง​ถึง​หลัก​คำ​สอน​ที่​ถูก​ต้อง​ฝ่าย​คริสเตียน. ใน​จดหมาย​ที่​เขียน​ไป​ถึง​ติโมเธียว​ฉบับ​แรก เปาโล​อธิบาย​ว่า “ถ้อย​คำ​ที่​ก่อ​ประโยชน์” โดย​พื้น​ฐาน​แล้ว คือ “ถ้อย​คำ​ของ​พระ​เยซู​คริสต์​เจ้า​ของ​เรา.” (1 ติโมเธียว 6:3, ล.ม.) คน​ที่​ติด​ตาม​แบบ​แผน​แห่ง​ถ้อย​คำ​ที่​ก่อ​ประโยชน์​จะ​มี​สุขภาพ​จิต​ดี มี​แนว​โน้ม​จะ​แสดง​ความ​รัก​และ​การ​คำนึง​ถึง​ผู้​อื่น. เนื่อง​จาก​งาน​รับใช้​และ​คำ​สอน​ของ​พระ​เยซู​ลง​รอย​กับ​คำ​สอน​อื่น ๆ ที่​พบ​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​ตลอด​ทั้ง​เล่ม สำนวน​ที่​ว่า “ถ้อย​คำ​ที่​ก่อ​ประโยชน์” จึง​กิน​ความ​ไป​ถึง​คำ​สอน​ทุก​อย่าง​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล.

สำหรับ​ติโมเธียว และ​เช่น​กัน​กับ​คริสเตียน​ผู้​ปกครอง​ทุก​คน แบบ​แผน​แห่ง​ถ้อย​คำ​ที่​ก่อ​ประโยชน์​เป็น “สิ่ง​ดี​ที่​ฝาก​ไว้” ซึ่ง​พวก​เขา​จะ​ต้อง​ดู​แล​รักษา. (2 ติโมเธียว 1:13, 14, ล.ม.) ติโมเธียว​ต้อง ‘ประกาศ​พระ​คำ ทำ​อย่าง​รีบ​ด่วน ทั้ง​ใน​ยาม​เอื้ออำนวย​และ​ยาม​ยาก​ลำบาก ว่า​กล่าว, ตำหนิ, กระตุ้น​เตือน, ด้วย​ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​ทุก​อย่าง และ​ด้วย​ศิลปะ​แห่ง​การ​สอน.’ (2 ติโมเธียว 4:2, ล.ม.) เมื่อ​เรา​ตระหนัก​ว่า​คำ​สอน​ของ​พวก​ออก​หาก​กำลัง​แพร่​ไป​ใน​สมัย​ของ​ติโมเธียว เรา​จึง​เข้าใจ​ได้​ว่า​ทำไม​เปาโล​จึง​เน้น​ถึง​ความ​เร่ง​ด่วน​ของ​การ​สอน​ถ้อย​คำ​ที่​ก่อ​ประโยชน์. และ​เรา​ยัง​เข้าใจ​ด้วย​ว่า​ติโมเธียว​คง​จะ​ต้อง​ปก​ป้อง​ฝูง​แกะ​โดย​การ “ว่า​กล่าว, ตำหนิ, กระตุ้น​เตือน” ด้วย​ความ​อด​กลั้น​ไว้​นาน​และ​ความ​สามารถ​ใน​การ​สอน.

ติโมเธียว​ต้อง​ประกาศ​พระ​คำ​แก่​ใคร? บริบท​ชี้​ว่า​ใน​ฐานะ​ผู้​ปกครอง ติโมเธียว​จะ​ประกาศ​พระ​คำ​ภาย​ใน​ประชาคม​คริสเตียน. เมื่อ​คำนึง​ถึง​ความ​กดดัน​จาก​ผู้​ต่อ​ต้าน ติโมเธียว​ต้อง​รักษา​ความ​สมดุล​ฝ่าย​วิญญาณ​และ​กล้า​ที่​จะ​ประกาศ​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า ไม่​ใช่​ปรัชญา​ของ​มนุษย์, ความ​คิด​ส่วน​ตัว, หรือ​การ​คาด​เดา​ที่​ไม่​เกิด​ประโยชน์. จริง​อยู่ การ​ทำ​อย่าง​นี้​อาจ​ก่อ​ให้​เกิด​การ​ต่อ​ต้าน​จาก​บาง​คน​ที่​อาจ​มี​ความ​โน้ม​เอียง​ผิด ๆ. (2 ติโมเธียว 1:6-8; 2:1-3, 23-26; 3:14, 15) อย่าง​ไร​ก็​ตาม โดย​การ​ติด​ตาม​คำ​แนะ​นำ​ของ​เปาโล ติโมเธียว​จะ​เป็น​ผู้​ขัด​ขวาง​การ​ออก​หาก​ต่อ ๆ ไป เหมือน​อย่าง​ที่​เปาโล​ได้​ทำ​มา​แล้ว.—กิจการ 20:25-32.

ถ้อย​คำ​ของ​เปาโล​ที่​ให้​ประกาศ​พระ​คำ​ใช้​ได้​กับ​การ​ประกาศ​ภาย​นอก​ประชาคม​ด้วย​ไหม? ใช่​แล้ว ดัง​ที่​บริบท​ได้​แสดง​ให้​เห็น. เปาโล​กล่าว​ต่อ​ไป​ว่า “ฝ่าย​ท่าน​จง​รักษา​สติ​ใน​ทุก​สิ่ง จง​ทน​รับ​การ​ร้าย จง​ทำ​งาน​ของ​ผู้​เผยแพร่​กิตติคุณ จง​ทำ​ให้​งาน​รับใช้​ของ​ท่าน​สำเร็จ​ครบ​ถ้วน.” (2 ติโมเธียว 4:5, ล.ม.) การ​เผยแพร่​กิตติคุณ ซึ่ง​เป็น​การ​ประกาศ​ข่าว​ดี​เกี่ยว​กับ​ความ​รอด​แก่​ผู้​ไม่​มี​ความ​เชื่อ​นั้น เป็น​ส่วน​สำคัญ​ยิ่ง​ของ​งาน​รับใช้​ฝ่าย​คริสเตียน. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) และ​เช่น​เดียว​กับ​ที่​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ได้​รับ​การ​ประกาศ​ใน​ประชาคม​แม้​ใน “ยาม​ยาก​ลำบาก” เรา​ก็​ต้อง​ยืนหยัด​ใน​การ​ประกาศ​พระ​คำ​แก่​คน​นอก​ประชาคม​แม้​ใน​สภาพการณ์​ที่​ยาก​ลำบาก​เช่น​กัน.—1 เธซะโลนิเก 1:6.

การ​ประกาศ​และ​การ​สอน​ของ​เรา​ทั้ง​สิ้น​อาศัย​พระ​คำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​เป็น​พื้น​ฐาน. เรา​มี​ความ​มั่น​ใจ​อย่าง​เต็ม​ที่​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล. เปาโล​บอก​ติโมเธียว​ดัง​นี้: “พระ​คัมภีร์​ทุก​ตอน​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​และ​เป็น​ประโยชน์​เพื่อ​การ​สั่ง​สอน, เพื่อ​การ​ว่า​กล่าว, เพื่อ​จัด​การ​เรื่อง​ราว​ให้​เรียบร้อย, เพื่อ​ตี​สอน​ด้วย​ความ​ชอบธรรม.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) ข้อ​ความ​นี้​ถูก​นำ​ขึ้น​มา​กล่าว​บ่อย​ครั้ง​อย่าง​ถูก​ต้อง​เหมาะ​สม เพื่อ​แสดง​ว่า​คัมภีร์​ไบเบิล​เป็น​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ. แต่​อะไร​คือ​จุด​ประสงค์​ที่​เปาโล​เขียน​ข้อ​ความ​นี้?

เปาโล​กำลัง​พูด​กับ​ผู้​ปกครอง​คน​หนึ่ง ผู้​ซึ่ง​มี​หน้า​ที่​รับผิดชอบ​ที่​จะ ‘ว่า​กล่าว, จัด​การ​เรื่อง​ราว​ให้​เรียบร้อย, ตี​สอน​ด้วย​ความ​ชอบธรรม’ ภาย​ใน​ประชาคม. ด้วย​เหตุ​นั้น ท่าน​เตือน​ติโมเธียว​ให้​วางใจ​ใน​สติ​ปัญญา​แห่ง​พระ​คำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ ซึ่ง​ติโมเธียว​ได้​รับ​การ​สอน​มา​ตั้ง​แต่​เป็น​ทารก. เช่น​เดียว​กับ​ติโมเธียว ผู้​ปกครอง​ทั้ง​หลาย​ต้อง​ว่า​กล่าว​ผู้​กระทำ​ผิด​เป็น​ครั้ง​คราว. เมื่อ​ทำ​เช่น​นั้น พวก​เขา​ก็​ควร​มั่น​ใจ​เสมอ​ที่​จะ​ใช้​คัมภีร์​ไบเบิล. นอก​จาก​นี้ เนื่อง​จาก​พระ​คัมภีร์​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า การ​ว่า​กล่าว​ทุก​อย่าง​ที่​อาศัย​พระ​คัมภีร์​โดย​แท้​แล้ว​เป็น​การ​ว่า​กล่าว​ที่​มา​จาก​พระเจ้า. ใคร​ก็​ตาม​ที่​ปฏิเสธ​การ​ว่า​กล่าว​ที่​อาศัย​พระ​คัมภีร์​ไม่​ได้​ปฏิเสธ​ข้อ​ชี้​แนะ​ของ​มนุษย์ แต่​ว่า​กำลัง​ปฏิเสธ​คำ​แนะ​นำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ที่​มา​จาก​พระ​ยะโฮวา.

พระ​ธรรม​ติโมเธียว​ฉบับ​สอง​ช่าง​เต็ม​ไป​ด้วย​สติ​ปัญญา​ที่​มา​จาก​พระเจ้า! และ​การ​ที่​เรา​พิจารณา​คำ​แนะ​นำ​ใน​พระ​ธรรม​นี้​โดย​คำนึง​ถึง​บริบท​ทำ​ให้​พระ​ธรรม​นี้​มี​ความหมาย​มาก​ขึ้น​สัก​เพียง​ไร! ใน​บทความ​นี้ เรา​ได้​พิจารณา​เนื้อหา​อัน​ยอด​เยี่ยม​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​ใน​พระ​ธรรม​เล่ม​นี้​เพียง​คร่าว ๆ แต่​ก็​เพียง​พอ​ที่​จะ​แสดง​ให้​เห็น​ว่า การ​พิจารณา​บริบท​ของ​สิ่ง​ที่​เรา​อ่าน​ใน​คัมภีร์​ไบเบิล​นั้น​เป็น​ประโยชน์​สัก​เพียง​ไร. การ​ทำ​อย่าง​นั้น​ช่วย​ให้​แน่​ใจ​ว่า​เรา​กำลัง “ใช้​คำ​แห่ง​ความ​จริง​อย่าง​ถูก​ต้อง” จริง ๆ.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 7 สำหรับ​ข้อมูล​เพิ่ม​เติม โปรด​ดู​หนังสือ “พระ​คัมภีร์​ทุก​ตอน​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ​จาก​พระเจ้า​และ​เป็น​ประโยชน์” หน้า 296-298 จัด​พิมพ์​โดย​พยาน​พระ​ยะโฮวา.

[ภาพ​หน้า 27]

เปาโล​ใคร่​จะ​เตรียม​ติโมเธียว​ไว้​เพื่อ​ปก​ป้อง​ประชาคม​ต่าง ๆ

[ภาพ​หน้า 30]

เปาโล​เตือน​ติโมเธียว​ให้​วางใจ​ใน​สติ​ปัญญา​แห่ง​พระ​คำ​ที่​มี​ขึ้น​โดย​การ​ดล​ใจ