‘คนดีจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า’
‘คนดีจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า’
บ่อเกิดแห่งชีวิตทั้งสิ้นอยู่กับพระยะโฮวาพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 36:9) ใช่แล้ว “โดยพระองค์ เรามีชีวิตและเคลื่อนไหวและเป็นอยู่.” (กิจการ 17:28, ล.ม.) และหัวใจของเราจะไม่เปี่ยมล้นด้วยความรู้สึกขอบคุณหรอกหรือเมื่อเราพิจารณารางวัลซึ่งพระองค์ได้ประทานแก่คนเหล่านั้นที่มีสัมพันธภาพแนบแน่นกับพระองค์? ทั้งนี้เพราะ “ของประทานที่พระเจ้าทรงโปรดให้นั้นคือชีวิตนิรันดร.” (โรม 6:23, ล.ม.) สำคัญเพียงไรที่เราพึงแสวงความโปรดปรานของพระยะโฮวา!
ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญให้คำรับรองแก่เราว่า “พระยะโฮวาจะทรงประทานพระคุณ [“ความโปรดปราน,” ล.ม.].” (บทเพลงสรรเสริญ 84:11) แต่ทรงประทานแก่ผู้ใด? ผู้คนสมัยนี้มักแสดงความชอบพอหรือถูกอัธยาศัยกันบนพื้นฐานของการศึกษา, ฐานะร่ำรวย, สีผิว, ภูมิหลังด้านชาติพันธุ์, และอะไร ๆ ทำนองนั้น. คนจำพวกไหนล่ะที่รับความโปรดปรานของพระเจ้า? กษัตริย์ซะโลโมแห่งชาติอิสราเอลโบราณตอบดังนี้: “คนดีจะได้ความโปรดปรานจากพระยะโฮวา: แต่คนที่คิดทำการชั่วร้ายพระองค์จะทรงลงโทษ.”—สุภาษิต 12:2.
เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาทรงโปรดปรานคนดี คนมีคุณธรรม. คุณงามความดีของคนดีนับรวมเอาคุณลักษณะอื่น ๆ เข้าไว้ด้วย เช่น การใช้วินัยควบคุมตัวเอง, ไม่ลำเอียง, ถ่อมตน, เมตตาสงสาร, และรอบคอบ. ความคิดของเขาชอบธรรม, วาจาของเขาชูใจ, การกระทำของเขาเที่ยงธรรมและเป็นคุณประโยชน์. ส่วนต้นของพระธรรมสุภาษิตบท 12 เผยให้เห็นว่าความดีควรเป็นพลังนำชีวิตของเราแต่ละวันอย่างไร และชี้ถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการแสดงคุณลักษณะนี้. การพิจารณาถ้อยคำที่กล่าวไว้ในที่นั่นจะช่วยเราให้ ‘เข้าใจลึกซึ้งเพื่อกระทำความดี.’ (บทเพลงสรรเสริญ 36:3, ฉบับแปลใหม่) การปฏิบัติตามคำแนะนำอันสุขุมของข้อคัมภีร์ดังกล่าวจะช่วยเราได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า.
การตีสอนเป็นสิ่งสำคัญ
ซะโลโมตรัสว่า “ผู้รักการตีสอนคือผู้รักความรู้ แต่ผู้ชังการว่ากล่าวเป็นคนไร้เหตุผล.” (สุภาษิต 12:1, ล.ม.) ด้วยความกระตือรือร้นอยากปรับปรุงแก้ไขตัวเอง คนดีจึงกระหายที่จะรับเอาการตีสอน. เขาว่องไวที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับ ณ การประชุมคริสเตียน หรือเมื่อได้สนทนากันเป็นส่วนตัว. ถ้อยคำในข้อคัมภีร์และสรรพหนังสือที่ยึดหลักคัมภีร์ไบเบิลเป็นประหนึ่งประตักที่คอยกระทุ้งเขาให้เดินในทางที่ถูกต้อง. เขาแสวงความรู้และใช้ความรู้เพื่อจัดทางเดินของตนให้ตรง. ใช่แล้ว คนรักการตีสอนย่อมรักความรู้ด้วย.
การตีสอนจำเป็นเพียงใดสำหรับผู้นมัสการแท้—โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีสอนตัวเอง! เราอาจปรารถนาอยากจะมีความรู้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้า. เราอาจอยากเป็นผู้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนและเป็นผู้สอนที่ดีขึ้นในด้านพระคำของพระเจ้า. (มัดธาย 24:14; 28:19, 20) แต่จำเป็นต้องใช้วินัยกับตัวเองเพื่อจะทำได้จริงตามที่ปรารถนา. การใช้วินัยกับตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกันในขอบเขตอื่นของชีวิต. ยกตัวอย่าง การออกแบบวัตถุสิ่งของเพื่อเร้าความปรารถนาอย่างผิดทำนองคลองธรรมมีดาษดื่นในเวลานี้. ทั้งนี้จำเป็นต้องมีวินัยกับตัวเองมิใช่หรือเพื่อบังคับสายตาไม่ให้เพ่งมองสิ่งที่ไม่เหมาะสม? ยิ่งกว่านั้น เนื่องจาก “ความเอนเอียงแห่งหัวใจของมนุษย์นั้นชั่วตั้งแต่เด็กมา” ความคิดในทางผิดศีลธรรมอาจก่อตัวขึ้นจริงจากส่วนลึกของจิตใจ. (เยเนซิศ 8:21, ล.ม.) การใช้วินัยกับตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะไม่หมกมุ่นครุ่นคิดแต่เรื่องนั้น.
ในทางกลับกัน คนที่เกลียดการว่ากล่าวตักเตือนจะไม่รักการตีสอนหรือความรู้. โดยยอมแพ้ต่อความโน้มเอียงไปในทางผิดของมนุษย์ที่จะไม่พอใจการว่ากล่าวตักเตือน เขาลดระดับตัวเองประหนึ่งเดรัจฉานซึ่งไม่รู้จักเหตุผล, ไร้ซึ่งค่านิยมด้านศีลธรรม. เราต้องมุ่งมั่นต้านทานความโน้มเอียงนี้.
“รากซึ่งรื้อถอนไม่ได้”
แน่นอน คนดีไม่อาจจะประพฤติการอธรรม. ดังนั้น ความชอบธรรมย่อมเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกันเพื่อจะได้รับความโปรดปรานจากพระยะโฮวา. กษัตริย์ดาวิดร้องเพลงดังนี้: “พระองค์จะทรงอวยพระพรแก่ผู้ชอบธรรม; ข้าแต่พระยะโฮวา, พระองค์จะทรงคุ้มครองรักษาเขาไว้ด้วยพระกรุณา [“ความโปรดปราน,” ล.ม.] เหมือนดังโล่ใหญ่.” (บทเพลงสรรเสริญ 5:12) เมื่อเทียบเคียงความแตกต่างระหว่างคนชอบธรรมกับคนชั่ว ซะโลโมกล่าวดังนี้: “คนจะตั้งมั่นคงอยู่ได้ด้วยความชั่วร้ายก็หามิได้; แต่รากแห่งผู้ชอบธรรมจะไม่ถูกรื้อถอน.”—สุภาษิต 12:3.
คนชั่วอาจดูเหมือนจำเริญรุ่งเรือง. จงพิจารณาประสบการณ์ของอาซาฟผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญ. ท่านพูดว่า “ฝ่ายข้าพเจ้าเล่า, เท้าของข้าพเจ้าแทบหลุดแล้ว; ย่างเท้าของข้าพเจ้าแทบจะพลาดพลั้งลงไปแล้ว.” เพราะอะไร? อาซาฟตอบดังนี้: “ข้าพเจ้าได้ริษยาคนอหังการในเมื่อข้าพเจ้าเห็นความจำเริญของเขา.” (บทเพลงสรรเสริญ 73:2, 3) แต่ขณะที่ท่านเดินเข้าไปยังพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ท่านได้ตระหนักว่าพระยะโฮวาทรงให้เขายืนในที่ลื่น. (บทเพลงสรรเสริญ 73:17, 18) ความสำเร็จใด ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าคนชั่วอาจบรรลุได้ก็เป็นแต่เพียงชั่วคราว. เราจะอิจฉาคนเหล่านั้นไปทำไม?
ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่พระยะโฮวาทรงโปรดปรานนั้นตั้งมั่นคง. โดยการยกเอารากที่แข็งแรงของต้นไม้ขึ้นมาเปรียบเทียบ ซะโลโมกล่าวว่า “คนดีมีรากซึ่งรื้อถอนไม่ได้.” (สุภาษิต 12:3, เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล) รากที่มองไม่เห็นของต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นซีควอยาแถบแคลิฟอร์เนีย อาจครอบคลุมพื้นที่เป็นสิบไร่ และเปรียบดุจสมอที่ยึดต้นไว้มั่นแม้จะมีน้ำท่วมหรือลมแรง. ต้นซีควอยาสูงตระหง่านสามารถต้านทานแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้ด้วยซ้ำ.
เฉกเช่นรากดังกล่าวที่ซอกซอนในดินอันอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน ความคิดจิตใจและหัวใจของเราจำต้องชอนไชเข้าไปในพระคำของพระเจ้าและดูดซับน้ำที่ให้ชีวิตจากพระคำนั้น. ความเชื่อของเราจึงจะมีรากยึดแน่นและแข็งแรง ความหวังของเราก็แน่นอนและมั่นคง. (เฮ็บราย 6:19) เราจะไม่ “ถูกพาไปทางโน้นบ้างทางนี้บ้างโดยลมแห่งคำสอน [เท็จ] ทุกอย่าง.” (เอเฟโซ 4:14, ล.ม.) แน่นอน เราจะรู้สึกถึงผลกระทบของความยากลำบากที่ซัดกระหน่ำ และอาจกลัวจนตัวสั่นด้วยซ้ำเมื่อเผชิญปรปักษ์. แต่ ‘รากที่มั่นคงของเราจะไม่ถูกรื้อถอน.’
“ภรรยาดีเป็นมงกุฎของสามีตน”
หลายคนรู้จักคำกล่าวที่ว่า “ผู้ชายทุกคนที่ประสบความสำเร็จมีภรรยาที่ดีอยู่เบื้องหลัง.” เพื่อเน้นความสำคัญของผู้หญิงที่ให้การเกื้อหนุน ซะโลโมกล่าวดังนี้: “ภรรยาดี [“มีความสามารถ,” ล.ม.] เป็นมงกุฎของสามีตน แต่นางผู้ที่นำความอับอายมาก็เหมือนความเน่าเปื่อยในกระดูกสามี.” (สุภาษิต 12:4, ฉบับแปลใหม่) วลีที่ว่า “มีความสามารถ” รวมเอาหลายแง่เกี่ยวกับความดีเข้าไว้ด้วยกัน. คุณงามความดีของภรรยาที่ดีดังพรรณนารายละเอียดในสุภาษิตบทบท 31 รวมไปถึงความขยันหมั่นเพียร, ความซื่อสัตย์, และสติปัญญา. สตรีใดมีคุณสมบัติเหล่านี้ย่อมเป็นมงกุฎแก่สามีของนาง เพราะความประพฤติอันดีของนางนำเกียรติยศมาสู่สามีและเสริมสามีให้ได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น. นางไม่เคยทะเยอทะยานอยากล้ำหน้าหรือชิงดีชิงเด่นกับสามีเพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับ. แทนการทำเช่นนั้น นางเป็นผู้ช่วย เป็นคู่เคียงของสามี.
สตรีอาจประพฤติตนเช่นไรซึ่งน่าอับอายขายหน้า และมีผลอะไรตามมา? การประพฤติที่น่าอายนี้อาจมีตั้งแต่น้ำใจชอบโต้เถียงกระทั่งการเล่นชู้. (สุภาษิต 7:10-23; 19:13) การที่ภรรยาประพฤติตนเช่นนั้นมีแต่จะก่อความเสียหายแก่สามีของตน. ข้ออ้างอิงจากแหล่งหนึ่งกล่าวว่า นางเป็นเหมือน “ความเน่าเปื่อยในกระดูกสามี” ในแง่ที่ว่า “นางทำลายเขา เหมือนโรคที่ทำให้โครงกระดูกสึกกร่อน.” และ จากอีกแหล่งหนึ่งก็ว่า “คำกล่าวนี้ในปัจจุบันอาจเทียบได้กับ ‘มะเร็ง’ อันเป็นโรคร้ายที่บั่นทอนกำลังเรี่ยวแรงของผู้ป่วย.” หวังว่าภรรยาคริสเตียนทั้งหลายจะเพียรพยายามให้ได้มาซึ่งความโปรดปรานจากพระเจ้าโดยสะท้อนคุณงามความดีประการต่าง ๆ เยี่ยงภรรยาที่มีความสามารถ.
จากความคิดสู่การกระทำจากการกระทำสู่ผลที่ตามมา
ความคิดนำไปสู่การกระทำ และการกระทำก่อให้เกิดผลตามมา. ต่อจากนั้น ซะโลโมเสนอลำดับความคิดสู่การกระทำ โดยเปรียบเทียบคนชอบธรรมกับคนชั่ว. ท่านแถลงดังนี้: “ความคิดทั้งหลายของคนชอบธรรมนั้นเที่ยงตรง; แต่การให้คำหารือของคนชั่วร้ายนั้นเป็นการลวง. ถ้อยคำของคนชั่วเป็นการซุ่มทำร้ายให้โลหิตตก; แต่ปากของคนตรงจะเป็นที่ช่วยให้รอดพ้น.”—สุภาษิต 12:5, 6.
แม้แต่ความคิดของคนดีก็ไม่เสื่อมเสียด้านศีลธรรม และมุ่งไปในทางไม่เอนเอียงและยุติธรรม. เนื่องจากผู้ชอบธรรมได้รับแรงกระตุ้นจากความรักที่มีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ เจตนาของเขาล้วนแต่ดีทั้งนั้น. ในทางกลับกัน คนชั่วถูกกระตุ้นด้วยความเห็นแก่ตัว. ดังนั้น แผนการของเขา—วิธีการของเขาเพื่อจะได้มาซึ่งสิ่งต้องประสงค์—เป็นการหลอกลวง. การกระทำของเขาแฝงอันตราย. พวกเขาไม่ลังเลที่จะวางกับดักคนที่ไม่มีความผิด บางทีในกรณีพิจารณาคดีในศาล ด้วยการกล่าวหาอันเป็นเท็จ. คำพูดของเขา “เป็นการซุ่มทำร้ายให้โลหิตตก” เนื่องจากเขาประสงค์จะทำให้เหยื่อที่ปราศจากความผิดได้รับความเสียหาย. ส่วนคนตรงซึ่งรู้วิธีการอันแยบคายของคนชั่วและประกอบด้วยสติปัญญาที่จำเป็นเพื่อระวังตัว จึงสามารถหลีกเลี่ยงภยันตรายนั้นได้. พวกเขาอาจยังสามารถตักเตือนคนที่ไม่ระวังตัวและช่วยคนประเภทนั้นให้พ้นแผนการหลอกลวงของคนชั่วเสียด้วยซ้ำ.
จะเกิดอะไรขึ้นกับคนชอบธรรมและคนชั่ว? ซะโลโมตอบดังนี้: “คนชั่วร้ายคว่ำแล้วและไม่มีอีก แต่เรือนของคนชอบธรรมยังดำรงอยู่.” (สุภาษิต 12:7, ฉบับแปลใหม่) หนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งกล่าวว่า เรือนในที่นี้ “หมายถึงครัวเรือนและทุกสิ่งมีค่าสำหรับบุคคลผู้นั้น ทำให้ผู้นั้นมีทางที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างแท้จริง.” เรือนอาจพาดพิงถึงครอบครัวและบรรดาลูกหลานของคนชอบธรรมเสียด้วยซ้ำ. ในกรณีใดก็ตาม จุดสำคัญของสุภาษิตข้อนี้ชัดเจนที่ว่า คนชอบธรรมจะตั้งมั่นคงภายใต้สภาพอันยากลำบาก.
คนใจถ่อมมีชีวิตที่ดีกว่า
เพื่อเน้นคุณค่าของการสังเกตเข้าใจ กษัตริย์ชาติอิสราเอลได้แถลงว่า “คนจะได้ความสรรเสริญตามปัญญา [“เนื่องด้วยการระวังปากคำ,” ล.ม.] ของตน แต่ผู้ที่มีใจดื้อหลงผิด [“หัวใจคดโกง,” ล.ม.] จะเป็นที่เกลียดชัง.” (สุภาษิต 12:8) บุคคลที่มีความสังเกตเข้าใจย่อมไม่พูดพล่อย. เขาคิดก่อนพูดและมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น เพราะ “การระวังปากคำ” ทำให้เขาเลือกใช้ถ้อยคำอย่างรอบคอบ. เมื่อเผชิญคำถามที่ไม่เป็นเรื่องหรือเป็นการเดาสุ่ม บุคคลผู้มีความสังเกตเข้าใจสามารถ “ประหยัดคำพูดของเขา.” (สุภาษิต 17:27) คนประเภทนี้ได้รับการยกย่องและเป็นที่ชอบพระทัยพระยะโฮวา. เขาต่างไปจากคนคิดตลบตะแลงซึ่งเกิดจาก “หัวใจคดโกง”!
ใช่แล้ว บุคคลที่ระวังปากคำได้รับการยกย่อง แต่สุภาษิตข้อถัดไปสอนเราถึงคุณค่าของความอ่อนน้อมถ่อมตน ดังนี้: “ผู้ใดที่มีคนนับถือน้อยและมีบ่าวคนหนึ่งก็ยังดีกว่าผู้ที่ไว้ยศและขาดอาหาร.” (สุภาษิต 12:9) ซะโลโมดูเหมือนจะบอกว่าการเป็นคนต่ำต้อยมีทรัพย์น้อย มีคนใช้แค่คนเดียว ก็ยังดีกว่าการจ่ายทรัพย์สำหรับสิ่งจำเป็นต่อชีวิตเพื่อพยายามรักษาสถานะสูงส่งในสังคม. คำแนะนำนี้ช่างดีเสียนี่กระไรสำหรับพวกเรา นั่นคือให้การกินอยู่ของเราสมควรแก่งบประมาณ!
ชีวิตด้านเกษตรกรรมให้บทเรียนเกี่ยวกับความดี
โดยการยกเอาวิถีชีวิตเกษตรกรรมมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ ซะโลโมให้บทเรียนสอนใจสองประการในเรื่องความดี. ท่านกล่าวดังนี้: “คนชอบธรรมย่อมเห็นแก่ชีวิตแห่งสัตว์เลี้ยงของเขา; แต่ความปรานีอ่อนโยนของคนชั่วร้ายก็ยังเป็นอำมหิต.” (สุภาษิต 12:10) คนชอบธรรมเอาใจใส่ดูแลสัตว์เลี้ยงของตนด้วยความกรุณา. เขารู้ความต้องการของสัตว์และเป็นห่วงความเป็นอยู่ของฝูงสัตว์. ฝ่ายคนชั่วอาจพูดว่าเขาเองก็ห่วงสัตว์เช่นกัน แต่หาใช่เกิดจากแรงกระตุ้นในเรื่องความจำเป็นของสัตว์เหล่านั้นไม่. แรงกระตุ้นของเขาเป็นการเห็นแก่ตัว และเขาดูแลเลี้ยงสัตว์ด้วย หวังผลกำไรที่อาจจะได้จากสัตว์เหล่านั้น. สิ่งที่บุคคลดังกล่าวถือว่าเป็นการเอาใจใส่สัตว์อย่างเพียงพอ จริง ๆ แล้วอาจเป็นการปฏิบัติที่โหดร้าย.
หลักการว่าด้วยการกระทำอย่างกรุณาต่อสัตว์ยังใช้ได้กับการดูแลสัตว์เลี้ยงในบ้านเช่นกัน. คงเป็นความโหดร้ายเพียงไรหากเอาสัตว์เข้ามาเลี้ยงในบ้าน ครั้นแล้วปล่อยปละละเลยหรือปฏิบัติต่อสัตว์เหล่านั้นอย่างไม่สมควร จนสัตว์เจ็บป่วยทรมานโดยไม่จำเป็น! ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงป่วยร้ายแรงหรือบาดเจ็บสาหัส เพื่อสำแดงถึงความกรุณาอาจจำเป็นต้องจบชีวิตสัตว์นั้นเสีย.
อีกแง่หนึ่งของวิถีชีวิตด้านเกษตรกรรมซึ่งยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบก็คือการฟื้นดิน ซะโลโมกล่าวดังนี้: “บุคคลที่ฟื้นดินในเนื้อที่ของตนจะมีอาหารบริบูรณ์.” อันที่จริง การทำงานหนักด้วยมีจุดมุ่งหมายย่อมจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์. “แต่บุคคลที่ติดตามไปในสิ่งที่ไร้ประโยชน์ก็เป็นผู้ขาดความเข้าใจ [“ขาดด้านหัวใจ,” ล.ม.].” (สุภาษิต 12:11) เนื่องจากขาดดุลพินิจหรือความเข้าใจ คนที่ “ขาดด้านหัวใจ” จะติดตามสิ่งซึ่งไม่มีแก่นสาร ทำธุรกิจการค้าที่เสี่ยงเพื่อเก็งกำไรและไม่คุ้มค่า. บทเรียนที่ได้จากสุภาษิตสองข้อนี้ชัดเจนคือ จงมีใจเมตตาและขยันหมั่นเพียร.
คนชอบธรรมย่อมเจริญรุ่งเรือง
กษัตริย์ที่ฉลาดสุขุมกล่าวว่า “คนชั่วร้ายก็ปองที่จะได้เหยื่อแห่งคนชั่ว.” (สุภาษิต 12:12ก) คนชั่วร้ายทำเช่นนั้นอย่างไร? เขาทำเช่นนั้นด้วยความปรารถนาอยากได้ของที่แย่งชิงมาด้วยวิธีการชั่วร้าย.
จะว่าอย่างไรในส่วนของคนดี? คนดีเป็นผู้ที่รักการว่ากล่าวตีสอนและยึดมั่นในความเชื่อ. เขาเป็นคนชอบธรรมและเที่ยงธรรม, สุขุมและถ่อมใจ, เมตตาสงสารและขยัน. และซะโลโมแถลงว่า “แต่รากของคนชอบธรรมยังให้เกิดพืชผล” หรือ “เจริญรุ่งเรือง.” (สุภาษิต 12:12ข; ฉบับแปลนิว อินเตอร์แนชันแนล) ฉบับแปลใหม่ใช้สำนวนว่า “รากของคนชอบธรรมตั้งมั่นคงอยู่.” บุคคลดังกล่าวตั้งมั่นคงและปลอดภัย. จริงทีเดียว ‘คนดีจะได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า.’ ดังนั้น ให้เรา “ไว้วางใจพระยะโฮวาและทำการดี.”—บทเพลงสรรเสริญ 37:3, ล.ม.
[ภาพหน้า 31]
ความเชื่อของคนชอบธรรมฝังรากมั่นคงเหมือนต้นไม้ที่แข็งแรงคงทน