คุณมีความเชื่อในข่าวดีอย่างแท้จริงไหม?
คุณมีความเชื่อในข่าวดีอย่างแท้จริงไหม?
“ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาใกล้แล้ว. จงกลับใจเถิด เจ้าทั้งหลาย และมีความเชื่อในข่าวดี.”—มาระโก 1:15, ล.ม.
1, 2. คุณจะอธิบายมาระโก 1:14, 15 อย่างไร?
ขณะนั้นเป็นปี ส.ศ. 30. พระเยซูคริสต์ทรงเริ่มต้นงานรับใช้ที่มีความสำคัญยิ่งในแถบแกลิลี. พระองค์ทรงประกาศ “ข่าวดีของพระเจ้า” และชาวแกลิลีหลายคนได้รับการกระตุ้นจากถ้อยคำของพระองค์ที่ว่า “เวลากำหนดสำเร็จเป็นจริงแล้ว และราชอาณาจักรของพระเจ้ามาใกล้แล้ว. จงกลับใจเถิด เจ้าทั้งหลาย และมีความเชื่อในข่าวดี.”—มาระโก 1:14, 15, ล.ม.
2 “เวลากำหนด” มาถึงแล้วที่พระเยซูจะเริ่มงานรับใช้ของพระองค์ และที่ประชาชนจะทำการตัดสินใจอย่างที่พวกเขาจะได้รับความพอพระทัยจากพระเจ้า. (ลูกา 12:54-56) “ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาใกล้แล้ว” เพราะพระเยซูผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ในวันข้างหน้าได้อยู่ท่ามกลางพวกเขา. งานประกาศของพระองค์กระตุ้นผู้มีหัวใจสุจริตให้กลับใจ. แต่พวกเขาได้แสดงอย่างไรว่า “มีความเชื่อในข่าวดี” และเราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร?
3. ผู้คนได้ทำอะไรบ้างที่แสดงว่าพวกเขามีความเชื่อในข่าวดี?
3 เช่นเดียวกับพระเยซู อัครสาวกเปโตรกระตุ้นประชาชนให้กลับใจ. เมื่อปราศรัยกับชาวยิวที่กรุงเยรูซาเลมในวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33 เปโตรกล่าวว่า “จงกลับใจเสียใหม่และรับบัพติศมาในนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน, เพื่อความผิดบาปของท่านจะทรงยกเสีย แล้วท่านจะได้รับพระราชทานพระวิญญาณบริสุทธิ์.” หลายพันคนได้กลับใจ, รับบัพติสมา, และเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู. (กิจการ 2:38, 41; 4:4) ในปี ส.ศ. 36 ชาวต่างชาติที่กลับใจได้ลงมือปฏิบัติอย่างเดียวกัน. (กิจการ 10:1-48) ในสมัยของเรา ความเชื่อในข่าวดีกำลังกระตุ้นหลายพันคนให้กลับใจจากบาปของพวกเขา, อุทิศตัวแด่พระเจ้า, และรับบัพติสมา. พวกเขารับเอาข่าวดีในเรื่องความรอดและแสดงความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. นอกจากนี้ พวกเขากำลังดำเนินชีวิตด้วยความชอบธรรมและอยู่ฝ่ายสนับสนุนราชอาณาจักรของพระเจ้า.
4. ความเชื่อคืออะไร?
4 แต่ความเชื่อคืออะไร? อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ความเชื่อคือความคาดหมายที่แน่นอนในสิ่งซึ่งหวังไว้ เป็นการแสดงออกเด่นชัดถึงสิ่งที่เป็นจริง ถึงแม้ไม่ได้เห็นสิ่งนั้นก็ตาม.” (เฮ็บราย 11:1, ล.ม.) ความเชื่อทำให้เราแน่ใจว่าทุกสิ่งที่พระเจ้าสัญญาไว้ในพระคำของพระองค์จะเกิดขึ้นจริงราวกับว่าได้เกิดขึ้นไปแล้ว. เหมือนกับว่าเราได้รับตราสารที่แสดงหลักฐานว่าเรามีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางอย่าง. นอกจากนี้ ความเชื่อเป็น “การแสดงออกเด่นชัด” หรือหลักฐานที่พิสูจน์ว่ามีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ยังไม่เห็น. ความสามารถในการเข้าใจและหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความสำนึกบุญคุณทำให้เราเชื่อมั่นว่าสิ่งต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้เป็นจริง ถึงแม้ว่ายังไม่ได้เห็นก็ตาม.—2 โกรินโธ 5:7; เอเฟโซ 1:18.
เราจำต้องมีความเชื่อ!
5. เหตุใดความเชื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก?
5 เราเกิดมาพร้อมด้วยความต้องการฝ่ายวิญญาณ แต่ไม่เป็นอย่างนั้นกับความเชื่อ. ว่ากันตามจริงแล้ว “ที่เชื่อนั้นไม่ใช่ทุกคน.” (2 เธซะโลนิเก 3:2) อย่างไรก็ตาม คริสเตียนจำต้องมีความเชื่อเพื่อจะได้รับสิ่งที่พระเจ้าสัญญาเป็นมรดก. (เฮ็บราย 6:12) หลังจากอ้างถึงตัวอย่างความเชื่อของหลายคน เปาโลเขียนดังนี้: “เมื่อเรามีเมฆใหญ่แห่งพยานล้อมรอบเรา ให้เราปลดของหนักทุกอย่างและบาปที่เข้าติดพันเราโดยง่ายนั้น และให้เราวิ่งด้วยความเพียรอดทนในการวิ่งแข่งซึ่งอยู่ต่อหน้าเรา ขณะที่เรามองเขม้นไปที่พระเยซู ผู้นำองค์เอกและผู้ปรับปรุงความเชื่อของเราให้สมบูรณ์.” (เฮ็บราย 12:1, 2, ล.ม.) อะไรคือ “บาปที่เข้าติดพันเราโดยง่าย”? นั่นคือการขาดความเชื่อไปบ้างเป็นบางครั้ง หรือแม้แต่ไม่มีความเชื่ออย่างที่เคยมีอีกต่อไป. เพื่อจะรักษาความเชื่อให้เข้มแข็ง เราต้อง “มองเขม้นไปที่พระเยซู” และติดตามตัวอย่างของพระองค์. นอกจากนี้ เรายังต้องปฏิเสธการผิดศีลธรรม, ต่อสู้กับการของเนื้อหนัง, และหลีกเลี่ยงการนิยมวัตถุ, ปรัชญาของโลก, และธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์. (ฆะลาเตีย 5:19-21; โกโลซาย 2:8; 1 ติโมเธียว 6:9, 10; ยูดา 3, 4) ยิ่งกว่านั้น เราต้องเชื่อว่าพระเจ้าสถิตกับเราและเชื่อว่าคำแนะนำในพระคำของพระองค์ใช้การได้จริง.
6, 7. เหตุใดจึงเป็นการสมควรที่จะอธิษฐานขอความเชื่อ?
6 เราไม่สามารถก่อให้เกิดความเชื่อขึ้นในตัวเราด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นของเราเอง. ความเชื่อเป็นผลของพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพลังปฏิบัติการของพระเจ้า. (ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.) ถ้าอย่างนั้น เราจะเสริมความเชื่อให้เข้มแข็งได้โดยวิธีใด? พระเยซูตรัสว่า “ถ้าท่านเอง . . . ยังรู้จักให้ของดีแก่บุตรของตน, ยิ่งกว่านั้นสักเท่าใดพระบิดาผู้อยู่ในสวรรค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่คนทั้งปวงที่ขอจากพระองค์.” (ลูกา 11:13) ถูกแล้ว ให้เราอธิษฐานขอพระวิญญาณบริสุทธิ์ เพื่อว่าพระวิญญาณนั้นจะทำให้เรามีความเชื่อที่จำเป็นต้องมีเพื่อจะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าแม้ตกอยู่ภายใต้สภาพการณ์ที่ยากลำบากที่สุด.—เอเฟโซ 3:20.
7 เป็นการสมควรที่จะอธิษฐานขอให้มีความเชื่อมากขึ้น. ขณะที่พระเยซูกำลังจะขับผีออกจากเด็กชายคนหนึ่ง บิดาของเด็กนั้นวิงวอนดังนี้: “ข้าพเจ้ามีความเชื่อ! โปรดช่วยด้วยในส่วนที่ข้าพเจ้าขาดความเชื่อ!” (มาระโก 9:24, ล.ม.) เหล่าสาวกของพระเยซูทูลว่า “ขอพระองค์โปรดให้ความเชื่อของพวกข้าพเจ้ามากยิ่งขึ้น.” (ลูกา 17:5) ดังนั้น ขอให้เราอธิษฐานขอความเชื่อ โดยมั่นใจว่าพระเจ้าจะทรงตอบคำอธิษฐานเช่นนั้น.—1 โยฮัน 5:14.
ความเชื่อในพระคำของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญ
8. ความเชื่อในพระคำของพระเจ้าจะช่วยเราได้อย่างไร?
8 ไม่นานก่อนการวายพระชนม์ของพระองค์เป็นเครื่องบูชา พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกดังนี้: “อย่าให้หัวใจเจ้าทั้งหลายกังวลเลย. จงสำแดงความเชื่อในพระเจ้า จงสำแดงความเชื่อในเราด้วย.” (โยฮัน 14:1, ล.ม.) ในฐานะคริสเตียน เรามีความเชื่อในพระเจ้าและในพระบุตรของพระองค์. แต่สำหรับพระคำของพระเจ้าล่ะ? พระคำของพระเจ้าสามารถก่อพลังกระตุ้นในทางที่ดีแก่ชีวิตของเราถ้าเราศึกษาและนำพระคำนั้นไปใช้ด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่าพระคำนั้นบรรจุคำแนะนำและการชี้นำที่ดีที่สุดสำหรับเรา.—เฮ็บราย 4:12.
9, 10. คุณจะอธิบายอย่างไรเกี่ยวกับความเชื่อที่กล่าวไว้ในยาโกโบ 1:5-8?
9 เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์ ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความยากลำบาก. อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในพระคำของพระเจ้าช่วยเราได้จริง ๆ. (โยบ 14:1) เพื่อเป็นตัวอย่าง สมมุติว่าเราไม่รู้วิธีจัดการกับความยากลำบากบางอย่าง. พระคำของพระเจ้าให้คำแนะนำแก่เราดังนี้: “ถ้าผู้ใดในพวกท่านขาดสติปัญญา ก็ให้ผู้นั้นทูลขอพระเจ้าต่อ ๆ ไป เพราะพระองค์ทรงประทานแก่ทุกคนด้วยพระทัยเอื้ออารีและโดยมิได้ทรงติว่า แล้วจะทรงประทานให้แก่ผู้นั้น. แต่ให้ผู้นั้นทูลขอต่อ ๆ ไปด้วยความเชื่อ โดยไม่มีความสงสัยเลย เพราะผู้ที่สงสัยก็เป็นเหมือนคลื่นในทะเลที่ถูกลมพัดและซัดไปมา. ที่จริง อย่าให้คนนั้นคิดว่า จะได้รับสิ่งใดจากพระยะโฮวาเลย; เขาเป็นคนสองจิตสองใจ ไม่มั่นคงในทุกวิถีทางของตน.”—ยาโกโบ 1:5-8, ล.ม.
10 พระยะโฮวาพระเจ้าจะไม่ตำหนิเราที่ขาดสติปัญญาและได้อธิษฐานขอสิ่งนั้น. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์จะช่วยเราให้มีทัศนะที่เหมาะสมต่อความยากลำบาก. เราอาจได้ข้อคัมภีร์ที่ช่วยได้มากจากเพื่อนร่วมความเชื่อหรือขณะที่เรากำลังศึกษาพระคัมภีร์. หรือเราอาจได้การชี้นำโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาในวิธีอื่น. พระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราจะทรงโปรดให้เราได้สติปัญญาในการรับมือกับความยากลำบาก หากเรา “ทูลขอต่อ ๆ ไปด้วยความเชื่อ โดยไม่มีความสงสัยเลย.” ถ้าเราเป็นเหมือนคลื่นในทะเลที่ถูกลมพัด เราไม่อาจคาดหวังว่าจะได้รับสิ่งใดจากพระเจ้า. เพราะเหตุใด? เพราะนั่นจะแสดงว่าเราเป็นคนสองจิตสองใจ และไม่มั่นคงในการอธิษฐานหรือในเรื่องอื่น ๆ—ใช่แล้ว แม้แต่ในเรื่องความเชื่อในพระเจ้าด้วยซ้ำ. ดังนั้น เราต้องมีความเชื่อที่มั่นคงในพระคำของพระเจ้าและการชี้นำที่พบในพระคำนั้น. ขอให้เราพิจารณาบางตัวอย่างที่แสดงถึงวิธีที่เราจะได้รับความช่วยเหลือและการชี้นำจากพระคำของพระเจ้า.
ความเชื่อกับปัจจัยค้ำจุนชีพ
11. ความเชื่อในพระคำของพระเจ้าทำให้เรามั่นใจเช่นไรในเรื่องสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน?
11 จะว่าอย่างไรถ้าเรากำลังขาดแคลนสิ่งที่จำเป็นในการยังชีพหรือมีความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น? ความเชื่อในพระคำบทเพลงสรรเสริญ 72:16; ลูกา 11:2, 3) เราอาจได้กำลังใจจากการพิจารณาวิธีที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอาหารให้แก่เอลียาผู้พยากรณ์ของพระองค์ระหว่างที่มีการกันดารอาหาร. ต่อมา พระเจ้าทรงประทานแป้งและน้ำมันโดยการอัศจรรย์เพื่อค้ำจุนชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง, บุตรชายของเธอ, และเอลียา. (1 กษัตริย์ 17:2-16) พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้ผู้พยากรณ์ยิระมะยาได้รับสิ่งที่จำเป็นในลักษณะคล้าย ๆ กันระหว่างที่ชาวบาบิโลนปิดล้อมกรุงเยรูซาเลม. (ยิระมะยา 37:21) ถึงแม้ว่ายิระมะยาและเอลียามีอาหารกินไม่มาก แต่พระยะโฮวาทรงดูแลพวกเขา. พระองค์ทรงทำอย่างเดียวกันนั้นกับทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระองค์ในปัจจุบัน.—มัดธาย 6:11, 25-34.
ของพระเจ้าทำให้เรามีความคาดหมายที่แน่นอนว่าพระยะโฮวาจะดูแลให้เรามีสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน และพระองค์จะจัดเตรียมให้ทุกคนที่รักพระองค์ได้รับสิ่งดีต่าง ๆ อย่างอุดมในระบบใหม่. (12. โดยวิธีใดที่ความเชื่อจะช่วยให้เราได้รับสิ่งจำเป็นสำหรับค้ำจุนชีวิต?
12 ความเชื่อควบคู่ไปกับการใช้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลจะไม่ทำให้เรามั่งคั่งฝ่ายวัตถุ แต่จะช่วยให้เราได้รับสิ่งจำเป็นสำหรับค้ำจุนชีวิต. เพื่อเป็นตัวอย่าง คัมภีร์ไบเบิลแนะนำให้เราเป็นคนสัตย์ซื่อ, มีความสามารถ, ขยันขันแข็ง. (สุภาษิต 22:29; ท่านผู้ประกาศ 5:18, 19; 2 โกรินโธ 8:21) เราไม่ควรประเมินค่าการมีชื่อเสียงที่ดีในการทำงานต่ำไป. แม้แต่ในที่ที่งานรายได้ดีหาได้ยาก คนงานที่สัตย์ซื่อ, มีทักษะ, ขยันขันแข็ง มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าคนอื่น. ถึงแม้คนงานเช่นนั้นอาจมีสิ่งฝ่ายวัตถุไม่มาก แต่โดยทั่วไปแล้ว คนเหล่านี้จะมีสิ่งที่จำเป็นขั้นพื้นฐานและพึงพอใจที่ได้กินอาหารซึ่งตนหามาได้เอง.—2 เธซะโลนิเก 3:11, 12.
ความเชื่อช่วยเราให้ทนต่อความโศกเศร้า
13, 14. ความเชื่อจะช่วยเราให้ทนความโศกเศร้าได้อย่างไร?
13 พระคำของพระเจ้าแสดงอย่างที่ตรงกับความเป็นจริงว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะโศกเศร้าเมื่อคนที่เรารักเสียชีวิต. อับราฮาม ปฐมบรรพบุรุษที่ซื่อสัตย์ โศกเศร้าอาลัยเนื่องจากความตายของซารา ภรรยาที่รัก. (เยเนซิศ 23:2) ดาวิดโศกเศร้ามากเมื่อได้ทราบข่าวการตายของอับซาโลม บุตรชาย. (2 ซามูเอล 18:33) แม้แต่พระเยซู ซึ่งเป็นมนุษย์สมบูรณ์ ก็ทรงกันแสงเมื่อลาซะโร สหายของพระองค์เสียชีวิต. (โยฮัน 11:35, 36) เมื่อคนที่เรารักเสียชีวิต เราอาจรู้สึกโศกเศร้ามากจนแทบทนไม่ไหว แต่ความเชื่อในคำสัญญาที่อยู่ในพระคำของพระเจ้าสามารถช่วยเราให้ทนต่อความโศกเศร้านั้นได้.
14 เปาโลกล่าวว่า ‘ข้าพเจ้ามีความหวังใจในพระเจ้าว่าคนชอบธรรมและคนที่ไม่ชอบธรรมจะเป็นขึ้นมาจากความตาย.’ (กิจการ 24:15) เราต้องมีความเชื่อในการจัดเตรียมของพระเจ้าที่ว่าผู้คนจำนวนมหาศาลจะเป็นขึ้นมาสู่ชีวิต. (โยฮัน 5:28, 29) ท่ามกลางคนเหล่านี้จะมีอับราฮามกับซารา, ยิศฮาคกับริบะคา, ยาโคบกับเลอา ซึ่งตอนนี้ทั้งหมดกำลังหลับอยู่ในความตายและคอยท่าการกลับเป็นขึ้นจากตายในโลกใหม่ของพระเจ้า. (เยเนซิศ 49:29-32) ช่างน่าปีติยินดี สักเพียงไรเมื่อผู้เป็นที่รักของเราถูกปลุกให้ตื่นจากการหลับอยู่ในความตายเพื่อมีชีวิตบนแผ่นดินโลกนี้อีก! (วิวรณ์ 20:11-15) ในระหว่างนี้ ความเชื่อจะไม่ได้ขจัดความเศร้าให้หมดไป แต่จะทำให้เราอยู่ใกล้กับพระเจ้าเสมอ ผู้ซึ่งจะช่วยเราให้ทนต่อการสูญเสียผู้เป็นที่รัก.—บทเพลงสรรเสริญ 121:1-3; 2 โกรินโธ 1:3.
ความเชื่อเสริมกำลังผู้ที่ซึมเศร้า
15, 16. (ก) เหตุใดเรากล่าวได้ว่าการที่ผู้มีความเชื่ออยู่ในภาวะซึมเศร้าจึงไม่ใช่เรื่องแปลก? (ข) เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อรับมือกับภาวะซึมเศร้า?
15 พระคำของพระเจ้ายังแสดงด้วยว่าแม้แต่ผู้มีความเชื่อก็อาจตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า. ระหว่างที่ประสบการทดลองอย่างหนัก โยบรู้สึกว่าพระเจ้าได้ทอดทิ้งท่าน. (โยบ 29:2-5) สภาพของกรุงเยรูซาเลมและกำแพงของกรุงนั้นที่ถูกทำลายทำให้นะเฮมยาเศร้าหมอง. (นะเฮมยา 2:1-3) เนื่องจากเศร้าเสียใจอย่างมากที่ได้ปฏิเสธพระเยซู เปโตร “ร้องไห้เป็นทุกข์นัก.” (ลูกา 22:62) และเปาโลได้กระตุ้นเพื่อนร่วมความเชื่อในประชาคมเทสซาโลนีกาให้ “พูดปลอบโยนจิตวิญญาณที่หดหู่ใจ.” (1 เธซะโลนิเก 5:14, ล.ม.) ดังนั้น การที่ผู้มีความเชื่อในทุกวันนี้อยู่ในภาวะซึมเศร้าจึงไม่ใช่เรื่องแปลก. ถ้าอย่างนั้น เราจะรับมือกับความซึมเศร้าได้อย่างไร?
16 เราอาจรู้สึกหดหู่เพราะเผชิญปัญหาหนักหลายอย่างพร้อม ๆ กัน. แทนที่จะมองปัญหาเหล่านั้นเสมือนเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาเดียว เราอาจแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ถ้าแก้ไขทีละอย่างโดยใช้หลักการจากคัมภีร์ไบเบิล. การทำอย่างนี้อาจช่วยบรรเทาภาวะซึมเศร้าได้. กิจกรรมที่สมดุลและการพักผ่อนที่เพียงพอก็อาจเป็นประโยชน์เช่นกัน. สิ่งหนึ่งที่แน่ ๆ คือ ความเชื่อในพระเจ้าและพระคำของพระองค์ส่งเสริมสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณ เนื่องจากความเชื่อนี้เสริมความเชื่อมั่นของเรามากขึ้นที่ว่าพระองค์ทรงใฝ่พระทัยเราอย่างแท้จริง.
17. เรารู้ได้อย่างไรว่าพระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยเรา?
17 เปโตรให้คำรับรองที่ชูใจดังนี้: “ท่านทั้งหลายจงถ่อมตัวลงภายใต้พระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ของพระเจ้า เพื่อพระองค์จะทรงยกท่านทั้งหลายขึ้นในเวลาอันควร ขณะที่ท่านทั้งหลายมอบความกระวนกระวายทั้งสิ้นของท่านไว้กับพระองค์ เพราะว่าพระองค์ทรงใฝ่พระทัยในท่านทั้งหลาย.” (1 เปโตร 5:6, 7, ล.ม.) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องว่า “พระยะโฮวาทรงโปรดค้ำชูทุกคนที่กำลังจะล้มลง และทรงยกบรรดาคนตกอับให้ลุกขึ้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 145:14, ล.ม.) เราควรเชื่อมั่นว่าคำรับรองเหล่านี้เป็นความจริง เนื่องจากเป็นคำรับรองที่เราพบในพระคำของพระเจ้า. แม้ว่าความซึมเศร้ายังอาจมีอยู่ต่อไป แต่ช่างเป็นการเสริมความเชื่อสักเพียงไรที่รู้ว่าเราสามารถมอบความกังวลทั้งสิ้นของเราไว้กับพระบิดาฝ่ายสวรรค์ผู้เปี่ยมไปด้วยความรักของเรา!
ความเชื่อกับความยากลำบากอื่น ๆ
18, 19. ความเชื่อช่วยเราให้รับมือกับความเจ็บป่วยและปลอบโยนเพื่อนร่วมความเชื่อที่เจ็บป่วยอย่างไร?
18 เราอาจเผชิญการทดสอบความเชื่อครั้งใหญ่เมื่อเราหรือคนที่เรารักป่วยหนัก. ถึงแม้ว่าไม่มีรายงานในคัมภีร์ไบเบิลว่ามีการรักษาโรคโดยการอัศจรรย์ให้แก่คริสเตียนอย่างเช่น เอปาฟะโรดีโต, ติโมเธียว, และโตรฟีโม แต่ก็ไม่มีข้อสงสัยว่าพระยะโฮวาทรงช่วยพวกเขาให้อดทนได้. (ฟิลิปปอย 2:25-30; 1 ติโมเธียว 5:23; 2 ติโมเธียว 4:20) นอกจากนี้ เกี่ยวกับผู้ที่ “ใส่ใจในพวกคนจน” นั้น ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงว่า “เมื่อเป็นไข้นอนอยู่บนเตียงพระยะโฮวา จะทรงอุปถัมภ์เขาไว้: เมื่อเขาป่วยอยู่นั้นพระองค์จะทรงจัดเตียงนอนของเขา.” (บทเพลงสรรเสริญ 41:1-3) ถ้อยคำของผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญนี้จะช่วยเราในการปลอบโยนเพื่อนร่วมความเชื่อที่เจ็บป่วยได้อย่างไร?
19 วิธีหนึ่งที่จะให้การช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณคืออธิษฐานด้วยกันหรืออธิษฐานเผื่อผู้ที่เจ็บป่วย. ขณะที่เราไม่อธิษฐานขอการรักษาโรคโดยการอัศจรรย์ในทุกวันนี้ เราอาจขอให้พระเจ้าประทานความเข้มแข็งทางจิตใจแก่พวกเขาเพื่อจะสามารถทนรับความเจ็บป่วย และประทานความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณที่จำเป็นเพื่อจะสามารถทนกับช่วงเวลาที่อ่อนแอนั้น. พระยะโฮวาจะค้ำจุนพวกเขา และความเชื่อของพวกเขาจะได้รับการเสริมให้เข้มแข็งโดยมองไปข้างหน้าถึงสมัยที่ “ไม่มีใครที่อาศัยอยู่ที่นั่นพูดว่า, ‘ข้าพเจ้าป่วยอยู่.’” (ยะซายา 33:24) เป็นการชูใจจริง ๆ ที่รู้ว่าโดยทางพระเยซูคริสต์ผู้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์และโดยทางราชอาณาจักรของพระเจ้า มนุษยชาติที่เชื่อฟังจะได้รับการปลดเปลื้องอย่างถาวรจากบาป, ความเจ็บป่วย, และความตาย! เราขอบคุณพระยะโฮวา ‘ผู้ทรงรักษาบรรดาโรคของเราให้หาย’ สำหรับความคาดหวังอันยอดเยี่ยมเหล่านี้.—บทเพลงสรรเสริญ 103:1-3; วิวรณ์ 21:1-5.
20. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าความเชื่อสามารถช่วยเราให้ทนกับ “ยามทุกข์ร้อน” ในวัยชราได้?
20 ความเชื่อยังช่วยเราให้ทนกับ “ยามทุกข์ร้อน” ในวัยชรา เมื่อสุขภาพและกำลังวังชาเสื่อมถอย. (ท่านผู้ประกาศ 12:1-7) ดังนั้น ผู้สูงอายุท่ามกลางพวกเราสามารถอธิษฐานอย่างที่ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญซึ่งอยู่ในวัยชราร้องเพลงดังนี้: “ข้าแต่พระยะโฮวาเจ้า . . . พระองค์เป็นที่หวังใจของข้าพเจ้า . . . เวลาชราแล้วขออย่าทรงสลัดข้าพเจ้าเสีย; เมื่อกำลังของข้าพเจ้าถอยขออย่าทรงละทิ้งข้าพเจ้าเสียเลย.” (บทเพลงสรรเสริญ 71:5, 9) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญรู้สึกว่าจำเป็นต้องได้รับการค้ำจุนจากพระยะโฮวา เพื่อนคริสเตียนของเราที่รับใช้พระยะโฮวามานานหลายปีและปัจจุบันแก่ชราแล้วก็รู้สึกอย่างเดียวกัน. เนื่องจากมีความเชื่อ พวกเขามั่นใจได้ว่าพระหัตถ์อันถาวรเป็นนิตย์ของพระยะโฮวาจะพยุงพวกเขาไว้เสมอ.—พระบัญญัติ 33:27.
จงรักษาความเชื่อในพระคำของพระเจ้า
21, 22. ถ้าเรามีความเชื่อ นั่นจะส่งผลเช่นไรต่อสัมพันธภาพระหว่างเรากับพระเจ้า?
21 ความเชื่อในข่าวดีและพระคำทั้งสิ้นของพระเจ้าช่วยเราให้เข้าใกล้พระยะโฮวามากขึ้น. (ยาโกโบ 4:8) จริงอยู่ พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์บรมมหิศรของเรา แต่พระองค์ก็เป็นพระผู้สร้างและพระบิดาของเราด้วย. (ยะซายา 64:8; มัดธาย 6:9; กิจการ 4:24) ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “พระองค์ทรงเป็นพระบิดาของข้าพระองค์ พระเจ้าของข้าพระองค์ และเป็นพระศิลาแห่งความรอดของข้าพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 89:26, ฉบับแปลใหม่) ถ้าเราแสดงความเชื่อในพระยะโฮวาและพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจของพระองค์ เราก็ถือได้ว่าพระองค์เป็น ‘พระศิลาแห่งความรอดของพวกเรา’ เช่นกัน. ช่างเป็นเกียรติที่น่าชื่นใจเสียจริง ๆ!
22 พระยะโฮวาเป็นพระบิดาของคริสเตียนที่ได้รับกำเนิดด้วยพระวิญญาณและสหายของพวกเขาที่มีความหวังทางแผ่นดินโลก. (โรม 8:15) และความเชื่อในพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเราจะไม่ทำให้เราผิดหวังเลย. ดาวิดกล่าวว่า “เมื่อบิดามารดาละทิ้งข้าพเจ้าแล้ว, พระยะโฮวาจะทรงรับข้าพเจ้าไว้.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:10) ยิ่งกว่านั้น เราได้รับคำรับรองที่ว่า “พระยะโฮวาจะไม่ละทิ้งประชาชนของพระองค์เพื่อเห็นแก่พระนามยิ่งใหญ่ของพระองค์.”—1 ซามูเอล 12:22, ล.ม.
23. เราต้องทำอะไรเพื่อจะมีสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับพระยะโฮวา?
23 แน่ล่ะ เพื่อจะมีสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับพระยะโฮวา เราต้องมีความเชื่อในข่าวดีและยอมรับพระคัมภีร์อย่างที่เป็นเช่นนั้นจริง ๆ คือเป็นพระคำของพระเจ้า. (1 เธซะโลนิเก 2:13) เราต้องมีความเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมในพระยะโฮวาและให้พระคำของพระองค์ส่องสว่างทางของเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 119:105; สุภาษิต 3:5, 6) ความเชื่อของเราจะทวีขึ้นขณะที่เราอธิษฐานถึงพระองค์ด้วยความเชื่อมั่นในความเมตตาสงสาร, ความปรานี, และการเกื้อหนุนของพระองค์.
24. แนวคิดที่ให้การปลอบโยนอะไรที่กล่าวไว้ในโรม 14:8?
24 ความเชื่อได้กระตุ้นเราให้อุทิศตัวแด่พระเจ้าเป็นนิตย์. เนื่องจากเรามีความเชื่อที่เข้มแข็ง ถึงแม้เราอาจต้องตาย แต่เราก็ยังเป็นผู้รับใช้ที่ได้อุทิศตัวแด่พระองค์ที่มีความหวังในเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. ถูกแล้ว “ไม่ว่าเราอยู่หรือตาย เราก็เป็นของพระยะโฮวา.” (โรม 14:8, ล.ม.) ขอให้เรารักษาแนวคิดที่ให้การปลอบโยนนี้ไว้ในหัวใจของเราเสมอ ขณะที่เรารักษาความมั่นใจในพระคำของพระเจ้าและมีความเชื่อต่อ ๆ ไปในข่าวดี.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ความเชื่อคืออะไร และเหตุใดเราจำเป็นต้องมีคุณลักษณะนี้?
• ทำไมจึงสำคัญที่เราต้องมีความเชื่อในข่าวดีและในพระคำทั้งสิ้นของพระเจ้า?
• ความเชื่อช่วยเราให้เผชิญความยากลำบากต่าง ๆ ได้อย่างไร?
• อะไรจะช่วยเราให้รักษาความเชื่อ?
[คำถาม]
[ภาพหน้า 12]
พระยะโฮวาทรงค้ำจุนชีวิตยิระมะยาและเอลียาเพราะพวกเขามีความเชื่อ
[ภาพหน้า 13]
โยบ, เปโตร, และนะเฮมยามีความเชื่อที่เข้มแข็ง
[ภาพหน้า 15]
เพื่อจะมีสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับพระยะโฮวา เราต้องมีความเชื่อในข่าวดี