ความจริงใจเป็นสิ่งพึงปรารถนาแต่เท่านั้นพอไหม?
ความจริงใจเป็นสิ่งพึงปรารถนาแต่เท่านั้นพอไหม?
ความจริงใจเป็นสิ่งพึงปรารถนาจริง ๆ ไหมในชีวิตประจำวันของเรา? พจนานุกรมเล่มหนึ่งนิยาม “ความจริงใจ” ว่า “ไม่เสแสร้งหรือหน้าซื่อใจคด; น้ำใสใจจริง; ตรงไปตรงมา; ตรงตามความจริง.” เห็นได้ชัดว่าคุณลักษณะเช่นนี้เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น. อัครสาวกเปาโลได้ตักเตือนดังนี้: “จงเชื่อฟังผู้ที่เป็นนายของตนตามเนื้อหนังทุกข้อ, ไม่ใช่อย่างคนที่ทำต่อหน้า, เช่นผู้ที่ทำให้ชอบใจคน แต่ทำด้วยน้ำใสใจจริงโดยเกรงกลัวองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (โกโลซาย 3:22) ใครหรือจะไม่หยั่งรู้ค่าเมื่อมีลูกจ้างที่ทำงานด้วยความจริงใจเช่นนั้น? สมัยนี้ คนจริงใจมีโอกาสดีกว่าที่จะหางานได้และมีงานทำอยู่เสมอ.
อย่างไรก็ดี การทำให้ความจริงใจเป็นสิ่งพึงปรารถนาอย่างยิ่งนั้นอยู่ที่ว่าความจริงใจนั้นมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเรากับพระเจ้า. ชาติอิสราเอลคราวโบราณได้รับพระพรจากพระเจ้าตราบเท่าที่พวกเขาเอาใจใส่ถือรักษาข้อบัญญัติและเทศกาลต่าง ๆ. ขณะที่พิจารณาความบริสุทธิ์สะอาดของประชาคม เปาโลได้กระตุ้นคริสเตียนทั้งหลายดังนี้: “ให้เราถือเทศกาลนั้น มิใช่ด้วยเชื้อเก่าหรือเชื้อแห่งความเลวและชั่วร้ายแต่ด้วยขนมไม่มีเชื้อคือขนมแห่งความสุจริตใจและความจริง.” (1 โกรินโธ 5:8, ล.ม.) เพื่อการนมัสการของเราจะเป็นที่ยอมรับได้จำเพาะพระเจ้า ความจริงใจจึงไม่ใช่สิ่งน่าปรารถนาเท่านั้น แต่เป็นสิ่งสำคัญด้วย. กระนั้น ขอสังเกตว่าความจริงใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความจริงควบคู่อยู่ด้วย.
ผู้สร้างเรือไททานิก และบรรดาผู้โดยสารอาจมีความเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่าเรือเดินสมุทรลำนี้ไม่มีวันจม. อย่างไรก็ตาม พอเรือออกทะเลเที่ยวแรกในปี 1912 ก็ได้ชนภูเขาน้ำแข็ง แล้วผู้โดยสารและลูกเรือ 1,517 คนเสียชีวิต. ชาวยิวจำนวนหนึ่งในศตวรรษแรกอาจเคยเชื่อมั่นอย่างจริงใจในวิธีการที่เขานมัสการพระเจ้า แต่ความมีใจแรงกล้าของเขา “หาเป็นไปตามความรู้ถ่องแท้ไม่.” (โรม 10:2, ล.ม.) เพื่อจะเป็นที่ยอมรับจากพระเจ้า ความเชื่ออย่างจริงใจของเราต้องอาศัยความรู้ถ่องแท้. พยานพระยะโฮวาในละแวกบ้านของคุณจะยินดีช่วยคุณพิจารณาตรวจสอบสิ่งที่รวมอยู่ในการรับใช้พระเจ้าด้วยความจริงใจและความจริง.