งานที่มั่นคงและน่าพอใจถูกคุกคาม
งานที่มั่นคงและน่าพอใจถูกคุกคาม
“สิทธิที่จะทำงาน” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคน ตามที่กล่าวในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกาศโดยองค์การสหประชาชาติ. อย่างไรก็ดี สิทธินั้นใช่ว่าจะมีการรับประกันเสมอไป. ความมั่นคงของงานขึ้นอยู่กับหลายสิ่ง มีตั้งแต่สภาพโดยทั่วไปของเศรษฐกิจในท้องถิ่นไปจนถึงภาวะของตลาดโลก. ถึงกระนั้น เมื่อตกงานหรือสภาพการณ์ส่อเค้าว่าจะไม่มีงานทำ สิ่งที่มักจะติดตามมาก็คือการเดินขบวน, การจลาจล, และการนัดหยุดงาน. ยกเว้นเพียงไม่กี่ประเทศ. นักเขียนคนหนึ่งกล่าวว่า แม้แต่คำว่า “งาน” ก็ “เป็นคำที่ปลุกเร้าอารมณ์ให้เร่าร้อนขึ้นได้ ดังที่เคยเป็นมาเสมอ.”
งานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเราด้วยเหตุผลหลายประการ. นอกจากทำให้เราสามารถมีรายได้แล้ว งานยังส่งเสริมสวัสดิภาพของเราทางด้านจิตใจและด้านอารมณ์. งานสนองความปรารถนาของมนุษย์ในการเป็นสมาชิกที่ก่อประโยชน์ของสังคมและมีจุดมุ่งหมายในชีวิต. งานยังทำให้เราเกิดความนับถือตัวเองในระดับหนึ่ง. ด้วยเหตุนั้น แม้บางคนมีเงินมากพอที่จะเอาใจใส่ต่อความจำเป็นของตนหรือเป็นผู้ซึ่งมีสิทธิ์ที่จะเกษียณอายุก็ยังอยากจะทำงานต่อไปมากกว่า. ถูกแล้ว งานเป็นสิ่งสำคัญถึงขนาดที่หากไม่มีงานพอสำหรับทุกคนแล้ว มักเกิดปัญหาทางสังคมที่ร้ายแรง.
อีกด้านหนึ่ง มีหลายคนที่มีงานทำ ทว่าเผชิญความกดดันหลายอย่างในที่ทำงานจนพวกเขาไม่รู้สึกยินดีในงานของตนอีกต่อไป. ตัวอย่างเช่น เนื่องจากภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูงในทุกวันนี้ มีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ลดจำนวนพนักงานลงเพื่อตัดค่าใช้จ่าย. นี่อาจทำให้มีการเรียกร้องเพิ่มอีกจากลูกจ้างที่เหลืออยู่ ผู้ซึ่งอาจต้องทำงานมากขึ้นด้วยเหตุดังกล่าว.
เทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งถือกันว่าทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นและงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นอาจเพิ่มความกดดันในที่ทำงาน. ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์, เครื่องโทรสาร, และอินเทอร์เน็ตทำให้ผู้คนมีทางเลือกในการเอางานไปทำต่อที่บ้านหลังเลิกงาน ด้วยเหตุนี้ทำให้แยกไม่ออกว่าไหนเป็นบ้านไหนเป็นที่ทำงาน. พนักงานคนหนึ่งรู้สึกว่าเพจเจอร์และโทรศัพท์มือถือของบริษัทเป็นเหมือนเชือกจูงสุนัข ซึ่งเจ้านายของเขาถือปลายเชือกอีกข้างหนึ่งไว้.
ในภาวะเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ผู้สูงวัยหลายคนกลัวมากขึ้นก็คือการถูกมองว่าล้าหลังขาดประสิทธิภาพก่อนที่จะถึงวันนั้นจริง ๆ. ในเรื่องนี้ คริส ซิโดที อดีตกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนได้กล่าวว่า “ดู
เหมือนจะเป็นรูปแบบตายตัวที่ว่า ถ้าคุณมีอายุเลย 40 ปี คุณจะไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้.” ด้วยเหตุนี้ พนักงานที่ขยันหลายคนซึ่งแต่ก่อนเคยถูกมองว่าเป็นช่วงชีวิตที่มีประสิทธิผลมากที่สุด ปัจจุบันถูกมองว่ามีอายุมากเกินกว่าที่จะทำประโยชน์ได้. ช่างน่าเศร้าเสียจริง ๆ!เป็นที่เข้าใจได้ หลักจรรยาในการทำงานและความภักดีต่อบริษัทได้ถูกลดค่าลงไปมากในไม่กี่ปีมานี้. ลีเบราสิอง วารสารของฝรั่งเศส กล่าวว่า “เมื่อบริษัทเลิกจ้างพนักงานเนื่องจากความผันผวนเพียงน้อยนิดของตลาดหุ้น ความภักดีต่อบริษัทจึงกลายเป็นเรื่องของอดีตไป. แน่นอน คุณต้องทำงาน ไม่ใช่เพื่อบริษัท แต่เพื่อตัวคุณเอง.”
ทั้ง ๆ ที่ปัญหาเหล่านี้เพิ่มขึ้น ความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องการจะทำงานยังคงมีอยู่ต่อไป. ดังนั้น ในสมัยของเราที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจะปลูกฝังทัศนะที่สมดุลในเรื่องงานอาชีพได้อย่างไร และขณะเดียวกันก็คงไว้ซึ่งความรู้สึกมั่นคงและความพอใจในการทำงาน?
[ภาพหน้า 3]
เทคโนโลยีสมัยใหม่อาจเพิ่มความกดดันในที่ทำงาน